วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชลวิถี.....ที่บางกรูด 7.......


ภาพ ข้อง และสุ่ม 3 อัน

ยังมีอุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้องการกับการ จับสัตว์น้ำ เป็นภาชนะที่ใช้สำหรับใส่สัตว์น้ำ คือ ข้อง ตะกร้าปลา กระชังขังปลา ตะแกรงไม้ไผ่สาน
อุปกรณ์ เหล่านี้ล้วนทำด้วยไม้ไผ่ และ ถือเป็นงานจักสาน บางบ้านเป็นงานหัตกรรมในครัวเรือนด้วย





ข้อง
เป็นเครื่องมือในการขังสัตว์น้ำชั่วคราว เวลาที่ชาวบ้านออกไปหาปลา หากบ เป็นเครื่องจักสานทำจากไม้ไผ่ รูปร่างและขนาดแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น บางท้องถิ่นรูปร่างคล้ายหม้อดิน มีข้องนอนรูปร่างคล้ายเป็ดก็มี สี่เหลี่ยมแบบกระเป๋าถือก็มี ข้องจะมีเชือกผูกอยู่เส้นหนึ่งสำหรับใช้สะพายไหล่ หรือผูกติดเอว เพื่อเอาติดตัวไปใส่สัตว์น้ำเมื่อออกไปจับสัตว์น้ำ ด้วยเครื่องมือจับสัตว์น้ำต่างๆ ข้องมีฝาปิดทำเป็นรูปกรวยแหลม เพื่อป้องกัน ปลาหรือสัตว์น้ำอื่น กระโดดออกจากข้องไปได้
ทุกบ้านในชนบท มีข้องเป็นของใช้ประจำบ้าน แขวนไว้ตาม มุมบ้าน ข้างครัว ข้างยุ้งข้าว ใต้ถุนบ้านที่ยกพื้นสูง เป็นต้น

กระเตง
มีของใช้ที่ใช้งานคล้ายข้อง แต่มีรูปร่างที่แตกต่างจากข้อง สานด้วยเส้นหวาย รูปร่างเหมือนปลีกล้วย หัวค่อนข้างแหลมมีปากวงกลม เหมือนคอขวด ค่อยๆผายป่องออกตรงกลาง แล้วค่อยๆเรียวลงจนท้ายแหลม เรียกว่ากระเตง ใช้สะพายไหล่และผูกติดเอวเช่นกัน ซึ่งเรียกกระเตงตามลักษณะการแกว่งโตงเตง
ซึ่งในบางท้องถิ่น มีเครื่องมือจักสาน สานด้วยไผ่รูปร่างเป็นทรงกระบอก คล้ายตะกร้าขอบสูง ประมาณ 40 เซนติเมตรช่องตาค่อนข้างห่าง ใช้สำหรับช้อนปลาริมตลิ่ง ภาชนะนี้ เรียกกระเตงเช่นกัน
กระเตงมีใช้กันที่จังหวัดพิษณุโลก และบริเวณใกล้เคียงเป็นต้น




ตะกร้าปลา
ภาชนะสานโปร่งด้วยไม้ไผ่ช่องตาค่อนข้างห่าง ปากกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร ก้นตะกร้าทรงสี่เหลี่ยมมน สูงกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางไม่มากนัก ประมาณให้รูปทรงสมส่วน ไม่มีหูหิ้ว ถ้าจะทำหูหิ้ว ต้องเอาเชือกมาคล้องเอง แต่ไม่เหมาะสำหรับใช้ใส่ของหิ้ว เพราะตะกร้าค่อนข้างบอบบาง
ใช้สำหรับใส่ปลา ตัวค่อนข้างโตพอที่จะไม่ลอดจากช่องตาของตัวตะกร้าได้ หรือใส่ปลาที่ทำแล้วแล่เป็นชิ้นๆ และใช้ตะกร้านี้สำหรับล้างปลา ด้วยวิธีการ เอาปลาใส่ตะกร้านำไปส่ายในน้ำ ใช้สองมือจับขอบตะกร้าแล้วส่ายไปมาในน้ำ



กระชัง
เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์สําหรับขังปลาชนิดหนึ่ง ใช้ไม้ไผ่ทําเป็นกง ๔ อัน แล้วผูกด้วยซี่ไม้ไผ่โดยรอบรูปกลมหัวท้ายเรียว ตอนบนเจาะเป็นช่องมีฝาปิด ใช้ไม้ขัดฝา ๒ ข้าง ใช้ไม้ไผ่กระหนาบเพื่อให้ลอยน้ำได้ในขณะออกไปจับปลาตามกร่ำ เมื่อจับปลาหรือกุ้งได้ก็เอาใส่ไว้ในนั้นชั่วคราว
อีกชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีปากเปิดกว้างคล้าย ๆ ตะกร้าหรือเข่งใส่ของ แต่ใหญ่กว่า กระชังชั่วคราวนั้นหลายเท่า เป็นที่สําหรับจับปลาขนาดใหญ่ มาขังไว้หรือเลี้ยงลูกปลาให้โตตามที่ต้องการ เพื่อบริโภคหรือ ค้าขาย และเอากระชังนี้ผูกติดหลักแช่ลอยน้ำไว้



อีจู้
เป็นเครื่องมือจักสานเช่นเดียวกับตุ้ม ลักษณะและวิธีการใช้เช่นเดียวกับตุ้มและไซ
อีจู้มีรูปร่างต่างกันไปบ้าง ส่วนใหญ่อีจู้มีรูปร่างคล้ายแจกันตรงกลางป่องมีช่องเทปลาออกอยู่ทางปาก และมีช่องกลมติดงาแซงอยู่ที่ด้านข้างของพื้นก้นซึ่งปลาก็จะเข้าทางด้านนี้ อี้จู้นี้จึงคล้ายกับตุ้มยืนมาก (ตุ้มยืนรูปร่างคล้ายขวด ) อีจู้ใช้ในแหล่งน้ำตื้น อาจมีเหยื่อล่อและมีหลักปักเพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ ถ้าใส่เหยื่อส่วนใหญ่จะได้ปลาไหลเป็นส่วนมาก


ในสมัยเด็กเล็กรุ่นของพลอยโพยมจะมีหนังสือเรียนเรียกกันว่าแบบเรียนเร็ว มีการใช้คำว่าอีจู้ เข้ามาอยู่ใน แบบเรียนเร็วเร็วเล่ม ๑ ตอนต้น ชั้นประถมปีที่ ๑
ซึ่งอยู่ ในบทที่ ๒

เริ่มจากป้ากู้อีจู้
และ ป้าปะปู่กู้อีจู้ ป้าดูปู่กู้อีจู้
แปลว่า ปู่เป็นคนกู้อีจู้ แล้วป้า มาพบ มาเจอ เห็น ปู่กำลังกู้อีจู้

ปัจจุบันมีวงดนตรี เอา อีจู้ มาเขียนในบทเพลง ชื่อเพลงว่า ป้ากะปู่กู้อีจู้ เป็นเพลงประกอบในภาพยนตร์ เรื่องแฟนฉัน เนื้อร้องเล่าถึงตอนเรียนหนังสือในวัยเด็ก มีบทอาขยานให้ท่อง เนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า
พวกเราเปล่งเสียง อาขยานท่องร่วมกัน ป้ากะปู่ กู้อีจู้ ป้าไม่อยู่ ปู่ไปเที่ยว ป้ากะปู่ กู้อีจู้ ป้าไม่อยู่ ปู่ไปเที่ยว ยังจำเธอได้ เธอร้องไห้เป็นเด็กงอแง…
แบบเรียนรุ่นใหม่ และอาขยานรุ่นใหม่ ก็คงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในสมัย พลอยโพยมยังเด็ก
ป้ากะปู่กู้อีจู้ แปลว่าทั้ง สองคนไปกู้อีจู้กัน ทีนี้พอป้าไม่อยู่ ปู่ไปเที่ยว วันนั้นก็เลยไม่มีคนไปกู้อีจู้ นั่นเอง


สำหรับแบบเรียนของเด็กเล็กสมัยพลอยโพยมนั้นมี
แบบเรียนเร็วเร็วเล่ม ๑ ตอนต้น ชั้นประถมปีที่ ๑
บทที่ ๑
สอนวิธีผสมพยัญชนะกับสระ ถ้าทบทวนให้จำสระ ให้อ่านจากซ้ายไปขวา ถ้าทบทวนพยัญชนะ ให้อ่านจากข้างบนลงมาข้างล่าง หรืออ่านจากข้างล่างขึ้นไปข้างบนเป็นแถวๆ
และมีแบบฝึกหัดในหน้า ๒
กะ จะ ปะ อา กา ตา ปา ติ บิ อี ดี ตี ปึ ตึ อื จุ ดุ บุ ปุ อู จู ดู ตู ปู
บิดา ตาดี จะปะ อีกา กะบะ กะปิ
อีกาตาดี ปะปู อีกาดูปู
บิดาปะอีกาดูปู
บิดาดูอีกา

บทที่ ๒
สอนวิธีผันอักษรกลาง
แบบฝึกหัด คือ
กู้อีจู้ ตากะปู่ อากะป้า ตาตีกะบี่ ป้ากู้อีจู้
ป้ากะปู่
ป้ากะปู่ดูตาอู๋ตีกะบี่กะตาอี่ ป้าจ๋า ตาอี่ตีกะบี่ดี ตาอี่จะตีบ่าตาอู๋ ตาอู๋ดูตาตาอี่
ป้าปะปู่กู้อีจู้ ป้าดูปู่กู้อีจู้
มีภาพ เล็กๆประกอบ ขณะที่ปู่กำลังเอาสองมือจับอีจู้ที่อยู่ในผืนน้ำในนา ป้านุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อแขนยาวสวมงอบกระเดียดกระจาดไว้ที่เอวข้างขวา ยืนมองปู่กู้อีจู้ อยู่บนฝั่ง (ป้าคนนี้ดูสาวกว่าพลอยโพยมมาก แต่ไม่สวยกว่าแน่นอน....จริงๆค่ะ )
ในบทนี้มี คำว่า กะบี่ กะจ่า ด้วย
(ใช้ตามอักขระ เดิมในสมัยนั้น ไม่ได้เขียนผิดแต่อย่างใด)


วันนี้มานึกย้อนถึงหนังสือเรียนชั้นเด็กเล็กในสมัยก่อน รู้สึกว่า ครูบาอาจารย์ในสมัยนั้นท่านเขียนบทเรียนให้เด็กเล็กอ่านได้อย่างมีเสน่ห์ เท่ห์ มีมนต์ขลัง ยากที่จะลืมเลือนได้จริงๆ ต้องไปแสวงหามาอ่านใหม่ อ่านไปยิ้มไปเลยทีเดียว (ยังพอหาหนังสือพวกนี้ได้ตามร้านหนังสือเก่าแต่ราคามหาโหด หน้าปกเล่มเล่มละไม่กี่สิบสตางค์ ปัจจุบันเล่มละ 150-200 บาท เล่มบางๆเท่านั้นเช่น สิบกว่าหน้า หรือไม่ถึงสิบหน้าก็มี ตามเรื่องราวเนื้อหาของหนังสือนั่นเอง)

มีบทอาขยานภาษาไทย ดอกสร้อยสุภาษิต ชั้นประถมปีที่ ๑-๒ สมัยพลอยโพยมยังเด็ก ๑๐ บท
๑. เด็กน้อย
๒. แมวเหมียวแยกเขี้ยวยิงฟัน
๓. ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน
๔. นกขมิ้นเหลืองอ่อน
๕. จิงโจ้โล้สำเภา
๖. ซักส้าวมะนาวโตงเตง
๗. ตุ๊ดตู่อยู่ในรูกระบอก
๘. นกกิ้งโครงเข้าโพรงนกเอี้ยง
๙. เรือแล่นสามเส้นสิบห้าวา
๑๐. นกอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า
ทุกบทจะบอกที่มาของบทดอกสร้อยท้ายหน้า

ตัวอย่าง บทที่ ๑

เด็กเอ๋ยเด็กน้อย
ความรู้เจ้ายังด้อยเร่งศึกษา
เมื่อเติบใหญ่เจ้าจะได้มีวิชา
เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน
ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน
จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล
ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน
เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย ฯ

ร้องลำฝรั่งรำเท้า




ภาพจากหนังสือเรียน นิทานร้อยบรรทัด


สำหรับชั้นประถมปีที่๒-ประถมปีที่๗ จะเป็น นิทานร้อยบรรทัด เล่มที่๑ถึงเล่มที่ ๖
เป็นบทกลอนแปด เล่มละร้อยบรรทัด คือ ยี่สิบห้าบท สมัยพลอยโพยมเรียนหนังสือ โรงเรียนใช้นิทานร้อยบรรทัดเป็นอาขยานท่องตอนเย็นก่อนเลิกเรียนกลับบ้าน ค่อยๆท่องวันละหน้าจนจบเล่ม

นิทานร้อยบรรทัด เล่ม ๑ เรื่องบ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ ๑
เริ่มต้นด้วย….
เรื่อง”ข้าเป็นลูกคุณแม่ด้วยก็ได้ “

เจ้านกน้อย น่ารัก ร้องทักว่า
“ ไปไหนมา หนูเล็ก เด็กชายหญิง
ทั้งรูปร่าง หน้าตา น่ารักจริง
ข้ายิ่งดู ก็ยิ่ง จำเริญตา “
สองพี่น้อง เห็นวิหค นกพูดได้
ก็พอใจ อยากจะรัก ให้นักหนา
ต่างนึกชอบ ชิงกันตอบ สกุณา
“ทั้งสองข้า ไปโรงเรียน เพียรประจำ “

ขอยกตัวอย่างมาพอสังเขป...หลายๆท่านอ่านแล้วคงพอจำกันนะคะ



คนโบราณนอกจากเจ้าบทเจ้ากลอนแล้ว ยังช่างคิดสรรหาคำเปรียบเปรยบ้าง คำสอนใจบ้าง โดยโยงใยเชื่อมผูกของใช้รอบๆตัว ออกมาเป็นคำพูด เป็นประโยคออกมาเป็นคติเตือนใจผู้คน

ตัวอย่างเช่น
เครื่องมือประมงกับ คำพังเพยและสำนวนไทย

ลอบ
ดักลอบให้หมั่นกู้ ริเจ้าชู้ให้หมั่นเกี้ยว

ตกปลา
ตกปลาอย่าเสียดายเหยื่อ เสียเกลืออย่าให้เนื้อเน่า

ไซ
ตีปลาหน้าไซ

ไซ มีที่กล่าวในบทอาขยานชั้นมัธยมปลาย( ม.ศ.๕ ) ในเรื่องพระเวสสันดรชาดก ที่ขึ้นต้นว่า

โส โพธิสัตฺโต ปางนั้นสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์......

(เมื่อประทานสองกุมารให้ชูชก ชูชกใช้เถาวัลย์รัดมัดมือพาออกไป ทั้งยื้อยุดฉุดลากเฆี่ยนตีสองกุมาร หวังเพื่อกำราบข่มขู่สองกุมารให้หวาดกลัวและเชื่อฟังตนเอง ชูชกเหยียบหินพลาดเถาวัลย์ที่รัดมัดมือสองกุมารหลุด สองกุมารกลับมาหาพระบิดาร้องไห้อ้อนวอนขอรอพบพระมารดาก่อน ชูชกย้อนตามมาทัน ก็ฉุดคร่าโบยตีสองกุมารต่อหน้าพระพักตร์พระบิดา มีขณะหนึ่งที่พระเวสสันดรทรงหวั่นไหวในพระทัย ..ว่า...)

วาริชสฺเสว เม สโต
เสมือนหนึ่งพรานเบ็ดมาตีปลาที่หน้าไซ บรรดาปลาจะเข้าไปให้แตกซ่าน
ตัวเราผู้ทำทานเหมือนตัวปลา พระโพธิญาณในภายหน้านั้นคือไซ
ปรารถนาจะเข้าไป จึงยกพระลูกให้เป็นทานบารมี พระลูกรักทั้งสองศรีดังกระแสร์สินธุ์
พราหมณ์ประมาทหมิ่นมาด่าตี เสมือนกระทุ่มวารีให้ปลาตื่น..........

ข้อง
ปลาข้องเดียวกัน

แห
ปลาติดหลังแห

กระชัง
แม่หญิงแม่หยัง แม่กระชังหน้าใหญ่

ตะกร้า
ใส่ตะกร้าล้างน้ำ หมายถึงทำให้หมด ราคี หมดมลทิน (น่าจะมีความหมายถึงตะกร้าปลา)

ยอ
ยกยอปอปั้น

วันนี้พาผู้อ่านย้อนกลับเข้าโรงเรียน ไปเสียแล้ว.......

(เพิ่มเติม หมายเหตุ สมัยพลอยโพยมเรียน มีชั้นอนุบาล ประถมปีที่๑ ถึง ประถมปีที่ ๔ รวมเรียกว่าชั้นประถมต้น
ชั้น ประถมปีที่๕ ถึงประถมปีที่๗ เรียกว่าชั้นประถมปลาย
แล้วขึ้นชั้น ม.ศ.๑ ถึง ม.ศ ๓ เรียกว่าชั้นมัธยมต้น
แล้วต่อด้วยชั้นเรียน ม.ศ.๔ และ ม.ศ.๕ (คือ ม.๖ ในปัจจุบัน) เรียกชั้นมัธยมปลาย

ส่วนก่อนหน้ารุ่นพี่รุ่นใหญ่ จบประถมปีที่๔
ขึ้นขั้นประถมปีที่ ๕ กลับเรียก เป็น ม.๑ ไล่ไปจนเป็นชั้น ม. ๘ ( ม.ศ.๓ รุ่นพลอยโพยม คือ ม.๖ ของรุ่นพี่ๆ ม.ศ.๕ ของพลอยโพยม คือ ม.๘ ของรุ่นพี่ แต่ปัจจุบันคือ ม.๖ รุ่นลูกๆของพลอยโพยม)

.และจบบทความนี้พลอยโพยมก็ขอตัวว่างเว้นเขียนเรื่องเล่า ไปเข้าปฏิบัติธรรม อีก 12 วัน กับพี่ชาย บาปกรรมที่สร้างไว้ในวัยเด็กก็มีมากยากหลบหนีผลกรรมที่ทำไว้ พอมาถึงวันนี้ก็ได้แต่พยายามหมั่นเพียรสร้างกรรมดี พี่ชายน้องชายที่สันทัดจัดเจนในการหาจับกุ้ง ปูปลา ต่างหันหน้าเข้าหาธรรมเป็นที่พึ่ง
ทุกวันนี้ได้แต่ขอให้บรรดาเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายโปรด อโหสิกรรมให้พวกเรา....ด้วยเทอญ

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ฃลวิถี.....ที่บางกรูด 6.......


