วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] พระแม่ธรณี... เทพีแห่งพื้นแผ่นดิน...

พระแม่ธรณี เทพีแห่งพื้นแผ่นดิน


พระแม่ธรณี

พระธรณี หรือ แม่พระธรณี หรือ พระศรีวสุนธรา
พระแม่ธรณี เป็นเทพีแห่งพื้นแผ่นดิน ปรากฏในตำนานทั้งศาสนาพราหมณ์, ฮินดู และพุทธศาสนา
ในคติพราหมณ์และฮินดู แม่พระธรณีทรงมีพระนามว่า “พระปฤถิวี” ทรงเป็นเทพนารีชั้นผู้ใหญ่องค์หนึ่ง คนอินเดียถือกันว่าเป็นเทพนารีที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มาก เนื่องเพราะพระองค์ทรงเป็นเทวีแห่งแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้ค้ำจุนสิ่งชีวิตทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ด้วย พระองค์ทรงมีพระนามอื่นๆ อีก ได้แก่ ภูมิเทวี ภูเทวี ธรติ และฤตริ เป็นต้น



แม้จะมิค่อยมีรูปเคารพอย่างแพร่หลายเช่นเทพองค์อื่นแต่ก็มีผู้ให้ความเคารพนับถือเป็นจำนวนมิใช่น้อย เพราะถือกันว่าพระธรณีสถิตย์อยู่ตามที่ต่าง ๆ ทุกหนทุกแห่ง จะทำการบูชาด้วย ข้าว ผลไม้ และนมด้วยการวางไว้บนก้อนหิน หรือประพรมลงบนพื้นดิน บางแห่งใช้เหล้าเป็นการสังเวยก็มี นอกจากนี้ชาวฮินดูยังมีการขอขมาลาโทษเมื่อจะวางเท้าลงบนพื้นดินก่อนจะลุกขึ้นในตอนเช้า วัวหรือควายที่มีลูกก่อนที่จะให้ลูกกินนมครั้งแรก เจ้าของจะปล่อยน้ำนมของแม่วัวลงบนพื้นดินเสียก่อนทุกครั้งไป ถ้าเป็นพวกชาวนาก็จะขอให้พระธรณีช่วยคุ้มครองผืนนาและวัวควาย แม้ในพระเวทก็มีการขอร้องต่อพระธรณีให้ช่วยพิทักษ์คุ้มครองวิญญาณของคนตาย และต่อมาได้นับถือว่าเป็นเทพแห่งไร่นาด้วย ในแคว้นปัญจาบเชื่อกันว่าพระธรณีจะนอนหลับเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ของทุก ๆ เดือนชาวไร่ชาวนาจะหยุดไม่ทำงานในระยะนี้

"พระแม่ธรณี" เป็นเทพมารดาแห่งโลก เพราะเป็นผู้ที่มีคุณต่อสรรพชีวิตบนโลก
เทวรูปของพระปฤถิวีในทางฮินดูปรากฎน้อยมาก เพราะเขาถือกันว่าพระองค์สถิตอยู่ทุกหนแห่ง เวลาถวายเครื่องสังเวยก็กระทำต่อพื้นดินโดยตรง จึงไม่จำเป็นจะต้องจัดหาเทวรูปมาตั้งเพื่อรอรับการบูชา และสำหรับเทวรูปเท่าที่มีอยู่น้อยนั้น ก็ไม่มีเทวลักษณะที่แตกต่างเป็นพิเศษจากเทพนารีองค์อื่นๆ ที่มีสังเกตเพียงก้อนดินในพระหัตถ์เท่านั้นที่บอกว่าเป็นพระปฤถิวี



สำหรับคนไทยนั้นเทพนารีที่ได้รับการนับถือต่อเนื่องยาวนาน และถือว่าเป็นเสมือนมารดาที่ผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงโลกมาตลอด ย่อมไม่มีเทวีองค์ใดเหมาะสมยิ่งไปกว่า “พระธรณี” หรือ “แม่พระธรณี” เช่นเดียวกับชาวฮินดู
พระธรณีหรือแม่พระธรณีนั้น เรายกย่องว่าเป็นเทพจากธรรมชาติองค์หนึ่ง คำว่า “ธรณี” แปลว่า โลก,ดิน,แผ่นดิน
ชื่อของพระธรณีในไทยก็ปรากฎในวรรณคดีไทยมาก เช่น เทศน์มหาชาติ เพราะโยงกับพระพุทธประวัติ ปฐมสมโพธิกถา ลิลิตตะเลงพ่าย และมีชื่อเรียกกันในบ้านเราเป็นนางพระธรณีบ้าง พระแม่วสุนทรา พระสุธาก็มี ซึ่งแปลความหมายเดียวกันว่า เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติ หมายถึง แผ่นดิน สำหรับคนไทยเรียกกันติดปากว่า “พระแม่ธรณี”

