วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] ตาลเอ๋ย..ตาลโตนด

ตาลเอ๋ย..ตาลโตนด



จากเพลงยาวถวายโอวาทของท่านสุนทรภู่ที่ว่า.
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
เขียนถึงอ้อยก็พลอยนึกไปถึงตาล พอเขียนชื่อสารพันสารพัดน้ำตาลซึ่งมีน้ำตาลโตนดด้วย ก็เลยนึกไปถึงบทร้องเพลงกล่อมเด็กของคุณพ่อในบท วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ซึ่งมีสองเพลงเพลงหนึ่งคือ

วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ปลูกข้าวโพดและสาลี ลูกเขยตกยาก แม่ยายพรากลูกสาวหนี สงสารแท้... แต่ข้าวโพดและสาลี นับแต่นี้จะโรยรา....
แปลกที่พ่อของพลอยโพยมแทนที่จะสงสารลูกเขยที่แม่ยายพรากภรรยาไป กลับไปสงสารต้นข้าวโพดและต้นข้าวสาลี เพลงวัดโบสถ์นี้ อ่านเนื้อเพลงของคนอื่น ๆ ก็ไม่เห็นมีใครเขาสงสารต้นข้าวโพดและต้นข้าวสาลีกันเลย คำว่าสงสารแท้.....พ่อจะเอื้อนยาวละห้อยโหย....ทีเดียว

และมี อีกเพลงคือ



ต้นข้าวโพดที่วัดเทพราชมิใช่ที่วัดโบสถ์

วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ มีตาลโตนดเจ็ดต้น
ขุนทองไปปล้น ป่านฉะนี้ยังไม่มา
คดข้าวใส่ห่อ ถ่อเรือไปหา
เขาเล่าเขาลือมา ว่าขุนทองตายแล้ว
เหลือแต่กระดูกแก้ว เมียรักจะไปปลง
ขุนศรีถือฉัตร ยกกระบัตรถือธง
ถือท้ายเรือหงส์ ไปปลงศพขุนทองเอย..

บทกล่อมนี้ เนื้อความอาจไม่เหมือนกับที่คนอื่นเขียนถึง จะเป็นคำประพันธ์กาพย์ยานี ๑๑ ก็ไม่ตรงฉันทลักษณ์นัก แต่คุณพ่อใช้การเอื้อนสั้นเอื้อนยาว ทำให้จังหวะเหมือนมีครบ เป็นเสน่ห์การร้องกล่อมอย่างหนึ่งของคุณพ่อ เสียงแต่ละวรรคจะต่างกัน ถ้า ครบ 11 คำ ก็ร้องเป็นเสียงสูงเสียงต่ำแบบธรรมดาและเสียงเพลงก็ราบเรียบเสมอกัน อย่างเนื้อเพลงท่อนล่าง


น้ำตาลโตนด

วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ มีตาลโตนดอยู่เจ็ดต้น
เจ้าขุนทองไปปล้น ป่านฉะนี้ไม่เห็นมา
คดข้าวออกใส่ห่อ จะถ่อเรือออกตามหา
เขาก็เล่าลือมา ว่าขุนทองเจ้าตายแล้ว
ถือแต่กระดูกแก้ว เมียรักจะไปปลง
ขุนศรีจะถือฉัตร ยกกระบัตรจะถือธง
ถือท้ายเรือหงส์ ไปปลงศพเจ้าพ่อนา


น้ำตาลสด


ป้างอบกำลังเอากระบอกไผ่รมควันก่อนเอาขึ้นไปรองน้ำตาลบนต้นคาล

นึกถึงต้นตาลก็เลยขับรถไปที่หมู่บ้านน้ำตาลสดอำเภอบางคล้าเมืองฉะเชิงเทรานี่เอง เพราะจะไปหาน้ำตาลโตนดซึ่งในตัวเมืองมีขาย แต่น้ำตาลมองดูว่าค้างมาหลายวัน และคิดว่าไปซื้อน้ำตาลสดอย่างแท้ ๆ เพียว ๆ ด้วย มีเพื่อนรุ่นน้องแนะนำให้ไปหาคุณครูต้อย โรงเรียนวัดปากน้ำ ( ที่ปากน้ำโจ้โล้) พาไปหาเจ้าประจำของคุณครูต้อย คุณครูต้อยพาไปที่บ้านลุงแดงและป้างอบ เพิ่งต้มน้ำตาลสดเสร็จพอดีแต่น้ำตาลโตนดไม่มี


