วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557

หนังสือดีมีคุณค่า

ก่อนกลับมากรุงกุสินารา พลอยโพยมมีหนังสือ สี่เล่มใคร่ขอแนะนำคือ
๑.พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒.พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา
๓.ภาพเล่าพระพุทธประวัติ และ
๔.PICTORIAL BIOGRAPHY OF THE LORD BUDDHA


๑.พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ภายในมีเนื้อหากล่าวถึงก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก
พระโพธิสัตว์
พุทธพยากรณ์ (สุเมธดาบสโพธิสัตว์ ได้รับพุทธพยากรณ์ จาก พระทีปังกรพุทธเจ้าครั้งแรก)
พุทธการกธรรม  ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า
พระโพธิสัตว์ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าอีก ๒๓ พระองค์
การบำเพ็ญเพียรจนกว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า
เทวดาทูลเชิญพระโพธิสัตว์ให้ลงมาปฏิสนธิในมนุษยโลก
การประสูติ
ตรัสรู้
ปฐมเทศนา
ปรินิพพาน
อนาคตวงศ์
เนื้อหามีภาพประกอบที่สวยงามเป็นกระดาษมันอย่างดี  ในส่วนเนื้อหา พิมพ์ด้วยกระดาษและตัวอักษรที่อ่านสบายตา

 โดยหนังสือ "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า "  นี้ คุณแม่สุรีย์ มีผลกิจ ได้จัดพิมพ์แจกจ่ายเป็นธรรมทานแก่วัดทั่วประเทศ ๘,๐๒๕ วัด ห้องสมุดมหาวิทยาลัยมหามงกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทุกวิทยาเขต และห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวม ๑๔๓ แห่ง ห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ ๑๘๐ แห่ง และห้องสมุดพร้อมปัญญา กรมราชทัณฑ์ จำนวน ๔๒๕ แห่ง

คุณแม่สุรีย์ มีผลกิจ ได้น้อมถวาย การรวบรวม เรียบเรียง เพื่อเผยแพร่  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่มนี้ ไว้ในพระพุทธศาสนา

การพิมพ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒



๒.  พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา
การพิมพ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๙

เป็นการเรียบเรียงให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าในแต่ละพรรษา พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ที่ใด  ทรงแสดงธรรมโปรดบุคคลใด และมีบุคคลใดเป็นต้นเหตุแห่งการบัญญัติ  เป็นต้น
เรียบเรียงโดย  คุณสุรีย์ มีผลกิจ-คุณวิเชียร มีผลกิจ







๓.ภาพเล่าพระพุทธประวัติ

เป็นการเล่าประวัติพระพุทธเจ้าสำหรับเยาวชน โดยย่อความมาจากหนังสือพุทธประวัติ และพระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา  เป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๖ เนื้อหาเพื่ออ่านเข้าใจง่าย มีภาพและคำบรรยายโดยย่อทุกหน้า

และ
๔.PICTORIAL BIOGRAPHY OF THE LORD BUDDHA

เป็นการแปลภาพเล่าพุทธประวัติ เป็นภาษาอังกฤษ มีภาพและคำบรรยายโดยย่อทุกหน้าตามภาพเล่าพระพุทธประวัติเล่มภาษาไทยทุกประการ


มูลเหตุที่พลอยโพยมรู้จักหนังสือ สี่เล่มนี้ เนื่องจากพระพี่ชายได้อีเมล์ติดต่อหนังสือพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากพระภิกษูไทยที่ไปร่วมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และเข้าพรรษาที่วัดงุยเตาอูกัมมัฏฐาน ที่ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศพม่า พระพี่ชายท่านสนใจ พลอยโพยมจึงมีเมล์ไปที่

tragoulchokchai_f@hotmail.com
จนได้สนทนาทางเมล์กับคุณจิตสงบ ตระกูลโชคชัย
จึงทราบว่า ครอบครัวตระกูลโชคชัย ได้นำหนังสือ ที่เป็นผลงานของคุณแม่สุรีย์ มีผลกิจ มาเผยแผ่งานของท่านให้กว้างไกลตามเจตนารมณ์ของคุณแม่สุรีย์ มีผลกิจ โดยเฉพาะหนังสือชุดที่ระลึกถึงคุณแม่
ประกอบด้วยหนังสือจัดเป็นชุด ๓ เล่ม คือ
หนังสือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หนังสือภาพเล่าพระพุทธประวัติ และ
หนังสือ Pictorial Biography of The Lord Buddha ซึ่งเป็นฉบับแปลของ ภาพเล่าพระพุทธประวัติ





และครอบครัวตระกูลโชคชัย ได้จัดชุดนี้มาถวายเป็นธรรมบรรณาการแทนคุณแม่ สุรีย์  มีผลกิจ

และได้จัดส่งหนังสือ พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา มาให้พลอยโพยม ๑ เล่ม ซึ่งหนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นไกด์บุ๊คในการเดินทางไปสู่แดนพุทธภูมิได้เป็นอย่างดี

หนังสือ พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา มีศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดจำหน่าย และพลอยโพยมคิดว่าที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงจะมีหนังสือข้างต้นครบทั้ง สี่เล่ม รวมทั้งยังมีที่ร้านลุมพินีวันในยุวพุทธิกสมาคมแห่งประะเทศไทย ที่ซอยเพชรเกษม ๕๔



นอกจากนี้ยังมีผลงานที่คุณแม่สุรีย์  มีผลกิจ ผลิตไว้ในพระพุทธศาสนา ตามรายละเอียดภาพข้างบน

จึงใคร่ขอแนะนำหนังสือที่ทรงคุณค่าทั้งสี่เล่มและตามรายละเอียดภาพข้างบนนี้ ให้ไปติดตามหาอ่านกัน


คุณแม่สุรีย์ มีผลกิจ ได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ขอผลานิสงส์แห่งการสร้างบารมีในการให้ธรรมเป็นทาน เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนา จงเป็นพลวปัจจัย หนุนส่งคุณแม่สุรีย์ พ้นจากสังสารวัฏ ได้ไปสู่มรรคผลนิพพานในอนาคตกาลโดยเร็วเทอญ ฯ

วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๑๐





พระพุทธองค์จะเข้าสู่ป่าสาละแห่งกรุงกุสินารา ตามพุทธประวัติกล่าวว่าเสด็จข้ามแม่น้ำอีกสายหนึ่งมีชื่อว่า หิรัญญวดี ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้้ำคัณฑกะน้อย ที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโคคระ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำคงคาที่เมืองจาปา
ในสมัยพุทธกาล
กุสินาราเป็นเมืองหลวงของแคว้นมัลละตอนเหนือ

ในขณะที่เมืองปาวาเป็นเมืองหลวงของแคว้นมัลละตอนใต้
เจ้ามัลละแห่งปาวามีพระนามว่าปาเวยยกมัลละ
เจ้ามัลละแห่งกรุงกุสินารามีพระนามว่า โกสินารกา
ทั้งสองฝ่ายต่างมีอำนาจบริหารบ้านเมืองในส่วนที่เป็นดินแดนของตนแยกจากกัน มีแม่น้ำ หิรัญญวดี คั่นอยู่ตรงกลาง
หลักฐานที่เป็นเครื่องยืนยันว่าทั้งสองเมืองมีการบริหารที่แยกจากกัน คือภายหลังจากพุทธปรินิพพาน มีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว พวกเจ่้ามัลละแห่งปาวาได้ส่งทูตมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อไว้สักการะในเมืองของตน

แม่น้ำหิรัญญวดี (หรือแม่น้ำคัณฑกะน้อย) เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองกุสินารา
" อุปวัตตนสาลวัน" (ป่าไม้สาละชื่ออุปวัตตนะ) ของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือ (กุสินารา)เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์ ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำ หิรัญญวดี

ปัจจุบันเรียกแม่น้ำกันตัคน้อย ไหลผ่านอำเภอโครักปูร์ แยกจากแม่น้ำกันตัคใหญ่ไปประมาณ ๘ ไมล์ แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำ กกรา (หรือสรยู)

ส่วนแม่น้ำอีกสายที่อยู่ใกล้กรุงกุสินารา คือ กุกุฎฐา (กกุทธา,กกุฎฐา,หรือกกุธานที) ที่พระพุทธองค์ทรงสรงสนาน แม่น้ำสายนี้อยู่ในเขตของเมืองปาวา

สวนอัมพวัน (หรือสวนมะม่วง) ของนายจุนทะ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกกุธานที
เมื่อพระพุทธองค์ประชวรปักขันทิกาพาธ ประทับอยู่ที่อัมพวันนี้ ตรัสบอกให้พระอานนท์นำความไปบอกแก่นายจุนทะ เพื่อให้นายจุนทะมั่นใจว่า การที่เขาถวายสุกรมัททวะแด่พระตถาคต เป็นอาหารมื้อสุดท้าย หลังจากเสวยแล้วทรงประชวรนี้ไม่มีข้อน่าตำหนิ แต่กลับมีอานิสงส์มาก
แล้วทรงสนานในแม่น้ำ กกุธานทีนี้แล้ว บริเวณริมฝั่งและปลาทุกตัวได้กลายสภาพเป็นทองคำ

ขอขอบคุณข้อมูลจากสู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

(ไปปฏิบัติธรรมกลับวันที่ 26 พ.ย.คะ)

วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๙




ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.84000.org/tipitaka/picture/f71.html

