วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชลวิถี.....ที่บางกรูด 2.......



แหจับปลา (Cast Net )

เป็นวิธีการจับสัตว์น้ำด้วยการใช้เครื่องมือครอบจับสัตว์น้ำ ทำขึ้นจากเนื้ออวนถักลักษณะเป็นวงกลมกว้าง จุดกึ่งกลางวงกลมเป็นที่ผูกเชือกสำหรับช่วยในการเหวี่ยงแห ขอบรัศมีโดยรอบเรียกว่าตีนแหบางแห่งเรียกปากแห มีห่วงตะกั่วถ่วงโดยรอบเพื่อป้องกันไม้ให้สัตว์น้ำหลุดออกมาขณะที่เหวี่ยงแหครอบลงไปในน้ำ มีขนาดต่างๆกัน คนทอดแหต้องเตรียมแหไว้บนไหล่และแขน เมื่อได้จังหวะก็เหวี่ยงแหให้กระจายเป็นวงกลมครอบลงไปในแหล่งน้ำ แล้วค่อยๆสาวเชือกช้าๆ ยกแหขึ้นมาวางบนพื้นเรือหรือริมตลิ่ง ค่อยๆปลดสัตว์น้ำที่จับได้ออกจากแห

แหกระตุก
มีบางท้องที่ดัดแปลงแห ให้ไม่ต้องออกแรงเหวี่ยงแห โดยดัดแปลงเป็นแหกระตุก ด้วยการปักไม้ไผ่ลงในน้ำเป็นวงกลม นำแหไปขึงกับสลักโดยรอบ ผูกเชือกไปบนตลิ่ง มีการหว่านเหยื่อล่อ กะเวลาว่ามีสัตว์น้ำเข้ามากินเหยื่อ ก็กระตุกเชือกบนตลิ่ง แหก็จะหล่นลงไปครอบสัตว์น้ำ (เคยพบว่ามีที่จังหวัดกาญจนบุรี -สัมฤทธิ์ พุ่มสุวรรณ)




กำเนิดแหจับปลา
มีหนังสือขององค์การค้าของคุรุสภา เขียนโดยคุณ ส. พุ่มสุวรรณ เล่าเรื่องกำเนิดแหจับปลาว่า

เกิดมาจากการพัฒนาความคิดหาวิธี จับปลาให้ได้จำนวนมากของนายแห ชาวประมงยากจนที่ ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมบึงใหญ่ ชาวบ้านและนายแหจับปลาด้วยมือเปล่าหรือใช้ไม้แหลมแทงเอา ต่อมานายแห มีภรรยาและลูกหลายคน วันหนึ่งนายแห จับปลาด้วยมือเปล่าไม่ได้ปลาสักตัว นายแห เริ่มคิดว่าถึงจะใช้ไม้แทงปลาเป็นเครื่องมือช่วยก็ได้ปลาเพียงครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น ต้องหาวิธีให้จับปลาได้ครั้งละหลายๆตัว นายแห เลยเอาไม้ไผ่มาปักล้อมเป็นวงกลมแล้วต้อนปลาเข้าไปอยู่ในที่แคบๆ ทำให้จับปลาได้มากขึ้น
แต่ต่อมาเมื่อลูกๆเริ่มโตขึ้นปลาที่หาได้ก็ไม่เพียงพออีก นายแห ลองเปลี่ยนวิธีจากเดิมเพราะไม้ไผ่ที่นำมาล้อมเป็นคอกเพื่อจับปลานั้น ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม้แต่ละอันปักอยู่กับที่เคลื่อนไปไหนมาไหนไม่ได้ นายแห คิดว่าถ้านำเชือกเส้นเล็กๆมามัดไม้ไผ่เรียงกันเข้า ก็จะสามารถยกแผงไม้ไผ่เคลื่อนที่ได้ นายแห และภรรยาจึงหาเชือกมามัดไม้ไผ่ให้ติดกันเป็นแผงล้อมรุกจับปลาได้มากกว่าเดิม
วันเวลาผ่านไปลูกของนายแห ก็เจริญเติบโตขึ้นอีกมีความต้องการอาหารมากขึ้นตามวัยที่มากขึ้น ซึ่งนายแห จะต้องหาปลาให้ได้เพิ่มขึ้นอีก แผงไม้ไผ่ที่ผูกเรียงกันนั้นกลายเป็นของใช้เก้งก้างเชื่องช้าไม่ทันกับความว่องไวของปลาในบึงใหญ่นั้น นายแห รู้สึกว่าจับปลาได้ไม่ทันกินขึ้นมาเสียแล้ว คราวนี้นายแห ต้องกลับมานอนกลัดกลุ้มร้อนรุ่มใจคิดหาวิธีใหม่ ลูกๆร้องหิวกับพ่อแม่ นายแห ได้แต่นอนก่ายหน้าผากถอนหายใจเพราะสงสารลูกๆนึกบนบานศาลกล่าวขอให้เทวดาช่วยดลใจให้คิดหาวิธีใหม่ๆได้

