วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่ (ปรับปรุง)

กาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่




พระไชยสุริยา เป็นวรรณคดีที่ประพันธ์โดย สุนทรภู่ เป็นนิทานสำหรับสอนการเขียนอ่าน โดยมีบทอ่านเรียงลำดับการสะกดคำตั้งแต่ แม่ ก กา ตามด้วย แม่กน แม่กง แม่กก แม่กด แม่กบ แม่กม จนถึงแม่เกย ตามลำดับ ลักษณะการประพันธ์แบบกาพย์ประเภทต่าง ๆ คือ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ เชื่อว่าสุนทรภู่ประพันธ์ขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๓๘๓ - ๒๓๘๕ สำหรับใช้เป็นบทเรียนเขียนอ่านพื่อถวายพระอักษรแด่พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระอัครชายา คือเจ้าฟ้าชายกลางแล้วเจ้าฟ้าปิ๋ว

กาพย์พระไชยสุริยา ได้บรรจุอยู่ในหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ซึ่งเป็นแบบเรียนของไทยที่จัดทำโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อสมัยรัชกาลที่ ห้า



แม่ ก กา
(ยานี ๑๑)

สะธุสะจะขอไหว้ พระศรีไตรสรณา
พ่อแม่เเลครูบา เทวดาในราศี

ข้าเจ้าเอา ก ข เข้ามาต่อ ก กามี
แก้ไขในเท่านี้ ดีมิดีอย่าตรีชา

จะร่ำคำต่อไป พอล่อใจกุมารา
ธรณีมีราชา เจ้าพาราสาวะถี

ชื่อพระไชยสุริยา มีสุดามเหสี
ชื่อว่าสุมาลี อยู่บุรีไม่มีภัย

ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มีกิริยาอัชฌาศัย
พ่อแม่มาแต่ไกล ได้อาศัยในพารา

ไพร่ฟ้าประชาชี อยู่บุรีก็ปรีดา
ทำไร่ข้าวไถนา ได้ข้าวปลาแลสาลี

อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวนารี
ที่หน้าตาดีดี ทำมโหรีที่เคหา

ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา
หาได้ให้ภริยา โลโภพาให้บ้าใจ

ไม่จำคำพระเจ้า เหไปเข้าภาษาไสย
ถือดีมีข้าไท ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา

คดีที่มีคู่ คือไก่หมูเจ้าสูภา
ใครเอาข้าวปลามา ให้สุภาก็ว่าดี

ที่แพ้แก้ชนะ ไม่ถือพระประเวณี
ขี้ฉ้อก็ได้ดี ไล่ด่าตีมีอาญา

ที่ซื่อถือพระเจ้า ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา
ผู้เฒ่าเหล่าเมธา ว่าบ้าใบ้สาระยำ

ภิกษุสมณะ เหล่าก็ละพระสธรรม
คาถาว่าลำนำ ไปเร่ร่ำทำเฉโก

ไม่จำคำผู้ใหญ่ ศีรษะไม้ใจโยโส
ที่ดีมีอะโข ข้าขอโมทนาไป

พาราสาวะถี ใครไม่มีปรานีใคร
ดุดื้อถือแต่ใจ ที่ใครได้ไส่เอาพอ

ผู้ที่มีฝีมือ ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ
ไล่คว้าผ้าที่คอ อะไรล่อก็เอาไป

ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มิได้ว่าหมู่ข้าไท
ถือน้ำร่ำเข้าไป แต่น้ำใจไม่นำพา

หาได้ใครหาเอา ไพร่ฟ้าเศร้าเปล่าอุรา
ผู้ที่มีอาญา ไล่ตีด่าไม่ปรานี

ผีป่ามากระทำ มรณกรรมชาวบุรี
น้ำป่าเข้าธานี ก็ไม่มีที่อาศัย

ข้าเฝ้าเหล่าเสนา หนีไปหาพาราไกล
ชีบาล่าลี้ไป ไม่มีใครในธานี




เนื้อเรื่องของกาพย์พระไชยสุริยา เป็นเรื่องราว ที่ หมู่ข้าเฝ้า เหล่าเสนาของพาราสาวัตถี ไม่สนใจบ้านเมือง ช่วยพระไชยสุริยาบริหารบ้านเมือง มัวแต่หาความสุขใส่ตัว ไม่นับถือพระศาสนา ไม่มีศีลไม่มีสัตย์ ทุจริตคอรัปชั้น สมณะพระสงฆ์ก็ไม่ดำเนินตามหลักพระธรรมคำสอน เด็กๆ ไม่นับถือเชื่อฟังผู้ใหญ๋ ( หมายถึง ในเมืองสาวะถี น่าจะยังมีผู้ใหญ่ที่เป็นคนดีเหลืออยู่บ่้าง แต่เด็ก ก็ดื้อด้านทำตัวตามผู้ใหญ่ ที่เลว) จนในที่สุด ไม่มีเทพคุ้มครองเมือง เทพก็หนี ผีป่าก็มา น้ำป่าก็เข้าธานี ผลที่สุด ก็ต้องอพยพหนีทั้งหมด ทิ้งเมืองสาวัตถีเป็นเมืองร้างเพราะหนีน้ำป่า คนที่หนีไม่ทัน ก็ล้มตาย พระราชาและมเหสี และเหล่าเสนา ข้าราชบริพาร ลงเรือสำเภาใหญ่ล่องไปในทะเล