จากบ้านนายจุนทะ แห่งปาวานคร เมื่อพระพุทธองค์เสวยสุกรมัททวะแล้ว เป็นเหตุให้พระองค์เกิดการแสลงพระโรคอย่างหนัก จนแทบจะปรินิพพานที่บ้านนายจุนทะนั่นเลย แต่ทรงได้เจริญอิทธิบาทธรรม ๔ ประการ จึงทำให้ทรงมีพละกำลังเสด็จเดินต่อไปได้ ระหว่างทางนั้นเองมีแม่น้ำสายเล็ก ๆ อยู่ ทรงรับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาให้ดื่มเพราะทรงกระหายน้ำอย่างมาก แต่พระอานนท์บอกว่า กองคราวานเกวียนพ่อค้าเพิ่งจะข้ามแม้น้ำนี้ไป น้ำยังขุ่นอยู่มากและเสนอว่า ขอให้พระองค์รออีกนิด แม่นำกกุธานธี อันเป็นแม่น้ำที่ใส เย็น มีรสจืดสนิทอยู่ไม่ไกลข้างหน้า

พระอานนท์ทูลผลัดว่า เกวียน ๕๐๐ เล่ม เพิ่งผ่านไปน้ำกำลังขุ่น ขอให้รอสักครู่ พระองค์ก็ดำรัสอีก ถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์เกรงพระทัยจึงถือบาตรตรงไปยังแม่น้ำน้อย เพื่อนำน้ำไปถวายพระพุทธองค์
แต่เมื่อพระอานนท์เดินเข้าไปใกล้ น้ำในแม่น้ำที่ขุ่นมัวเพราะถูกล้อเกวียนย่ำไป กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว มีกระแสไหลไปตามปกติ เหมือนกับว่าไม่มีล้อเกวียนย่ำผ่านไป
พระอานนท์เอาบาตรตักน้ำแล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถึงเหตุอัศจรรย๋ว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เรื่องที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ได้เป็นแล้วในตอนนี้ แม่น้ำนั้นถูกล้อเกวียนบดน่ำแล้ว มีน้ำน้อยขุ่นมัวไหลไปอยู่ เมื่อข้าพระองค์เข้าไปใกล้ กลับใสสะอาดไม่ขุ่นมัว ไหลไปแล้ว เพราะความที่พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสวยน้ำเถิด ขอพระสุคตจงเสวยน้ำเถิด "

พุทธาปทาน ( ข้ออ้างหรือประวัติของพระพุทธเจ้า )

( ในที่นี้จะนำพุทธาปทานอีกบทหนึ่ง ซึ่งอยู่ในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ อันมีชื่อว่าปุพพกัมมปิโลติกะ( ท่อนผ้าเก่าแห่งบุพพกรรม ) ส่วนใหญ่แสดงถึงกรรมชั่วที่พระผู้มีพระภาคเคยทรงทำไว้อันส่งผลร้ายแก่พระองค์ แม้ในพระชาติสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ในการเปิดเผยพระประวัติทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วอย่างตรงไปตรงมา ว่าเคยทรงทำไว้ทั้งกรรมดีกรรมชั่ว เฉพาะเรื่องนี้ จะพยายามถอดความให้ละเอียดเพื่อเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจทั่วไป). เรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคอันพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ประทับเหนือพื้นศิลาอันน่ารื่นรมย์ใกล้สระอโนดาด ตรัสเล่าบุพพกรรม ( กรรมในกาลก่อน ) ของพระองค์ ดังนี้.

" เราเคยเป็นนายโคบาลในชาติก่อน ๆ ต้อนแม่โคไปสู่ที่หากิน เห็นแม่โคดื่มน้ำขุ่นจึงห้ามไว้ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ในภพสุดท้ายนี้ เรากระหายน้ำ จึงไม่ได้ดื่มตามต้องการ ( ใช้พระอานนท์ไปตักน้ำ พระอานนท์ไม่ตักกลับมากราบทูลว่า น้ำขุ่น ต้องตรัสย้ำให้ไปใหม่ พอพระอานนท์ไปตัก น้ำกลับใส-มหาปรินิพพาน-สูตร ).


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=493233

เมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จถึงยังแม่นำกกุธานธี แล้วได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า ถ้าใครจะตำหนินายจุนทะเกี่ยวกับเรื่องถวายสุกรมัทวะแก่พระองค์ ขอให้ช่วยกันชี้แจงปลอบโยนนายจุนทะให้สบายใจนายจุนทะได้ทำบุญอันยิ่งใหญ่แล้ว

ได้ตรัสเรื่องการถวายอาหาร ๒ อย่าง มีผลเสมอกัน คือ
๑. อาหารบิณฑบาตที่เสวยแล้วตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ (นางสุชาดาถวาย)
๒. บิณฑบาตที่เสวยแล้วปรินิพพาน (นายจุนทะถวาย)

บิณฑบาตสองกาลนี้มีผลมาก กว่าบิณฑบาตรในกาลไหน ๆ เพราะว่าเป็นอานิสงส์แห่งการเข้าถึงพระนิพพานเหมือนกัน
ด้วยว่าบิณฑบาตรที่ถวายโดยนางสุชาดา เป็นเหตุให้พระองค์เข้าถึงด้วยสอุปาทิเสสนิพพานคือการดับกิเลสโดยมีเบญจขันธ์อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ส่วนที่นายจุนทะถวายนั้นเป็นเหตุให้พระพุทธองค์เข้าถึงอนุปาทิเสสนิพพาน คือการดับกิเลสโดยไม่มีเบญจขันธ์นั้นหลงเหลืออยู่

จากนั้นได้สรงน้ำในแม่น้ำกกุธานทีแห่งนี้ ช่วงนั้นเกิดเหตุมหัศจรรย์ว่าปลาในแม่น้ำและสัตว์น้ำทุกตัวเป็นสีทองและแม่น้ำสีใสดั่งเงิน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd32.htm
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=824450
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=493233
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

หมายเหตุ
ในhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=493233 มีบันทึกตอนท้ายของผู้เขียนว่า

แม่น้ำกกุธานทีสายนี้ ได้สอบถามชาวบ้านๆ เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ธาธีนะดีอยู่ห่างจากบ้านนายจุนทะประมาณเจ็ดกิโลเมตร ยังมีแม่น้ำไหลเย็นสนิท ตลอดปี และได้ลงไปสำรวจ ณ ที่แม่น้ำล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยทรายมีลักษะคล้ายกากเพชรที่ส่งแสงระยิบระยับตลอดแม่น้ำอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สูกรมัททวะ ๒





จากหนังสือ “คุยกันวันพุธ” (ฉบับรวมเล่ม โดยคณะสหายธรรม) กล่าวถึง การอาพาธของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะเสด็จปรินิพพาน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี

: การที่พระองค์เสวยสูกรมัททวะอันเป็นอาหารมื้อสุดท้ายที่นายจุนทะกัมมารบุตรปรุงถวายอย่างประณีต แล้วทรงอาพาธนั้น เห็นจะไม่ถูกต้องนัก เพราะความจริงนั้นพระองค์ทรงอาพาธหนักมาก่อนแล้ว ตั้งแต่เมื่อเสด็จออกจากเมืองเวสาลี เพื่อจะมาปรินิพพานที่เมืองกุสินารา แต่ทรงข่มอาพาธเสียได้ด้วยอำนาจสมาบัติ คือทำให้บรรเทาลง จึงสามารถเสด็จเดินทางไปได้ตามลำดับ

จนกระทั่งมาถึงเมืองปาวาที่นายจุนทะผู้นี้อยู่ ก็นายจุนทะนั้น ท่านเป็นพระโสดาบันในคราวที่พบพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก และได้ถวายสวนมะม่วงของตนให้เป็นอารามของสงฆ์ ธรรมดานั้นพระโสดาบันเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแน่นแฟ้น ยากจะหาผู้ใดเสมอ เพราะฉะนั้นนายจุนทะท่านก็จะต้องถวายอาหารที่ประณีตแก่พระพุทธเจ้าแน่นอน จะไม่ถวายอาหารที่เป็นพิษแก่พระพุทธเจ้าเป็นอันขาด

แต่เพราะเทวดาในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ รวมทั้งทวีปน้อยด้วย ได้พากันมาใส่โอชะลงในสูกรมัททวะนั้น จึงยากที่ไฟธาตุของภิกษุอื่นจะย่อยได้ พระพุทธองค์เสวยแล้วจึงรับสั่งให้เอาไปฝังเสีย

ในอรรถกถามหาปรินิพพานสูตรกล่าวไว้ว่า สูกรมัททวะนั้นมิได้เป็นพิษแก่พระองค์ ที่แท้กลับทำให้พระองค์ทรงคลายความอาพาธลง จนสามารถเสด็จต่อไปจนถึงเมืองกุสินาราตามพระประสงค์ได้ เพราะถึงแม้พระองค์จะมิได้เสวยสูกรมัททวะ พระองค์ก็ทรงอาพาธอยู่แล้ว

