วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] กาพย์พระไชยสุริยา...

กาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่




พระไชยสุริยา เป็นวรรณคดีที่ประพันธ์โดย สุนทรภู่ เป็นนิทานสำหรับสอนการเขียนอ่าน โดยมีบทอ่านเรียงลำดับการสะกดคำตั้งแต่ แม่ ก กา ตามด้วย แม่กน แม่กง แม่กก แม่กด แม่กบ แม่กม จนถึงแม่เกย ตามลำดับ ลักษณะการประพันธ์แบบกาพย์ประเภทต่างๆ คือ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 เชื่อว่าสุนทรภู่ประพันธ์ขึ้นในราวปี พ.ศ. 2383-2385 สำหรับใช้เป็นบทเรียนเขียนอ่านพื่อถวายพระอักษรแด่พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระอัครชายา คือเจ้าฟ้าชายกลางแล้วเจ้าฟ้าปิ๋ว

กาพย์พระไชยสุริยา ได้บรรจุอยู่ในหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ซึ่งเป็นแบบเรียนของไทยที่จัดทำโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5



แม่ ก กา
(ยานี ๑๑)
สะธุสะจะขอไหว้ พระศรีไตรสรณา
พ่อแม่เเลครูบา เทวดาในราศี

ข้าเจ้าเอา ก ข เข้ามาต่อ ก กามี
แก้ไขในเท่านี้ ดีมิดีอย่าตรีชา

จะร่ำคำต่อไป พอล่อใจกุมารา
ธรณีมีราชา เจ้าพาราสาวะถี

ชื่อพระไชยสุริยา มีสุดามเหสี
ชื่อว่าสุมาลี อยู่บุรีไม่มีภัย

ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มีกิริยาอัชฌาศัย
พ่อแม่มาแต่ไกล ได้อาศัยในพารา

ไพร่ฟ้าประชาชี อยู่บุรีก็ปรีดา
ทำไร่ข้าวไถนา ได้ข้าวปลาแลสาลี

อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวนารี
ที่หน้าตาดีดี ทำมโหรีที่เคหา

ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา
หาได้ให้ภริยา โลโภพาให้บ้าใจ

ไม่จำคำพระเจ้า เหไปเข้าภาษาไสย
ถือดีมีข้าไทย ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา

คดีที่มีคู่ คือไก่หมูเจ้าสุภา
ใครเอาข้าวปลามา ให้สุภาก็ว่าดี

ที่แพ้แก้ชนะ ไม่ถือพระประเวณี
ขี้ฉ้อก็ได้ดี ไล่ด่าตีมีอาญา

ที่ซื่อถือพระเจ้า ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา
ผู้เฒ่าเหล่าเมธา ว่าบ้าใบ้สาระยำ

ภิกษุสมณะ เหล่าก็ละพระสธรรม
คาถาว่าลำนำ ไปเร่ร่ำทำเฉโก

ไม่จำคำผู้ใหญ่ ศีรษะไม้ใจโยโส
ที่ดีมีอะโข ข้าขอโมทนาไป

พาราสาวะถี ใครไม่มีปรานีใคร
ดุดื้อถือแต่ใจที่ใครได้ใส่เอาพอ

ผู้ที่มีฝีมือ ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ
ไล่คว้าผ้าที่คอ อะไรล่อก็เอาไป

ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มิได้ว่าหมู่ข้าไท
ถือน้ำร่ำเข้าไปแต่น้ำใจไม่นำพา

หาได้ใครหาเอา ไพร่ฟ้าเศร้าเปล่าอุรา
ผู้ที่มีอาญา ไล่ตีด่าไม่ปรานี

ผีป่ามากระทำ มรณกรรมชาวบุรี
น้ำป่าเข้าธานี ก็ไม่มีที่อาศัย

ข้าเฝ้าเหล่าเสนา หนีไปหาพาราไกล
ชีบาล่าลี้ไป ไม่มีใครในธานี




เนื้อเรื่องของกาพย์พระไชยสุริยา เป็นเรื่องราว ที่ หมู่ข้าเฝ้า เหล่าเสนาของพาราสาวัตถี ไม่สนใจบ้านเมือง ช่วยพระไชยสุริยาบริหารบ้านเมือง มัวแต่หาความสุขใส่ตัว ไม่นับถือพระศาสนา ไม่มีศีลไม่มีสัตย์ ทุจริตคอรัปชั้น สมณะพระสงฆ์ก็ไม่ดำเนินตามหลักพระธรรมคำสอน เด็กๆ ไม่นับถือเชื่อฟังผู้ใหญ๋ ( หมายถึง ในเมืองสาวะถี น่าจะยังมีผู้ใหญ่ที่เป็นคนดีเหลืออยู่บ่้าง แต่เด็ก ก็ดื้อด้านทำตัวตามผู้ใหญ่ ที่เลว) จนในที่สุด ไม่มีเทพคุ้มครองเมือง เทพก็หนี ผีป่าก็มา น้ำป่าก็เข้าธานี ผลที่สุด ก็ต้องอพยพหนีทั้งหมด ทิ้งเมืองสาวัตถีเป็นเมืองร้างเพราะหนีน้ำป่า คนที่หนีไม่ทัน ก็ล้มตาย พระราชาและมเหสี และเหล่าเสนา ข้าราชบริพาร ลงเรือสำเภาใหญ่ล่องไปในทะเล



แล้วก็เกิดกรรมซัดวิบัติเป็น มีพายุใหญ่พัดมา สำเภาล่ม พระไชยสุริยาคว้ามือพระมเหสีได้ ใช้ผ้าสไบผูกกันไว้ให้ไม่พลัดกัน เหล่าเสนาข้าไท ถูกจระเข้ เหรา จับกินตายหมด พระไชยสุริยาและมเหสีถูกซัดขึ้นเกยฝั่ง



พระไชยสุริยาและมเหสีต้องนอนไพร


บทอาขยานในสมัยเด็ก
(ฉบัง๑๖)

เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคียง

เขาสูงฝูงหงษ์ลงเรียง เริงร้องซ้องเสียง
สำเนียงน่าฟังวังเวง

กลางไพรไก่ขันบันเลง ฟังเสียงเพียงเพลง
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง

ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดัง เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสะดาลขานเสียง

กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง พระยาลอคลอเคียง
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง

ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋ง เพลินฟังวังเวง
อีเก้งเริงร้องลองเชิง

ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง คางแข็งแรงเริง
ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง

ป่าสูงยูงยางช้างโขลง อึงคะนึงผึงโผง
โยงกันเล่นน้ำคล่ำไปฯ



มีพระดาบสที่รู้เห็นเหตุการณ์ในวันที่บุรีล่ม
(ยานี ๑๑)
วันนั้นครั้นดินไหว เกิดเหตุใหญ่ในปะถะพี
เล็งดูรู้คะดี กาลกิณีสี่ประการ


ประกอบชอบเป็นผิด กลับจริตผิดโบราณ
สามัญอันธพาล ผลาญคนซื่อถือสัตย์ธรรม์

ลูกศิษย์คิดล้างครู ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน
ส่อเสียดเบียดเบียนกัน ลอบฆ่าฟันคือตัณหา

โลภลาภบาปบ่คิด โจทย์จับผิดริษยา
อุระพะสุธา ป่วนเป็นบ้าฟ้าบดบัง

บรรดาสามัญสัตว์ เกิดวิบัติปัติปาปัง
ไตรยุคทุกขตะรัง สังวัจฉะระอะวะสานฯ




พระดาบสเอ็นดูพระไชยสุริยา ที่เป็นคนดี บุรีล่มเพราะเหล่าเสนี
(ฉบัง๑๖)

ขึ้นกมสมเด็จจอมอารย์ เอ็นดูภูบาล
ผู้ผ่านภาราสาวัดถี
ซื่อตรงหลงเล่ห์เสนี กลอกกลับอัปรี
บุรีจึงล่มจมไป
ประโยชน์จะโปรดภูวไนย์ นิ่งนั่งตั้งใจ
เลื่อมใสสำเร็จเมตตา
เปล่งเสียงเพียงพิณอินทรา บอกข้อมรณา
คงมาวันหนึ่งถึงตน...


ซึ่งในตอนท้าย ในบทแม่เกย พระไชยสุริยาและพระมเหสีได้บวชในป่าถือศีลภาวนา และได้ไปอยู่บนสวรรค์เสวยสุขอยู่บนสวรรค์

สุนทรภู่ ประพันธ์เรื่องนี้ไว้ ร้อยกว่าปี มาวันนี้ก็เกิดเหตุน้ำป่าเข้าธานี ก็ไม่มีที่อาศัย ต้องอพยพผู้คนผู้ประสบภัยออกไปจากธานี หนีไปหาพาราไกล แต่ เรายังมีส่วนกลางของเมืองที่ จะต้องอยู่และอยู่ให้รอด จากน้ำป่าเข้าธานีในครั้งนี้ เรายังมีพระสยามเทวาธิราช เหล่าเทพเทวาทั้งหลาย พระเสื้อเมือง พระทรงเมืองคุ้มครองพระนคร

สุนทรภู่ ท่านประพันธ์โดย ไม่ได้มุ่งหวังว่าเป็นคำพยากรณ์
ผู้เขียนคิดว่า บรรดาคำพยากรณ์ทั้งหลาย จะเกิดจริงก็เพราะผู้คนพลเมืองไม่อยู่ในศีลสัตย์ ไม่เชื่อฟังคำสอนของศาสนา ที่ทุก ๆ ศาสนามีจุดยืนเดียวกันคือสอนให้ทุกคนเป็นคนดี หากว่าถึงคราวที่เราคนไทยเห็นผิดเป็นชอบ กอบโกยผลประโยชน์ใส่ตน ไม่สนใจเรื่องบาปบุญ และคุณงามความดีทั้งหลาย ไม่ตั้งมั่นในสัตย์ซื่อถือความสุจริต ยังแก่งแย่งชิงดี ไม่สามัคคีรวมพลัง ไม่รักประเทศชาติ วันหนึ่งเมืองไทยก็จะเป็นพาราสาวะถี

ตรีชา แปลว่า ตำหนิ ติเตียน
เจ้าสุภา แปลว่า ตุลาการ

[บทความ] เพลงยาวกรุงศรีอยุธยา...

เพลงยาวสมัยกรุงศรีอยุธยา


สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จรับราชทูตฝรั่งเศส
ภาพจาก fotoartspace.com
ขออนุญาตนำภาพมาประกอบบทความ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททอง มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะทรงมีพระชนมายุ 25 พรรษา



www.suanpakkad.com
เจ้าพระยาโกษาปานถวายสาส์นให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส

เพลงยาวสมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อ พระเจ้าปราสาททอง สวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระเชษฐาของสมเด็จพระนารายณ์ได้สืบต่อราชสมบัติ
สมเด็จพระนารายณ์ได้ร่วมมือกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอาในการชิงราชสมบัติจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย เมื่อสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระศรีสุธรรมราชาทรงเสน่หาในเจ้าฟ้าศรีสุวรรณ หรืออีกพระนามว่า พระราชกัลยาณี ซึ่งเป็นพระภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ และเป็นช่องทางให้สมเด็จพระนารายณ์ ทำรัฐประหารพระศรีสุธรรมราชา โดยมีพระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์ ร่วมมือ


ภาพวาดสมเด็จพระนารายณ์โดยชาวฝรั่งเศส
www.suanpakkad.com/h3-t.html

กาลต่อมาสมเด็จพระนารายณ์โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมืองลพบุรี เป็นราชธานี ที่ 2 และโปรดไปประทับทุก ๆ ปี เป็นเวลานาน ภายหลังทรงประชวรหนักอยู่ที่เมืองลพบุรี ในวันสิ้นพระชนม์พระเพทราชาซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการขณะเสด็จไปประทับที่วังลพบุรี และหลวงสรศักดิ์ ได้ยึดอำนาจโดยกำจัดพระปีย์ พระโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ประหารชีวิต และได้ส่งกำลังไปควบคุมทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่ป้อมบางกอก คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ในปัจจุบัน
สมเด็จพระนารายณ์ ทรงโทมนัสพระทัยอย่างแรงกล้า ใน กบฏสองคนพ่อลูก ถึงกับทรงสาปแช่งเอาไว้ ....(โสภาค สุวรรณ)
และ เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี
พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นมหาราช มีคุณงามความดี นานัปการย่อมมีความศักดิ์สิทธิ์ในพระองค์เอง

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่าว่าเมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชกุมาร"
ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เล่าว่าเมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์
พระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหารย์อยู่มาก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพราหมณ์ เมื่อเทียบกับกษัตริย์องค์ก่อนๆ ด้วยเหตุนี้เองพระราชประวัติของพระองค์จึงกล่าวถึงปาฏิหารย์มหัศจรรย์ตามลำดับ คือ