แล้วก็เกิดกรรมซัดวิบัติเป็น มีพายุใหญ่พัดมา สำเภาล่ม พระไชยสุริยาคว้ามือพระมเหสีได้ ใช้ผ้าสไบผูกกันไว้ให้ไม่พลัดกัน เหล่าเสนาข้าไท ถูกจระเข้ เหรา จับกินตายหมด พระไชยสุริยาและมเหสีถูกซัดขึ้นเกยฝั่ง



พระไชยสุริยาและมเหสีต้องนอนไพร


บทอาขยานในสมัยเด็ก
(ฉบัง๑๖)

เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคียง

เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง เริงร้องซ้องเสียง
สำเนียงน่าฟังวังเวง

กลางไพรไก่ขันบันเลง ฟังเสียงเพียงเพลง
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง

ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดัง เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสะดาลขานเสียง

กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง พระยาลอคลอเคียง
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง

ค้อนทองเสียงร้องปองเปง เพลินฟังวังเวง
อีเก้งเริงร้องลองเชิง

ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง ค่างแข็งแรงเริง
ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง

ป่าสูงยูงยางช้างโขลง อึงคะนึงผึงโผง
โยงกันเล่นน้ำคล่ำไปฯ



มีพระดาบสที่รู้เห็นเหตุการณ์ในวันที่บุรีล่ม
(ยานี ๑๑)

วันนั้นครั้นดินไหว เกิดเหตุใหญ่ในปฐพี
เล็งดูรู้คดี กาลกิณีสี่ประการ


ประกอบชอบเป็นผิด กลับจริตผิดโบราณ
สามัญอันธพาล ผลาญคนซื่อถือสัตย์ธรรม์

ลูกศิษย์คิดล้างครู ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน
ส่อเสียดเบียดเบียนกัน ลอบฆ่าฟันคือตัณหา

โลภลาภบาปบ่คิด โจทย์จับผิดริษยา
อุระพสุธา ป่วนเป็นบ้าฟ้าบดบัง

บรรดาสามัญสัตว์ เกิดวิบัติปัติปาปัง
ไตรยุคทุกข์ตะรัง สังวัจฉะระอวสานฯ




พระดาบสเอ็นดูพระไชยสุริยา ที่เป็นคนดี บุรีล่มเพราะเหล่าเสนี
(ฉบัง๑๖)

ขึ้นกมสมเด็จจอมอารย์ เอ็นดูภูบาล
ผู้ผ่านภาราสาวะถี
ซื่อตรงหลงเล่ห์เสนี กลอกกลับอัปรีย์
บุรีจึงล่มจมไป
ประโยชน์จะโปรดภูวไนย นิ่งนั่งตั้งใจ
เลื่อมใสสำเร็จเมตตา
เปล่งเสียงเพียงพิณอินทรา บอกข้อมรณา
คงมาวันหนึ่งถึงตน...


ซึ่งในตอนท้าย ในบทแม่เกย พระไชยสุริยาและพระมเหสีได้บวชในป่าถือศีลภาวนา และได้ไปอยู่บนสวรรค์เสวยสุขอยู่บนสวรรค์

สุนทรภู่ ประพันธ์เรื่องนี้ไว้ ร้อยกว่าปี มาวันนี้ก็เกิดเหตุน้ำป่าเข้าธานี ก็ไม่มีที่อาศัย ต้องอพยพผู้คนผู้ประสบภัยออกไปจากธานี หนีไปหาพาราไกล แต่ เรายังมีส่วนกลางของเมืองที่ จะต้องอยู่และอยู่ให้รอด จากน้ำป่าเข้าธานีในครั้งนี้ เรายังมีพระสยามเทวาธิราช เหล่าเทพเทวาทั้งหลาย พระเสื้อเมือง พระทรงเมืองคุ้มครองพระนคร