ทันใดนั้นสายตาของนายแห ก็มองเห็นแมงมุมตัวหนึ่งกำลังชักใยเป็นวงกลม นายแห เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาอีกทันที จึงนำด้ายที่ปั่นไว้มัดเป็นรูปวงกลมเหมือนใยแมงมุม เลียนแบบใยแมงมุมที่หลังคาบ้านนายแห ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นเป็นเครื่องมือจับปลาชิ้นใหม่ ไม่เก้งก้างเกะกะเหมือนไม้ไผ่ สามารถใช้ล้อมกับชายตลิ่งแม้จะมีกอหญ้าได้เป็นอย่างดี นายแหจับปลาได้มากขึ้นอีก นายแห เหวี่ยงเครื่องมือได้เป็นวงกว้างตามความกว้างของเครื่องมือ เมื่อตกลงในน้ำ ก็จะครอบคลุมปลาเอาไว้ได้ บรรดาปลาหลบหนีไม่ถูกไม่รู้ว่านายแห มีเครื่องมือแบบใหม่ที่ลอยลงมาจากเบื้องบนก็เลยถูกครอบตัวไว้หนีไม่ทันถูกจับได้ ชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ยังจับปลาด้วยมือเปล่าหรือใช้ไม้แทงปลาพากันชื่นชมกับความคิดของนายแห ว่าช่างเป็นเครื่องมือที่วิเศษเหลือประมาณ
นายแห ใช้เครื่องมือนี้จับปลาในบึงเลี้ยงภรรยาและลูกๆได้ตลอดมาไม่เดือดร้อนใจอีกแล้ว ชาวบ้านพากันมาขอดูแบบเครื่องมือใหม่ของนายแห นายแห ก็ให้ดูอย่างเต็มใจ นายแห เป็นคนจนแต่ใจดีไม่มีหวงวิชา เพราะเห็นว่าเครื่องมือนี้จะนำไปจับปลาที่ไหนก็ได้ทั้งห้วยหนองคลองบึงแม่น้ำหรือในทะเล
ชาวบ้านที่สร้างเครื่องมือนี้เลียนแบบมาจากนายแห พากันสำนึกบุญคุณ เมื่อมีใครถามว่าเครื่องมือนี้เรียกว่าอะไร ชาวบ้านต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เครื่องมือนายแห และพากันเรียกเครื่องมือนี้ติดปากกันว่า “ แห” แหจึงมีกำเนิดมาจากความเพียรพยายามใช้ความคิดหาวิธีที่จะเลี้ยงภรรยาและลูกของนายแห ชาวประมงลูกดกนี่เอง





อันที่จริงนายแห ได้คิดเครื่องมือ ที่มีลักษณะ เรียกว่า ตาข่าย และอวนล้อม ได้ก่อน เพียงแต่เป็นไม้ไผ่ ไม่เป็นด้ายหรือเชือกอย่างปัจจุบัน และยังพัฒนามาเป็น เฝือกได้อีกก่อนที่ในที่สุดได้เป็นแห

นายแห คนนี้เก่งจริงๆ ขอคำนับคารวะ คุณแห หากเรื่องเล่านี้เป็นเรื่องจริง ช่างเป็นคนมีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ บรรเจิดจ้าจริงๆ ในสมัยนั้นแม้ยังไม่มีการจดลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา แต่ดูเหมือว่า นายแห ได้สิทธิบัตรเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แห ไปแล้ว
แถมเป็นต้นแบบของตาข่าย อวนล้อม และเฝือก อีกด้วย


การทอดแห
เป็นการจับสัตว์น้ำที่ใช้แหเป็นเครื่องมือ ใช้ได้ทั้งการพายเรือออกไปหาแหล่งที่คาดคะเนว่าจะพบสัตว์น้ำ มักมีคนช่วยพายท้ายเรือ คนทอดแหก็อยู่หัวเรือ หรือจะใช้การทอดแหที่ริมฝั่ง ริมคลอง หนองบึง ต่างๆ แทบทุกบ้านในชนบทมีแหประจำบ้าน ไม่ว่าบ้านริมน้ำ บ้านสวนหรือบ้านนา บางครั้งคนทอดแหก็ใช้ดินเหนียวคลุกรำหรือข้าวเปลือกแช่น้ำจนมีกลิ่นหว่านล่อสัตว์น้ำ เมื่อมีสัตว์น้ำมารุมกินก็เหวี่ยงแหครอบลงไป ( การหว่านล่อแบบนี้ต้องทำในบริเวณน้ำตื้น)สำหรับในแม่น้ำมักทอดแหในเวลาน้ำลด
พลอยโพยมเองเหวี่ยงแหไม่เป็นเพราะเหวี่ยงแล้วแหไม่บานเป็นวงกลม แหหุบๆลงน้ำ หมายความว่าก็ไม่ได้สัตว์น้ำนั่นเอง( ขนาดเหวี่ยงในบ่อเลี้ยงก็ยังไม่ได้เลย)
สัตว์น้ำที่จับได้จากแห มี ปลาดุกด้าน ปลาแขยงข้างลาย ปลาบู่ทราย ปลาดุกทะเล ปลากะพงข้างลาย ปลาแขยงอีกง ปลากดหมู ปลาหางไก่ ปลาแปบ ปลาม้า ปลาหนวดพราหมณ์ เป็นต้น