เมื่อพระนารายณ์ทรงมีพระชนม์ได้ 5 พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย
เมื่อพระนารายณ์ทรงมีพระชนม์ได้ 9 พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี


www.bloggang.com
ราชทูตฝรั่งเศสเข้าเผ้าทูลเหล้าถวายพระราชสาส์น

เมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม พระองค์ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง นับเป็นราชวงศ์ที่ 5 แห่งกรุงศรีอยุธยา และถือว่าเป็๋นราชวงศ์ที่ต้องคำสาป
พระเพทราชานี้ เป็นบุตรชายของพระนม จึงได้รับการเลี้ยงดูคู่กันมากับพระนารายณ์ จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนารายณ์มาก และยังเป็นพี่ชายท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกของพระนารายณ์
( คล้ายคลึงกับบุเรงนองและมังตราในผู้ชนะสิบทิศของยาขอบ)

เมื่อพระเพทราชาครองราชย์ ในภายหลังเมื่อเกิดประชวรหนักก็ลือกันว่าทรงโทมนัสถึงสิ้นพระชนม์เพราะเหตุที่หลวงสรศักดิ์ก่อขึ้นเช่นกัน (โสภาค สุวรรณ) หลวงสรศักดิ์ ลอบประหารเจ้าพระขวัญ(กรมพระราชวังบวร) พระราชโอรสจากพระมเสีฝ่ายขวากรมหลวงโยธาทิพ (ภคินีของพระนารายณ์) และ พระตรัสน้อย หนีไปบวชพระ พระตรัสน้อยเป็นพระราชโอรสจากมเหสีฝ่ายซ้ายกรมหลวงโยธาเทพ (พระธิดาของพระนารายณ์) พระเพทราชาจึงตั้งพระนัดดา เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ ให้สืบราชสมบัติ แต่เมื่อพระองค์สวรรคต หลวงสรศักดิ์ก็ได้สืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าเสือ



เมืองลพบุรี ราชธานีที่ 2 ของ สมเด็จพระนารายณ์

พระเจ้าเสือ คือหลวงสรศักดิ์ (นามเดิม มะเดื่อ)
หลวงสรศักดิ์นั้นเป็นบุตรบุญธรรมพระเพทราชา ซึ่งมีที่กล่าวเป็น 2 ทางคือ เป็นบุตรจริงของพระเพทราชาเกิดกับหญิงชาวบ้าน กับอีกทางคือ เชื่อว่าเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับพระสนมลับพระองค์หนึ่ง นางเป็นพระราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ เมื่อตั้งครรภ์ จึงได้พระราชทานแก่พระเพทราชา เพื่อปิดบังความจริง

ต่อมาหลวงสรศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสรรเพชญหรือพระสุริเยนทราธิบดี หรือที่เรียกกันว่าพระพุทธเจ้าเสือ ก็เกิดเหตุอาเภท
มีอสนีบาตตกต้องต้องยอดมณฑปติดเป็นเพลิงไหม้ เครื่องบนโทรมลงมาต้องเศียรพระพุทธรูป หักตกลงมาบนพื้น ต้องสร้างใหม่ ยกพระเศียรพระพุทธรูปขึ้นต่อกับพระองค์ (โสภาค สุวรรณ)

ต่อมาก็มีคำพยากรณ์ พูดต่อ ๆ กันมา ว่ากันเป็นเพลงยาวในสมัยกรุงศรีอยุธยา



ข้อความของเพลงยาวก็คือ

จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา
เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนา มหาดิเรกอันเลิศล้น
เป็นที่ปรากฎรจนา สรรเสิญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรีสีมามณฑล จบสกลลูกค้าวานิช
ทุกประเทศสิบสองภาษา ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคคนิษฐ์
ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิศม์ ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์
ฝ่ายองค์พระบรมราชา ครองขันธสีมาเป็นสุข
ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก จึงอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดี
เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์ในใต้หล้า เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี
ทุกนิกรนรชนมนตรี คหบดีพราหมณพฤฒา
ประดุจดั่งศาลาอาศัย ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันสาขา
ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาร
ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ อาจปราบไพรีทุกทิศาน
ทุกประเทศเขตขันธบันดาล แต่งเครื่องบรรณาการมานอบนบ
กรุงศรีอยุธยานั้นสมบูรณ์ เพิ่มพูนด้วยพระเกียรติยศขจรจบ
อุดมบรมสุขทั้งแผ่นภพ จนคำรบศักราชได้สองพัน
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์ มิได้ทรง ทศพิธราชธรรม์
จึงเกิดเข็ญ เป็นมหัศจรรย์ สิบหกประการ

คือเดือนดาว ดินฟ้า จะอาเพท อุบัติเหตุ เกิดทั่ว ทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล เกิดนิมิตพิศดารทุกบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปสู่ไพร
พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้ อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม
ในลักษณะทำนายไว้บ่ห่อนผิด เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด เกิดวิบัตินานาทั่วสากล
เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปบุรุษจะแพ้แก่ทรชน มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูนัก จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า เพราะจันฑาลมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์ เพราะสมัครสมาคมซึ่งมารยา
พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา
อาสัจจะเลื่องลือชา พระธรรมาจะตกลึกลับ
ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ จะสาปสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์ สัปบุรุษจะอับซึ่งน้ำใจ
ทั้งอายุศม์จะถอยเคลื่อนจากเดือนปี ประเวณีจะแปรปรวนตามวิสัย
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป ผลหมากรากไม้จะถอยรส
ทั้งแพทย์พรรณว่านยาก็อาเพศ เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด
จวงจันทน์พรรณไม้อันหอมรส จะถอยถดไปตามประเพณี
ทั้งเข้าก็จะยากหมากจะแพง สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศราชธานี จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์ จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ
ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก เวียงวังจะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงห์สาระสัตว์เนื้อเบื้อ นั้นจะหลงเหลือในแผ่นดิน
ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย จะสาปสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาลจะมาผลาญแผ่นดิน จะสูญสิ้นการณรงค์สงคราม
กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม
ไปจนคำรบปีเดือนคืนยาม จะสิ้นนามศักราชห้าพัน
กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์ นับวันจะเสื่อมสูญ เอยฯ

สันนิษฐานว่าเพลงยาวนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่นักวิชาการยังไม่อาจสรุปแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง แม้ว่าในตอนท้ายของบทกลอนได้บันทึกกำกับไว้ว่า "พระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนาย..." หากว่าเป็นจริงตามนั้น "พระนารายณ์" ก็หมายถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วน"นพบุรี"คือเมืองลพบุรี




มีอีก 1 บทคือที่น่าจะเป็นคำพยากรณ์ของพระเจ้าเสือ เป็นบทร้อยแก้วและมีใจความสั้นกว่าดังนี้

น้ำในแม่น้ำและคลองจะแดงเป็นโลหิต เมฆฟ้าจะแดงเป็นแสงไฟ แผ่นดินจะไหวสะเทือน ยักษ์และผีป่าจะเข้าเมือง
เสื้อเมืองทรงเมืองจะเหลีกเลี่ยง ฤดูหนาวจะเป็นฤดูร้อน โรคภัยจะเบียดเบียนสัตว์และมนุษย์

โอชาว่านยาผลไม้จะถอยรส เทพยดารักษาพระศาสนาจะรักษาคนพาล พวกอยู่ในศีลในธรรมจะถอยยศ
มิตรจะกลับเป็นศัตรู เมียจะคิดทรยศต่อผัว คนต่ำตระกูล จะทำคนตระกูลสูงให้เสื่อมถอย ศิษย์จะสู้ครู พวกพาลจะมีอำนาจ

พวกปราชญ์จะตกต่ำ น้ำเต้าจะจม กระเบื้องจะลอย ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน มนุษย์จะมีอายุสั้นพลันตาย ข้าวยากหมากแพง ผีเปรตปนอยู่กับคน สมณชีพราหมณ์จะร้อนใจ เกิดโจรผู้ร้ายแย่งชิงชุกชุม ที่ลุ่มจะกลับดอน ที่ดอนจะกลับลุ่ม พระพุทธศาสนาจะเศร้าหมอง คนสนุกเฮฮาได้ครองสมบัติ คนต่างชาติต่างภาษาจะเข้ามาเป็นเจ้านาย

มีผู้สันนิษฐานว่าพระเจ้าเสือทรงประพันธ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในปฏิบัติการจิตวิทยาทางการเมืองในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ต่อจากรัชสมัยของพระเจ้าเสือมีกษัตริย์ในราชวงศ์พลูหลวงสืบต่อราชวงศ์ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าเสือ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าเสือ เป็นพระอนุชาสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์)พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
และหมดสิ้นราชวงศ์พลูหลวง โดยเสียพระนครศรีอยุธยาให้แก่พม่า เมื่อ 13 เมษายน 2310 ไม่ถึง ร้อยปี จากแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย และ นวนิยายสายโลหิตของโสภาคสุวรรณ

ในสมัยผู้เขียนเป็นเด็ก จะมีนิตยสารสำหรับเด็ก ๆ คือ หนังสือวิทยาสาร และหนังสือชัยพฤกษ์ จะมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีภาพวาดประกอบบางครั้งก็เป็นภาพวาดของคุณเหม เวชกร คุณพ่อรับเป็นสมาชิกให้เด็ก ๆ ในบ้านอ่าน แต่น่าเสียดายที่ในตอนเด็กๆ ยังไม่รู้คุณค่าของหนังสือ ไม่ได้เก็บหนังสือเหล่านั้นไว้ให้ดี ภายหลังเมื่อมีการย้ายบ้าน จึงมืได้ขนย้ายมาด้วย พอมาถึงวันนี้ต้องใช้คำว่าเสียดายใจแทบขาดทีเดียว ยังจำภาพวาดที่สมเด็จพระนารายณ์บรรทมประชวรพระพักตร์เศร้าหมองเสียพระทัย ขณะเรียกหาพระปีย์...

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] พญานาค..อนันตนาคราช..

พญานาค...อนันตนาคราช

นาคเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำ


ขอคารวะเทพไท้เทวา

ชาวฮินดูถือว่า นาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่างๆ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น อนันตนาคราช ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ตรงกับความเชื่อของลัทธิพราหมณที่เชื่อว่า นาค เป็นเทพแห่งน้ำ และจะมีคำเสี่ยงทายถึงปริมาณของน้ำและฝนที่จะตกในแต่ละปีเพื่อการเกษตร เรียกว่า "นาคให้น้ำ"
จำนวนนาคให้น้ำมีไม่เกิน 7 ตัว ถ้าปีไหนอุดมสมบูรณ์มีน้ำมากเรียกว่า "นาคให้น้ำ 1 ตัว" แต่หากปีไหนแห้งแล้งเรียกว่าปีนั้น "มีนาคให้น้ำ 7 ตัว" จะวัดกลับกันกับจำนวนนาค ก็คือที่น้ำหายไป เกิดความแห้งแล้งนั้นก็เพราะ พญานาคเกี่ยงกันให้น้ำ แต่ละตัวจึงกลืนน้ำไว้ในท้องไม่ยอมพ่นน้ำลงมา ซึ่งคำทำนายเรื่องนาคให้น้ำนี้ จะปรากฏเห็นได้ชัดที่สุด คือ ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของไทย

ที่อยู่ของพญานาคมีตั้งแต่ในแม่น้ำ หนอง คลอง บึงต่างๆ ในอากาศ จนไปถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พวกพญานาคอยู่ในการปกครองของท้าววิรูปักขะผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศตะวันตก เหตุที่มาเกิดเป็นพญานาคเพราะทำบุญเจือด้วยราคะ


นารายณ์บรรทมสินธุ์


พญานาค เป็น ความเชื่อในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเรียกชื่อต่าง ๆ กัน แต่มีลักษณะร่วมกัน คือ เป็นงูขนาดใหญ่มีหงอน เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา ต้นกำเนิดความเชื่อเรื่องพญานาคน่าจะมาจากอินเดีย" มหากาพย์มหาภารตะ" นาคถือเป็นปรปักษ์ของครุฑ

นาคเป็นโอรสของพระกัศยปเทพบิดรกับนางกัทรุ พระกัสยปยังมีชายาอีกองค์คือนางวินตาแม่ของพระยาครุฑ มูลเหตุที่ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน เพราะมารดาทั้งสองฝ่ายพนันกันว่า สีม้าของพระอาทิตย์คือสีอะไรตกลงเดิมพันกันว่าใครแพ้ต้องยอมเป็นทาสของอีกฝ่ายหนึ่ง ผลคือนางกัทรุชนะพนันนางวินตา บุตรของนางทั้งสองคือนาคและครุฑจึงเป็นศัตรูคอยสู้รบกันเสมอมา

ลักษณะของพญานาคตามความเชื่อในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกันไป แต่ที่มีพื้นฐานเหมือนกันคือมีลักษณะเป็นงูตัวใหญ่มีหงอนสีทองและตาสีแดงมีเกล็ดเหมือนปลา มีหลายสีตามแต่บารมี คือสีเขียว สีดำ หรือ 7 สีเหมือนสีรุ้ง
และที่สำคัญคือนาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ตระกูลที่สูงขึ้นไปนั้นจะมีสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียรและเก้าเศียร นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจาก พญาเศษนาคราช (อนันตนาคราช) ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุ หรือที่เรียกกันว่าอนันตนาคราชนั้นเล่ากันว่ามีกายใหญ่โตมหึมามีความยาวไม่สิ้นสุด มีพันศีรษะ

นาคเป็นเจ้าแห่งงู แต่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ แต่ก็จัดอยู่ฝ่ายสุคติภูมิ อยู่ที่สวรรค์ชั้น จาตุมหาราชิกา



นารายณ์บรรทมสินธุ๋
คุณบัญชา ธนบุญสมบัติ (สวทช.)

