วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชลวิถี....ที่บางกรูด.....


ขอแนะนำเครื่องมืออุปกรณ์ และ วิธีการจับสัตว์น้ำ ไปพร้อมๆกัน

นอกจากการทำโพงพาง ที่ถือเป็นอาชีพประมงอย่างแท้จริง ต้องรับอนุญาตจากทางราชการ และจะไม่มีโพงพาง หลายแห่งในแต่ละอำเภอ ยกเว้นที่อำเภอบางปะกง เนื่องจากเป็นการกีดขวางการจราจรทางน้ำอย่างถาวร เพราะแต่ละโพงพางแม้ต้องสร้างขวางกลางลำน้ำ แต่เจ้าของมักสร้างโพงพางหลายปาก (คือหลายช่อง) กินบริเวณในแม่น้ำมากพอสมควร
ส่วนใหญ่การหาสัตว์น้ำของชาวบางกรูดเป็นเพียงอาชีพเสริมมักทำกันตามฤดูกาล หรือตามความสะดวกของแต่ละบ้านมากกว่า รวมทั้งความชอบหรือถนัดเป็นส่วนตัวบุคคล มิใช่อาชีพหลัก สัตว์น้ำสามารถหาได้ตามท้องนา ลำคลองหนองบึง รวมทั้งในแม่น้ำ

โพงพาง ( Set bag )
ตามที่เคยกล่าวถึงว่า ต้องปักเสาไม้ขวางในน้ำ โพงพางทำได้ในที่มีน้ำไหลแรง เช่นในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล ทะเลสาบ ที่มีพื้นเป็นดินโคลน โดยปักเสาไม้ลงในน้ำ มีส่วนของไม้โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำเป็นที่สังเกตว่า มีโพงพางอยู่บริเวณนั้น ที่ระหว่างเสาไม้ 2 ต้น ระยะห่างเสาประมาณ 3 วา มีถุงอวนปลายเรียว ที่มีขนาดความถี่ ห่าง ตามความเหมาะสมของความต้องการสัตว์น้ำ ที่ปากอวน จะตาห่าง บริเวณก้นอวน จะเป็นตาถี่ สัตว์น้ำที่จับได้จะไปกองรวมกันที่ก้นถุงอวน กะเวลาตามประสบการณ์ที่มีกันมา ว่าจะกู้อวนเวลาใด ทั้งน้ำขึ้นและน้ำลง( ต้องมีการ กลับทิศทางของปากอวนตามลักษณะขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำ) เมื่อได้เวลาก็นำเรือออกไปกู้อวน โดยกู้จากปลายถุงอวน สัตว์น้ำที่ได้ มีทั้ง กุ้ง ปู ปลา คนที่ทำโพงพางนี้ถือว่าเป็นอาชีพหลักเป็นชาวประมงเต็มตัวนั่นเอง

ที่บางกรูดมีโพงพางของนายอึ้งชาวจีน 100% ต่อมาลูกๆ เปลี่ยนแซ่เป็นนามสกุลไทยว่า กิจประมงศรี โพงพางมีหลายปาก เวลาพายเรือข้ามไปวัดบางกรูดช่วงน้ำขึ้น เด็กๆมักกลัวว่าเรือจะลอยไปติดโพงพาง โพงพางของนายอึ้ง มีไม้ช่วยคำยันกันหงายอีกด้วย จำนวนไม้ยิ่งเพิ่มจากตัวเสาไม้ รอบๆเสาโพงพางจะมีน้ำวนรอบเสาทำให้หวาดหวั่นใจ ดังนั้นเราจะป้องกัน ด้วยการพายเรือที่ริมฝั่งย้อนลงไปทางขวามือ ก่อนพายเรือข้ามฝั่ง เพราะโพงพางอยู่ด้านซ้ายมือ เวลาน้ำขึ้นน้ำจะไหลไปทางด้านซ้ายมือ เวลาน้ำลงน้ำจะไหลไปทางขวามือของบ้านที่หันหน้าเข้าหาวัดบางกรูด และบ้านหันหน้าสู่ทิศตะวันออก คนบางกรูดที่ต้องการซื้อ กุ้งปลาจากโพงพางต้องพายเรือไปซื้อเองตอนที่เจ้าของโพงพางกู้อวนเอากลับฝั่งแล้ว ซึ่งจะเลือกซื้อได้ก่อนใคร เหลือจากมีคนมาซื้อเองที่โพงพางบางครั้งลูกสาวนายอึ้ง ชื่อ เจ้เจ็ง เจ้หงส์ ก็จะเอากุ้งปลามาพายขายตามบ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำ กุ้งในอวนเช่น กุ้งตะเข็บ กุ้งตะกาด กุ้งหัวแข็ง ราคากิโลกรัมละ 10 -12 บาท (หมายถึงมีการปรับขึ้นราคาตามระยะเวลา รอบหลายๆปี มิใช่ราคาตามประเภทของกุ้ง เพราะกุ้งส่วนใหญ่ มีคละกันบ้าง) ซื้อกันครั้งละ 1-2 กิโลกรัม สัตว์น้ำจากโพงพางก็จะมีหลากหลายตามธรรมชาติของน้ำคือ น้ำจืดหรือน้ำกร่อย ชาวบ้านก็พอจะรู้เวลากู้อวนของโพงพาง เช่นช่วงน้ำลง โพงพางก็จะกู้อวนใกล้ๆเวลาหัวน้ำขึ้นเป็นต้น