ในปัจจุบันนี้
การเลี้ยง กุ้ง ปลา ในบ่อดิน ทั้งแบบพัฒนาหรือไม่พัฒนา แหก็มีความจำเป็นในการสุ่มตัวอย่างตรวจดูความเติบโต ของ กุ้งปลา ที่เลี้ยงไว้
เกษตรกรเลี้ยงกุ้งใช้แหทอดกุ้งสุ่มคำนวณน้ำหนักของ กุ้ง ว่า ใน 1 กิโลกรัม มีจำนวน กุ้ง กี่ตัว เพื่อการคำนวณราคาของกุ้งที่เลี้ยงไว้นั่นเอง เพราะการซื้อขาย มี Size เป็นราคากลางที่รับรู้กันทั่วไปในวงการคนซื้อและเกษตรกรคนเลี้ยง ราคาเคลื่อนไหวตาม Demand และ Supply ในท้องตลาด มีการตีราคาสัตว์น้ำที่เลี้ยงจากบ่อดินในแต่ละวันเลยทีเดียว คนซื้อจะมาสุ่ม Size ของกุ้งเลี้ยง การสุ่มใช้แหทอดลงไปในบ่อเลี้ยงเพียงครั้งเดียวหากชั่งน้ำหนักกุ้งได้พอ 1 กิโลกรัม นับจำนวนตัวกุ้ง ก็จะได้ Size กุ้งว่า 40 ตัวกิโล หรือ 50 ตัวกิโล หรือ..... หากการสุ่มครั้งแรก ได้กุ้งไม่ถึง 1 กิโลกรัม ก็สุ่มทอดแหครั้งที่ 2 เอาตัวกุ้งที่สุ่มใหม่มารวมกันชั่งให้ได้ 1 กิโลกรัม นับจำนวนตัวกุ้งว่ามีกี่ตัวแล้วตีราคาเลยว่าราคากิโลกรัมละเท่าไร เรียกว่าตีราคาปากบ่อ ตกลงต่อรองราคากันเป็นที่เรียบร้อย นัดวัน เวลามาจับ กุ้งที่ได้ จะขนาดเล็กใหญ่กว่าที่สุ่มตีราคา ก็ได้ราคาตามที่ตกลงไว้ แล้วแต่ว่าฝ่ายไหน (คนซื้อ และคนขาย) จะโชคดีกว่ากันถ้าเป็นการตกลงราคาแบบเหมาบ่อ แต่ก็มีการตกลงราคาอีกแบบเรียกว่า คัด Size ก็จะยุติธรรมทั้งสองฝ่าย
หลังจากคว่ำบ่อหมด (หมายถึง จับกุ้งขึ้นจากบ่อหมดแล้วด้วยการปล่อยน้ำจนแห้งบ่อเลี้ยง เอาอวนไปรอที่ปากประตูน้ำที่ปล่อยให้น้ำในบ่อไหลออกมา) กุ้งที่เหลือค้างผิวพื้นบ่อจะขายไม่ได้ เพราะกุ้งคลุกโคลนและสำลักโคลนเข้าไปในเหงือก เจ้าของบ่อต้องระดมคนลงไปลุยไล่จับในบ่อด้วยมือเปล่า โดยอีกมือถือสวิงปากเล็กใส่กุ้งที่จับได้ ในบางบริเวณเป็นแอ่งยังมีน้ำขังอยู่ กุ้งก็จะยังไม่ตาย เรียกกุ้งที่ค้างเหลือบนผิวพื้นบ่อเหล่านี้กันว่ากุ้งก้นบ่อ จับได้แล้วเอามาแจกจ่ายกันและบริโภคในครัวเรือน พอวันรุ่งขึ้นก็จะมีบรรดานกพากันมาลงแขกกินกุ้งที่ตายเหลือซาก ในบางที่ก็ยังมีชีวิตหลงรอดจากมือมนุษย์อยู่ แต่ในที่สุดก็ไม่พ้นปากเหยี่ยวปากกา แต่ส่วนใหญ่เป็นนกกระยางและนกเป็ดน้ำ ไม่มีเหยี่ยวหรือกา เป็นแขกรับเชิญกันหรอก เพราะมาไม่ทันนกกระยาง และนกเป็ดน้ำเจ้าถิ่นที่เฝ้าคอยอย่างหวังผลเต็มที่อยู่นานแล้วนั่นเอง



