วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

เทศกาลไหว้พระจันทร์

เทศกาลไหว้พระจันทร์

เทศกาลไหว้พระจันทร์มีที่มาจากประเพณีไหว้พระจันทร์และประเพณีเซ่นสรวงทางการเกษตรประจำฤดูสารทของจีนโบราณ





เทศกาลไหว้พระจันทร์มีชื่อทางการภาษาจีนว่า "จงชิวเจี๋ย" ตรงกับวัน ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๘ ของปฏิทินจีน เหตุที่เรียกเทศกาลนี้ว่า "จงชิว" เพราะเดือน ๘ เป็นเดือนกลางฤดูสารท ปฏิทินจีนเก่าที่เรียกว่าปฏิทินเกษตรใช้จันทรคติควบสุริยคติ ตามจันทรคติเดือนหนึ่งมี ๒๙-๓๐ วัน ๑ ปี มี ๑๒ เดือน ๓๕๔-๓๕๕ วัน ตามสุริยคติแบ่งปีเป็น ๔ ฤดู โดยที่

เดือน ๑-๒-๓ เป็นฤดูใบไม้ผลิ (วสันต์) เดือน ๔-๕-๖ เป็นฤดูร้อน (คิมหันต์) เดือน ๗-๘-๙ เป็นฤดูใบไม้ร่วง (สารท-ศารท) เดือน ๑๐-๑๑-๑๒ เป็นฤดูหนาว (เหมันต์)

การเกษตรที่สำคัญของจีนโบราณคือการทำนา มีกำหนดแน่นอนตามฤดูกาล คือ "วสันต์ไถหว่าน คิมหันต์เติบโต สารทเก็บเกี่ยว เหมันต์เก็บเข้ายุ้งฉาง" คนจีนโบราณเคารพธรรมชาติมาก มีพิธีเซ่นสรวงธรรมชาติประจำฤดูทั้งสี่ คือ ฤดูใบไม้ผลิบูชาพระอาทิตย์ ฤดูใบไม้ร่วงบูชาพระจันทร์ ฤดูร้อนบูชาพระธรณี (ดิน) ฤดูหนาวบูชาสวรรค์ (ฟ้า)



เหตุที่ไหว้พระจันทร์ ในฤดูใบไม้ร่วง เพราะฤดูนี้พระจันทร์แจ่มงามที่สุด อากาศอบอุ่นสบาย ฤดูใบไม้ผลิตอนต้นฤดูยังหนาว ท้ายฤดูฝนมาก ฤดูร้อนฝนชุกเมฆมาก ฤดูหนาวแม้ฟ้าใสแต่อากาศหนาวมาก หลายถิ่นมีหิมะตก แต่ละฤดูมีความงามของธรรมชาติประจำฤดู

คืนเพ็ญในคืนจงชิวกลางเดือน ๘ ซึ่งจันทร์แจ่มกระจ่างงามเหนือคืนเพ็ญใดจนถึงกับมีสำนวนจีนกล่าวว่า "จันทร์ถึงจงชิว แจ่มงามเป็นพิเศษ" คนสมัยราชวงศ์ถังเรียกคืนนี้ว่า ตวนเจิ้งเย่ว์ หมายถึง "จันทร์ตรงเต็ม" คือ เต็มดวงโดดเด่นนั่นเอง โจวหยางจาน (พ.ศ. ๑๓๒๘-๗๐) กวีสมัยราชวงศ์ถังกล่าวไว้ในบทกลอนชมจันทร์ตอนหนึ่งว่า "สิบสองเดือนคืนเพ็ญล้วนแจ่มจันทร์ ดวงโตเด่นสุดผ่องพรรณคือจงชิว"



สมัยโบราณยุคราชวงศ์เซี่ย-ซาง-โจว การไหว้พระจันทร์เป็นกิจของเจ้าผู้ครองแคว้นเท่านั้น สมัยราชวงศ์ฮั่นมีเทศกาล คารวะผู้สูงอายุโดยคัดเลือกคนชราผู้มีชื่อเสียงและคุณธรรมจำนวนหนึ่ง ทางการมอบไม้เท้า ขนมนึ่งด้วยแป้งข้าวเหนียวและของอื่นๆ ให้ แต่ไม่พบหลักฐานเรื่องงานไหว้พระจันทร์ของชาวบ้าน จนถึงยุคราชวงศ์เหนือ-มีการ กล่าวถึงการไหว้พระจันทร์เดือน ๘ แต่มิได้กล่าวถึงรายละเอียดของการไหว้พระจันทร์เลย

เทศกาลจงชิวปรากฏชัดแพร่หลายในสมัยราชวงศ์ถัง มีบทกวีของกวีมากมายกล่าวถึงการชมจันทร์วันกลางเดือน ๘ เช่น โอวหยางจานซึ่งแต่งบทกวีชมจันทร์ในเมืองฉางอาน (เมืองหลวงของราชวงศ์ถัง) ไว้มากและกล่าวถึงชื่อวัน "จงชิว" อย่างชัดเจน

มีบทกวีชมจันทร์ของบรรดากวีสมัยราชวงศ์ถังแสดงให้เห็นว่ายุคนี้น่าจะมีคตินิยม กลับไปชุมนุมชมจันทร์กันพร้อมหน้าในครอบครัวแล้ว เช่น บท "เย่ว์เย่ (คืนเพ็ญ) ของตู้ฝู่ (พ.ศ. ๑๒๕๕-๑๓๑๓) กวียิ่งใหญ่ที่สุดของจีนผู้ได้รับฉายาว่า "ราชาแห่งปวงกวี" เขาแต่งกวีนิพนธ์บทนี้เมื่อปีพ.ศ. ๑๒๙๙ บ้านเมืองมีศึกสงคราม ตัวเขาอยู่เมืองฉางอาน แต่ลูกเมียอยู่เมืองฟูโจว ถึงวันจงชิวเขาห่วงหาอาทรถึงภรรยาว่าต้องโศกเศร้าที่ครอบครัวไม่พร้อมหน้า ขาดสามีร่วมชมจันทร์



แม้กระนั้นวันจงชิวยังไม่เป็นเทศกาลใหญ่เหมือนตรุษจีน หยวนเซียว เช็งเม้ง และตวนอู่ (สารทขนมจ้าง) เพราะทางราชการยังไม่ได้ประกาศเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และหนังสือสมัยราชวงศ์ถังที่เขียนถึงเทศกาลส่วนมากก็ไม่ได้ใส่ชื่อเทศกาลนี้ไว้ พูดง่ายๆ ก็คือจงชิวยังเป็นแค่วันเทศกาลของชาวบ้านไม่ใช่วันเทศกาลของรัฐ

