วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปลากด

ปลากด


                                                                      ปลากดทองคำ


                                                                      ปลากดทองคำ


                                                                      ปลากดคังเผือก


                                                                      ปลากดคังเผือก


                                                                      ปลากดแก้ว


                                                                      ปลากดแก้ว


                                                                      ปลากดแก้ว


                                                                      ปลากดคัง


                                                                      ปลากดดำ


                                                                      ปลากดดำ


                                                                      ปลากดเหลือง

ปลากดเหลือง ชื่อสามัญ Green Catfish

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mytus nemurus

ได้รับการตั้งชื่อครั้งแรกโดย Cuvier และ Valencieness ในปี 2436

ปลากดเหลืองเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง

ปลากดเหลืองมีการเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ซึ่งชาวประมงแถบจังหวัดกาญจนบุรี เรียกว่า ปลากดกลางหรือปลากลาง แถบจังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรีเรียกว่า ปลากดนาหรือปลากดเหลือง แถบจังหวัดสุราษฐฎร์ธานีเรียกว่า ปลากดฉลอง แถบจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส เรียกว่า อีแกบาวง แต่ปลาชนิดนี้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย เรียกว่า ปลากดเหลือง



ลักษณะทั่วไป

ปลากดเหลืองเป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ด ลำตัวกลมยาว หัวค่อนข้างแบนเรียวเป็นรูปกรวย (conical) กระดูกท้ายทอยยาวถึงโคนครีบหลัง ตาไม่มีหนังปกคลุม ปากกว้าง ขากรรไกรแข็งแรง มีฟันซี่เล็ก ๆ สั้นปลายแหลมเป็นกลุ่ม หรือเป็นแผ่นบนขากรรไกรบน ขากรรไกรล่าง และบนเพดานปากซี่กรองสั้นเล็กปลายแหลม มี 15 ซี่ มีหนวด 4 คู่คือที่บริเวณจมูก ริมฝีปากบน ริมฝีปากล่าง และใต้คางอย่งละ 1 คู่ ซึ่งหนวดคู่แรกและหนวดคู่สุดท้าย จะมีความยาวสั้นกว่าหนวดคู่ที่สองและคู่ที่สาม

ครีบหลังไม่สูงเป็นครีบเดี่ยวอยู่กลางหลัง มีก้านครีบแข็ง 1 ก้านและก้านครีบอ่อน 7 ก้าน ครีบไขมันเจริญดีอยู่บนหลังตามส่วนท้ายของลำตัว และอยู่ตรงข้ามกับครีบก้น ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน 10-11 ก้าน ครีบหูเป็นครีบคู่อยู่หลังบริเวณเหงือก มีเงี่ยงแข็งและแหลมคม 1 คู่ มีก้านครีบอ่อนข้างละ 9 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบอ่อน 6-7 ก้าน ครีบหางเว้าลึกแฉกบนยาวกว่าแฉกล่างประกอบด้านก้านครีบอ่อน 16-17 ก้าน

ลักษณะสีของลำตัวจะเปลี่ยนไปตามอายุ ขนาด และแหล่งที่อยู่อาศัย ปลากดเหลืองที่มีขนาดโตเต็มวัย ลำตัวบริเวณส่วนหลังมีสีน้ำตาลเข้มปนดำ บริเวณข้างลำตัวมีสีน้ำตาลปนเหลือง บริเวณส่วนท้องมีสีขาว ฐานครีบอก ครีบท้อง ครีบก้น มีสีเทาเจือชมพู ครีบหลัง ครีบหางมีสีเขียวซีดจาง ปลายครีบมีสีเทาปนดำ ดวงตามีขนาดปานกลาง

ปลาชนิดนี้มีกระเพาะลม ซึ่งมีลักษณะกระเพาะลมตอนเดียวคล้ายรูปหัวใจ ทำหน้าที่ช่วยในการทรงตัวใช้ ปรับความถ่วงจำเพาะของตัวปลาให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เพื่อให้สามารถลอยตัวอยู่ในน้ำที่ระดับต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ



ถิ่นอาศัย

จากหนังสือภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย ของสมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์ หน้า 126 ระบุว่าปลากดเหลือง เดิมอาศัยอยู่ในทะเล แต่ได้เข้ามาผสมพันธุ์และวางไข่ในน้ำจืดแล้วไม่กลับสู่ทะเลอีกเลย พบแพร่กระจายอยุ่ทั่วทุกภาค และจัดประเภทปลากดเหลือง ปลากดหลาว ปลากดหินเป็นปลาน้ำจืด

การแพร่กระจาย

ปลากดเหลือง พบแพร่กระจายในแหล่งน้ำจืดทั่วไปของทวีปเอเซีย ตั้งแต่เอเชียตะวันตก ได้แก่ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน และบังกลาเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ เมียนาร์ ไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทย พบแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น ภาคเหนือพบในลำน้ำกก ปิง วัง ยมน่าน กว๊านพะเยา บึงบอระเพ็ด เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนกิ่วลม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบในแม่น้ำมูล แม่น้ำโขงและสาขาในเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำตะคอง ภาคกลาง พบในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์และแก่งกระจาน ภาคใต้พบในแม่น้ำตาปี ปัตตานี สายบุรี บางนรา โก-ลก และสาขาบริเวณปากแม่น้ำ ย่านน้ำกร่อยบริเวณชายฝั่งก็สามารถพบปลากดเหลืองได้ นอกจากนี้พบในทะเลน้อย ทะเลสาบสงขลาและพรุต่าง ๆ เช่น พรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส พรุควนเคร็งในจังหวัดนครศรีธรรมราช

นิสัย

ปลากดเหลืองสามารถเจริญเติบโต และอยู่อาศัยได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย แต่ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นท้องน้ำที่เป็นแอ่งหิน หรือเป็นพื้นดินแข็ง น้ำค่อนข้างใส่มีกระแสน้ำไหลไม่แรงนัก พบอยู่ในระดับความลึกตั้งแต่ 2-40 เมตร ทั้งยังชอบหาอาหารบริเวณที่น้ำจากต้นน้ำเหนือเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำไหลมาบรรจบกับบริเวณแนวน้ำนิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณปากแม่น้ำซึ่งมีน้ำจืดไหลปะทะกับแนวน้ำเค็ม มีกุ้ง ปลา ปู หอย ค่อนข้างสมบูรณ์ ชาวประมงมักจับปลากดเหลืองได้มากในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปลากดเหลืองสามารถที่จะปรับตัวให้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพน้ำพรุ ที่มีความเป็นกรดสูงและมีปริมาณสารแขวนลอยมาก

นิสัยการกินอาหาร

ปลากดเหลืองมีกระเพาะอาหาร ที่มีลักษณะเป็นถุงตรงยาว ผนังหนาสีขาวขุ่น นิสัยการกินอาหารในธรรมชาติได้แก่ ปลาขนาดเล็ก ตัวอ่อนแมลงหรือแมลงในน้ำ กุ้งน้ำจืด เศษพันธุ์ไม้น้ำ และหอยฝาเดียว เป็นต้น จากลักษณะรูปร่างที่ปราดเปรียวของปลากดเหลือง พบว่า จะโฉบจับเหยื่อที่อยู่ผิวน้ำหรือกลางน้ำได้อย่างว่องไว โดยจะหากินในช่วงกลางคืนได้ดีกว่าช่วงกลางวัน

ขนาด

ปลากดเหลืองที่พบโดยทั่วไปมีขนาด 20-25 เซนติเมตร แต่เคยพบขนาดใหญ่สุดกว่า 60 เซนติเมตร

ประโยชน์

ปลากดเหลืองเป็นปลาทีมีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง มีราคาดี เนื้อมีรสชาติดีเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในรูปสดและแปรรูป เช่น แกงเหลือง ฉู่ฉี่ และย่าง ฯลฯ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา http://www.fisheries.go.th/if-phayao/web2/index.php?option=com_content&view=article&id=34&Itemid=44

ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย ของสมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์