ยอ
เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ชาวบ้านคิดประดิษฐ์ขึ้นมา ประกอบด้วยผืนอวนผืนสี่เหลี่ยม มีหลายขนาดตามความต้องการใช้ การสร้างยอโดยใช้ไม้ไผ่เหลายาวสองอันสวมด้วยกระบอกไม้ไผ่ยาวขนาด 1 ข้อไม้ไผ่ ให้กระบอกที่สวมนี้อยู่กึ่งกลางไม้ไผ่เหลา ไขว้กระบอกไม้ไผ่ที่สวมไม้ไผ่เหลาเป็นรูปกากบาท ที่ปลายไม้ไผ่เหลา สี่ ปลาย ตรึงกับผืนอวน สี่ด้าน ที่จุดไขว้กันของกระบอกสวมเจาะรูตรงกลาง ผูกตรึงยึดกับลำไม้ไผ่ยาวอีกลำเพื่อทำเป็นคันยอ ความสั้นยาวของคันยอตามความต้องการ ไม้ไผ่เหลาที่ถูกตรึงกลางไม้ และถูกบังคับด้วยมุมทั้งสี่ของผืนอวน จะทำให้ไม้ไผ่เหลาโค้งงอลงหาผืนอวนทั้งสี่ด้าน เรียกเครื่องมือนี้ว่า ยอ เรียกลำไม้ไผ่ว่าคันยอ
ปัจจุบันมีการใช้ท่อนเหล็กบ้าง ท่อพีวีซี บ้าง เป็นส่วนประกอบแทน ลำไผ่ และไผ่เหลา
ยอมีสองประเภท คือ

ยอยก หรือยอเดิน( Lift Net )
มีขนาดเล็ก สำหรับนำเคลื่อนที่ไปไปแหล่งน้ำต่างๆได้ ยอนี้ที่อีสานเรียกว่าสะดุ้งน้อย (สัมทธิ์ พุ่มสุวรรณ)
ปลาที่จับได้ เป็นปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาซิว ปลาสร้อย ปลากระดี่
สำหรับการเลี้ยงกุ้งในบ่อดินในปัจจุบันนี้ต้องมียอเล็กประจำบ่อ เพื่อการเช็คสอบการให้อาหารว่า กุ้งในบ่อกินอาหารที่ให้ในครั้งก่อนหมดแล้วหรือยัง เพราะการให้อาหารที่มากเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสีย
ปริมาณการให้อาหารเป็นการเช็คสอบความหนาแน่นของกุ้งในบ่อด้วย


ยอประจำที่ (Big Lift Net )
บางแห่งเรียกยอนี้ว่า ยอขันช่อ ยอนี้มีเสารับผูกคันยกให้โยกขึ้นลงได้ หรือจะใช้การทำเป็นห่วงคล้องก็ได้ จึงเป็นยอที่อยู่ประจำที่ ที่อีสานเรียกยอนี้ว่า สะดุ้งใหญ่

ยอประจำที่ต้องมีเหยื่อล่อ เมื่อปล่อยยอลงในผืนน้ำแล้วใช้ดินปั้นเป็นก้อนคลุกรำข้าว โยนลงในกลางยอ ล่อปลาและสัตว์น้ำที่ได้กลิ่นรำมากินเหยื่อ เมื่อยกยอขึ้น ใช้สวิงด้ามยาวตักปลาหรือสัตว์น้ำในผืนอวนยอขึ้นมา รวมทั้งก้อนดิน นำมาคลุกรำข้าวใหม่สำหรับการโยนครั้งใหม่ด้วย
ยอนี้มักติดตั้งไว้หน้าบ้านริมแม่น้ำลำคลอง การยกยอต้องทำในช่วงน้ำขึ้นสำหรับบ้านริมแม่น้ำ

ที่บ้านพลอยโพยม ไม่ติดตั้งยอไว้ถาวร เพราะสะพานท่าน้ำต้องใช้ให้เรือเมล์ลำใหญ่มากมาจอดรับส่ง พี่ๆผู้หญิงที่เป็นนักเรียนเดินทางเข้าไปเรียนหนังสือในตัวจังหวัด และใช้จอดเรือสำหรับพายข้ามฝั่งแม่น้ำสำหรับรับส่งพ่อของพลอยโพยมซึ่งทำงานที่ศาลากลางจังหวัด รวมทั้งพี่ๆผู้ชายที่ไปเรียนในตัวจังหวัดด้วยการโดยสารรถประจำทางต้องผ่านเข้าออกถนนของวัดไปสู่ถนนใหญ่ ที่วัดบางกรูด ถ้าจะยกยอช่วงเสาร์อาทิตย์ ก็ไม่คุ้มกับการติดตั้งยอและรื้อออก ดังนั้นถ้าจะมีการยกยอก็เป็นช่วงปิดเทอม การยกยอจึงมีฤดูกาลสำหรับที่บ้าน พอติดตั้งยอที่หัวสะพานแล้ว เด็กๆ ก็จะแย่งขอเป็นคนยกยอเมื่อมีการโยนเหยื่อลงไปแล้ว เด็กๆจะใจร้อนอยากยกยอขึ้นเร็วๆ แต่พี่ๆ ก็จะให้รอเพื่อคำนวณระยะเวลาว่ามีสัตว์น้ำเข้ามากินเหยื่อแล้วจึงจะยก เด็กๆ อย่างพลอยโพยมขอเป็นคนยกยอขึ้นมา พอยกแล้วก็ทานน้ำหนักของน้ำที่ยังอยู่ในอวนยอไม่ไหว ยอก็หล่นตุ๋มลงน้ำใหม่ กุ้งปลาในยอก็พากันหนีได้หมด พลอยโพยมทำบาปไม่ขึ้นในเรื่องสัตว์น้ำ ขนาดตกปลาและปลากินเบ็ดแล้วพอตวัดคันเบ็ดขึ้น ปลาก็หล่นจากเบ็ดที่เกี่ยวปากปลาหล่นลงน้ำไม่เคยตกปลาด้วยคันเบ็ดได้เลยสักที ที่ทำบาปไม่ขึ้นก็เพราะใจร้อนนั่นเอง ไม่ได้เป็นคนดีอะไรหรอก