นาคแบ่ง ออกเป็น 4 ตระกูลใหญ่
คือตระกูลวิรูปักษ์ พญานาคตระกูลสีทอง
ตระกูลเอราปถ พญานาคตระกูลสีเขียว
ตระกูลฉัพพยาปุตตะพญานาคตระกูลสีรุ้ง
ตระกูลกัณหาโคตมะ พญานาคตระกูลสีดำ

พญานาคเกิดได้ทั้ง 4 แบบ คือ
แบบโอปปาติกะ เกิดแล้วโตทันที
แบบสังเสทชะ เกิดจากเหงื่อไคล สิ่งหมักหมม
แบบชลาพุชะ เกิดจากครรภ์
แบบอัณฑชะ เกิดจากฟองไข่
พญานาคชั้นสูงเกิดแบบโอปปาติกะ

ส.พลายน้อย เขียนเรื่อง พญานาค ไว้ว่า
พญานาคในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ได้แยกไว้ละเอียด 1,024 ฃนิด ในหนังสือปรมัตถโชติกะมหาอภิธัมมัตถสังคหฏีกา ปริเฉจ ที่ 5
โดยจัดหมวดหมู่ เป็นลำดับชั้น คือนาค มี 4 ประเภท จัดตามพิษของนาค นาค ทั้ง 4 ประเภท ๆ หนึ่ง มีวิธีทำอันตราย ได้ 4 วิธี นาคทั้ง 16 ชนิดนี้ แบ่งวิธีที่พิษเข้าไปทำอันตรายออกเป็น อีก 4 ชนิด นาคทั้ง 64 ชนิดนี้ แบ่งตามวิธีเกิด อีก 4 ชนิด รวมเป็นนาค 256 ชนิด ชนิดหนึ่ง ๆ แบ่งที่ เกิด ชนิดละ 2 แบบ คือ พญานาคที่เกิดในน้ำ และพญานาคที่เกิดบนบก รวมเป็น 512 ชนิกด ทั้ง 512 ชนิดนี้ ยังเป็นเป็นพญานาคที่เสวยกามคุณ และไม่เสวยกามคุณ รวมเป็นพญานาค ทั้งสิ้น 1,024 ชนิด

อายุของพญานาคไม่แน่นอน บางทีอายุสั้น บางทีอายุยาว พญานาคที่มีอายุยาวนั้น ถึงแม้พระพุทธเจ้าในภัทรกัปอุบัติขึ้น 5 พระองค์ พญานาค ก็ยังมีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ เช่น พระยานาค ชื่อ กาละ ซี่งมีอายุตั้งแต่พระ กกุสันธะ จนถึงพระสมณะโคตมะ และจะอยู่จนถึง พระศรีอริยเมตตรัย
(โดย ส.พลายน้อย)
นาคสามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลกจนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขึ้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้น

พญานาค เป็นสะพาน (สายรุ้ง) ที่เชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ โลกศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อที่ว่า พญานาค กับ รุ้ง เป็นอันเดียวกัน ก็คือสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์นั่นเอง



นารายณ์บรรทมสินธุ์
คุณบัญชา ธนบุญสมบัติ (สวทช.)

ใน มหานิบาตชาดก มีเรื่อง ภูริทัตชาดก เป็นเรื่องที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนาคราชชื่อ ภูริทัต โอรสของท้าวทศรถแห่งเมืองนาคบำเพ็ญศีลบารมี
รวมทั้งในวรรณคดีก็มีปรากฎมากมาย แม้แต่ในพุทธกาลที่เจ้าชายสิทธัตถะลอยถาดทองที่นางสุชาดานำข้าวมธุปายาสมาถวาย ณ แม่น้ำเนรัญฃรา ถาดทองก็จมไปถึงเมืองพญานาค พญากาลภุชคินทร์ผู้ครองแคว้นได้ยินเสียงถาดกระทบกับพื้นถ้ำก็ตกใจตื่นขึ้น กล่าวกันว่าพญากาลภุชคินทร์นี้นอนนานมาก มีพระพุทธเข้าตรัสรู้องค์หนึ่ง ก็จะตื่นขึ้นมาครั้งหนึ่งจากเสียงถาดที่กระทบถ้ำที่อยู่

ส่วนในตำนานพุทธประวัติก็เล่าถึงพญานาคไว้หลายครั้งด้วยกัน

หลังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ 7 วัน มีฝนตกพรำๆ ประกอบไปด้วยลมหนาวตลอด 7 วัน ได้มีพญานาคชื่อมุจลินทร์ ( มี 5 เศียร)ซึ่งอยู่ใกล้สระมุจลินทร์เข้ามาวงด้วยขด 7 รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะป้องกันฝนตกและลมมิให้ถูกพระวรกาย หลังจากฝนหายแล้ว คลายขนดออก แปลงเพศเป็นชายหนุ่มยืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า

และในสมัยนั้น มีพญานาคตนหนึ่งนั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วได้เกิดศรัทธา จึงได้แปลงกายเป็น มนุษย์ขอบวชเป็นพระภิกษุ แต่อยู่มาวันหนึ่งเข้านอนในตอนกลางวัน หลังจากหลับแล้วมนต์ได้เสื่อมกลายเป็นงูใหญ่ จนพระภิกษุรูปอื่นไปเห็นเข้า ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงให้พระภิกษุนาคนั้นสึกออกไป เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉาน นาคตนนั้นผิดหวังมาก จึงขอถวายคำว่า นาค ไว้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน

ต่อจากนั้นมาพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติไม่ให้สัตว์เดรัจฉาน ไม่ว่าจะเป็นนาค ครุฑ หรือสัตว์อื่นๆ บวชอีกเป็นอันขาด และก่อนที่อุปัชฌาย์จะอุปสมบทให้แก่ผู้ขอบวชจะต้องถาม อันตรายิกธรรม หรือข้อขัดข้องที่จะทำให้ผู้นั้นบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้ รวม 8 ข้อเสียก่อน ในจำนวน 8 ข้อนั้น มีข้อหนึ่งถามว่า "ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า" และจึงเรียกการบวชนี้ว่า "บวชนาค" ซึ่งเรื่องนี้มีผู้รู้กล่าวว่าเป็นนิยายมากกว่าเรื่องจริง ท่านวัดถนนได้แต่งอธิบายถึงคำที่มาของคำว่านาคไว้ดังนี้"



การกวนเกษียรสมุทร

" ด้วยคำบุราณท่านกล่าวไว้นั้นมีมาก ว่าพญานาคฝากชื่อ กิตติศัพท์ก็เล่าลือสนั่นก้อง แต่ความอันนี้ไม่ถูกต้องตามพุทธฎีกา ด้วยคัมภีร์มหาวัดด์นั่้นท่านว่า พญานาคตนหนึ่งมีศรัทธา นิมิตกายาเหมือนมนุษย์ มาบวชในพระพุทธศาสนา ครั้นนานมาผู้เป็นเจ้าประมาท รูปนิมิตนั้นก็เคลื่อนคลาดกลับกลายเป็นพญานาค สมเด็จพระพุทธองค์ ผู้ทรงสวัสดิ์ภาคทราบพระโสต จึงมีพระพุทธฏีกาโปรดประทาน นามชื่อว่าสัตว์ดิรัจฉานมีชาติอันต่ำช้า ห้ามมิ ให้บวชในพระศาสนาตถาคต ความในมหาวัดค์หมดแต่เท่านี้ ทั้งอัตถกถาบาลีก็ดูหมด คำที่ว่าพญานาคฝากชื่อนั้นมิได้ปรากฎในคัมภัร์ใด ท่านทั้งปวงพึงเข้าใจฉะนี้เถิด นามชื่อว่าเจ้านาคนั้นเกิดกุลบุตร เพราะเหตุท่านสมมติเมื่อจะบวช แต่พอได้เปลี่ยนปากสวดนั้นง่ายง่าย กับอนึ่งได้อธิบายในนาคศัพท์ มีอัตถรับตามกระแส ท่านแปลว่าไม่กระทำบาป ท่านจึงจัดเข้ามาให้เห็นเป็นนามลาภแก่อุปสมบท นามชื่อว่านาคจึงปรากฎเป็นดังนี้

พญานาคเป็นพาหนะของพระพิรุณซึ่งเป็นใหญ่ในการให้น้ำฝน เป็นผู้บันดาลให้ฝนตก (ตามคติไทย)


พญานาค

พญานาคอนันตนาคราช

“พญานาคอนันตนาคราช” เป็นชื่อพญานาคซึ่งขดร่างเป็นแท่นให้พระนารายณ์บรรทมใต้เกษียรสมุทร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าาเศษะ หรือ เศษนาค เป็นเจ้าแห่งบาดาล มี 1,000 เศียร
สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ 29 ได้เล่าถึง “พญานาคอนันตนาคราช” ว่า
ประวัติของอนันตนาคราชแตกต่างกันไปหลายตํานาน ว่ากันว่าาพญานาคกับครุฑเป็นพี่น้องงร่วมบิดากัน คือ พระกัศยปะ แต่ต่างมารดากัน มารดาของนาคชื่อ นางกัทรุ มีบุตรเป็นนาค 1,000ตัว ตัวที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด คือ อนันตนาคราช ซึ่งเป็นพี่ชายใหญ่ เมื่อมีการกวนเกษียรสมุทร อนันตนาคราชก็ถูกเทพนํามาใช้เป็นเชือกพันเขามันทร ซึ่งใช้กวนเกษียรสมุทรให้เกิดน้ําอมฤต บางตํานานเล่าว่าอนันตนาคราชมีเพียง 8 เศียร และมี 8 หาง หรือ 1 หาง แต่ส่วนใหญ่กล่าวว่ามี 1,000 เศียร
โลกตั้งอยู่บนเศียรของอนันตนาคราชหรือเศษนาค เมื่อเศษนาคกระดิกตัวก็จะเกิดแผ่นดินไหว ที่มาของเรื่องนี้อยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งเล่าว่าาเศษนาคเป็นพี่ใหญ่ มีพญาวาสุกีแป็นน้องรองลงมา นาคน้อง ๆ ทั้งหลายกระทําบาป แต่เศษะใจบุญจึงได้หลบไปบําเพ็ญตบะอยูเป็นเวลานาน จนพระพรหมเสด็จมาประทานพรตามที่ขอ เศษนาคขอไม่อยู่ร่วมแผ่นดินกับน้อง ๆ พระพรหมจึงโปรดให้ไปครองเมืองบาดาล และเอาเศียรรองรับแผ่นดินไว้
อนันตนาคราชเป็นพาหนะของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ โดยอยู่ในลักษณะขดเป็นแท่นบัลลังก์ เพื่อให้พระนารายณ์บรรทม ด้วยลักษณะเช่นนี้เองเป็นที่มาของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์

อีกตํานานหนึ่งเล่าว่าเมื่อสิ้นแต่ละกัลย์ เศษนาคจะเป็นผู้พ่นพิษไฟพิษไฟทําลายสัตว์โลกทั้งปวง แต่ตัวเองไม่ตาย จึงได้ชื่อว่า อนันตะ ซึ่งแปลว่าไม่มีที่สิ้นสุด

ตามไศวนิกายเล่าว่า เศษนาคเกิดจากสายธุรํา (สายเครื่องหมายวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ สวมจากซ้ายไปขวา เรียกว่า สายธุรํา, ธุหรํ่ายัชโญปวีต หรือ สายมงคล ก็เรียก) ซึ่งพระอิศวรทรงเปลื้องออกจากพระวรกาย ดังนั้นจึงเป็นพญานาคที่มีอิทธิฤทธิ์มาก อนันตนาคราชเคยเห็นพระอิศวรฟ้อนรำด้วยท่าอันงดงามและใคร่อยากจะชมอีก จึงทูลขอให้พระอิศวรทรงฟ้อนรําอีกครั้ง พระอิศวรจึงเสด็จลงมาฟ้อนรําในโลกมนุษย์ตรงที่ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิหารฮินดูชื่อ จิทัมพรัม ในอินเดียใต้ มนุษย์ได้จดจำท่ารำต่าง ๆของพระอิศวรไว้เกิดเป็นนตํานานฟ้อนรําของอินเดีย และพระอิศวรก็เป็นที่นับถือกันในชื่อ นาฏราช ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู
อนันตนาคราช หรือเศษนาค นับเป็นนเทพที่ทรงอิทธิฤทธิ์องค์หนึ่ง ซึ่งชาวฮินดูนับถือพร้อมไปกับพระนารายณ์หรือพระวิษณุ