บางครั้งคุณยายก็จะซื้อกุ้งหลายกิโลกรัม เอามาต้มแล้วตากเป็นกุ้งแห้ง ที่บ้านพลอยโพยมเป็นลูกค้าซื้อแต่กุ้ง ส่วนปลานอกจากหาเองแล้ว ก็จะซื้อจากเรือสำเป๊ะ หรือเรือเช้าเป๊ะ(ชื่อเรียกของท้องถิ่น) หรือเรือผีหลอกซึ่งพายในหน้าหนาว ปลาที่นิยมซื้อคือปลาตะเพียนเอามาต้มเค็ม

ปัจจุบันโพงพางนี้หมดสัมปทานไปนานแล้วต้องเลิกกิจการ ลูกชายนายอึ้งแยกบ้านเรือนไปทำอาชีพอื่น เจ้เจ็งที่ยังคงอยู่บ้านเดิมแต่เปลี่ยนเป็นการกางอวนมีทุ่นลอยในแม่น้ำแทนส่วนใหญ่ รอกุ้งเคยทำกะปิ เจ้หงส์ไปอยู่กรุงเทพกับหนูอี่ น้องสาวคนสุดท้อง (หนูอี่เป็นลูกสาวคนสุดท้องเป็นพยาบาล ที่บ้านนายอึ้งเรียกน้องที่ชื่อ อี่ แบบเอ็นดูว่าหนูอี่ แล้วคนทั้งตำบลก็พลอยเรียก หนูอี่ไปด้วย แม้พลอยโพยมอายุน้อยกว่า หนูอี่มาก ก็เรียก คุณอี่ ว่า หนูอี่ )
ปัจจุบันคนบางกรูดจะกินกุ้งก็ต้องไปซื้อจากร้านค้าที่รับกุ้งมาจากที่อื่น หรือบางครั้งคนบางกรูดเองจับกุ้งจากการรออวนหรือจับมาจากบ่อเลี้ยงเอามาขาย แต่เป็นส่วนน้อยและนานๆครั้ง

เรื่องพายเรือข้ามแม่น้ำเจอน้ำวนนี้ ถ้าน้ำขึ้นก็กลัวลอยไปติดโพงพาง แต่ถ้าเป็นช่วงน้ำลงก็กลัวไปเจอน้ำวนที่กองหินใกล้โรงสีนายบู๋เลียด ที่อดีตเคยมีโรงสีนายหม้ออยู่ปากคลองหนองบัวใกล้ๆกัน มีซากเสาหินที่เคยเป็นสะพานท่าน้ำเกือบสิบเสายื่นออกมาจากฝั่ง ความที่อยู่ใกล้ปากคลอง ในช่วงน้ำไหลลงน้ำจะวนน่ากลัว เลยจากบริเวณวังน้ำวน ก็เป็นกองหินกองใหญ่ ที่โรงสีนายบู๋เลียดเทกองหินยื่นออกมาเพื่อรักษาการพังทลายของชายฝั่ง เป็นแหลมยื่นออกมารับน้ำวนไว้ ทำให้น้ำยิ่งวนมากขึ้นอีก เด็กๆ เรียกบริเวณนี้ว่าหัวหิน หากเป็นช่วงน้ำขึ้น บริเวณนี้ก็จะน่ากลัวน้อยกว่าช่วงน้ำลง ในเวลาน้ำลงเมื่อจะพายเรือข้ามฝั่ง เราจะต้องพายอยู่ริมฝั่งย้อนขึ้นไปทางซ้ายมือเป็นระยะไกลพอสมควร จึงจะพายเรือข้ามได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เรือลอยไปติดวังน้ำวนที่หัวหินปากคลองหนองบัวนั่นเอง
การพายเรือข้ามฝั่งแม่น้ำในแต่ละครั้งก็ต้องดูตาม้าตาเรือให้ดีเสียก่อน ต้องคาดคะเนความแรงของกระแสน้ำว่าจะพาเรือเราลอยไปถึงบริเวณใดด้วยเมื่อถึงฝั่งตรงข้าม นอกจากกระแสน้ำแล้ว กระแสลมก็มีส่วนอย่างมากที่จะนำพาเรือของเราเบี่ยงเบนจากเป้าหมายหากกระแสลมแรง