เมื่อมียอถ้าไม่ยกก็ไม่ได้อะไร การใช้งานของยอ จึงใช้คำว่ายกยอ
มีสำนวนไทย ที่ว่า ยกยอปอปั้น ซึ่งมีความหมายว่ายกให้,มอบให้, ยกย่องเกินจริง ส่วนยกยอ ในพจนานุกรมแปลว่า พูดส่งเสริมให้ดีขึ้น แต่การยกยอของชาวบ้านชาวน้ำต่างกัน ยกยอนั้นเป็นวิถีการจับสัตว์น้ำมาบริโภคหรือขาย เมื่อยกยอขึ้นมาอย่างไม่ได้อะไรอื่นก็ต้องมี กุ้งเล็ก ปลาน้อย ติดขึ้นมาทุกครั้ง อย่างน้อยก็มีลูกกุ้ง ปลาซิว ปลาเข็ม ปลาแขยง ลูกปลากระดี่ กันละ ถ้าไม่ต้องการก็ปล่อยคืนลงแม่น้ำไป ซึ่งบางทีก็กลับวนมาเข้ายอใหม่อีก ดื้อจริงๆ ช่างไม่เข้าใจเสียเลยว่าฉันไม่ต้องการพวกเธอจ้ะ
สัตว์น้ำที่ได้จากการยกยอ ริมแม่น้ำก็เป็นสัตว์น้ำที่ชอบอยู่ชายฝั่งหรือน้ำตื้นทั้งกุ้งตะเข็บ กุ้งฝอย กุ้งหัวแข็ง กุ้งตะเข็บ กุ้งดีดขัน และปลาเช่นปลาหางไก่ ปลากะตัก ปลากระบอก ปลาแขยง ปลาซิว ปลาสร้อย ปลากระดี่
ในช่วงที่มีกุ้งชุกชุม บางบ้านยกยอได้มากพอที่จะเอาไปขายให้ร้านค้าที่ตลาดวัดบางกรูดก็มี




สวิงหรือช้อน ( Dip Net)
เป็นเครื่องมือขนาดเล็กที่มีใช้กันแทบทุกบ้านในชนบทคู่กับแห เป็นทั้งเครื่องมือหาสัตว์น้ำโดยตรง และใช้ประกอบกับเครื่องมืออื่น (เช่นใช้ตักช้อนสัตว์น้ำจากยอ หรืออื่นๆเป็นต้น)
การใช้สวิงคู่กับคำว่าช้อน เช่นเอาสวิงไปช้อนกุ้ง เอาสวิงไปช้อนปลา
สวิงมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และบางที่เรียกสวิงว่าช้อน


สวิงปากกลม (ช้อนกลม) ( Shrimp Dip Net )
คือผืนตาข่ายหรือเนื้ออวนทรงกลมที่ปาก เรียวยาวลงที่ก้นสวิง ที่ปากสวิง ทำขอบด้วยไม้ไผ่เป็นวงกลมหรือวงรี มีทั้งมีด้ามและไม่มีด้าม ถ้ามีด้ามมักเป็นสวิงหรือช้อนทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วแล้วแต่ความชอบของผู้ใช้หรือความเหมะสมของการใช้งาน ปัจจุบันนิยมใช้ท่อพีวีซีทำขอบหรือปากช้อน เนื้ออวน เป็นพลาสติกผสม ไม่นิยมผืนตาข่ายด้ายแล้วเพื่อความทนทาน
สวิงนี้ใช้สำหรับช้อนกุ้งปลาตามริมตลิ่งริมแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงทั่วไปหรือดำช้อนกุ้งตามเสาเรือนในน้ำ ในท้องร่องสวนและตามซั้งหรือกล่ำที่มีการล้อมจับ มีใช้กันแทบทุกบ้านอีกเช่นเคย เป็นเครื่องมือที่ใช้ทั้งในย่านน้ำจืดและน้ำเค็มหรือชายฝั่งทะเลรวมทั้งในบ่อเลี้ยง เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก

ที่บางกรูด บางครั้ง ก็ใช้วิธีง่ายๆของสวิงจับสัตว์น้ำ คือเมื่อน้ำลงพอเดินตามชายฝั่งตลิ่ง เพียงเอาสวิงเดินไล่ช้อนตามริมตลิ่ง หากมีกอหญ้า กอเถาวัลย์ กอเตย ( เตยที่มีใบเป็นหนาม มีลูกเตย ที่ คุณยายชอบเอามาผ่าขัดพื้นบ้าน ไม่ใช่เตยหอมไหว้พระ ทำขนม) ก็จะเป็นที่ชุมนุมของเหล่าสัตว์น้ำที่ชอบอยู่บริเวณน้ำตื้น