ด้วยอำนาจของอกุศลกรรมที่ตามมาให้ผล และจะอาพาธหนักกว่านี้อีก หากไม่ได้อาหารของนายจุนทะ แต่เพราะได้อาหารที่ประณีตของนายจุนทะ ทุกขเวทนาจึงเบาบางลงพอที่จะเสด็จต่อไปได้ ก็กรรมที่เป็นเหตุให้พระองค์ทรงอาพาธหนัก จนถึงกับมีพระโลหิตไหลไม่หยุดนั้น พระองค์ตรัสเล่าไว้เองในขุททกนิกาย อปทาน ตอนพุทธาปทานที่ชื่อว่า ปุพพกรรมปิโลติตอนหนึ่งว่า เมื่อก่อนนี้เราเป็นหมอรักษาโรค ได้ถ่ายยาให้เศรษฐีบุตรถึงแก่ความตาย ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น โรคปักขันธิกาพาธจึงมีแก่เรา เพราะฉะนั้นกรรมจึงเป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่พ้นจริงๆ เมื่อเขาได้โอกาสให้ผล แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ทรงฤทธิ์ทรงอานุภาพมากอย่างพระพุทธเจ้า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=836054



ในพระคัมภีร์มหายาน ได้กล่าวไว้ว่า สูกรมัททวะที่พระองค์ทรงฉันนั้น คือ เห็ดชนิดหนึ่ง จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับฝ่ายมหายาน ส่วนทางเถรวาทนั้น ได้เคยแปลตามๆกันมาว่า เนื้อสุกรอ่อน หรือ เนื้อหมูอ่อน (สูกร = สุกร หรือ หมู, มัททวะ = อ่อน) คัมภีร์ชั้นอรรถกถาและมติของเกจิอาจารย์ทั้งหลายยังไม่ลงรอยกัน

บางมติว่าได้แก่ เห็ดชนิดหนึ่ง และบางมติว่าได้แก่ ชื่ออาหารอันประณีตชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวอินเดียปรุงขึ้นเพื่อถวายแก่ผู้ที่ตนเคารพนับถือที่สุด เช่น เทพเจ้าเป็นต้น เป็นอาหารประณีตชั้นหนึ่งยิ่งกว่าข้าวมธุปายาส บางมติว่าอาจเป็นโอสถ หรือ อาหารที่เป็นยาอย่างหนึ่ง ที่นายจุนทะปรุงขึ้นถวายเพื่อรักษาโรค ด้วยทราบข่าวว่า พระพุทธองค์ได้เคยทรงประชวร และจะทรงปรินิพพานในระยะเวลาอันใกล้นั้น

ข้อสันนิษฐานอื่นของสูกรมัทวะ คือ อาจหมายถึง อาหารอันอ่อนนุ่มหรือโอชะที่หมูชอบ ซึ่งอาจเป็นไปได้ โดยเฉพาะมีเห็ดชนิดหนึ่งซึ่งงอกอยู่ใต้ดิน จากโคนไม้ส่วนที่ฝังอยู่ในดิน เรียกกันว่า เห็ดทรัฟเฟิล (Truffle) เห็ดทรัฟเฟิล (Truffle) เป็นเห็ดที่หมูชอบกิน แต่ไม่ใช่หมูจะชอบเท่านั้น คนก็ชอบกินด้วย เพราะมีกลิ่นหอมหวาน ใช้ปรุงอาหารโดยฝานใส่กับอาหาร ทำให้อาหารจานนั้นหอมกลมกล่อมมีรสชาด ถือว่าเป็นอาหารโอชะที่มีค่า (delicacy) และเป็นของที่หาได้ยาก ซึ่งนิยมกันมากโดยเฉพาะในยุโรป.......


ขอขอบคุณที่มา :พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานด้วยโรคอะไร? น.พ.คงศักดิ์ ตันไพจิตร, ดร.นงนุช ตันไพจิตร, ดร.สุนทร พลามินทร์

วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สูกรมัทวะ ๑





สูกรมัทวะคือ อาหารหรือยาบำรุงกึ่งอาหารประเภทโสม ซึ่งเป็นสิ่งนายจุนทกัมมารบุตร อังคาสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมื้อสุดท้ายก่อนปรินิพพาน ซึ่งนายจุนทะตบแต่งตามรสายนวิธี ด้วยประสงค์ว่า การปรินิพพานจะยังไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า. เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ก็เกิดอาพาธอย่างร้ายแรง มีเวทนากล้าเกิดแต่การประชวรลงพระโลหิต (ถ่ายเป็นเลือด) ใกล้จะนิพพาน

ทำให้บุรพาจารย์ท่านวินิจฉัยว่า สูกรมัทวะ เป็นอาหารหรือยา หรือสิ่งอะไรกันแน่ โดยบุรพาจารย์ท่านวินิจฉัยไว้ ๗ ประการคือ

๑. ปวัตตมังสะ ของสุกรที่ใหญ่ที่สุดตัวหนึ่ง ไม่หนุ่มนัก ไม่แก่นัก. นัยว่า ปวัตมังสะนั้นนุ่มสนิท. อธิบายว่า ให้จัดปวัตตมังสะนั้น ทำให้สุกอย่างดี. ๒. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ก็คำว่า สูกรมัททวะนี้เป็นชื่อ ของข้าวสุกอ่อน ที่จัดปรุงด้วยปัญจโครส (ขีร นมสด ทธิ นมส้ม ฆตํ เนยใส ตกฺตํ เปรียง และโนนีตํ เนยแข็ง)และถั่ว เหมือนของสุกชื่อว่า ควปานะ ขนมผสมน้ำนมโค.

๓. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า วิธีปรุงรส ชื่อว่าสูกรมัททวะ ก็สูกรมัททวะนั้นมาในรสายนศาสตร์.
๔. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สูกรมัทวะ ความว่า ไม่ใช่เนื้อสุกร แต่เป็นหน่อไม้ไผ่ ที่พวกสุกรแทะดุน.
๕. อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า เห็ด ที่เกิดในถิ่นที่พวกสุกรแทะดุน.
๖. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า บ่อเกิดแห่งรสชนิดหนึ่ง อันได้นามว่า สุกรอ่อน.
๗. อีกพวกหนึ่งเห็นว่า น่าจะเป็นอาหารบำรุงประเภทโสม ซึ่งมีพวกสมุนไพรผสมอยู่ด้วย ซึ่งเรียกว่า สูกรมัทวะ





ในพระไตรปิฎก ฉบับฉลองศิริราชสมบัติ ๖๐ ปี กล่าวไว้ในเชิงอรรถ ว่า สูกรมัทวะ หมายถึง เนื้อสันของสุกรที่เจริญเติบโตอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งกล่าวกันว่า อ่อนนุ่ม และอุดมด้วยไขมัน ได้รับการจัดแจงปรุงรสอย่างดี
มีมติของอาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า คำว่า สูกรมัทวะ หมายถึง ชื่อของวิธีปรุงน้ำซุปเบญจโครสผสมด้วยข้าวสุกนุ่ม นอกจากนี้
ยังมีเกจิอาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า “ชื่อว่าสูกรมัทวะ ได้แก่วิธีปรุงยาบำรุงกำลัง (รสายนวิธี) ชนิดหนึ่ง ซึ่งนายจุนทะตั้งใจปรุงเป็นพิเศษ ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่พึงปรินิพพาน” อนึ่งในสูกรมัทวะนั้น เหล่าเทวดาในมหาทวีปทั้ง ๔ ซึ่งมีทวีปเล็กจำนวน ๒,๐๐๐ ทวีป เป็นบริวาร ต่างพากันใส่โอชารสเข้าไป (นัย ที.ม.อ. ๑๗๒)

สรุปแล้วก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปว่า สูกรมัทวะ คืออะไร แต่เพราะเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงต้องฉัน สูกรมัทวะ แล้วเกิดอาการประชวร ไม่ใช่พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงทราบ หากแต่เป็นกรรมเก่าที่พระองค์เคยสร้างไว้ บุพกรรมที่ทำให้ถ่ายด้วยการลงพระโลหิต การถ่ายด้วยการลงพระโลหิต ชื่อว่า อติสาระ โรคบิด.



ได้ยินว่าในอดีตกาล
พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลคหบดี เลี้ยงชีพด้วยเวชกรรม. พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อจะเยียวยาบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งผู้ถูกโรคครอบงำจึงปรุงยาแล้วเยียวยา อาศัยความประมาทในการให้ไทยธรรมของบุตรเศรษฐีนั้น จึงให้โอสถอีกขนานหนึ่ง ได้กระทำการถ่ายโดยการสำรอกออก เศรษฐีได้ให้ทรัพย์เป็นอันมาก. ด้วยวิบากของกรรมนั้น พระโพธิสัตว์จึงได้ถูกอาพาธด้วยโรคลงโลหิตครอบงำในภพที่เกิดแล้ว ๆ ในอัตภาพหลังสุดแม้นี้ ในปรินิพพานสมัย จึงได้มีการถ่ายด้วยการลงพระโลหิต ในขณะที่เสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะกัมมารบุตรปรุงถวาย พร้อมกับพระกระยาหารอันมีทิพโอชะที่เทวดาในจักรวาลทั้งสิ้นใส่ลงไว้.

กำลังช้างแสนโกฏิเชือก ได้ถึงความสิ้นไป. ในวันเพ็ญเดือน ๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินไปเพื่อต้องการปรินิพพานในเมืองกุสินารา ประทับนั่งในที่หลายแห่ง กระหายน้ำทรงดื่มน้ำ ทรงถึงเมืองกุสินาราด้วยความลำบากอย่างมหันต์ แล้วเสด็จปรินิพพานในเวลาปัจจุบันสมัยใกล้รุ่ง. แม้เป็นพระพุทธเจ้ากรรมเก่าก็ไม่ละเว้น.

ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “เราเป็นหมอรักษาโรค ได้ถ่ายยาบุตรของเศรษฐี ด้วยวิบากของกรรมนั้น โรคปักขันทิกาพาธจึงมีแก่เรา” จะเห็นได้ว่าแม้เป็นอริยบุคคล ผู้สูงสุดคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังหนีกรรมเก่าไม่พ้น ไม่สามารถแก้กรรมได้ แต่ในปัจจุบันผู้ที่เรียกตนเองว่า ชาวพุทธกลับพยายามที่จะแสวงหาวิธีที่จะหลีกหนีจากกรรม หรือวิธีแก้กรรมกัน ซึ่งถ้ามีวิธีที่ว่าจริงพระพุทธเจ้า คงไม่ต้องรับเวทนาจากกรรมเก่าที่เคยกระทำมาในอดีตชาติ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://dhammaweekly.wordpress.com/2011/03/12/สูกรมัทวะ-สิ่งที่นายจุน/

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๘




ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=836054

ในวันนั้นเองหลังจากที่เสวยสุกรมัททวะของนายจุนทะแล้ว พระพุทธองค์ทรงประชวรด่วยโรคชื่อ ปักขันทิกาพาธ มีอาการลงพระโลหิต ทรงได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า แต่ยังทรงมีสติสัมปชัญญะมั่นคง ไม่ทุรนทุราย ด้วยพลังขันติธรรม คือ อธิวาสนขันติ

ตรัสให้พระอานนท์นำความไปบอกแก่นายจุนทะ โดยทำให้เขามั่นใจว่า การที่นายจุนทะถวายสุกรมัททวะแก่พระคถาคต เป็นอาหารมื้อสุดท้าย หลังจากที่ทรงเสวยแล้วประชวรนี้ ไม่มีข้อที่น่าตำหนิ แต่กลับมีอานิสงส์มาก

 มีตำนานบอกว่า พระพุทธองค์ทรงลงสรงสนาน ในแม่น้ำกกุธานที แม่น้ำกกุธานที เป็นแม่น้ำอยูีในเขตของเมือปาวา อยู่ใกล้กรุงกุสินารา มีชื่อเรียกว่า กุกุฑฐา (กกุทธา กกุฎฐา) สวนอัมพวัน (หริอสวนมะม่วง) ของนายจุนทะ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกกุธานที เมื่อพระพุทธองค์ทรงสรงสนานในแม่น้ำกกุฎฐา นี้แล้ว ยริเวณริมฝั่งแม่น้ำและปลาทุกตัวในแม่น้ำ ได้กลายสภาพเป็นทองคำ


 แม่น้ำกกุธานที


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระอานนท์มา แล้วเสด็จออกจากเมืองปาวา ไปยังเมืองกุสินารา การประชวรลงพระโลหิตของพระพุทธองค์ พระสังติติกาจารย์ ผู้ร่วมทำสังคายนา ได้ให้ข้อสังเกตุว่า

พระพุทธองค์ผู้ทรงพระปรีชา เสวยภัตตาหารของนายจุนทะผู้เป็นบุตรนายช่างทองแล้ว ทรงประชวรอย่างหนัก ใกล้จะปรินิพพาน เมื่อพระบรมศาสดาเสวยสุกรมัททวะแล้ว การประชวรบางอย่างได้เกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าลงพระบังคน ได้ตรัสว่า "เราจะไปเมืองกุสินารา"

พระพุทธองค์เสด็จจากเมืองปาวาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ๋ ขณะที่ทรงดำเนิน ทรงกระหายน้ำ จึงเสด็จแวะพักลงณ ณ โคนต้นไม้รืมทางนั้น ตรัสสั่งให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันป็น ๔ ชี้น ประทับบนอาสนะที่พระอานนท์ปูลาดถวายไว้ รับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำจากลำคลองเล็กที่อยู่ในบริเวณนั้นมา เพราะทรงกระหายใคร่จะได้ดื่มน้ำ


พระอานนท์ไม่ไปตักน้ำตามพุทธบัญชา เพราะเห็นว่าเกวียน ๕๐๐ เล่ม เพิ่งข่ามแม่น้ำนั้นไปไม่นาน ทำให้น้ำขุ่น กราบทูลแนะนำให้เสด็จต่อไปยังแม่น่ำใหญ่ ชื่อ กกุธานที (หรือกกุฏฐา) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่นั้น พระพุทธองค์ตรัสยืนยันถึง ๓ ครั้ง ให้พระอานนท์ไปตักน้ำมา

สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ" หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)


วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๗




ขอขอบคุณภาพจากhttp://no1thai.blogspot.com/2013_07_01_archive.html


ในพรรษาสุดท้าย พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาที่เมืองเวสาลี หรือไพสาลี เมืองหลวงของแคว้นวัชชี
และเมืองนี้เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่ง รวมทั้งเป็นที่กำเนิดของพระมหาวีระศาสดาของศาสนาเชน

และที่เป็นต้นกำเนิดของการทำน้ำมนต์ในพุทธศาสนา เนื่องจากได้เกิดทุพิกขภัยร้ายแรงทั่วเมืองเวสาลีมีคนตายมากมายกษัตริย์จึงได้นิมนต์ให้พระพุทธเจ้าได้มาโปรดชาวเมือง พระพุทธเจ้าจึงนำเหล่าภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางไปโปรดที่เมืองเวสาลีพร้อมทั้งได้มีการประพรมน้ำมนต์ทั่วทั้งเมือง เป็นที่มาของการสวดรัตนปริต

นอกจากนี้เวสาลียังเป็นเส้นทางที่พระพุทธเจ้าได้ปลงสังขารที่ปาวาลเจดีย์ ในสวนของนางอัมพปาลี หญิงคณิกาแห่งเมืองเวสาลี
ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า “อีกสามเดือนจากนี้ไป ตถาคตจะดับขันธ์ปรินิพพาน”
หลังจากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จไปเมืองกุสินาราซึ่งเป็นสถานที่เสด็จปรินิพพาน

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จออกจากนครเวสาลี ทรงประทับยืนอยู่ ณ ประตูเมืองเป็นครู่ ผินพระพักตร์ดูนครเวสาลีอันมั่งคั่งเรืองรุ่งดุจสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงตรัสกับพระอานนท๋ว่า



" อานนท์เอย
การมองดูเวสาลีครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของตถาคตแล้ว
ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมีการเริ่มต้นแล้ว ย่อมมีการสิ้นสุด
ใครเล่าจะหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องเป็น มิให้เป็นได้..."





ขอขอบคุณภาพจากthanyathorn.wordpress.com

เมืองกุสินารานี้เคยเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสสัมมาสัพุทธเจ้า
เป็นที่เกิดบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์หลายครั้ง เคยสวรรคตที่เมืองนี้ ๗ ครั้ง
เคยเป็นราชธานีนามว่ากุสาวดี ของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.pimpudcha.com/index.php/travel/58-2013-07-19-05-58-59

พระพุทธองค์ทรงรอนแรมไปสู่หมู่บ้านภัณฑุคาม ตรัสเทศนาสั่งสอนบุคคลในหมู่บ้านนั้น แล้วเสด็จไปสู่หมู่บ้านหัตถีคาม อัมพคาม และชัมพูคาม ตามลำดับถึงเมืองโภคนคร ได้ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่บุคคลทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงเสด็จไปเมืองปาวา ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร ตระกูลวิศวกรรมนายช่างทอง ณ เมืองปาวานั่นเอง พระพุทธองค์ทรงเสวยอาหารมื้อสุดท้ายที่นายจุนทะจัดถวาย

เมืองปาวานั้นเป็นศูนย์กลางของพวกนับถือศาสนาของศาสดามหาวีระ หรือนิครนถนาฏบุตร และท่านมหาวีระก็ละสังขารที่เมืองนี้

นายจุนทะได้ทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จถึงเมืองปาวา กำลังประทับอยู่ ณ อัมพวัน จึงไปเดินทางไปเข้าเฝ้า กราบทูลนิมนต์พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ให้เสด็จไปฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น


นายจุนทะจัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต และสุกรมัททวะ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์

ตรัสเรียกให้นายจุนทะนำสุกรมัททวะมาถวายเฉพาะพระองค์ ให้ถวายอาหารอื่นแก่พระภิกษุสงฆ์ เมื่อฉันเสร็จแล้วตรัสให้นำสุกรมัททวะที่เหลือไปฝังเสีย

"ดูก่อนจุนทะ ท่านจงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือเสัยในหลุม เรายังไม่เห็นใครเลยในมนุษยโลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่บริโภคสุกรมัททวะนั้นแล้ว จักพึงให้ย่อยไปด้วยดี นอกจากตถาคต"


นายจุนทะทำตามพระพุทธบัญชา เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ทำให้นายจุนทะเกิดความเข้าใจในข้ออรรถ ข้อธรรม มีความรื่นเริงเบิกบานในธรรมะที่ได้สดับนั้น
ต่อจากนั้นพระพุทธองค์เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จกลับที่ประทับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
http://www.oknation.net/blog/somran/2009/07/23/entry-2

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๖ พระเจ้าจักรพรรดิมหาสุทัสสนะ ๓




ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.web-pra.com/Shop/panor304/Show/695731


ท้าวสักกะสร้างธรรมปราสาทถวาย

ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ประสงค์จะสร้างปราสาทถวายพระเจ้ามหาสุทัสสนะ จึงเรียกวิศวกรรมเทพบุตรมา รับสั่งให้สร้างพระราชวังชื่อว่า ธรรมปราสาท เพื่อถวายแด่ท้าวเธอ