จงชิว มีฐานะเป็นเทศกาลของรัฐในสมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๘๒๒) ซ่งไท่จง (พ.ศ. ๑๕๑๙-๔๐) ฮ่องเต้องค์ที่ ๒ ของราชวงศ์ซ่งประกาศให้วัน ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๘ เป็นวันเทศกาลจงชิว

มีบันทึกเรื่องเทศกาลนี้ไว้คล้ายกันว่าแพร่หลายไปทั่วทุกถิ่น ทุกชนชั้น มีกิจกรรมเฉลิมฉลองสนุกสนานกันทั้งคืน ที่สำคัญคือการเที่ยวชมจันทร์และไหว้พระจันทร์ ขนมไหว้พระจันทร์ก็น่าจะมีแล้วในสมัยนี้

ถึงสมัยราชวงศ์หยวน เทศกาลไหว้พระจันทร์มีความสำคัญยิ่งขึ้น ราชสำนักซึ่งเป็นชาวมองโกลก็รับเทศกาลนี้ไปจากชาวจีน
ราษฎรจึงใช้วันไหว้พระจันทร์ชุมนุมนัดหมายกันแทน ดังมีตำนานเล่าว่าเขียนหนังสือนัดหมายลุกฮือฆ่ามองโกล สอดไปในไส้ขนมไหว้พระจันทร์ซึ่งแต่ละบ้านนำไปมอบให้ต่อๆ กัน ทำให้กู้ชาติพิฆาตมองโกลได้สำเร็จ ตำนานนี้แม้นักวิชาการจะบอกว่าเชื่อได้ไม่มากนัก แต่ก็คงมีมูลความจริงอยู่บ้าง เพราะปัจจุบันเทศกาลไหว้พระจันทร์ในหลายถิ่นของจีน เช่น แต้จิ๋ว เจียงซี (กังไส) มีกิจกรรมรำลึกถึงการโค่นล้มมองโกล อยู่ด้วย



และตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา มีประเพณีมอบขนมไหว้พระจันทร์เป็นของขวัญประจำเทศกาล ทั้งถือว่าขนมนี้เป็นเครื่องหมายของการอยู่ชุมนุมพร้อมหน้ากันในครอบครัวด้วยความสมบูรณ์พูนสุข เทศกาลไหว้พระจันทร์ยิ่งคึกคักมีความสำคัญแข่งเคียงกับเทศกาลขนมจ้างและตรุษจีน เป็น ๑ ใน ๓ เทศกาลใหญ่ของจีน

ถึงสมัยราชวงศ์ชิง เทศกาลไหว้พระจันทร์มีกิจกรรมหลากหลายเป็นนักขัตฤกษ์ใหญ่ยิ่งกว่าเดิม ทุกหนทุกแห่งเปี่ยมด้วยบรรยากาศแห่งความรื่นเริง เพราะส่วนมากเบาภาระจากงานไร่นา อากาศเย็นสบาย ฟ้าแจ่มใส จันทร์กระจ่าง บรรยากาศชวนให้เบิกบานใจ ทุกบ้านต่างจัดเครื่องบูชาไหว้พระจันทร์ แม้กระต่ายในดวงจันทร์ก็มีพิธีเซ่นไหว้ มีผู้ปั้นกระต่ายในดวงจันทร์ขายในเทศกาลนี้ตั้งแต่ ปลายราชวงศ์หมิง จนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเทศกาลนี้

หลังจากสิ้นราชวงศ์ชิง แม้จีนจะมีศึกสงครามตลอดยุคสาธารณรัฐ (พ.ศ. ๒๔๕๔-๙๒) แต่เทศกาลไหว้พระจันทร์ยังคงความสำคัญตลอดมาจนปัจจุบัน แม้ชนชาติส่วนน้อยในจีนหลายเผ่าก็ฉลองเทศกาลนี้ด้วย เช่น ไต (ลื้อ) จ้วง ปู้อี ต้ง

ปัจจุบันในจีนเกือบทุกถิ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ถือว่าเทศกาลนี้เป็นเทศกาลใหญ่อันดับ ๒ รองจากตรุษจีนเท่านั้น



 เทศกาลจงชิว มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลาง ตามจินตนาการของคนจีน มีเรื่องเกี่ยวเนื่องด้วยดวงจันทร์ในเทศกาลนี้หลายเรื่องคือ คางคก กระต่าย ต้นกุ้ยฮวยกับอู๋กัง เทพธิดาฉางเอ๋อ เรื่องพระเจ้าถังเสวียนจงประพาสดวงจันทร์ และขนมไหว้พระจันทร์




 คัดย่อข้อมูลมาจาก http://edunews.eduzones.com/jipatar/9448 เชิญติดตามบทความฉบับเต็มได้

ในขณะที่ชาวจีนทั่วโลกมีการเฉลิมฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์



สำหรับชาวเกาหลีมีวันหยุดฉลองเทศกาล Chusoek


ทุกวันที่ 15 เดือน 8 ตามปีปฏิทินของเกาหลี ชาวเกาหลีทุกคนจะมุ่งหน้ากลับบ้านเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล Chuseok หรือเทศกาลเก็บเกี่ยวในคืนวันเพ็ญ
Chuseok เป็นหนึ่งใน 2 วันหยุดสำคัญของเกาหลี เทียบเท่าได้กับวันขอบคุณพระเจ้าของชาวตะวันตก เป็นเวลาที่จะได้แสดงความเคารพต่อบรรพชน ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆ

ผู้คนจากทุกภาคของประเทศจะมุ่งหน้ากลับบ้าน กลับไปแสดงความคารวะต่อบรรพชนด้วยอาหารตามประเพณี Chuseok มีชื่อเรียกอื่นด้วย อาทิเช่น Chochunil, Chungchujeol, Gabae และ Hangawi ทั้งหมดล้วนแปลว่าวันที่ยิ่งใหญ่

การมุ่งหน้ากลับบ้านในเทศกาล Chuseok ทำให้การจราจรติดขัด การเดินทางกลับบ้านอาจต้องใช้เวลานานนับ 10 ชั่วโมง แต่ก็ไม่มีใครบ่น พวกเขาเฝ้ารอคอยที่จะได้กลับไปพบกับครอบครัวและเพื่อนฝูง เด็กๆ จะสวมชุดฮันบกหรือชุดประจำชาติเกาหลี ที่ถูกเลือกสรรมาเพื่อโอกาสนี้โดยเฉพาะ