อวน ( Net)
เป็นเครื่องมือที่ใช้กันแพร่หลาย ลักษณะเป็นตาข่ายผูกถักด้วยเส้นด้าย เชือกหรือไนลอน ใช้ทั้งในแหล่งน้ำจืด และท้องทะเล ปากอวนกว้างขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ค่อยๆเรียวยาวเหลือความกว้างประมาณ ครึ่งเมตร ในช่วงหางอวน ตาข่ายจะถี่และเล็กมากป้องกันการเล็ดลอดของสัตว์น้ำที่หลงเข้ามาติดอวน ลักษณะการจับสัตว์น้ำแบบนี้ชาวบ้านเรียกว่าการกางอวน
อวนมีหลายประเภท เช่น อวนฉลอม อวนตังเก อวนดำ อวนติดปลาทู อวนถุง อวนทับตลิ่ง อวนโป๊ะ อวนโพงพาง อวนลาก อวนล้อม อวนล้อม อวนลอยกลางน้ำ อวนลอยสามชั้น อวนลอยหน้าดิน อวนรุน เป็นต้น

อวนสำหรับแม่น้ำ คืออวนโพงพาง ( set bag net )
คืออวนที่ใช้สำหรับการทำโพงพาง ทั้งโพงพางน้ำจืดและโพงพางน้ำเค็ม ลักษณะ เป็นถุงอวน ปัจจุบันมีอวนประเภทนี้น้อยลงเพราะโพงพางส่วนใหญ่ถูกยกเลิกกิจการ
ชาวบ้านบางกรูดทั่วไป ใช้ถุงอวนลอยกลางน้ำ นี้ กางอวน รอจับสัตว์น้ำในเวลาน้ำจืด และรอจับเคยกะปิในหน้าน้ำกร่อย โดยการทิ้งสมอเรือที่โยงผูกยึดตรึงอวน ปากอวนผูกกับลำไม้ไผ่ ปล่อยลำไม้ไผ่ทอดนอนในลำน้ำขวางลำน้ำ มีทุ่นลอยเป็นถังพลาสติกให้รู้จุดตำแหน่งของอวน เนื่องจากอาศัยสมอเรือตรึงยึด จึงมีจำนวนปากอวนได้ไม่มากหลายปากนักต้องคำนวณการรับน้ำหนัก ตามขนาดของสมอเรือนั่นเอง

อวนล้อมกร่ำ ( Bush pile net ) เป็นผืนอวนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พัฒนามาจากการที่ในอดีตใช้เฝือกไม้ไผ่ในการล้อมจับสัตว์น้ำ ในกร่ำ ซึ่งการใช้อวนนี้สะดวกมากกว่าการใช้เฝือกล้อม อวนล้อมกร่ำต้องใช้ทั้งเรือและแรงคนช่วยกัน นิยมใช้ในน่านน้ำกร่อยและน้ำจืด


เฝือก (Bamboo Screen)
เฝือกคือ ของทำเป็นซี่ถักให้ติดกันเป็นผืนสำหรับกั้นน้ำดักปลา
ได้จากการผ่าไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ ขนาดเล็กใหญ่ สั้นยาว ขึ้นกับความต้องการและเหมาะสมกับการใช้งาน นำมาผูกมัดจะเรียกว่าถักหรือกรองหรือกรอ ด้วยเชือกแต่ละซี่ให้ติดกันยาวเป็นแผง
เป็นเครื่องมือหาสัตว์น้ำประจำบ้าน หรือประกอบร่วมกับเครื่องมืออื่นอีกในการจับสัตว์น้ำ นิยมใช้บริเวณชายฝั่ง ริมตลิ่ง หรือบริเวณที่น้ำท่วมถึง เมื่อไม่ใช้งานก็ม้วนเก็บได้
นอกจากใช้จับปลาริมตลิ่ง หรือนำไปล้อมซั้ง หรือกล่ำแล้ว ยังนำไปใช้ประกอบกับลอบนอนลอบยืน
ปัจจุบันจะพบเห็นพ่อค้าแม่ค้า นำเฝือกมาปูเป็นพื้นวางขายสินค้า ตามริมถนน ทั่วไป หรือตามตลาดนัดต่างๆ เพียงแต่ไม่ต้องเสี้ยมปลายแหลมของไม้ไผ่