สุนทรภู่ ท่านประพันธ์โดย ไม่ได้มุ่งหวังว่าเป็นคำพยากรณ์
ผู้เขียนคิดว่า บรรดาคำพยากรณ์ทั้งหลาย จะเกิดจริงก็เพราะผู้คนพลเมืองไม่อยู่ในศีลสัตย์ ไม่เชื่อฟังคำสอนของศาสนา ที่ทุก ๆ ศาสนามีจุดยืนเดียวกันคือสอนให้ทุกคนเป็นคนดี หากว่าถึงคราวที่เราคนไทยเห็นผิดเป็นชอบ กอบโกยผลประโยชน์ใส่ตน ไม่สนใจเรื่องบาปบุญ และคุณงามความดีทั้งหลาย ไม่ตั้งมั่นในสัตย์ซื่อถือความสุจริต ยังแก่งแย่งชิงดี ไม่สามัคคีรวมพลัง ไม่รักประเทศชาติ วันหนึ่งเมืองไทยก็จะเป็นพาราสาวะถี

ตรีชา แปลว่า ตำหนิ ติเตียน
เจ้าสุภา แปลว่า ตุลาการ

ส่วนที่ปรับปรุงเพิ่มเติม เนื้อหาและภาพ

พลอยโพยมสังเกตุว่ามีผู้เข้ามาอ่าน "กาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่" ค่อนข้างมาก คิดว่าน่าจะเป็นนักเรียนที่อาจจะต้องใช้ข้อมูล ดังนั้นพลอยโพยมจึงขอปรับปรุงเนื้อหาให้ได้ใจความสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ของผู้จะใช้ข้อมูลไม่ต้องไปค้นหาหลายที่ โดยขอปรับปรุงเนื้อหาและภาพใหม่ตั้งแต่เริ่มเรื่อง ซึ่งจะมีใจความซ้ำกับเนื้อหาข้างบน ขออภัยที่ยังคงเนื้อหาและภาพส่วนที่โพสต์เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ ไว้

ยานี ๑๑ แม่ก กา



สะธุสะจะขอไหว้ พระศรีไตรสรณา
พ่อแม่แลครูบา เทวดาในราศี

ข้าเจ้าเอา ก ข เข้ามาต่อ ก กา มี
แก้ไขในเท่านี้ ดีมิดีอย่าตรีชา



จะร่ำคำต่อไป พอล่อใจกุมารา
ธรณีมีราชา เจ้าพาราสาวะถี

ชื่อพระไชยสุริยา มีสุดามเหสี
ชื่อว่าสุมาลี อยู่บูรีไม่มีภัย

ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มีกิริยาอัชฌาสัย
พ่อค้ามาแต่ไกล ได้อาศัยในพารา

ไพร่ฟ้าประชาชี ชาวบูรีก็ปรีดา
ทำไร่เขาไถนา ได้ข้าวปลาแลสาลี



อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวนารี
ที่หน้าตาดีดี ทำมโหรีที่เคหา

ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา
หาได้ให้ภริยา โลโภพาให้บ้าใจ

ไม่จำคำพระเจ้า เหไปเข้าภาษาไสย
ถือดีมีข้าไท ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา

คดีที่มีคู่ คือไก่หมูเจ้าสูภา
ใครเอาข้าวปลามา ให้สุภาก็ว่าดี

ที่แพ้แก้ชนะ ไม่ถือพระประเวณี
ขี้ฉ้อก็ได้ดี ไล่ด่าตีมีอาญา

ที่ซื่อถือพระเจ้า ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา
ผู้เฒ่าเหล่าเมธา ว่าใบ้บ้าสาระยำ

ภิกษุสมณะ เล่าก็ละพระสะธรรม
คาถาว่าลำนำ ไปเร่ร่ำทำเฉโก

ไม่จำคำผู้ใหญ่ ศีรษะไม้ใจโยโส
ที่ดีมีอโข ข้าขอโมทนาไป

พาราสาวะถี ใครไม่มีปรานีใคร
ดุดื้อถือแต่ใจ ที่ใครได้ไล่เอาพอ

ผู้ที่มีฝีมือ ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ
ใล่คว้าผ้าที่คอ อะไรล่อก็เอาไป

ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มิได้ว่าหมู่ข้าไท
ถือน้ำร่ำเข้าไป แต่น้ำใจไม่นำพา