คติความเชื่อเรื่องแม่พระธรณีเผยแพร่มาสู่ประเทศไทยก็เนื่องมาจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่และจนถึงเวลานี้ แม่พระธรณียังทรงเป็นเทพนารีที่ได้รับความนิยมนับถือบูชาในเมืองไทย ดังจะเห็นได้ว่ามีเทวรูปประดิษฐานไว้ตามวัดและสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ มากมาย แม้หน่วยราชการบางหน่วย และพรรคการเมือง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ยังอัญเชิญแม่พระธรณีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพรรคจวบปัจจุบัน

ในเทวปกรณ์ไทย ถือกันว่าเทพนารีองค์นี้เป็นอรูปกะ คือไม่มีตัวตน และถ้ามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในโลก จึงปรากฎรูปกะ คือมีตัวตนขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง ลักษณะของเทพนารีองค์นี้เท่าที่บรรยายไว้นั้นที่แตกต่างจากเทพนารีองค์อื่น คือ พระฉวีเป็นสีดำ ข้อนี้ซ่อนความนัยอยู่ กล่าวคือ ในบรรดาชนชาติที่ชำนาญการเกษตรนั้น ย่อมเห็นกันอยู่ว่า ดินสีดำเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ดีกว่าดินชนิดอื่น พระแม่ธรณีจึงทรงมีพระฉวีสีดำ

นายหรีด เรืองฤทธิ์ได้บรรยายถึงลักษณะของแม่พระธรณีไว้ว่า มีผิวพระกายดำ แต่รูปสวยสดงดงามไม่แพ้นางฟ้าที่ลือกันว่าสวย ดวงพระพักตร์เป็นรูปไข่ มวยพระเกศาเขียวชอุ่มเหมือนกลุ่มเมฆ พระเนตรสีเหมือนบัวสายสีน้ำเงิน พระอุระ (อก) ใหญ่ พระกายอ่อน บั้นพระองค์ (เอว) เล็ก พระโสณี (ตะโพก) ผึ่งผาย พระเพลา (ลำขา) โตตึง พระชงฆ์ (น่อง) เรียว พระพาหา (ลำแขน) อ่อนเหมือนงวงไอยรา (ช้าง) พระองคุลี (นิ้ว) เรียวเหมือนลำเทียนที่ฟั่นดีแล้ว และอวัยวะนอกนั้นงามล้วนแต่ต้องตาเทพเจ้าทั้งสิ้น นางมีพระทัยเยือกเย็นไม่หวั่นไหว พระพักตร์มีเค้ายิ้มอยู่เสมอ รักความสงบ ชอบอยู่เงียบๆ จึงไม่ใคร่มีเรื่องอะไรในโลก เฝ้าแต่เลี้ยงโลกเหมือนแม่เลี้ยงโลก คอยรับน้ำที่เขาตรวจทำบุญไว้ในมวยพระเกศาสีคราม



ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา แม่พระธรณีม่ส่วนคล้ายคลึงกับปฤถิวีของทางฮินดูอย่างหนึ่ง คือทรงเป็นพยานในเรื่องของการทำความดีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำบุญ กล่าวกันว่าเมื่อผู้ใดทำบุญแล้วกรวดน้ำ แม่พระธรณีก็จะทรงรับน้ำนั้นไว้ในเกศา ดังนั้นการกรวดน้ำจึงต้องกรวดลงสู่พื้นดินเสมอ

แม่พระธรณีได้ถูกล่าวถึง ใน“มหานิบาตชาดก” เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมนาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะประสูติเป็นพระพุทธเจ้า พระเวสสันดรนี้นับเป็นมหาชาติเพราะต้องทรงบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ยากที่ผู้ใดจะทำได้ คือ ทานบารมี ขณะที่พระเวสสันดรหลั่งน้ำลงในมือชูชกเพื่อประทานพระโอรสธิดา เหตุการณ์ดังกล่าวล้วนเป็นที่น่าตื่นตระหนกแก่โลกทั้งหลาย โดยเฉพาะแม่พระธรณี ซึ่งต้องทรงอยู่ในฐานะพยานโดยตรงต่อการบำเพ็ญทานบารมีอันยิ่งใหญ่ครั้งนั้น

ในหนังสือเทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร กล่าวถึงเหตุอัศจรรย์ในครั้งนั้นไว้ว่า “อันว่าภาคพื้นพระธรณีอันหนาแน่นได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ เสียงอุโฆษครื้นครั่นดังไฟบรรลัยกัลป์จะผลาญโลกให้ทำลายวายวินาศ ฝูงสัตว์จัตุบาทก็ตื่นเต้นเผ่นโผนโจนดิ้น ประหนึ่งว่าจะปัฐพินจะพลิกคว่ำพล้ำแพลงให้พลิกหงาย อกนางพระธรณีจะแยกแตกกระจายอยู่รอนๆ”