ข้อมูลจาก www.royin.go.th โดย คุณอิสริยา เลาหตีรานนท์


พญานาค

นาควาสุกรี หมายถึง นาคที่มีเศียรถึง 7 เศียร แล้วยังมีพิษร้ายแรงมาก มีความสำคัญในการกวนเกษียรสมุทร พญานาควาสุกรีจะต้องถูกนำมาพันรอบเขามันทระ เพื่อให้เหล่าเทวดาฉุดทางส่วนหัว และเหล่าอสูรช่วยฉุดทางหาง

พญานาคกับสัญลักษณ์ของวิชาแพทย์
พญานาค หมายถึง วิชาแพทย์ ที่พระวิศวามิตร์เล่าไว้ในบ่อเกิดรามเกียรติ์ว่า เทวดาและอสูรต้องการเป็นอมตะ จึงทำพิธีกวนเกษียรสมุทร โดยใช้เขามนทรคีรีเป็นไม้กวน นำพญาวาสุกรี (พญานาค) เป็นเชือก เป็นผลให้เกิดประถมแพทย์ "ธันวันตะรี" ซึ่งผู้ชำนาญในอายุรเวท

ในความเชื่อของชนชาติขอม
มีตำนานเล่ากันไว้ว่า ฝ่ายปฐมกษัตริย์ของขอม ถือกำเนิดจากธิดาพญานาคที่ได้สมสู่กับพราหมณ์อินเดีย ในภายหลังพญานาคจึงได้เป็นผู้ปกปักรักษาราชอาณาจักรขอมและรักษาศาสนสถานด้วย

พญานาคจึงมีเรื่องราวความเป็นมาหลากหลายตามความเชื่อของผู้คน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในท้องถิ่นอีก เช่นความเชื่อของพญานาคลุ่มแม่น้ำโชง ความเชื่อของชาวล้านนา



พระภูริทัต

จากอุทกภัยน้ำท่วมหลายแห่งในมุมโลก โดยเฉพาะที่ประเทศไทยที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ ที่มีนักข่าวเปรียบเทียบเหมือนเรากำลังถูกข้าศึกโอบล้อมบ้าง โจมตีบ้าง เดี๋ยวเมืองโน้นแตก เดี๋ยวด่านป้องกันข้าศึกด้านนี้แตก ราวกับกระแสน้ำเหล่านี้มีชีวิตจิตใจจ้องโจมตีประเทศของเรา มีความรู้สึกยามที่สายน้ำทะลักทะลายเข้าเมืองเข้าหมู่บ่้านต่าง ๆ เหมือนเมืองแตก กันเลยทีเดียว ทำให้นึกถึงคำโบราณที่สอนสั่งพวกเรามาว่า สิ่งใดมีคุณอนันต์ก็ย่อมมีโทษมหันต์ ทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ล้วนมีสองด้าน แต่มนุษย์นั้นสุดประเสริฐที่มีความสติปัญญาเฉลียวฉลาดและมีสิทธิ์ในการเลือก เมื่อฉลาดที่จะได้ เลือกที่จะได้ ก็ต้องไม่กลัวกับคำตรงข้าม คำว่าได้ก็ตรงข้ามกับคำว่าเสีย ได้กับเสียก็เป็นของสองด้านที่เป็นคู่ของกันและกัน ในโลกนี้ไม่มีใครที่จะได้ฝ่ายเดียว แต่มันน่าอนาถใจ ที่มีคนได้จำนวนคนไม่มากแต่กลับนำพาเราซึ่งเป็นคนหมู่มาก เสียไปด้วยกันโดยไม่ได้ทำผิดทำบาปอะไร ( ต้องปลอบใจว่าเป็นกรรมเก่าแล้วกัน) เข้าตำราคำพังเพยว่า พลอยฟ้าพลอยฝนโดนไปด้วย หรือ ปลาข้องเดียวกัน ปลาตายตัวเดียวเหม็นโฉ่ไปทั้งข้อง



หิมพานต์
แต่ถ้าเราคิดว่าสายน้ำนี้มีชิวิตจิตใจจริง ก็น่าต้องเห็นใจเข้าใจสายน้ำ เพราะเราฝืน ขัดขืน ขัดขวาง รังแกสายน้ำเขาก่อนเช่นกัน
ธรรมชาติของสายน้ำ นั้นเย็นฉ่ำล้ำระรื่น บุคคลที่ใจเย็น เรามักเปรียบว่าใจเย็นยังกับสายน้ำ คนที่ใจกว้างมีแต่ให้ เราก็พูดเปรียบเทียบว่าใจกว้างเหมือนแม่น้ำ น้ำชำระล้างสิ่งของให้สะอาด แต่วันนี้สายน้ำเองกลับเหม็น หมักหมม และ ขุ่นดำ ซึ่งนั้นก็มิใช่ธรรมชาติของสายน้ำเลยสักนิดเดียว วันนี้ถ้าสายน้ำมีความรู้สึกนึกติด เขาคงบอกว่า นี่ก็ไม่ใช่ตัวตนของเขาเลย สายน้ำมิได้อยากเป็นแบบนี้ สายน้ำตกเป็นเครื่องมือ ของบรรดา เทพเทวา ชั้น จาตุมหาราชิกา ลงโทษมวลมนุษย์ ทั้งพระคงคา พระแม่ธรณี รุกขเทวาและนางไม้ กระหน่ำซ้ำด้วยพญานาคโดยเฉพาะ อนันตนาคราช

พระพิฆเนศ ได้ประทับทรงร่าง ๆ หนึ่ง เมื่อกลางเดือนนี้เอง ท่านบอกว่าขณะนี้มีภาคอวตารของพระนารายณ์ตามความเชื่อของลัทธิพราหมณ์อยู่ที่เมืองไทยของเรา และถูกจาบจ้วงล่วงเกินจนพญาอนันตนาคราชพิโรธจัด ผู้เขียนก็เล่าสู่ท่านผู้อ่าน คนโบราณอีกเช่นกันท่านสอนสั่งเราไว้ว่า ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่


สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

กับอีกหนึ่งคำพีงเพยว่า บาปซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น
ลูกชายผู้เขียนเล่าว่า มี เฟสบุ๊ก โพสต์ว่า เขาเป็นคนจังหวัดนครปฐมแถบบ้านผู้คนก็ช่วยกันทำคันดินเป็นพนังกั้นน้ำเหมือนคนอื่นๆแล้วน้ำก็มาโอบล้อมจ่อคิวที่จะทำนบแตกหรือไหลล้นเช่นสถานที่อื่นๆ วันไหนเวลาไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน พวกเขาก็จัดการสำรวจตรวจตราพนังคันดินนี้ จู่ๆ วันนั้น ก็มีน้ำไหลผ่านเป็นรูที่คันดิน น้ำก็ไหลพรั่งพรูจนประหลาดใจ เพราะพนังไม่พัง น้ำไม่ล้น ไปตรวจหาสาเหตุแล้วก็ต้องอี้งกิมกี่ไปเลย คันดินตรงนั้นถูกปลาไหลและไส้เดือนชอนไชคันดินเป็นรู จึงทำให้น้ำไหลมาจากรูนี้เอง ลูกชายบอกว่า ดูซิแม่ขนาดปลาไหลและไส้เดือนยังรังแกซ้ำเติมพวกเราเลยแม่
บาปซ้ำกรรมซัดจริงๆ นอกจากหมู่เทวาหลายองค์แล้วแม้แต่ ปลาไหลไส้เดือนยังกระหน่ำซ้ำเติมความทุกข์ให้มนุษย์

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] รุกขเทวา....และนางไม้...

รุกขเทวาและนางไม้


ดอกบัวสวรรค์

สังสารวัฏ หรือวัฎสงสาร คือภพภูมิที่มนุษย์ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา มี 31 ภพภูมิ
คือ สัตว์นรก อสูรกาย เปรต เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา (มี 6 ชั้น) รูปพรหม (มี 16 ชั้น) อรูปพรหม มี 4 ชั้น)

ทุกครั้งที่ผู้เขียนเข้าปฎิบัติธรรม ของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในวันสุดท้ายก่อนออกจากกรรมฐาน หลักสูตร ที่มีพระอาจารย์เป็นผู้สอนปฎิบัติ ประธานโครงการ คือ พ.ต.อ. นรวัฒน์ เจริญรัชต์ภาคย์ จะนำผู้เข้าปฎิบัติ ที่ปฎิบัติอย่างเข้มข้น 7 วัน บ้าง 15 วันบ้าง ถวายบุญกุศลทั้งปวง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ ก่อนเป็นอันดับแรกของพิธีการปิดโครงการทุกครั้ง (และทุกโครงการของ ยุวพุทธ ฯ ก็ปฎิบัติเช่นนี้ทุกโครงการ ทุกหลักสูตร และทุกครั้ง ) หลังจากนั้นก็เป็นพิธีการโดยพระอาจารย์ ทุกครั้งพระอาจารย์ก็จะนำผู้ปฎิบัติธรรมอุทิศผลบุุญกุศล ให้แก่ มารดา บิดา ครูบาอาจารย์ ฯลฯ (ซึ่งเป็นมนุษย์ ไล่เรียงจากผู้มีพระคุณ ก่อน และไล่เรียงไปเรื่อยๆ ) และแน่นอนว่า เชิญ พรหมทุกชั้นทุกองค์ เทวดา ทุกชั้น ทุกองค์ มาอนุโมทนารับบุญกุศล แล้ว ก็ไปยังหมู่สัตว์ ทุกตัวตน
ผู้เขียนกราบเรียนถามพระอาจารย์ถึง ภพภูมิ ที่อยู่เหนือชั้นมนุษย์ขึ้นไป ที่เรามองไม่เห็น ว่า เป็นอยู่อย่างไร พระอาจารย์ตอบว่า ในจักรวาลนี้ ภพภูมิเหล่านั้นมีมิติของภพอยู่เหลื่อมซ้อนกับโลกมนุษย์เรานี่เอง มองไม่เห็นด้วยสายตามนุษย์ธรรมดา แต่มนุษย์ที่มีบางอย่างพิเศษ เช่น พลังพิเศษ และสมาธิ ฌาน ของผู้ปฎิบัติธรรม จะสื่อรับได้


ดอกมณฑาทิพย์
สวรรค์ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของเทวดา เป็นโลกที่อยู่อาศัยของกายละเอียดอันเป็นทิพย์ ที่มีรัศมีสว่างไสวรอบกายตลอดเวลา มีทั้งหมด 6ชั้น

เหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นเทวดา เพราะได้สร้างบุญกุศลไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่ออุบัติขึ้นก็ตั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาวทันที งดงามตลอดเวลา จนกว่าจะถึงเวลาจุติ ไม่มีความแก่บังเกิดขึ้นเหมือนในเมืองมนุษย์

วิมานปราสาท คือ ที่อยู่อาศัยของเทวดา ล้วนมีความวิจิตรงดงาม มีขนาดแตกต่างกัน มีความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีอาหารทิพย์บังเกิดขึ้น มีบริวารคอยรับใช้ใกล้ชิด เสื้อผ้าเป็นทิพย์ วิจิตรงดงาม บังเกิดขึ้นให้สวมใส่ กิจกรรมแต่ละวันก็มีการเที่ยวเพลิดเพลินบันเทิงอยู่กับการชมสวน การสังสรรค์กันระหว่างทวยเทพทั้งหลาย
ส่วนจะอุบัติขึ้น ณ สวรรค์ชั้นไหน เป็น เทวดาประเภทใด และอยู่ในฐานะอะไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบุญที่ตัวเองสั่งสมมาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ซึ่งได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 37 เรื่อง ทานสูตร



ดอกปาริชาติ
เป็นต้นไม้ทิพย์ที่ว่ากันว่าอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เท่านั้น ผู้ได้กลิ่นปาริชาติจะระลึกชาติได้
สำหรับบนโลกมนุษย์ ก็ตือต้นทองหลางด่าง หรือทองหลางลายไม่มีกลิ่น ไม่มีการกล่าวว่าถ้าได้กลิ่นแล้วเป็นอย่างไร

สวรรค์ทั้ง 6 ชั้น มีชื่อเรียกดังนี้
ชั้นที่ 1 สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
ชั้นที่ 2 สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ชั้นที่ 3 สวรรค์ชั้นยามา
ชั้นทีี่ 4 สวรรค์ชั้นดุสิต
ชั้นที่ 5 สวรรค์ชั้นนิมมานรดี
ชั้นที่ 6 สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี




