วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] บทส่งท้าย ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)






บทส่งท้าย ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
นอกจาก หนังสือแบบเรียน และหนังสือไทย อื่น ๆ แล้ว พระยาศรีสุนทร ยังได้ ประพันธ์เพลงชาติไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยปลายรัชกาลที่ ๔ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ได้มีนายทหารอังกฤษ ๒ คน ซึ่งเข้ามาเป็นครูฝึกทหารเกณฑ์ในวังหลวงและวังหน้า คือ ร้อยเอก อิมเปย์ (Impey) และร้อยเอก น๊อกซ์ (Thomas G. Knox) นายทหารอังกฤษทั้ง ๒ นายนี้ ได้ใช้เพลง “ ก๊อดเซฟเดอะควีน” (God Save the Queen) เป็นเพลงฝึกสำหรับทหารแตร และประเทศอังกฤษเองก็ได้ใช้เพลง “ก๊อดเซฟเดอะควีน” นี้เป็นเพลงประจำชาติ
การฝึกทหารของไทยสมัยนั้นใช้แบบอย่างของประเทศอังกฤษ ดังนั้นเพลง “ ก๊อดเซฟเดอะควีน” จึงถูกใช้เป็นเพลงเกียรติยศ ถวายความเคารพต่อพระมหากษัตริย์ และใช้สำหรับกองทหารไทยในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ถึง ๒๔๑๔ เรียกกันว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ” ...ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จึงได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่ โดยใช้ทำนองเพลง “ก๊อดเซฟเดอะควีน”เดิม แต่ตั้งชื่อเพลงขึ้นใหม่ว่า “จอมราชจงเจริญ” นับได้ว่าเป็นเพลงชาติฉบับแรกของประเทศสยาม

เพลง ..... จอมราชจงเจริญ
แต่งโดย ..... พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ทำนอง ..... ก๊อดเซฟเดอะควีน


ความสุขสมบัติทั้ง            บริวาร 
เจริญพละปฏิภาณ            ผ่องแผ้ว
จงยืนพระชนม์นาน          นับรอบ  ร้
อยแฮ
มีพระเกียรติเพริศแพร้ว     เล่ห์เพี้ยงจันทร
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๑๔ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าให้ตั้งคณะครูดนตรีไทยขึ้น เพื่อทรงปรึกษาหาเพลงชาติที่มีความเป็นสยามประเทศ มาใช้แทนเพลง “ก๊อดเซฟเดอะควีน” คณะครูดนตรีไทยได้เลือก “เพลงทรงพระสุบิน”หรือเรียกอีกอย่างว่า “เพลงบุหลันลอยเลื่อน” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) โดยนำมาเรียบเรียงใหม่ให้มีความเป็นสากลขึ้นโดยนาย เฮวุดเซน (Heutsen)นับเป็นเพลงชาติไทยฉบับที่สอง ใช้บรรเลงในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๓๑

จอมราชจงเจริญ (ทำนองเพลง God Save the Queen)



และในเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “โรงเรียนหลวง” สำหรับบุตรหลานคนชั้นสูงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นโรงเรียนแรกตามรูปแบบของโรงเรียนในปัจจุบัน กล่าวคือมีสถานที่ซึ่งจัดไว้โดยเฉพาะ มีฆราวาสเป็นครู และมาทำการสอนตามเวลาที่กำหนด สำหรับความมุ่งหมายในการตั้งโรงเรียนคือ การสร้างคนให้มีความรู้เพื่อเข้ารับราชการ (ต่อมาได้มีการขยายโรงเรียนหลวงออกไปอีกหลายแห่ง)

พระยาศรีสุนทรโวหารได้เรียบเรียง “แบบเรียนหลวง” ขึ้น มี ๖ เล่ม สำหรับใช้เป็นหลักสูตรวิชาชั้นต้น แบบเรียนทั้ง ๖ เล่มคือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิตนิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจนพิจารณ์ และ พิศาลการันต์

เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๓๐ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “กรมศึกษาธิการ” โดยโอนโรงเรียนต่างๆ ที่เคยอยู่ในสังกัดกรมทหารมหาดเล็ก และโรงเรียนทั้งหมดมาขึ้นกับกรมศึกษาธิการ

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ มีคำสั่งยกเลิกการใช้ “แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม” ของพระยาศรีสุนทรโวหาร โดยให้ใช้ “แบบเรียนเร็ว” ของกรมศึกษาธิการแทน โดยเพิ่มความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากวิชาภาษาไทย

หนังสือแบบเรียนของพระยาศรีสุนทร เมื่อมาถึงในปัจจุบัน หากไม่นับว่าการใช้คำและตัวสะกดในสมัยนั้นไม่คุ้นตาดังที่ได้นำบทความมาเผยแพร่โดยคงตัวสะกดในสมัยนั้นไว้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้พบเห็นของเดิม คนรุ่นปัจจุบันนี้น่าจะมีความรู้สึกว่าบทเรียนค่อนข้างยาก หากแต่มีบทความของ คุณ จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ในนิตยสารสกุลไทย เรื่องพระยาศรีสุนทรโวหาร มีความว่า