ในสมัยโบราณ เทศกาล Chuseok ยังเป็นเวลาที่ผู้คนผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าสำหรับรับฤดูใบไม้ร่วง การเตรียมเสื้อผ้าใหม่ๆ สำหรับเทศกาลวันหยุดนี้ถือเป็นประเพณีนิยม
ประวัติศาสตร์ของ Chuseok ย้อนกลับไปประมาณ 2,000 ปีก่อน ในยุคสมัยของกษัตริย์ชิลลาที่มีพระนามว่า King Euri ทรงปกครองอยู่ในช่วงสมัยของ 3 อาณาจักรใหญ่ (โกคูเรียว แพ๊กเจ และชิลลา) ทรงประสงค์ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมการทอผ้า จึงทรงดำริให้จัดการแข่งขันทอผ้าขึ้น ผู้แพ้จะต้องจัดเตรียมสำรับอาหารให้กับผู้ชนะ นี่จึงถือเป็นจุดกำเนิดของเทศกาล Chuseok ที่ต่อมากลายเป็นวันหยุดสำคัญของชาติ


เทศกาล Chuseok จะฉลองกันทั้งหมด 3 วัน วันแรกของเทศกาลคือการกราบไหว้บรรพบุรุษ โดยมีการเตรียมล่วงหน้า 1 วันสำหรับจัดแท่นบูชา
เมื่อครอบครัวมาอยู่พร้อมหน้ากันย่อมหมายถึงการกินข้าวมื้อใหญ่ด้วยกัน เมื่อพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษเสร็จสิ้นลง ทั้งครอบครัวจะมาฉลองร่วมกัน จะไม่เหมือนในวันปีใหม่ที่จะมี tteokguk หรือ rice cake soup สำหรับ Chuseok ข้าวที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆ จะถูกนำมาทำเป็นเหล้าและขนม (rice wine and rice cakes) อาหารที่นิยมกินกันในวันนี้ก็คือ ซุป toran หรือน้ำซุปจากเนื้อวัวใส่รากเผือก




ในวันสำคัญนี้จะมีการเตรียมขนมประจำเทศกาลอย่าง songpyeon หรือ full moon rice cakes ที่ยัดไส้ด้วยงา ถั่ว เชสนัต แป้ง และธัญพืชที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆ
หลังอาหารเช้ามื้อใหญ่ก็คือการไปไหว้สุสานบรรพชน สุสานจะถูกทำความสะอาดเตรียมไว้ก่อนถึงวันเทศกาล โดยมีการถางหญ้าและวัชพืชออกให้สะอาด คนในครอบครัวจะต้องคอยดูแลสุสานบรรพชนอย่างดี การที่สุสานถูกทิ้งขว้างให้รกร้างถือเป็นลบหลู่บรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว

สำหรับ ganggangsullae คือการเต้นรำเป็นวงกลมภายใต้แสงจันทร์ คือหนึ่งในความบันเทิงยอดนิยมประจำเทศกาลนี้ ตามประเพณีดั้งเดิม ผู้หญิงในหมู่บ้านจะมายืนล้อมวงกัน จับมือกันไว้ ร้องเพลงและเต้นรำไปรอบๆ ใต้จันทร์เพ็ญ






จังหวะการเต้นรำจะเริ่มจากช้าๆ แล้วค่อยเร่งจังหวะเร็วขึ้น จะมีคนร้องนำ และคนที่เหลือจะขานรับด้วยคำว่า "ganggangsullae" หรือ "ganggangsuwollae"

ต้นกำเนิดของการเต้นรำนี้ย้อนหลังไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ตอนที่ญี่ปุ่นบุกโจมตีโชซอน (ปี 1392-1910) ทหารเกาหลีมีจำนวนน้อยจนไม่อาจต่อกรกับกองทัพใหญ่ของญี่ปุ่นได้ ยี่ซุนชิน ท่านผู้บัญชาการทัพในขณะนั้นจึงแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนมายืนล้อมวงกัน
แล้วให้พวกเธอขึ้นไปบนเขาและเต้นรำไปรอบๆ ภายใต้แสงจันทร์ส่องสว่าง พวกญี่ปุ่นเห็นผู้หญิงเต้นรำและคิดว่าทหารเกาหลีมีจำนวนมากเหลือเกินจึงถอนทัพกลับไป หลังสงครามครั้งนั้น ชาวเกาหลีจึงจัดการเต้นรำแบบนี้ขึ้นทุกปีเพื่อเป็นการรำลึกถึงชัยชนะในครั้งนั้น


แล้วการที่มาร่วมกันเต้นรำภายใต้แสงจันทร์เช่นนี้ เท่ากับเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพและความมั่งคั่ง เพื่อแบ่งปันพืชผลที่งอกงาม และขอให้ชีวิตสดใสอิ่มเอิบดุจดั่งพระจันทร์ในคืนเพ็ญ



ขอขอบคุณภาพข้อมูลจากhttp://twssg.blogspot.com
ขอบคุณบทแปลของคุณ Ladymoom ซึ่งแปลมาจาก korea.net




จะเห็นว่าขนบธรรมเนียมประเพณี ของ จีนและเกาหลี มีความคล้ายคลึงกันมาก มิใช่เพียง 2 ประเทศนี้เท่านั้น ควรใช้คำว่าภูมิภาคเอเชียมีขนบธรรมเนียม ประเพณี หลาย ๆ อย่างที่คล้ายคลึงกัน

 เมื่อ 5-6 ปี ที่แล้ว พลอยโพยมก็เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในกระแส ฮัลลิว ของเกาหลี

“ฮัลลิว” (Hallyu) หรือ “กระแสความนิยมเกาหลี ” เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี ค.ศ.1999 ในประเทศจีน โดยนักหนังสือพิมพ์ชาวปักกิ่งเพื่อใช้เรียก กระแสความนิยมการใช้สินค้าของเกาหลีที่เกิดขึ้นในจีน ปัจจุบันคำนี้ถูกนำมาใช้ในความหมายที่กว้างขึ้น อันหมายถึง ปรากฏการณ์ความนิยมวัฒนธรรมของเกาหลีที่แผ่ขยายไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศทางแถบเอเชีย


พลอยโพยม เป็นแฟนคลับของดาราเกาหลี ชื่อ เบ ยองจุน อยู่หลายปี จากปณิธานของ เบ ยองจุน ที่ต้องการให้เอเขียเป็นหนึ่งเดียว และได้อ่านบทสัมภาษณ์ของดาราผู้นี้ ทำให้พลอยโพยม เข้าวังวนของ ฮัลลิว และสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจกับการติดตามความเคลื่อนไหว การให้สัมภาษณ์ต่าง ๆ ของดาราในดวงใจ ติดตามชมละครออนไลน์ของเขาพร้อม ๆ ชาวเกาหลี โดยไม่รู้เรื่องภาษาเกาหลีเลย แล้วก็จะมีเพื่อนแฟนคลับ แปลบทละคร ส่งมาให้ หลังจากชมไปแล้ว เพียง 2-3 วัน ต่อมาก็รู้จักศัพท์เกาหลีหลาย ๆ คำ สนใจติดตามทั้ง ดาราในดวงใจ ขนบธรรมเนียมประเพณี ประวัติศาสตร์ ( ตามบทละคร) ของประเทศเกาหลี ร่วมกันเขียนบทความลงเว็ปไซต์ เป็นความสุขที่น่าจดจำกับมิตรภาพอันงดงามในช่วงเป็นแฟนคลับของ เบ ยองจุน มาจนทุกวันนี้