นางฟ้า

การที่ได้เกิดบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีจากหลายสาเหตุ คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญไม่ค่อยเป็นไม่รู้หลักการทำบุญ และไม่ค่อยได้สั่งสมบุญ นานๆทำครั้งหนึ่ง เมื่อทำก็ทำน้อย หรือทำบุญเอาคุณ บุญที่ได้ก็ไม่บริสุทธิ์ ไม่สมบูรณ์ บาปในตัวก็มีอยู่ แต่ว่าบุญมากกว่า เมื่อละโลกใจนึกถึงบุญก่อนก็ไปสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่ ณ เชิงเขาสิเนรุ

สวรรค์ชั้นนี้จะมีความหลากหลายมากที่สุด เพราะอยู่ใกล้ชิดกับพื้นมนุษย์มากกว่าสวรรค์ชั้นอื่นๆ และมีบางส่วนที่มีที่อยู่ซ้อนกับภูมิมนุษย์ ที่ได้ชื่อ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นที่อยู่ของเทพยดาชาวฟ้า มีท้าวมหาราช 4 พระองค์ ปกครองคือ

ท้าวธตรัฏฐะ
อยู่ทิศตะวันออก ปกครอง คันธัพพเทวดา

ท้าววิรุฬหกะ
อยู่ทิศใต้ ปกครอง กุมภัณฑเทวดา

ท้าววิรูปักขะ
อยู่ทิศตะวันตก ปกครอง นาคเทวดา

ท้าวกุเวระ หรือ ท้าวเวสสุวัณ
อยู่ทิศเหนือ ปกครอง ยักขเทวดา

ท้าวมหาราชทั้ง 4 องค์นี้ เป็นผู้รักษามนุษยโลกด้วย จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่”



สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา (ชั้นที่ 1) แบ่งตามสถานที่อยู่อาศัยได้ 3 ประเภท

1. ภุมมัฏฐเทวดา
อยู่บนพื้นแผ่นดิน อาศัยอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น บ้าน วัด เจดีย์ ศาลา ซุ้มประตู ภูเขา แม่น้ำ มหาสมุทร เป็นต้น
เทวดาบางองค์ก็มีวิมานของตนอยู่ ณ ที่นั้น ๆ โดยเฉพาะ
องค์ใดไม่มีก็ถือเอาสถานที่นั้นเป็นที่อาศัย เช่น บ้าน วัด ศาลา ภูเขา แม่น้ำนั้นเป็นที่อยู่ของตน

2. รุกขัฏฐเทวดา
อยู่บนต้นไม้ มี 2 จำพวก พวกหนึ่งมีวิมานอยู่บนต้นไม้ อีกพวกหนึ่งอยู่บนต้นไม้แต่ไม่มีวิมาน

3. อากาสัฏฐเทวดา
อยู่ในอากาศ เทวดาจำพวกนี้มีวิมานเป็นของตนเองลอยหมุนเวียนไปรอบ ๆ เขาสิเนรุ

แต่ละวิมานประกอบไปด้วยรัตนะ 7 อย่าง คือ แก้วมรกต แก้วมุกดา แก้วประพาฬ แก้วมณี แก้ววิเชียร เงิน ทอง ไม่เท่ากัน บางวิมานมีเพียง 1-2 รัตนะ บางวิมานก็มีมาก สุดแต่บุญกุศลที่ตนได้เคยสร้างเอาไว้

เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกานี้ บางพวกมีหน้าที่ต้องคอยดูแลรักษามนุษย์

ภูตผี เทวดา และสัตว์ที่อยู่ในจาตุมหาราชิกานี้มีหลายชั้น หลายจำพวกมาก ทั้งพระภูมิเจ้าที่ ผีบ้านผีเรือน สัมภเวสี รุกขเทวดา นางไม้ ยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ รากษส นาค ครุฑ เหล่านี้ล้วนอยู่ในจาตุมหาราชิกาภูมิทั้งสิ้น

สัมภเวสี
คือผู้ที่เร่ร่อนแสวงหาที่เกิด บางพวกเป็นผู้ที่ตายโดยยังไม่หมดอายุขัย เช่น ตายด้วยอุบัติเหตุ หรือถูกฆาตกรรม บางตนต้องเป็นสัมภเวสีอยู่อย่างนั้นหลายปีจนกว่าจะสิ้นอายุขัย จึงจะไปเกิดในภพภูมิอื่นได้

คันธัพพเทวดา
ได้แก่เทวดาที่ถือกำเนิดอยู่ในต้นไม้ที่มีกลิ่นหอม และจะอาศัยอยู่ในเนื้อไม้นั้นตลอดไป แม้จะถูกตัด ถูกโค่น เอาไปทำสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ส่วนใดที่มีความมั่นคงแข็งแกร่งจะติดตามอาศัยอยู่กับส่วนนั้น เรียกว่า นางไม้ ซึ่งต่างกับรุกขเทวดาตรงที่ หากมีผู้ทำลายต้นไม้ที่ตนอยู่หรือต้นไม้นั้นตายรุกขเทวดาก็จะย้ายวิมานไปอยู่ต้นไม้อื่น



สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
จาก www.bloggang.com/viewblog.php?id=thammakittakon&date

ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเพียง เทวดา ในสวรรค์ ชั้นที่ 1 และเพียงบางองค์
รุกขัฏฐเทวดา
เป็นเทวดา อันประจำอยู่บนต้นไม้ ทั้งที่มีวิมานอยู่บนต้นไม้และไม่มีวิมาน ต้นไม้ที่จะเป็นที่สถิตย์ของ รุกขเทวดา มักเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ เช่นต้นโพธิ์ ไทร ไกร กร่าง ตามแต่บรรดานกจะนำพาต้นไม้เหล่านี้มาเจริญเติบโต ตามพื้นภูมิต่าง ๆ อีกทั้งต้นไม้อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร มักเป็นไม้ป่าขนาดใหญ่ ท่านก็อยู่สุขสงบดีมาช้านาน ทั้งที่มีวิมานและไม่มีวิมาน ต่อมามนุษย์ก็เริ่มตัดไม้ทำลายป่า ทั้งโดยถูกกฎหมายและลักลอบตัด มาตลอด เป็นเวลาที่ยาวนาน คันทัพพเทวดาที่กำเนิดอยู่ต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมจะติดตามมากับส่วนที่แข็งแกร่งของไม้นั้น เช่นไม้ตะเคียน เป็นที่กล่าวชวัญว่าส่วนใหญ่เป็นนางไม้ พลังของนางไม้ก็จะขึ้นกับชนิดของต้นตะเคียนซึ่งมีหลายพันธุ์ ไม้ตะเคียนเป็นไม้ที่นิยมนำมาขุดเป็นเรือยาว ซึ่งนับว่าเป็นเรือขุดที่มีพิธีกรรมและขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย ทั้งในป่าอันเป็นที่อยู่ของต้นไม้ ต้องอัญเชิญ นางไม้ มาอยู่ที่ศาลเพียงตา ก่อนการต้ดไม้ เมื่อเบิกขุดเรือ ก็ต้องทำกันที่วัด จนเสร็จก็จะอัญเชิญนางไม้เป็นแม่ย่านางประจำเรือ นอกจากเป็นขวัญกำลังใจประจำเรือยาวที่สร้างไว้เพื่อการแข่งขันเป็นส่วนใหญ่แล้ว ก็คือเป็นที่สถิตย์อยู่ของบรรดานางไม้ประจำต้นไม้ ไม่ต้องระเหเร่ร่อนหาที่อยู่ใหม่ ( มีรายละเอียดในเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรือยาว ในบทความตอนต้น ๆ)

ดังนั้น ไม้ตะเคียนที่สูงใหญ่หากถูกตัดโดยไม่ได้นำมาขุดเป็นเรือ หากนำแกนไม้มาทำเสา นางไม้ก็จะอยู่ที่เสาไม้เหล่านั้น มักมีคำเล่่าลือว่า เสาไม้ตะเคียน บางบ้านตกน้ำมัน ยิ่งหากเสาไม้ตะเคียนที่ตกน้ำมัน เป็นเสาเอกของบ้าน ก็จะยิ่งมีอาถรรพ์แรงขึ้นอีก หากไม้ตะเคียนที่ตัดมาจากป่า นำต้นไม้มาแปรรูปเป็นไม้กระดานแผ่น นางไม้ประจำต้นตะเคียนจะไปสิงสถิตย์อยู่ ณ ที่ใดกัน
และรุกขเทวดา ที่สามารถย้ายวิมานไปต้นไม้อื่นๆ ได้ แต่ลองหลับตานึกเอาว่าเทวดาเหล่านี้จะกล้าย้ายวิมาน ไปสู่ไม้ใหญ่ต้นอื่น ๆ หรือไม่ เพราะเป็นการ ไปยื้อแย่งวิมานกัน ก็ดูจะเป็นเทวดา เกเรในสวรรค์ หากไม่ยื้อแย่งวิมานหรือต้นไม้ต้นอื่น รุกขเทวดาเหล่านี้จะไปอยู่ที่ใดกัน รอต้นไม้ใหม่เติบใหญ่ขึ้นมาก็ใช้เวลานานมาก ต้นไม้ป่าบางต้นอายุ สี่สิบห้าสิบปี ต้นไม่ใหญ่เลยอาจจะมีความสูงแต่ความใหญ่ของลำต้น ช้ามาก เคยอ่านพบว่า ไม้บางต้นที่มีแกนในเป็นวงรอบลำต้น หนึ่งวงใช้เวลา หนึ่งปี ไม้มีร้อยวงคือมีอายุ ร้อยปี แม้ว่าวันเวลาของโลกมนุษย์และโลกสวรรค์จะแตกต่างกันมาก คือโลกสวรรค์จะมีช่วงเวลายาวนานกว่าโลกมนุษย์มาก รุกขเทวดาเหล่านี้ ก็ไร้ วิมาน ไร้ที่อยู่ อยู่ชั่วระยะหนึ่งอยู่ดีนั่นเอง
ไม้ใหญ่ในโลกมนุษย์เกิดใหม่ไม่ทันกับการจะเติบโต เป็นวิมานของรุกขเทวดา และนางไม้ ซึ่งไม่ได้เข้าไปอยู่ในป่าหิมพานต์ได้ ท่านจะอยู่อย่างไร อยู่ที่ไหน



บัวสวรรค์เริ่มเต่งตูม
ต้นบัวสวรรค์เป็นไม้พุ่ม ปลูกไว้เกือบสิบปีแล้วออกดอกหลายครั้งแต่ไม่เคยถ่ายภาพไว้เพราะปลูกไว้ไกลบ้านพอเห็นดอกก็กลีบโรยแล้วทุกที

ผู้เขียนได้อ่านและได้ฟังเรื่องราวของพระราชสิทธาจารย์ ( หลวงปู่ทองใบ ปภสฺสโร) ) แห่งวัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม) อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ดังนี้

ปี 2527 -2528
ขณะเจริญภาวนาอยู่ภูหลวง จ.เลย ได้มีเทพธิดาทั้งสี่ จากภูย่าอู่มานิมนต์ ให้ไปอยู่สร้าง บารมีที่ภูย่าอู่ 9 มกราคม 2529 หลวงปู่เดินทางมายังภูย่าอู่ พร้อมศิษยานุศิษย์ประกอบ ด้วย พระภิกษุ 5 รูปสามเณร 2 รูปอุบาสก 2 อุบาสิกา 14 ครั้งแรกที่มาถึง ได้ปักกรดบริเวณทางเดินจงกรมในปัจจุบัน (ข้างกุฏิหลวงปู่) และได้สร้างกระต๊อบเล็กๆด้วยไม้ไผ่ พออยู่ไปก่อน มืด และหนาวมาก ออกบิณฑบาต ตั้งแต่ตี 4 เดินลงเขาไปด้วย ความยากลำบาก ไปยังบ้ายสว่าง ระยะทางไปกลับ 16 กม
ต่อมา

ได้ขุดบ่อลึก 1.50 เมตร เพื่อต้องการน้ำดื่มน้ำ ใช้ ก็มีน้ำออกมาให้ใช้จริงๆแต่ใช้ได้เพียง 15 วันน้ำก็หมด" ด้วยบารมีของหลวงปู่แน่เชียว " หลวงปู่เล่าต่อว่า คืนหนึ่ง ขณะที่ท่านเจริญภาวนาอยู่ ปรากฏเห็นเป็นเด็ก อายุประมาณ 8 ขวบ และพูดคุย เกียวกับปัญหา เรื่องขาดแคลนน้ำ เพราะขณะนั้นภายในวัดปลูกพืชผัก ผลไม้ไว้กินเอง จำเป็นต้องมีน้ำไว้ใช้เด็กน้อยนั้นก็เอยปากตกลงช่วย จากนั้นบ่อที่แห้งสนิทก็กลับมีน้ำมาให้ใช้ตลอดมา