กบหนอง ภาพจาก http://pineapple-eyes.snru.ac.th

การออกจับกบในท้องนา
ในฤดูแล้ง กบจะขุดรูอยู่จำศีลไม่ออกมาหาอาหาร( พลอยโพยมคิดว่า ถ้าออกมาก็ไม่เจออาหาร และตัวกบเองอาจถูกแดดเผาตายเสียมากกว่า คงจะไม่ได้คืนกลับถึงรูที่กบอาศัยอยู่ นับได้ว่ากบนี้เป็นสัตว์ฉลาด)

เมื่อถึงฤดูฝน หลังฝนตกในเวลาหัวค่ำ บรรดา กบ เขียดและอึ่งอ่างก็จะพากันส่งเสียงระงม เซ็งแช่ ส่วนใหญ่จะส่งเสียงร้องกันตั้งแต่หัวค่ำจนดึกดื่น

ก่อนที่ชาวนาจะเริ่มไถนาปลูกข้าวนั้นน้ำในท้องนาจะเริ่มเจิ่งนองตามปริมาณของฝนที่ตกสะสมกันมา กบที่จำศีลอยู่รู้ว่าออกมาหากินนอกรูได้แล้ว รวมทั้งเพื่อการขยายพันธุ์ประชากรกบด้วย กบพากันออกมาเริงร่ากับน้ำฝนหลังฝนตก ส่งเสียงกันทั้งกบ เขียด ทั้งอึ่งอ่าง ระเบ็งเซ็งแซ่ ถึงขั้นใช้คำว่าอึงอล ดังแซดกันเลยทีเดียว
สงสัยว่าจะเป็นเพราะ...ความที่จำศีลอยู่นานหลายเดือนตามช่วงเวลาหน้าแล้ง บรรดาสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเหล่านี้ ไม่ได้ส่งเสียงมานานหลายเดือนจึงพากันร้องอึงอื้อ สื่อความซึ่งกันและกัน บางคืนก็ส่งเสียงกันจนค่อนคืนเลยก็มี เสียงของอึ่งอ่างก็อึงมี่ไม่มียอมแพ้เสียงกบเชียวละ ...(เขียนแซวพวกสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกข้างต้นเท่านั้นเอง)

เป็นช่วงเวลาที่ชาวนาและผู้อยู่ใกล้ทุ่งนาก็มีฤดูกาลออกจับกบเช่นกัน ตามคำยั่วยวน ชวนเชิญ ของบรรดาตัวคุณกบเอง



ว่ากันว่า โอ๊บ.. โอ๊บ... นั้นเป็นเสียงร้องของกบตัวผู้ ที่ส่งเสียงเรียกหานางสาวกบ หรือกบตัวเมีย แม้จะส่งเสียงกันตั้งแต่หัวค่ำ แต่นักหากบก็ยังไม่ออกไปจับกบ ต้องรอตอนดึกๆ เพราะในตอนดึก กบตัวเมียก็จะตกลงปลงใจเลือกคู่ยอมมาจู๋จี๋กับกบตัวผู้ที่หมายตาไว้ตั้งแต่หัวค่ำ นักจับกบจะสามารถจับกบได้ทีละคู่ๆ ซึ่งหากออกมาจับช่วงหัวค่ำก็จะได้กบทีละตัว ๆ นั่นเอง

เป็นเรื่องที่ พี่ๆ น้องๆ ผู้ชาย ในบ้านไม่ยอมพลาดโอกาสทองนี้เหมือนกัน ต่างชักชวนนัดหมายให้ออกไปร่วมด้วยช่วยกันจับกบเหมือนบ้านอื่นๆ พอถึงเวลาก็ขมีขมันจุดตะเกียงเจ้าพายุ (ซึ่งที่บางกรูดเรียกตะเกียงนี้ว่าตะเกียงอีด้า อันเป็นการเรียกชื่อของยี่ห้อตะเกียงเจ้าพายุนั่นเอง ) หรือตะเกียงแก๊ส หรือใช้ไฟฉายแปดท่อน (ต่อมามีไฟฉายใช้แบตเตอรี่ ซึ่งส่องสว่างได้ไกลกว่าไฟฉาย แปดท่อนมากจึงเปลี่ยนเป็นใช้ไฟฉายแบตเตอรี่แทน) ออกไปจับกบที่ท้องนาในตอนดึกๆ สะพายข้องติดตัวเอาไว้ใส่กบที่จับได้

เสียงกบที่ร้องดัง โอ๊บ.. โอ๊บ ...นั้น เป็นการบอกแจ้งตำแหน่งแห่งที่ของตัวกบเองซึ่งจะอยู่ไกลตัวคนออกไปจับมาก จึงต้องใช้ตะเกียงที่มีแสงสว่างส่องได้ระยะไกลมองหาตัวกบ กบที่จับได้จะได้เป็นคู่ๆ คือตัวผู้และตัวเมียพร้อมๆกัน ( ตัวผู้อยู่บน ตัวเมียอยู่ล่าง.....บาปซ้อนบาปนะนี่ที่ไปจับในช่วงเวลากบเขามีความสุขกันอยู่..โธ่เอ๋ย..มนุษย์ สุดแสนใจร้าย...แถมยังตัดวงจรลูกกบที่จะได้เกิดมาอีก )

เมื่อจะกลับบ้านหลังเสร็จสิ้นภารกิจจับกบ เด็กผู้ชายจะเอาข้องใส่กบฝากไว้ที่บ้านน้านุ้ย ลูก ๆ ของน้านุ้ยจะช่วยกันสำเร็จโทษพร้อมทั้งลอกหนังให้ ก่อนเอากบมาส่งคืนให้ในตอนเช้า ส่วนใหญ่เอากบนี้มาผัดกระเพราและ ผัดขิง

(ในทางธรรม ถือว่า การใช้ให้คนอื่นฆ่า บาป เท่ากันระหว่างผู้ใช้... จ้างวาน.. และลงมือฆ่า.
คุณยายของพลอยโพยม ไม่รับประทานกบรวมถึงสัตว์ที่ท่านคิดว่าไม่น่าเกิดมาเพื่อเป็นอาหารอีกหลายอย่าง เช่น เป็ดไก่ วัว ควาย รับประทานเพียงเนื้อหมู กุ้ง ปูบางชนิด ปลาบางชนิด สัตว์บางชนิดเด็กๆต้องแอบทำข้างล่าง แอบกินกันเองในหมู่เด็กๆ)


(เสียงร้องของกบ - กบมักส่งเสียงร้องยามที่ฝนตก กบในภาษาไทยร้องว่า "โอ๊บ โอ๊บ" ภาษาเกาหลีร้องว่า "แค-กรู-แค-กรู" ภาษาจีน ร้องว่า "กวา กวา
กบ...ใช้เวลาประมาณ 6 วันหลังจากการปฏิสนธิ เอมบริโอจะเจริญเป็นลูกอ๊อด (tadpole) และสามารถหาอาหารกินเองได้
(จากวิกิพีเดีย)



อวนในภาพนี้เป็นอวนปากสี่เหลี่ยม ไม่ใช้ขอบสวิง และใฃ้ถังพลาสติก แทนลูกมะพร้าวผูกคู่อย่างในอดีต

การรอเคยกะปิในแม่น้ำ
อุปกรณ์ที่ใช้ คืออวน ปากสี่เหลี่ยม หรือสวิงรอเคย
ขอเล่าเฉพาะวิธีการที่ทำกันในบ้านของพลอยโพยม ซึ่งเลือกใช้สวิงรอเคย
เครื่องมือประกอบด้วย สวิงรอเคย ลำไม้ไผ่ ลูกมะพร้าวแห้งผูกเป็นคู่ๆ สมอเรือ เรือพายบางครั้งเป็นเรือมาดติดเครื่องยนต์ท้ายลำเรือสำหรับการออกไปลงสวิงและการไปกู้ เคยกะปิ

ในหน้าน้ำกร่อยจนถึงระดับเค็ม นอกจากการพายเคยกะปิในเวลาน้ำขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำหน้าบ้านแล้ว ยังมีวิธีการชาวบ้านๆ ที่ดักจับเคยกะปิได้อีกวิธีคือการใช้สวิงรอเคย เป็นสวิงปากกลมขอบไม้ไผ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตรครึ่ง เนื้ออวนสวิงเป็นไนลอนตาถี่ ยาวประมาณ 3 เมตร (ขนาดของสวิงเลือกตามใจชอบของผู้ใช้งานได้)

ใช้เชือกไนลอน ผูกขอบปากสวิงสามมุม แล้วมีเชือกเส้นที่สี่โยงจากจุดบรรจบของเชือกสามเส้นไปยังลำไม้ไผ่ ผูกยึดสวิงไว้กับลำไม้ไผ่รวมจำนวนสวิง 4 ปาก ต่อ 1 ลำไม้ไผ่ ที่กึ่งกลางลำไม้ไผ่ผูกตรึงด้วยเชือกโยงสมอเรืออีกหนึ่งเส้น ทิ้งสมอเรือฝังดินในบริเวณที่เลือกไว้ สมอเรือจะยึดสวิงทั้ง 4 ปากนี้ให้อยู่กับที่ (สวิงจะมีกี่ปากก็ได้ขึ้นกับขนาดของสมอเรือนั่นเอง) และมีเชือกอีก 1 เส้นปลายด้านหนึ่งผูกที่ขอบสวิงด้านบน อีกด้านของปลายเชือกผูกด้วยลูกมะพร้าวแห้ง สวิงปากละ 1 คู่ มะพร้าวแห้ง ( หรือบางบ้านใช้ ถังพลาสติก ก็ได้) กะระยะเชือกตรึงลูกมะพร้าวให้ลูกมะพร้าวลอยพ้นน้ำเป็นจุดสังเกตว่าปากสวิงอยู่ ณ จุดใด การนำสวิงลงน้ำต้องลงสวิงทีละปากโดยต้องมีความสมดุลของสวิงทั้ง 4 ปากนี้ด้วย การผูกเชือกทุกจุดต้องมั่นใจว่าแน่นหนา ในสมัยนั้นมีบางบ้านที่ผูกเชือกไม่แน่นดีสวิงก็หลุดลอยไป แต่ก็ยังตามคืนได้เพราะมีลูกมะพร้าวเป็นจุดสังเกตที่อยู่ของสวิงนั่นเอง



การรอเคยกะปินี้ จะทำกันเพียงวันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงหัวน้ำขึ้นและช่วงหัวน้ำลง ( ยกเว้นเวลากลางคืน) โดยกลับทิศทางของปากสวิงรับกระแสน้ำที่ไหลขึ้นหรือไหลลง

ประมาณเวลาว่าน่าจะมีเคยเข้ามาในสวิงพอสมควรแล้ว ก็นำเรือออกไปกู้สวิงซึ่งต้องออกไปอย่างน้อย 2 คน คนหนึ่งนั้นพายเรือและกำกับเรือให้ไม่หมุนคว้างไปมาโดยนั่งอยู่ท้ายลำเรือ อีกคนอยู่กลางลำเรือดึงสาวลูกมะพร้าว ณ จุดบอกสถานที่สวิงขึ้นมา เมื่อจับขอบสวิงได้ ยกสวิงขึ้นบนเรือ โดยค่อยๆดึงและค่อยๆหมุนขอบสวิงเลื่อนขึ้นมาบนเรือ ไม่ใช่เอาสองมือยกปากสวิงขึ้นจากน้ำ (ถึงอยากยกท่านี้ก็ยกไม่ไหวอยู่ดี ) เพราะสวิงที่มีอวนทั้งใหญ่ทั้งยาวมีน้ำหนักมากเมื่ออยู่ในน้ำ จังหวะนี้เรือจะเอียงเข้าหาสวิง คนนั่งท้ายเรือต้องช่วยออกแรงขืนลำเรือไปด้านตรงข้ามด้วย เมื่อเลื่อนขอบสวิงขึ้นมาบนเรือได้แล้วจึงค่อยๆสาวอวน จนถึงก้นอวน คว่ำก้นอวนเทเคยกะปิ และอื่นๆ ลงในตะแกรงไม้ไผ่สาน แล้วปล่อยสวิงและลูกมะพร้าวคืนลงน้ำ ทำจนครบสวิงทุกปาก นำเรือกลับเข้าฝั่ง หลังจากกู้สวิงในแต่ละครั้งทำให้พอจะคำนวณระยะเวลาได้ว่าควรใช้เวลานานเท่าไรดีที่จะออกไปกู้สวิงรอเคยครั้งถัดไป



คราวน้ำขึ้นหรือคราวน้ำลงแต่ละคราวน้ำจะกู้สวิงจำนวนกี่ครั้งนั้น ขึ้นกับปริมาณของเคยกะปิที่กู้ได้ หากแต่ละครั้งที่กู้สวิงขึ้นมามีเคยมาก ต้องกู้สวิงโดยใช้ระยะเวลาถี่ขึ้น หากออกไปกู้สวิงแล้วได้เคยกะปิน้อยต้องทอดเวลาให้ห่างออกไป

ในตะแกรงไม้ไผ่สานมีทั้งเคยกะปิ กุ้งตะเข็บ กุ้งตะกาด กุ้งกะเปาะ ปลา และลูกปลาต่างๆ หลายชนิดที่เป็นปลาน้ำกร่อย ปลาน้ำเค็มเช่น ปลาซิว ปลากะตัก ปลาแขยง ฯลฯเป็นต้น รวมทั้งศัตรูตัวร้ายคือแมงกะพรุนทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กรวมทั้งเศษผงต่างๆ

การกู้สวิงในช่วงน้ำลงมากๆ กระแสน้ำจะแรงมาก มีความยากลำบากในการกู้สวิงกว่า ช่วงน้ำขึ้น ยิ่งในบางครั้ง บางวัน มีพายุลมแรงเพราะมีพายุฝน แถมน้ำยังเชี่ยวแรงขณะกำลังกู้สวิงอยู่ในแม่น้ำก็ยิ่งลำบากขึ้นอีก ถือว่าเป็นการผจญภัยนิดหน่อยให้ระทึกใจกลางลำน้ำ แต่ไม่ถึงกับเกิดอันตรายแต่อย่างใด หากยังอยู่ริมฝั่ง แล้วเกิดพายุฝนลมแรง ก็จะระงับการออกไปกู้สวิง รอจนกว่าพายุ ฝนฟ้า สงบดีก่อนจึงจะนำเรือออกไปกู้สวิงใหม่

เมื่อกลับถึงบ้าน นำแตะแกรงไม้ไผ่สานที่ใส่เคยกะปินั้นลงลอยน้ำในแม่น้ำให้เศษผงและแมงกะพรุนออกไปจากตะแกรงก่อน แล้วจึงมาคัดเลือกสรรพชีวิตที่เหลือในตะแกรง สัตว์น้ำอื่นๆ ถือเป็นผลพลอยได้ประเภทของแถมจากเคยกะปิ

ต้องมีการจัดเก็บอุปกรณ์รอเคยทั้งหมดในแต่ละวันกลับบ้าน สำหรับวันใหม่ก็นำอุปกรณ์ทั้งหมดไปลงน้ำใหม่ หากรู้สึกว่าวันนี้รอเคยกะปิได้น้อยกว่าคนอื่นๆ อาจเป็นเพราะทิ้งสมอและสวิงรอเคยไม่ถูกร่องน้ำที่มีกระแสของเคยกะปิเคลื่อนที่ วันถัดไปอาจมีการขยับสถานที่ทิ้งสมอเรือ




เคยกะปิที่ได้เป็นเคยตาดำเพียงแต่ตัวเล็กกว่าเคยที่ได้จากการพายเรือริมฝั่ง แต่บางช่วงเวลาก็มีเคยตัวเล็กละเอียดสีดำที่ชาวบางกรูดเรียกว่าเคยนุ่นเข้ามาในบางคราวน้ำเหมือนกัน เป็นเคยที่ใช้ทำกะปิแล้วกะปิจะออกสีดำไม่น่ากิน ไม่กล้าแจกจ่ายให้ญาติ ๆ ด้วย ไม่เหมือนเคยกะปิทั่วๆไปที่แม่ค้าขายกะปิมักเชิญชวนคนซื้อว่า นี่เคยแม่น้ำนะจ๊ะ ราคาของเคยตาดำจากแม่น้ำและกะปิที่ทำเสร็จแล้วจะมีราคาแพงกว่ากะปิจากเคยอื่น ๆหรือเคยนุ่นตัวละเอียดฝอย มิหนำซ้ำยังทำกะปิได้เป็นเนื้อกะปิน้อยอีกต่างหาก

ช่วงการรอเคยกะปิจะเป็นช่วงปิดภาคเรียนใหญ่พอดี ทำให้รอเคยกะปิได้เกือบทุกวัน แต่เมื่อพี่ชายทั้งหลายเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและลงทะเบียนเรียนภาคฤดูร้อน ก็ไม่มีการรอสวิงเคยกะปิกันอีก เพราะน้องชายก็ยังเล็กเกินไป คุณยายต้องสั่งซื้อเคยกะปิจากโพงพางมาทำกะปิ คุณพ่อของพลอยโพยมไม่ถนัดในการรอเคยหรือพายเคยกะปิ รวมทั้งต้องไปทำงานอีกประการด้วย

การทำกะปินี้ มีผลผลิตพลอยได้ที่เยี่ยมยอดมากอีกอย่างหนึ่งคือน้ำปลา ทั้งหัวน้ำปลาที่ใช้ขบวนการแปรรูปจากแสงแดดที่แผดกล้าทำให้ได้น้ำปลาดิบ ส่วนหางน้ำปลานั้นเป็นน้ำปลาที่ผ่านการต้มไฟ

สำหรับสัตว์น้ำทุกชนิด คงมีความรู้สึกว่า มนุษย์นั้นเป็นดังพญายม ยักษ์มาร หรืออสูรร้าย ของบรรดา กุ้ง ปู ปลา อีกทั้งกบด้วย

พลอยโพยมดีใจในการที่ต้องย้ายบ้านเรือนมาอยู่ที่ใหม่ ได้ตัดวงจรของบาปกรรมในสมัยเด็กๆ ไว้เพียงแค่นั้น แม้จะเป็นการจับสัตว์น้ำมาเพื่อการบริโภคในครอบครัว ไม่ได้เพื่อการขาย

ในวันนี้เมื่อมานึกย้อนเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อเอามาเล่าสู่ท่านผู้อ่านถึง “กาลครั้งหนึ่งไม่นานนั้น ราวคืนวันผันผ่านเมื่อวานนี้ “ แล้ว เศร้าใจจริงๆมิได้เสแสร้งแกล้งเขียนให้ดูดี อย่าไปว่าปลาในเรื่องของปลาใหญ่ กินปลาเล็ก กินกุ้งน้อยเลย มนุษย์นี่แหละกินหมดทุกอย่าง ทั้งปลาใหญ่ กุ้งใหญ่ ปลาเล็ก กุ้งน้อย อีกทั้งกบทั้งปูด้วย แถมยังสรรหาวิธีการต่างๆมากมายเพื่อจับพวกเขามา ภูมิปัญญาชาวบ้านหลายอย่างล้วนเป็นวิธีการหาทางสร้างบาปให้ตัวเองโดยแท้ ช่างเป็นเรื่องของบาปกรรม สร้างเวร สร้างกรรม จริงๆ

พลอยโพยม และพี่ๆน้อง ๆ ผู้ชาย สำนึกในบาปกรรมเหล่านี้ ก็ได้แต่เพียรพยายามเข้าปฏิบัติธรรมตามวาระโอกาสที่จะทำได้ เมื่อมาอยู่ที่แห่งใหม่ เราเคยเป็นเกษตรกรเลี้ยงกุ้งในบ่อดินอยู่หลายปี หลังจากเข้าปฏิบัติธรรมแล้วเราก็เลิกราการเลี้ยงสัตว์น้ำ ปัจจุบันบ่อดินเจ็ดสิบกว่าไร่ ที่เคยเลี้ยงสัตว์น้ำถูกทิ้งรกร้าง ปลูกแต่ไม้ป่ายืนต้นทดแทนตามคันบ่อ ส่วนบ่อนั้นว่างเปล่ามีแต่หญ้าขึ้นเต็มบ่อ

ชลวิถี.....ที่บางกรูด 5.......

ชลวิถี..ที่บางกรูด 5..