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ ทรงมีพระชนมายุได้ ๖ พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดฯให้ทรงเรียนหนังสือกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งสมเด็จพระบรมฯ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันของพระองค์ว่า

วันพฤหัสบดีวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๗ ตื่นเช้าก่อนโมง กินข้าวแล้วไปอ่านหนังสือ อ่านในห้องโอฟิต พระยาศรีสุนทรเป็นผู้สอน เสด็จอาดิศมากำกับด้วย เราอ่านสองโมงเช้า สองโมงนานเลิก ให้อ่านนิดเดียวแต่นโมเท่านั้น
เสด็จอาดิศชมเราใหญ่ ครูก็ชมว่าเราไม่ร้องไห้
พี่กิติยากรครูระอา ร้องไห้ทุกวันกว่าเดือน
...ฯลฯ...




เสด็จอาดิศ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะนั้นทรงพระยศ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร)
พี่กิติยากร คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์)

สมเด็จพระบรมฯ ทรงได้รับพระราชทานสมุดสำหรับจดบันทึกรายวัน (Diary) เป็นของพระขวัญวันประสูติ จากสมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อพระชนมายุครบ ๕ พรรษา ตั้งแต่นั้นพระองค์ก็ทรงบันทึกจดหมายเหตุรายวันเรื่อยมา ชั้นแรกเมื่อยังทรงพระเยาว์มาก ยังทรงเขียนเองไม่ได้ ก็ทรงเล่าถวายพระพี่เลี้ยง คือ พระองค์เจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ซึ่งตรัสเรียกว่า ป้าโสม ให้เป็นผู้จดบันทึกจนกระทั่งเมื่อทรงพระเจริญวัยได้ ๘ พรรษาแล้ว จึงทรงบันทึกด้วยพระองค์เอง

เมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เข้าไปเป็นพระอาจารย์ถวายสอนหนังสือสมเด็จพระบรมฯ นั้นอายุมากถึง ๖๒ ปีแล้ว สมเด็จพระบรมฯ ทรงบันทึกไว้ถึงพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) อีกหลายตอน ภายหลังรับสั่งเรียกพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อยฯ) ว่า ท่านอาจารย์ ทรงรดน้ำสงกรานต์พระราชทานท่านอาจารย์ทุกปี ดังเช่นปีแรก (พ.ศ.๒๔๒๘) ที่ทรงบันทึกไว้ว่า
วันพฤหัสบดี วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๒๘ สองโมงแล้ว แต่งตัวไปเรียนหนังสือ เอาผ้าม่วงหางกระรอกสองผืน กับเสื้อยศตัวหนึ่งไปรดน้ำพระยาศรีสุนทร แกดีใจหัวเราะแป้นทีเดียว แล้วเขียนเป็นคาถากับโคลงให้พรเรา เราได้ให้จดไว้ในสมุดนี้แล้ว...ฯลฯ...

ดังนั้น บทเรียนข้างต้น ก็ตงไม่ยากจนเกินไปของเด็กนักเรียนในสมัยนั้น เพราะด้วยชันษาเพียง ๖ ชันษาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ ก็ทรงรับการศึกษาได้นอกจากนี้

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริ วฑฺมโน)พุทธศักราช ๒๔๖๔-๒๔๘๐ ก่อนที่จะครบกำหนดบวชเป็นสามเณรตามพระราชประเพณี ก็ได้ทรงเล่าเรียนหนังสือขอมจากพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จนพระชนมายุ ได้ ๑๔ ชันษา จึงได้ทรงผนวชเป็นสามเณร

อ่านแล้ว น่ายกย่องคนในสมัยก่อนที่มีความพากเพียรอุุตสาหะ กันมากจริงๆ




ผู้เขียนขอสรุปหนังสือไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) ตามการอธิบายความโดยศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล ดังนี้หนังสือเรียน ๖ เล่มแรก คือ
มูลบทบรรพกิจ เป็นการสอนเขียนสอนอ่านเบื้องต้น
วาหนิติ์นิกร เป็นเรื่องของอักษรนำ
อักษรประโยค เป็นเรื่องของอักษรควบ
สังโยคพิธาน เป็นเรื่องตัวสะกดแม่ต่าง *
พิศาลการันต์ เป็นเรื่องของตัวการันต์ต่างๆ
(*ไวพจน์พิจารณ์ นำไปรวมกลุ่มข้างล่าง)
หลังจากนัั้น พระยาศรีสุนทรโวหารได้แต่งหนังสืออีกหลายเรื่องดังนี้นิติสารสาธก เป็นการกล่าวถึงแบบเรียนภาษาไทยของท่าน

ไวพจน์พิจารณ์ ไวพจน์ประพันธ์ อุไภยพจน์ สังโยคพิธานแปล เป็นหนังสือเกี่ยวกับคำพ้องรูป พ้องเสียง และอธิบายศัพท์
กลอนพิศาลการันต์ กล่าวถึงตัวการันต์

