วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปลาอีคุดบั้ง

ปลาอีคุดบั้ง

                                         ปลาอีคุดบั้ง


ชื่อสามัญ อีคุดบั้ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnocranius griseus

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ GREY LAGER-EYE BREAM

อีคุดบั้งเป็นปลาทะเล


ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาหน้าดินที่มีรูปร่างป้อมสั้น มีเกล็ดค่อนข้างเล็กปกคลุมบริเวณแก้มและลำตัว นัยน์ตาโต ครีบหลังมีฐานยาว ส่วนที่เป็นก้านครีบแข็งเป็นหนามแหลม ครีบหางเว้าลึก สีของลำตัวเป็นสีน้ำตาลอมเขียว มีแถบสีดำพาดขวางส่วนหัวและส่วนลำตัว



ถิ่นอาศัย

พบทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิค ในไทยพบแพร่กระจายทั่วไปในอ่าวไทย อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นเกาะแก่ง

อาหาร

กินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก

ขนาดความยาว

ประมาณ 10-30 ซ.ม.

ประโยชน์

เนื้อปลาใช้ปรุงเป็นอาหาร


ขอขอบคุณ  -  ที่มาของข้อมูล
                        ภาพปลาและสัตว์น้ำไทย กรมประมง

ปลาอีคุดบั้ง : เป็น ปลาทะเลอีกชนิดหนึ่ง ที่ถือได้ว่าเป็น ดัชนี ชี้วัดเพื่อประเมิน ความอุดมสมบูรณ์ ของสภาพแวดล้อม ทางทะเลได้เป็นอย่างดีทะเลพื้นที่ใดที่มีปลาอีคุดบั้ง อาศัยอยู่นั้น แสดงว่าสภาพแวดล้อมทางทะเล บริเวณนั้น ยังมีความอุดมสมบูรณ์ที่เดียว


ปลาอีคุด
                                         ปลาอีคุด สังเกตนัยน์ตาปลาเริ่มขุ่นไม่ใสเสียแล้ว




ปลาอีคุดก็เป็นปลาทะเลอีกชนิดหนึ่งที่เข้ามาอยู๋ในเขตน้ำกร่อยของแม่น้ำบางปะกง ในบางครั้งก็กระโดดเข้ามาในเรือผีหลอก ....วันหนึ่งพลอยโยมได้ปลาอีคุดมาหนึ่งตัว ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่จับปลาขึ้นมาวางบนใบตองสดเพื่อถ่ายรูป แล้วก็เอะใจขึ้นมาว่าปลาอีคุดตัวนี้ยังไม่ตาย..... แต่ด้วยความรู้สึกว่าปลาอีคุดตัวนี้คงจะชอกช้ำถูกจับพลิกไปพลิกมาและขาดน้ำ หากเอาไปปล่อยที่แม่น้ำอาจไม่รอด..... หลังจากโทรศัพท์ไปปรึกษามีนกรคนโตของบ้าน ได้รับคำแนะนำให้เอาไปฝาก มีนกรรุ่นน้องเกษตรกรดีเด่นของจังหวัดฉะเชิงเทรา คุณ บรรจง นิสภวาณิชย์ ที่บรรจงฟาร์ม ฟาร์มดังมีชื่อที่สุดของเมืองแปดริ้ว เพื่อเลี้ยงใส่ตู้ปลาเลี้ยง เพราะมีออกซิเจนช่วย



พลอยโพยมก็รีบเอาปลาใส่ถังใส่น้ำขับรถไปบรรจงฟาร์ม ซึ่ง คุณบรรจง และคุณนิด ภรรยาก็น่ารัก ตั้งใจช่วยเต็มที่้เอาปลาลงในตู้เลี้ยงปลาที่มีปลาซิวอยู่ เห็นปลาอีคุดแหวกว่ายน้ำได้ก็ดีใจมาก คุณนิดยิ่งน่ารักขึ้นไปอีกช่วยถ่ายรูปปลาอีคุดในตู้เลี้ยงปลาให้พลอยโพยมอีกด้วย รู้สึกว่าปลาอีคุดคงเพลียมาก ว่ายน้ำไม่นาน ก็ลงเกาะพื้นตู้ พลอยโพยมกลับบ้านอย่างสบายใจปลอดโปร่ง คิดว่า ปลาอีคุดคงแค่หมดแรง นานไปก็น่าจะดีขึ้น แต่กลายเป็นว่า ปลาอีคุดตายในวันรุ่งขึ้น.... พลอยโพยมเลยเศร้าใจมาก ได้แต่นึกในใจว่าขอให้ปลาอีคุดตัวนี้ได้ไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่ดีกว่าเดิมด้วยเทอญ



ในความรู้สึกของพลอยโพยม ปลาอีคุดนี้น่าจะเป็นปลาที่ตกใจง่าย และตัวเองได้ทำความลำบากให้คุณบรรจงและคุณนิดเพราะคงต้องถ่ายน้ำออกจากตู้เลี้ยงปลาใหม่ก่อนกำหนดเวลาปกติของการเปลี่ยนน้ำในตู้เลี้ยงปลาเป็นแน่แท้



ลำน้ำบางปะกงโดยเฉพาะที่เขื่อนหน้าที่ทำการอำเภอบ้านโพธิ์กลายเป็นแหล่งที่มีนักตกปลาขับรถมาจากที่ไกล ๆ เพื่อกิจกรรมตกปลา วันหนึ่งพลอยโพยมไปถ่ายรูปสนธยาสายัณห์ของลำน้ำบางปะกง ก็ไปพบปลาอีคุดและปลาอื่น ๆ นอนแอ้งแม้งรวมกันในสวิงดังภาพ ก็เศร้าใจอีกรอบ



หมายเหตุ ปลาในภาพไม่เห็นแถบสีดำพาดขวางส่วนหัวและส่วนลำตัว ที่ทำให้เรียกว่า อีคุดบั้ง แต่เป็นปลาที่ชาวบางกรูด ชาวอำเภอบางปะกงเรียกกันว่าปลาอีคุด และไม่มีรายละเอียดอื่นของปลาอีคุด พลอยโพยมเลยนำรายละเอียดของปลาอีคุดบั้งมาเสนอ มีปลาทะเลอีกชนิดหนึ่งที่คล้ายคลึงกันมาก คือ ปลาคลุด


ภาพปลาคลุด จาก ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย โดย สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์
แก้ไขข้อมูลเมื่อ 12 กรกฎาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น