“ อันดอกไม้ งามเลิศ ไม่บานบ่อย
หนึ่งในร้อย ดั่งเพชร กลางภูผา
เปรียบเพื่อนดี หายาก เหลือคณา
ชั่วชีวา ใครพบ สบโชคดี "
โดยกาญจน์มุนี ศรีวิศาลภพ (ร้อยตะวัน)


พลอยโพยมใช้ชื่อตามความนิยมของแฟนคลับ ว่า Amornbyj (เพื่อให้รู้ว่า นี่เป็นแฟนคลับ เบ ยองจุน นั่นเอง) ได้ตอบความว่า


ดอกไม้บาน ขานตะวัน ของวันใหม่
ช่างอวลไอ อบอุ่น ละมุนหวาน
สีสดสวย กลิ่นระรื่น ชื่นดวงมาน
ได้พบพาน ดอกไม้หอม พร้อมไมตรี

สายลมพัด พลิ้วโบก กระโชกไหว
ไม่กวัดไกว ให้ร่วงหล่น ทนเหลือที่
ถึงแสงแดด แผดแรง แล้งทั้งปี
เป็นมาลี ที่บานอยู่ มิรู้โรย

ห้วงเวหา ฟ้านี้ มีเพ็ญจ้า
แสงนวลตา พาใจ มิไห้โหย
โลกงดงาม ยามนี้ ที่กอบโกย
อยู่กันโดย ด้วยผูกพัน ฝันร่วมกัน

ดอกไม้ผลิ เพิ่มใหม่ ไม่ขาดช่วง
จันทร์เต็มดวง พ่วงดารา หาแปรผัน
ตราบโลกนี้ มีแสง รังสิมันต์
เพื่อนแท้นั้น ยังมีอยู่ คู่โลกา



ภาพดอกกล้วยไม้ที่ประเทศสิงค์โปร์ ตั้งชื่อโดยใช้ชื่อ เบ ยองจุน เพื่อเป็นเกียรติ แก่เบ ยองจุน

มิตรภาพเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะมี เบ ยองจุน เป็นสื่อกลาง ร้อยรวมพวกเราให้เข้ามาหากัน และรู้จักกัน แม้ไม่เคยหน้าตาซึ่งและกัน เราก็เกิดความรู้สึก รัก ผูกพัน ปรารถนาดี มีมิตรไมตรีต่อกัน เผื่อแผ่ แบ่งปัน ความสุขและสิ่งดี ๆ ซึ่งกันและกัน ขอบคุณ เบ ยองจุน จริง ๆ
ขอรำพึงถึง เบ ยองจุน สักนิดในวันนี้ เพราะทุกวันเทศกาล Chuseok  ก็จะเป็นวัน ที่ เบ ยองจุน กลับบ้านร่วมฉลองกับคุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ และน้องสาว




วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

กะทกรก...เรียงเลื้อย

กะทกรก



กะทกรก

ชื่อวิทยาศาสตร์: Passiflora foetida L
ชื่ออังกฤษ: Fetid passionflower, Scarletfruit passionflower, Stinking passionflower
วงศ์ : Passifloraceae



ชื่อพื้นเมืองอื่น : เถาเงาะ เงาะป่า หญ้ารกช้าง เถาสิงโต ถลกบาตร หรือ กระโปรงทอง




เป็นไม้เถาเลื้อยคล้ายตำลึง เถาค่อนข้างคดไปงอมา เถามีหนามเล็ก ๆ ขึ้นอยู่ห่าง ๆ โดยทั่วไป




ใบ
เป็นใบเดี่ยว รูปใบมนโค้งผิวเรียบปลายใบแหลมโดยแยกเป็นสามแฉก ใบและเส้นใบบริเวณที่ติดต่อกันมีสีแดงเรื่อ บริเวณใกล้โคนก้านใบมีแฉกแหลมเล็กเรียงตรงกันข้ามสลับกัน ก้านใบ มีขนาดก้านไม้ขีด ยาว 5 –6 เซนติเมตร มีขนอ่อนเป็นฝอยขนาดเล็ก



ดอก
มีลักษณะก้านดอกยาวกว่าใบ ดอกบานออกกลมกว้าง กลีบดอกสีขาวแซมด้วยริ้วสีม่วง




ผล
ค่อนข้างกลมขนาดปลายนิ้วมือ และห่อหุ้มด้วย “รก” ผลสุกมีสีเหลือง




ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด กะทกรกมีการแพร่กระจายขึ้นอยู่ตามที่รกร้างหรือขอบไร่ชายนา และบริเวณป่าพื้นราบ โดยเลื้อยพันกิ่งต้นไม้อื่น ๆ




ประโยชน์
กินได้
ยอดอ่อน ผลอ่อน รก ใช้เป็นผักสด มีรสขมเล็กน้อย หรือลวกจิ้มกับน้ำพริกและใช้แกงเลียง
ผลสุก ใช้กินเมล็ดและเยื่อหุ้มเมล็ด




ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย




กะทกรก ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หมายความถึง

น. (๑) ชื่อไม้พุ่มรอเลื้อยชนิด Olax scandens Roxb. ในวงศ์ Olacaceae ตามลําต้นมีหนามห่าง ๆ ใบรูปไข่หรือรี ๆ ดอกเล็ก สีขาว อยู่เป็นกระจุกที่ง่ามใบ ผลกลมหรือรีขนาดเท่าเม็ดบัวเขื่อง ๆ เป็น สมุนไพรที่รู้จักกันทั่วไป, น้ำใจใคร่ นางจุม หรือ นางชม ก็เรียก, อุดร เรียก เยี่ยวงัว.