ปกีระณำพจนาดถ์เป็นการอธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องพ้องเสียง หรือพ้องรูป เขียนเป็นกลอนสุภาพเป็นข้อ ๆ ๑๐๑ บท เนื้อความไม่เรียงกัน

หนังสืออนันตวิภาค เป็นการอธิบายคำศัพท์ต่างๆ เช่นคำไทยแผลง คำเขมรแผลง คำชวา คำบาลีเทียบสันสกฤต และความหมาย นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายชื่อ วัน เดือน ปี เป็นภาษามคธ

หนังสือวรรณพฤติคำฉันท์เป็นเรื่องเกี่ยวกับแบบแผนคำประพันธ์ร้อยกรอง

พรรณพฤกษาและสัตวาภิธาน เป็นหนังสือรวบรวมชื่อพืช ชื่อสัตว์ ชนิดของมะม่วงและทุเรียน

(อธิบายความโดยศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล )

และยังมีผลงานอื่นอีกเช่น
คำนมัสการคุณานุคุณมีเนื้อหาว่าด้วยการน้อมรำลึกในคุณงามความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา และครูอาจารย์ โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไทยตั้งอยู่ในความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและนำแบบอย่างอันดีงามไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

เขมรากษรมาลา (เป็นแบบหนังสือขอม)
วิธีสอนหนังสือไทย
มหาสุปัสสีชาดก
ฉํนท์กล่อมช้าง
ฉันท์วิภาค
ร่ายนำโคลงภาพพระราชพงศาวดาร
โคลงภาพพระราชพงศาวดาร รูปที่ ๖๕ และ ๘๕
สยามสาธก วรรณสาทิศ
ฯลฯ

ผลงานของพระยาศรีสุนทร (น้อย อาจารยางกูร ) ที่ใช้เป็นบทท่องอาขยาน ที่เด็ก ๆ อาจไม่ได้สนใจ ว่า เป็นผลงานของใคร  (แก้ไข)

บทกลอนนิติสารสาธก ๑

อย่าเกียจคร้านการเรียนเร่งอุตส่าห์
มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน
จะตกถิ่นฐานใดคงไม่แคลน
ถึงคับแค้นก็พอยังประทังตน

อันความรู้รู้กระจ่างถึงอย่างเดียว
แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล
อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์
ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี

เกิดเป็นชายชาวสยามตามวิสัย
หนังสือไทยก็ไม่รู้ดูบัดสี
ต้องอับอายขายหน้าทั้งตาปี
ถึงผู้ดีก็คงด้อยถอยตระกูล

จะต่ำเตี้ยเสียชื่อว่าโฉดช้า
จะชักพายศลาภให้สาบสูญ
ทั้งขายหน้าญาติวงศ์พงศ์ประยูร
จะเพิ่มพูนติฉินคำนินทา ฯ

แบบเรียนภาษาไทย มีวิวัฒนาการมาโดยตลอด ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการปรับปรุง มาตั้งแต่ครั้งที่ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร )ยังมีชีวิตอยู่ ทุกวันนี้วิชาภาษาไทยเป็นวิชาเรียนที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจ บทร้อยกรองต่าง ๆ มีผู้สนใจน้อยมาก ต่างจากคนในสมัยโบราณที่มักถูกกล่าวขวัญ กันว่าเจ้าบทเจ้ากลอน


บทความที่ผู้เขียนอัดแน่นในรายละเอียดของตัวอย่างอาจทำให้น่าเบื่อที่จะอ่าน แต่ผู้เขียนมีความมุ่งมั่นที่จะสะท้อนถึงชีวิตจิตใจของคนรุ่น ปู่ย่าตายาย ที่รักการประพันธ์จนซึมแทรกอยู่ในจิตวิญญาณ แม้แต่การเขียนตำราหนังสือภาษาไทย ท่านก็รจนาด้วยบทประพันธ์ร้อยกรอง แนวการประพันธ์ร้อยกรองสื่อหลักภาษาไทยจึงไม่อ่อนหวานพลิ้วไหวเหมือนคำประพันธ์ทางด้านวรรณกรรม ผู้เขียนอยากประกาศเกียรติคุณของ พระยาศรีสุนทรโวหาร ให้คนรุ่นใหม่มองเห็นภาพที่ท่านทุ่มเทแรงกาย แรงใจ สติปัญญา สร้างสรรค์งานด้วยจิตเมตตากรุณาแห่งการเป็นครูผู้ให้ ถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ทั้งมวลด้วยความรู้ความสามารถทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในตัวของท่านเองจนหมด และถือเป็นการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทด้วยความจงรักภักดี สมกับสร้อยนามศักดินาที่ได้รับพระราชทานยศตามตำแหน่งมา ท่านควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติถึงบุญคุณของท่านให้สถิตย์อยู่ในใจของผู้ที่เคยเป็นนักเรียนมาก่อน กำลังเป็นอยู่ และเหล่านักเรียนในกาลข้างหน้า ตลอดกาลนาน...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น