หาได้ใครหาเอา ไพร่ฟ้าเศร้าเปล่าอุรา
ผู้ที่มีอาญา ไล่ตีด่าไม่ปรานี



ผีป่ามากระทำ มรณกรรมชาวบูรี
น้ำป่าเข้าธานี ก็ไม่มีที่อาศัย

ข้าเฝ้าเหล่าเสนา หนีไปหาพาราไกล
ชีบาล่าลี้ไป ไม่มีใครในธานี



ฉบัง ๑๖

พระไชยสุริยาภูมี พาพระมเหสี
มาที่ในลำสำเภา

ข้าวปลาหาไปไม่เบา นารีที่เยาว์
ก็เอาไปในเภตรา

เฒ่าแก่ชาวแม่แซ่มา เสนีเสนา
ก็มาในลำสำเภา

ตีม้าล่อฉ้อใบใส่เสา วายุพยุเพลา
สำเภาก็ใช้ใบไป

เภตรามาในน้ำไหล ค่ำเช้าเปล่าใจ
ที่ในมหาวารี

พสุธาอาศัยไม่มี ราชานารี
อยู่ที่พระแกลแลดู

ปลากะโห้โลมาราหู เหราปลาทู
มีอยู่ในน้ำคล่ำไป

ราชาว้าเหว่หฤทัย วายุพาคลาไคล
มาในทะเลเอกา

แลไปไม่ปะพสุธา เปล่าใจนัยนา
โพล้เพล้เวลาราตรี





ราชาว่าแก่เสนี ใครรู้คดี
วารีนี้เท่าใดนา

ข้าเฝ้าเล่าแก่ราชา ว่าพระมหา
วารีนี้ไซ้ร้ใหญ่โต

ไหลมาแต่ในคอโค แผ่ไปใหญ่โต
มะโหฬาร์ล้ำน้ำไหล

บาลีมิได้แก้ไข ข้าพระเจ้าเข้าใจ
ผู้ใหญ่ผู้เฒ่าเล่ามา

ว่ามีพระยาสกุณา ใหญ่โตมโหฬาร์
กายาเท่าเขาคีรี

ชื่อว่าพระยาสำภาที ใคร่รู้คดี
วารีนี้โตเท่าใด

โยโสโผผาถาไป พอพระสุริย์ใส
จะใกล้โพล้เพล้เวลา

แลไปไม่ปะพสุธา ย่อท้อรอรา
ชีวาก็จะประลัย

พอปลามาในน้ำไหล สกุณาถาไป
อาศัยที่ศีรษะปลา

ชะแง้แลไปไกลตา จำของ้อปลา
ว่าขอษมาอภัย

วารีที่เราจะไป ใกล้ฤาว่าไกล
ข้าไหว้จะขอมรคา

ปลาว่าข้าเจ้าเยาวภา มิได้ไปมา
อาศัยอยู่ต่อธรณี

สกุณาอาลัยชีวี ลาปลาจรลี
สู่ที่ภูผาอาศัย

ข้าเฝ้าเล่าแก่ภูวไนย พระเจ้าเข้าใจ
ฤทัยว้าเหว่เอกา



จำไปในทะเลเวรา พยุไหญ่มา
เภตราก็เหเซไป

สมอก็เก่าเสาใบ ทะลุปรุไป
น้ำไหลเข้าลำสำเภา

ผีน้ำซ้ำไต่ใบเสา เจ้ากรรมซ้ำเอา
สำเภาระยำคว่ำไป

ราชาคว้ามืออรทัย เอาผ้าสไบ
ต่อไว้ไม่ไกลกายา

เฒ่าแก่ชาวแม่เสนา น้ำเข้าหูตา
จระเข้เหราคร่าไป

ราชานารีร่ำไร มีกรรมจำใจ
จำไปพอปะพสุธา

มีไม้ไทรใหญ่ใบหนา เข้าไปไสยา
เวลาพอค่ำรำไร



สุรางคนางค์ ๒๘ (แม่กน)

ขึ้นใหม่ใน กน ก กา ว่าปน ระคนกันไป
เอ็นดูภูธร มานอนในไพร มณฑลต้นไทร แทนไพชยนต์สถาน

เฝ้าอยู่ดูแล เหมือนแต่ก่อนกาล ให้พระภูบาล สำราญวิญญาณ์

ภูธรสอนมนต์ ให้บ่นภาวนา เย็นค่ำร่ำว่า กันป่าภัยพาล

เห็นสิ้นดินฟ้า ในป่าท่าธาร มาลีคลี่บาน ใบก้านอรชร

สารพันจันอิน รื่นกลิ่นเกสร แตนต่อคลอร่อน ว้าว่อนเวียนระวัน

ปู่เจ้าเขาเขิน กู่เกริ่นหากัน สินธุพุลั่น ครื้นครั่นหวั่นไหว

เช้าตรู่สุริยน ขึ้นพ้นเมรุไกร มีกรรมจำไป ในป่าอารัญ




ฉบัง ๑๖ (แม่กง)

ขึ้นกงจงจำสำคัญ ทั้งกนปนกัน
รำพันมิ่งไม้ในดง

ไกรกร่างยางยูงสูงระหง ตะลิงปลิงปริงประยงค์
คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง

มะม่วงพวงพลองช้องนาง หล่นเกลื่อนเถื่อนทาง
กินพลางเดินพลางหว่างเนิน

เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคียง

เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง เริงร้องซ้องเสียง
สำเนียงน่าฟังวังเวง

กลางไพรไก่ขันบรรเลง ฟังเสียงเพียงเพลง
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง

ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดัง เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสดาลขานเสียง

กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง พระยาลอคล้อเคียง
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง

ค้อนทองเสียงร้องปองเปง เพลินฟังวังเวง
อีเก้งเริงร้องลองเชิง

ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง ค่างแข็งแรงเริง
ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง

ป่าสูงยูงยางช้างโขลง อึงคะนึงผึงโผง
โยงกันเล่นน้ำคล่ำไป



ยานี ๑๑(แม่กก)

ขึ้นกกตกทุกข์ยาก แสนลำบากจากเวียงชัย
มันเผือกเลือกเผาไฟ กินผลไม้ได้เป็นแรง

รอนรอนอ่อนอัสดง พระสุ่ริยงเย็นยอแสง
ช่วงดังน้ำครั่งแดง แฝงเมฆเขาเงาเมรุธร

ลิงค่างครางโครกครอก ฝูงจิ้งจอกออกเห่าหอน
ชะนีวิเวกวอน นกหกร่อนนอนรังเรียง

ลูกนกยกปีกป้อง อ้าปากร้องซ้องแซ่เสียง
แม่นกปกปีกเคียง เลี้ยงลูกอ่อนป้อนอาหาร

ภูธรนอนเนินเขา เคียงคลึงเคล้าเยาวมาลย์
ตกยากจากศฤงคาร สงสารน้องหมองภักตรา

ยากเย็นเห็นหน้าเจ้า สร่างโศกเศร้าเจ้าพี่อา
อยู่วังดังจันทรา มาหม่นหมองละอองนวล

เพื่อนทุกข์สุขโศกเศร้า จะรักเจ้าเฝ้าสงวน
มิ่งขวัญอย่ารัญจวน นวลภักตร์น้องจะหมองศรี

ชวนชื่นกลืนกล้ำกลิ่น มิรู้สิ้นกลิ่นมาลี
คลึงเคล้าเย้ายวนยี ที่ทุกข์ร้อนหย่อนเย็นทรวง



ยานี ๑๑ (แม่กด)

ขึ้นกดบทอัศจรรย์ เสียงครื้นครั่นชั้นเขาหลวง
นกหกตกรังรวง สัตว์ทั้งปวงง่วงงุนโงง

แดนดินถิ่นมนุษย์ เสียงดังดุจพระเพลิงโพลง
ตึกกว้านบ้านเรือนโรง โคลงคลอนเคลื่อนเขยื้อนโยน

บ้านช่องคลองเล็กใหญ่ บ้างตื่นไฟตกใจโจน
ปลุกเพื่อนเตือนตะโกน ลุกโลดโผนโดนกันเอง

พิณพาทย์ระนาดฆ้อง ตะโพนกลองร้องเป็นเพลง
ระฆังดังวังเวง โหง่งหง่างเหง่งเก่งก่างดัง

ขุนนางต่างลุกวิ่ง ท่านผู้หญิงวิ่งยุดหลัง
พัลวันดันตึงตัง พลั้งพลัดตกหกคะเมน

พระสงฆ์ลงจากกุฏิ วิ่งอุตลุตฉุดมือเณร
หลวงชีหนีหลวงเถร ลงโคลนเลนเผ่นผาดโผน

พวกวัดพลัดเข้าบ้าน ล้านต่อล้านซานเซโดน
ต้นไม้ไกวเอนโอน ลิงค่างโจนโผนหกหัน

พวกผีที่ปั้นลูก ติดจมูกลูกตาพลัน
ขิกขิกระริกกัน ปั้นไม่ทันมันเดือดใจ

สององค์ทรงสังวาส โลกธาตุหวาดหวั่นไหว
ตื่นนอนอ่อนอกใจ เดินไม่ได้ให้อาดูร



ยานี ๑๑ (แม่กบ)

ขึ้นกบจบแม่กด พระดาบสบูชากูณฑ์
ผาสุกรุกขมูล พูนสวัสดิ์สัตถาวร

ระงับหลับเนตรนิ่ง เอนองค์อิงพิงสิงขร
เหมือนกับหลับสนิทนอน สังวรศีลอภิญญาณ

บำเพ็ญเล็งเห็นจบ พื้นพิภพจบจักรวาล
สวรรค์ชั้นวิมาน ท่านเห็นแจ้งแหล่งโลกา

เข้าฌานนานนับเดือน ไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา
จำศีลกินวาตา เป็นผาสุกทุกเดือนปี