เดิมที่วัดนี้มีลานไทรคู่อันเป็นบริเวณสังเกตุที่นางฟ้าได้บอกจุดของภูย่าอูนี้ไว้ ต้นไทรนี้สูงใหญ่มาก ต่อมาได้ล้มไป 1 ต้น ก่อนที่จะล้ม มีนางไม้ได้มาลาหลวงปู่ ว่า ต้องไปแล้ว แล้วต้นไทรใหญ่อายุหลายร้อยปีก็ล้มลงตามหลักสัจจธรรมของพระไตรลักษณ์
บนภูย่าอูนี้ มีไม้ใหญ่มาก เวลาผู้เขียนเดินผ่านจะรู้สึกแปลก ๆ จะถ่ายรูป ยังรู้สึกต้องขออนุญาตเจ้าของต้นไม้ก่อนประมาณนั้นทีเดียว

บัวสวรรค์

และมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นไม้ที่ดงพญาไฟ ต่อมาเเปลี่ยนเป็นดงพญาเย็น และต่อมาก็คือเขาใหญ่

เมื่อปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายยาวที่สุด เชื่อมกรุงเทพฯ กับภาคอีสาน มีช่างวิศวกรผู้มีความสามารถทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ร่วมกับกรรมกรไทยสร้างทางผ่านป่าดงพญาไฟ รวมเวลาได้ 7 ปี มีระยะทาง 171 กิโลเมตรครึ่ง ถึงลาดบัวขาว (เดิมชื่อลาดหัวขาว) บรรดาช่างวิศวกรกรรมกรต่างพร้อมใจกันเสียชีวิตเกือบหมดสิ้น เพราะไข้ป่ามาลาเรีย การสร้างจึงหยุดเพียงนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีหมายกำหนดการที่จะทรงเปิดทางรถไฟสายนี้ ดังมีคำจารึกไว้ข้างทางรถไฟความว่า 'ที่หมายในการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเปิดทางรถไฟทำถงที่นี้ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พทธศักราช 2441'
เมื่อพระองค์ทรงทราบถึงการเสียชีวิตของนายช่างวิศวกรชาวไทย และชาวต่างประเทศ ตลอดถึงกรรมกรสร้างทางทุกคน ทรงสลดพระทัย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้โดยทั่วกัน ขณะเสด็จกลับทางรถไฟ ผ่านป่าใหญ่ดงดิบ (บริเวณที่เป็นเขื่อนลำตะคองวันนี้) ถึงสถานีรถไฟปากช่อง ทรงมีรับสั่งถามว่า ป่านี้มีชื่อว่าอะไร มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กราบทูลว่า ชื่อป่าดงพญาไฟ พระองค์ทรงสนพระทัยมาก มีรับสั่งว่าป่านี้ชื่อน่ากลัวจริงนะ แล้วตรัสว่าให้เปลี่ยนนามใหม่เพื่อเป็นสิริมงคล ชื่อ ป่าดงพญาเย็น เพื่อจะได้ร่มเย็นเป็นสุขแก่ผู้คนในวันหน้า

หากเป็นเรื่องเล่าของกรมป่าไม้เองที่เล่าสืบทอดกันมาก็คือ ผู้คนที่เป็นคยลงมือตัดไม้ใหญ่มักจะเสียชีวิตตามมาเป็นประจำ จนผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าตัดต้นไม้ ความทราบถึงพระพุทธเจ้าหลวง จนทรงตั้งอธิษฐานว่า ผืนป่าแห่งนี้เป็นดินแดนของพระองค์ การตัดไม้เหล่านี้เพื่อเป็นการทะนุบำรุงบ้านเมืองสร้างความอยู่ดีมีสุขให้ประชาชนของพระองค์ทรงขอให้รุกขเทวดา นางไม้ทั้งหลายยินยอมให้กระทำการได้โดยสะดวก ด้วยบารมีของพระพุทธเจ้าหลวงกอรปกันการบอกกล่าวเจ้าของต้นไม้ การเข้าไปตัดไม้ในเวลาต่อมาด้วยการนำตราครุฑ ประทับที่ต้นไม้ก่อนการลงมือตัดไม้ จึงทำให้ ไม่มีการเสียฃีวิตของคนลงมือตัดไม้ และในที่สุดก็สามารถสร้างทางรถไฟได้สำเร็จ เรื่องนี้ถือเป็นตำนานของกรมป่าไม้เล่าสู่่กันมา


บัวสวรรค์เริ่มแย้มกลีบ

กับเรื่องล่าสุด ประมาณ เดือนนี้เอง
มีชาวบ้านผู้หนึ่งออกจากบ้านไปลักลอบตัดไม้ ในป่าบนเขา ของจังหวัดหนึ่งไม่ไกลกรุงเทพฯนัก หายไป 4-5 วัน จนต้องมีการออกตามหา พบว่า ชายผู้นี้เสียชีวิตที่ริมหนองน้ำ คว่ำหน้าที่หนองน้ำจากการสันนิษฐานของตำรวจ คือน่าจะโดนแรงอัด จากการระเบิดของปืนของตนเอง สันนิษฐานว่าคงจะยิงอะไรสักอย่าง อาจเป็นสัตว์หรืออื่น ๆ แล้วเสียหลักคว่ำหน้าลงที่หนองน้ำ
แต่เรื่องจริง อิงคาดการณ์ของผู้คนละแวกนั้น ตือ ชายผู้นี้ ถือเลื่อยยนต์เข้าไปแอบตัดไม้ บนเขาที่อยู่เหนือหนองน้ำนี้ขึ้นไป มีไม้มีค่าต้นใหญ่ ถูกเลื่อยยนต์ ตัดล้ม หลายต้น สุดคาดเดาว่าเขามาที่หนองน้ำที่อยู่ห่างจากบริเวณที่ตัดไม้เพราะเหตุ หิวน้ำ มาหาหนองน้ำ หรือมีเหตุจูงใจอื่น เช่น พบสัตว์ที่พอใจอยากไล่ลาจึงตามสัตว์นั้นลงมา แล้วยกปืนยิงสัตว์นั้นเพราะอยากได้กลับมาที่หมู่บ้าน หรือหนีสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงมา แล้วยิงทำร้ายสิ่งนั้น สุดจะคาดเดากันไป ตามแต่จินตนาการของผู้คน หรือคนเขียน หรือผู้อ่าน จะจินตนาการเอา แต่สรุปว่าเขาตายเพราะละโมบโลภมากโขมยเข้าไปตัดไม้นั่นเอง



บัวสวรรค์เบ่งบาน

ดังนั้นเหล่ารุกเทวดา และนางไม้ มากมาย ที่ถูกปวงมนุษย์ หลายเชื้อชาติ หลายศาสนา หลายประเทศ ทั่วมุมโลก ทำลาย วิมาน ทำลายที่อยู่ ปล่อยให้ เทวดาในสวรรค์ชั้นที่ ๑ จาตุมหาราชิกา มากมายไม่มีที่อยู่

วันนี้เทวาเหล่านี้กำลังลงโทษมวลมนุษย์ที่ล่วงล้ำก้ำเกินสิทธิ์ของเทวา จนมวลมนุษย์มากมายต้องจากถิ่นบ้านตัวเองเช่นกัน
พระคุณเจ้าหลายองค์พูดตรงกันว่าขณะนี้ เทวดาเบื้องบนลงโทษมนุษย์บาป หลวงปู่พระราชสิทธาจารย์ท่านกล่าวว่าน้ำเท่านั้นที่จะใช้ชำระล้างสิ่งสกปรกสิ่งบาปให้สะอาดได้ และน้ำนั้นอย่างไรเสีย ก็เย็นและไม่เดือดร้อน เท่าไฟ น้ำท่วมก็ดีกว่าไฟไหม้ บ้านเรือนทรัพย์สินก็เสียหายน้อยกว่า ความทุกข์ยากก็น้อยกว่า
ผู้เขียน กราบเรียนถามหลวงปู่พระราชสิทธาจารย์ว่า การลงโทษมนุษย์บาปจิตใจหยาบช้า เป็นกลุ่มใหญ่แบบนี้ ทั้งคนบาปและคนดี ก็รับผลลงโทษกันถ้วนหน้า ผู้คนที่เป็นคนดี หากอยู่รวมใกล้คนบาปก็มิอาจหลีกเลี่ยงผลกรรมนี้ไปด้วย พระคุณเจ้าตอบว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีกรรมของตนเอง แม้ว่าในชาตินี้จะเกิดเป็นคนดีประกอบแต่ความดีมาตลอด แต่ภพชาติก่อนหน้าชาตินี้นั้น หลายร้อยหลายพันชาติภพ ก็ไม่รู้ว่าได้ทำบาปกรรมอะไรไว้แต่ชาติไหน หนไหน ก็อาจถูกบาปกรรมแต่ชาติปางก่อน ตามมาทันในชาตินี้ ดังนั้นผู้คนก็จะรับกรรมลดหลั่นกันไป ใครทำบาปกรรมในชาตินี้มากและเป็นกรรมร้ายแรง ก็จะรับทุกข์มากกว่าผู้คนที่ทำความดีมีบาปเล็กน้อย



บัวสวรรค์บานรับแสงตะตัน


ก็ขอส่งกำลังใจ เพื่อนพี่น้องคนไทย ว่าอย่าท้อแท้ อย่าอ่อนแอกับเคราะห์กรรมที่กำลังเผชิญหน้าในขณะนี้ ท่านเป็นคนดี ประกอบแต่ความดีมาตลอด ความดีที่ย่อมเป็นเกราะคุ้มครองภัยท่าน แม้ขณะนี้ต้องรับเคาระห์กรรมของน้ำท่วม ก็ถือว่าใช้หนี้กรรมเก่าในชาติก่อนให้หมดไปเสีียแต่ชาตินี้เลย อย่าน้อยใจว่าความดีไม่ช่วยท่านเลย ท่านชดใช้ผลกรรมแต่ปางก่อนให้หมดไปแล้ว ต่อไป กรรมดีก็จะส่งผลท่านเองตามมาในวันหน้า ชาติหน้า
กรรม คือการกระทำ กระทำไปแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดมาเปลี่ยนแปลงได้ ต้องรับผลกรรมนั้นอยู่ดี ทางเดียวที่ทำให้หนีกรรมนั้นได้ ก็คือสร้างแต่กรรมดีหนีกรรมเก่า ให้กรรมเก่าวิ่งตามความดี กรรมดีของท่านไม่ทัน หากมีบุญบารมีได้หลุุดพ้นวัฎสงสาร ได้เร็ว กรรมเก่า ก็วิ่งตามมาไม่ทัน
แม้พระพุทธองค์ เมื่อทรงตรัสรู้แล้วจะเสด็จปรินิพพานเลยก็ได้ แต่พระองค์ทรงมีพระเมตตาที่จะสั่งสอนมวลสัตว์โลกให้รู้หนทางไปสู่นิพพานไม่ต้องมาเวียนว่ายในวังวนของสังสารวัฎ 31 ภพภูมิอีก เช่นพระองค์
ตลอดพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์ ทรงถูกกรรมเก่าด้วยพระโรค ตามคำศัพท์ชาวบ้านง่ายๆ คือ ทรงมีโรคปวดหลัง เป็นทุกข์ที่พระองค์ทรงอยู่กับโรคนี้มาตลอดพระชนม์ชีพ บางครั้งกรรมนี้รุนแรงจนไม่อาจทรงประทับนั่ง มีหลายครั้งหลายครา ที่พระองค์ไม่อาจแสดงพระธรรมเทศนาโปรดสัตว์ได้ ต้องให้พระอรหันต์องค์อื่นแสดงธรรมแทนพระองค์ แล้วพระพุทธองค์ ทรงประทับสีห์ไสยาศน์อยู่เบื้องหลังพระอรหันต์ที่กำลังแสดงธรรมนั้นอยู่
คูณน้าที่เป็นนายแพทย์ เล่าว่า ท่านเคยเห็นภาพวาดของพระพุทธองค์ทรงใช้ไม้เท้าขณะทรงพระราชดำเนินอยู่ แต่ผู้เขียนยังไม่เคยได้พบเห็นภาพเช่นนี้
แม้พระโมลคัลลานะจะมีอิทธิฤทธิ์มากมาย เหาะเหินเดินอากาศได้ ยังยอมถูกโจรทุบจนกระดูกแหลก เพื่อชดใช้กรรมเก่าให้หมดสิ้นไปก่อนนิพพาน เป็นอีกตัวอย่าง

พลอยโพยมขอส่งกำลังใจให้ผู้เดือดร้อนประสบภัยน้ำท่วมทุกท่านค่ะ
ข้อมูลสวรรค์และภาพ จาก www.dmc.tv และ www.bloggang.com

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] พระแม่ธรณี... เทพีแห่งพื้นแผ่นดิน...

