วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปลาแมว

ปลาแมว

ชื่ออังกฤษ: Dusky-hairfin anchovy

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Setipinna mela



ลักษณะทั่วไป

มีลำตัวแบนข้าง ท้องเป็นสันคม เกล็ดเล็กหลุดร่วงง่าย ครีบอกมีปลายเรียวเป็นเส้น ตัวผู้มีสีคล้ำ ครีบหางสีเหลือง และขอบสีคล้ำ

ถิ่นอาศัย

พบในปากแม่น้ำตอนล่างถึงชายฝั่ง ในภาคอีสานพบที่แม่น้ำโขง เป็นต้น

นิสัย

เป็นปลาทะเลที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดหรือน้ำกร่อยได้ โดยมีพฤติกรรมอยู่เป็นฝูงเล็ก ว่ายในระดับกลางน้ำ

อาหาร

ได้แก่ ลูกกุ้ง ลูกปลา เป็นปลาที่ไม่พบบ่อยมากนัก และมักตายง่ายมากเมื่อพ้นจากน้ำ

ขนาด

ขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร ใหญ่สุด 25 เซนติเมตร

วงศ์ปลาแมว



ปลาในวงศ์ปลาแมว พบแล้วกว่า 17 สกุล 144 ชนิด ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า "ปลาแอนโชวี่" (Anchovy)

ในบางสกุลหรือบางชนิดก้านครีบอกมักยื่นยาวเป็นเส้นคล้ายหนวดแมว อันเป็นที่มาของชื่อเรียก

ปลาในวงศ์นี้ พบได้ทั้งน้ำจืด, น้ำกร่อย และทะเล และบางชนิดก็เป็นปลาน้ำกร่อย

มีขนาดตั้งแต่ 2 เซนติเมตร จนถึง 40 เซนติเมตร

พบกระจายไปในทะเลทั่วโลก เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญอีกวงศ์หนึ่งของโลก มีความสำคัญในห่วงโซ่อาหารในทะเล เพราะใช้เป็นอาหารของปลาหรือสัตว์น้ำขนาดใหญ่กว่า เช่น โลมา หรือ ปลาฉลาม

ในทางเศรษฐกิจ ใช้แปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ ได้หลากหลาย ทั้งปลากระป๋อง, ปลาแห้ง หรือปลาป่น และในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ปลาในวงศ์นี้เป็นที่รู้จักและนิยมกันดีในการทำน้ำปลา

ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย อาทิ ปลาแมวเขี้ยวยาว (Lycothrissa crocodilus) ปลาแมว (Setipinna melanochir) และสามารถพบได้ในน้ำจืด

ปลาแมวหัวแหลม

                                                               ปลาแมวหัวแหลม

ปลาแมวหัวแหลม

ชื่ออังกฤษ MOUSTACHED THRUSSA

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thryssa mystax

ลักษณะทั่วไป

ปลาแมวหัวแหลม เป็นปลาทะเลที่มีรูปร่างเรียวยาว แบนข้าง หัวค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ปากกว้างขากรรไกรรบนยื่นยาวออกถึงฐานครีบหู นัยน์ตาโตอยู่ใกล้กับปาก ท้องเป็นสันคม ซึ่งเกิดจากเกล็ดที่แข็งเรียงตัวกันเป็นแถว ครีบก้นยาว ครีบหางเป็นแฉกลึก พื้นลำตัวสีน้ำเงินปนดำท้องสีขาวเงินและมีจุดสีดำอยู่หลังช่องเปิดเหงือกข้างละจุด ครีบทุกครีบสีเหลืองอมเขียว

แหล่งอาศัย

อาศัยตามพื้นท้องทะเลตื้น ๆ เช่น จังหวัดจันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ ทางชายฝั่งทะเลอันดามันในเขตจังหวัดภูเก็ต ระนอง

อาหาร

กินลูกกุ้ง ลูกปลาและแมลง

ขนาด มีความยาวประมาณ 16 - 18 ซม.

ประโยชน์ : ปลาแมวหัวแหลม เนื้อปลาใช้ปรุงอาหารได้

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

วิกิพีเดีย

http://www.fisheries.go.th

เพิ่มเติม
ในอดีตมีปลาแมวมากในแม่น้ำบางปะกงที่ตำบลบางกรูด แต่ก็แปลกที่ปลาแมวเป็นปลาที่แสนรู้ (คล้าย ๆ เจ้าแมวเอ๋ย แมวเหมียว บนบก) ปลาแมวรู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหางไม่ค่อยจะหลงเข้าไปในอวนโพงพางของนายอึ้งนัก แต่ถ้าพ่อมังกรล้อมซั้ง และลงเฝือกจับซั้ง ก็จะได้พบปลาแมวปะปนมากับปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ๆ แต่ก็ไม่มีมากนัก แต่พลอยโพยมมีญาติผู้ใหญ่ฝ่ายข้างพ่อมังกร ชื่อ ก๋งฮ้อ เสงี่ยมพงษ์ ท่านกางอวนในแม่น้ำดักกุ้งปลา และแปลกมากที่ปลาแมวมักจะเข้ามามอบกายมอบชีวิตในอวนของก๋งฮ้อ เมื่อก๋งฮ้อกู้อวนเสร็จในวันก็จะรวบรวมผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในอวน เดินเร่ขายบ้าง พายเรือขายบ้างตามบ้านเรือนผู้คนริมฝั่งแม่น้ำ ใครอยากกินปลาแมวต้องรอ ก๋งฮ้อ ออกมาขายปลา เมื่อขายปลาแมวหมดและมีผู้ซื้อถามหาปลาแมว ก๋งฮ้อ ก็จะตอบว่า "ปลาแมวหมด ปลากดยังอยู่จ้า" ไป ๆ มา ๆ ก๋ง ก็จะร้องบอกบ้านเรือนที่เป็นเส้นทางผ่านว่า " ปลาแมวหมด ปลากดยังอยู่จ้า" ใครที่อยากกินแต่ปลาแมวจะได้ไม่ต้องเรียกให้ ก๋งฮ้อ แวะ เสียเวลา

บ่อยครั้งที่แม้ก๋งฮ้อจะร้องว่า"ปลาแมวหมด ปลากดยังอยู่จ้า" แต่ก๋งก็จะแวะที่บ้านยายขา (คุณยายของพลอยโพยม) และเอาปลาแมวที่ร้อยเหงือกเป็นพวงมาให้ หลาน ๆ (คือลูกของพ่อมังกร) เพราะรู้ว่าหลาน ๆ ชอบกินปลาแมว โดยเฉพาะพี่อรรถโกวิท พี่ชายคนที่สองของพลอยโพยมชอบกินปลาแมวมาก และกินง่าย ๆ แม่ละม่อมไม่ต้องยุ่งยากปรุงปลาแมวให้พิสดาร เพียงทอดในน้ำมันแล้วเด็ก ๆ ก็กินปลาแมวจิ้มน้ำปลา เท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น