ขอนไม่ที่ใช้ทอดบนเลน มักเป็นต้นตาลหรือมะพร้าว หรือปาล์ม

การจับสัตว์น้ำด้วยวิธีอื่นๆ

การงม กุ้ง ปู ปลา ในแม่น้ำ
วิธีหาจับสัตว์น้ำที่บ้านบางกรูดยังมีอีกวิธีที่ใช้เพียงมือเปล่า แต่ต้องเป็นคนที่มีความถนัดเป็นส่วนตัวจริงๆ คือการลงน้ำ ดำน้ำแล้วงมจับปลาและกุ้งก้ามกรามซึ่งมาหลบซ่อนตัวตามโพรงไม้หรือซอกหลืบที่มี

ที่บ้านพลอยโพยมนั้น เวลาที่น้ำแห้งมากๆชายฝั่งเลนจะทอดตัวเลยจากบันไดท่าน้ำออกไปไกลฝั่งพอสมควร บ้านริมฝั่งแม่น้ำต้องมีการทอดขอนไม้ไว้บนผืนเลนสำหรับใช้ขึ้นลงฝั่งน้ำ มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถใช้การสัญจรทางน้ำในแม่น้ำได้เลยในเวลาน้ำลงแห้งขอด ขอนไม้นิยมใช้ต้นตาลหรือต้นมะพร้าวทั้งต้นและตัดยอดที่มีใบออกให้หมด ที่บ้านจะใช้ขอนคู่ คือเป็นต้นตาลสองต้นวางคู่กันบนเลน ดังนั้นในระหว่างขอนไม้ 2 ต้น จะมีช่องว่าง เป็นที่ให้มีปลาบ้าง กุ้งก้ามกรามบ้างเข้ามาหลบอาศัยอยู่เป็นประจำ อีกทั้งบางครั้งหากขอนยาวไม่พอการลงสุดๆของน้ำลง จะต้องวางขอนอีกต้นต่อความยาวกัน ทำให้มีรอยต่อของช่วงขอน 2 ต้นนี้อีกด้วย พี่น้องผู้ชายในบ้านจะลงไปงมกุ้งปลาที่ซอกขอนเหล่านี้ ในเวลาน้ำลดลงยังไม่แห้งจนทำให้ขอนโผล่พ้นน้ำทอดตัวอยู่บนเลน ใช้การงมด้วยสองมือเปล่า นอกจากนี้ขอนไม้ที่ทิ้งแช่น้ำแช่โคลนนานๆเข้าก็จะผุกร่อนที่ปลายขอน เกิดเป็นโพรงลึกเข้าไปในตัวขอนด้วย ซึ่งโพรงของขอนนี้เป็นเป้าหมายที่สำคัญของการลงไปงมกุ้งก้ามกรามกันเลยทีเดียวและส่วนใหญ่ไม่ค่อยผิดหวังกับเป้าหมายนี้ ซึ่งบางครั้งในโพรงสุดปลายขอนนี้ก็มีปูทะเลด้วย ( ถ้ามีปูทะเล จะไม่มีกุ้งก้ามกราม)

ส่วนปลาที่ได้จากซอกขอนไม้นี้ เช่น ปลาบู่ ปลาตะกรับ เป็นต้น



เฝือกไม้ไผ่

การปิดคลอง
เป็นการหากุ้งปลาโดยในเวลาน้ำขึ้นนำเฝือกไปปักเลนกั้นปากคลองส่วนตัวของแต่ละบ้าน หากเป็นคลองสาธารณะนิยมใช้ตาข่ายกางกั้นขวางปากคลอง โดยต้องเหยียบปลายตาข่ายให้จมมิดเลนอย่างแน่นหนามีขอเกี่ยวติดพื้นให้มั่นใจ ส่วนปลายด้านบนของตาข่ายมีการปักไม้ไผ่ยึดตาข่ายให้สูงพ้นน้ำเพื่อกันกุ้งปลากระโดดหนี และสำหรับให้ผู้สัญจรในคลองปลดตาข่ายจากไม้ไผ่ลงเรี่ยพื้นน้ำ นำเรือสัญจรไปมาได้ แล้วดึงตาข่ายคล้องไม้ไผ่ไว้ดังเดิม

เมื่อน้ำลงต้องไปที่ปลายคลอง ลงลุยโคลนไล่จับกุ้งปลามาจนถึงหน้าปากคลองด้วยมือและสวิง
บ้านเรือนส่วนใหญ่มักมีลำคลองทั้งขุดเอง และของสาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำ ทั้งเพื่อการเพาะปลูก อุปโภค บริโภค ที่ปลายคลองเป็นที่เก็บเรือและนำเรือขึ้นบกมาซ่อมแซม ยาเรือเป็นต้น
สัตว์น้ำที่ได้ คือสัตว์น้ำตามชายฝั่งในช่วงเวลาของน้ำจืดหรือน้ำกร่อย


ชายเลนที่อาศัยของปลาเขือ ปลาตีน


การล้วงจับปลาเขือในรู
มีปลาบางประเภท ขุดรูเป็นที่อยู่อาศัยตามพื้นเลนชายฝั่งแม่น้ำ เมื่อน้ำลดปลาก็จะกลับเข้ารู เช่นปลาเขือ แต่ปลาบางชนิดพอน้ำลดแห้ง ก็ออกจากรูมาคลานเพ่นพ่านเที่ยวเล่นบนพื้นโคลนเลน เช่น ปลาตีน หรือปลากระจัง ปลาจุมพรวดเป็นต้น (ซึ่งมักมีต้นใบพายให้เหล่าปลาตีนขุดรูอยู่รอบๆด้วย)
ทำให้ชาวบ้านมีวิธีหาปลาที่อยู่ในรู ด้วยการล้วงจับปลาด้วยมือเปล่าในการจับปลาเขือ ส่วนเครือญาติทั้งหลายของปลาตีน ซึ่งคำท้องถิ่นของชาวบางกรูดนั้นเรียกปลาตีนกันว่า ปลาเที้ยว ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของชาวบ้าน เลยรอดตัวไม่ถูกจับ ปลาเที้ยวก็เลยได้ชูหน้าตามู่ทู่ของตนเอง ปีนป่ายชายฝั่งเลนให้เราเห็นทุกวัน ปลาตีนจะอยู่บนฝั่งเลน ส่วนปลาเขืออยู่บนเลนที่ลาดลงไปจากฝั่งเลน

การล้วงปลาเขือที่มีการขุดรูอยู่ในเลนแปลกประหลาดกว่าปลาอื่นๆ ชาวบ้านพบว่าปลาเขืออาศัยอยู่ในรูที่ใต้พื้นเลนเป็นโพรงโยงเชื่อมถึงกันได้บางที่โยงใยกันหลายโพรงหลายรูด้วยซ้ำไป เมื่อน้ำลดจะเห็น รู ปลาเขือตามผิวเลน เด็กๆจะเตรียมเชือกที่หาได้ง่ายๆใกล้มือใกล้ตัว เช่น กรีดทางจากออกมาเป็นเส้นๆ เอาพกติดตัวไว้ หรืออาจใช้ตอกในบ้านก็ได้ (ตอกที่ใช้มัดข้าวต้มมัด แทนเชือกกก เน้นเชือกที่สามารถเกี่ยวร้อย ตัวปลากลับบ้านได้นั่นเอง)
พร้อมแล้วเดินลุยลงไปในเลนมุ่งไปที่รูปลา ใช้มือหนึ่งล้วงลงไปตามรูที่พบ น้ำในรูที่ล้วงลงไปจะไปผุดล้นที่รูปลาเขือที่อยู่ใกล้ๆกันอีกรู น้ำล้นที่รูไหนก็เอามืออีกมือล้วงไปที่รูนั้น ควานมือทั้งสองที่ยังค้างอยู่ในรู ให้เข้าหากันพบกัน ก็จะจับตัวปลาเขือได้หากปลาเขืออยู่บริเวณทั้งสองรูนี้ แต่ในบางครั้งก็ไม่ได้ตัวปลา ให้สังเกตว่าน้ำไปผุดล้นที่ปากรูไหนที่ใกล้ๆกันอีก ดึงมือขึ้นมาข้างหนึ่งเปลี่ยนมือล้วงไล่ลงไปที่รูที่มีน้ำล้นใหม่นั้น ควานมือในรูเลนให้มาหามือที่ยังค้างในรูปลาอีกครั้ง
ถ้าพบตัวปลาก็จับปลาไว้ให้มั่น (ตัวปลาเขือทั้งเล็กและลื่นมาก จึงต้องจับให้มั่นจริงๆ ) ดึงมือและตัวปลาออกจากรู พ้นเลนแล้วจึงเอาเชือกสายทางจากร้อยเหงือกปลาเขือที่มีอยู่สองข้าง เลือกเอาข้างใดข้างหนึ่งก็แล้วกัน ลอดเชือกทะลุออกมาทางปากปลาเขือ ร้อยเป็นพวงไว้ บางครั้งเด็กๆ ต้องยักย้ายแขนทั้งสองแขน จ้วงซ้ายที จ้วงขวาที ลงในรูเลนอยู่พัลวัน พัลเก หลายครั้งทีเดียวกว่าจะได้ตัวปลา แต่บางที แค่ครั้งสองครั้ง ( หมายถึง แขนซ้ายที แขนขวาที ) ก็ได้ตัวปลามาแล้วเหมือนกันก็มี

คิดไปคิดมาแล้ว เด็กๆ ผู้ชายที่ลงไปล้วงจับปลาเขือเพราะนึกสนุกด้วยมากกว่า เพราะอันที่จริงเอาเวลาไปหาวิธีจับสัตว์น้ำอื่นๆ มีอีกตั้งมากมายหลายวิธี เพียงแต่วิธีการของการล้วงปลาเขือแปลกประหลาดพิสดารกว่าวิธีอื่นๆเท่านั้นเอง เพราะเป้าหมายที่เป็น ปลาเขือ นั้นเป็นปลาตัวเล็กๆเท่านั้นเอง ปลาเขือ เป็นปลาที่ ไม่ได้ขึ้นเมนูที่จะเข้าในครัวของบ้าน เด็กๆ ที่หาปลาเขือได้ ต้องไปล้อมวงกันก่อไฟจัดการ ต้ม ปิ้งหรือย่าง กันเองข้างล่างไม่ขึ้นบ้าน เด็กผู้หญิงถ้าอยู่บนบ้านจะไม่ได้ลิ้มลองรสชาติปลาเขือแน่นอน แม้แต่พลอยโพยมเองก็ไม่เคยลิ้มชิมรสปลาเขือเลยสักที

ผู้อ่าน ลองสร้างภาพตามคำบอกเล่าดูเอานะคะว่าคนลงไปล้วงปลาเขือสนุกสนานเพียงไร ในความคิดผิดๆของเด็กในสมัยนั้น
นึกไปนึกมา เหมือนเป็นมนุษย์ประหลาด หน้าตา เนื้อตัว มีแต่ดินโคลนกระจัดกระจายเต็มหน้าเต็มตัว ( ไม่ใส่เสื้อเพียงแต่นุ่งกางเกงขาสั้นตัวเดียวสำหรับเด็กเล็ก หรือนุ่งผ้าขาวม้าแบบที่เรียกว่าถกเขมรหรือขัดเขมรแต่ดึงชายผ้าขาวม้าร่นถึงโคนขาสำหรับเด็กโต ) หิ้วพวงปลาเขือตัวน้อยเกี่ยวร้อยดิ้นไปมา ปลาเขือทำปากพะงาบ พะงาบ โหด...โหด...ระดับน้องๆองคุลิมาล เลยทีเดียว
โคลนและเลนเวลาแห้งจะรัดผิวเนื้อเหมือนแผลตกสะเก็ดแต่เป็นสะเก็ดใหญ่ๆ ถ้าใช้เวลาหาปลาเขือนานๆ เด็กๆ ก็ต้องลุยลงไปล้างตัวในแม่น้ำเสียที

เลนจะมีลักษณะข้นกว่าโคลน ชายเลนมีลักษณะคล้ายหาดทรายของชายทะเล
ปลาเขือมีเกล็ดขนาดเล็กละเอียดเป็นปลาอยู่ในวงศ์ปลาบู่ แต่คนละวงศ์ย่อยกับปลาตีน และปลาจุมพรวด


ปลาหมอไทย หรือปลาหมอนา

หลุมโจน
เป็นอีกวิธีที่ใช้การล่อหลอกสัตว์น้ำ เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ธรรมชาติขอองเหล่าสัตว์น้ำเองมาเป็นกลยุทธ์ จับสัตว์น้ำ

การทำนาในสมัยก่อนนี้ เป็นการทำนาดำ ต้องใช้น้ำมากในการหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนา ชาวนาจะต้องมีการใช้ระหัดวิดน้ำ จากคูคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเข้าไปในท้องนาเป็นเนือง ๆ การวิดน้ำเข้าผืนนาแต่ละครั้งจะมีบรรดาลูกสัตว์น้ำต่างๆเช่น ลูกปลาหลงติดเข้ามาในผืนนา และเจริญเติบโตได้ดี เพราะท้องนานับเป็นแหล่งที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ทั้งเมล็ดข้าว หนอน แมลง ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ เป็นต้น ปลาบ่มฟักตัวอยู่ในท้องนาเป็นเวลานานพอที่จะสืบเชื้อสายลูกหลานปลาในนาไว้อีก หากเดินตามคันนาหน้าทำนาในสมัยก่อนก็จะพบทั้งกบ เขียด อึ่งอ่าง ปูนาดำ รวมทั้งพบ ลูกครอกปลาช่อนว่ายเป็นฝูง ปลาหมอไทย หรือปลาหมอนา ฮุบเหยื่อ ให้ได้ยินเสียงโผง โผง ในท้องนาเป็นของธรรมดา

เมื่อใกล้จะได้เวลาเกี่ยวข้าว ชาวนาต้องปล่อยน้ำออกจากท้องนา บรรดาประชากรปลาทั้งหลายก็ไหลตามน้ำกลับคืนสู่ห้วงน้ำใหญ่ในลำคลองส่งผ่านต่อไปยังลำแม่น้ำ การปล่อยน้ำออกจากผืนนานี้ยังพอมีแอ่งน้ำขนาดเล็กที่ยังมีน้ำขังอยู่ในท้องนา ปลาและสัตว์น้ำ ที่ยังหลงเหลือตกค้างอยู่ในผืนนาก็จะไปอออยู่รวมกันเกิดเป็น ปลาตกคลัก ตามแอ่งน้ำ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวหมดนา ผืนนาก็จะค่อยๆ แห้งผากเพราะไม่มีต้นข้าวปกคลุมแสงแดดให้อีกต่อไป สัญชาติญาณเอาตัวรอดของปลาทำให้มีปลาพยายามกระเสือกกระสนดิ้นรนไปหาแอ่งน้ำใหม่ที่มีน้ำมากกว่าเดิม

ในเวลากลางคืนไม่มีแสงแดดแผดเผา เหล่าปลาตกคลัก ก็พยายามเคลื่อนตัวออกจากแอ่งน้ำที่น้ำค่อยๆ แห้งเหือดลงทุกวัน เพื่อไปแสวงหาแหล่งที่มีน้ำแหล่งใหม่

ชาวนา รู้ดีว่าเป็นโอกาสดีของพวกเขาเช่นกัน ชาวนาจะออกมาทำหลุมโจนดักปลา โดยขุดหลุมลึกพอประมาณ (คำนวณว่าเมื่อปลาตกลงไปในหลุมแล้ว คลานขึ้นมาไม่ได้) ใกล้ๆแอ่งน้ำนั้นเอง อาจมีการหลอกล่อเชิญชวนโดยการทำร่องเป็นช่องทางออกมาจากแอ่งไปสู่หลุมโจนนี้ บางครั้งยังขุดเอาเลนมาทาตามร่อง และปากหลุมก้นหลุมอีกด้วย กลิ่นดินโคลนนี้ล่อใจปลาให้คืบคลานเข้ามาหา ในที่สุดปลาก็จะตกลงไปในหลุมโจน
บางครั้ง ก็มีการใช้ไหบ้างโอ่งเล็กๆบ้าง ฝังไว้ เมื่อปลาตกลงไปในหลุม ก็จะลงไปอยู่ในของใช้เหล่านี้ เป็นความสะดวกของเจ้าของหลุมโจนในการการนำปลาขึ้นมาจากหลุมฝัง
ทุกเช้าก็มาสำรวจดูหลุมโจนนำผลงานที่ประสบผลสำเร็จกลับบ้าน

ชาวบ้านอื่นก็มีการทำหลุมโจนใกล้ๆแหล่งน้ำ หนอง บึง ร่องทางน้ำที่เชื่อมต่อลงแม่น้ำ ลำคลองคล้ายๆชาวนา มักทำกันในฤดูแล้ง ระยะน้ำลด
ปลาที่ได้ มีปลาดุก ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาหมอไทย เป็นต้น




ปลาหมอนา (ปลาหมอไทย) มักกลิ้งเกลือกเถือกไถตัวเองไปกับพื้นนาจากแหล่งเดิมเพื่อไปแสวงหาแหล่งน้ำแหล่งใหม่ ชาวบ้านจะเรียกอาการนี้ว่า ปลาหมอแถกเหงือก (แถก แปลว่า ถ่างออก, กางออก) จะเห็นเหงือกปลาหมอ ถ่างออกมาจริงๆในช่วงเถือกไถตัว

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชลวิถี.....ที่บางกรูด 4.......



กรบ
เป็นเครื่องมือประเภทแหลนสามเส้า ทำด้วยไม้ไผ่สามอันทำเป็นขากรบ ยาวอันละประมาณ 60 เซนติเมตร ส่วนปลายของขากรบ ประกอบด้วยเหล็กแหลมทั้งสามขา ส่วนโคนทำเป็นด้ามสำหรับจับ รูปร่างงอเหมือนหัวไม้เท้า ที่ปลายเหล็กแหลมอาจตกแต่งเป็นเงี่ยง เพื่อปลาจะได้ไม่ดิ้นหลุดไป

ฉมวก
สำหรับใช้แทงปลาคล้ายกรบและเป็นของใช้ติดบ้าน นอกจากใช้ในการแทงปลาแล้วยังเป็นของใช้ประจำบ้านสำหรับป้องกันอันตรายจากคนด้วยกันหรือสัตว์ร้ายอื่นๆ ที่อาจตั้งใจหรือพลัดหลงอย่างมิได้จงใจด้วยเช่น งูพิษ เป็นต้น
ฉมวก เป็นเครื่องมือขนาดเล็กใช้ตามหมู่บ้านชาวประมง ชาวบ้านริมน้ำ มักใช้ออกหาปลาเวลากลางคืนเดือนมืด ใช้เรือเล็กเป็นพาหนะ มีคนช่วยพายเรือไปด้วย พยายามเคลื่อนเรือไปอย่างเงียบๆ คนถือฉมวกยืนที่หัวเรือ อีกมือถือไต้จุดไฟหรือไฟฉาย เมื่อพบเห็นปลา หรือปูหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ก็ใช้ความแม่นยำของตัวเองจ้วงแทงเต็มที่ เมื่อได้สัตว์น้ำก็ยกขึ้นเรือ

ฉมวกนี้ใช้ได้ทั้งในน้ำจืดและทะเล สัตว์น้ำที่จับได้เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาดุกทะเล ปลากระเบน ปูม้า ปูทะเล และแม้แต่ จระเข้น้ำเค็ม ( คนถือฉมวกก็กลายเป็นญาติของไกรทองไปด้วยเลยหากได้จระเข้มา แม้ว่าจระเข้ชาลวันที่ถูกไกรทองปราบนั้น เป็นจระเข้น้ำจืด)
ฉมวก มีทั้งฉมวกเดี่ยว ฉมวกสามง่าม ฉมวกปลาไหล




ขอล้วงปู (Crab Hook )
บางท้องถิ่นเรียกว่าขอขุดปู ทำด้วยเหล็กเส้นยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ส่วนปลายทำให้โค้งคล้ายเบ็ด หรือขอ มีด้ามไม้สวมยาวประมาณสองเมตรเศษ หรือตามใจชอบและความถนัดของผู้ใช้

วิธีการใช้ ใช้ขอล้วงปูทะเลแหย่เข้าไปในรูปูในเวลาน้ำลด การสังเกตว่าเป็นรูปูทะเลคือการพิจารณาดูที่รอยตีนปูรอบๆปากรูปูว่าเป็นรอยตีนปูทะเล รูปูทะเลค่อนข้างใหญ่ตามขนาดของตัวปูนั่นเอง ในบางครั้งปูทะเลตัวใหม่ก็เข้ามาอาศัยรูปูเก่า ที่เจ้าของรูย้ายไปที่อื่นหรือถูกจับไปลงหม้อหรือกระทะไปแล้ว คนหาปูพอพบรูปูก็จะเอาขอล้วงปูแหย่เข้าไปในรู หากพบตัวปู ขอ ที่ปลายไม้จะกระทบกระดองปู มีเสียงดังแกรกๆ ให้ได้ยิน หากได้ยินเสียงกระทบของขอเหล็กก็มั่นใจได้เลยว่ามีปูทะเลอยู่ในรูแน่นอน แต่บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะใช้ขอล้วงปูออกมาได้เช่นกัน พยายามจนหมดแรงคนหาปูกันเลยทีเดียว ก็ต้องพลิกแพลงหาวิธีใหม่ บางคนลงทุนขุดรูปูเข้าไปในโพรงดินเลย บางครั้งก็ต้องแปลกใจว่า ในรูปูนั้น บางรูก็เป็นทางตรง บางรูก็มีการหักมุมในรูปูข้างใน และบางครั้งรูปูทะเลลึกเกือบสามเมตรก็มี ไม้ขอยาวไม่ถึงก้นรู การกระทบกระดองปูของขอล้วงปูนั้นเพราะปูยังอยู่ไม่สุดปลายรูปูนั่นเอง

ประสบการณ์ที่เคยพบต้องประยุกต์ใหม่กับสถานที่ตั้งของรูปูด้วย คือหากเป็นร่องสวนขืนขุดรูปูเข้าไปมีหวังร่องสวนเสียหายแน่นอน ดังนั้นหากเป็นรูปูในสวนก็ไม่ใช้การขุดดินเข้าไป คนหาปูจะเอาลอบดักปลามาดักอุดที่ปากรูปู ไม่ต้องวางเหยื่อแต่อย่างใด เพราะปูทะเลมีธรรมชาติที่จะออกจากรูเมื่อน้ำขึ้นเพื่อออกมาหาอาหารกินนั่นเอง ดังนั้นตัวปูทะเลเองก็กลับตาลปัตรกลายเป็นอาหารของมนุษย์แทน เพราะพอออกจากรูก็หลงเข้าไปในลอบที่มีคนดักทางไว้อย่างสิ้นหนทางหลีกหลบ และปูไม่รู้ทันความพลิกแพลงของพวกมนุษย์ทั้งหลาย กว่าจะรู้ตัวก็หลงคลานเข้ามอยู่ในลอบเสียแล้ว

ทั้งกุ้งปลา และปู ซึ่งนับเป็นอาหารอันโอชะของมนุษย์ ล้วนแต่ถูกหลอกล่อในการจับมาเป็นอาหารด้วยวิธีการที่หลากหลาย

