วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปลาดุก

ปลาดุก



                                                                      ปลาดุกเผือก



                                                                      ปลาดุกด้าน

ชื่อสามัญไทย ดุก,ดุกด้าน

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ BATRACHIAN WALKING CATFISH

ชื่อวิทยาศาสตร์ Clarias batrachus

อยู่ในวงศ์ Clariidae

สกุล Clarias

ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ด ลำตัวเรียวยาว ด้านข้างแบน หัวเล็กและแข็งตาเล็กอยู่ด้านข้างของหัว ปากเล็กอยู่ตอนปลายสุดของจะงอยปาก มีหนวดรอบปาก 4 คู่

ครีบหูมีก้านครีบแข็งปลายแหลมคมขอบหยักเป็นฟันเลื่อย ทั้งด้านในและด้านนอก ครีบหลัง ไม่มีเงี่ยงแข็ง ครีบก้นและครีบหางแยกออกจากกัน ครีบหางกลมมน

ปลาดุกมีอวัยวะพิเศษรูปร่างคล้ายก้อนฟองน้ำสีแดงสดอยู่ในช่องเหงือกตอนบนสำหรับช่วยหายใจโดยใช้อากาศเหนือน้ำได้ จึงทำให้ปลาในวงศ์นี้สามารถอยู่เหนือน้ำได้นานกว่าปลาชนิดอื่น ๆ และยังสามารถแถก คืบคลานบนบกได้เมื่อฝนตกน้ำไหลหลาก และเป็นที่ของชื่อภาษาอังกฤษว่า "Walking catfish"

ถิ่นอาศัย

มีการแพร่กระจายพันธุ์ในน้ำจืดและน้ำกร่อยตามแหล่งน้ำของทวีปเอเชียและแอฟริกา

ในไทยมักอยู่ตามคู หนอง บึง ซึ่งเป็นน้ำนิ่ง

อาหาร

เป็นปลากินเนื้อโดยเฉพาะเมื่อตัวโตเต็มที่ชอบกินปลาอื่นที่ตัวเล็กกว่าเป็นอาหาร รวมถึงกินซากพืชและซากสัตว์อีกด้วย

ขนาด

ความยาวลำตัวประมาณ 10-40 ซ.ม.

ประโยชน์

เป็นปลาเศรษฐกิจใช้เป็นอาหาร

ปลาในวงศ์ปลาดุกพบในประเทศไทยราว 10 ชนิด เป็นปลาที่มีการวางไข่โดยขุดโพรงหรือทำรัง บางชนิด ตัวผู้และตัวเมียช่วยกันดูแลไข่จนฟักเป็นตัว

ปลาดุกอุย



                                                                      ปลาดุกอุย

ชื่อสามัญไทย ดุกอุย

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ GUNTHER'S WALKING CATFISH

ชื่อวิทยาศาสตร์ Claris macrocephalus

อยู่ในวงศ์ Clariidae

ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ด มีลำตัวสั้นป้อมกว่าปลาดุกด้าน ด้านข้างแบน หัวแบนลง กะโหลกท้ายทอยป้านและโค้งมน เงี่ยงที่ครีบหูมีฟันเลื่อยด้านนอกและด้านใน ครีบหลัง ครีบก้นและครีบหางแยกออกจากกันครีบหางมีปลายกลมมน สีลำตัวมีสีดำปนเหลือง มีจุดขาวเล็ก ๆ ท้องสีเหลืองจาง มีอวัยวะพิเศษอยู่ในบริเวณช่องเหงือก มีทรวดทรงคล้ายต้นไม้เล็ก ๆ ช่วยในการหายใจ สามารถเคลื่อนที่บนบกได้เป็นระยะทางสั้น ๆ โดยใช้ครีบช่วย

ถิ่นอาศัย

พบได้ในพื้นที่แถบประเทศไทยไปจนถึงเวียดนาม และมีการนำไปเลี้ยงในประเทศจีน, มาเลเซีย, เกาะกวม และฟิลิปปินส์

ในไทยมีอยู่ทั่วไปในบริเวณลำคลอง หนองบึงซึ่งมีพันธุ์ไม้น้ำปกคลุมและมีพื้นเป็นโคลนตม

อาหาร

เป็นปลากินเนื้อ ซากพืชและสัตว์

ขนาด

ความยาวประมาณ 15-35 ซ.ม.