วิศวกรรมเทพบุตรจึงได้ไปจัดการตามนั้น โดยการสร้างปราสาทยาวไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑ โยชน์ และกว้างไปทางทิศเหนือและทิศใต้กึ่งโยชน์ ธรรมปราสาทสวยสดงดงามตระการตาด้วยวัสดุที่มีค่ายิางนัก เช่นอิฐ มี ๔ ชนิด คือ ทอง เงิน ไพฑูรย์ และแก้วผลึก มีเสาถึง ๘๔,๐๐๐ ต้น แบ่งเป๋็น ๔ ชนิด คือเสาทอง เสาเงิน เสาไพฑูรย์ และเสาแก้วผลึก ตามลำดับกระดาน ๔ สี่ คือ ทอง เงิน ไพฑูรย์ และแก้วผลึก เหล่านี้เป็นต้น


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.web-pra.com/Shop/panor304/Show/695731

พระเจ้ามหาสุทัสสนะสวรรรคต

พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้ทรางพระราชดำริว่า เพราะผลของกรรมหรือวิบากของกรรมอะไร จึงทำให้มีฤทธิ์ มีอานุภาพใหญ่อย่างนี้ แล้วก็ได้รู้ว่าเป็นเพราะผลกรรม ๓ อย่างคือ

ทาน การให้
ทมะ การฝึกจิต
และสัญญมะ การสำรวมจิต
แล้วท้าวเธอก็เสด็จเข้าเรือนยอดหลังใหม่ เปล่งพระอุทานว่า หยุดกามวิตก หยุดพยาบาทวิตก และหยุดวิหิงสาวิตก (ความเบียดเบียน)
ดังนี้แล้ว ได้สมถกรรมฐาน จนได้บรรลุจตุตถฌาน
เมื่อเสด็จออกจากเรือนแล้ว ทรงมีจิตอันสหรคตด้วย เมตตา กรุฯา มุฑิตา และอุเบกขา เป็นอัปปมัญญาทั่วไปตลอดทิศทั้ง ๔
ครั้นแล้วก็รับสั่งให้ราชบุรุษยกบัลลังก์ทองไปตั้งไว้ที่ราชอุทยาน จากนั้นท้าวเธอทรงสำเร็จสีหไสยาสน์และเสด็จสวรรคตโดยสงบ ทรงอุบัติในพรหมโลก เพราะบำเพ็ญพรหมวิหารธรรม กระทั่งดับจิต



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=147038

สังเวคกถา
พระผูมีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรุปเรื่องว่า

"ดูกร อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะสมัยนั้นคือ เรา (ตถาคต) ในกาลนี้นั่นเอง สมัยเมื่อเราเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เรามีนครในปกครอง ๘๔,๐๐๐ แห่ง นั้น มีกรุงกุสาวดีเป็นราชธานี แต่ถึงกระนั้นเราก็อยู่อาศัยเพียงนครเดียวเท่านั้น เช่นเดียวกันนี้ เรามีปราสาท เรือนยอดบัลลังก์ ช่้าง ม้า รถ แก้ว สตรี คหบดี ปริณายก โคนม ผ้า ถาดพระกระยาหารอย่างละ ๘๔,๐๐๐ ทุกอย่างเหล่านี้ล้วนแต่เป็นของเลิศ แต่เราก็ได้ใช้เพียงคราวละครั้งเท่านั้น ดูเถิด อานนท์ สังขารเหล่านั้นล่วงไป ดับแล้ว แปรปรวน แล้ว สังขารไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าวางใจอย่างนี้

ฉะนั้น จึงควรเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง ควรเพื่อจะคลายกำหนัด ควรเพื่อจะพ้นไปเสีย


ดูกรอานนท์ เราย่อมรู้ที่ทอดทิ้งร่างกาย เราทอดทิ้งร่างกายไว้ในประเทศนี้. การที่เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ชนะแล้ว มีอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ การทอดทิ้งร่างกายไว้นี้นับเป็นครั้งที่เจ็ด

ดูกรอานนท์ เราไม่เล็งเห็นประเทศนั้นๆในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ ทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่ตถาคตจะทอดทิ้งสรีระไว้เป็นครั้งที่แปด ดังนี้.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)




ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.atlanteanconspiracy.com/2012/08/the-immaterial-physical-world.html

มีความละเอียดอยู่ในมหาสุทัสสนสูตร หรือติดตามอ่านได้ที่
http://www.84000.org/tipitaka/read100/read100163_02.php

วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๕ พระเจ้าจักรพรรดิมหาสุทัสสนะ ๒




ขอขอบคุณภาพจาก ขอขอบคุณภาพจาก http://www.naryak.com/forum/บึงบอระเพ็ด-f1-t83.html

ฤทธิ์ ๔ ของพระจักรพรรดิมหาสุทัสสนะ

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงมีฤทธิ์ ๔ ประการคือ
๑.ทรงมีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผ่องใส ยิ่งกว่ามนุษย์เหล่าอื่นใดในโลกนี้

๒.ทรงมีชนมายุยืนนาน ยิ่งกว่ามนุษย์เหล่าอื่น คือเป็นพระกุมาร ๘๔,๐๐๐ ปี ดำรงตำแหน่งอุปราชอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ครองราชสมบัติ ๘๔,๐๐๐ ปี และประพฤตืพรหมจรรย์ในธรรมปราสาทอีก ๘๔,๐๐๐ ปี

๓.มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีพระเตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมที่มีวิบากเสมอกัน ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด ยิ่งกว่ามนุษย์เหล่าอื่น
  ๔.เป็นที่รักใครของประขาขน ราวกับเป็นบิดาที่รักใคร่ของบุตรฉะนั้น อย่างเช่นเมื่อครั้งที่ท้าวเธอเสด็จประพาสพระราชอุทยานด้วยจาตุรงคเสนา พสกนิกรที่รอเข้าเฝ้ารับเสด็จกราบทูลว่า

"ขอเดชะ พระองค์อย่าด่วนเสด็จไป พระเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าจักได้เห็นพระองค์นาน ๆ
ท้าวเธอจึงตรัสเตือนสารถีว่า

"จงขับช้า ๆ เราจะได้ดูพสกนิกรของเรานาน ๆ

ขอขอบคุณภาพจาก

พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงมีรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณีถึง ๘๔,๐๐๐ สระ ด้วยอิฐ ๔ ชนิด คือ ทอง เงิน แก้วไพฑูรย์ และแก้วผลึก ล้วนแต่วิจิตรตระการตา จากนั้นโปรดให้ปลูกดอกบัวชนิดต่าง ๆ ซึ่งผลิดอกออกผลได้ในทุกฤดูกาลในสระเหล่านั้น




พร้อมกันนั้นก็ให้ตั้งโรงทานที่ฝั่งของสระนั้น สิ่งของที่มีไว้แจกทานก็มีข้าว น้ำ ผ้า ยา เงิน และทอง เป็นต้น

บรรดาพ่อค้าคหบดีเข้าเฝ้าท้าวเธอ พร้อมทั้งกราบทูลถวายสิ่งของมีค่า
มีรับสั่งว่า
"ขอทรัพย์สมบัติทั้งหมดนั้น จงเป็นของพวกเธอเถิด "
พ่อค้าคหบดีเหล่านั้น จึงนำทรีพย์จำนวนนั้นมาจ้ดสร้างนิเวศน์ถวายแด่ท้าวเธอ



ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.palungjit.org/f13/พระนางสามาวดี-เอตทัคคะผู้ถูกไฟ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๔ พระเจ้าจักรพรรดิมหาสุทัสสนะ ๑



ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.palungjit.org/f13/พระนางสามาวดี-เอตทัคคะผู้ถูกไฟคลอกก่อนไปสรวงสวรรณค์-317950.html

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า
ดูกร อานนท์ กุสินารานคร มีนามเดิมว่า กุสาวดี มีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า มหาสุทัสสนะ เป็นกษัติฃริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ ทิศเป็นขอบเขต โดยด้านยาว ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกวัดได้ ๑๒ โยชน์ ทิศเหนือและทิศใต้ วัดได้ ๘ โยชน์


พระเจ้ามหาสุทัสสนะ จักพรรดิผู้เป็นอิสราธิบดีในปฐพีมงคล ทรงชำนะปัจเจกมิตรโดยธรรม ไม่ต้องใช้ทัณฑ์และสาตราวุธ ชนบทชายแดนสงบราบคาบ ปราศจากโจรผู้ร้าย ประตูบ้านปราศจากลิ่มสลัก เป็นนครที่รื่นรมย์ ร่มเย็นสมเป็นราชธานีแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชอย่างแท้จริง ถึงกระนั้นก็ตาม เมืองกุสาวดียังได้แวดล้อมด้วยกำแพงสูง ๗ ชั้น แต่ละกำแพงทำด้วยวัตถุแตกต่างกันไป คือ ทอง เงิน แก้วไพฑูรย์ และแก้วผลึก ตามลำดับ



พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงมีแก้ว ๗ ประการดังนี้



๑. จักรแก้ว (จกฺกรตน) อันเป็นทิพย์ปรากฏขึ้นแก่ท้าวเธอ เมื่อท้าวเธอสรงสนานพระเศียรในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันอุโบสถ พระองค์ทรงถือศีล รักษาอุโบสถ (คือ ๘) จากนั้นจึงชูจักรแก้วขึ้นด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วกล่าวว่า