กร่ำ กล่ำ ซั้ง (Bush pile )
ที่บางกรูด ใช้คำเรียกขานว่าซั้ง เป็นวิธีการล่อสัตว์น้ำ ให้เข้ามาอาศัยในซั้ง ซึ่งมีวิธีทำด้วยการตัดกิ่งไม้ สูงพอประมาณที่จะปักลงในพื้นดิน พื้นเลน ที่ชายฝั่งแม่น้ำ และมีส่วนสูงพ้นน้ำพอประมาณเมื่อน้ำขึ้นเต็มที่ กิ่งไม้มักเป็นกิ่งไผ่ กิ่งขลัก (ประสัก หรือพังกาหัวสุ่ม ) กิ่งแสม กิ่งสะแก หรือกิ่งไม้อื่นๆ ในท้องถิ่น แต่จากประสบการณ์ กิ่งไผ่จะเป็นกิ่งที่สะดวกที่สุด เพราะลำไผ่ตรง มีกิ่งแขนงมาก เป็นที่ชื่นชอบของสัตว์น้ำกว่ากิ่งไม้อื่น บรรดาสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยในซั้งนี้ เพราะต้องการความร่มเย็น มีซอกหลืบให้หลบซ่อนตัว
นำกิ่งไม้เหล่านี้มาปักสุมรวมๆกันที่ริมตลิ่งเว้นระยะห่างฝั่งที่พอเหมาะสมกับช่วงน้ำลง ให้มีปริมาณน้ำพอให้สัตว์น้ำยังรู้สึกปลอดภัยที่จะอาศัยอยู่ในซั้งนี้ไม่ออกจากซั้งไป

เมื่อได้ระยะเวลาที่เหมาะสมและน้ำลงได้ที่ดีต้องระดมคนมาช่วยกันล้อมซั้ง คนก็ว่ายน้ำไปที่ซั้งหรือจะเดินลุยริมตลิ่งไปก็ได้แต่ต้องมีเรือและคนพายเรือพายเรือไปที่ซั้ง ในเรือมีอุปกรณ์คือเฝือกไม้ไผ่ สวิง ขนาดต่างๆ ปี๊บ กระแป๋ง กะละมังใส่สัตว์น้ำ เราไม่เอาสัตว์น้ำใส่ท้องเรือเพราะไม่สะดวกในการขนสัตว์น้ำขึ้นบ้าน เมื่อไปถึงซั้งเอาเฝือกไม้ไผ่มาล้อมรอบซั้ง ปักเผือกด้านปลายที่มีการเสี้ยมแหลมลงบนพื้นตลิ่งในแน่นหนา เอาตัวเข้าไปอยู่วงในของเฝือกแล้วค่อยๆถอนกิ่งไม้ออกที่ละกิ่งออกมากองที่เลนชายฝั่งจนหมด แล้วจึงใช้สวิงไล่ช้อนสัตว์น้ำในวงล้อมของเฝือก จะได้สัตว์น้ำมากมายหลายประเภท ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งจะมีมากในฤดูหนาวจนถึงเวลาน้ำเริ่มกร่อย ในช่วงน้ำจืดจะมีสัตว์น้ำเข้ามาอยู่น้อยกว่าช่วงต้นน้ำกร่อย เพราะในช่วงต้นฤดูหนาวเป็นระยะเวลาที่ชาวนาปล่อยน้ำออกจากนาข้าวเพื่อการเก็บเกี่ยวข้าว ปลาในนาข้าวก็จะไหลตามออกมาผ่านมาตามลำคลองต่างๆ จนออกสู่แม่น้ำ สัตว์น้ำจำนวนมากก็จะกระจายลงสู่แม่น้ำ โดยเฉพาะที่ประตูน้ำท่าถั่ว มีคำเล่ากันว่าช่วงที่ประตูน้ำเปิดระบายน้ำจากลำคลองต่างๆที่มารวมกันในประตูน้ำ ความแรงของน้ำที่ปล่อยออกมาทำให้กุ้งก้ามกราม ที่มีอยู่ด้านหน้าประตูน้ำในส่วนที่เชื่อมกับแม่น้ำพากันมึนงงจนลอยหัวขึ้นมาให้ชาวบ้านบริเวณปากประตูน้ำจับได้มากมาย

สัตว์น้ำที่เข้ามาหลบในซั้งเพิ่มปริมาณขึ้นตามระยะเวลา ( พวกสัตว์น้ำ คงมีการเรียกเชิญชวนญาติสนิทมิตรสหายที่กำลังผ่านมา ว่า เชิญเข้ามาอยู่กับเราเถอะ ที่นี้ ดีสบายจริงๆ)ในตอนเด็กๆจำได้ว่าสัตว์น้ำที่มีมากในซั้งคือกุ้งก้ามกราม ตัวโต ก้ามโต ต้องแยกออกเป็นกะละมังใหญ่ รวมทั้งกุ้งอื่นๆ ปู และปลามากมายหลายประเภท ทั้งปลาน้ำจืดที่ยังไม่เคลื่อนย้ายไปจนน้ำเริ่มกร่อย ก็จะมีสัตว์น้ำกร่อยด้วย รายละเอียดของพรรณกุ้ง พรรณปลา จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป


ในบางครั้งช่วงน้ำขึ้น ก็มีเรือของบางคนออกมาตกกุ้งบริเวณไม่ไกลซั้งนัก กุ้งที่อยู่ในซั้งได้กลิ่นเหยื่อ ก็จะออกมากินเหยื่อและถูกจับไปขาย เจ้าของซั้งก็ได้แต่มองตาปริบๆ ได้แต่นึกในใจว่าก็ไม่เป็นไร แบ่งกันกินก็แล้วกัน เพราะลำน้ำนี้เป็นของสาธารณะ ไม่ถือเป็นเหตุให้ต้องมาผิดใจกัน ส่วนใหญ่นักตกกุ้งก็อยู่ละแวกไกลบ้านมิใช่คนรอบๆบ้าน ความเกรงใจก็เลยไม่มีให้เจ้าของซั้ง

(กุ้งก้ามกรามจะวางไข่ ได้ตลอดปี เมื่อลูกกุ้งออกจากไข่แล้ว หากเป็นเขตน้ำจืดจริงๆ ลูกกุ้งส่วนใหญ่จะตายไม่ผ่านช่วงอนุบาลลูกกุ้ง การอนุบาลลูกกุ้งต้องเป็นน้ำกร่อยลูกกุ้งจึงจะรอดชีวิตได้ดี
การอนุบาลลูกกุ้งในบ่อเลี้ยงในเขตน้ำจืด จึงต้องซื้อน้ำทะเลมาผสมในการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม)

นอกจาก กุ้ง ปู ปลา แล้วก็จะมีหอยตัวเล็กๆ และเพรียงมาเกาะจับกิ่งไม้ในซั้ง หากการถอนกิ่งไม้ไม่ระวังให้ดี ก็ถูกเพรียงบาดเชือดให้เลือดออกได้
เพรียงก็คือ สัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังประเภทสัตว์ขาปล้องมีหลายชนิด เกาะตามหินและวัสดุอื่นที่น้ำท่วมถึง เพรียงนี้ถ้าเกาะแล้วก็เกาะเลย ไม่ย้ายที่ไปไหน จนน้ำกร่อยเป็นน้ำจืด จนเป็นน้ำกร่อยอีก

การล้อมซั้งแม้จะเป็นช่วงหน้าหนาวแต่ก็เป็นของสนุกมากของเด็กๆ มักไม่ค่อยมีคนอยู่บนเรือคอยรับสวิงที่ช้อนได้สัตว์น้ำเอาเทลงในภาชนะที่เตรียมมา เมื่อไม่พอใส่ จะต้องพายเรือกลับบ้านเอาสัตว์น้ำขึ้นบ้านแล้วพายกลับมาที่ซั้งใหม่ เด็กผู้ชายโตแล้วเท่านั้นจึงจะได้เข้าไปอยู่ในวงล้อมของเฝือก เด็กเล็กอื่นๆ ก็แค่ว่ายน้ำเล่นอยู่นอกวงเฝือก คอยชะโงกสำรวจสัตว์น้ำที่จับได้ว่ามีอะไรบ้าง พอเลิกสนใจก็ว่ายน้ำเล่นกันรอบๆ วงนอกของเฝือกเสียมากกว่า เล่นน้ำเพลินๆ ก็มีพี่ๆผู้ชายออกมาจากวงล้อมเฝือก มุดน้ำมาแกล้งดึงขาเราให้ลอยลิ่วๆ ออกไป ทำให้ตกใจนึกว่าถูกผีพรายน้ำมาฉุดลากร้องโวยวายเสียงดัง

เมื่อจับสัตว์น้ำออกหมดแล้วก็รื้อเฝือกออก แล้วเอากิ่งไม้กลับมาสุมไว้อย่างเดิม ถ้าเวียนหลายครั้งแล้วต้องเลือกกิ่งที่ไม่มีแขนงหรือกิ่งย่อยแล้วเพราะผุ และแตกหักออก และหากิ่งใหม่มาปักทดแทน