                                                                      ปลากดหลาว

ปลากดหลาว ชื่อสามัญอังกฤษ TRUNCATED ESTUARINE CATFISH

ชื่อวิทยาศาสตร์ Arius truncatus

เป็นปลาไม่มีเกล็ด จัดอยู่ในจำพวกปลาหนัง

ลักษณะทั่วไป

ลำตัวค่อนข้างยาว ส่วนหัวแบนราบลงเล็กน้อย ลักษณะเด่นของปลากดหลาวคือ คือระหว่างจมูกทั้งสองคู่มีแผ่นเนื้อแข็ง ๆ กั้นกลาง นัยน์ตาเล็ก มีหนวดค่อนข้างยาว 3 คู่ ฟันบนเพดานปากมีขนาดเล็ก หางคอดเล็กน้อย ครีบหลังและครีบหูมีหนามแหลม ขอบหนามหยักเป็นฟันเลื่อย มีครีบไขมันอยู่ตรงข้ามกับครีบก้น

พื้นลำตัวสีเหลือง หลังสีเทาเข้ม ท้องสีขาว ครีบหลังสีเทาเข้ม ปลายสีดำจาง ครีบหางสีเทาเข้ม ครีบอื่น ๆ สีเหลือง

ถิ่นอาศัย

อยู่บริเวณแหล่งน้ำกร่อยและอพยพมาอยู่ในน้ำจืด พบบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง

นิสัย

ปลากดหลาวอยู่รวมกันเป็นฝุงใหญ่ ว่ายน้ำรวดเร็วและว่องไว

อาหาร

กินลูกกุ้ง ลูกปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก

ขนาด

ความยาวประมาณ 16-33 ซม.

ประโยชน์

เป็นปลาเศรษฐกิจ ใช้บริโภคทั่วไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย ของสมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์


                                                                      ปลากดแย่งอาหารในลำน้ำบางปะกง

ปลากดในแม่น้ำบางปะกงมีทั้งปลากดเหลืองและปลากดหลาว  แต่ชาวบางกรูดเรียกปลากด กันว่า "ปลากดปากกว้าง" ก็ถิอเป็นคำเรียกของท้องถิ่น ตำบลบางกรูด    เพราะปลากดดูจะปากกว้างทั้งปลากดเหลืองและปลากดหลาว

ปลากดเป็นปลาที่มีมากมายในลำน้ำบางปะกง แทบทุกกิจกรรมหาปลา จับปลาในลำน้ำ มักจะได้ปลากดมาเสมอ ไม่ว่าการทำโพงพาง รออวน ตกเบ็ด จับซั้ง  แม้แต่บางครั้งจากการทอดแห


                                                                 
ปลากดจากอวนรอเคยกะปิ

ปลากดเป็นปลาที่บ้านของพลอยโพยมไม่นำมาทำเป็นอาหาร เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่เคยซื้อหา  หรือถ้ามีการจับซั้งก็แจกปลากดต่อคนอื่นเนื่องจากมีปลาอื่น ๆ มากมายในการจับซั้งแต่ละครั้ง  และเรารู้สึกว่าปลากดเป็นปลาที่กินอาหารไม่เลือกประเภท

