วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

เทศกาลไหว้พระจันทร์

เทศกาลไหว้พระจันทร์

เทศกาลไหว้พระจันทร์มีที่มาจากประเพณีไหว้พระจันทร์และประเพณีเซ่นสรวงทางการเกษตรประจำฤดูสารทของจีนโบราณ





เทศกาลไหว้พระจันทร์มีชื่อทางการภาษาจีนว่า "จงชิวเจี๋ย" ตรงกับวัน ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๘ ของปฏิทินจีน เหตุที่เรียกเทศกาลนี้ว่า "จงชิว" เพราะเดือน ๘ เป็นเดือนกลางฤดูสารท ปฏิทินจีนเก่าที่เรียกว่าปฏิทินเกษตรใช้จันทรคติควบสุริยคติ ตามจันทรคติเดือนหนึ่งมี ๒๙-๓๐ วัน ๑ ปี มี ๑๒ เดือน ๓๕๔-๓๕๕ วัน ตามสุริยคติแบ่งปีเป็น ๔ ฤดู โดยที่

เดือน ๑-๒-๓ เป็นฤดูใบไม้ผลิ (วสันต์) เดือน ๔-๕-๖ เป็นฤดูร้อน (คิมหันต์) เดือน ๗-๘-๙ เป็นฤดูใบไม้ร่วง (สารท-ศารท) เดือน ๑๐-๑๑-๑๒ เป็นฤดูหนาว (เหมันต์)

การเกษตรที่สำคัญของจีนโบราณคือการทำนา มีกำหนดแน่นอนตามฤดูกาล คือ "วสันต์ไถหว่าน คิมหันต์เติบโต สารทเก็บเกี่ยว เหมันต์เก็บเข้ายุ้งฉาง" คนจีนโบราณเคารพธรรมชาติมาก มีพิธีเซ่นสรวงธรรมชาติประจำฤดูทั้งสี่ คือ ฤดูใบไม้ผลิบูชาพระอาทิตย์ ฤดูใบไม้ร่วงบูชาพระจันทร์ ฤดูร้อนบูชาพระธรณี (ดิน) ฤดูหนาวบูชาสวรรค์ (ฟ้า)



เหตุที่ไหว้พระจันทร์ ในฤดูใบไม้ร่วง เพราะฤดูนี้พระจันทร์แจ่มงามที่สุด อากาศอบอุ่นสบาย ฤดูใบไม้ผลิตอนต้นฤดูยังหนาว ท้ายฤดูฝนมาก ฤดูร้อนฝนชุกเมฆมาก ฤดูหนาวแม้ฟ้าใสแต่อากาศหนาวมาก หลายถิ่นมีหิมะตก แต่ละฤดูมีความงามของธรรมชาติประจำฤดู

คืนเพ็ญในคืนจงชิวกลางเดือน ๘ ซึ่งจันทร์แจ่มกระจ่างงามเหนือคืนเพ็ญใดจนถึงกับมีสำนวนจีนกล่าวว่า "จันทร์ถึงจงชิว แจ่มงามเป็นพิเศษ" คนสมัยราชวงศ์ถังเรียกคืนนี้ว่า ตวนเจิ้งเย่ว์ หมายถึง "จันทร์ตรงเต็ม" คือ เต็มดวงโดดเด่นนั่นเอง โจวหยางจาน (พ.ศ. ๑๓๒๘-๗๐) กวีสมัยราชวงศ์ถังกล่าวไว้ในบทกลอนชมจันทร์ตอนหนึ่งว่า "สิบสองเดือนคืนเพ็ญล้วนแจ่มจันทร์ ดวงโตเด่นสุดผ่องพรรณคือจงชิว"