ไม่ใช่เพียงหลอกล่อปูเท่านั้น มนุษย์ยังมีความโหดร้ายในจิตใจ เลือดเย็นอีกต่างหาก
ถ้าปูถูกขอล้วงออกมาจากรูได้ คนหาปูที่คอยจ้องอยู่ก็จะเอามือตะครุบไล่จับด้วยความชำนาญ ก็จับกันด้วยสองมือเปล่านี่แหละ ทั้งๆที่ปูทะเลก็จะชูก้ามทั้งสองของปูออกมาทั้งต่อสู้และป้องกันตัวพัลวัน หากคนหาปูพลาดพลั้งก็จะถูกก้ามปูหนีบเอาต้องร้องโอดโอยกระโดดโลดวิ่ง ปูทะเลก็ใจเด็ด ไม่ยอมเลิกราปล่อยก้ามใหญ่ของตัวเอง เพราะรู้ว่านี่เป็นเดิมพันชีวิตปูของตน คนหาปูสลัดเท่าไรปูก็หนีบไม่ปล่อยเช่นกัน ปูบางตัวยอมสลัดก้ามตัวเองออกจากตัว ประเภทยอมสละอวัยวะบางส่วนเพื่อรักษาชีวิต ทำนองนั้นเลยทีเดียว หากรอดเงื้อมมือมนุษย์ในครั้งนี้ รอจนมีการลอกคราบ ก้ามปูจะงอกขึ้นมาได้ใหม่ได้

แต่หากปูพลาดพลั้งถูกจับได้จะถูกทำทารุณกรรม โดนหักปลายเล็บตีนของตัวเองออกมา 2 เล็บ คนหาปูจะเอาเล็บที่หักส่วนปลายแหลมออกมานี้เสียบค้างขัดที่รอยข้อต่อของบริเวณก้ามที่ขยับไปมาได้ทั้งสองก้าม เพื่อป้องกันไม่ให้ปูขยับก้ามปูมาหนีบมือคนหาปูได้อีกนั่นเอง (ช่างคิดกันจริงๆมนุษย์เรา) ปูทะเลนั้นไหนจะเจ็บปลายตีนที่ถูกหักเล็บแหลมออกมา ไหนจะเจ็บที่รอยเสียบที่ข้อต่อขยับของก้ามทั้งสองข้าง ปูทะเลก็หมดแรงสุดแต่มนุษย์จะจัดการต่อไป ปูบางตัวก็ถูกตอกอกเอามาทำกับข้าวภายในวันนั้น บางตัวก็ถูกขังไว้ก่อนกับน้ำขลุกขลิกอดอาหารอีกต่างหากจนถึงวันสิ้นชีพ

การขังปูทะเล หากไม่อยู่ในกระชังขังในน้ำถูกขังบนบกในภาชนะอื่นซึ่งมีน้ำในภาชนะเพียงเล็กน้อย ถูกมัดขาและก้ามด้วยเชือกและคลุมปิดภาชนะด้วยผ้าขาวบางชุบน้ำชื้นๆ ชาวบ้านเชื่อกันว่าหากปูทะเลถูกยุงกัดที่นัยน์ตาปูทะเลจะตาย จึงใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำคลุมปิดที่ปากภาชนะไว้ แต่ในทางวิชาการอธิบายว่าปูตายเพราะขาดน้ำและความชุ่มชื้นรวมทั้งขาดอาหาร ความชุ่มชื้นแค่น้ำเพียงนิดหน่อยในก้นภาชนะไม่เพียงพอกับความต้องการ ปูบางตัวตายหลังถูกขังเร็วกว่าปูทะเลบางตัวเพราะสะบักสบอมกับการต่อสู้มาด้วย การใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำนั้นเป็นการเพิ่มความชื้นให้ปูทะเลต่างหากที่ช่วยยืดอายุปูทะเลได้ไม่ใช่การป้องกันยุงมากัดนัยน์ตาปูอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจกัน ผู้อ่านลองพิจารณากันเอาเองว่าจะเชื่อชาวบ้านดีหรือนักวิชาการดี พลอยโพยมเล่าสู่ให้อ่านทั้ง ความเชื่อของชาวบ้านที่บอกเล่ากันต่อๆมารุ่นแล้วรุ่นเล่าและคำชี้แจงของคนรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่านักวิชาการ

ปูทะเลตัวใหญ่ก้ามใหญ่เมื่อนำมาทำอาหาร บางครั้งจะไม่ถูกทุบก้ามใหญ่ให้กินเนื้อได้ง่ายๆ ต้องรักษารูปทรงของก้ามไว้ ความลำบากก็เลยเกิดกับคนกินต้องค่อยๆแซะเนื้อปูออกมา เนื้อตรงก้ามใหญ่สุดแสนอร่อยจริงๆ ทั้งนี้เพื่อจะเอาก้ามปูมาแขวนเป็นกระดิ่งส่งเสียงดัง กรุ๊งกริ๊ง กรุ๋งกริ๋ง ยามถูกลมพัดให้เคลื่อนไหวแกว่งไกวไปมา เนื้อถูกกิน ก้ามเอามาทำกระดิ่งแขวน กระดองปูยังเอาไปทำของที่ระลึกได้อีก น่าสงสารประชากรปูทะเล จริงๆ นั่นเพราะเนื้อของเจ้าอร่อยมากนั่นเอง ปูทะเลเอ๋ย....

มีเครื่องมืออีกประเภทที่จะขอแยกออกไปเล่าสู่ต่างหากอีกตอน คือ อีจู้ ที่จะขอเล่าปิดท้ายของเรื่อง ชลวิถี.. ที่บางกรูด..




เครื่องมือที่เป็นไม้ไผ่ ใช้วิธีการรักษาสภาพให้คงทนด้วยการทาน้ำมันยาง
เครื่องมือที่เป็นเส้นด้าย หรือเชือกที่ทำจากด้าย ใช้วิธี ย้อมด้วยยางของผลไม้ดิบ เช่นมะพลับ หรือพลับไทย ตะโกดิบ โดยต้องต้มยางดิบกับน้ำบนเตาไฟ เอา สวิงแห อวน ตาข่าย ลงย้อม
ต่อมาเมื่อหมากหมดความสำคัญลง คนกินหมากกับพลูน้อยลงจนหมากพลูยาสูบแทบไม่มีราคา ก็มีคนคิดนำยางหมากดิบส่งออก ในการนำไปใช้สำหรับงานย้อมที่ต่างประเทศ แต่ในอดีตนั้นหมากไม่ได้นำมาใช้ในงานย้อมกัน

ปัจจุบันเครื่องมือจับสัตว์น้ำหลายประเภทเปลี่ยนจากงานจักสาน เป็นงานใช้วัสดุจากพลาสติก เป็นวัสดุประกอบ ในส่วนของด้าย เชือก ตาข่ายด้าย หวายที่ใช้ยึดหรือมัด ก็ใช้ไนลอนแทน บางประเภทก็เสริมด้วยเหล็ก บางประเภทยังคงใช้ไม้ไผ่เป็นแค่โครงสร้างของอุปกรณ์
ของใช้หลายประเภทยังคงมีใช้อยู่ แต่ปรับเปลี่ยนการสร้างหรือผลิต ด้วยวัสดุที่ทันสมัย คงทน กว่าเดิม

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชลวิถี.....ที่บางกรูด 3.......


กาลเวลาแม้ผันผ่าน แต่วิถีชาวบ้าน ยังสืบสานกันต่อมา
เป็นภาพการวางลอบยืน ตามชายคลอง

อุปกรณ์การจับสัตว์น้ำ
เชงเลง ( Cone-shaped Bamboo Trap )
เป็นเครื่องมือที่ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกมัดด้วยหวายทรงกรวย คล้ายขวดก้นกลวงรูปร่างคล้ายลอบ
เชงเลงปากกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร สูงประมาณ 1 เมตรเศษ มีเชือกผูกปากเชงเลง สำหรับหย่อนลงในน้ำ ที่ปากเชงเลง และส่วนกลางมีซี่ไม้ไผ่ เรียกงาแซง 3 ชั้น เป็นช่องทางให้สัตว์น้ำที่เข้ามาในเชงเลงเช่น ปูทะเล หรือปลาที่เข้ามาในเชงเลง เข้ามาแล้วออกไปไม่ได้ เข้ามาได้อย่างเดียว มีการวางเหยื่อในเชงเลงล่อสัตว์น้ำเข้ามากินเหยื่อ เมื่อหลงเข้ามาแล้ว สัตว์น้ำจะกลับออกไปไม่ได้

เชงเลงที่บ้านมีขนาดใหญ่กว่าปกติมากเพราะทำพิเศษ( ก็เพราะมีกอไผ่ใหญ่หลายกอนั่นเอง)นำไปหย่อนลงที่ชายฝั่งแม่น้ำที่หน้าบ้าน และตรึงไว้ด้วยสมอเรือ มีเชือกผูกที่ก้นเชงเลงที่เป็นกรวยแหลม กับถังพลาสติก เป็นจุดสังเกตว่าหย่อนเชงเลงไว้ในบริเวณใด เชงเลงนี้จะอยู่ในแนวนอนกับพื้นดิน ประมาณเวลาว่าน่าจะมีสัตว์น้ำเข้ามาในเชงเลง ก็นำเรือมาดใหญ่(มาดแจว)ออกไปกู้เชงเลงขึ้นมา เชงเลงของที่บ้านมีความยาวเท่าเรือมาดพาย จึงใช้เรือมาดพายออกไปกู้เชงเลงไม่ได้
โดยทั่วไปปลาที่เข้ามาในเชงเลง เช่นปลาช่อน ปลาชะโด ปลากระทิง ปลาตะเพียน ปลาดุกทะเล ปูทะเล



ลอบจับปลา (Bamboo Trap )
มี 2 ชนิด คือลอบนอนและลอบยืน
ลอบนอน
ในบางท้องที่เรียกว่าไซนอน หรือไซลอบ ใช้ทั้งน่านน้ำจืดและน้ำเค็ม รูปร่างทรงกระบอก กลมยาว ด้านหัวเปิดด้านท้ายปิด ทำด้วยไม้ไผ่ซีก ไม้ไผ่เหลา ผูกมัดด้วยหวาย ด้านหัวที่เป็นทางให้ปลาเข้ามาในลอบ มีงาแซง และตอนกลางของลอบ อีก 1 ที่ เพื่อให้ปลาเข้ามาแล้วออกไม่ได้เหมือนเชงเลง มีประตูเปิดปิดด้านท้าย ลักษณะเด่นของลอบนอนคือ ส่วนท้ายของลอบงอนขึ้นเล็กน้อย เมื่อวางลอบในน้ำ ( แถบน้ำตื้น) ส่วนท้ายของลอบจะโผล่พ้นน้ำ ปลาที่ติดอยู่ในลอบมีโอกาสโผล่ขึ้นมาหายใจได้ ปลาที่จับได้ในลอบจึงได้เป็นปลาเป็นๆ การวางลอบ ต้องมีการใส่เหยื่อเพื่อล่อปลาไว้ในลอบ

สัตว์น้ำที่ได้จากการวางลอบ เช่นปลาหมอ ปลาดุก ปลาไหล ปลาช่อน กุ้งน้ำจืด ปู และงูที่หลงเข้ามา

นอกจากใช้ลอบดักปลาแล้ว เวลาที่พี่ชายและน้องชาย เอาขอล้วงปูไปล้วงปูทะเล บางครั้งไม่ประสบผลสำเร็จ ปูทะเลไม่ออกมาจากรูปู ก็จะนำลอบดักปลามาดักปูที่ปากรูปูทะเล กรณีนี้ไม่ต้องวางเหยื่อล่อ เพียงอดทนรอเวลาน้ำขึ้น ปูทะเลจะต้องออกจากรูอยู่แล้ว ก็กลับมาเอาปูทะเลกลับบ้านได้

ส่วนลอบยืน ไม่เป็นที่นิยมใช้ และที่บ้านไม่เคยใช้อุปกรณ์นี้
ลักษณะของลอบยืน ทำจากไม้ไผ่มัดด้วยหวายหรือเชือกในลักษณะตั้งขึ้นหรือยืน ส่วนบนมัดรวมไว้รูปร่างคล้ายถุงเงิน ด้านหน้ามีทางให้สัตว์น้ำเข้า และมีงาแซง



สุ่ม
ทำด้วยไม้ไผ่ และหวายรูปร่างคล้ายไห มีช่องอยู่ด้านบน สำหรับใช้มือล้วงจับปลาที่ติดอยู่ในสุ่ม ส่วนกลางป่อง ด้านบนแคบด้านล่างกว้าง ทำไว้เป็นซี่ๆ ปลายแหลมเพื่อให้ปักลงในดินโคลนได้แน่นหนา ปลาที่ติดอยู่ในสุ่มดิ้นออกไปไม่ได้
นิยมใช้สุ่มครอบจับปลาในแหล่งน้ำตื้น ตามห้วยหนองคลองบึง ท้องนา

ที่บ้านมีวิธีตกกุ้งก้ามกรามโดยผูกสายเชือกกับไม้ที่ใช้ปักตามริมตลิ่งชายฝั่งแม่น้ำในช่วงน้ำเริ่มขึ้น น้ำที่ชายฝั่งยังน้อย ใช้เนื้อมะพร้าวห้าวหั่นเป็นรูปสี่เหลี่ยมเป็นเหยื่อล่อ ต้องใช้เรือพายไปปักไม้และหย่อนสายเชือก ที่ทำจากการกรีดทางมะพร้าวออกมาเป็นเส้นๆ และใช้เรือพายสำรวจไม้ปักที่มีเหยื่อล่อ หากกุ้งก้ามกรามกินเนื้อมะพร้าว สายเชือกก็จะตึง คนที่อยู่บนเรือ หากไม่ใช้สวิงช้อนกะระยะต่ำกว่าเชือกที่สุดปลายเชือกมีเนื้อมะพร้าว บางครั้งก็ใช้สุ่ม ครอบลงไปในน้ำ แล้วล้วงจับตัวกุ้งขึ้นมา
วิธีการนี้บางที่เรียกว่าสุ่มกุ้ง ถ้าใช้สุ่มครอบ หากใช้สวิงช้อน ก็เรียกว่า ช้อนกุ้ง แต่เด็กๆในบ้านเรียกกันเองว่าตกกุ้ง

นอกจากมีสุ่มจับสัตว์น้ำแล้ว ยังมีสุ่มอีกประเภทบนบก คือสุ่มไก่ เพื่อการกักขังไก่ นั่นเอง แต่รูปทรงไม่เหมือนสุ่มของสัตว์น้ำ และมีขนาดใหญ่กว่า (ก็ไก่น่ะตัวโตกว่าปลามากเลยทีเดียว)
อ้อและมีสุ่มของสุภาพสตรี เป็นกระโปรงที่มีลักษณะคล้ายสุ่มไก่ เรียกว่ากระโปรงทรงสุ่มไก่ ที่จะพบเห็นได้บ่อยครั้งในทีวีกับละครย้อนยุคหลายๆเรื่อง



ไซ
เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้ รูปร่างเรียวยาวทำด้วยไม้ไผ่ มีหลายขนาด โดยทั่วไป มี ช่องสำหรับให้ปลาเข้าอยู่บริเวณคอไซ มีงาแซงอยู่ในช่องนี้ เพื่อไม่ให้ปลาที่เข้ามาในไซออกมาได้ มักใช้ไซดักปลาตามคันนา โดยขุดคันนาให้เป็นช่อง วางไซให้ช่องดักปลาอยู่ส่วนล่างติดกับพื้นดิน ใช้จับปลาในขณะน้ำลด ปลาที่จับได้ เช่น ปลากระดี่ ปลาซิว ปลาดุก ปลาแขยง การกู้ไซ ยกขึ้นมาแล้วเปิดปากไซเทปลาที่ติดอยู่ข้างในออกมา
ปัจจุบันตามร้านค้านิยมแขวนไซเล็กๆ เป็นการเรียกลูกค้าเข้าร้าน ( ร้านค้าเป็นไซ ลูกค้าเป็นปลานั่นเอง)
ไซมีหลายรูปแบบตามท้องถิ่นและแหล่งน้ำ รวมทั้งประเภทสัตว์น้ำ



ตุ้ม
เป็นเครื่องมือจักสานด้วยไม้ไผ่ และหวาย ใช้ดักล่อสัตว์น้ำให้เข้ามาภายในตุ้ม แล้วย้อนกลับออกไม่ได้ มีหลายรูปแบบตามท้องถิ่นและประเภทของสัตว์น้ำที่ต้องการดักล่อ บางชนิดรูปร่างคล้ายไห ขวด สุ่ม ตะกร้า หรือกระบุงใส่ข้าว
ตุ้ม สูงประมาณ 2 ศอก ด้านบนมีปาก ใช้กะลาทำเป็นฝา ด้านก้นใช้ไม้ไผ่สานเป็นแผงกลม เปิดปิดได้ มีช่องสำหรับเป็นทางให้ปลาเข้า ใช้ดักในที่น้ำตื้น มีหลักไม้ 2 อันปักข้างๆ เพื่อไม่ให้เคลื่อนที่ มีเหยื่อวางล่อในตุ้ม
มีหลายประเภท คือ ตุ้ม (คล้ายสุ่ม หรือไห ) ตุ้มยืน ตุ้มโพง ตุ้มปลากด ตุ้มปลาดุก เป็นต้น
ตุ้มยืน ทำด้วยไม้ไผ่ รูปร่างคล้ายขวด สูงประมาณ 2 ศอก รอบตุ้มใช้ดินเหนียวผสมมูลควายพอกโดยรอบ ช่องปลาอยู่ที่ขอบพื้นล่าง มีงาแซงกันปลาออก วางเหยื่อล่อไว้ภายใน



เบ็ด ( Hook)
เป็นเครื่องมือที่ใช้ลวดเหล็ก เป็นส่วนสำคัญ เป็นลวดปลายแหลมโค้งงอ ส่วนปลายแหลมคม เรียกว่าเงี่ยง
เบ็ดมีส่วนประกอบคือ ตัวเบ็ด เงี่ยงของตัวเบ็ด สายเบ็ด คันเบ็ด

ตัวเบ็ด ทำด้วยเหล็ก มีหลายขนาด โค้งงอเป็นรูปตะขอ ปลายด้านหนึ่งผูกติดกับสายเบ็ด ปลายอีกด้านแหลมคมมีเงี่ยง ใช้สำหรับเกี่ยวเหยื่อล่อให้ปลามากินเบ็ด เงี่ยงของตัวเบ็ดนี้มีอันตราย จากการตวัดสายเบ็ดขึ้นมา หากพลาดพลั้งก็จะเกี่ยวถูกคนที่อยู่ใกล้ คมเบ็ดจะทำให้เกิดรอยแผลและมีแรงกระชากซ้ำด้วย มีบางคนถึงกับตาบอดหากถูกเงี่ยงเบ็ดตวัดเข้าที่นัยน์ตา

การผูกสายเบ็ดกับตัวเบ็ดให้มั่นคงไม่หลุดง่าย ใช้การผูกที่เรียกว่าเงื่อนตะกรุดเบ็ด โดยการทำเส้นด้ายเป็นวงกลมสองวงซ้อนทับกันแล้วคล้องที่โคนเบ็ดดึงให้ตึงโดยไม่เลื่อนหลุด
สายเบ็ดอาจเป็นเชือกหรือด้ายขนาดเล็กใหญ่ต่างๆกันตามการใช้งาน บางครั้งก็ใช้เป็นเอ็นไนลอน ความยาวของสายตามความต้องการใช้งาน ใช้สายเบ็ดผูกกับตัวเบ็ดด้านหนึ่งปลายอีกด้านอยู่กับคันเบ็ด
คันเบ็ดส่วนมากใช้ลำไม้ไผ่ ลำเล็กๆ กะทัดรัด ลิดกิ่งแขนงออก การเลือกลำไผ่มักเลือกลำเรียวยาวและลำตรงไม่โค้งงอ
เบ็ดมีหลายประเภทตามการใช้งานและสัตว์น้ำที่ต้องการจับ เช่น เบ็ดคัน เบ็ดล่อ เบ็ดราว เบ็ดธง เบ็ดตกปลาหมึก เบ็ดตกกุ้ง เบ็ดตกปลาไหล เบ็ดธงปลาดุก เบ็ดธงปลาช่อน เบ็ดธงปลาหมอทะเลเบ็ดแร้ว เบ็ดลาก

บ้านในชนบททุกบ้านมีเบ็ดติดประจำบ้าน เพราะทำง่ายใช้งานง่าย ใช้ได้ในทุกสถานที่ที่เป็นแหล่งน้ำและนิยมใช้เบ็ดคันหรือเบ็ดตก เลือกใช้ตามขนาดของสัตว์น้ำที่ต้องการตก