สำหรับบ้านสวน ร่องสวนในสมัยก่อนจะต้องขุดลึกเพื่อให้เก็บกักน้ำไว้ในหน้าแล้งได้ ร่องสวนต้องมีท่อระบายน้ำเข้าออกกับคลองได้ ในช่วงปล่อยน้ำเข้าร่องสวนจะมีพันธุ์สัตว์น้ำตามกระแสน้ำเข้ามาเติบโตในท้องร่องโดยเฉพาะ กุ้ง ปลา เวลาที่ฝนตกใหม่ๆ กุ้งจะขาดออกซิเจนในน้ำ พากันเงยหัวขึ้นมาให้เจ้าของสวนเห็นความชุกชุม แล้วก็จะถูกเจ้าของสวนหรือคนอื่นที่รู้ธรรมชาตินี้เอาสวิงลงไปไล่ช้อนเอากลับบ้านลงหม้อแกง การเปิดเผยตัวตนในที่สาธารณะเหนือผิวน้ำของกุ้งก็ชักนำเภทภัยถึงขั้นชะตาขาดมาสู่ตัว แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะอากาศไม่พอหายใจส่วนใหญ่เป็นกุ้งตะกาด กุ้งฝอย
บางครั้งเด็กๆลงไปยืนที่ชายฝั่ง มือหนึ่งถือสวิงตั้งไว้อีกมือ วักน้ำ พุ้ยน้ำ เข้าสวิงแรงๆ ก็ได้ กุ้งปลามาเหมือนกันง่ายดีจริงๆ ที่ได้กุ้งปลามาเพราะในแม่น้ำมีกุ้งปลาอุดมสมบูรณ์นั่นเอง




สำหรับหน้าน้ำกร่อย ชาวบ้านริมฝั่งน้ำก็มีกิจกรรมพิเศษตามฤดูกาล คือการพายเคยกะปิ เคยกะปิ ที่ได้จากการพายเรือจะเป็นเคยตาแดงตัวใหญ่กว่าการกางอวน รออวน ที่บ้านมักแบ่งมาทำกุ้งต้มเค็ม (ต้มใส่เกลือและน้ำตาลปี๊บ) ไว้กินเป็นกับข้าว และทำกุ้งแห้งคือต้มแล้วตากแห้ง มีเมนูต่อมาที่คาดหวังคือ มะม่วงน้ำปลาหวานใส่ด้วยกุ้งแห้งเคยเป็นตัวๆ เพราะมะม่วงเริ่มออกผลในช่วงน้ำกร่อยนี้เอง หากได้เคยกะปิมากก็หมักเกลือเพื่อทำกะปิหรือผสมรวมกับเคยกะปิ ที่กางอวนหรือรออวนในแม่น้ำได้

ชาวบ้านริมฝั่งน้ำจึงรอคอยการพายเคยกะปิที่ชาวบ้านเรียกเคยนี้ว่ากุ้งเคย กุ้งกะปิ การพายเคยกะปิต้องทำตอนน้ำขึ้นเต็มฝั่ง โดยการนำสวิงขอบกลม ผูกขอบสวิงเป็นสามมุมด้วยเชือกสามเส้น มีความยาวเท่ากันประมาณศอกเศษๆ จับเชือกสามเส้นผูกมัดรวมกัน แล้วมีเชือกยาวอีกเส้นผูกตรึงที่มุมบรรจบของเชือกสามเส้นปลายอีกด้านผูกกับห่วงโซ่ของหัวเรือ คำนวณระยะความยาวของเชือกเส้นที่สี่ว่าพอดีให้ปากสวิงอยู่ในบริเวณหลังไม้พายที่คนพายจะนั่งพายเรือ เรือที่ใช้พายเคยควรเป็นเรือลำเล็กเช่นเรือป๊าบ เรือเป็ด เรือบด สามารถพายคนเดียวได้ ถ้าลำโตขึ้นมาเช่นเรือสำปั้นควรมีสองคนคือมีคนช่วยพายท้ายเรือ สำหรับเรือเล็กที่กล่าวข้างต้นคนนั่งพายจะนั่งค่อนไปทางหัวเรือประมาณกระทงที่สองของลำเรือ ปล่อยสวิงลงน้ำแล้วออกแรงพายจ้ำให้เกิดกระแสน้ำวนเข้าสวิง เคยก็ถูกกระแสดูดพัดวนให้เข้ามานอนแอ้งแม้งที่ก้นสวิง หมดแรงว่ายหนีออกมาเพราะมีกระแสน้ำจากไม้พายเข้าสวิงมาเป็นระลอกๆ ตัวเคยเองก็ถูกบรรดาพรรคพวกเคยด้วยกันที่พลัดหลงเข้ามาใหม่ทับถมเข้ามาทีละน้อยๆ