คุณพ่อของพลอยโพยมทำ ซั้ง ไว้ทั้งหมด 4 แห่ง ระยะห่างพอประมาณ เหนือบ้าน 2 แห่ง ใต้บ้านลงมา 2 แห่ง เวลาล้อมจับซั้ง เมื่อจับซั้งที่หนึ่งแล้วเว้นระยะเวลาสองอาทิตย์ จับซั้งที่สอง เว้นอีกสองอาทิตย์จับซั้งที่สาม จบซั้งที่สี่ ก็หมุนเวียนมาซั้งที่หนึ่งใหม่ การล้อมซั้งต้องทำวันหยุดเพราะคุณพ่อเป็นข้าราชการ เด็กๆจึงไม่พลาดโอกาสสนุกสนานกับการล้อมซั้ง
วันที่จะล้อมซั้งต้องเรียกน้านุ้ย ลูกนาของคุณยายมาช่วย โดยแบ่งกุ้งปลาให้น้านุ้ยเอากลับไปบ้านเมื่อเสร็จงาน น้านุ้ยปลูกบ้านอยู่หลังสวนของบ้านไม่ไกลกันนัก การแบ่งปันกุ้งปลาให้กับน้านุ้ย พ่อของพลอยโพยมเน้นย้ำว่าต้องให้เหมาะสม เพราะน้านุ้ยก็มีครอบครัวมีลูก ประมาณ 6-7 คน และการเรียกหามาช่วยก็ต้องเรียกต่อเนื่องทุกครั้งที่จะล้อมจับซั้ง หนาวก็หนาว บางครั้งต่อเนื่องเกือบมืดจึงเสร็จงาน ก็จะเจอยุงรุมตอมกัดด้วย ต้องใช้น้ำในแม่น้ำเป็นที่หลบหนียุง ( มุดน้ำหนียุง) กุ้งก้ามกรามได้น้อยได้มากต้องแบ่งปันทุกครั้ง ส่วนปลานั้นเราก็แอบเอาปลาที่เราไม่ชอบกินแบ่งให้ไปมากๆหน่อย เช่น ปลาไหล ปลากระทิง ปลาม้า ปลาดุก ปลากด ปลาสวายหรือปลาที่มีก้างเยอะๆ ส่วนปลาที่เราชอบกินก็แบ่งให้นิดๆหน่อยๆ เป็นต้น ( คงไม่บาป....มั้ง เราไม่กินแต่เขากินได้นี่นา ถึงจะเอาเปรียบน้านุ้ยไปหน่อย) แต่ทุกครั้งน้านุ้ยก็หิ้วปี๊บใส่กุ้งปลากลับบ้านไหล่เอียงเชียวละ

กุ้งก้ามกรามจากการล้อมซั้งนี้ นอกจากตัวใหญ่ก้ามใหญ่แล้วยังได้ปริมาณมาก เด็กๆกินกุ้งเผาจนเบื่อกลายเป็นแย่งกิน ก้ามกุ้งเผากันมากกว่า กุ้งก้ามกรามนอกจากเผาแล้วก็เอามาพล่ากับน้ำพริกเผาใส่ตะไคร้ซอยละเอียดยิบ หัวหอมซอย โรยใบโหระพาและพริกขี้หนูซอย ซึ่งเก็บมาจากในสวนของเราเอง( แม่ละม่อมซอย พริก หอม ตระไคร้ ละเอียดมากจริงๆ ไม่มีใครสู้ทีเดียวละขอคุยหน่อย..) ต้มยำกับน้ำพริกเผาอีกนั่นแหละ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูดจากในสวนตามเคย น้ำพริกเผาตำเองมีประจำบ้านอยู่แล้วไม่มีขาดในตู้กับข้าว ปลาตะเพียนก็เอามาต้มเค็ม ปลาตะเพียนต้มเค็มมื้อแรกยังไม่ค่อยอร่อยเพราะน้ำเค็มหวานยังไม่ซึมเข้าเนื้อปลานัก ปลาอื่นๆ เช่น ปลาช่อน ปลาดุก และปลาอื่นๆที่ยังไม่ตายขังไว้ก่อนได้ ที่ตายแล้วก็ต้องใส่เกลือทำเค็มกันไป (นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่คนพายเรือต้องเอากุ้งปลากลับมาบ้านหลายเที่ยว เพื่อให้ปลาตายน้อยที่สุดนั่นเองด้วย)