"จักรแก้วอันเจริญ จงหมุนไป จงนำชัยชนะกลับมาพลัน จักรแก้วน้้นก้หมุนไป เมื่อจักรแก้วนั้นหมุนไปหยุดอยู่ ณ ประเทศใด ๆ ท้าวเธอพร้อมด้วยจาตุรงคสันนิบาต จะเสด็จเข้าไปพักแรมในประเทศนั้น ๆ พระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์ย่อมนอบน้อมต่อท้าวเธอ "

๒.ช้างแก้ว (หตฺถิรตน) เป็นช้างเผือกล้วน เป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ มีฤิทธิ์ไปในอากาศชื่อว่า อุโบสถ ท้าวเธอจะเสด็จขึ้นทรงแล้วเสด็จเลียบไปตลอดปฐพี อันมีสมุทรเป็นขอบเขต แล้วจึงเสด็จกลับกรุงกุสาวดีเพื่อเสวยพระกระยาหารเช้า เป็นเช่นนี้ทุกวัน

๓.ม้าแก้ว (อสฺสรตน) เป็นม้าสีขาวปลอดแต่ศรีษะดำ มีฤิทธิ์เหาะได้เหมือนกับช้างแก้วมีชื่อว่า "วลาหกกอัศวราช"


ขอขอบคุณภาพจากhttp://0.static-atcloud.com/files/entries/5/51567/images/1_original.jpg

๔. แก้วมณี ( มณิรตน) เป็นแก้วไพฑูรย์อันเกิดเองอย่างบริสุทธิ์ สุกใส แวววาวสมส่วนทุกอย่าง แสงสว่างของแก้วมณีแผ่ไปโดยรอบ ประมาณ ๑ โยชน์ แม้ในยามราตรีแสงแห่งแก้วมณี ก็สาดส่องสว่างไสวราวกับว่าเป็นกลางวัน

๕. นางแก้ว (อิตฺถีรตน) เป็นสตรีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ผิวพรรณผุดผ่อง มีกลื่นจันทน์หอมฟุ้งออกจากร่างกาย กลิ่นอุบลหอมฟุ้งออกจากปาก ตื่นก่อนนอนทีหลัง ประพฤติต้องพระทัย

๖.คหบดีแก้ว (คหปติรตน) หรือเรียกว่าขุนคลังแก้ว เป็นคนช่วยจัดการทรัพย์สินอย่างดีเลิศ เป็นคนตาทิพย์ เพราะเกิดจากผลแห่งกรรม สามารถมองขุมทรัพย์ที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ


๗ ปรินายกแก้ว (ปริณายกรตน) หรือเรียกว่า ขุนพลแก้ว เป็นบัณฑิตเฉียบแหลม มีปัญญาสามารถจัดการเรื่องที่ควรเสด็จ หรือไม่ควรเสด็จถวายแด้ท้าวเธอ


ขอขอบคุณภาพจากblog.lenyajewelry.co.th

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๓




ขอขอบคุณภาพจากwww.dmc.tv

ในสมัยแห่งกาลเสด็จปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ สาลวัน ใกล้กรุงกุสินารา
พระอานนท์กราบทูลขอร้องว่า

ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมือง เช่นนี้เลย เมืองใหญ่เช่น ราชคฤห์ สาวัตถึ โกสัมพี พาราณสี    เหล่ากษัตริย์ พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล ที่เลื่อมใสในพระตถาคตมีอยู่มาก ท่านเหล่านั้นจักกระทำสักการะบูชา สรีระของพระตถาคตเจ้า "

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

"อานนท์ กุสินารานี้แต่ปางก่อนเป็นราชธานีมีนามว่า กุสาวดี พระเจ้ามหาสุทัสสนะเป็นกษัตริย์ ได้รับมธุราภิเษกทรงเป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ กุสาวดีเป็นเมืองที่มั่งคั่ง รุ่งเรือง มีชนมาก มีภักษาหาได้ง่าย กุสาวดีราชธานี ไม่เคยเงียบจากเสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคม และเสียงชนทั้งหลายว่า ท่านจงมาดื่ม จงมาบริโภคเถิด ทั้งกลางวันและกลางคืน "

พระพุทธองค์ตรัสเล่าถึงอานิสงส์แห่งทาน ที่พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงได้รับในครั้งนั้นว่า

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงถวายทานในสมณะทั้งหลายด้วยสมณบริขาร อุปถัมภ์พราหมณ์ ทั้งหลายด้วยพราหมณบริขาร ทรงดำริจัดหาความสุขแก่ชาวนครของพระองค์ โดยให้ทานแก่มหาชนทั้งหลาย ด้วยเครื่องอุปโภค บริโภค และวัตถุที่ต้องการทั้งปวงของชนเหล่านั้น ผู้ใดปรารถนาสิ่งใดก็รับเอาไป การงานอย่างอื่นของชาวนครทั้งหลายไม่มี ชาวชมพูทวีปบริโภคทานของพระราชาเท่านั้น

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทรงประพฤติพรมจรรย์ ทรงเจริญพรหมวิหารธรรม ๔  หลังจากสวรรคตได้เสด็จเข้าถึงพรหมโลกแล้ว



ขอขอบคุณภาพจาก http://www.naryak.com/forum/บึงบอระเพ็ด-f1-t83.html


พระพุทธองค์ตรัสสอนพระอานนท์ว่า

"อานนท์เธอจงดูเถิด สังขารเหล่านั้นล่วงไป ดับไป แปรไปหมดแล้ว อานนท์ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ ไม่ยั่งยืนอย่างนี้ ไม่น่ายินดีเหล่านี้ อานนท์ เพราะเหตุนี้ควรจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง เพราะเมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วย่อมมีญาณรูเว่า ชาติสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว"

เมื่อได้พรรณนาความรุ่งเรืองแห่งกรุงกุสาวดีให้พระอานนท์ฟัง


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/suthichai/page18

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า

"อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะในสมัยนั้นคือเราตถาตคในปัจจุบัน เราย่อมรู้ที่ทอดทิ้งร่างกาย อานนท์ เราไม่เห็นสถานที่ใดในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ทั้งหลายทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ที่ตภาคต จะทอดทิ้งร่างกายเป็นครั้งสุดท้าย นอกจากสถานที่นี้ "

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๒




ขอขอบคุณภาพจากbuddhaforyou.wordpress.com

การปรับไหมผู้ไม่รับเสด็จพระพุทธองค์

พระบรมศาสดาได้เสด็จจาริกมายังนครกุสินารา โรชะมัลลกษัตริย์ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติยิ่ง เนื่องจากพระอานนท์และโรชะมัลลกษัตริย์เป็นสหายกันมาก่อน พระอานนท์ได้กล่าวชมการต้อนรับครั้งนี้
โรชะมัลลกษัตริย์ตรัสว่า
"ที่ข้าพเจ้ากระทำการต้อนรับอย่างมโหฬารเช่นนี้ เนื่องด้วยพวกญาติตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จะต้องถูกปรับสินไหม ๕๐๐ กหาปณะ ข้าพเจ้ามิได้ทำด้วยความศรัทธาของตน "
พระอานนท์ไม่คาดว่าจะได้รับคำตอบเช่นนั้น จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดา เพื่อจะหาทางทำใฟ้โรชะมัลลกษัตริย์เกิดความเลื่อมใสในพระตถาคตและพระธรรมวินัย
พระพุทธองค์ตรัสว่า
"อานนท์ การที่จะให้โรชะมัลลกษัตริย์เลื่อมใสนั้น ตถาคตทำได้ไม่ยากเลย "
ลำดับนั้น พระองค์ทรงแผ่เมตตาจิตไปยังโรชะมัลลกษัตรย์ แล้วเสด็จเข้าไปในวิหาร
โรชะมัลลกษัตริย์อันพระเมตตาจิตของพระพุทธองค์สัมผัสแล้ว ได้เที่ยวตามหาพระพุทธองค์ไปทั่วบริเวณ ดุจโคแม่ลูกอ่อนตามหาลูกของตน




ขอขอบคุณภาพจากsites.google.com

พวกภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ในวิหาร พระทวารนั้นปิดเสียแล้ว แต่แนะนำให้เคาะพระทวาร
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเปิดทวารรับ ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา แล้วทรงประกาศอริยสัจ ๔
โรชะมัลลกษัตริย์ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว กราบทูลขอประทานวโรกาส ให้พระภิกษุสงฆ์รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ของพระองค์แต่ผู้เดียว โดยไม่รับของผู้อื่น
พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ ตรัสว่า
"ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จักรับปัจจัยของท่านด้วย ของผู้อื่นด้วย เพื่อความอนุเคราะห์แก่ชนทั้งทั้งหลายโดยถ้วนหน้ากัน"
ขณะที่โรชะมัลลกษัตริย์รอลำดับเพื่อจะถวายภัตตาหาร ได้เสด็จเข้าไปสำรวจโรงครัว ได้เห็นสิ่งที่ยังขาดอยู่ ๒ อย่างคือ
ผักสด ๑ ของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ๑ จึงเข้าไปหารือพระอานนท์ว่า สองอย่างนี้เป็นสิ่งสมควรหรือไม่ที่จะถวายแก่สงฆ์
พระอานนท์กราบทูลเรื่องนี้แก่พระศาสดา พระองค์จึงทรงอนุญาต ผักสดทุกชนิด และของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๑.