พระแม่ธรณี เทพีแห่งพื้นแผ่นดิน


พระแม่ธรณี

พระธรณี หรือ แม่พระธรณี หรือ พระศรีวสุนธรา
พระแม่ธรณี เป็นเทพีแห่งพื้นแผ่นดิน ปรากฏในตำนานทั้งศาสนาพราหมณ์, ฮินดู และพุทธศาสนา
ในคติพราหมณ์และฮินดู แม่พระธรณีทรงมีพระนามว่า “พระปฤถิวี” ทรงเป็นเทพนารีชั้นผู้ใหญ่องค์หนึ่ง คนอินเดียถือกันว่าเป็นเทพนารีที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มาก เนื่องเพราะพระองค์ทรงเป็นเทวีแห่งแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้ค้ำจุนสิ่งชีวิตทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ด้วย พระองค์ทรงมีพระนามอื่นๆ อีก ได้แก่ ภูมิเทวี ภูเทวี ธรติ และฤตริ เป็นต้น



แม้จะมิค่อยมีรูปเคารพอย่างแพร่หลายเช่นเทพองค์อื่นแต่ก็มีผู้ให้ความเคารพนับถือเป็นจำนวนมิใช่น้อย เพราะถือกันว่าพระธรณีสถิตย์อยู่ตามที่ต่าง ๆ ทุกหนทุกแห่ง จะทำการบูชาด้วย ข้าว ผลไม้ และนมด้วยการวางไว้บนก้อนหิน หรือประพรมลงบนพื้นดิน บางแห่งใช้เหล้าเป็นการสังเวยก็มี นอกจากนี้ชาวฮินดูยังมีการขอขมาลาโทษเมื่อจะวางเท้าลงบนพื้นดินก่อนจะลุกขึ้นในตอนเช้า วัวหรือควายที่มีลูกก่อนที่จะให้ลูกกินนมครั้งแรก เจ้าของจะปล่อยน้ำนมของแม่วัวลงบนพื้นดินเสียก่อนทุกครั้งไป ถ้าเป็นพวกชาวนาก็จะขอให้พระธรณีช่วยคุ้มครองผืนนาและวัวควาย แม้ในพระเวทก็มีการขอร้องต่อพระธรณีให้ช่วยพิทักษ์คุ้มครองวิญญาณของคนตาย และต่อมาได้นับถือว่าเป็นเทพแห่งไร่นาด้วย ในแคว้นปัญจาบเชื่อกันว่าพระธรณีจะนอนหลับเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ของทุก ๆ เดือนชาวไร่ชาวนาจะหยุดไม่ทำงานในระยะนี้

"พระแม่ธรณี" เป็นเทพมารดาแห่งโลก เพราะเป็นผู้ที่มีคุณต่อสรรพชีวิตบนโลก
เทวรูปของพระปฤถิวีในทางฮินดูปรากฎน้อยมาก เพราะเขาถือกันว่าพระองค์สถิตอยู่ทุกหนแห่ง เวลาถวายเครื่องสังเวยก็กระทำต่อพื้นดินโดยตรง จึงไม่จำเป็นจะต้องจัดหาเทวรูปมาตั้งเพื่อรอรับการบูชา และสำหรับเทวรูปเท่าที่มีอยู่น้อยนั้น ก็ไม่มีเทวลักษณะที่แตกต่างเป็นพิเศษจากเทพนารีองค์อื่นๆ ที่มีสังเกตเพียงก้อนดินในพระหัตถ์เท่านั้นที่บอกว่าเป็นพระปฤถิวี



สำหรับคนไทยนั้นเทพนารีที่ได้รับการนับถือต่อเนื่องยาวนาน และถือว่าเป็นเสมือนมารดาที่ผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงโลกมาตลอด ย่อมไม่มีเทวีองค์ใดเหมาะสมยิ่งไปกว่า “พระธรณี” หรือ “แม่พระธรณี” เช่นเดียวกับชาวฮินดู
พระธรณีหรือแม่พระธรณีนั้น เรายกย่องว่าเป็นเทพจากธรรมชาติองค์หนึ่ง คำว่า “ธรณี” แปลว่า โลก,ดิน,แผ่นดิน
ชื่อของพระธรณีในไทยก็ปรากฎในวรรณคดีไทยมาก เช่น เทศน์มหาชาติ เพราะโยงกับพระพุทธประวัติ ปฐมสมโพธิกถา ลิลิตตะเลงพ่าย และมีชื่อเรียกกันในบ้านเราเป็นนางพระธรณีบ้าง พระแม่วสุนทรา พระสุธาก็มี ซึ่งแปลความหมายเดียวกันว่า เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติ หมายถึง แผ่นดิน สำหรับคนไทยเรียกกันติดปากว่า “พระแม่ธรณี”

คติความเชื่อเรื่องแม่พระธรณีเผยแพร่มาสู่ประเทศไทยก็เนื่องมาจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่และจนถึงเวลานี้ แม่พระธรณียังทรงเป็นเทพนารีที่ได้รับความนิยมนับถือบูชาในเมืองไทย ดังจะเห็นได้ว่ามีเทวรูปประดิษฐานไว้ตามวัดและสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ มากมาย แม้หน่วยราชการบางหน่วย และพรรคการเมือง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ยังอัญเชิญแม่พระธรณีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพรรคจวบปัจจุบัน

ในเทวปกรณ์ไทย ถือกันว่าเทพนารีองค์นี้เป็นอรูปกะ คือไม่มีตัวตน และถ้ามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในโลก จึงปรากฎรูปกะ คือมีตัวตนขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง ลักษณะของเทพนารีองค์นี้เท่าที่บรรยายไว้นั้นที่แตกต่างจากเทพนารีองค์อื่น คือ พระฉวีเป็นสีดำ ข้อนี้ซ่อนความนัยอยู่ กล่าวคือ ในบรรดาชนชาติที่ชำนาญการเกษตรนั้น ย่อมเห็นกันอยู่ว่า ดินสีดำเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ดีกว่าดินชนิดอื่น พระแม่ธรณีจึงทรงมีพระฉวีสีดำ

นายหรีด เรืองฤทธิ์ได้บรรยายถึงลักษณะของแม่พระธรณีไว้ว่า มีผิวพระกายดำ แต่รูปสวยสดงดงามไม่แพ้นางฟ้าที่ลือกันว่าสวย ดวงพระพักตร์เป็นรูปไข่ มวยพระเกศาเขียวชอุ่มเหมือนกลุ่มเมฆ พระเนตรสีเหมือนบัวสายสีน้ำเงิน พระอุระ (อก) ใหญ่ พระกายอ่อน บั้นพระองค์ (เอว) เล็ก พระโสณี (ตะโพก) ผึ่งผาย พระเพลา (ลำขา) โตตึง พระชงฆ์ (น่อง) เรียว พระพาหา (ลำแขน) อ่อนเหมือนงวงไอยรา (ช้าง) พระองคุลี (นิ้ว) เรียวเหมือนลำเทียนที่ฟั่นดีแล้ว และอวัยวะนอกนั้นงามล้วนแต่ต้องตาเทพเจ้าทั้งสิ้น นางมีพระทัยเยือกเย็นไม่หวั่นไหว พระพักตร์มีเค้ายิ้มอยู่เสมอ รักความสงบ ชอบอยู่เงียบๆ จึงไม่ใคร่มีเรื่องอะไรในโลก เฝ้าแต่เลี้ยงโลกเหมือนแม่เลี้ยงโลก คอยรับน้ำที่เขาตรวจทำบุญไว้ในมวยพระเกศาสีคราม



ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา แม่พระธรณีม่ส่วนคล้ายคลึงกับปฤถิวีของทางฮินดูอย่างหนึ่ง คือทรงเป็นพยานในเรื่องของการทำความดีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำบุญ กล่าวกันว่าเมื่อผู้ใดทำบุญแล้วกรวดน้ำ แม่พระธรณีก็จะทรงรับน้ำนั้นไว้ในเกศา ดังนั้นการกรวดน้ำจึงต้องกรวดลงสู่พื้นดินเสมอ

แม่พระธรณีได้ถูกล่าวถึง ใน“มหานิบาตชาดก” เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมนาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะประสูติเป็นพระพุทธเจ้า พระเวสสันดรนี้นับเป็นมหาชาติเพราะต้องทรงบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ยากที่ผู้ใดจะทำได้ คือ ทานบารมี ขณะที่พระเวสสันดรหลั่งน้ำลงในมือชูชกเพื่อประทานพระโอรสธิดา เหตุการณ์ดังกล่าวล้วนเป็นที่น่าตื่นตระหนกแก่โลกทั้งหลาย โดยเฉพาะแม่พระธรณี ซึ่งต้องทรงอยู่ในฐานะพยานโดยตรงต่อการบำเพ็ญทานบารมีอันยิ่งใหญ่ครั้งนั้น

ในหนังสือเทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร กล่าวถึงเหตุอัศจรรย์ในครั้งนั้นไว้ว่า “อันว่าภาคพื้นพระธรณีอันหนาแน่นได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ เสียงอุโฆษครื้นครั่นดังไฟบรรลัยกัลป์จะผลาญโลกให้ทำลายวายวินาศ ฝูงสัตว์จัตุบาทก็ตื่นเต้นเผ่นโผนโจนดิ้น ประหนึ่งว่าจะปัฐพินจะพลิกคว่ำพล้ำแพลงให้พลิกหงาย อกนางพระธรณีจะแยกแตกกระจายอยู่รอนๆ”



นอกจากนี้พระแม่ธรณีได้ปรากฏกายเพื่อบีบน้ำจากมวยผมให้ท่วมพญามารที่รังควาญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนวันตรัสรู้ ดั่งรายละเอียดตามพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสว่า....
ข้าพระบาททราบซึ่งสมภารบารมีที่พระองค์สั่งสมอบรมบำเพ็ญมา แต่น้ำทักษิโณทกตกลงชุ่มอยู่ในเกศาข้าพระพุทธเจ้านี้ ก็มากกว่ามากประมาณมิได้ ข้าพระองค์จะบิดกระแสใสสินโธทกให้ตกไหลหลั่งลง จงเห็นประจักษ์แก่นัยนาในครานี้ แลนางพระธรณีก็บิดน้ำในโมลีแห่งตน อันว่ากระแสชลก็หลั่งไหลออกจากเกศโมลีแห่งนางพสุนธรีเป็นท่อธารมหามหรรณพ นองท่วมไปในประเทศที่ทั้งปวงประดุจห้องมหาสาครสมุทร

ครั้งนั้นมหาปฐพีก็ป่วนปั่นปานประหนึ่งว่าจักรแห่งนายช่างหม้อบันลือศัพท์นฤนาทหวาดไหวสะเทือนสะท้าน เบื้องบนอากาศก็นฤโฆษนาการ เสียงมหาเมฆครืนครั่นปิ่มปานจะทำลายภูผาทั้งหลาย มีสัตตภัณฑ์บรรพต เป็นต้น ก็วิจลจลาการขานทรัพย์สำเนียงกึกก้องทั่วทั้งท้องจักรวาล ก็บันดาลโกลาหลทั่วสกลดังสะท้าน ปานดุจเสียงป่าไผ่อันไหม้ด้วยเปลวอัคคี ทั้งเทวทุนทุภีกลองสวรรค์ก็บันลือลั่นไปเอง เสียงครืนเครงดุจวีหิลาชอันสาดทิ้ง ถูกกระเบื้องอันเรืองโรจน์ร้อนในกองอัคนี การอัสนีบาตก็ประหารลงเปรี้ยง ๆ เพียงพื้นแผ่นปฐพีจะพังภาคดังห่าฝน ถ่านเพลิงตกต้องพสุธาดลดำเกิงแสงสว่างหมู่มารทั้งหลายต่าง ๆ ตระหนกตกประหม่า กลัวพระเดชานุภาพแพ้พ่าย แตกขจัดขจายหนีไปในทิศานุทิศทั้งปวงมิได้เศษ แลพระยามาราธิราชก็กลัวพระเดชบารมี ....

ความเชื่อถือเกี่ยวกับแม่พระธรณี มีกล่าวถึงในพิธีต่าง ๆ ตามคติพื้นบ้าน สมัยก่อนคนไทยเคยสอนกันว่า เวลาลงบันไดบ้านก่อนจะเหยียบพื้นดินให้หยุดเสียก่อน อย่าก้าวลงดินเลยทีเดียวแต่ให้เลี่ยงลงไปข้างๆนัยว่าจะไปเหยียบแม่ธรณีเข้า คตินี้คล้ายกับฮินดู
นอกจากนี้ แม่พระธรณีทรงเป็นเทพผู้พิทักษ์ในความรู้สึกของคนไทยสมัยก่อนด้วย อาทิ ในการไปทำศึกสงคราม นอกจากกจะกราบไหว้บูชาเทพยดาต่างๆ แล้วยังกราบไหว้ขอให้แม่พระธรณีช่วยคุ้มครอง

ข้อมูล จาก www.democrat.or.th

ในวันนี้ที่บ้านเรากำลัง ปั่นป่วน กับการที่ พระแม่คงคาพิโรธ เพราะขัดขวางเส้นทางเดินสู่ห้วงมหรรณพ แม่พระธรณีกำลังบีบมวยผม ( แม้พระธรณี พระทัยดี รักสงบ เยือกเย็นไม่หวั่นไหว เคยเลี้ยงโลกเหมือนแม่เลี้ยงลูก หากแต่ว่ามนุษย์ได้เคยทำอะไรจ้วงจาบหยาบช้ากับแม่ เป็๋นลูกอกตัญญู ลูกของมนุษย์เมื่อทำความผิด ก็ต้องถูกเฆี่ยนตีสั่งสอนให้หลาบจำจะได้ไม่ประพฤติผิด ผิดซ้ำผิดซากอีก) ยังมีเทพอีก 2 องค์ ที่กำลังลงโทษมนุษย์ที่ทำบาปอย่างใหญ่หลวงอยู่ในขณะนี้

[บทความ] หิมพานต์....