หากคนพายเรือรู้สึกเมื่อยล้าอยากหยุดพักหรือคิดว่าได้เคยพอสมควรแล้วก็หยุดพายยกสวิงขึ้นจากน้ำ จับก้นตาข่ายสวิงคว่ำเคยลงในตะแกรงไม้ไผ่สานหรือภาชนะอื่นที่เตรียมมา แล้วลงมือพายจ้ำต่อไป แต่ละคนจะมีจุดหมายของตัวเองว่าพายไปไกลแค่ไหนแล้วจึงหันลำเรือพายย้อนกลับ การพายเคยกะปิจะพายกลับไปกลับมาในเส้นทางเดิม
เมื่อมีเรือหลายลำก็จะต้องมีการพายตามกันไปหรือพายสวนกัน จัดวิถี จราจรเรือพายไม่ให้ประสานงากันโดยการหลบกันไปหลีกกันมา ส่วนใหญ่คนพายเรือจะจัดร่องน้ำพายเรือคนละร่องกับเรือลำหน้า เพราะย่อมได้เคยน้อยหากพายซ้ำร่องน้ำ ประสบการณ์จะสอนเองว่าควรพายอย่างไร หากมีเรือขวักไขว่ใครเหนื่อยก็จอดแวะพักตามใต้ต้นลำพู ทักทายพูดคุยกับเพื่อนบ้านที่ออกมาพายเคยกะปิด้วยกัน ใครมีอารมณ์สุนทรีก็แหงนชมดอกลำพู ดอกแสม ที่ยื่นกิ่งออกมากันไป ( ถ้าเป็นเวลากลางวันก็ไม่ต้องมองหา ทิ้งถ่วง (หิ่งห้อย) กันหรอก เพราะเวลากลางวันหรือยามเย็นทิ้งถ่วงไม่เยื้องกรายมาให้ชาวประชาพบเห็นแน่นอน ทิ้งถ่วงจะพาออกกันมาจากที่หลบซ่อนตัวในยามที่โพล้เพล้ใกล้ค่ำแล้ว )

บางคนใช้สวิงปากกลมแต่ตีไม้เป็นด้ามแล้วมีไม้ตรึงยึดข้างเรืออีกที ไม่ต้องผูกเชือกโยงปากสวิงก็มีบ้าง
หากใช้เรือลำใหญ่จะไม่สะดวกในการพาย เพราะต้องใช้แรงมากเพื่อให้เรือเคลื่อนที่ เรือที่เคลื่อนที่ช้ากระแสน้ำจากใบพายก็มีแรงน้อย ทำให้ได้เคยในสวิงน้อยไปด้วย เรือลำไหนเป็นเรือยิ่งเล็กคนพายมีแรงมากก็จะได้เคยกะปิมากกว่าชาวบ้านคนอื่นๆ

การพายเคยกะปิก็ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์เข้ามาช่วย ถ้าเราอยู่หัวสะพานบ้านนั่งมองเรือพายแต่ละลำ จะเห็นความแตกต่างของปริมาณเคยกะปิในตะแกรงไม้ไผ่สานหรือกะละมังที่หัวเรือแต่ละลำได้ชัด เรือบางลำพายได้มากจนมองเห็นความแตกต่าง และบางลำก็น้อยผิดปกติจากลำเรืออื่นๆเช่นกัน และอีกหลายๆลำได้ปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ศาสตร์และศิลป์นี้ เรียกง่ายๆ ว่า ความถนัดส่วนบุคคล
แต่ละคนจะมีความชอบและความถนัดในการจับสัตว์น้ำแตกต่างกันเช่นคุณพ่อมีความถนัดในเรื่อง ซั้ง น้องชายมีความถนัดในการงมกุ้งก้ามกราม การล้วงปูทะเล พี่ชายถนัดในการกางอวนรอเคยกะปิ การปิดคลอง บางคนถนัดกับการตกปลาเป็นต้น



ภาพที่เรือผีหลอกลำนี้กำลังแจวอยู่ในฝั่งที่ดินชายฝั่งพังทลาย ริมฝั่งจึงไม่มีแนวจาก ลำพูและแสม

ฝั่งแม่น้ำมีศัพท์เรียกชายฝั่งตามการยื่นออกและการพังทลายของฝั่งว่า ฝั่งแหลมและฝั่งคุ้ง ฝั่งที่ดินพังทลาย ก็จะไม่มีแนวป่าจากที่เสริมแซมด้วยต้นแสม ต้นลำพู ต้นตะบูน ปอทะเล โพทะเล ต้นเหงือกปลาหมอ กอเถาวัลย์ เป็นต้น ป่าจากยังมี ต้นขลัก หรือประสัก หรือพังกาหัวสุ่ม รังกะแท้ ต้นลุ่ย และอื่นๆ ขึ้นแทรกในป่าจากชั้นในอีก แม่น้ำฝั่งที่ไม่มีแนวป่าจากจะไม่มีการพายเคยกะปิ เพราะพายแล้วไม่ได้ผล ดังนั้นชาวบ้านคนละฝั่งแม่น้ำบางคนจะพายเรือข้ามฝั่งมาเพื่อพายเคยกะปิที่อีกฝั่งกัน ซึ่งแม้แต่ในแนวชายฝั่งแม่น้ำฝั่งที่พายเคยกะปิได้นั้นก็พายได้เป็นช่วงๆเท่านั้นไม่ตลอดแนวฝั่ง การมีเคยกะปิให้พายจับด้วยสวิงได้ เกี่ยวพันกับร่องกระแสน้ำด้วย ชาวบ้านเชื่อกันว่า เคยกะปิ จะว่ายเคลื่อนที่มาในช่วงน้ำขึ้น เป็นสาย เป็นฝูงตามกระแสน้ำนั่นเอง เป็นเคยกะปิที่เกิดในช่วงเวลาที่น้ำเค็มของทะเลหนุนเข้ามาในเขตน้ำจืดทำให้น้ำในแม่น้ำเป็นน้ำกร่อย