กุสินารา (ฮินดี: कुशीनगर, อูรดู: کُشی نگر, อังกฤษ: Kusinaga, Kushinagar)

นครกุสินารราปัจจุบันได้แก่ตำบลกาเซีย (Kasia) ในเขตการปกครองของจังหวัดกุศินาคาร์ (Kushinagar )รัฐอุตตรประเทศ มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น กุสาวดี กุสินคร กุสิคราม กุสินคร หลวงจีนถังซำจั๋งเรียกว่า เกา สิน นครโร ปัจจุบันเรียกตามภาษาสันสกฤตว่า กุศินาคาร์ (Kushinagar ) ตามภาษาบาลีว่า กุสินารา (Kusinara )

นครกุสินาราเป็นสังเวชนียสถานแห่งหนึ่ง ที่พระพุทธองค์โปรดเลือกเป็นที่ปรินิพพานด้วยพระองค์เอง ทั้งที่พระอานนท์กราบทูลให้ทรงเลือกเมืองใหญ่เพื่อเป็นที่ปรินิพพาน เช่น เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี และเมืองพาราณสี เมืองใดเมืองหนี่ง พระพุทธองค์ทรงยืนยันกับพระอานนท์ว่า

กุสินาราในอดีตชื่อว่ากุสาวดี มีพระจักรพรรดิราชาสุทัสสนะ เป็นผู้ครองนคร เป็นศูนย์กลางของเมืองใหญ๋ถึง ๘๔,๐๐๐ เมือง มั่งคั้งอุดมสมบูรณ์มาก มีประชากรหนาแน่น สมบูรณ์ด้วยสิ่งของต่าง ๆ นานาชนิด กึกก้องไปด้วยศัพท์สำเนียง ทั้งกลางวันและกลางคืน ๑๐ ชนิด มีอาณาเขตยาวถึง ๑๒ โยชน์ กว้าง ๗ โยชน์ แต่ตามที่หลวงจีนถังซำจั๋งไปพบบอกว่า มีอาณาบริเวณ ๑๐ ลี้โดยรอบ



ขอขอบคุณภาพจากwww.watkoh.com

กุสินาราในอดีตเป็นเมืองการค้าที่สำคัญ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองสาวัตถี กับเมืองราชคฤห์ และเมืองพาราณสี ตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี
ประวัติศาสตร์เก่าได้บอกระยะทางระหว่างเมืองกุสินารากับเมืองอื่นไว้ คือ
กุสินาราอยู่ห่างจากเมืองปาวาท ๓ คาวุต
ห่างจากเมืองราชคฤห์ ๒๕ โยชน์
ห่างจากเมืองสาคละ ๑๐๐ โยชน์
ห่างจากเมืองสาวัตถึ ๗๐๐ หรือ ๕๐๐ ลี้


ขอขอบคุณภาพจากwww.panoramio.com

พระพุทธองค์เสด็จมาเมืองกุสินาราหลายครั้ง ชาวเมืองกุสินารามีความจงรักภักดีในพระพุทธองค์เป็นอย่างยิ่ง ถึงกับตั้งกฎเกณฑ์ปรับไหมราษฎรผู้ไม่รับเสด็จ และไม่อาราธนาเข้าสู่เมือง ข้อความนี้ปรากฎในพระวินัย
ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์ประทับที่พลิหลณวัน ป่าใกล้เมืองกุสินารา ทรงแสดง กุสินาราสูตร กินติสูตร มหาสุทัสสนสูตร และมหาสุทัสสนชาดก

เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงทรงมีพระประสงค์ที่จะเสด็จมาปรินิพพานยังเมืองกุสินารา ทั้งที่จะต้องเดินทางจากที่ ที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และแสดงปฐมเทศนา มาเป็นระยะทางแสนไกล

ในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี แสดงเหตุผลที่ทรงพิจารณาในการเลือกเมืองปรินิพพานไว้หลายประการคือ

๑.เป็นการเหมาะสมที่จะแสดงมหาสุทัสสนสูตร ชนเป็นอันมากเมื่อฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้ว จักสำคัญกุศลว่าควรกระทำ
๒. เพื่อโปรดปัจฉิมสาวก คือสุภัททปริพาชก ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน ขณะนั้นพระสุภัททปัจฉิมสาวก กำลังอยู่ที่เมืองกุสินารา
๓.โทณพราหมณ์เป็นผู้แก้ปัญหาแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ระงับการวิวาท

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
สารานุกรมวิกิพีเดีย

วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แคว้นมัลละ ๒





การขุดค้นสำรวจ ได้พบพระพุทธรูปหินใหญ่ปางเสด็จ บรรทมปรินิพพานยาว ๒๐ ฟุต สร้างประดิษฐานไว้ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๕ (พ.ศ. ๙๐๐ เศษ) กับซากสถูปเก่าแก่แผ่นจารึกภายใน บอกว่าเป็น ปรินิพพานสถูป อันเป็นเครื่องบ่งชัดว่าสร้างหมายจุดที่เสด็จปรินิพพาน รวมทั้งซากสถูปเจดีย์ใหญ่น้อย และซากกุฏิวิหารโดยรอบอีกด้วย

ที่ตั้งของตัวเมืองกุสินารา ยังไม่ได้ทำการขุดค้นให้เป็นที่ยืนยันแน่นอน แต่นักโบราณคดีรวมทั้งชาวพุทธอินเดียทั่วไป ลงความเห็นว่า ได้แก่หมู่บ้านซึ่งมีชื่อในปัจจุบันว่า อนรุธวา หรือ อนิรุธวา ซึ่งอยู่ห่างจากที่เสด็จปรินิพพาน ที่ค้นพบแล้วนี้ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ไม่ไกลกันนักสถานที่ซึ่งได้ค้นพบและลงความเห็นแน่นอนแล้ว



อีกแห่งหนึ่งที่กุสินารานี้คือ มกุฏพันธนเจดีย์ที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ซึ่งมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่ารามภาร์-กา-ฏีลา อยู่ห่างจากที่ เสด็จปรินิพพานประมาณกิโลเมตรเศษ มีซากสถูปใหญ่เก่าแก่เป็นที่หมายเช่นเดียวกับกุสินารา ที่ตั้งของเมืองปาวา ก็ยังคงไม่มีหลักฐานให้ยืนยันได้อย่างแน่ชัด บางท่านให้ความเห็นว่า ได้แก่ ตำบลปทเรานะ ซึ่งอยู่ห่างจากกุสินาราไปทางเหนือ ๑๘ กิโลเมตร หรือ ๑๒ ไมล์ ในเขตจังหวัดเทวริยา

แต่ส่วนมากรวมทั้งชาวพุทธ อินเดียเห็นว่า ได้แก่ หมู่บ้านที่มีชื่อในปัจจุบันว่า ฟะซิลนคร หรือเจติยันวา (หมู่บ้านเจดีย์) ซึ่งอยู่ห่างจากที่เสด็จปรินิพพานไปทาง ตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร หรือ ๑๐ ไมล์ หมู่บ้าน นี้อยู่ในเขตเทวริยาเช่นกัน และมีซากโบราณสถานอยู่มากนอกจากกุสินาราและปาวาแล้ว สถานที่ในเขตแคว้นมัลละ ซึ่งควรได้รับการกล่าวถึงโดยเฉพาะอีกทางหนึ่งก็คือ อนุปิยอัมพวัน หรือ อนุปิยนิคม ซึ่งคัมภีร์กล่าวว่าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ อโนมา และ อยู่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์กับราชคฤห์ ๓๐ โยชน์เท่ากัน



พระพุทธองค์เมื่อเสด็จออกบรรพชา เสด็จถึงแม่น้ำอโนมา ทรงข้ามแม่น้ำ ทรงปลงพระเกศา ครองผ้ากาสาวะอธิษฐานเพศบรรพชา แล้วเสด็จอยู่ ณ อนุปิยอัมพวันเป็นเวลา ๗ วัน ก่อนที่จะได้เสด็จสู่ราชคฤห์

ครั้งพระองค์เสด็จเยี่ยมกบิลพัสดุ์หลังตรัสรู้แล้ว เมื่อเสด็จ กลับก็ได้เสด็จประทับ ณ อนุปิยอัมพวันนี้อีก

และ ณ ที่นี้ ในโอกาสนั้นพระญาติ ๖ องค์คือ อนุรุทธะภัททิยะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และ เทวทัต รวมเป็น ๗ กับนายอุบาลีภูษามาลา ได้มาเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต และได้ทรงประทานอุปสมบทให้ดั่งประสงค์ความสำคัญอีกประการหนึ่งของอนุปิยนิคม ก็ในฐานะที่ เป็นบ้านเกิดของ พระทัพพมัลลบุตร พระสาวกผู้มีประวัติชีวิตพิเศษ และเป็นพระสาวกผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง



ขอขอบคุณภาพจาก ภาพเก่าเล่าเรื่องพระพุทธองค์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.vichadham.com/buddha/city16.html
http://www.phutthathum.com/พระพุทธเจ้า/ปรินิพพาน/สังเวชนียสถาน-๔

วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แคว้นมัลละ ๑


ขอขอบคุณภาพจากwww.indiaindream.com

แคว้นมัลละ
ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแคว้นวัชชี
ทางเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นกาสี
และทางตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นโกศล
เทียบกับปัจจุบันแคว้นมัลละได้แก่พื้นที่ส่วนตะวันออกของรัฐอุตตรประเทศ คือ บริเวณจังหวัดโครักขปูร์ เดวเรีย หรือเทวริยา กับบางส่วนของจังหวัด อซัมคาร์ห

แคว้นมัลละมีการปกครองแบบคณราชย์ หรือสามัคคีธรรม ทำนองเดียวกันกับแคว้นวัชชี คณะเจ้าผู้ครองแคว้นคือเจ้าวงศ์มัลละ