กุ้งอื่นๆ เช่นกุ้งตะกาด กุ้งตะเข็บ กุ้งหัวแข็ง กุ้งหัวมัน จะมีไม่มากนัก เหมือนหลงเข้ามาแบบไม่ตั้งใจเข้ามาอยู่ในซั้งนัก เนื่องจากไม่มีตู้เย็นใช้วิธีแกะเปลือกออกต้มสุกในหม้อเก็บไว้วันอื่นๆ ส่วนกุ้งฝอย กุ้งดีดขัน ไม่เอามาทำกับข้าวกัน
ปูทะเล ขังเอาไว้ก่อนได้อีกหลายวัน
กุ้งก้ามกราม ที่เหลือจากการทำกับข้าวก็จับตัดหัวเอาส่วนที่มีหนวดรุงรังออกแล้วเอาต้มใส่เกลือ เกลือที่ใส่เข้มข้นจนมีเกล็ดขาวเกาะเปลือกกุ้ง นั่นคือต้มจนน้ำแห้งเกลือถึงเกาะได้ กุ้งก้ามกรามต้มเกลือนี้เก็บได้นานวัน ค่อยๆทยอยเอามากินได้อีกหลายวัน
มันกุ้ง ( คือตับและตับอ่อน) และแก้วกุ้ง( คือรังไข่ซึ่งมีไข่อ่อนอยู่เต็ม) ของกุ้งเผาอร่อยมาก ถ้าเผาก็จะนิ่มๆ เละ แต่ถ้าต้มใส่เกลือ จะเป็นก้อนแข็งทีเดียว

(หมายเหตุ คำว่า กระแป๋ง เป็นคำท้องถิ่น ที่เรียกภาชนะตักน้ำที่มีที่หิ้ว ปากกว้างและค่อยๆเรียวลงที่ก้น ปากและก้นภาชนะเป็นทรงกลม เหมือนของที่ใช้หิ้วในงานก่อสร้าง สมัยก่อนทำจากโลหะมีหลายขนาด ปัจจุบันทำด้วยพลาสติก ส่วนใหญ่คนมักเรียกของใช้นี้ว่ากระป๋อง แต่กระป๋องของคนบางกรูด หมายถึงของใช้ที่รูปทรงเป็นกระบอกกลม แต่กระแป๋งไม่เป็นทรงกระบอก จึงไม่เรียกกระป๋อง เรียกชื่อว่ากระแป๋งบางทีคนได้ยินแล้วเรียกขานตามก็เพี้ยนเสียงกลายเป็นกระแป๊ง ก็มี ส่วนปี๊บ หมายถึงปี๊บที่ดัดแปลงติดตรึงไม้เป็นที่จับเวลาหิ้วน้ำ กะละมัง หมายถึง กะละมังใหญ่ขนาดกะละมังซักผ้า)


ขอเพิ่มเติมเรื่องของกร่ำ (กล่ำ )
ยังมีกล่ำ หรือกร่ำ ของชาวอำเภอบางปะกงที่มีการทำกล่ำ (กร่ำ) ในอีกแบบ และมีกล่ำ หอยแมลงภู่ ( ที่มีเรือฉลอม เอามาขายที่บริเวณบางกรูด ด้วย)

กล่ำ (กร่ำ) นี้ทำจากไม้ไผ่ ปักกันเป็นกระจุกๆ หลายชั้นอย่างไม่เป็นระเบียบ ทั้งกล่ำน้ำลึกและกร่ำน้ำตื้น ไม้ไผ่มีท่อนยาว สั้น ตามขนาดความลึกของน้ำ (หมายถึงไม้ไผ่เป็นลำ ไม่ต้องมีแขนงหรือกิ่งย่อย) ปลาเล็ก ปลาน้อย และกุ้ง ก็จะพากันเข้ามาอาศัยหลบคลื่นลม โดยธรรมชาติ ปลาใหญ่กินปลาน้อยทำให้มีปลาใหญ่ตามเข้ามากินปลาน้อยและกุ้งตัวน้อยตามกล่ำและติดอยู่ในกร่ำ เพราะบริเวณของกล่ำนี้จะกว้างอีกทั้งไม้ไผ่ปักไว้หลายชั้น ไม้ที่ปักไว้ข้างในจะเป็นไม้เล็กๆ เหมือนเป็นบ้านให้เหล่าสัตว์น้ำเช่นปลาอยู่อาศัย บางครั้งก็มีปลาดุก ปูทะเล ชั้นนอกเป็นไม้ใหญ่ช่วยป้องกันไม้เล็กไม่ให้ลอยออกมา
เมื่อมีการล้อมกล่ำ ชาวบางปะกงก็จะได้ กุ้ง กุ้งแหตัวใหญ่ ๆ การล้อมเหมือนที่บางกรูด คือตัวคนอยู่ในวงล้อม ถอนไม้ออกไปแล้วช้อนของที่มีอยู่ในวงล้อมออกหมดแล้วปักไม้ไว้เหมือนเดิม ถ้าเป็นกล่ำน้ำตื้นจะไม่มีการรื้อ พอน้ำขึ้นก็เอาอวนไปล้อมไว้ ล้อมไว้จนกว่าน้ำแห้งก็เข้าไปเก็บบรรดาสัตว์น้ำในนั้นไม่มีการรื้อไม้ออก ปัจจุบันกล่ำเหล่านี้เป็นที่นิยมของนักตกปลา เช่ากันเป็นชั่วโมง