เบ็ดคัน หรือเบ็ดตก ( Pole and line )
การใช้งานของเบ็ด ใช้คำว่า ตกเบ็ดผู้ที่จะไปตกเบ็ดหาปลาต้องเตรียมเหยื่อ หากเป็นชาวสวนก็นิยมขุดไส้เดือน กุ้งฝอย ตัวหนอน ตัวแมลง ลูกกุ้ง ลูกปลา ไปเป็นเหยื่อล่อ หากใช้ไส้เดือนเวลาเกี่ยวเหยื่อเนื่องจากไส้เดือนตัวยาวมาก จึงต้องเด็ดไส้เดือนออกจากลำตัวทีละท่อนๆ แล้วเอาตัวเบ็ดเกี่ยว เมื่อออกไปตกเบ็ดมักมีข้องใส่ปลาติดตัวไปด้วย แหล่งน้ำที่ใช้ตกปลามีทั้ง แม่น้ำ ห้วย หนอง ลำคลอง บึงต่างๆ

เมื่อเกี่ยวเหยื่อแล้วก็ขว้างตัวเบ็ดลงไปในแหล่งน้ำ รอจนมีปลามาฮุบเหยื่อ เมื่อปลากินเหยื่อก็จะถูกตัวเบ็ดเกี่ยวข้างในปาก ปลาก็จะดิ้นและว่ายหนีทำให้เป็นการดึงสายเบ็ดจนตึง คนถือคันเบ็ด จะตวัดเบ็ดขึ้นมา หากตัวเบ็ดเกี่ยวไม่แน่นดีก็จะหลุดจากปากปลา ปลาก็หล่นลงในน้ำหนีรอดไปได้
ปลาตัวที่ไม่รอดคมเบ็ด ก็จะถูกคนจับอ้าปลาปลดตัวเบ็ดออกมา ถูกจับใส่ข้องเอากลับบ้านตอนเลิกตกปลา ปลาบางตัวไม่สามารถปลดเบ็ดออกก็มีบ้าง คนตกปลาก็ตัดใจตัดสายเบ็ดออกมาแล้วผูกเบ็ดตัวใหม่ คนตกปลาต้องมีการสำรองตัวเบ็ดติดตัวไปด้วยหากไปตกปลาไกลบ้าน

การตกปลาด้วยเบ็ดตก ต้องการความเงียบสงบ พยายามไม่ส่งเสียงดังให้ปลาแตกตื่นและรู้ว่ามีผู้คนอยู่บริเวณนั้น เพราะปลาก็ต้องระแวดระวังภัยให้กับตัวเอง ดังนั้นคนที่ไปตกเบ็ดด้วยกันก็จะไม่คุยกันเสียงดัง หากต้องพูดกันก็จะทำเสียงกระซิบกระซาบพูดเบาๆ หากมีผู้คน คนอื่นผ่านมาทำเสียงดังทักทาย คนตกเบ็ดก็จะยกนิ้วมือขึ้นมาที่ปาก ทำเสียง จุ๊.จุ๊. ให้เงียบๆหน่อย พ่อคุณ แม่คุณเอ๋ย... เดี๋ยวปลาในน้ำนี้หนีไปหมด

พลอยโพยมไม่ค่อยตกปลาด้วยเบ็ด เพราะไม่คุ้นเคยกับไส้เดือนอันเป็นเหยื่อตกปลายอดฮิตของเด็กในบ้าน เพราะแค่ใช้เสียมขุดลงไปในดินของสวนก็ได้ไส้เดือนแล้ว หาง่ายกว่าเหยื่ออื่นๆ เวลาไส้เดือนคลานยั้วเยี้ยในภาชนะที่ใช้ใส่ช่างไม่น่าดูเลยทีเดียว มองแล้วกระอักกระอ่วน แหยงๆในใจ ยิ่งการเด็ดตัวไส้เดือนออกมาเกี่ยวตัวเบ็ดช่างน่าสยองขวัญ การตกปลาด้วยลูกกุ้ง ลูกปลาก็เพียงเกี่ยวเหยื่อใช้ทั้งตัว และกว่าจะตกปลาจริงๆ บางทีลูกกุ้งลูกปลาก็ตายแล้วไม่ทรมานเหยื่อมากนัก



ปัจจุบัน การตกปลากลายเป็นกีฬาอย่างหนึ่งเป็นที่นิยมมาก ใช้ตกปลาด้วยเบ็ดฝรั่ง ซึ่งที่คันเบ็ดมีรอกผ่อนสายเบ็ดไปตามแรงน้ำหรือแรงดึงของปลา เมื่อปลากินเบ็ดก็สามารถผ่อนคลายหรือดึงให้ตึงได้ตามแรงของปลา
บางครั้งมีนักตกปลา เดินทางข้ามจังหวัดในช่วงวันหยุด มากันเป็นคันรถรวมกัน 5-6 คน เพื่อการมาหาสถานที่ตกปลาเพียงอย่างเดียว ตกแต่เช้าจนเย็นก็มี

คนใจร้อนไม่เหมาะกับการตกปลาด้วยเบ็ด เพราะในบางครั้งต้องใช้ความอดทนในการรอคอยปลามากินเหยื่อ และต้องรอให้แน่ใจว่าตัวเบ็ดเกี่ยวปากปลาแน่นอนแล้ว

มีการใช้เบ็ดสำหรับตกกุ้งก้ามกรามในแม่น้ำ
คนตกกุ้งต้องพายเรือออกไปที่ห่างฝั่งพอสมควร แล้วลอยเรือตกกุ้ง โดยมีไม้ไผ่ลำยาวปักเป็นหลักยึดเรือไม่ให้ลอยเลื่อนหรือเรือหมุนไปหมุนมา
ขนาดคันเบ็ดยาว 1 เมตร สายเบ็ดยาวประมาณ 6 เมตร ใช้เข็มลนไฟให้ร้อนและอ่อนตัวลงงอทำตัวเบ็ด เหยื่อคือ ลูกกุ้งฝอย คนตกกุ้งจะตกกุ้งก้ามกรามโดยใช้คันเบ็ด 4-8 คัน ต่อลำเรือ การตกกุ้งจะได้ผลดีในช่วงเวลาน้ำนิ่งไม่ไหลแรงนัก และออกมาตกเป็นพักๆ ไม่นั่งตกทั้งวัน
กุ้งก้ามกรามที่ตกได้นี้ คนตกกุ้งจะใส่ขังไว้ในกระชังไม้ไผ่ ที่ผูกติดแช่น้ำ ไว้ข้างลำเรือนั่นเอง
และ จะมีเรือหางยาว ของนายโต นายรอด วิ่งมารับซื้อราคาประมาณกิโลกรัมละ 150 บาท หรือมากกว่านี้หากได้กุ้งก้ามกรามตัวโต

วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชลวิถี.....ที่บางกรูด 2.......



แหจับปลา (Cast Net )

เป็นวิธีการจับสัตว์น้ำด้วยการใช้เครื่องมือครอบจับสัตว์น้ำ ทำขึ้นจากเนื้ออวนถักลักษณะเป็นวงกลมกว้าง จุดกึ่งกลางวงกลมเป็นที่ผูกเชือกสำหรับช่วยในการเหวี่ยงแห ขอบรัศมีโดยรอบเรียกว่าตีนแหบางแห่งเรียกปากแห มีห่วงตะกั่วถ่วงโดยรอบเพื่อป้องกันไม้ให้สัตว์น้ำหลุดออกมาขณะที่เหวี่ยงแหครอบลงไปในน้ำ มีขนาดต่างๆกัน คนทอดแหต้องเตรียมแหไว้บนไหล่และแขน เมื่อได้จังหวะก็เหวี่ยงแหให้กระจายเป็นวงกลมครอบลงไปในแหล่งน้ำ แล้วค่อยๆสาวเชือกช้าๆ ยกแหขึ้นมาวางบนพื้นเรือหรือริมตลิ่ง ค่อยๆปลดสัตว์น้ำที่จับได้ออกจากแห

แหกระตุก
มีบางท้องที่ดัดแปลงแห ให้ไม่ต้องออกแรงเหวี่ยงแห โดยดัดแปลงเป็นแหกระตุก ด้วยการปักไม้ไผ่ลงในน้ำเป็นวงกลม นำแหไปขึงกับสลักโดยรอบ ผูกเชือกไปบนตลิ่ง มีการหว่านเหยื่อล่อ กะเวลาว่ามีสัตว์น้ำเข้ามากินเหยื่อ ก็กระตุกเชือกบนตลิ่ง แหก็จะหล่นลงไปครอบสัตว์น้ำ (เคยพบว่ามีที่จังหวัดกาญจนบุรี -สัมฤทธิ์ พุ่มสุวรรณ)




กำเนิดแหจับปลา
มีหนังสือขององค์การค้าของคุรุสภา เขียนโดยคุณ ส. พุ่มสุวรรณ เล่าเรื่องกำเนิดแหจับปลาว่า

เกิดมาจากการพัฒนาความคิดหาวิธี จับปลาให้ได้จำนวนมากของนายแห ชาวประมงยากจนที่ ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมบึงใหญ่ ชาวบ้านและนายแหจับปลาด้วยมือเปล่าหรือใช้ไม้แหลมแทงเอา ต่อมานายแห มีภรรยาและลูกหลายคน วันหนึ่งนายแห จับปลาด้วยมือเปล่าไม่ได้ปลาสักตัว นายแห เริ่มคิดว่าถึงจะใช้ไม้แทงปลาเป็นเครื่องมือช่วยก็ได้ปลาเพียงครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น ต้องหาวิธีให้จับปลาได้ครั้งละหลายๆตัว นายแห เลยเอาไม้ไผ่มาปักล้อมเป็นวงกลมแล้วต้อนปลาเข้าไปอยู่ในที่แคบๆ ทำให้จับปลาได้มากขึ้น
แต่ต่อมาเมื่อลูกๆเริ่มโตขึ้นปลาที่หาได้ก็ไม่เพียงพออีก นายแห ลองเปลี่ยนวิธีจากเดิมเพราะไม้ไผ่ที่นำมาล้อมเป็นคอกเพื่อจับปลานั้น ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม้แต่ละอันปักอยู่กับที่เคลื่อนไปไหนมาไหนไม่ได้ นายแห คิดว่าถ้านำเชือกเส้นเล็กๆมามัดไม้ไผ่เรียงกันเข้า ก็จะสามารถยกแผงไม้ไผ่เคลื่อนที่ได้ นายแห และภรรยาจึงหาเชือกมามัดไม้ไผ่ให้ติดกันเป็นแผงล้อมรุกจับปลาได้มากกว่าเดิม
วันเวลาผ่านไปลูกของนายแห ก็เจริญเติบโตขึ้นอีกมีความต้องการอาหารมากขึ้นตามวัยที่มากขึ้น ซึ่งนายแห จะต้องหาปลาให้ได้เพิ่มขึ้นอีก แผงไม้ไผ่ที่ผูกเรียงกันนั้นกลายเป็นของใช้เก้งก้างเชื่องช้าไม่ทันกับความว่องไวของปลาในบึงใหญ่นั้น นายแห รู้สึกว่าจับปลาได้ไม่ทันกินขึ้นมาเสียแล้ว คราวนี้นายแห ต้องกลับมานอนกลัดกลุ้มร้อนรุ่มใจคิดหาวิธีใหม่ ลูกๆร้องหิวกับพ่อแม่ นายแห ได้แต่นอนก่ายหน้าผากถอนหายใจเพราะสงสารลูกๆนึกบนบานศาลกล่าวขอให้เทวดาช่วยดลใจให้คิดหาวิธีใหม่ๆได้

ทันใดนั้นสายตาของนายแห ก็มองเห็นแมงมุมตัวหนึ่งกำลังชักใยเป็นวงกลม นายแห เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาอีกทันที จึงนำด้ายที่ปั่นไว้มัดเป็นรูปวงกลมเหมือนใยแมงมุม เลียนแบบใยแมงมุมที่หลังคาบ้านนายแห ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นเป็นเครื่องมือจับปลาชิ้นใหม่ ไม่เก้งก้างเกะกะเหมือนไม้ไผ่ สามารถใช้ล้อมกับชายตลิ่งแม้จะมีกอหญ้าได้เป็นอย่างดี นายแหจับปลาได้มากขึ้นอีก นายแห เหวี่ยงเครื่องมือได้เป็นวงกว้างตามความกว้างของเครื่องมือ เมื่อตกลงในน้ำ ก็จะครอบคลุมปลาเอาไว้ได้ บรรดาปลาหลบหนีไม่ถูกไม่รู้ว่านายแห มีเครื่องมือแบบใหม่ที่ลอยลงมาจากเบื้องบนก็เลยถูกครอบตัวไว้หนีไม่ทันถูกจับได้ ชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ยังจับปลาด้วยมือเปล่าหรือใช้ไม้แทงปลาพากันชื่นชมกับความคิดของนายแห ว่าช่างเป็นเครื่องมือที่วิเศษเหลือประมาณ
นายแห ใช้เครื่องมือนี้จับปลาในบึงเลี้ยงภรรยาและลูกๆได้ตลอดมาไม่เดือดร้อนใจอีกแล้ว ชาวบ้านพากันมาขอดูแบบเครื่องมือใหม่ของนายแห นายแห ก็ให้ดูอย่างเต็มใจ นายแห เป็นคนจนแต่ใจดีไม่มีหวงวิชา เพราะเห็นว่าเครื่องมือนี้จะนำไปจับปลาที่ไหนก็ได้ทั้งห้วยหนองคลองบึงแม่น้ำหรือในทะเล
ชาวบ้านที่สร้างเครื่องมือนี้เลียนแบบมาจากนายแห พากันสำนึกบุญคุณ เมื่อมีใครถามว่าเครื่องมือนี้เรียกว่าอะไร ชาวบ้านต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เครื่องมือนายแห และพากันเรียกเครื่องมือนี้ติดปากกันว่า “ แห” แหจึงมีกำเนิดมาจากความเพียรพยายามใช้ความคิดหาวิธีที่จะเลี้ยงภรรยาและลูกของนายแห ชาวประมงลูกดกนี่เอง





อันที่จริงนายแห ได้คิดเครื่องมือ ที่มีลักษณะ เรียกว่า ตาข่าย และอวนล้อม ได้ก่อน เพียงแต่เป็นไม้ไผ่ ไม่เป็นด้ายหรือเชือกอย่างปัจจุบัน และยังพัฒนามาเป็น เฝือกได้อีกก่อนที่ในที่สุดได้เป็นแห

นายแห คนนี้เก่งจริงๆ ขอคำนับคารวะ คุณแห หากเรื่องเล่านี้เป็นเรื่องจริง ช่างเป็นคนมีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ บรรเจิดจ้าจริงๆ ในสมัยนั้นแม้ยังไม่มีการจดลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา แต่ดูเหมือว่า นายแห ได้สิทธิบัตรเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แห ไปแล้ว
แถมเป็นต้นแบบของตาข่าย อวนล้อม และเฝือก อีกด้วย


การทอดแห
เป็นการจับสัตว์น้ำที่ใช้แหเป็นเครื่องมือ ใช้ได้ทั้งการพายเรือออกไปหาแหล่งที่คาดคะเนว่าจะพบสัตว์น้ำ มักมีคนช่วยพายท้ายเรือ คนทอดแหก็อยู่หัวเรือ หรือจะใช้การทอดแหที่ริมฝั่ง ริมคลอง หนองบึง ต่างๆ แทบทุกบ้านในชนบทมีแหประจำบ้าน ไม่ว่าบ้านริมน้ำ บ้านสวนหรือบ้านนา บางครั้งคนทอดแหก็ใช้ดินเหนียวคลุกรำหรือข้าวเปลือกแช่น้ำจนมีกลิ่นหว่านล่อสัตว์น้ำ เมื่อมีสัตว์น้ำมารุมกินก็เหวี่ยงแหครอบลงไป ( การหว่านล่อแบบนี้ต้องทำในบริเวณน้ำตื้น)สำหรับในแม่น้ำมักทอดแหในเวลาน้ำลด
พลอยโพยมเองเหวี่ยงแหไม่เป็นเพราะเหวี่ยงแล้วแหไม่บานเป็นวงกลม แหหุบๆลงน้ำ หมายความว่าก็ไม่ได้สัตว์น้ำนั่นเอง( ขนาดเหวี่ยงในบ่อเลี้ยงก็ยังไม่ได้เลย)
สัตว์น้ำที่จับได้จากแห มี ปลาดุกด้าน ปลาแขยงข้างลาย ปลาบู่ทราย ปลาดุกทะเล ปลากะพงข้างลาย ปลาแขยงอีกง ปลากดหมู ปลาหางไก่ ปลาแปบ ปลาม้า ปลาหนวดพราหมณ์ เป็นต้น



ในปัจจุบันนี้
การเลี้ยง กุ้ง ปลา ในบ่อดิน ทั้งแบบพัฒนาหรือไม่พัฒนา แหก็มีความจำเป็นในการสุ่มตัวอย่างตรวจดูความเติบโต ของ กุ้งปลา ที่เลี้ยงไว้
เกษตรกรเลี้ยงกุ้งใช้แหทอดกุ้งสุ่มคำนวณน้ำหนักของ กุ้ง ว่า ใน 1 กิโลกรัม มีจำนวน กุ้ง กี่ตัว เพื่อการคำนวณราคาของกุ้งที่เลี้ยงไว้นั่นเอง เพราะการซื้อขาย มี Size เป็นราคากลางที่รับรู้กันทั่วไปในวงการคนซื้อและเกษตรกรคนเลี้ยง ราคาเคลื่อนไหวตาม Demand และ Supply ในท้องตลาด มีการตีราคาสัตว์น้ำที่เลี้ยงจากบ่อดินในแต่ละวันเลยทีเดียว คนซื้อจะมาสุ่ม Size ของกุ้งเลี้ยง การสุ่มใช้แหทอดลงไปในบ่อเลี้ยงเพียงครั้งเดียวหากชั่งน้ำหนักกุ้งได้พอ 1 กิโลกรัม นับจำนวนตัวกุ้ง ก็จะได้ Size กุ้งว่า 40 ตัวกิโล หรือ 50 ตัวกิโล หรือ..... หากการสุ่มครั้งแรก ได้กุ้งไม่ถึง 1 กิโลกรัม ก็สุ่มทอดแหครั้งที่ 2 เอาตัวกุ้งที่สุ่มใหม่มารวมกันชั่งให้ได้ 1 กิโลกรัม นับจำนวนตัวกุ้งว่ามีกี่ตัวแล้วตีราคาเลยว่าราคากิโลกรัมละเท่าไร เรียกว่าตีราคาปากบ่อ ตกลงต่อรองราคากันเป็นที่เรียบร้อย นัดวัน เวลามาจับ กุ้งที่ได้ จะขนาดเล็กใหญ่กว่าที่สุ่มตีราคา ก็ได้ราคาตามที่ตกลงไว้ แล้วแต่ว่าฝ่ายไหน (คนซื้อ และคนขาย) จะโชคดีกว่ากันถ้าเป็นการตกลงราคาแบบเหมาบ่อ แต่ก็มีการตกลงราคาอีกแบบเรียกว่า คัด Size ก็จะยุติธรรมทั้งสองฝ่าย
หลังจากคว่ำบ่อหมด (หมายถึง จับกุ้งขึ้นจากบ่อหมดแล้วด้วยการปล่อยน้ำจนแห้งบ่อเลี้ยง เอาอวนไปรอที่ปากประตูน้ำที่ปล่อยให้น้ำในบ่อไหลออกมา) กุ้งที่เหลือค้างผิวพื้นบ่อจะขายไม่ได้ เพราะกุ้งคลุกโคลนและสำลักโคลนเข้าไปในเหงือก เจ้าของบ่อต้องระดมคนลงไปลุยไล่จับในบ่อด้วยมือเปล่า โดยอีกมือถือสวิงปากเล็กใส่กุ้งที่จับได้ ในบางบริเวณเป็นแอ่งยังมีน้ำขังอยู่ กุ้งก็จะยังไม่ตาย เรียกกุ้งที่ค้างเหลือบนผิวพื้นบ่อเหล่านี้กันว่ากุ้งก้นบ่อ จับได้แล้วเอามาแจกจ่ายกันและบริโภคในครัวเรือน พอวันรุ่งขึ้นก็จะมีบรรดานกพากันมาลงแขกกินกุ้งที่ตายเหลือซาก ในบางที่ก็ยังมีชีวิตหลงรอดจากมือมนุษย์อยู่ แต่ในที่สุดก็ไม่พ้นปากเหยี่ยวปากกา แต่ส่วนใหญ่เป็นนกกระยางและนกเป็ดน้ำ ไม่มีเหยี่ยวหรือกา เป็นแขกรับเชิญกันหรอก เพราะมาไม่ทันนกกระยาง และนกเป็ดน้ำเจ้าถิ่นที่เฝ้าคอยอย่างหวังผลเต็มที่อยู่นานแล้วนั่นเอง