 (๒) ชื่อไม้เถาชนิด Passiflora foetida L. ในวงศ์ Passifloraceae มีมือเกาะ ใบป้อมมี๓ หยัก ดอกสีขาว ผลกลม เมื่อสุกสีเหลือง มีกาบเป็นฝอยหุ้ม ยอดนํามาต้มใช้เป็นผัก, เถาเงาะ เงาะป่า หญ้ารกช้าง เถาสิงโต ถลกบาตร หรือ กระโปรงทอง ก็เรียก





สำหรับชื่อกะทกรก ที่ ปรากฏในสารานุกรมสมุนไพร เล่มที่ ๒ สยามไภษัชยพฤกษ์ เป็น กะทกรก ในพจนานุกรม ชนิดที่ ๑ ซึ่งเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยชนิด Olax scandens Roxb. ในวงศ์ Olacaceae สมุนไพรที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ, น้ำใจใคร่ กระดอกอก, กระเดาะ, กระทอก, ชักกระทอก, กระทอกม้า, กะทกรก, ควยเซียก, นางจุม นางชม, ผักรูด ซึ่งมีสรรพคุณทางสมุนไพรดังนี้
ลำต้น ต้มน้ำดื่ม แก้โรคไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่นข้น เหลืองหรือแดง มีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้)




และพบข้อมูลของน้ำใจใคร่จากhttp://www.samunpri.com/herbs/?p=82 ดังนี้

เนื้อไม้ มีรสชาติฝาดเฝื่อนเล็กน้อย ใช้เป็นยาคุมธาตุถอนพิษเบื่อเมาทุกชนิด รักษาบาดแผล
เปลือก นำมาต้มรมแผลที่เน่าเปื่อย ทำให้แผลแห้ง
เมล็ด ทาท้องเด็ก แก้ท้องอืด ทำให้ผายลม วิธีใช้โดยการ ตำเมล็ดให้ละเอียด และผสมกับน้ำสับปะรดลนควันให้อุ่นและใช้ทาท้องเด็ก
ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้กามโรค
ใบ นำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาเบื่อ ขับพยาธิ หรือตำให้ละเอียดเอากากสุมศีรษะ แก้ปวดศีรษะ




ซึ่งข้อมูลรายละเอียดทางพฤกษศาสตร์ของกะทกรกในบทความข้างต้นนี้ รวมทั้งภาพทั้งหมดล้วนเป็นกะทกรกขนิดที่ ๒. คือเป็นกะทกรก (เงาะป่า) พื้นบ้านพบเห็นโดยทั่วไป




มีหมายเหตุของพจนานุกรม สมุนไพรไทย ของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ว่า

หมายเหตุ : กะทกรก ที่รู้จักกัน 2 ชนิด คือชนิดที่เป็นพรรณไม้เถาเนื้อไม้แข็ง และอีกชนิดหนึ่งเป็นพรรณไม้เถาเล็ก เลื้อยตามพื้นดิน ที่เรียกว่าเงาะป่า แต่กะทกรกที่ใช้ทำยาใช้เฉพาะพรรณไม้เถา เนื้อไม้แข็งเท่านั้น คือ“กะทกรก(ทั่วไป) กะทอกม้า(ราชบุรี) ชักกะทอก(ประจวบ) น้ำใจใคร่(ราชบุรี-กาญจน) นางชม นางจุม(พายัพ) ควายเสือก(โคราช)กะเดาะ(สงขลา)ผักรูด(สุราษฎร์)กาเด๊าะ อาจิง(มลายู-นรา)




พลอยโพยม ก็เลยตัดข้อมูลสรรพคุณด้านสมุนไพรของกะทกรก (เงาะป่า)
อนึ่งชื่่อท้องถิ่น ชื่อพื้นเมืองของพันธุ์พืช ก็มีปัญหาเช่นเดียวกับพันธุ์สัตว์ (ตอนพลอยโพยมหาข้อมูลสัตว์น้ำ ก็ปวดศรีษะมากพอดู) ต้องยึดถือตามชื่อวิทยาศาสตร์ตามคำแนะนำของคุณมีนกรที่เคยบอกพลอยโพยมไว้ บางครั้งในจังหวัดเดียวกันก็มีชื่อเรียกพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ (รวมทั้งของใช้) ที่แตกต่างกัน ซึ่งพลอยโพยมมักโวยวายว่าไม่ใช่นักวิชาการนะจ๊ะที่ต้องใช้ศัพท์วิทยาศาสตร์กำกับการเรียกหา แต่พอลงมาหาข้อมูลต่าง ๆ พบว่าศัพท์วิทยาศาสตร์นี้เป็นข้อมูลที่เป็นอมตะนิรันดร์ใช้ได้ตลอดกาลนาน




ภาพผลกะทกรก (เงาะป่า)เมื่อเปลือยกาย (ผล ) จากรกแล้ว

นอกจากนี้ยังมีเสารส หรือที่เรียกชื่ออื่นอีกว่า กะทกรกฝรั่ง หรือ กะทกรกสีดา หรือ กะทกรกยักษ์
ชื่อวิทยาศาสตร์: Passiflora edulis
ชื่ออังกฤษ: Passionfruit,
ชื่อสเปน: Maracujá)

เสาวรสเป็นไม้เถาเลื้อย มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ บริเวณประเทศบราซิล ปารากวัย อาร์เจนตินา ผลเป็นรูปกลม ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีหลายสีแล้วแต่พันธุ์ ทั้งสีม่วง เหลือง ส้ม ชั้นในสุดของเปลือกเป็นเยื่อสีขาวที่เรียกรก ภายในมีเมล็ดสีดำจำนวนมาก อยู่ในเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นถุง กลิ่นคล้ายฝรั่งสุก รสเปรี้ยวจัด บางพันธุ์มีรสอมหวาน

มีการปลูกเสาวรสทางการค้าในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา นิวซีแลนด์ ประเทศแถบทะเลแคริบเบียน บราซิล โคลอมเบีย โบลิเวีย เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย เปรู เปอร์โตริโก สาธารณรัฐโดมินิกัน สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย แอฟริกาตะวันออก เม็กซิโก อิสราเอล คอสตาริกา แอฟริกาใต้และโปรตุเกส
ในประเทศไทยมีเสาวรสที่ปลูกทั่วไป 3 พันธุ์คือ พันธุ์สีม่วง เมื่อสุกเปลือกสีม่วง เนื้อในสีเหลือง รสอมหวานมากกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่ไม่ค่อยต้านทานโรคในเขตร้อน พันธุ์สีเหลืองหรือเสาวรสสีทอง ผลแก่สีเหลือง รสเปรี้ยวมาก นิยมปลูกในเขตร้อน พันธุ์ผสม เมื่อสุกเป็นสีม่วงอมแดง รสเปรี้ยวจัด กลิ่นแรง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
มีการใช้ประโยชน์จากเสาวรสมากมายหลายประเทศส่วนใหญ่ เป็นด้านโภชนาการ