ร่องสวนสัปปะรด

ทางไปบ้านลุงแดงผ่านสวนสับปะรดสองสามสวน ซึ่งคุณครูต้อยเล่าว่า บริเวณสวนสับปะรดแถบบนี้ เป็นที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สู้รบกับพม่าที่ยกทหารตามมา ลงรายละเอียดว่าการสู้รบเป็นเวลากลางคืน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเห็นชัยภูมิแถบนี้ที่มีแต่สวนสัปปะรดในตอนกลางวัน มองเห็นลู่ทางหนีทีไล่ไว้แล้ว พอทหารพม่ามาถึงที่ปากน้ำโจโล้ ก็ทรงพาทหารและชาวบ้านไทยสู้พลางถอยพลางมาทางสวนสัปปะรด แล้วเสด็จหลบไปทางที่คิดการไว้แล้ว แต่ทหารพม่าไม่รู้ทำเลพากันไล่ตามมาวิ่งเข้าไปในดงสัปปะรด หลับตานึกภาพแล้วก็สยองแทนทหารพม่า


ต้นมะม่วงกะล่อน

คุณครุูต้อยเล่าว่า ชาวบ้านแถบนี้ยังคงสวนสัปปะรดไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น แต่ก็ลดปริมาณสวนสัปปะรดไปเยอะแล้ว นอกจากสัปปะรดแล้ว ก่อนถึงบริเวณแถบนี้ มีหมู่บ้านน้ำตาลสดที่เป็นจุดสำหรับนักท่องเที่ยวมาแวะซื้อน้ำตาลสด น้ำตาลโตนด และผลไม้อื่น ๆ ตามฤดูกาล
พลอยโพยมก็เลยเดินไปเก็บภาพต้นตาล สวนสัปปะรด ผ่านต้นมะม่วงกะล่อนอายุเกินร้อยปีต้นใหญ่มาก ไปดูอุปกรณ์การทำน้ำตาลสดจากงวงตาล และเคี่ยวต่อจนเป็นน้ำตาลโตนด


ต้นมะม่วงกะล่อนอายุร้อยกว่าปี

ต้นตาล มีชื่อปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงแห่งสมัยกรุงสุโขทัย “ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1” (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ประมาณ พ.ศ. 1826) ด้านที่ 3 ตอนหนึ่งว่า “1214 ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ ได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันขดานหิน ตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้..”
ขดานหินที่กล่าวถึงนี้ก็คือ พระแท่นมนังคศิลา นั่นเอง
ไม้ตาลเป็นไม้เติบโตช้า ที่ทรงปลูกไว้เป็นเวลา 14 ปี ก็ไม่น่าจะมีร่มเงาสักเพียงใดแม้จะตั้งระหว่างกันของต้นตาล เพราะต้นตาลเป็นไม้ที่ไม่แผ่งกิ่งก้านสาขาแม้ว่าใบตาลเองจะใบใหญ่มาก


กระบอกไผ่สำหรับรองน้ำตาลที่หยดจากงวงตาลบนต้นตาล

แม้จะมีหลักฐานว่ามีการปลูกตาลมาแต่สมัยสุโขทัยก็ตาม แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการทำน้ำตาลจากน้ำหวานของตาล แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการทำน้ำตาลแล้ว และคนไทยอาจจะได้เรียนรู้วิธีการทำน้ำตาลจากชาวอินเดียที่เข้ามาติดต่อค้าขายและเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศสยามในอดีต การทำน้ำตาลจากน้ำตาลสดหรือน้ำหวานจากต้นตาลนั้น คงทำกันมาช้านานและทำสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กรรมวิธีและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการทำน้ำตาลแบบพื้นบ้านนั้นเป็นไปอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน



ต้มน้ำหวานจากต้นตาลบนเตา แม้จะเรียกน้ำตาลสดแต่ก็ผ่านการต้มฆ่าเชื้อ

ตาลเป็นพืชที่โตช้าแต่มีอายุยืนมากอาจจะถึงร้อยปีและเป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไปในประเทศไทย ทั้งในภาคกลางและภาคใต้ เฉพาะที่
อำเภอสทิงพระจังหวัดสงขลาแห่งเดียวมีต้นตาลหลายแสนต้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ว่าคนไทยได้เรียนรู้การทำน้ำตาลจากต้นตาลจากชาวอินเดีย อาจจะก่อนที่จะรู้วิธีทำน้ำตาลจากต้นอ้อย แต่ตามประวัติการทำน้ำตาลของชาวตะวันตกเชื่อว่า น้ำตาล (sugar) นั้น ทำจากน้ำอ้อยมากกว่าจากต้นตาล กล่าวกันว่าวิธีทำน้ำตาลจากประเทศอินเดียแพร่มายังดินแดนอินโดจีนไปยังกลุ่มประเทศอาหรับ