ประโยชน์

เป็นปลาเศรษฐกิจที่ใช้เป็นอาหาร เนื้ออ่อนนุ่มสีเหลือง ยกย่องกันว่ามีรสชาติอร่อยกว่าปลาดุกด้าน

ปลาดุกอุย หรือ ปลาอั้วะชื้อ ในภาษาแต้จิ๋ว

บางครั้งมีความเข้าใจผิดกันว่าปลาดุกอุยคือปลาดุกด้านตัวเมีย แต่ที่จริงเป็นปลาคนละชนิดกัน ปลาดุกอุยเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทยและชาวลาวมากกว่าปลาดุกด้าน เนื่องจากเนื้อมีรสชาติมัน อร่อย มีราคาที่สูงกว่าปลาดุกด้าน จึงได้มีการเพาะเลี้ยงและผสมเทียมในบ่อ แต่ปัจจุบันได้นำมาผสมกับปลาดุกเทศ (C. gariepinus) เป็นปลาลูกผสม เรียกว่า "บิ๊กอุย" ทำให้โตเร็วและเลี้ยงง่ายกว่าปลาดุกอุยแท้ ๆ ซึ่งได้มีการเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลาย ในภาษาใต้ เรียกปลาดุกอุยว่า "ดุกเนื้ออ่อน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย



ปัจจุบันปลาดุกในท้องตลาดมักเป็นปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน และจะมีข่าวแปลก ๆ กับการนำเนื้อสัตว์ต่าง ๆ มาเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน ของชาวบ้านที่มีอาชีพเลี้ยงปลาดุก ทำให้ที่บ้านค่อนข้างขยาดกับปลาดุกที่ต้องไปซื้อมาจากตลาด แม้จะพบเห็นแม่ค้าย่างปลาดุกขาย ซึ่งจะพบได้ที่ตลาดบ่อบัว ของตัวจังหวัดซึ่งเป็นตลาดเช้า พอถึงเวลาสาย ๆ ประมาณ 9-10 นาฬิกา ตลาดบ่อบัวก็วายเสียแล้ว แม่ค้าเก็บข้าวของกลับบ้านกันหมด ส่วนในตอนเย็น จะมีตลาดแบบชาวบ้าน ๆ คล้ายตลาดเช้าที่ตลาดบ่อบัว ที่หน้าโบสถ์ของวัดโสธรวราราววรวิหาร ( คำว่าหน้าโบสถ์นี้ พลอยโพยมใช้จากโบสถ์หลังเดิมของวัดที่หันหน้าประตูโบสถ์ ไปทางทิศที่ตั้งตัวตลาดเย็น ) ซึ่งมีถนนยาวไปถึงชายแม่น้ำแต่มีตัวตลาดขนาดเล็กกว่าตลาดบ่อบัว จะมีปลาดุกย่างขายที่ปลายถนนของตัวตลาดอยู่เกือบสุดริมน้ำ เมื่อเดินผ่านกลิ่นปลาดุกย่างก็จะหอมหวนยวนใจชวนให้ซื้อไปลิ้มลอง ทั้งสองร้านของสองตลาดจะย่างปลาดุกบนเตาย่างแบบมีปล่องสูงเก็บควันจากการย่างไม่ให้มีควันจากการย่างปลาฟุ้งกระจายในแนวราบ หากเป็นปลาดุกอุย เนื้อปลาที่ใช้มีดบั้งลำตัวไว้จะมีสีเหลืองตัดกับหนังปลาสีดำมองดูน่ากินมากจริง ๆ ( สีดำจากลำตัวของปลา และสีดำจากการถูกย่างไฟ)

และเนื้อของปลาดุกอุยย่างก็นุ่มนวลน่ากิน มากกว่าปลาช่อน หรือปลาดุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กินปลาดุกย่างกับสะเดาน้ำปลาหวาน