อาณาเขตของแคว้นมัลละ ไม่มีบอกไว้ชัดแจ้ง แต่เมื่อประมวลหลักฐานจากที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกันแล้ว นักโบราณคดีให้ความเห็นว่า
ทิศตะวันออก จดแคว้นวัชชีโดยมีแม่น้ำซึ่งเรียกในปัจจุบันว่า คัณฑัก หรือคัณฑกีใหญ่และลงความเห็นกันว่าได้แก่ แม่น้ำ สทานีราหรือแม่น้ำมหีในสมัยก่อน เป็นแดนแบ่งเขตแคว้น ทั้งสองเขต

ทางทิศใต้ จดแคว้นกาสี
ทิศตะวันตกจดแคว้นโกศล
ทิศเหนือยื่นไปจนจดภูเขาหิมาลัย







สาลวโนยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ-สถานที่ปรินิพพาน

ปัจจุบันนี้เรียก เมืองกาเซีย จังหวัด กุสินาคาร์ ประเทศอินเดีย

แคว้นมัลละมีนครหลวงชื่อกุสาวดี แต่ภายหลังแยกเป็นนครกุสินาราและนครปาวา

นครกุสินารา ตั้งอยู่ในจุดบรรจบของแม่น้ำรับดิและคันธกะส่วนนครปาวาอยู่ระหว่างนครกุสินารากับนครเวลสาลีเมืองหลวงของแคว้นวัชชี (ปัจจุบันเมืองกุสินาราอยู่ในเขตประเทศอินเดียเหนือประเทศเนปาล เมืองกุสินาราบัดนี้เรียกว่าเมืองกาเซีย ส่วนนครปาวา บัดนี้เรียกว่าเมืองปัทระโอนะ)

กล่าวว่าเมืองทั้ง สองนี้อยู่ห่างกัน ๓ คาวุต (ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร) เทียบกับเมืองหลวง และเมืองสำคัญบางเมืองของแคว้นอื่น ๆ ในสมัยนั้นแล้ว ทั้งกุสินาราและปาวา อยู่ในฐานะเป็นเมืองเล็ก

แคว้นมัลละ เป็นแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของพุทธศาสนิก ในฐานะเป็นที่เสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่แคว้นนี้ที่สาลวัน ป่าไม้รัง อันเป็นพระราชอุทยานที่เสด็จประพาสของเหล่ากษัตริย์มัลละซึ่งตั้งอยู่ บนฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี เขตเมืองกุสินารา ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันตกเฉียงเหนือไม่ไกลนัก




ขอขอบคุณภาพจากmongkolvitttata10.blogspot.com

ในช่วงเวลา ๔๕ พรรษาของการบำเพ็ญพุทธกิจ

พระพุทธองค์เคยได้เสด็จมายังกุสินาราและปาวารวมหลายครั้งด้วยกัน
ในวันเสด็จปรินิพพานพระพุทธองค์ทรงรับภัตตาหาร อันเป็นปัจฉิมบิณฑบาต หรือภัตตาหารมื้อสุดท้ายสำหรับพระองค์ ที่บ้านของนายจุนทะกัมมารบุตร ณ เมืองปาวา
จากนั้นจึงได้เสด็จต่อมายังกุสินารา อันเป็นปรินิพพานสถานปัจจุบัน

กุสินารา ได้แก่หมู่บ้าน หรือตำบลซึ่งเรียกชื่อว่า กุสินคร หรือกาเซียหรือกาสยา ในเขตจังหวัดเดวเรีย หรือเทวริยา แห่งรัฐอุตตรประเทศ อยู่ทางเหนือของเทวริยา และทางตะวันออกของตัวจังหวัดโครักขปูร์ ระยะทาง ๓๔ กิโลเมตรหรือ ๒๑ ไมล์ และ ๔๕ กิโลเมตร หรือ ๓๔ ไมล์ โดยลำดับ เมื่อก่อนหมู่บ้านหรือตำบลนี้ขึ้นกับจังหวัดโครักขปูร์ แต่ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดเทวริยาซากของกุสินารา ซึ่งโผล่ขึ้นมาให้เห็นจากผลแห่งการขุดค้นของนักสำรวจ

และได้หลักฐานยืนยันแน่นอนแล้วขณะนี้ก็คือ สาลวโนทยานสถานที่เสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์ ซึ่งมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า ซึ่งมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถา กุนวะระ กา โกฏ แปลว่าตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ


 ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.vichadham.com/buddha/city16.html
 http://www.phutthathum.com/พระพุทธเจ้า/ปรินิพพาน/สังเวชนียสถาน-๔

วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อดีตชาติพระอานนท์ ๔ ในมหานารทกัสสปชาดก ๑๔

อดีตชาติพระอานนท์





ท้าวยมทัตติ ท้าวอุสสินนระ ท้าวสีวิราชและพระราชาพระองค์อื่น ๆได้ทรงบำรุงสมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้วเสด็จไปยังสวรรค์ ฉันใด

ดูกรมหาบพิตรผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้มหาบพิตรก็ฉันนั้น จงทรงเว้นอธรรม
แล้วทรงประพฤติธรรม ราชบุรุษทั้งหลายจงถืออาหารไปประกาศภายในพระราชนิเวศน์ และภายในพระนครว่า

ใครหิว ใครกระหาย ใครปรารถนามาลา ใครปรารถนาเครื่องลูบไล้
ใครไม่มีผ้านุ่งห่ม จักนุ่งห่มผ้าสีต่างๆ ตามปรารถนา ใครต้องการร่ม ใครต้องการรองเท้า อย่างเนื้ออ่อนอย่างดี

ราชบุรุษทั้งหลายจงประกาศดังนี้ในพระนครของพระองค์
ทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า มหาบพิตรอย่าได้ใช้คนแก่เฒ่า และโคม้าอันแก่ชราเหมือนดังก่อน
และจงทรงพระราชทานเครื่องบริหาร แก่บุคคล ที่เป็นกำลังเคย กระทำความดีไว้เท่าเดิมเถิด ฯ





มหาบพิตรจงทรงสำคัญพระวรกายของพระองค์ว่าเป็นดังรถ
อันมีใจเป็นนายสารถี กระปรี้กระเปร่า (เพราะปราศจากถีนมิทธะ)
อันมีอวิหิงสาเป็นเพลาที่เรียบร้อยดี
มีการบริจาคเป็นหลังคา
มีการสำรวมเท้าเป็นกง
มีการสำรวมมือเป็นกระพอง
มีการสำรวมท้องเป็นน้ำมันหยอด
มีการสำรวมวาจาเป็นความเงียบสนิท
มีการกล่าวคำสัตย์เป็นองค์รถอันบริบูรณ์
มีการไม่กล่าวคำส่อเสียดเป็นการเข้าหน้าไม้สนิท
มีการกล่าวคำอ่อนหวานเป็นเครื่องรถอันเกลี้ยงเกลา



มีการกล่าวพอประมาณเป็นเครื่องผูกรัด มีศรัทธาและอโลภะเป็นเครื่องประดับ
มีการถ่อมตนและกราบไหว้เป็นกูบ
มีความไม่กระด้างเป็นงอนรถ
มีการสำรวมศีลเป็นเชือกขันชะเนาะ มีความไม่โกรธเป็นอาการไม่กระเทือน
มีกุศลธรรมเป็นเศวตรฉัตร
มีพาหุสัจจะเป็นสายทาบ
มีการตั้งจิตมั่นเป็นที่มั่น
มีความคิดเครื่องรู้จักกาลเป็นไม้แก่น
มีความแกล้วกล้าเป็นไม้ค้ำ



มีความประพฤติถ่อมตนเป็นเชือกขันแอก
มีความไม่เย่อหยิ่งเป็นแอกเบา
มีจิตไม่หดหู่เป็นเครื่องลาด
มีการเสพบุคคลผู้เจริญเป็นเครื่องกำจัดธุลี
มีสติของนักปราชญ์เป็นปฏัก
มีความเพียรเป็นสายบังเหียน

มีใจที่ฝึกฝนดีแล้วเช่นดังม้าที่หัดไว้เรียบเป็นเครื่องนำทาง ความปรารถนาและความโลภเป็นทางคด
ส่วนความสำรวมเป็นทางตรง ขอถวายพระพร

ปัญญาเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนม้า ในรถคือพระวรกายของมหาบพิตรที่กำลังแล่นไปในรูป เสียง กลิ่น รส พระองค์นั้นแลเป็นสารถี

ถ้าความประพฤติชอบและความเพียรมั่นมีอยู่ด้วยยานนี้ รถนั้นจะให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง จะไม่นำไปบังเกิดในนรก ฯ



อลาตเสนาบดีเป็นพระเทวทัตต์
สุนามอำมาตย์เป็นพระภัททชิ
วิชยอำมาตย์เป็นพระสารีบุตร
วีชกบุรุษเป็นพระโมคคัลลานะ
สุนักขัตตะเป็นลิจฉวีบุตร
คุณาชีวกเป็นอเจลก
พระนางรุจาราชธิดาผู้ทรงยังพระราชาให้เลื่อมใส เป็นพระอา นนท์
พระเจ้าอังคติราชผู้มีทิฐิชั่วในกาลนั้นเป็นพระอุรุเวลกัสสปะ
มหาพรหมโพธิสัตว์เป็นเราตถาคต ท่านทั้งหลายจงทรงชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล ฯ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://84000.org/tipitaka/atita/s.php?B=28&A=5180&Z=5625#863