สมัยโบราณยุคราชวงศ์เซี่ย-ซาง-โจว การไหว้พระจันทร์เป็นกิจของเจ้าผู้ครองแคว้นเท่านั้น สมัยราชวงศ์ฮั่นมีเทศกาล คารวะผู้สูงอายุโดยคัดเลือกคนชราผู้มีชื่อเสียงและคุณธรรมจำนวนหนึ่ง ทางการมอบไม้เท้า ขนมนึ่งด้วยแป้งข้าวเหนียวและของอื่นๆ ให้ แต่ไม่พบหลักฐานเรื่องงานไหว้พระจันทร์ของชาวบ้าน จนถึงยุคราชวงศ์เหนือ-มีการ กล่าวถึงการไหว้พระจันทร์เดือน ๘ แต่มิได้กล่าวถึงรายละเอียดของการไหว้พระจันทร์เลย

เทศกาลจงชิวปรากฏชัดแพร่หลายในสมัยราชวงศ์ถัง มีบทกวีของกวีมากมายกล่าวถึงการชมจันทร์วันกลางเดือน ๘ เช่น โอวหยางจานซึ่งแต่งบทกวีชมจันทร์ในเมืองฉางอาน (เมืองหลวงของราชวงศ์ถัง) ไว้มากและกล่าวถึงชื่อวัน "จงชิว" อย่างชัดเจน

มีบทกวีชมจันทร์ของบรรดากวีสมัยราชวงศ์ถังแสดงให้เห็นว่ายุคนี้น่าจะมีคตินิยม กลับไปชุมนุมชมจันทร์กันพร้อมหน้าในครอบครัวแล้ว เช่น บท "เย่ว์เย่ (คืนเพ็ญ) ของตู้ฝู่ (พ.ศ. ๑๒๕๕-๑๓๑๓) กวียิ่งใหญ่ที่สุดของจีนผู้ได้รับฉายาว่า "ราชาแห่งปวงกวี" เขาแต่งกวีนิพนธ์บทนี้เมื่อปีพ.ศ. ๑๒๙๙ บ้านเมืองมีศึกสงคราม ตัวเขาอยู่เมืองฉางอาน แต่ลูกเมียอยู่เมืองฟูโจว ถึงวันจงชิวเขาห่วงหาอาทรถึงภรรยาว่าต้องโศกเศร้าที่ครอบครัวไม่พร้อมหน้า ขาดสามีร่วมชมจันทร์



แม้กระนั้นวันจงชิวยังไม่เป็นเทศกาลใหญ่เหมือนตรุษจีน หยวนเซียว เช็งเม้ง และตวนอู่ (สารทขนมจ้าง) เพราะทางราชการยังไม่ได้ประกาศเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และหนังสือสมัยราชวงศ์ถังที่เขียนถึงเทศกาลส่วนมากก็ไม่ได้ใส่ชื่อเทศกาลนี้ไว้ พูดง่ายๆ ก็คือจงชิวยังเป็นแค่วันเทศกาลของชาวบ้านไม่ใช่วันเทศกาลของรัฐ

จงชิว มีฐานะเป็นเทศกาลของรัฐในสมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๘๒๒) ซ่งไท่จง (พ.ศ. ๑๕๑๙-๔๐) ฮ่องเต้องค์ที่ ๒ ของราชวงศ์ซ่งประกาศให้วัน ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๘ เป็นวันเทศกาลจงชิว

มีบันทึกเรื่องเทศกาลนี้ไว้คล้ายกันว่าแพร่หลายไปทั่วทุกถิ่น ทุกชนชั้น มีกิจกรรมเฉลิมฉลองสนุกสนานกันทั้งคืน ที่สำคัญคือการเที่ยวชมจันทร์และไหว้พระจันทร์ ขนมไหว้พระจันทร์ก็น่าจะมีแล้วในสมัยนี้