วันนั้นครั้นเดินไหว เกิดเหตุใหญ่ในปฐพี
เล็งดูรู้คดี กาลกิณีสี่ประการ

ประกอบชอบเป็นผิด กลับจริตผิดโบราณ
สามัญอันธพาล ผลาญคนซื่อถือสัตย์ธรรม์

ลูกศิษย์คิดล้างครู ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน
ส่อเสียดเบียดเบียนกัน ลอบฆ่าฟันคือตัณหา

โลภลาภบาปบ่คิด โจทย์ผิดริษยา
อุระพสุธา ป่วนเป็นบ้าฟ้าบดบัง

บรรดาสามัญสัตว์ เกิดวิบัติปัติปาปัง
ไตรยุคทุกข์ตะรัง สังวัจฉระอวสาน



ฉบัง ๑๖(แม่กม)

ขึ้นกมสมเด็จจอมอาริย์ เอ็นดูภูบาล
ผู้ผ่านพาราสาวะถี

ซื่อตรงหลงเล่ห์เสนี กลอกกลับอัปรีย์
บูรีจึงล่มจมไป

ประโยชน์จะโปรดภูวไนย นิ่งนั่งตั้งใจ
เลื่อมใสสำเร็จเมตตา

เปล่งเสียงเพียงพิณอินทรา บอกข้อมรณา
คงมาวันหนึ่งถึงตน

เบียนเบียดเสียดส่อฉ้อฉล บาปกรรมนำตน
ไปทนทุกข์นับกัปกัลป์

เมตตากรุณาสามัญ จะได้ไปสวรรค์
เป็นสุขทุกวันหรรษา

สมบัติสัตว์มนุษย์ครุฑา กลอกกลับอัปรา
เทวาสมบัติชัชวาลย์

สุขเกษมเปรมปรีดิ์วิมาน อิ่มหนำสำราญ
ศฤงคารห้อมล้อมพร้อมเพรียง

กระจับปี่สีซอคลอเสียง ขับรำจำเรียง
สำเนียงนางฟ้าน่าฟัง

เดชะพระกุศลหนหลัง สิ่งใดใจหวัง
ได้ดังมุ่งมาดปรารถนา

จริงนะประสกสีกา สวดมนต์ภาวนา
เบื้องหน้าจะได้ไปสวรรค์

จบเทศน์เสร็จคำรำพัน พระองค์ทรงธรรม์
ด้นดั้นเมฆาคลาไคล





ฉบัง ๑๖(แม่กม)

