วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

หนามพุงดอ

หนามพุงดอ



หนามพุงดอ
ชื่อวิทยาศาสตร์: Azima sarmentosa (Blume) Benth.
ชื่อพื้นเมือง : หนามพุงดอ
ชื่ออื่น ขี้แฮด (ภาคเหนือ); ปี๊ดเต๊าะ (ภาคเหนือ); พุงดอ (ภาคกลาง)
วงศ์ SALVADORACEAE



หนามพุงดอ เป็นไม้พุ่ม สูง 1.5 – 2.5 เมตร
ลำต้น แตกกิ่งก้านมากห้อยลู่ลงปลายกิ่งสัมผัสพื้นดิน มีหนามแหลมตามซอกใบ 1- 2 อัน หูใบ 2 แัน รูปลิ่มแคบขนาดเล็ก



ใบ
เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรี หรือ รูปไข่กลับ ปลายใบแหลมหรือคล้ายหนาม ยาว 0.1-0.2 ซม. เนื้อใบหนา แผ่นใบด้านบนเป็นมันเง สีเขียวสด เส้นกลางใบนูนชัดทั้งสองด้าน



ขอขอบคุณภาพจาก http://www.ku.ac.th

ดอก
ออกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบ หรือปลายกิ่ง ยาวได้ประมาณ 25 ซม. ดอกสีเหลืองอมเขียวกลีบเลี้ยงรูประฆัง กลีบดอก 4 กลีบ อับละอองเรณู 4 อัน
ดอกเพศผู้เกือบไร้ก้าน ออกหนาแน่น กลีบเลี้ยงแฉกลึก กลีบดอกยาวกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ยื่นเลยกลีบดอก ดอกเพศเมียเล็กกว่าดอกเพศผู้เล็กน้อย แต่ก้านดอกยาวได้ประมาณ 0.8 ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสั้นกว่ากลีบดอก

ผล ผลกลมสีขาว มีเมล็ดแข็ง เมล็ดมี 1-3 เมล็ด ใน 1 ผล เป็นรูปทรงกลม แข็ง



ขอขอบคุณภาพจาก http://www.qsbg.org/webboard/webboard_Detail-1.asp?Board_ID=1621


หนามพุงดอ พบตามริมน้ำ ที่ชื้นแฉะ แนวป่าชายทะเลทั่วไป



ประโยชน์
รากแก้บวม แก้ลม แก้พิษฝีตานซาง ดับพิษทั่วไป ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไข้ ร้อนใน แก้องคชาติที่บวมร้อนและอักเสบ ทำให้ยุบบวม แก้ลมตานซาง ใช้ฝนกับสุราทาแก้คางทูมเปลือกและต้น แก้พิษประดงผื่นคัน แก้น้ำเหลืองเสีย หนาม แก้ฝีประคำร้อย แก้พิษฝีต่างๆ แก้ไข้ ลดความร้อน แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ



เมื่อขยี้ใบจะมีกลิ่นน้ำมัน เนื่องจากใบมีน้ำมัน mustard (glucosinolates)



หนามพุงดอมีเขตการกระจายพันธุ์กว้างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงฟิลิปปินส์และนิวกินี ในไทยพบแทบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งชายป่าชายเล็น และป่าชายหาด บางครั้งพบในป่าเต็งรังผสมสน จนถึงระดับความสูง 800 เมตร




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://tanhakit.blogspot.com
http://web3.dnp.go.th




หนามพุงดอนี้มีหนามแหลมคม ยาวได้ถึง 1 นิ้ว หากโดนหนามชนิดนี้ทิ่มตำเข้าเนื้อ ควรรีบบ่งออกให้ดีอย่าให้หนามหักฝังในเนื้อ จะทำให้เจ็บปวดเป็นอย่างมาก และอาจทำให้เป็นหนองภายหลังได้

หนามพุงดอ ก็นับเป็นวัชพืชขนิดหนึ่งที่ทำความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านอย่างที่บ้านพลอยโพยมมาก เพราะความที่มีหนามแหลมคม แพร่พันธุ์ง่าย หากขึ้นแพร่พันธุ์ในบริเวณใดของพื้นที่ แล้วปล่อยปละละเลยไว้ก็ยิ่งลำบากเมื่อคิดจะกำจัด ต้องเตรียมตัวอย่างดี ในการแต่งกาย สวมรองเท้าที่คิดว้่าสามารถเหยียบบนกิ่งก้านของหนามพุงดอได้ ( โดยไม่ตั้งใจ ที่จริงก็ต้องระวังที่จะไม่เหยียบเสียดีกว่า) สวมถุงมือให้ปลอดภัยจากการต้องหยิบกิ่งก้านออกมาจากที่ที่กำจัด รวมถึงเสื้อผ้ากางเกงที่สวมใส่ คิดแล้วก็วุ่นวายไม่น้อย แม้จะมองดูว่า ผลของหนามพุงดอสวยดีก็ตามที อีกทั้งมีคุณประโยชน์ทางสมุนไพร ก็ต้องถูกกำจัด

อย่างที่หมอชีวก ฯ ในสมัยพุทธกาล ที่ค้นพบว่า ไม่มีต้นไม้หรือพืชพรรณ ใด ๆ เลยในป่าเมืองอินเดีย (เนปาล) ที่ไม่สามารถนำมาเป็นยาได้ เพียงแต่เราต้องลงไปศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้านและบรรพบุรุษที่ได้ค้นหาไว้แล้ว เราก็นำมาต่อยอด ใช้วิทยาการสมัยใหม่เข้ามาเสริม บางทีวัชพืชหลาย ๆ ชนิด อาจมีคุณค่าขึ้นอีกมาก ไม่ถูกกำจัดถูกทำลายโดยเปล่าประโยชน์ เหมือนที่พลอยโพยม ต้องกำจัดทิ้งบ่อย ๆ หลายชนิดทั้งที่ก็พอจะรู้ว่าพรรณพืชเหล่านั้นมีคุณค่าทางสมุนไพร แต่ไม่อาจมีความอดทนกับการรุกรานของพรรณพืชเหล่านั้นได้ ยามที่ไม่สบายก็ไปหาคุณหมอเสียเงินค่าตรวจค่ายาแผนสมัยใหม่มากกว่าการใช้สมุนไพร ก็เพราะเป็นอย่างนี้สมุนไพรรอบ ๆ ตัวคนอย่างพลอยโพยมก็เลยไร้ค่า แค่มองเห็นพืชพรรณเหล่านี้ก็ต้องเมินหน้าไปทางอื่นพร้อมกับการถอนหายใจเฮือกใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น