ยังมีช้อนหรือสวิงอีกหลายรูปแบบ มีชื่อเรียกต่างๆกันตามลักษณะการใช้งาน หรือตามท้องถิ่นที่ใช้งานเรียกหากัน แต่ขอกล่าวเฉพาะที่ชาวบางกรูดใช้กันเท่านั้น





สองฝั่งของแม่น้ำ ฝั่งหนึ่งมีแนวป่าจาก และอื่น ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นฝั่งพังจีงต้องมีการสร้างสิ่งป้องกันการพังทลาย เผอิญเป็นฝั่งตัวเมือง





หมายเหตุ ในน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มจะมีแพลงตอนพืชและแพลงตอนสัตว์ที่มีคุณสมบัติเรืองแสงได้ ประกอบกับธาตุฟอสฟอรัสในน้ำเองที่มีคุณสมบัติเรืองแสงเช่นกัน แต่การเรืองแสงจะมองเห็นได้นั้น ต้องเกิดการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนที่ จึงจะมองเห็นด้วยสายตาเปล่าและจะเห็นได้ชัดในที่มืด ( แก้ไข- มีสัตว์น้ำบางประเภทที่มีแพลงตอนเรืองแสงเข้าไปเกาะอยู่ร่วมด้วยที่ผิวหนัง เช่น แมงกะพรุน ปะการัง หอยมือเสือเป็นต้นหากใช้ Blue Light ส่อง ก็จะเห็นการเรืองแสงได้ชัดเจนขึ้น)
ดังนั้นในคืนเดือนมืดของหน้าน้ำกร่อยนี้ หากเราลงไปว่ายน้ำอีกทั้งพายเรือหรือแค่เอามือ ตีน้ำ พุ้ยน้ำ ก็จะพบว่ามีเพชรนิลจินดา แวววาว พร่าพรายตามรอยวนของกระแสน้ำเต็มไปหมดรอบๆตัว(ถ้าว่ายน้ำ) เมื่อพายเรือผ่านต้นลำพูที่มีแสงพร่างพราว วิบไหว ตามการกระพริบแสงของทิ้งถ่วงหรือหิ่งห้อย ที่ผืนน้ำก็ระยิบระยับกับการเรืองแสงของน้ำและเหล่าแพลงตอน ช่างงดงามน่าอัศจรรย์ใจเกินบรรยายยิ่งนัก แถมผู้ใหญ่ในบ้านก็มีเรื่องเล่าตามคำเล่าลือต่อๆมาประเภทที่ว่า เขาเล่ากันว่า .. เมื่อก่อนนี้ที่ต้นลำพูใหญ่ปากคลองศาลเจ้า( ใกล้บ้านพลอยโพยมนั่นเอง) เคยมีผีพรายโผนขึ้นจากน้ำเพื่อเกาะกิ่งต้นลำพูใหญ่ เพื่อเล่นกับหิ่งห้อย แล้วก็โจนลงน้ำ แล้วโผนขึ้นมาใหม่ น้ำในแม่น้ำ เกาะตัวผีพรายวาวไปทั้งตัว ผีพรายโผนขึ้นโผนลงหลายครั้ง คนที่พายเรือผ่านมา พายจ้ำแทบขาดใจกลับบ้านกันแล้วเอามาเล่าต่อ ต้นลำพูต้นนี้ใหญ่มากขึ้นจากฝั่งคลองด้านหนึ่ง แผ่กิ่งก้านสาขาไปยังอีกฝั่งคลอง ลึกจากปากคลองประมาณไม่ถึง ร้อยเมตร มีศาลเจ้าไม้สักหลังใหญ่อายุขณะนี้ประมาณ สองร้อยกว่าปีแล้ว ประดิษฐานเจ้าพ่อในศาลเจ้า
คำเขาเล่าว่านี้...พลอยโพยมยังคิดไม่ออก ว่า เล่าเพื่อจุดประสงค์ใด จำได้แต่เพียงว่า ต้นลำพูใหญ่ปากคลองศาลเจ้าเป็นสถานที่ต้องห้าม ไม่ควรผ่านในเวลาค่ำคืน หากเป็นกุ้งก้ามกรามคงเกิดอาการกลัวจนขี้ขึ้นสมอง ทำนองนั้นเลยทีเดียว แต่เผอิญ พลอยโพยม เป็นคน ก็เลยไม่มีอาการนั้น แค่ หวาดหวั่นพรั่นใจไม่ยอมย่างกรายไปแถวนั้นในเวลากลางคืนเท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น