ขึ้นเกยเลยกล่าวท้าวไท ฟังธรรมน้ำใจ
เลื่อมใสศรัทธากล้าหาญ

เห็นภัยในขันธสันดาน ตัวห่วงบ่วงมาร
สำราญสำเร็จเมตตา

สององค์ทรงหนังพยัคฆา จัดจีบกลีบชะฎา
รักษาศีลถือฤาษี

เช้าค่ำทำกิจพิธี กองกูณฑ์อัคคี
เป็นที่บูชาถาวร

ปฐพีเป็นที่บรรจฐรณ์ เอนองค์ลงนอน
เหนือขอนเขนยเกยเศียร

ค่ำเช้าเอากราดกวาดเตียน เหนื่อยยากพากเพียร
เรียนธรรมบำเพ็ญเคร่งครัน

สำเร็จเสร็จได้ไปสวรรค์ เสวยสุขทุกวัน
นานนับกัปกัลป์พุทธันดร

กุมราการุญสุนทร ไว้หวังสั่งสอน
เด็กอ่อนอันเยาว์เล่าเรียน

ก ข ก กา ว่าเวียน หนูน้อยค่อยเพียร
อ่านเขียนผสมกมเกย

ระวังตัวกลัวครูหนูเอ๋ย ไม้เรียวเจียวเหวย
กูเคยเข็ดหลาบขวาบเขวียว

หันหวดปวดแสบแปลบเสียว หยิกซ้ำซ้ำเขียว
อย่าเที่ยวเล่นหลงจงจำ

บอกไว้ให้ทราบบาปกรรม เรียงเรียบเทียบทำ
แนะนำให้เจ้าเอาบุญ

เดชะพระมหาการุญ ใครเห็นเป็นคุณ
แบ่งบุญให้เราเจ้าเอยฯ



คำศัพท์
ก ข. - อักษรไทย ตัวหนังสือไทย
กระจับปี่ - พิณสี่สาย
กระโห้. - ชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง หัวโตเกล็ดใหญ่ ลำตัวด้านหลังสีเทาดำ หางและครีบ สีคล้ำ
กร่าง- ชื่อต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง เปลือกเรีบยสีเทา ใบกว้างหนา
กะลาง - ชื่อนกชนิดหนึ่ง ตัวขนาดนกเอี้ยง
กะลิง - ชื่อ นกปากงุ้มเป็นขอชนิดหนึ่ง หัวสีเทา ตัวสีเขียว ปากแดง หางยาว
กังสดาล - ระฆังวงเดือน
กัปกัลป์ - กัปหมายถึง ระยะเวลาอันนานเหลือเกิน บางทีใช้คู่กับคำว่ากัลป์ เป็น กัปกัลป์
กามา - ความใคร่ ความใคร่ในทางเมถุน
กาลกิณี - เสนียดจัญไร ลักษณะที่อัปมงคล
กุมารา - เด็กๆทั้งหลาย
กูณฑ์ - ไฟ
ไกร - เกิน กล้า เก่ง ขอสมา - ขอโทษ ขออภัย
ขันธสันดาน - อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิดในตัวของตนเอง
ขื่อคา - เครื่องจองจำนักโทษ
เขนย - หมอน
คดี - เรื่อง
ครั่ง - ชื่อเพลี้ยหอยชนิดหนึ่ง ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชและผลิตสารซึ่งเรียกว่าขี้ครั่ง ใช้ประโชยชน์ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง
ครุฑา - สัตว์ในวรรณคดี
คอโค - คนอินเดีย
ค้อนทอง - ชื่อนกชนิดหนึ่ง
คันทรง - ชื่อไม้พุ่มชนิดหนึ่ง
ค่าง - ชื่อลิงชนิดหนึ่ง
คีรี - ภูเขา
จักรวาล - ปริมณฑล
ฉ้อ - ขี้โกง
เฉโก - ฉลาดแกมโกง
ช้องนาง - ชื่อไม้พุ่มชนิดหนึ่ง
ชีบา - นักบวชหญิงที่นุ่งขาวห่มขาว
ตรีชา - ความหมายตามบริบท หมายถึง ติเตียน
ตะรังตั้น - ตะบึงไป
ตะลิงปลิง - ชื่อไม้ต้นชนิดหนึ่ง
ตัณหา - ความทะยานอยาก ไตรยุค - ไตรดายุค
ไตรสรณา - ที่พึ่งทั้งสาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ถือน้ำ - พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นการดื่มน้ำสาบานถวายพระเจ้าแผ่นดิน
เถื่อน - ป่า
ทุกข์ - ความทุกข์
เทวาสมบัติ - สมบัติในสวรรค์
บรรจถรณ์ - ที่นอน
บา - ครู อาจารย์
ประยงค์ - ชื่อไม้พุ่มชนิดหนึ่ง
ประเวณี - การประพฤติผิดเมียผู้อื่น
ประสกสีกา - ชายหญิงที่นับถือพระพุทธศาสนา
ปริง - มะปริง
ปัตติ - ส่วนบุญ
ปาปัง - บาป
ผลาญ - ทำลายให้หมดสิ้นไป
ผาสุก - ความสำราญ ฝาง - ชื่อไม้ต้นขนาดเล็กชนิดหนึ่ง
ฝิ่น - ชื่อไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง
พระแกล - หน้าต่าง
พระดาบส - ผู้บำเพ็ญตบะ
พระยาลอ - ชื่อนกชนิดหนึ่ง
พระยาสัมพาที - พญานกในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
พระแสง - อาวุธ หรือ เครื่องใช้มีคมที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สอย
พลวง - ชื่อธาตุชนิดหนึ่ง
พิภพโลก - ทรัพย์สมบัติ
พุทธันดร. - ช่วงเวลาที่ว่างจากพระพุทธเจ้า
โพล้เพล้ - เวลาพลบค่ำ เวลาจวนค่ำ
ไพชยนต์สถาน - ชื่อรถและวิมานของพระอินทร์
ภาษาไสย - ลัทธิอันเนื่องด้วยเวทมนตร์คาถา
ภุมรา - ภมร, แมลงผึ้ง, แมลงภู่
ภูผา - ภูเขา
มณฑล - ดวง รัศมี วงรอบ เขตปกครองที่แบ่งเป็นส่วนใหญ่ๆ
มรคา - ทาง
มโหรี - วงเครื่องดนตรีประเภทดีดสีตีเป่า
มโหฬาร์ - ยิ่งใหญ่
เมธา - ความรู้ ปัญญา
เมรุ - ชื่อภูเขากลางจักรวาลมียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระอินทร์
โมทนา - บันเทิง ยินดี
ยอแสง - อาการที่พระอาทิตย์อ่อนแสงลง
ยูง - ชื่อนกขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง
เยาวนารี - สาวรุ่นๆ
โยโส - โหยกเหยก
ระยำ - ชั่วช้า
รัญจวน - ป่วนใจ
ราศี - กอง หมู่
ราหู - ชื่อปลากระเบนทะเลชนิดหนึ่ง
รูกขมูล - โคนต้นไม้
ละมั่ง - ชื่อกวางขนาดเล็กชนิดหนึ่ง
โลโภ - ความโลภ
วาตา - ลม
วายุ พยุ - พายุ
วิบัติ - พิบัติ ความฉิบหาย
ศฤงคาร - สิ่งให้เกิดความรัก
สกุณา - นก
สะธุสะ - คำเพื่อขอความสวัสดิมงคล
สังวัจฉระ - ปี
สังวาส - การอยู่ด้วยกัน
สัตถ - คัมภีร์ ตำรา เกวียน
สาลี - ข้าว
สิงขร - ภูเขา
สุภา - ตุลาการ
หงส์ - นกในนิยาย
เหรา - (๒) ชื่อสัตว์ในนิยาย มีรูปครี่งนาคครึ่งมังกร
เหล่าเมธา - หมายถึงบรรดานักปราชญ์
อภิญญาณ - ความรู้ยิ่งมี 6 อย่างคือ 1. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ 2.ทิพยโสด มีหูทิพย์ 3.เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่น 4.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้ 5.ทิพยจักขุ มีตาทิพย์ 6.อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสว
อวสาน - จบ สิ้นสุด
อะโข - มาจากคำว่าอักโข มาก,หลาย
อัชฌาสัย - กิรียาดี นิสัยใจคอ
อันธพาล - คนเกะกะระราน
อัปรา - ใช้เป็นคำนำหน้าคำศัพท์ที่มาจากบาลี แปลว่า ไปจาก ปราศจาก
อัปรีย์ระยำ - จัญไร
อัสดง - ตกไป พระอาทิตย์ตก
อาญา - อำนาจ โทษ
อารย์ - เจริญ
อารัญ - ป่า
อีเก้ง - ชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดหนึ่ง
อีโก้ง - ชื่อนกชนิดหนึ่ง