ปลาดุกนี้สามารถใช้เบ็ดตกในแม่น้ำบางปะกงก็ได้ มีนักตกปลาที่นิยมมาตกปลาในแม่น้ำ และจะได้ปลาดุกรวมกับปลาอื่น ๆ กลับบ้านไปด้วยความพออกพอใจ



เมื่อสมัยเด็กปลาดุกก็เป็นปลาที่หามาได้หลากหลายวิธี โดยเฉพาะการล้อมจับซั้ง ในบางครั้งก็ยังได้ปลาดุกทะเลในชํ้งด้วย ซึ่งหลังจากคนที่ลงไปแช่น้ำในแม่น้ำภายในวงเฝือกที่กั้นล้อมซั้ง หรือกร่ำ หลังจากดึงไม้ที่ปักบนเลนไว้ล่อปลาและสัตว์น้ำอื่นเข้ามาอยู่อาศัยพักพิงชั่วคราว ออกไปหมดแล้ว ใช้สวิงไล่ช้อนกุ้งปลาและอื่น ๆ จนพอสมควร ก็จะส่งสวิงขึ้นมาบนเรือ คนที่อยู่บนเรือรับสวิงมาเทลงในลำเรือ แล้วคนบนเรือก็คัดแยกปลาต่าง ๆ ลงในภาชนะที่เตรียมมากับเรือ เช่น กะละมัง หรือกระแป๋ง ก่อนนำปลากลับมาบ้านซึ่งมีปลาดุกทะเลติดมาด้วย ก็จะทำให้พอจะจำแนก ปลาดุก และปลาดุกทะเลได้

(แก้ไข)

ในกิจกรรมตกปลาในแม่น้ำเป็นกิจกรรมที่ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายสามัคคีทำร่วมกันได้ แต่ออกจะเป็นแนวการแข่งขันกันว่าใครจะตกปลาได้มากกว่ากัน เด็กผู้หญิงที่ไม่ชำนาญการปลดปลาออกจากเบ็ดจะร้องขอให้เด็กผู้ชายช่วยทำให้ แต่มีครั้งหนึ่ง พี่สาวคนหนึ่ง (ลูกคุณน้า) ตกปลาได้ปลาดุกทะเล และอาจหาญที่จะปลดเบ็ดออกจากปลาที่ตกได้ โดย ปลดเบ็ดเอง และไม่ทันระวังตัว จึงถึงคราวเคราะห๋ถูกปลาดุกทะเล ใช้เงี่ยงยักใสมือ พี่สาวร้องลั่นบ้าน เจ็บปวดมาก นอนร้องครวญครางทั้งคืน ผู้ใหญ่ในบ้านต้องหาสมุนไพร พวกใบไม้แก้พิษ น่าจะเป็นเหงือกปลาหมอ ที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดที่ชายแม่น้ำหน้าบ้านนั่นเอง มาตำพอกแผล พลอยโพยมจำได้ติดตา ไม่ยอมจับปลาดุก เป็น ๆ อย่างเด็ดขาด แต่พวกผู้ชายเขามีวิธีจับปลาที่มีเงี่ยงกระมัง จึงไม่เคยปรากฎว่ามีใครถูกปลาที่มีเงี่ยง ยักใส่

เงี่ยงปลา หมายถึงกระดูกปลายแหลมของปลาบางอย่าง เช่น ปลากระเบนมีเงี่ยงที่โคนหาง หรือปลาดุกมีเงี่ยงที่ข้างหู

ปลาในวงศ์ปลาดุกมีครีบอกที่เป็นก้านแข็งแหลมคม ( หมายถึงเงี่ยง ) มีพิษแรงปานกลาง สารมีพิษเหล่านี้โดยมากจะอยู่ใกล้กับโคนก้านครีบแข็งหรือเงี่ยงนั่นเอง

ยัก แปลว่า แว้งแทงด้วยเงี่ยง เช่น ปลาดุกยัก ( ตัวอย่างประโยคที่ใช้ว่า ปลายักด้วยเงี่ยง ก็ใช้กับปลาดุก)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น