ยอ
เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ชาวบ้านคิดประดิษฐ์ขึ้นมา ประกอบด้วยผืนอวนผืนสี่เหลี่ยม มีหลายขนาดตามความต้องการใช้ การสร้างยอโดยใช้ไม้ไผ่เหลายาวสองอันสวมด้วยกระบอกไม้ไผ่ยาวขนาด 1 ข้อไม้ไผ่ ให้กระบอกที่สวมนี้อยู่กึ่งกลางไม้ไผ่เหลา ไขว้กระบอกไม้ไผ่ที่สวมไม้ไผ่เหลาเป็นรูปกากบาท ที่ปลายไม้ไผ่เหลา สี่ ปลาย ตรึงกับผืนอวน สี่ด้าน ที่จุดไขว้กันของกระบอกสวมเจาะรูตรงกลาง ผูกตรึงยึดกับลำไม้ไผ่ยาวอีกลำเพื่อทำเป็นคันยอ ความสั้นยาวของคันยอตามความต้องการ ไม้ไผ่เหลาที่ถูกตรึงกลางไม้ และถูกบังคับด้วยมุมทั้งสี่ของผืนอวน จะทำให้ไม้ไผ่เหลาโค้งงอลงหาผืนอวนทั้งสี่ด้าน เรียกเครื่องมือนี้ว่า ยอ เรียกลำไม้ไผ่ว่าคันยอ
ปัจจุบันมีการใช้ท่อนเหล็กบ้าง ท่อพีวีซี บ้าง เป็นส่วนประกอบแทน ลำไผ่ และไผ่เหลา
ยอมีสองประเภท คือ

ยอยก หรือยอเดิน( Lift Net )
มีขนาดเล็ก สำหรับนำเคลื่อนที่ไปไปแหล่งน้ำต่างๆได้ ยอนี้ที่อีสานเรียกว่าสะดุ้งน้อย (สัมทธิ์ พุ่มสุวรรณ)
ปลาที่จับได้ เป็นปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาซิว ปลาสร้อย ปลากระดี่
สำหรับการเลี้ยงกุ้งในบ่อดินในปัจจุบันนี้ต้องมียอเล็กประจำบ่อ เพื่อการเช็คสอบการให้อาหารว่า กุ้งในบ่อกินอาหารที่ให้ในครั้งก่อนหมดแล้วหรือยัง เพราะการให้อาหารที่มากเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสีย
ปริมาณการให้อาหารเป็นการเช็คสอบความหนาแน่นของกุ้งในบ่อด้วย


ยอประจำที่ (Big Lift Net )
บางแห่งเรียกยอนี้ว่า ยอขันช่อ ยอนี้มีเสารับผูกคันยกให้โยกขึ้นลงได้ หรือจะใช้การทำเป็นห่วงคล้องก็ได้ จึงเป็นยอที่อยู่ประจำที่ ที่อีสานเรียกยอนี้ว่า สะดุ้งใหญ่

ยอประจำที่ต้องมีเหยื่อล่อ เมื่อปล่อยยอลงในผืนน้ำแล้วใช้ดินปั้นเป็นก้อนคลุกรำข้าว โยนลงในกลางยอ ล่อปลาและสัตว์น้ำที่ได้กลิ่นรำมากินเหยื่อ เมื่อยกยอขึ้น ใช้สวิงด้ามยาวตักปลาหรือสัตว์น้ำในผืนอวนยอขึ้นมา รวมทั้งก้อนดิน นำมาคลุกรำข้าวใหม่สำหรับการโยนครั้งใหม่ด้วย
ยอนี้มักติดตั้งไว้หน้าบ้านริมแม่น้ำลำคลอง การยกยอต้องทำในช่วงน้ำขึ้นสำหรับบ้านริมแม่น้ำ

ที่บ้านพลอยโพยม ไม่ติดตั้งยอไว้ถาวร เพราะสะพานท่าน้ำต้องใช้ให้เรือเมล์ลำใหญ่มากมาจอดรับส่ง พี่ๆผู้หญิงที่เป็นนักเรียนเดินทางเข้าไปเรียนหนังสือในตัวจังหวัด และใช้จอดเรือสำหรับพายข้ามฝั่งแม่น้ำสำหรับรับส่งพ่อของพลอยโพยมซึ่งทำงานที่ศาลากลางจังหวัด รวมทั้งพี่ๆผู้ชายที่ไปเรียนในตัวจังหวัดด้วยการโดยสารรถประจำทางต้องผ่านเข้าออกถนนของวัดไปสู่ถนนใหญ่ ที่วัดบางกรูด ถ้าจะยกยอช่วงเสาร์อาทิตย์ ก็ไม่คุ้มกับการติดตั้งยอและรื้อออก ดังนั้นถ้าจะมีการยกยอก็เป็นช่วงปิดเทอม การยกยอจึงมีฤดูกาลสำหรับที่บ้าน พอติดตั้งยอที่หัวสะพานแล้ว เด็กๆ ก็จะแย่งขอเป็นคนยกยอเมื่อมีการโยนเหยื่อลงไปแล้ว เด็กๆจะใจร้อนอยากยกยอขึ้นเร็วๆ แต่พี่ๆ ก็จะให้รอเพื่อคำนวณระยะเวลาว่ามีสัตว์น้ำเข้ามากินเหยื่อแล้วจึงจะยก เด็กๆ อย่างพลอยโพยมขอเป็นคนยกยอขึ้นมา พอยกแล้วก็ทานน้ำหนักของน้ำที่ยังอยู่ในอวนยอไม่ไหว ยอก็หล่นตุ๋มลงน้ำใหม่ กุ้งปลาในยอก็พากันหนีได้หมด พลอยโพยมทำบาปไม่ขึ้นในเรื่องสัตว์น้ำ ขนาดตกปลาและปลากินเบ็ดแล้วพอตวัดคันเบ็ดขึ้น ปลาก็หล่นจากเบ็ดที่เกี่ยวปากปลาหล่นลงน้ำไม่เคยตกปลาด้วยคันเบ็ดได้เลยสักที ที่ทำบาปไม่ขึ้นก็เพราะใจร้อนนั่นเอง ไม่ได้เป็นคนดีอะไรหรอก

เมื่อมียอถ้าไม่ยกก็ไม่ได้อะไร การใช้งานของยอ จึงใช้คำว่ายกยอ
มีสำนวนไทย ที่ว่า ยกยอปอปั้น ซึ่งมีความหมายว่ายกให้,มอบให้, ยกย่องเกินจริง ส่วนยกยอ ในพจนานุกรมแปลว่า พูดส่งเสริมให้ดีขึ้น แต่การยกยอของชาวบ้านชาวน้ำต่างกัน ยกยอนั้นเป็นวิถีการจับสัตว์น้ำมาบริโภคหรือขาย เมื่อยกยอขึ้นมาอย่างไม่ได้อะไรอื่นก็ต้องมี กุ้งเล็ก ปลาน้อย ติดขึ้นมาทุกครั้ง อย่างน้อยก็มีลูกกุ้ง ปลาซิว ปลาเข็ม ปลาแขยง ลูกปลากระดี่ กันละ ถ้าไม่ต้องการก็ปล่อยคืนลงแม่น้ำไป ซึ่งบางทีก็กลับวนมาเข้ายอใหม่อีก ดื้อจริงๆ ช่างไม่เข้าใจเสียเลยว่าฉันไม่ต้องการพวกเธอจ้ะ
สัตว์น้ำที่ได้จากการยกยอ ริมแม่น้ำก็เป็นสัตว์น้ำที่ชอบอยู่ชายฝั่งหรือน้ำตื้นทั้งกุ้งตะเข็บ กุ้งฝอย กุ้งหัวแข็ง กุ้งตะเข็บ กุ้งดีดขัน และปลาเช่นปลาหางไก่ ปลากะตัก ปลากระบอก ปลาแขยง ปลาซิว ปลาสร้อย ปลากระดี่
ในช่วงที่มีกุ้งชุกชุม บางบ้านยกยอได้มากพอที่จะเอาไปขายให้ร้านค้าที่ตลาดวัดบางกรูดก็มี




สวิงหรือช้อน ( Dip Net)
เป็นเครื่องมือขนาดเล็กที่มีใช้กันแทบทุกบ้านในชนบทคู่กับแห เป็นทั้งเครื่องมือหาสัตว์น้ำโดยตรง และใช้ประกอบกับเครื่องมืออื่น (เช่นใช้ตักช้อนสัตว์น้ำจากยอ หรืออื่นๆเป็นต้น)
การใช้สวิงคู่กับคำว่าช้อน เช่นเอาสวิงไปช้อนกุ้ง เอาสวิงไปช้อนปลา
สวิงมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และบางที่เรียกสวิงว่าช้อน


สวิงปากกลม (ช้อนกลม) ( Shrimp Dip Net )
คือผืนตาข่ายหรือเนื้ออวนทรงกลมที่ปาก เรียวยาวลงที่ก้นสวิง ที่ปากสวิง ทำขอบด้วยไม้ไผ่เป็นวงกลมหรือวงรี มีทั้งมีด้ามและไม่มีด้าม ถ้ามีด้ามมักเป็นสวิงหรือช้อนทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วแล้วแต่ความชอบของผู้ใช้หรือความเหมะสมของการใช้งาน ปัจจุบันนิยมใช้ท่อพีวีซีทำขอบหรือปากช้อน เนื้ออวน เป็นพลาสติกผสม ไม่นิยมผืนตาข่ายด้ายแล้วเพื่อความทนทาน
สวิงนี้ใช้สำหรับช้อนกุ้งปลาตามริมตลิ่งริมแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงทั่วไปหรือดำช้อนกุ้งตามเสาเรือนในน้ำ ในท้องร่องสวนและตามซั้งหรือกล่ำที่มีการล้อมจับ มีใช้กันแทบทุกบ้านอีกเช่นเคย เป็นเครื่องมือที่ใช้ทั้งในย่านน้ำจืดและน้ำเค็มหรือชายฝั่งทะเลรวมทั้งในบ่อเลี้ยง เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก

ที่บางกรูด บางครั้ง ก็ใช้วิธีง่ายๆของสวิงจับสัตว์น้ำ คือเมื่อน้ำลงพอเดินตามชายฝั่งตลิ่ง เพียงเอาสวิงเดินไล่ช้อนตามริมตลิ่ง หากมีกอหญ้า กอเถาวัลย์ กอเตย ( เตยที่มีใบเป็นหนาม มีลูกเตย ที่ คุณยายชอบเอามาผ่าขัดพื้นบ้าน ไม่ใช่เตยหอมไหว้พระ ทำขนม) ก็จะเป็นที่ชุมนุมของเหล่าสัตว์น้ำที่ชอบอยู่บริเวณน้ำตื้น

สำหรับบ้านสวน ร่องสวนในสมัยก่อนจะต้องขุดลึกเพื่อให้เก็บกักน้ำไว้ในหน้าแล้งได้ ร่องสวนต้องมีท่อระบายน้ำเข้าออกกับคลองได้ ในช่วงปล่อยน้ำเข้าร่องสวนจะมีพันธุ์สัตว์น้ำตามกระแสน้ำเข้ามาเติบโตในท้องร่องโดยเฉพาะ กุ้ง ปลา เวลาที่ฝนตกใหม่ๆ กุ้งจะขาดออกซิเจนในน้ำ พากันเงยหัวขึ้นมาให้เจ้าของสวนเห็นความชุกชุม แล้วก็จะถูกเจ้าของสวนหรือคนอื่นที่รู้ธรรมชาตินี้เอาสวิงลงไปไล่ช้อนเอากลับบ้านลงหม้อแกง การเปิดเผยตัวตนในที่สาธารณะเหนือผิวน้ำของกุ้งก็ชักนำเภทภัยถึงขั้นชะตาขาดมาสู่ตัว แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะอากาศไม่พอหายใจส่วนใหญ่เป็นกุ้งตะกาด กุ้งฝอย
บางครั้งเด็กๆลงไปยืนที่ชายฝั่ง มือหนึ่งถือสวิงตั้งไว้อีกมือ วักน้ำ พุ้ยน้ำ เข้าสวิงแรงๆ ก็ได้ กุ้งปลามาเหมือนกันง่ายดีจริงๆ ที่ได้กุ้งปลามาเพราะในแม่น้ำมีกุ้งปลาอุดมสมบูรณ์นั่นเอง




สำหรับหน้าน้ำกร่อย ชาวบ้านริมฝั่งน้ำก็มีกิจกรรมพิเศษตามฤดูกาล คือการพายเคยกะปิ เคยกะปิ ที่ได้จากการพายเรือจะเป็นเคยตาแดงตัวใหญ่กว่าการกางอวน รออวน ที่บ้านมักแบ่งมาทำกุ้งต้มเค็ม (ต้มใส่เกลือและน้ำตาลปี๊บ) ไว้กินเป็นกับข้าว และทำกุ้งแห้งคือต้มแล้วตากแห้ง มีเมนูต่อมาที่คาดหวังคือ มะม่วงน้ำปลาหวานใส่ด้วยกุ้งแห้งเคยเป็นตัวๆ เพราะมะม่วงเริ่มออกผลในช่วงน้ำกร่อยนี้เอง หากได้เคยกะปิมากก็หมักเกลือเพื่อทำกะปิหรือผสมรวมกับเคยกะปิ ที่กางอวนหรือรออวนในแม่น้ำได้

ชาวบ้านริมฝั่งน้ำจึงรอคอยการพายเคยกะปิที่ชาวบ้านเรียกเคยนี้ว่ากุ้งเคย กุ้งกะปิ การพายเคยกะปิต้องทำตอนน้ำขึ้นเต็มฝั่ง โดยการนำสวิงขอบกลม ผูกขอบสวิงเป็นสามมุมด้วยเชือกสามเส้น มีความยาวเท่ากันประมาณศอกเศษๆ จับเชือกสามเส้นผูกมัดรวมกัน แล้วมีเชือกยาวอีกเส้นผูกตรึงที่มุมบรรจบของเชือกสามเส้นปลายอีกด้านผูกกับห่วงโซ่ของหัวเรือ คำนวณระยะความยาวของเชือกเส้นที่สี่ว่าพอดีให้ปากสวิงอยู่ในบริเวณหลังไม้พายที่คนพายจะนั่งพายเรือ เรือที่ใช้พายเคยควรเป็นเรือลำเล็กเช่นเรือป๊าบ เรือเป็ด เรือบด สามารถพายคนเดียวได้ ถ้าลำโตขึ้นมาเช่นเรือสำปั้นควรมีสองคนคือมีคนช่วยพายท้ายเรือ สำหรับเรือเล็กที่กล่าวข้างต้นคนนั่งพายจะนั่งค่อนไปทางหัวเรือประมาณกระทงที่สองของลำเรือ ปล่อยสวิงลงน้ำแล้วออกแรงพายจ้ำให้เกิดกระแสน้ำวนเข้าสวิง เคยก็ถูกกระแสดูดพัดวนให้เข้ามานอนแอ้งแม้งที่ก้นสวิง หมดแรงว่ายหนีออกมาเพราะมีกระแสน้ำจากไม้พายเข้าสวิงมาเป็นระลอกๆ ตัวเคยเองก็ถูกบรรดาพรรคพวกเคยด้วยกันที่พลัดหลงเข้ามาใหม่ทับถมเข้ามาทีละน้อยๆ

หากคนพายเรือรู้สึกเมื่อยล้าอยากหยุดพักหรือคิดว่าได้เคยพอสมควรแล้วก็หยุดพายยกสวิงขึ้นจากน้ำ จับก้นตาข่ายสวิงคว่ำเคยลงในตะแกรงไม้ไผ่สานหรือภาชนะอื่นที่เตรียมมา แล้วลงมือพายจ้ำต่อไป แต่ละคนจะมีจุดหมายของตัวเองว่าพายไปไกลแค่ไหนแล้วจึงหันลำเรือพายย้อนกลับ การพายเคยกะปิจะพายกลับไปกลับมาในเส้นทางเดิม
เมื่อมีเรือหลายลำก็จะต้องมีการพายตามกันไปหรือพายสวนกัน จัดวิถี จราจรเรือพายไม่ให้ประสานงากันโดยการหลบกันไปหลีกกันมา ส่วนใหญ่คนพายเรือจะจัดร่องน้ำพายเรือคนละร่องกับเรือลำหน้า เพราะย่อมได้เคยน้อยหากพายซ้ำร่องน้ำ ประสบการณ์จะสอนเองว่าควรพายอย่างไร หากมีเรือขวักไขว่ใครเหนื่อยก็จอดแวะพักตามใต้ต้นลำพู ทักทายพูดคุยกับเพื่อนบ้านที่ออกมาพายเคยกะปิด้วยกัน ใครมีอารมณ์สุนทรีก็แหงนชมดอกลำพู ดอกแสม ที่ยื่นกิ่งออกมากันไป ( ถ้าเป็นเวลากลางวันก็ไม่ต้องมองหา ทิ้งถ่วง (หิ่งห้อย) กันหรอก เพราะเวลากลางวันหรือยามเย็นทิ้งถ่วงไม่เยื้องกรายมาให้ชาวประชาพบเห็นแน่นอน ทิ้งถ่วงจะพาออกกันมาจากที่หลบซ่อนตัวในยามที่โพล้เพล้ใกล้ค่ำแล้ว )

บางคนใช้สวิงปากกลมแต่ตีไม้เป็นด้ามแล้วมีไม้ตรึงยึดข้างเรืออีกที ไม่ต้องผูกเชือกโยงปากสวิงก็มีบ้าง
หากใช้เรือลำใหญ่จะไม่สะดวกในการพาย เพราะต้องใช้แรงมากเพื่อให้เรือเคลื่อนที่ เรือที่เคลื่อนที่ช้ากระแสน้ำจากใบพายก็มีแรงน้อย ทำให้ได้เคยในสวิงน้อยไปด้วย เรือลำไหนเป็นเรือยิ่งเล็กคนพายมีแรงมากก็จะได้เคยกะปิมากกว่าชาวบ้านคนอื่นๆ

การพายเคยกะปิก็ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์เข้ามาช่วย ถ้าเราอยู่หัวสะพานบ้านนั่งมองเรือพายแต่ละลำ จะเห็นความแตกต่างของปริมาณเคยกะปิในตะแกรงไม้ไผ่สานหรือกะละมังที่หัวเรือแต่ละลำได้ชัด เรือบางลำพายได้มากจนมองเห็นความแตกต่าง และบางลำก็น้อยผิดปกติจากลำเรืออื่นๆเช่นกัน และอีกหลายๆลำได้ปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ศาสตร์และศิลป์นี้ เรียกง่ายๆ ว่า ความถนัดส่วนบุคคล
แต่ละคนจะมีความชอบและความถนัดในการจับสัตว์น้ำแตกต่างกันเช่นคุณพ่อมีความถนัดในเรื่อง ซั้ง น้องชายมีความถนัดในการงมกุ้งก้ามกราม การล้วงปูทะเล พี่ชายถนัดในการกางอวนรอเคยกะปิ การปิดคลอง บางคนถนัดกับการตกปลาเป็นต้น



ภาพที่เรือผีหลอกลำนี้กำลังแจวอยู่ในฝั่งที่ดินชายฝั่งพังทลาย ริมฝั่งจึงไม่มีแนวจาก ลำพูและแสม

ฝั่งแม่น้ำมีศัพท์เรียกชายฝั่งตามการยื่นออกและการพังทลายของฝั่งว่า ฝั่งแหลมและฝั่งคุ้ง ฝั่งที่ดินพังทลาย ก็จะไม่มีแนวป่าจากที่เสริมแซมด้วยต้นแสม ต้นลำพู ต้นตะบูน ปอทะเล โพทะเล ต้นเหงือกปลาหมอ กอเถาวัลย์ เป็นต้น ป่าจากยังมี ต้นขลัก หรือประสัก หรือพังกาหัวสุ่ม รังกะแท้ ต้นลุ่ย และอื่นๆ ขึ้นแทรกในป่าจากชั้นในอีก แม่น้ำฝั่งที่ไม่มีแนวป่าจากจะไม่มีการพายเคยกะปิ เพราะพายแล้วไม่ได้ผล ดังนั้นชาวบ้านคนละฝั่งแม่น้ำบางคนจะพายเรือข้ามฝั่งมาเพื่อพายเคยกะปิที่อีกฝั่งกัน ซึ่งแม้แต่ในแนวชายฝั่งแม่น้ำฝั่งที่พายเคยกะปิได้นั้นก็พายได้เป็นช่วงๆเท่านั้นไม่ตลอดแนวฝั่ง การมีเคยกะปิให้พายจับด้วยสวิงได้ เกี่ยวพันกับร่องกระแสน้ำด้วย ชาวบ้านเชื่อกันว่า เคยกะปิ จะว่ายเคลื่อนที่มาในช่วงน้ำขึ้น เป็นสาย เป็นฝูงตามกระแสน้ำนั่นเอง เป็นเคยกะปิที่เกิดในช่วงเวลาที่น้ำเค็มของทะเลหนุนเข้ามาในเขตน้ำจืดทำให้น้ำในแม่น้ำเป็นน้ำกร่อย