                                                           ปลากดจากอวนรอเคยกะปิ

เนื่องจากมีบ้านอยู่่ริมฝั่งน้ำ ดังนั้นจะมีหลาย ๆ สิ่ง ที่ได้พบเห็นจะกลายเป็นความเคยชิน แม้จะไม่บ่อย ๆ ครั้ง นัก ในรอบแต่ละปี แต่สรุปว่า ก็เคยชินอยู่ นั่นคือ การมีคนมักง่ายทิ้งซากสัตว์ลงในแม่น้ำ ให้ลอยเท้งเต้ง ขึ้นอืด และเหม็นคลุ้งไปทั่วบริเวณที่ซากสัตว์นั้น ๆ ลอยผ่านมา บางครั้งเป็น เป็ดเน่า ไก่เน่า และหมาเน่า แต่ก็โชคดีที่ซากเหล่านี้ลอยผ่านบ้านเพียงเที่ยวเดียว ไม่ว่า เที่ยวน้ำขึ้น หรือเที่ยวน้ำลง ซึ่งส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยหวนกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากซากสัตว์เน่าขึ้นอืดนี้มีมีปลามาตอดกิน ซึ่งรวมถึงปลากดหรือปลาอื่น ๆ นก ซึ่งน่าจะหมายถึง นกอีแร้งมาจิกกินเนื้อเน่า ๆ เหล่านั้น ชิ้นส่วนที่กินไม่ได้ ก็จะย่อยสลายไปกับสายน้ำ หากซากเหล่านี้ลอยมาติดต้นไม้ ติดชายฝั่ง ที่บ้านใคร คนทั่วไปก็จะใช้ไม้ยาว ๆ เขี่ยออกไปให้พ้นหน้าบ้านตัวเอง เมื่อออกไปห่างชายฝั่งบางครั้งกระแสน้ำก็จะพาซากเน่าเหล่านั้นลอยออกไปไกลเกือบกลางแม่น้ำ พลอยโพยมรู้สึกว่าไม่มีบ้านไหนเก็บซากเน่าเอามาฝังกันรวมทั้งที่บ้านของพลอยโพยมด้วย

อาจเป็นเพราะปลากดมีมากในลำน้ำ เด็ก ๆ นึกถึงปลากด ก็จะพลอยนึกถีงคู่ไปกับซากเน่า ๆ ลอยเท้งเต้งในลำน้ำควบคู่ไปด้วย ดังนั้นในกิจกรรมตกปลาหากได้ปลากด ก็จะเป็นปลาที่ปลดออกมาจากเบ็ดแล้วเหวี่ยงคืนแม่น้ำ





ความลับอีกประการที่เด็ก ๆ รังเกียจปลากด เนื่องจาก บ้านคนไทยโบราณจะไม่นิยมทำส้วมไว้ในบ้าน ส้วมจะต้องอยู่ต่างหากจากตัวบ้าน ธุรกรรมที่ต้องใช้ส้วมก็จะใช้กระโถนในตอนกลางคืนสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็ก ๆ ก็มักเป็นหัวสะพานบ้าน นาน ๆ ครั้ง ก็จะมีเด็กปวดอึในตอนกลางคืน สถานที่โปรดก็คือหัวสะพานเช่นกัน เพราะมืด ลมพัดเย็นดี เมื่อมีเสียงตุ๋มที่กระทบหูจะมีเสียงฮุบโผงผางของปลาตามติดมาทันที เด็กทุกคนรู้ดีว่านั่นเป็นเสียงของปลากดนั่นเอง อาจจะมีปลาอื่นผสมโรง แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีความว่องไวเท่าปลากด



ก็น่าแปลกที่ในลำน้ำไหลใสเย็น แม้มีสิ่งแปลกปลอมสกปรกเหล่านี้ แต่เด็ก ๆ ก็ยังพิสมัยที่จะลงว่ายเล่นให้เย็นฉ่ำชื่นใจ และชาวบ้านริมฝั่งก็ใช้น้ำจืดจากแม่น้ำกันได้ เพราะสิ่งแปลกปลอมสกปรกทั้งหลายจะถูกกำจัดด้วยสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และแม่น้ำไหลลงทะเล ซึ่งกว่าจะถึงปากแม่น้ำก็แทบไม่เหลือชิ้นส่วนเสียแล้ว

หากแต่ในปัจจุบันสิ่งปฎิกูลที่ถูกทิ้งลงในแม่น้ำ เพิ่มปริมาณขึ้นมาก และเพิ่มประเภทของที่เป็นของเสียมากมาย และเป็นของมีพิษภัยมากขึ้นตามความเจริญของท้องถิ่น เช่นน้ำเสียจากโรงงานและที่พักอาศัยจำนวนมาก สารเคมี ของใช้ที่ไม่ย่อยสลาย และอิ่น ๆ ปัจจุบันบ้านเรือนมักมีห้องน้ำ ใช้สำหรับอาบน้ำและเป็นห้องสุขา กันอยู่ในตัวบ้านได้ไม่ถือสาเรื่องของคนโบราณกันแล้ว มีน้ำประปาใช้ แต่น้ำในแม่น้ำมีมลพิษมากมายจนน่าตกใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น