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.st.ac.th/bhatips/suriya_1.html
http://www.nmk.ac.th/myweb/prachai_5.html

พลอยโพยมมีกาพย์พระไชยสุริยาหลายเล่มในมือ ที่จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพก็มี จัดพิพม์โดยสำนักพิมพ์คลังวิทยาเพื่อจำหน่ายก็มี การจัดเพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรก่อน ( กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์) หลายปี พ.ศ. ซึ่งการสะกดคำมีความแตกต่างกันในการจัดพิมพ์แต่ละครั้ง

อาทิเช่น

สะธุสะ จะขไหว้
พระศรีไตรสะระณา
พ่แม่แลครูบา
เทวะดาในราษี

จะร่ำคำต่ไป
ภฬ่ใจกุมารา
ธระณีมีราชา
เจ้าภาราสาวะถี...บางแห่งใช้ พารา
มีสุดามะเหษี.
. อยู่บุรีไม่มีไภย
อะฌาไศรย บางเล่มใช้ อะฌาไสย
ได้อาไศรยในพารา บางเล่มใช้ ได้ อาไศย
ผู้เถ้า บางเล่มใช้ผู้เฒ่า
มรณะกำม์เชาบุรี บางเล่มใช้ มะระณะกำม์เชาบุรี....เป็นต้น


พลอยโพยมก็เลยใช้ พระไชยสุริยา หนังสือชุดภาพและการ์ตุนขององค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่ ห้า ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งในตอนท้ายของคำนำมีความว่า

อนึ่งสำหรับคำศัพท์บางคำในการ์ตูนพระไชยสุริยานี้ ได้จัดเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้องกับอักขรวิธีในปัจจุบันเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่การอ่านของเด็ก จึงเรียนชี้แจงมา ณ ที่นี้ด้วย

และ เริ่มต้นของเนื้อหา องค์การค้าคุรุสภา ใช้คำว่า สาธุสะจะขอไหว้ แต่พลอยโพยม ใช้ตามคำเดิมคือ สะธุสะ ทั้งสองแห่ง

6 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณที่เผยแพร่ข้อมูลดีๆ มีประโยชน์นะคะ

    ตอบลบ
  2. มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ จะใช้ข้อมูลที่ได้มาสอนนักเรียนให้เกิดประโยชน์สูดค่ะ ^^

    ตอบลบ
  3. ขอคำแปลหน่อยครับ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ23 พฤษภาคม 2560 เวลา 20:16

    ขอบคุณมากๆค่ะ

    ตอบลบ