ยังมีช้อนหรือสวิงอีกหลายรูปแบบ มีชื่อเรียกต่างๆกันตามลักษณะการใช้งาน หรือตามท้องถิ่นที่ใช้งานเรียกหากัน แต่ขอกล่าวเฉพาะที่ชาวบางกรูดใช้กันเท่านั้น





สองฝั่งของแม่น้ำ ฝั่งหนึ่งมีแนวป่าจาก และอื่น ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นฝั่งพังจีงต้องมีการสร้างสิ่งป้องกันการพังทลาย เผอิญเป็นฝั่งตัวเมือง





หมายเหตุ ในน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มจะมีแพลงตอนพืชและแพลงตอนสัตว์ที่มีคุณสมบัติเรืองแสงได้ ประกอบกับธาตุฟอสฟอรัสในน้ำเองที่มีคุณสมบัติเรืองแสงเช่นกัน แต่การเรืองแสงจะมองเห็นได้นั้น ต้องเกิดการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนที่ จึงจะมองเห็นด้วยสายตาเปล่าและจะเห็นได้ชัดในที่มืด ( แก้ไข- มีสัตว์น้ำบางประเภทที่มีแพลงตอนเรืองแสงเข้าไปเกาะอยู่ร่วมด้วยที่ผิวหนัง เช่น แมงกะพรุน ปะการัง หอยมือเสือเป็นต้นหากใช้ Blue Light ส่อง ก็จะเห็นการเรืองแสงได้ชัดเจนขึ้น)
ดังนั้นในคืนเดือนมืดของหน้าน้ำกร่อยนี้ หากเราลงไปว่ายน้ำอีกทั้งพายเรือหรือแค่เอามือ ตีน้ำ พุ้ยน้ำ ก็จะพบว่ามีเพชรนิลจินดา แวววาว พร่าพรายตามรอยวนของกระแสน้ำเต็มไปหมดรอบๆตัว(ถ้าว่ายน้ำ) เมื่อพายเรือผ่านต้นลำพูที่มีแสงพร่างพราว วิบไหว ตามการกระพริบแสงของทิ้งถ่วงหรือหิ่งห้อย ที่ผืนน้ำก็ระยิบระยับกับการเรืองแสงของน้ำและเหล่าแพลงตอน ช่างงดงามน่าอัศจรรย์ใจเกินบรรยายยิ่งนัก แถมผู้ใหญ่ในบ้านก็มีเรื่องเล่าตามคำเล่าลือต่อๆมาประเภทที่ว่า เขาเล่ากันว่า .. เมื่อก่อนนี้ที่ต้นลำพูใหญ่ปากคลองศาลเจ้า( ใกล้บ้านพลอยโพยมนั่นเอง) เคยมีผีพรายโผนขึ้นจากน้ำเพื่อเกาะกิ่งต้นลำพูใหญ่ เพื่อเล่นกับหิ่งห้อย แล้วก็โจนลงน้ำ แล้วโผนขึ้นมาใหม่ น้ำในแม่น้ำ เกาะตัวผีพรายวาวไปทั้งตัว ผีพรายโผนขึ้นโผนลงหลายครั้ง คนที่พายเรือผ่านมา พายจ้ำแทบขาดใจกลับบ้านกันแล้วเอามาเล่าต่อ ต้นลำพูต้นนี้ใหญ่มากขึ้นจากฝั่งคลองด้านหนึ่ง แผ่กิ่งก้านสาขาไปยังอีกฝั่งคลอง ลึกจากปากคลองประมาณไม่ถึง ร้อยเมตร มีศาลเจ้าไม้สักหลังใหญ่อายุขณะนี้ประมาณ สองร้อยกว่าปีแล้ว ประดิษฐานเจ้าพ่อในศาลเจ้า
คำเขาเล่าว่านี้...พลอยโพยมยังคิดไม่ออก ว่า เล่าเพื่อจุดประสงค์ใด จำได้แต่เพียงว่า ต้นลำพูใหญ่ปากคลองศาลเจ้าเป็นสถานที่ต้องห้าม ไม่ควรผ่านในเวลาค่ำคืน หากเป็นกุ้งก้ามกรามคงเกิดอาการกลัวจนขี้ขึ้นสมอง ทำนองนั้นเลยทีเดียว แต่เผอิญ พลอยโพยม เป็นคน ก็เลยไม่มีอาการนั้น แค่ หวาดหวั่นพรั่นใจไม่ยอมย่างกรายไปแถวนั้นในเวลากลางคืนเท่านั้นเอง

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชลวิถี....ที่บางกรูด.....


ขอแนะนำเครื่องมืออุปกรณ์ และ วิธีการจับสัตว์น้ำ ไปพร้อมๆกัน

นอกจากการทำโพงพาง ที่ถือเป็นอาชีพประมงอย่างแท้จริง ต้องรับอนุญาตจากทางราชการ และจะไม่มีโพงพาง หลายแห่งในแต่ละอำเภอ ยกเว้นที่อำเภอบางปะกง เนื่องจากเป็นการกีดขวางการจราจรทางน้ำอย่างถาวร เพราะแต่ละโพงพางแม้ต้องสร้างขวางกลางลำน้ำ แต่เจ้าของมักสร้างโพงพางหลายปาก (คือหลายช่อง) กินบริเวณในแม่น้ำมากพอสมควร
ส่วนใหญ่การหาสัตว์น้ำของชาวบางกรูดเป็นเพียงอาชีพเสริมมักทำกันตามฤดูกาล หรือตามความสะดวกของแต่ละบ้านมากกว่า รวมทั้งความชอบหรือถนัดเป็นส่วนตัวบุคคล มิใช่อาชีพหลัก สัตว์น้ำสามารถหาได้ตามท้องนา ลำคลองหนองบึง รวมทั้งในแม่น้ำ

โพงพาง ( Set bag )
ตามที่เคยกล่าวถึงว่า ต้องปักเสาไม้ขวางในน้ำ โพงพางทำได้ในที่มีน้ำไหลแรง เช่นในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล ทะเลสาบ ที่มีพื้นเป็นดินโคลน โดยปักเสาไม้ลงในน้ำ มีส่วนของไม้โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำเป็นที่สังเกตว่า มีโพงพางอยู่บริเวณนั้น ที่ระหว่างเสาไม้ 2 ต้น ระยะห่างเสาประมาณ 3 วา มีถุงอวนปลายเรียว ที่มีขนาดความถี่ ห่าง ตามความเหมาะสมของความต้องการสัตว์น้ำ ที่ปากอวน จะตาห่าง บริเวณก้นอวน จะเป็นตาถี่ สัตว์น้ำที่จับได้จะไปกองรวมกันที่ก้นถุงอวน กะเวลาตามประสบการณ์ที่มีกันมา ว่าจะกู้อวนเวลาใด ทั้งน้ำขึ้นและน้ำลง( ต้องมีการ กลับทิศทางของปากอวนตามลักษณะขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำ) เมื่อได้เวลาก็นำเรือออกไปกู้อวน โดยกู้จากปลายถุงอวน สัตว์น้ำที่ได้ มีทั้ง กุ้ง ปู ปลา คนที่ทำโพงพางนี้ถือว่าเป็นอาชีพหลักเป็นชาวประมงเต็มตัวนั่นเอง

ที่บางกรูดมีโพงพางของนายอึ้งชาวจีน 100% ต่อมาลูกๆ เปลี่ยนแซ่เป็นนามสกุลไทยว่า กิจประมงศรี โพงพางมีหลายปาก เวลาพายเรือข้ามไปวัดบางกรูดช่วงน้ำขึ้น เด็กๆมักกลัวว่าเรือจะลอยไปติดโพงพาง โพงพางของนายอึ้ง มีไม้ช่วยคำยันกันหงายอีกด้วย จำนวนไม้ยิ่งเพิ่มจากตัวเสาไม้ รอบๆเสาโพงพางจะมีน้ำวนรอบเสาทำให้หวาดหวั่นใจ ดังนั้นเราจะป้องกัน ด้วยการพายเรือที่ริมฝั่งย้อนลงไปทางขวามือ ก่อนพายเรือข้ามฝั่ง เพราะโพงพางอยู่ด้านซ้ายมือ เวลาน้ำขึ้นน้ำจะไหลไปทางด้านซ้ายมือ เวลาน้ำลงน้ำจะไหลไปทางขวามือของบ้านที่หันหน้าเข้าหาวัดบางกรูด และบ้านหันหน้าสู่ทิศตะวันออก คนบางกรูดที่ต้องการซื้อ กุ้งปลาจากโพงพางต้องพายเรือไปซื้อเองตอนที่เจ้าของโพงพางกู้อวนเอากลับฝั่งแล้ว ซึ่งจะเลือกซื้อได้ก่อนใคร เหลือจากมีคนมาซื้อเองที่โพงพางบางครั้งลูกสาวนายอึ้ง ชื่อ เจ้เจ็ง เจ้หงส์ ก็จะเอากุ้งปลามาพายขายตามบ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำ กุ้งในอวนเช่น กุ้งตะเข็บ กุ้งตะกาด กุ้งหัวแข็ง ราคากิโลกรัมละ 10 -12 บาท (หมายถึงมีการปรับขึ้นราคาตามระยะเวลา รอบหลายๆปี มิใช่ราคาตามประเภทของกุ้ง เพราะกุ้งส่วนใหญ่ มีคละกันบ้าง) ซื้อกันครั้งละ 1-2 กิโลกรัม สัตว์น้ำจากโพงพางก็จะมีหลากหลายตามธรรมชาติของน้ำคือ น้ำจืดหรือน้ำกร่อย ชาวบ้านก็พอจะรู้เวลากู้อวนของโพงพาง เช่นช่วงน้ำลง โพงพางก็จะกู้อวนใกล้ๆเวลาหัวน้ำขึ้นเป็นต้น

บางครั้งคุณยายก็จะซื้อกุ้งหลายกิโลกรัม เอามาต้มแล้วตากเป็นกุ้งแห้ง ที่บ้านพลอยโพยมเป็นลูกค้าซื้อแต่กุ้ง ส่วนปลานอกจากหาเองแล้ว ก็จะซื้อจากเรือสำเป๊ะ หรือเรือเช้าเป๊ะ(ชื่อเรียกของท้องถิ่น) หรือเรือผีหลอกซึ่งพายในหน้าหนาว ปลาที่นิยมซื้อคือปลาตะเพียนเอามาต้มเค็ม

ปัจจุบันโพงพางนี้หมดสัมปทานไปนานแล้วต้องเลิกกิจการ ลูกชายนายอึ้งแยกบ้านเรือนไปทำอาชีพอื่น เจ้เจ็งที่ยังคงอยู่บ้านเดิมแต่เปลี่ยนเป็นการกางอวนมีทุ่นลอยในแม่น้ำแทนส่วนใหญ่ รอกุ้งเคยทำกะปิ เจ้หงส์ไปอยู่กรุงเทพกับหนูอี่ น้องสาวคนสุดท้อง (หนูอี่เป็นลูกสาวคนสุดท้องเป็นพยาบาล ที่บ้านนายอึ้งเรียกน้องที่ชื่อ อี่ แบบเอ็นดูว่าหนูอี่ แล้วคนทั้งตำบลก็พลอยเรียก หนูอี่ไปด้วย แม้พลอยโพยมอายุน้อยกว่า หนูอี่มาก ก็เรียก คุณอี่ ว่า หนูอี่ )
ปัจจุบันคนบางกรูดจะกินกุ้งก็ต้องไปซื้อจากร้านค้าที่รับกุ้งมาจากที่อื่น หรือบางครั้งคนบางกรูดเองจับกุ้งจากการรออวนหรือจับมาจากบ่อเลี้ยงเอามาขาย แต่เป็นส่วนน้อยและนานๆครั้ง

เรื่องพายเรือข้ามแม่น้ำเจอน้ำวนนี้ ถ้าน้ำขึ้นก็กลัวลอยไปติดโพงพาง แต่ถ้าเป็นช่วงน้ำลงก็กลัวไปเจอน้ำวนที่กองหินใกล้โรงสีนายบู๋เลียด ที่อดีตเคยมีโรงสีนายหม้ออยู่ปากคลองหนองบัวใกล้ๆกัน มีซากเสาหินที่เคยเป็นสะพานท่าน้ำเกือบสิบเสายื่นออกมาจากฝั่ง ความที่อยู่ใกล้ปากคลอง ในช่วงน้ำไหลลงน้ำจะวนน่ากลัว เลยจากบริเวณวังน้ำวน ก็เป็นกองหินกองใหญ่ ที่โรงสีนายบู๋เลียดเทกองหินยื่นออกมาเพื่อรักษาการพังทลายของชายฝั่ง เป็นแหลมยื่นออกมารับน้ำวนไว้ ทำให้น้ำยิ่งวนมากขึ้นอีก เด็กๆ เรียกบริเวณนี้ว่าหัวหิน หากเป็นช่วงน้ำขึ้น บริเวณนี้ก็จะน่ากลัวน้อยกว่าช่วงน้ำลง ในเวลาน้ำลงเมื่อจะพายเรือข้ามฝั่ง เราจะต้องพายอยู่ริมฝั่งย้อนขึ้นไปทางซ้ายมือเป็นระยะไกลพอสมควร จึงจะพายเรือข้ามได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เรือลอยไปติดวังน้ำวนที่หัวหินปากคลองหนองบัวนั่นเอง
การพายเรือข้ามฝั่งแม่น้ำในแต่ละครั้งก็ต้องดูตาม้าตาเรือให้ดีเสียก่อน ต้องคาดคะเนความแรงของกระแสน้ำว่าจะพาเรือเราลอยไปถึงบริเวณใดด้วยเมื่อถึงฝั่งตรงข้าม นอกจากกระแสน้ำแล้ว กระแสลมก็มีส่วนอย่างมากที่จะนำพาเรือของเราเบี่ยงเบนจากเป้าหมายหากกระแสลมแรง

อวน ( Net)
เป็นเครื่องมือที่ใช้กันแพร่หลาย ลักษณะเป็นตาข่ายผูกถักด้วยเส้นด้าย เชือกหรือไนลอน ใช้ทั้งในแหล่งน้ำจืด และท้องทะเล ปากอวนกว้างขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ค่อยๆเรียวยาวเหลือความกว้างประมาณ ครึ่งเมตร ในช่วงหางอวน ตาข่ายจะถี่และเล็กมากป้องกันการเล็ดลอดของสัตว์น้ำที่หลงเข้ามาติดอวน ลักษณะการจับสัตว์น้ำแบบนี้ชาวบ้านเรียกว่าการกางอวน
อวนมีหลายประเภท เช่น อวนฉลอม อวนตังเก อวนดำ อวนติดปลาทู อวนถุง อวนทับตลิ่ง อวนโป๊ะ อวนโพงพาง อวนลาก อวนล้อม อวนล้อม อวนลอยกลางน้ำ อวนลอยสามชั้น อวนลอยหน้าดิน อวนรุน เป็นต้น

อวนสำหรับแม่น้ำ คืออวนโพงพาง ( set bag net )
คืออวนที่ใช้สำหรับการทำโพงพาง ทั้งโพงพางน้ำจืดและโพงพางน้ำเค็ม ลักษณะ เป็นถุงอวน ปัจจุบันมีอวนประเภทนี้น้อยลงเพราะโพงพางส่วนใหญ่ถูกยกเลิกกิจการ
ชาวบ้านบางกรูดทั่วไป ใช้ถุงอวนลอยกลางน้ำ นี้ กางอวน รอจับสัตว์น้ำในเวลาน้ำจืด และรอจับเคยกะปิในหน้าน้ำกร่อย โดยการทิ้งสมอเรือที่โยงผูกยึดตรึงอวน ปากอวนผูกกับลำไม้ไผ่ ปล่อยลำไม้ไผ่ทอดนอนในลำน้ำขวางลำน้ำ มีทุ่นลอยเป็นถังพลาสติกให้รู้จุดตำแหน่งของอวน เนื่องจากอาศัยสมอเรือตรึงยึด จึงมีจำนวนปากอวนได้ไม่มากหลายปากนักต้องคำนวณการรับน้ำหนัก ตามขนาดของสมอเรือนั่นเอง

อวนล้อมกร่ำ ( Bush pile net ) เป็นผืนอวนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พัฒนามาจากการที่ในอดีตใช้เฝือกไม้ไผ่ในการล้อมจับสัตว์น้ำ ในกร่ำ ซึ่งการใช้อวนนี้สะดวกมากกว่าการใช้เฝือกล้อม อวนล้อมกร่ำต้องใช้ทั้งเรือและแรงคนช่วยกัน นิยมใช้ในน่านน้ำกร่อยและน้ำจืด


เฝือก (Bamboo Screen)
เฝือกคือ ของทำเป็นซี่ถักให้ติดกันเป็นผืนสำหรับกั้นน้ำดักปลา
ได้จากการผ่าไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ ขนาดเล็กใหญ่ สั้นยาว ขึ้นกับความต้องการและเหมาะสมกับการใช้งาน นำมาผูกมัดจะเรียกว่าถักหรือกรองหรือกรอ ด้วยเชือกแต่ละซี่ให้ติดกันยาวเป็นแผง
เป็นเครื่องมือหาสัตว์น้ำประจำบ้าน หรือประกอบร่วมกับเครื่องมืออื่นอีกในการจับสัตว์น้ำ นิยมใช้บริเวณชายฝั่ง ริมตลิ่ง หรือบริเวณที่น้ำท่วมถึง เมื่อไม่ใช้งานก็ม้วนเก็บได้
นอกจากใช้จับปลาริมตลิ่ง หรือนำไปล้อมซั้ง หรือกล่ำแล้ว ยังนำไปใช้ประกอบกับลอบนอนลอบยืน
ปัจจุบันจะพบเห็นพ่อค้าแม่ค้า นำเฝือกมาปูเป็นพื้นวางขายสินค้า ตามริมถนน ทั่วไป หรือตามตลาดนัดต่างๆ เพียงแต่ไม่ต้องเสี้ยมปลายแหลมของไม้ไผ่


กร่ำ กล่ำ ซั้ง (Bush pile )
ที่บางกรูด ใช้คำเรียกขานว่าซั้ง เป็นวิธีการล่อสัตว์น้ำ ให้เข้ามาอาศัยในซั้ง ซึ่งมีวิธีทำด้วยการตัดกิ่งไม้ สูงพอประมาณที่จะปักลงในพื้นดิน พื้นเลน ที่ชายฝั่งแม่น้ำ และมีส่วนสูงพ้นน้ำพอประมาณเมื่อน้ำขึ้นเต็มที่ กิ่งไม้มักเป็นกิ่งไผ่ กิ่งขลัก (ประสัก หรือพังกาหัวสุ่ม ) กิ่งแสม กิ่งสะแก หรือกิ่งไม้อื่นๆ ในท้องถิ่น แต่จากประสบการณ์ กิ่งไผ่จะเป็นกิ่งที่สะดวกที่สุด เพราะลำไผ่ตรง มีกิ่งแขนงมาก เป็นที่ชื่นชอบของสัตว์น้ำกว่ากิ่งไม้อื่น บรรดาสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยในซั้งนี้ เพราะต้องการความร่มเย็น มีซอกหลืบให้หลบซ่อนตัว
นำกิ่งไม้เหล่านี้มาปักสุมรวมๆกันที่ริมตลิ่งเว้นระยะห่างฝั่งที่พอเหมาะสมกับช่วงน้ำลง ให้มีปริมาณน้ำพอให้สัตว์น้ำยังรู้สึกปลอดภัยที่จะอาศัยอยู่ในซั้งนี้ไม่ออกจากซั้งไป