ส่วนกร่ำหอยแมลงภู่
จะปักไม้ เป็นกลุ่ม เป็นแถวๆไป ประมาณ 1 ปี จึงจะมีการเก็บหอยแมลงภู่ที การเก็บหอยแมลงภู่ทำโดยการเลื่อยตัดกล่ำยกขึ้นมาทั้งหลักแล้วมาโครกเอาหอยแมลงภู่ออก ชาวอำเภอบางปะกงเลี้ยงหอยกันมากที่ปากอ่าว หลักหนึ่งจะเก็บหอยได้ประมาณ 25-30 กิโลกรัม วันหนึ่งมักจะขายหอยได้หมด หากขายไม่หมด ก็จะต้มแกะเนื้อ หรือตากเป็นหอยแห้ง

หอยแมลงภู่ ( น่าสงสัยว่าเหตุใด หอยนี้ชื่อ หอยแมลงภู่ ) มีคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติอร่อย เลี้ยงกันมากในพื้นที่บริเวณอ่าวไทย เลี้ยงง่ายโตได้ดีในน้ำทะเลที่มีระดับความสูงต่ำของน้ำและความเค็มของน้ำไม่แตกต่างกันมากนัก หอยแมลงภู่จะกรองกินแพลงตอนพืชและสัตว์ขนาดเล็กรวมทั้งอินทรียวัตถุที่แขวนลอยในทะเล เป็นอาหารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พันธุ์หอยก็ได้จากแหล่งธรรมชาติ แหล่งเลี้ยงหอยแมลงภู่ เป็นแหล่งน้ำตื้นชายฝั่งลึกประมาณ 3-6 เมตร ลูกหอยเกิดขึ้นทุกเดือนตลอดทั้งปี ฤดูวางไข่จะมีลูกหอยเกาะเป็นจำนวนมาก ในช่วงเมษายน-กรกฎาคม และ ช่วง เดือนตุลาคม-ธันวาคม ของทุกปี ในช่วงหลังนี้มีลูกหอยชุกชุม ท่านผู้อ่านจะกินหอยแมลงภู่ ก็เลือกระยะเวลาได้แล้วว่าจะกินช่วงไหนดี

กร่ำ (กล่ำ) หอยแมลงภู่ ใช้ไม้ประเภท ไม้ไผ่รวก ไม้ไผ่สีนวล และไม้เป้ง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร ยาว5-6 เมตร ปักเรียงกันเป็นแถว ปักให้แล้วเสร็จก่อนที่ลูกหอยจะมาเกาะประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากปักไม้ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแพลงตอนจะเข้ามาอาศัยอยู่ตามไม้กร่ำ เพรียงก็จะตามมาอาศัยเกาะและกินแพลงตอนที่มาตามกระแสน้ำ ต่อจากเพรียงเกาะ ลูกหอยจะเริ่มมาเกาะตาม การเติบโตของลูกหอยที่เริ่มเกาะหลัก ประมาณ 7 เดือน จะสามารถจับหอยขายได้


ไม้เป้งสำหรับปักกร่ำมักไปซื้อที่ปราจีนบุรี ขาไปชาวประมงก็นำหอยแมลงภู่ กะปิ ใส่เรือขึ้นไปขายตามต้นน้ำ ( ทำให้ แถบบางกรูด ได้ซื้อหอยแมลงภู่ ถัง (ตวงข้าว ) ละ 1 บาท อย่างที่พลอยโพยมเคยเล่าแล้ว ในเรื่องเรือฉลอม ) ขากลับเรือก็จะบรรทุกไม้เป้งที่ซื้อมา ต่อมาเมื่อไม้เป้งหายาก เรือฉลอมขายหอยแมลงภู่ ก็ไม่มาเยี่ยมเยือนชาวบางกรูดเพราะชาวประมงเปลี่ยนไปซื้อ ไม้นวล (คำท้องถิ่น) จากเพชรบุรี เส้นทางการซื้อไม้ก็เปลี่ยนเส้นทางไปนั่นเอง

คำเตือนเล็กน้อย สำหรับผู้ชอบรับประทานหอยแมลงภู่ เนื่องจากการเลี้ยงหอยแมลงภู่ตามแหล่งชายฝั่งหรือบริเวณน้ำตื้นของปากอ่าว มีระดับความลึกเพียง 6 เมตร ก็ทำกร่ำหอยแมลงภู่ได้
ผู้บริโภคควรคำนึงเรื่องมลพิษภาวะน้ำเสียที่ไหลลงชายฝั่งด้วย ช่วงไหน มีข่าวคราวของ
การเกิดภาวะน้ำเสียที่ส่งผลเป็นข่าว ควรระมัดระวัง การบริโภคหอยจากน้ำตื้น กันนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น