ถึงสมัยราชวงศ์หยวน เทศกาลไหว้พระจันทร์มีความสำคัญยิ่งขึ้น ราชสำนักซึ่งเป็นชาวมองโกลก็รับเทศกาลนี้ไปจากชาวจีน
ราษฎรจึงใช้วันไหว้พระจันทร์ชุมนุมนัดหมายกันแทน ดังมีตำนานเล่าว่าเขียนหนังสือนัดหมายลุกฮือฆ่ามองโกล สอดไปในไส้ขนมไหว้พระจันทร์ซึ่งแต่ละบ้านนำไปมอบให้ต่อๆ กัน ทำให้กู้ชาติพิฆาตมองโกลได้สำเร็จ ตำนานนี้แม้นักวิชาการจะบอกว่าเชื่อได้ไม่มากนัก แต่ก็คงมีมูลความจริงอยู่บ้าง เพราะปัจจุบันเทศกาลไหว้พระจันทร์ในหลายถิ่นของจีน เช่น แต้จิ๋ว เจียงซี (กังไส) มีกิจกรรมรำลึกถึงการโค่นล้มมองโกล อยู่ด้วย



และตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา มีประเพณีมอบขนมไหว้พระจันทร์เป็นของขวัญประจำเทศกาล ทั้งถือว่าขนมนี้เป็นเครื่องหมายของการอยู่ชุมนุมพร้อมหน้ากันในครอบครัวด้วยความสมบูรณ์พูนสุข เทศกาลไหว้พระจันทร์ยิ่งคึกคักมีความสำคัญแข่งเคียงกับเทศกาลขนมจ้างและตรุษจีน เป็น ๑ ใน ๓ เทศกาลใหญ่ของจีน

ถึงสมัยราชวงศ์ชิง เทศกาลไหว้พระจันทร์มีกิจกรรมหลากหลายเป็นนักขัตฤกษ์ใหญ่ยิ่งกว่าเดิม ทุกหนทุกแห่งเปี่ยมด้วยบรรยากาศแห่งความรื่นเริง เพราะส่วนมากเบาภาระจากงานไร่นา อากาศเย็นสบาย ฟ้าแจ่มใส จันทร์กระจ่าง บรรยากาศชวนให้เบิกบานใจ ทุกบ้านต่างจัดเครื่องบูชาไหว้พระจันทร์ แม้กระต่ายในดวงจันทร์ก็มีพิธีเซ่นไหว้ มีผู้ปั้นกระต่ายในดวงจันทร์ขายในเทศกาลนี้ตั้งแต่ ปลายราชวงศ์หมิง จนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเทศกาลนี้

หลังจากสิ้นราชวงศ์ชิง แม้จีนจะมีศึกสงครามตลอดยุคสาธารณรัฐ (พ.ศ. ๒๔๕๔-๙๒) แต่เทศกาลไหว้พระจันทร์ยังคงความสำคัญตลอดมาจนปัจจุบัน แม้ชนชาติส่วนน้อยในจีนหลายเผ่าก็ฉลองเทศกาลนี้ด้วย เช่น ไต (ลื้อ) จ้วง ปู้อี ต้ง

ปัจจุบันในจีนเกือบทุกถิ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ถือว่าเทศกาลนี้เป็นเทศกาลใหญ่อันดับ ๒ รองจากตรุษจีนเท่านั้น



 เทศกาลจงชิว มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลาง ตามจินตนาการของคนจีน มีเรื่องเกี่ยวเนื่องด้วยดวงจันทร์ในเทศกาลนี้หลายเรื่องคือ คางคก กระต่าย ต้นกุ้ยฮวยกับอู๋กัง เทพธิดาฉางเอ๋อ เรื่องพระเจ้าถังเสวียนจงประพาสดวงจันทร์ และขนมไหว้พระจันทร์




 คัดย่อข้อมูลมาจาก http://edunews.eduzones.com/jipatar/9448 เชิญติดตามบทความฉบับเต็มได้

ในขณะที่ชาวจีนทั่วโลกมีการเฉลิมฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์