เมื่อได้ระยะเวลาที่เหมาะสมและน้ำลงได้ที่ดีต้องระดมคนมาช่วยกันล้อมซั้ง คนก็ว่ายน้ำไปที่ซั้งหรือจะเดินลุยริมตลิ่งไปก็ได้แต่ต้องมีเรือและคนพายเรือพายเรือไปที่ซั้ง ในเรือมีอุปกรณ์คือเฝือกไม้ไผ่ สวิง ขนาดต่างๆ ปี๊บ กระแป๋ง กะละมังใส่สัตว์น้ำ เราไม่เอาสัตว์น้ำใส่ท้องเรือเพราะไม่สะดวกในการขนสัตว์น้ำขึ้นบ้าน เมื่อไปถึงซั้งเอาเฝือกไม้ไผ่มาล้อมรอบซั้ง ปักเผือกด้านปลายที่มีการเสี้ยมแหลมลงบนพื้นตลิ่งในแน่นหนา เอาตัวเข้าไปอยู่วงในของเฝือกแล้วค่อยๆถอนกิ่งไม้ออกที่ละกิ่งออกมากองที่เลนชายฝั่งจนหมด แล้วจึงใช้สวิงไล่ช้อนสัตว์น้ำในวงล้อมของเฝือก จะได้สัตว์น้ำมากมายหลายประเภท ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งจะมีมากในฤดูหนาวจนถึงเวลาน้ำเริ่มกร่อย ในช่วงน้ำจืดจะมีสัตว์น้ำเข้ามาอยู่น้อยกว่าช่วงต้นน้ำกร่อย เพราะในช่วงต้นฤดูหนาวเป็นระยะเวลาที่ชาวนาปล่อยน้ำออกจากนาข้าวเพื่อการเก็บเกี่ยวข้าว ปลาในนาข้าวก็จะไหลตามออกมาผ่านมาตามลำคลองต่างๆ จนออกสู่แม่น้ำ สัตว์น้ำจำนวนมากก็จะกระจายลงสู่แม่น้ำ โดยเฉพาะที่ประตูน้ำท่าถั่ว มีคำเล่ากันว่าช่วงที่ประตูน้ำเปิดระบายน้ำจากลำคลองต่างๆที่มารวมกันในประตูน้ำ ความแรงของน้ำที่ปล่อยออกมาทำให้กุ้งก้ามกราม ที่มีอยู่ด้านหน้าประตูน้ำในส่วนที่เชื่อมกับแม่น้ำพากันมึนงงจนลอยหัวขึ้นมาให้ชาวบ้านบริเวณปากประตูน้ำจับได้มากมาย

สัตว์น้ำที่เข้ามาหลบในซั้งเพิ่มปริมาณขึ้นตามระยะเวลา ( พวกสัตว์น้ำ คงมีการเรียกเชิญชวนญาติสนิทมิตรสหายที่กำลังผ่านมา ว่า เชิญเข้ามาอยู่กับเราเถอะ ที่นี้ ดีสบายจริงๆ)ในตอนเด็กๆจำได้ว่าสัตว์น้ำที่มีมากในซั้งคือกุ้งก้ามกราม ตัวโต ก้ามโต ต้องแยกออกเป็นกะละมังใหญ่ รวมทั้งกุ้งอื่นๆ ปู และปลามากมายหลายประเภท ทั้งปลาน้ำจืดที่ยังไม่เคลื่อนย้ายไปจนน้ำเริ่มกร่อย ก็จะมีสัตว์น้ำกร่อยด้วย รายละเอียดของพรรณกุ้ง พรรณปลา จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป


ในบางครั้งช่วงน้ำขึ้น ก็มีเรือของบางคนออกมาตกกุ้งบริเวณไม่ไกลซั้งนัก กุ้งที่อยู่ในซั้งได้กลิ่นเหยื่อ ก็จะออกมากินเหยื่อและถูกจับไปขาย เจ้าของซั้งก็ได้แต่มองตาปริบๆ ได้แต่นึกในใจว่าก็ไม่เป็นไร แบ่งกันกินก็แล้วกัน เพราะลำน้ำนี้เป็นของสาธารณะ ไม่ถือเป็นเหตุให้ต้องมาผิดใจกัน ส่วนใหญ่นักตกกุ้งก็อยู่ละแวกไกลบ้านมิใช่คนรอบๆบ้าน ความเกรงใจก็เลยไม่มีให้เจ้าของซั้ง

(กุ้งก้ามกรามจะวางไข่ ได้ตลอดปี เมื่อลูกกุ้งออกจากไข่แล้ว หากเป็นเขตน้ำจืดจริงๆ ลูกกุ้งส่วนใหญ่จะตายไม่ผ่านช่วงอนุบาลลูกกุ้ง การอนุบาลลูกกุ้งต้องเป็นน้ำกร่อยลูกกุ้งจึงจะรอดชีวิตได้ดี
การอนุบาลลูกกุ้งในบ่อเลี้ยงในเขตน้ำจืด จึงต้องซื้อน้ำทะเลมาผสมในการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม)

นอกจาก กุ้ง ปู ปลา แล้วก็จะมีหอยตัวเล็กๆ และเพรียงมาเกาะจับกิ่งไม้ในซั้ง หากการถอนกิ่งไม้ไม่ระวังให้ดี ก็ถูกเพรียงบาดเชือดให้เลือดออกได้
เพรียงก็คือ สัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังประเภทสัตว์ขาปล้องมีหลายชนิด เกาะตามหินและวัสดุอื่นที่น้ำท่วมถึง เพรียงนี้ถ้าเกาะแล้วก็เกาะเลย ไม่ย้ายที่ไปไหน จนน้ำกร่อยเป็นน้ำจืด จนเป็นน้ำกร่อยอีก

การล้อมซั้งแม้จะเป็นช่วงหน้าหนาวแต่ก็เป็นของสนุกมากของเด็กๆ มักไม่ค่อยมีคนอยู่บนเรือคอยรับสวิงที่ช้อนได้สัตว์น้ำเอาเทลงในภาชนะที่เตรียมมา เมื่อไม่พอใส่ จะต้องพายเรือกลับบ้านเอาสัตว์น้ำขึ้นบ้านแล้วพายกลับมาที่ซั้งใหม่ เด็กผู้ชายโตแล้วเท่านั้นจึงจะได้เข้าไปอยู่ในวงล้อมของเฝือก เด็กเล็กอื่นๆ ก็แค่ว่ายน้ำเล่นอยู่นอกวงเฝือก คอยชะโงกสำรวจสัตว์น้ำที่จับได้ว่ามีอะไรบ้าง พอเลิกสนใจก็ว่ายน้ำเล่นกันรอบๆ วงนอกของเฝือกเสียมากกว่า เล่นน้ำเพลินๆ ก็มีพี่ๆผู้ชายออกมาจากวงล้อมเฝือก มุดน้ำมาแกล้งดึงขาเราให้ลอยลิ่วๆ ออกไป ทำให้ตกใจนึกว่าถูกผีพรายน้ำมาฉุดลากร้องโวยวายเสียงดัง

เมื่อจับสัตว์น้ำออกหมดแล้วก็รื้อเฝือกออก แล้วเอากิ่งไม้กลับมาสุมไว้อย่างเดิม ถ้าเวียนหลายครั้งแล้วต้องเลือกกิ่งที่ไม่มีแขนงหรือกิ่งย่อยแล้วเพราะผุ และแตกหักออก และหากิ่งใหม่มาปักทดแทน

คุณพ่อของพลอยโพยมทำ ซั้ง ไว้ทั้งหมด 4 แห่ง ระยะห่างพอประมาณ เหนือบ้าน 2 แห่ง ใต้บ้านลงมา 2 แห่ง เวลาล้อมจับซั้ง เมื่อจับซั้งที่หนึ่งแล้วเว้นระยะเวลาสองอาทิตย์ จับซั้งที่สอง เว้นอีกสองอาทิตย์จับซั้งที่สาม จบซั้งที่สี่ ก็หมุนเวียนมาซั้งที่หนึ่งใหม่ การล้อมซั้งต้องทำวันหยุดเพราะคุณพ่อเป็นข้าราชการ เด็กๆจึงไม่พลาดโอกาสสนุกสนานกับการล้อมซั้ง
วันที่จะล้อมซั้งต้องเรียกน้านุ้ย ลูกนาของคุณยายมาช่วย โดยแบ่งกุ้งปลาให้น้านุ้ยเอากลับไปบ้านเมื่อเสร็จงาน น้านุ้ยปลูกบ้านอยู่หลังสวนของบ้านไม่ไกลกันนัก การแบ่งปันกุ้งปลาให้กับน้านุ้ย พ่อของพลอยโพยมเน้นย้ำว่าต้องให้เหมาะสม เพราะน้านุ้ยก็มีครอบครัวมีลูก ประมาณ 6-7 คน และการเรียกหามาช่วยก็ต้องเรียกต่อเนื่องทุกครั้งที่จะล้อมจับซั้ง หนาวก็หนาว บางครั้งต่อเนื่องเกือบมืดจึงเสร็จงาน ก็จะเจอยุงรุมตอมกัดด้วย ต้องใช้น้ำในแม่น้ำเป็นที่หลบหนียุง ( มุดน้ำหนียุง) กุ้งก้ามกรามได้น้อยได้มากต้องแบ่งปันทุกครั้ง ส่วนปลานั้นเราก็แอบเอาปลาที่เราไม่ชอบกินแบ่งให้ไปมากๆหน่อย เช่น ปลาไหล ปลากระทิง ปลาม้า ปลาดุก ปลากด ปลาสวายหรือปลาที่มีก้างเยอะๆ ส่วนปลาที่เราชอบกินก็แบ่งให้นิดๆหน่อยๆ เป็นต้น ( คงไม่บาป....มั้ง เราไม่กินแต่เขากินได้นี่นา ถึงจะเอาเปรียบน้านุ้ยไปหน่อย) แต่ทุกครั้งน้านุ้ยก็หิ้วปี๊บใส่กุ้งปลากลับบ้านไหล่เอียงเชียวละ

กุ้งก้ามกรามจากการล้อมซั้งนี้ นอกจากตัวใหญ่ก้ามใหญ่แล้วยังได้ปริมาณมาก เด็กๆกินกุ้งเผาจนเบื่อกลายเป็นแย่งกิน ก้ามกุ้งเผากันมากกว่า กุ้งก้ามกรามนอกจากเผาแล้วก็เอามาพล่ากับน้ำพริกเผาใส่ตะไคร้ซอยละเอียดยิบ หัวหอมซอย โรยใบโหระพาและพริกขี้หนูซอย ซึ่งเก็บมาจากในสวนของเราเอง( แม่ละม่อมซอย พริก หอม ตระไคร้ ละเอียดมากจริงๆ ไม่มีใครสู้ทีเดียวละขอคุยหน่อย..) ต้มยำกับน้ำพริกเผาอีกนั่นแหละ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูดจากในสวนตามเคย น้ำพริกเผาตำเองมีประจำบ้านอยู่แล้วไม่มีขาดในตู้กับข้าว ปลาตะเพียนก็เอามาต้มเค็ม ปลาตะเพียนต้มเค็มมื้อแรกยังไม่ค่อยอร่อยเพราะน้ำเค็มหวานยังไม่ซึมเข้าเนื้อปลานัก ปลาอื่นๆ เช่น ปลาช่อน ปลาดุก และปลาอื่นๆที่ยังไม่ตายขังไว้ก่อนได้ ที่ตายแล้วก็ต้องใส่เกลือทำเค็มกันไป (นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่คนพายเรือต้องเอากุ้งปลากลับมาบ้านหลายเที่ยว เพื่อให้ปลาตายน้อยที่สุดนั่นเองด้วย)


กุ้งอื่นๆ เช่นกุ้งตะกาด กุ้งตะเข็บ กุ้งหัวแข็ง กุ้งหัวมัน จะมีไม่มากนัก เหมือนหลงเข้ามาแบบไม่ตั้งใจเข้ามาอยู่ในซั้งนัก เนื่องจากไม่มีตู้เย็นใช้วิธีแกะเปลือกออกต้มสุกในหม้อเก็บไว้วันอื่นๆ ส่วนกุ้งฝอย กุ้งดีดขัน ไม่เอามาทำกับข้าวกัน
ปูทะเล ขังเอาไว้ก่อนได้อีกหลายวัน
กุ้งก้ามกราม ที่เหลือจากการทำกับข้าวก็จับตัดหัวเอาส่วนที่มีหนวดรุงรังออกแล้วเอาต้มใส่เกลือ เกลือที่ใส่เข้มข้นจนมีเกล็ดขาวเกาะเปลือกกุ้ง นั่นคือต้มจนน้ำแห้งเกลือถึงเกาะได้ กุ้งก้ามกรามต้มเกลือนี้เก็บได้นานวัน ค่อยๆทยอยเอามากินได้อีกหลายวัน
มันกุ้ง ( คือตับและตับอ่อน) และแก้วกุ้ง( คือรังไข่ซึ่งมีไข่อ่อนอยู่เต็ม) ของกุ้งเผาอร่อยมาก ถ้าเผาก็จะนิ่มๆ เละ แต่ถ้าต้มใส่เกลือ จะเป็นก้อนแข็งทีเดียว

(หมายเหตุ คำว่า กระแป๋ง เป็นคำท้องถิ่น ที่เรียกภาชนะตักน้ำที่มีที่หิ้ว ปากกว้างและค่อยๆเรียวลงที่ก้น ปากและก้นภาชนะเป็นทรงกลม เหมือนของที่ใช้หิ้วในงานก่อสร้าง สมัยก่อนทำจากโลหะมีหลายขนาด ปัจจุบันทำด้วยพลาสติก ส่วนใหญ่คนมักเรียกของใช้นี้ว่ากระป๋อง แต่กระป๋องของคนบางกรูด หมายถึงของใช้ที่รูปทรงเป็นกระบอกกลม แต่กระแป๋งไม่เป็นทรงกระบอก จึงไม่เรียกกระป๋อง เรียกชื่อว่ากระแป๋งบางทีคนได้ยินแล้วเรียกขานตามก็เพี้ยนเสียงกลายเป็นกระแป๊ง ก็มี ส่วนปี๊บ หมายถึงปี๊บที่ดัดแปลงติดตรึงไม้เป็นที่จับเวลาหิ้วน้ำ กะละมัง หมายถึง กะละมังใหญ่ขนาดกะละมังซักผ้า)


ขอเพิ่มเติมเรื่องของกร่ำ (กล่ำ )
ยังมีกล่ำ หรือกร่ำ ของชาวอำเภอบางปะกงที่มีการทำกล่ำ (กร่ำ) ในอีกแบบ และมีกล่ำ หอยแมลงภู่ ( ที่มีเรือฉลอม เอามาขายที่บริเวณบางกรูด ด้วย)

กล่ำ (กร่ำ) นี้ทำจากไม้ไผ่ ปักกันเป็นกระจุกๆ หลายชั้นอย่างไม่เป็นระเบียบ ทั้งกล่ำน้ำลึกและกร่ำน้ำตื้น ไม้ไผ่มีท่อนยาว สั้น ตามขนาดความลึกของน้ำ (หมายถึงไม้ไผ่เป็นลำ ไม่ต้องมีแขนงหรือกิ่งย่อย) ปลาเล็ก ปลาน้อย และกุ้ง ก็จะพากันเข้ามาอาศัยหลบคลื่นลม โดยธรรมชาติ ปลาใหญ่กินปลาน้อยทำให้มีปลาใหญ่ตามเข้ามากินปลาน้อยและกุ้งตัวน้อยตามกล่ำและติดอยู่ในกร่ำ เพราะบริเวณของกล่ำนี้จะกว้างอีกทั้งไม้ไผ่ปักไว้หลายชั้น ไม้ที่ปักไว้ข้างในจะเป็นไม้เล็กๆ เหมือนเป็นบ้านให้เหล่าสัตว์น้ำเช่นปลาอยู่อาศัย บางครั้งก็มีปลาดุก ปูทะเล ชั้นนอกเป็นไม้ใหญ่ช่วยป้องกันไม้เล็กไม่ให้ลอยออกมา
เมื่อมีการล้อมกล่ำ ชาวบางปะกงก็จะได้ กุ้ง กุ้งแหตัวใหญ่ ๆ การล้อมเหมือนที่บางกรูด คือตัวคนอยู่ในวงล้อม ถอนไม้ออกไปแล้วช้อนของที่มีอยู่ในวงล้อมออกหมดแล้วปักไม้ไว้เหมือนเดิม ถ้าเป็นกล่ำน้ำตื้นจะไม่มีการรื้อ พอน้ำขึ้นก็เอาอวนไปล้อมไว้ ล้อมไว้จนกว่าน้ำแห้งก็เข้าไปเก็บบรรดาสัตว์น้ำในนั้นไม่มีการรื้อไม้ออก ปัจจุบันกล่ำเหล่านี้เป็นที่นิยมของนักตกปลา เช่ากันเป็นชั่วโมง


ส่วนกร่ำหอยแมลงภู่
จะปักไม้ เป็นกลุ่ม เป็นแถวๆไป ประมาณ 1 ปี จึงจะมีการเก็บหอยแมลงภู่ที การเก็บหอยแมลงภู่ทำโดยการเลื่อยตัดกล่ำยกขึ้นมาทั้งหลักแล้วมาโครกเอาหอยแมลงภู่ออก ชาวอำเภอบางปะกงเลี้ยงหอยกันมากที่ปากอ่าว หลักหนึ่งจะเก็บหอยได้ประมาณ 25-30 กิโลกรัม วันหนึ่งมักจะขายหอยได้หมด หากขายไม่หมด ก็จะต้มแกะเนื้อ หรือตากเป็นหอยแห้ง

หอยแมลงภู่ ( น่าสงสัยว่าเหตุใด หอยนี้ชื่อ หอยแมลงภู่ ) มีคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติอร่อย เลี้ยงกันมากในพื้นที่บริเวณอ่าวไทย เลี้ยงง่ายโตได้ดีในน้ำทะเลที่มีระดับความสูงต่ำของน้ำและความเค็มของน้ำไม่แตกต่างกันมากนัก หอยแมลงภู่จะกรองกินแพลงตอนพืชและสัตว์ขนาดเล็กรวมทั้งอินทรียวัตถุที่แขวนลอยในทะเล เป็นอาหารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พันธุ์หอยก็ได้จากแหล่งธรรมชาติ แหล่งเลี้ยงหอยแมลงภู่ เป็นแหล่งน้ำตื้นชายฝั่งลึกประมาณ 3-6 เมตร ลูกหอยเกิดขึ้นทุกเดือนตลอดทั้งปี ฤดูวางไข่จะมีลูกหอยเกาะเป็นจำนวนมาก ในช่วงเมษายน-กรกฎาคม และ ช่วง เดือนตุลาคม-ธันวาคม ของทุกปี ในช่วงหลังนี้มีลูกหอยชุกชุม ท่านผู้อ่านจะกินหอยแมลงภู่ ก็เลือกระยะเวลาได้แล้วว่าจะกินช่วงไหนดี

กร่ำ (กล่ำ) หอยแมลงภู่ ใช้ไม้ประเภท ไม้ไผ่รวก ไม้ไผ่สีนวล และไม้เป้ง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร ยาว5-6 เมตร ปักเรียงกันเป็นแถว ปักให้แล้วเสร็จก่อนที่ลูกหอยจะมาเกาะประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากปักไม้ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแพลงตอนจะเข้ามาอาศัยอยู่ตามไม้กร่ำ เพรียงก็จะตามมาอาศัยเกาะและกินแพลงตอนที่มาตามกระแสน้ำ ต่อจากเพรียงเกาะ ลูกหอยจะเริ่มมาเกาะตาม การเติบโตของลูกหอยที่เริ่มเกาะหลัก ประมาณ 7 เดือน จะสามารถจับหอยขายได้


ไม้เป้งสำหรับปักกร่ำมักไปซื้อที่ปราจีนบุรี ขาไปชาวประมงก็นำหอยแมลงภู่ กะปิ ใส่เรือขึ้นไปขายตามต้นน้ำ ( ทำให้ แถบบางกรูด ได้ซื้อหอยแมลงภู่ ถัง (ตวงข้าว ) ละ 1 บาท อย่างที่พลอยโพยมเคยเล่าแล้ว ในเรื่องเรือฉลอม ) ขากลับเรือก็จะบรรทุกไม้เป้งที่ซื้อมา ต่อมาเมื่อไม้เป้งหายาก เรือฉลอมขายหอยแมลงภู่ ก็ไม่มาเยี่ยมเยือนชาวบางกรูดเพราะชาวประมงเปลี่ยนไปซื้อ ไม้นวล (คำท้องถิ่น) จากเพชรบุรี เส้นทางการซื้อไม้ก็เปลี่ยนเส้นทางไปนั่นเอง

คำเตือนเล็กน้อย สำหรับผู้ชอบรับประทานหอยแมลงภู่ เนื่องจากการเลี้ยงหอยแมลงภู่ตามแหล่งชายฝั่งหรือบริเวณน้ำตื้นของปากอ่าว มีระดับความลึกเพียง 6 เมตร ก็ทำกร่ำหอยแมลงภู่ได้
ผู้บริโภคควรคำนึงเรื่องมลพิษภาวะน้ำเสียที่ไหลลงชายฝั่งด้วย ช่วงไหน มีข่าวคราวของ
การเกิดภาวะน้ำเสียที่ส่งผลเป็นข่าว ควรระมัดระวัง การบริโภคหอยจากน้ำตื้น กันนะคะ