หิมพานต์

คำว่า หิมพานต์ หรือ หิมวันต์ มักจะพบในหนังสือวรรณคดีจำนวนมาก เช่น ไตรภูมิกถา มหาชาติเวสสันดร เวสสันดรชาดก กากีคำกลอน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า “ชื่อป่าหนาวแถบเหนือ อินเดีย”ซึ่งคงจะหมายถึงป่าแถบภูเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นภูเขาที่มียอดสูงสุดในโลก เป็นภูเขาอยู่ในดินแดนอินเดียและเนปาลติดต่อกัน มีหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี


หิมพานต์

ในไตรภูมิกถา อธิบายลักษณะ ป่าหิมพานต์ ชมพูทวีปว่า
“แผ่นดินชมพูทวีปนั้น มีปริมาณได้ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ทั้งด้านยาวและด้านกว้าง
แยกออกเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่มนุษย์ ๓,๐๐๐ โยชน์ เป็นป่าเขาพระหิมพานต์ ๓,๐๐๐ โยชน์ เป็นทะเล ๔,๐๐๐โยชน์

ภูเขาหิมพานต์ หรือ หิมวันต์บรรพต นั้นสูงประมาณ ๕๐๐ โยชน์ กว้างใหญ่ ๓,๐๐๐ โยชน์ มียอดเขา ๘๔,๐๐๐ ยอด
ที่เชิงเขาหิมพานต์นั้น มีต้นหว้าใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ใกล้ฝั่งมหานที สีทันดร
ต้นหว้านั้นมีขนาดใหญ่โอบรอบได้ ๑๔ โยชน์ ตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปถึงค่าคบสูงได้ ๕๐ โยชน์
ตั้งแต่ค่าคบขึ้นไปถึงยอดได้ ๕๐ โยชน์ และตั้งแต่ปลายค่าคบด้านทิศตะวันออกมาถึงทิศตะวันตก มีระยะไกลถึง๑,๐๐๐ โยชน์
ตั้งแต่ปลายค่าคบด้านทิศเหนือจดทิศใต้ไกลถึง ๘๐๐,๐๐๐ วา
ปริมาณปลายค่าคบโดยรอบปริมณฑลได้๒,๔๐๐,๐๐๐ วา
ดอกของต้นหว้านั้น มีลักษณะงามมีกลิ่นหอมยิ่งนักและมีผลใหญ่...มีรสหวานอร่อยเหมือนน้ำผึ้ง...
ยางของผลหว้านั้นเมื่อร่วงหล่นลงกลายเป็นทองคำสุกชื่อว่า ชมพูนุท...

ถัดจากป่าไม้หว้า มีป่าไม้มะขามป้อม มีรสอร่อยถัดไปมีป่าสมอ ซึ่งมีรสหวานปานน้ำผึ้ง
ถัดป่าสมอไปมีแม่น้ำ ๗ สาย ถัดไปมีป่าไม้นารีผล ซึ่งมีลักษณะทรวดทรงงดงามยิ่งนัก
ถัดออกไปมีแม่น้ำสมุทร และมีป่าไม้ ๖ ป่า คือ ป่ากุรภะ ป่าโกรภะ ป่ามหาพิเทหะ ป่าตะปันทละ ป่าโสโมโลและป่าไชยเยศ
ป่าไม้เหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยบำเพ็ญบุญของผู้ทรงธรรมทั้งหลาย...ป่าไม้นั้นมีเนื้อทรายจามรีอยู่มากมาย พวกเขาเอาหางจามรีมามุงเรือนกันอยู่อาศัย พวกเขาอยู่ในที่นั้นโดยไม่ต้องทำไร่ไถนาหาเลี้ยงชีพ ข้าวสาลีและถั่วก็งอกขึ้นเอง และมีรสหวานอร่อยปานน้ำผึ้ง


หิมพานต์


ป่าเขาหิมพานต์ เป็นที่อยู่ของบรรดานักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์ ยักษ์ ฤษี ชีไพร ผู้ทรงอภิญญาทางจิตกล้าแข็งทั้งหลาย อยู่กันอย่างสันติภาพไม่เบียดเบียนกัน มีสัตว์ที่มีรูปร่าง แปลกประหลาด ไม่เหมือนในเมืองมนุษย์ อีกทั้งยังมีอิทธิฤทธิ์มากมาย ทั้งพืชหรือสัตว์ ตลอดจนแร่ธาตุต่าง ๆ ล้วนมีพลังอำนาจมหัศจรรย์
ความเชื่อเรื่องหิมพานต์นั้น มีการถ่ายทอดความเชื่อของผู้คนไว้ในงานวรรณศิลป์ จิตรศิลป์มากมาย ในด้านวรรณศิลป์ขอยกตัวอย่างจาก บทเห่กล่อม เห่เรื่องกากีของสุนทรภู่

เรื่องกากี มีเค้ามาจากเรื่องในนิบาตชาดก ชื่อ กากาติชาดก ในชาดกเรื่องนี้ เรียก กากี ว่า กากาติ
สุนทรภู่เลือกเนื้อเรื่องตอนพระยาครุฑอุ้มนางกากีเหาะไปวิมานฉิมพลี มาเป็นบทเห่กล่อมพระบรรทม ชมความงามของทะเลสีทันดร และขุนเขาน้อยใหญ่รอบเขาพระสุเมรุ ดังนี้ ...

เห่เอยเห่กล่าว ถึงเรื่องราวสกุณา
ครุฑราชปักษา อุ้มกากีบิน

ล่องลมชมทวีป ในกลางกลีบเมฆิน
ข้ามคีรีศีขรินทร์ มุจลินท์ฃโลธร

ชี้ชมพนมแนว นั่นเขาแก้วยุคันธร
สัตภัณฑ์สีทันดร แลสลอนล้วนเต่าปลา

งูเงือกขึ้นเกลือกกลิ้ง ม้ตมิงคลมัจฉา
จระเข้แลเหรา ทั้งโลมาและปลาวาฬ

โผนเผ่นเล่นระลอก ชลกระฉอกฉาดฉาน
นาคาอันกล้าหาญ ขึ้นพ่นพล่านคงคา

หัสดินทร์บินฉาบ ก็คาบขึ้นบนเวหา
ในทะเลเภตรา บ้างแล่นมาแล่นไป

ลำนิดนิดจิ๊ดจิ๋ว เห็นหวิวหวิวอยู่ไรไร
ชมชื่นหฤทัย ก็ลอยไปในเมฆา

อุ้มแอบแนบชิด ถนอมสนิทเสน่หา
ปีกอ่อนร่อนรา กระพือพาเผ่นทะยาน

ลอยรอบขอบพระเมรุ บริเวณจักรวาล
ชมป่าหิมพานต์ เชิงชานพระเมรุธร

สินธพตระหลบเผ่น สิงโตกิเลนแลมังกร
ราชสีห์ดูมีหงอน แก้วกุญชรแลฉัททันต์

นรสิงห์แลลิงค่าง อีกเซี่ยวกางแลกุมภันฑ์
ยักษ์มารชาญฉกรรจ์ ทั้งคนธรรพ์วิเรนทร

นักสิทธิวิทยา ถือคทาธนูศร
กินรินและกินนร รำฟ้อนร่อนรา

ห่านหงส์หลงเกษม อยู่ห้องเหมคูหา
พระฤๅษีชีป่า หาบผลาเลียบเนิน

คนป่าทั้งหมาเหมี่ยว ก็จูงกันเที่ยวดุ่มเดิน
ลอยลมชมเพลิน พนมเนินแนวทาง

มีหุบห้องปล่องเปลว ดูห้วยเหวรโหฐาน
ลดหลั่นเป็นชั้นชาน เงื้อมตระหง่านเมฆี

บ้างเขียวขาวดูวาววาม เรืองอร่ามรัศมี
ชมพลางทางชี้ บอกคดีนีรมล

ที่สูงเยี่ยมเทียมฟ้า นั่นต้นนารีผล
รูปร่างเหมือนอย่างคน ดูงามพ้นคณนา

ยิ้มย่องผ่องพักตร์ วิไลลักษณ์ดังเลขา
น้อยน้อยย้อยระย้า เพทยาธรคอย

ที่มีฤทธิ์ปลิดเด็ด อุ้มระเห็ดเหาะลอย
พวกนักสิทธิ์ฤทธิ์น้อย เอาไม้สอยเสียงอึง

บ้างตะกายป่ายปีน เพื่อนยุดตีนตกตึง
ชิงช่วงหวงหึงส์ เสียงอื้ออึงแน่นอนันต์

ที่ไม่ได้ก็ไล่แย่ง บ้างทิ่มแทงฆ่าฟัน
ที่ได้ไปไว้นั้น ถึงเจ็ดวันก็เน่าไป

พระบอกนางทางพา ลอยฟ้าสุราลัย
เที่ยวชมเล่นให้เย็นใจ แล้วกลับไปวิมานเอยฯ



นารีผล




กินนรีในแจกัน

กินนรี


เหมราช
เป็นสัตว์ผสมที่มีร่างเป็นสิงห์ ส่วนหัวเป็นเหม เหมเป็นสัตว์ ที่มีลักษณะเหมือนหงส์ (ห่าน)


เหรา (เห-รา)
เป็นสัตว์ที่มีร่างผสมระหว่าง นาค กับ จระเข้ มีสี่ขา เหมือนจระเข้


พญานาค


งูใหญ่
ไม่มีหงอน เหมือนพญานาค

บทเห่กล่อมโดยทั่วไปแต่งขึ้นเพื่อร้องขับกล่อมให้เด็กหลับ แม้ว่าเด็กจะเยาว์วัย ยังไม่สามารถเข้าใจความหมายของเนื้อเพลงก็ตาม แต่เด็กก็เข้าใจความรู้สึกของผู้เห่กล่อมว่ารักใคร่และเอ็นดูตน เด็กจะเกิดความอบอุ่นใจและหลับไปอย่างมีความสุข

บทเห่กล่อมของสามัญชน จะแต่งตามความรู้สึก ความคิด หรืออื่นๆ ตามแต่ผู้เห่กล่อมจะนึกอะไรได้ก็ร้องเป็นทำนอง อาจมีเนื้อร้องในทำนองปลอบขวัญ ให้ความอบอุ่น หรือบางทีก็มีขู่ให้กลัวบ้างก็มี มีการจดจำบทร้องเห่กล่อมกันต่อๆ มา

สำหรับบทเห่กล่อมพระบรรทมสำหรับเจ้านายก็เช่นเดียวกัน กวีนำเอาเนื้อความจากเรื่องในวรรณคดีบ้าง เรื่องราว ตำนานต่างๆ บ้าง มาผูกเป็นเนื้อร้อง โดยใช้คำประพันธ์ประเภทกาพย์ กลอน เพื่อไว้เห่กล่อมพระราชโอรส ธิดา ของพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูง เนื้อร้องบทเห่กล่อมไม่กำหนดเรื่องราวเป็นแบบแผน แต่จะมีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เป็นวัฒนธรรมหรือสิ่งแวดล้อม ตามสภาพท้องถิ่นนั้น"
บทเห่กล่อมของสุนทรภู่แต่งถวายสำหรับขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
บทเห่กล่อมของสุนทรภู่ มี 4 เรื่อง คือ
1.บทเห่กล่อม เรื่องพระอภัยมณี
2.บทเห่กล่อม เรื่องนางกากี
3.บทเห่กล่อม เรื่องโคบุตร
4.บทเห่กล่อม เรื่องจับระบำ

ขอบคุณ
ภาพสัตว์ในหิมพานต์จาก www.vcharkarn.com
www.benjarong.net
www.himmapan.com
www.212cafe.com
บทเห่กล่อมจากหนังสือ "อนุสรณ์สุนทรภู่ ๒๐๐ ปี" โดย อาจารย์ปราณี บุญชุ่ม และอาจารย์มณฑนา วัฒนถนอม
หมายเหตุ หน่วยวัดคำว่าโยชน์คือจำนวนเท่าใด มีคำตอบอยู่ในวิธีนับศัพท์สังขยา ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)