การออกไปถ่ายภาพของพลอยโพยมไม่ว่าที่ ชายน้ำ ชายคลอง ริมคูน้ำ ปลายสวน คันนา ริมถนน ป่าชายเลนชั้้นบนและอื่น ๆ  ต้องได้พบเจอกะทกรก (เงาะป่า) ทุกครั้ง หากมองผ่านมาแล้วก็ผ่านเลยไป มิได้หยุดพักดู ก็จะไม่รู้ว่ากะทกรกมีความงดงามใน เถาต้น ใบ ดอก และผลของกะทกรก พลอยโพยมถ่ายรูปเป้าหมายอื่นบางครั้งบางที่ก็เดินเหยียบย่ำกะทกรก ยังโมโหที่บ่อยครั้งเถากะทกรกพันแข้งพันขาวุ่นวายกับคุณมดแดงคู่แค้นของพลอยโพยมเจอเกือบทุกงานเกือบทุกที่ เผอิญกล้องติดภาพดอกกะทกรกมา พอเห็นภาพแล้วก็ติดใจในความงดงามของกะทกรก เลยออกไปถ่ายภาพใหม่ที่ด้านหลังบ้านของพลอยโพยมเอง ซึ่งต้องถ่ายในตอนเช้าตรู่ก่อนหกโมงเช้า พอสายแสงตะวันจ้ากระทบกลีบดอก ดอกกะทกรกก็ค่อย ๆ หุบกลีบดอกเข้าหากัน โชคดีที่กระทกรกเถาใหญ่นี้ไม่มีมดแดงมารังแกพลอยโพยม ก็เลยถ่่ายภาพอยู่ตรงนี้ได้ถึงเก้าโมงเช้าโดยไม่ต้องเจ็บแสบแปลบกายา



ภาพเมื่อเวลา 8 โมงเช้า



ภาพเมื่อเก้าโมงเช้า
กลุ่มต้นกะทกรก กลุ่มนี้อยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่แสงแดดส่องได้ไม่แรงนัก มิฉะนั้นยังไม่แปดโมงเช้าดีดอกกะทกรกที่ถูกแดดก็หุบกลีบกันหมดแล้ว ดอกกะทกรกช่างมีลักษณะนิสัยละม้ายคล้ายบัวสายที่เหนียมอายแสงตะวัน



ภาพกะทกรกนี้ถ่ายไว้เมื่อต้นปี 2554 ดังนั้นบทความนี้เสียเวลามากกับการหาภาพ เพราะจำไม่ได้ว่าเคยถ่ายภาพดอกกะทกรกไว้ เดือนไหนปีไหน การไล่หาภาพจากแผ่นไฟล์ใช้เวลามากจนเผลอหลับไปหลายงีบ หลายครั้งตอนรอภาพ

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

พรรณไม้น้ำ...พิลังกาสา...รามใหญ่

พิลังกาสา หรือ รามใหญ่


ขอขอบคุณภาพจาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th

พิลังกาสา หรือรามใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardisia elliptica Thunb.
วงศ์ : MYRSINACEAE

ชื่ออี่น : ลังพิสา (ตราด); ทุลังกาสา (ชุมพร); ปือนา (มลายู-นราธิวาส) กระดูกไก่ ก้างปลา ก้างปลาเขา เหมือด อ้ายรามใบใหญ่


ขอขอบคุณภาพจาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th

พิลังกาสาเป็นไม้พุ่ม สูง 3-5 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม กิ่งอ่อนสีแดงอมน้ำตาล

ใบ
เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนรอบกึ่ง แผ่นใบรูปรี ถึงรูปไข่กลับ ปลายใบกลม หรือป้านมน ฐานใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ เนื้อใบคล้ายหนัง ใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นใบบางไม่เด่นชัด





ดอก

ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.aquatoyou.com



ดอกออกเป็นช่อซี่ร่มตามง่ามใบ แต่ละช่อมี 5-8 ดอก สีขาวแกมชมพู ก้านช่อดอกยาว ก้านดอกย่อยเรียวยาว ดอกตูม รูปกรวยแหลม กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปวงกลีม บิดเวียน ฐานวงกลีบดอกเชื่อมติดก้นเป็นหลอดสั้นๆ มีต่อมเล็ก ๆ หนาแน่น กลีบดอกแหลม 5 กลีบ



ขอขอบคุณภาพจาก http://www.thaihealth.in.th
ผล
เป็นผลเมล็ดเดียว แข็ง รูปเกือบกลม ด้านแนวนอนยาวกว่าแนวตั้ง ที่ปลายผลมีติ่งแหลมสั้น ผลสีแดงก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
ออกดอกและผลระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน


ขอขอบคุณภาพจาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th

พิลังกาสาหรือรามใหญ่ เป็นไม้ขนาดเล็กพบในป่าผลัดใบและป่าดิบในที่สูง พบในเวียดนาม จีนตอนใต้ พม่า และไทย
ขึ้นตามริมชายฝั่งแม่น้ำ ด้านในของป่าชายเลน ที่มีอิทธิพลของน้ำขึ้น น้ำลง
พิลังกาสอบชอบเจริญเติบโตในภูมิอากาศร้อนชื้น ดังนั้น จึงมักพบมากในภาคใต้ เช่น ในสวนยางพาราแบบดั้งเดิม บริเวณทุ่งนา แต่ปัจจุบันเมื่อมีการขยายพันธุ์เพาะปลูกยางพาราและน้ำมันปาล์ม ส่งผลให้ต้นพิลังกาสาที่ขีึ้นเองตามธรรมชาติถูกโค่นทิ้ง

ประโยชน์
สรรพคุณทางสมุนไพร
ลำต้น แก้โรคเรื้อน
ใบ แก้โรคตับพิการ
ผล แก้ไข้ ท้องเสีย
ราก แก้กามโรคและหนองใน พอกปิดแผล ถอนพิษงู



มีการพบว่าสารสกัดของผลสุกสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อที่ทำให้เกิดโรคท้องเสีย ( Salmonella spp.และ Shigella.spp.) และสารสกัดจากเปลือกต้นสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อหนองในในหลอดทดลอง
นอกจากนี้พบเม็ดสี ( pigment ) สีส้มทองชื่อ rapanone ในเปลือกต้น ซึ่งเมื่อทดลองกับหนูที่ติดเชื้อโรคเรื้อนโดยให้ยาติดต่อกันนาน 6 เดือน - 1 ปี สามารถลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อดังกล่าวได้



นอกจากนี้ พิลังกาสาหรือรามใหญ่ ยังสามารถผลิตไวน์ได้
ซี่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ทุ่งใหญ่) โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตไวน์พิลังกาสามากว่า 10 ปี สามารถผลิตไวน์พิลังกาสาประมาณ 800 ลิตร/ปี โดยใช้ถังหมักทีมีการควบคุมอุณหภูมิ ผ่านการหมัก การบ่ม การดอง บรรจุใส่ขวด



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.aquatoyou.com
วิกิพีเดีย
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรเล่ม 1 สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ
agro-industry.rmutsv.ac.th

พิลังกาสาหรือรามใหญ่ ไม่มีในธรรมชาติที่ตำบลบางกรูด

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

ลำเจียก..เรียกปะหนัน..นั่นหรือคือเตยทะเล

ลำเจียก

เป็นชื่อเรียกต้นเตยทะเล (Pandanus odoratissimus L.) ที่มีดอกเพศผู้
อยู่ในวงศ์ Pandanaceae ขอบใบและกาบหุ้มดอกมีหนาม ดอกมี กลิ่นหอม, ปะหนัน ก็เรียก, พายัพเรียก เกี๋ยงคำ.


ขอขอบคุุณภาพจากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th


ต้นเตยทะเลดอกเพศผู้ที่เรียกว่า ลำเจียก มักถูกเรียกอีกชื่อในวรรณคดีว่า ปะหนัน เป็นพรรณไม้ที่ปรากฎอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


ขอขอบคุุณภาพจากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th

ดอกปะหนันในอิเหนาถูกกล่าวถึงในช่วงแรก
อยู่ในเนื้อความบทพระราชนิพนธ์เมือ ท้าวดาหาไปใช้บน (แก้บน) ที่เขาวิลิศมาหรา บุษบาได้ชมศาลเล่นธาร คิดจะทำบุหงารำไปเพื่อถวายเทวาในเพลาเย็น ให้นางกำนัลสาวศรีเก็บดอกไม้มาถวาย แต่ขาดดอกปะหนัน นางยุบลค่อมทาสาชวนเพื่อนทาสาออกไปหาดอกปะหนันแล้วหลงทางอยู่คนเดียว ได้พบกับอิเหนา อิเหนาสอบถามจนได้ความจึงไปเที่ยวหาดอกปะหนัน พบดอกปะหนันที่ริมธาร จึงเก็บมาใช้ นะขา(เขียนว่านะขา สำหรับ บางบทกลอน บางบทก็ใช้ นขา) เขียนสารถึงบุษบามีความว่า



ขอขอบคุุณภาพจากhttp://www.aquatoyou.com

ได้บุหงาปะหนันทันใด
ภูวไนยลิขิตด้วยนะขา
เป็นอักษรทุกกลีบมาลา
แล้วกลับคืนมายังคีรี


.
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=774151 

ครันถึงจึงเข้าไปใกล้
แล้วส่งดอกไม้ให้ทาสี
เองเร่งเอาไปจงดี
อย่าให้ผิดที่สัญญาไว้

แม้นใครถามว่าได้ไหนมา
เองอย่าบอกแจ้งแถลงไข
จำเพาะส่งแต่องค์อรไท
แล้วเร่งหลีกออกไปเสียให้พ้น.....


..... อิเหนาพานางยุบลค่อมกลับมาใกล้ที่ประทับนางบุษบา นางยุคลค่อมนำดอกปะหนันถวายนางบุษบา....

บัดนั้น...
นางยุบลค่อมก้มเกล้า
ถวายดอกลำเจียกแก่นงเยาว์
แล้วหลีกเหล่ากำนัลหนีมา..


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=774151


พลอยโพยมอ่านอิเหนาให้ยายขาฟังครั้งอยู่วัยเด็กโตแล้ว ( อ่านทำนองเสนาะเสียด้วย) ให้สงสัยเป็นนักหนาว่าอิเหนาเขียนสารลงกลีบดอกปะหนันอย่างไร เพราะตอนนั้นไม่รู้จักดอกปะหนัน


ในสารของอิเหนา ข้อความยาวมาก..ดังนี้

ในลักษณ์นั้นว่าจรกา
รูปชั่วต่ำช้าศักดิ์ศรี
ทรลักษณ์พิกลอินทรีย์
ดูไหนไม่มีจำเริญใจ

เกศานาสิกขนงเนตร
สมเพชพิปริตผิดวิสัย
เสียงแหบแสบสั่่นเป็นพ้นไป
รูปร่างช่างกะไรเหมือนยักษ์มาร

เมื่อยิ้มเหมือนหลอกหยอกเหมือนขู่
ไม่ควรคู่เคียงพักตร์สมัครสมาน
ดังกากาจชาติช้าสาธารณ์
มาประมาณหมายหงส์พงศ์พระยา

แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย
อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า
พี่พลอยร้อนใจแทนทุกเวลา
ฤาวาสนาน้องจะต้องกัน

( พลอยโพยมสรุปว่า พระเอกอิเหนาคนนี้ เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้ผู้อื่น ..นะนี่.. แต่เป็นพระเอกทำอะไรก็น่ารัก อ่านให้ยายขานอนฟัง ยายขาก็ชอบใจยิ้มน้อยยิ้มใหญ่เอ็นดูพระเอกอิเหนาเหลือประมาณ ท่านคงนึกย้อนภาพตัวแสดงอิเหนากำลังร่ายรำอ่อนช้อยบนเวทีโรงละครแห่งชาติ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นละครรำโดยผู้หญิงก็ต้องอ่อนช้อยแน่นอน )




ภาพที่งดงามอ่อนช้อยอย่างนี้ย่อมเป็นผลงานของอาจารย์จักรพันธ์ โปษยกฤต
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.sahavicha.com


ปฏิกิริยาของบุษบาเมื่ออ่านสารบนกลีบปะหนันแล้ว


ครั้นอ่านเสร็จสิ้นในสาร
เยาวมาลย์เคืองขุ่นหุนหัน
จึงฉีกที่มีหนังสือนั้น
ทิ้งลงเสียพลันทันใด


ตกลงก็เลยไม่ได้ทำบุหงารำไปต่อ อิเหนาเห็นบุษบา นั่งดูบุหรงอันลงจับไม้ จะเลือกบุหงาก็หาไม่ ก็อยากจะให้บุษบาเห็นตน "จะให้สบนัยนาโฉมฉาย ครั้นนางไม่เห็นก็อุบาย เยื้องกรายฉายกฤชอันฤทธี "

บุษบาตกใจ
 "ดังสายฟ้าต้องเนตรมารศรี
 นางร้องสุดเสียงเทวี
สลบลงกับที่ทันใด "

พระเอกคนดีสุดรักของยายขาก็หนีกลับเข้าไปในวัดที่ตั้งพหลพลไกรของตนเอง



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=774151 

ใจความในสารของอิเหนาก็ต้องใช้ปะหนันหลายดอกทีเดียว
ดอกปะหนันกล่าวถึงอีกครั้งเมื่อบุษบาถูกพระอัยกาบันดาลลมหอบไปอยู่เมืองประมอตัน และแปลงบุษบาให้เป็นชายชื่ออุณากรรณ เพื่อลงโทษอิเหนาให้ออกตามหาบุษบา



ลมหอบบุษบาไปทั้งราชรถ
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dek-d.com/board/view.php?id=1429172

เมื่ออิเหนาออกตามหาบุษบา เห็นดอกไม้ต่าง ๆ ก็หวนคิดถึงคะนึงหา

เหลือบเห็นดอกปะหนันสำคัญคิด
เหมือนวันที่พี่ลิขิตด้วยนขา
เห็นดอกไม้ไหลลอยในคงคา
เหมือนเมื่อลอยมาลาให้เทวี



ผลงานอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
กลีบดอกปะหนันหรือลำเจียกนั้น อันที่จริงมิใช่กลีบดอกหากแต่เป็นใบประดับที่มีรูปร่างเรียวยาวห่อหุ้มช่อดอก

 จากเรื่องอิเหนาคราวนี้ก็มาเรืองเตยทะเลที่ตำบลบางกรูด
ในวัยเด็กพลอยโพยมไม่รู้จักดอกปะหนัน ดอกลำเจียก อ่านกลอนไปตามบทพระราชนิพนธ์ไปตามทำนอง แต่สำหรับต้นเตยทะเลนั้น เราจะเรียกกันว่าต้นเตยบ้างต้นหนามเตยบ้าง พลอยโพยมรู้จักดีเพราะมีต้นเตยทะเลขึ้นตามชายแม่น้ำบางปะกง ที่บ้านมีความเกี่ยวพันกับเตยทะเลบ่อย ๆ เพราะยายขาจะสั่งให้ลูกจ้างหรือบางที่เป็นเด็กผู้ชายไปตัดผลเตยทะเลมาสำหรับใช้ขัดพื้นบ้าน โดยผ่าครึ่งขวางผล ( ยังมีลูกมะพร้าทุย ผ่าครึ่งเอากะลาออกก็ใช้ขัดได้เหมือนกัน ) แล้วเอามาใช้ขัดกระดานบ้านที่เปียกน้ำคือตักน้ำราดพื้นกระดานนั่นเอง ราดน้ำไปถูพื้นไปจนเสร็จ ถ้าขืนขัดล้างพื้นบ้านด้วยแปรงทองเหลืองผิวกระดานก็เป็นรอยขูดข่วนกันหมดพอดี การไปตัดผลเตยทะเลต้องลงเรือไปตัด บางที่ก็ต้องไปตัดไกลบ้านออกไปหากต้นใกล้ ๆ บ้านไม่มีผลเตยทะเลบนต้น งานแบบนี้เด็กผู้หญิงรอดตัวเพราะต้นเตยทั้งต้นและใบมีหนามนั่นเอง



พื้นบ้านของพลอยโพยมหลังเอาผลเตยหรือมะพร้าวทุยขัดจนพื้นบ้านขาวสวยสะอาดแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เคี่ยวเทียนเอามาลงพื้น หลังจากลงพื้นด้วยเทียนเคี่ยว ช่วงใหม่ ๆ การจะนั่งนอนบนพื้นกระดานไม่สบายนัก จะรู้สึกหนืด ๆ เหนียว ๆ อยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่การกวาดถูบ้านทุกวันก็ทำให้ความเหนียวหนืดของน้ำมันหายไป เหลือความมันของเทียนที่ผิวไม้ สองสามหรือสี่ปีถึงจะขัดพื้นและลงเทียนกันที แล้วแต่สภาพกระดานพื้นบ้าน

การลงเทียนพื้นกระดานนี้ในสมัยเรียนชั้นประถมปลาย ( ป.5.ถึง ป.7 ) และชั้นมัธยมต้น (ม.ศ. 1 ถึง ม.ศ. 3 ) ก็จะมีการลงเทียนพื้นห้องเรียนที่โรงเรียนโดยทำกันวันหยุด เรียกระดมพลนักเรียนในห้องเรียนมาขนย้ายโต๊ะเก้าอี้ภายในห้องเรียนออก ปัดกวาดเช็ดถูแล้วก็เคี่ยวเทียน( เทียนเป็นแผ่น ๆ หนาสี่เหลี่ยมผืนผ้า ) เอาเที่ยนที่เคี่ยวแล้วละเลงทาบนพื้นห้อง มีคุณครูประจำชั้นมาควบคุมดูแลสำหรับชั้นเรียนประถมปลาย แต่ชั้นมัธยมต้นนักเรียนโตแล้วทำกันเองได้



สำหรับต้นเตยทะเลนี้มีไปตามแนวริมฝั่งแม่น้ำริมคลอง ที่อำเภอบางคล้าในอดีตบางช่วงมีต้นเตยขึ้นเป็นแนวยาว เป็นร้อยเมตรก็มี และในเมืองฉะเชิงเทราก็มีตำบลบางเตยอยู่ในเขตอำเภอเมือง ชื่อของตำบลได้มาจากมีต้นเตยมาก แต่ต้นเตยทะเลนี้รากไม่ยึดเกาะกับพื้นดินริมฝั่งนักโดยเฉพาะฝั่งที่ดินพัง ในลำน้ำบางปะกงบ่อยครั้งที่ต้นเตยทะเลนี้หลุดออกจากริมฝั่งลอยเคว้งคว้างในแม่น้ำ แต่ถ้าต้นเตยยังอยู่ริมฝั่งแม่น้ำได้ ใต้ต้นเตยที่มีใบปกคลุมระน้ำอยู่ มักเป็นที่ชุมนุมอยู่ของกุ้งปลา บริเวณต้นเตยจึงเป็นที่หมายปองของคนที่ออกมาหากุ้งปลาและมักสมหวังตั้งใจได้ปลาเสมอ ๆ
ต้นเตยทะเลที่เมืองฉะเชิงเทรามักอยู่ตามริมน้ำ

พลอยโพยมมารู้จักดอกปะหนัน หรือลำเจียก ก็เพราะซื้อหนังสือดอกไม้ต้นไม้มา ต้องร่้องอ๋อ ...นี่เองดอกปะหนัน..อพิโธ่เอ๋ย...เคยเห็นเป็นประจำ ที่ ริมน้ำบางปะกง
ยังมีดอกปาหนันอีกแบบ เช่นปาหนันช้าง ปาหนันแม่วงศ์ ปาหนันเมืองกาญจน์ ปาหนันอ่างฤาไนย และอีกหลาย ๆ ปาหนัน บุหงาลำเจียก ซึ่งล้วนเป็นไม้วงศ์กระดังงา พันธุ์ไม้คนละวงศ์กับ ปะหนัน หรือลำเจียก




และภาพต้นเตยทะเลที่สื่อนี้เป็นต้นเตยทะเลด่าง ส่วนต้นเตยทะเลนั้นปัจจุบันค่อนข้างหายาก ต้นหลุดลอยลงน้ำบ้างถูกตัดทิ้งบ้าง การไปสำรวจตามริมฝั่งน้ำต้องลงเรือไป เพราะเตยทะเลจะเป็นพรรณไม้ชั้นนอกติดริมน้ำสำหรับเมืองฉะเชิงเทราโดยเฉพาะที่ตำบลบางกรูด ส่วนต้นเตยทะเลด่างเป็นต้นเตยที่ปลูกกันตามบ้านเรือนหรือสถานที่ต่าง ๆ เป็นไม้ประดับสวยงาม





ต้นเตยหอม