พะองสำหรับปีนต้นตาล

และไปสู่ยุโรปในที่สุด คำว่า “sugar” นั้น มาจากรากศัพท์ในภาษาสันสกฤตว่า Sarkara หรือ sakkara หมายถึงทรายหรือกรวด อาจจะเป็นลักษณะของน้ำตาลทรายและน้ำตาลกรวดซึ่งมาเป็นคำว่า sakkar อารบิก และเป็น sakharon ในภาษากรีก และเป็น
“sugar” ในภาษาอังกฤษในที่สุด


ตาลโตนด 3 ต้น

ส่วนคำว่า “น้ำตาล” ในภาษาไทยนั้นน่าจะหมายถึงน้ำตาลที่ทำมาจากต้นตาล เพราะคำว่า “ตาล” เป็นภาษาบาลี อาจจะมาจากภาษาเดิมจากอินเดีย ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าคนไทยรู้จักน้ำตาลที่ทำจากน้ำตาลสดก่อนน้ำตาลที่ทำจากน้ำอ้อย แต่โดยทั่วไปแล้ว คนไทย ฃจะเรียกอาหารที่มีรสหวานว่าน้ำตาลแทบทั้งสิ้น


ตาลโตนด 5 ต้น

ต้นตาลปรากฎในพุทธกาล เช่นเมื่อพระพุทธเจ้าหลังจากที่ทรงสำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณในพรรษาที่สอง ได้เสด็จไปประทับ ณ สัฏฐิวนุทยาน (สัฎฐตาล) เพื่อโปรดให้พระเจ้าพิมพิสารราขาแห่งแคว้นมคธรวมทั้งบริวารเข้าเฝ้า พระเจ้าพิมพิสารได้ทูลเชิญเสด็จให้เข้าประทับในเมืองพร้อมทั้งถวายพระกระยาหาร แล้วได้ถวายเวฬุวรารามแด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก เพราะพระเจ้าพิมพิสารทรงเห็นว่าป่าไผ่ร่มเย้นดีกว่าป่าตาล
ในมหาภารตยุทธ เมื่อภีษมะได้รับเลือกให้เป็นจอมทัพฝ่ายกุรุ ภีษมะใช้ธงเป็นรูปต้นตาลได้เอารูปต้นตาลเป็นเครื่องหมายประจำทัพ หรือที่เรียกว่า ตาลธวัช


ตาลโตนด 10 ต้น
(จะหาให้ได้ 7 ต้น ก็จัดภาพไม่ถูก มีของจริงอย่างไรก็ถ่ายมาอย่างนั้น)

ตาล
ชิ่ออังกฤษ Palmyra palm
ชื้อทางพฤกษศาสตร์ Borassus Flabellifer
ในวงศ์ปาล์ม (Arecaceae)
ชื่ออื่น โหนด
เป็นปาล์มที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรงมากชนิดหนึ่ง

การทำน้ำตาลพื้นบ้าน” เป็นกรรมวิธีแปรรูปวัตถุดิบจากธรรมชาติให้เป็นอาหารที่มีรสหวาน หรือนำไปประกอบกับอาหารอื่นให้มีรสหวาน น้ำตาลของไทยมีหลายชนิด และทำจากวัตถุดิบธรรมชาติหลายชนิดและมีกรรมวิธีต่างกัน

น้ำตาลพื้นบ้านที่ชาวบ้านทำเพื่อกินในครัวเรือน หรือทำจำหน่ายโดยไม่ได้ใช้เครื่องจักรผลิตอย่างระบบอุตสาหกรรม แต่เป็นการผลิตแบบพื้นบ้าน ในสมัยนั้นเมืองเพชรบุรีจะเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลโตนดที่สำคัญ เมื่อทำน้ำตาลได้แล้วมักใส่ “หม้อตาล” นำไปขายยังถิ่นต่างๆ การทำหม้อตาลจึงเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่เกิดขึ้นคู่กับการทำน้ำตาลโตนดของเพชรบุรี การทำน้ำตาลแบบพื้นบ้านนั้นยังทำสืบต่อกันเรื่อยมา

ที่มาของข้อมูล พฤกษนิยายของส.พลายน้อย และ มิตรผลแหล่งรวมความรู้ - สหวิทยาการอ้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น