นอกจากนี้พระแม่ธรณีได้ปรากฏกายเพื่อบีบน้ำจากมวยผมให้ท่วมพญามารที่รังควาญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนวันตรัสรู้ ดั่งรายละเอียดตามพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสว่า....
ข้าพระบาททราบซึ่งสมภารบารมีที่พระองค์สั่งสมอบรมบำเพ็ญมา แต่น้ำทักษิโณทกตกลงชุ่มอยู่ในเกศาข้าพระพุทธเจ้านี้ ก็มากกว่ามากประมาณมิได้ ข้าพระองค์จะบิดกระแสใสสินโธทกให้ตกไหลหลั่งลง จงเห็นประจักษ์แก่นัยนาในครานี้ แลนางพระธรณีก็บิดน้ำในโมลีแห่งตน อันว่ากระแสชลก็หลั่งไหลออกจากเกศโมลีแห่งนางพสุนธรีเป็นท่อธารมหามหรรณพ นองท่วมไปในประเทศที่ทั้งปวงประดุจห้องมหาสาครสมุทร

ครั้งนั้นมหาปฐพีก็ป่วนปั่นปานประหนึ่งว่าจักรแห่งนายช่างหม้อบันลือศัพท์นฤนาทหวาดไหวสะเทือนสะท้าน เบื้องบนอากาศก็นฤโฆษนาการ เสียงมหาเมฆครืนครั่นปิ่มปานจะทำลายภูผาทั้งหลาย มีสัตตภัณฑ์บรรพต เป็นต้น ก็วิจลจลาการขานทรัพย์สำเนียงกึกก้องทั่วทั้งท้องจักรวาล ก็บันดาลโกลาหลทั่วสกลดังสะท้าน ปานดุจเสียงป่าไผ่อันไหม้ด้วยเปลวอัคคี ทั้งเทวทุนทุภีกลองสวรรค์ก็บันลือลั่นไปเอง เสียงครืนเครงดุจวีหิลาชอันสาดทิ้ง ถูกกระเบื้องอันเรืองโรจน์ร้อนในกองอัคนี การอัสนีบาตก็ประหารลงเปรี้ยง ๆ เพียงพื้นแผ่นปฐพีจะพังภาคดังห่าฝน ถ่านเพลิงตกต้องพสุธาดลดำเกิงแสงสว่างหมู่มารทั้งหลายต่าง ๆ ตระหนกตกประหม่า กลัวพระเดชานุภาพแพ้พ่าย แตกขจัดขจายหนีไปในทิศานุทิศทั้งปวงมิได้เศษ แลพระยามาราธิราชก็กลัวพระเดชบารมี ....

ความเชื่อถือเกี่ยวกับแม่พระธรณี มีกล่าวถึงในพิธีต่าง ๆ ตามคติพื้นบ้าน สมัยก่อนคนไทยเคยสอนกันว่า เวลาลงบันไดบ้านก่อนจะเหยียบพื้นดินให้หยุดเสียก่อน อย่าก้าวลงดินเลยทีเดียวแต่ให้เลี่ยงลงไปข้างๆนัยว่าจะไปเหยียบแม่ธรณีเข้า คตินี้คล้ายกับฮินดู
นอกจากนี้ แม่พระธรณีทรงเป็นเทพผู้พิทักษ์ในความรู้สึกของคนไทยสมัยก่อนด้วย อาทิ ในการไปทำศึกสงคราม นอกจากกจะกราบไหว้บูชาเทพยดาต่างๆ แล้วยังกราบไหว้ขอให้แม่พระธรณีช่วยคุ้มครอง

ข้อมูล จาก www.democrat.or.th

ในวันนี้ที่บ้านเรากำลัง ปั่นป่วน กับการที่ พระแม่คงคาพิโรธ เพราะขัดขวางเส้นทางเดินสู่ห้วงมหรรณพ แม่พระธรณีกำลังบีบมวยผม ( แม้พระธรณี พระทัยดี รักสงบ เยือกเย็นไม่หวั่นไหว เคยเลี้ยงโลกเหมือนแม่เลี้ยงลูก หากแต่ว่ามนุษย์ได้เคยทำอะไรจ้วงจาบหยาบช้ากับแม่ เป็๋นลูกอกตัญญู ลูกของมนุษย์เมื่อทำความผิด ก็ต้องถูกเฆี่ยนตีสั่งสอนให้หลาบจำจะได้ไม่ประพฤติผิด ผิดซ้ำผิดซากอีก) ยังมีเทพอีก 2 องค์ ที่กำลังลงโทษมนุษย์ที่ทำบาปอย่างใหญ่หลวงอยู่ในขณะนี้

2 ความคิดเห็น:

  1. ชอบศึกษาค่ะยิ่งได้อ่านยิ่งศรัทธามากขึ้น เคารพมากขึ้น

    ตอบลบ
  2. เดิบโตในสังคมปิดกั้นศาสนาที่ห้ามสงสัยศึกษา จึงรู้สึกน่าค้นหากับเรื่องราวการเคารพบูชาสิ่งที่เรียกว่า แม่ธรณี รู้สึกทึ่งในความยิ่งใหญ่โดยไม่ต้องมีคํมภีร์ตัวแทนเผยแผ่หรือคอยบังคับให้สาวกเชื่อฟัง ไม่ต้องสวดเคารพมากมายให้เป็นเรื่องน่าเบื่อต่อสังคม มีความอ่อนโยนเป็นกลางทางความคิด

    ตอบลบ