สำหรับชาวเกาหลีมีวันหยุดฉลองเทศกาล Chusoek


ทุกวันที่ 15 เดือน 8 ตามปีปฏิทินของเกาหลี ชาวเกาหลีทุกคนจะมุ่งหน้ากลับบ้านเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล Chuseok หรือเทศกาลเก็บเกี่ยวในคืนวันเพ็ญ
Chuseok เป็นหนึ่งใน 2 วันหยุดสำคัญของเกาหลี เทียบเท่าได้กับวันขอบคุณพระเจ้าของชาวตะวันตก เป็นเวลาที่จะได้แสดงความเคารพต่อบรรพชน ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆ

ผู้คนจากทุกภาคของประเทศจะมุ่งหน้ากลับบ้าน กลับไปแสดงความคารวะต่อบรรพชนด้วยอาหารตามประเพณี Chuseok มีชื่อเรียกอื่นด้วย อาทิเช่น Chochunil, Chungchujeol, Gabae และ Hangawi ทั้งหมดล้วนแปลว่าวันที่ยิ่งใหญ่

การมุ่งหน้ากลับบ้านในเทศกาล Chuseok ทำให้การจราจรติดขัด การเดินทางกลับบ้านอาจต้องใช้เวลานานนับ 10 ชั่วโมง แต่ก็ไม่มีใครบ่น พวกเขาเฝ้ารอคอยที่จะได้กลับไปพบกับครอบครัวและเพื่อนฝูง เด็กๆ จะสวมชุดฮันบกหรือชุดประจำชาติเกาหลี ที่ถูกเลือกสรรมาเพื่อโอกาสนี้โดยเฉพาะ





ในสมัยโบราณ เทศกาล Chuseok ยังเป็นเวลาที่ผู้คนผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าสำหรับรับฤดูใบไม้ร่วง การเตรียมเสื้อผ้าใหม่ๆ สำหรับเทศกาลวันหยุดนี้ถือเป็นประเพณีนิยม
ประวัติศาสตร์ของ Chuseok ย้อนกลับไปประมาณ 2,000 ปีก่อน ในยุคสมัยของกษัตริย์ชิลลาที่มีพระนามว่า King Euri ทรงปกครองอยู่ในช่วงสมัยของ 3 อาณาจักรใหญ่ (โกคูเรียว แพ๊กเจ และชิลลา) ทรงประสงค์ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมการทอผ้า จึงทรงดำริให้จัดการแข่งขันทอผ้าขึ้น ผู้แพ้จะต้องจัดเตรียมสำรับอาหารให้กับผู้ชนะ นี่จึงถือเป็นจุดกำเนิดของเทศกาล Chuseok ที่ต่อมากลายเป็นวันหยุดสำคัญของชาติ


เทศกาล Chuseok จะฉลองกันทั้งหมด 3 วัน วันแรกของเทศกาลคือการกราบไหว้บรรพบุรุษ โดยมีการเตรียมล่วงหน้า 1 วันสำหรับจัดแท่นบูชา
เมื่อครอบครัวมาอยู่พร้อมหน้ากันย่อมหมายถึงการกินข้าวมื้อใหญ่ด้วยกัน เมื่อพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษเสร็จสิ้นลง ทั้งครอบครัวจะมาฉลองร่วมกัน จะไม่เหมือนในวันปีใหม่ที่จะมี tteokguk หรือ rice cake soup สำหรับ Chuseok ข้าวที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆ จะถูกนำมาทำเป็นเหล้าและขนม (rice wine and rice cakes) อาหารที่นิยมกินกันในวันนี้ก็คือ ซุป toran หรือน้ำซุปจากเนื้อวัวใส่รากเผือก




ในวันสำคัญนี้จะมีการเตรียมขนมประจำเทศกาลอย่าง songpyeon หรือ full moon rice cakes ที่ยัดไส้ด้วยงา ถั่ว เชสนัต แป้ง และธัญพืชที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆ
หลังอาหารเช้ามื้อใหญ่ก็คือการไปไหว้สุสานบรรพชน สุสานจะถูกทำความสะอาดเตรียมไว้ก่อนถึงวันเทศกาล โดยมีการถางหญ้าและวัชพืชออกให้สะอาด คนในครอบครัวจะต้องคอยดูแลสุสานบรรพชนอย่างดี การที่สุสานถูกทิ้งขว้างให้รกร้างถือเป็นลบหลู่บรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว

สำหรับ ganggangsullae คือการเต้นรำเป็นวงกลมภายใต้แสงจันทร์ คือหนึ่งในความบันเทิงยอดนิยมประจำเทศกาลนี้ ตามประเพณีดั้งเดิม ผู้หญิงในหมู่บ้านจะมายืนล้อมวงกัน จับมือกันไว้ ร้องเพลงและเต้นรำไปรอบๆ ใต้จันทร์เพ็ญ






จังหวะการเต้นรำจะเริ่มจากช้าๆ แล้วค่อยเร่งจังหวะเร็วขึ้น จะมีคนร้องนำ และคนที่เหลือจะขานรับด้วยคำว่า "ganggangsullae" หรือ "ganggangsuwollae"

ต้นกำเนิดของการเต้นรำนี้ย้อนหลังไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ตอนที่ญี่ปุ่นบุกโจมตีโชซอน (ปี 1392-1910) ทหารเกาหลีมีจำนวนน้อยจนไม่อาจต่อกรกับกองทัพใหญ่ของญี่ปุ่นได้ ยี่ซุนชิน ท่านผู้บัญชาการทัพในขณะนั้นจึงแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนมายืนล้อมวงกัน
แล้วให้พวกเธอขึ้นไปบนเขาและเต้นรำไปรอบๆ ภายใต้แสงจันทร์ส่องสว่าง พวกญี่ปุ่นเห็นผู้หญิงเต้นรำและคิดว่าทหารเกาหลีมีจำนวนมากเหลือเกินจึงถอนทัพกลับไป หลังสงครามครั้งนั้น ชาวเกาหลีจึงจัดการเต้นรำแบบนี้ขึ้นทุกปีเพื่อเป็นการรำลึกถึงชัยชนะในครั้งนั้น


แล้วการที่มาร่วมกันเต้นรำภายใต้แสงจันทร์เช่นนี้ เท่ากับเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพและความมั่งคั่ง เพื่อแบ่งปันพืชผลที่งอกงาม และขอให้ชีวิตสดใสอิ่มเอิบดุจดั่งพระจันทร์ในคืนเพ็ญ



ขอขอบคุณภาพข้อมูลจากhttp://twssg.blogspot.com
ขอบคุณบทแปลของคุณ Ladymoom ซึ่งแปลมาจาก korea.net




จะเห็นว่าขนบธรรมเนียมประเพณี ของ จีนและเกาหลี มีความคล้ายคลึงกันมาก มิใช่เพียง 2 ประเทศนี้เท่านั้น ควรใช้คำว่าภูมิภาคเอเชียมีขนบธรรมเนียม ประเพณี หลาย ๆ อย่างที่คล้ายคลึงกัน

 เมื่อ 5-6 ปี ที่แล้ว พลอยโพยมก็เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในกระแส ฮัลลิว ของเกาหลี

“ฮัลลิว” (Hallyu) หรือ “กระแสความนิยมเกาหลี ” เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี ค.ศ.1999 ในประเทศจีน โดยนักหนังสือพิมพ์ชาวปักกิ่งเพื่อใช้เรียก กระแสความนิยมการใช้สินค้าของเกาหลีที่เกิดขึ้นในจีน ปัจจุบันคำนี้ถูกนำมาใช้ในความหมายที่กว้างขึ้น อันหมายถึง ปรากฏการณ์ความนิยมวัฒนธรรมของเกาหลีที่แผ่ขยายไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศทางแถบเอเชีย


พลอยโพยม เป็นแฟนคลับของดาราเกาหลี ชื่อ เบ ยองจุน อยู่หลายปี จากปณิธานของ เบ ยองจุน ที่ต้องการให้เอเขียเป็นหนึ่งเดียว และได้อ่านบทสัมภาษณ์ของดาราผู้นี้ ทำให้พลอยโพยม เข้าวังวนของ ฮัลลิว และสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจกับการติดตามความเคลื่อนไหว การให้สัมภาษณ์ต่าง ๆ ของดาราในดวงใจ ติดตามชมละครออนไลน์ของเขาพร้อม ๆ ชาวเกาหลี โดยไม่รู้เรื่องภาษาเกาหลีเลย แล้วก็จะมีเพื่อนแฟนคลับ แปลบทละคร ส่งมาให้ หลังจากชมไปแล้ว เพียง 2-3 วัน ต่อมาก็รู้จักศัพท์เกาหลีหลาย ๆ คำ สนใจติดตามทั้ง ดาราในดวงใจ ขนบธรรมเนียมประเพณี ประวัติศาสตร์ ( ตามบทละคร) ของประเทศเกาหลี ร่วมกันเขียนบทความลงเว็ปไซต์ เป็นความสุขที่น่าจดจำกับมิตรภาพอันงดงามในช่วงเป็นแฟนคลับของ เบ ยองจุน มาจนทุกวันนี้




“ อันดอกไม้ งามเลิศ ไม่บานบ่อย
หนึ่งในร้อย ดั่งเพชร กลางภูผา
เปรียบเพื่อนดี หายาก เหลือคณา
ชั่วชีวา ใครพบ สบโชคดี "
โดยกาญจน์มุนี ศรีวิศาลภพ (ร้อยตะวัน)


พลอยโพยมใช้ชื่อตามความนิยมของแฟนคลับ ว่า Amornbyj (เพื่อให้รู้ว่า นี่เป็นแฟนคลับ เบ ยองจุน นั่นเอง) ได้ตอบความว่า


ดอกไม้บาน ขานตะวัน ของวันใหม่
ช่างอวลไอ อบอุ่น ละมุนหวาน
สีสดสวย กลิ่นระรื่น ชื่นดวงมาน
ได้พบพาน ดอกไม้หอม พร้อมไมตรี

สายลมพัด พลิ้วโบก กระโชกไหว
ไม่กวัดไกว ให้ร่วงหล่น ทนเหลือที่
ถึงแสงแดด แผดแรง แล้งทั้งปี
เป็นมาลี ที่บานอยู่ มิรู้โรย

ห้วงเวหา ฟ้านี้ มีเพ็ญจ้า
แสงนวลตา พาใจ มิไห้โหย
โลกงดงาม ยามนี้ ที่กอบโกย
อยู่กันโดย ด้วยผูกพัน ฝันร่วมกัน

ดอกไม้ผลิ เพิ่มใหม่ ไม่ขาดช่วง
จันทร์เต็มดวง พ่วงดารา หาแปรผัน
ตราบโลกนี้ มีแสง รังสิมันต์
เพื่อนแท้นั้น ยังมีอยู่ คู่โลกา



ภาพดอกกล้วยไม้ที่ประเทศสิงค์โปร์ ตั้งชื่อโดยใช้ชื่อ เบ ยองจุน เพื่อเป็นเกียรติ แก่เบ ยองจุน

มิตรภาพเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะมี เบ ยองจุน เป็นสื่อกลาง ร้อยรวมพวกเราให้เข้ามาหากัน และรู้จักกัน แม้ไม่เคยหน้าตาซึ่งและกัน เราก็เกิดความรู้สึก รัก ผูกพัน ปรารถนาดี มีมิตรไมตรีต่อกัน เผื่อแผ่ แบ่งปัน ความสุขและสิ่งดี ๆ ซึ่งกันและกัน ขอบคุณ เบ ยองจุน จริง ๆ
ขอรำพึงถึง เบ ยองจุน สักนิดในวันนี้ เพราะทุกวันเทศกาล Chuseok  ก็จะเป็นวัน ที่ เบ ยองจุน กลับบ้านร่วมฉลองกับคุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ และน้องสาว




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น