วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] น้ำตกบ่อทอง...บ่อทองของนกป่า ณ "เขาอ่างฤาไน"


[บทความ] น้ำตกบ่อทอง...บ่อทองของนกป่า ณ "เขาอ่างฤาไน"
ที่มา : Bluehill@OKnation

ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีน้ำตกสวยขนาดเล็กอยู่แห่งหนึ่ง ชื่อ "น้ำตกบ่อทอง" ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกบ่อทอง ในขอบข่ายของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ป่าที่ราบรอยต่อของ 5 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี สภาพป่าเป็นป่าดงดิบ ประกอบด้วยป่าดงดิบแล้งและป่าดงดิบชื้น ขึ้นคละปะปนกัน นับเป็นป่าลุ่มต่ำที่ไม่ผลัดใบที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานครมากที่สุด ไม่น่าเชื่อว่า เมืองไทยเรามีป่าที่ราบผืนใหญ่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวก็ที่เขตรักษาพันสัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนนี่แหละครับ !!!

ผมมีโอกาสไปเยือนน้ำตกแห่งนี้อีกครั้ง คราวนี้มี เพื่อนร่วมเดินทางไปเสพไออุ่นกลิ่นดินกลิ่นป่าด้วยกัน ถือเป็นการฟอร์แมทสมองให้หายเหนื่อยคลายเครียดจากสถานการณ์บ้านเมืองกันบ้าง

เมื่อปี 2552 ผมเคยไปเยือนสถานที่แห่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ทุกครั้งที่เข้าป่า ยังอดตื่นเต้นไม่ได้ทุกครั้ง เพราะป่าจะมีสิ่งแปลกใหม่ให้เราได้พบเสมอ...

"น้ำตกบ่อทอง" ซึ่งซ่อนตัวอยู่กลางป่าใหญ่ นอกจากจะมีความบริสุทธิ์งดงามควรค่าแก่การเดินทางไปชื่นชมแล้ว เส้นทางที่นำไปสู่ตัวน้ำตกนับจากเริ่มต้นทางจากหน่วยพิทักษ์ป่าหลุมจังหวัดไปจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกบ่อทอง ยังเป็นแหล่งดูนกชั้นเยี่ยมของเมืองไทยอีกแห่งหนึ่งเชียวครับ

เนื่องจากป่าผืนนี้ยังคงความสมบูรณ์ไว้มาก ชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่าที่หลงเหลือจากการไล่ล่า รวมทั้งนกป่าจำนวนมาก เช่น นกกระสาคอขาว ที่ใกล้สูญพันธุ์จากเมืองไทย และนกโกโรโกโส โดยเฉพาะไก่ฟ้าพญาลอ (Siamese Fireback) เป็นนกเด่นที่สุดของเขาอ่างฤาไน อาจหาดูที่อื่นได้ยาก แต่ที่นี่หาชมได้ง่ายมาก

ไก่ฟ้าพญาลอ (Siamese Fireback) อันเป็นนกประจำชาติไทยเรา เป็นครั้งแรกก็ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนนี่แหละครับ เสียดายที่เจ้าไก่ฟ้าพญาลอทั้งเพศผู้-เมียที่เราพบบนเส้นทางหลุมจังหวัด-บ่อทองนั้น หลบเข้าไปในราวป่าข้างทาง เลยไม่ได้ภาพมาอวดเพื่อน ๆ กัน

นอกจากนี้ เขาอ่างฤาไนยังเป็นแหล่งที่พบนกขุนทองและนกแขกเต้า ได้ง่ายมาก ถือเป็นนกรับแขกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ทีเดียว หากจะไปดูนกป่า ณ น้ำตกบ่อทอง ต้องขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 3259 จนถึงบ้านหนองคอก จะมีเส้นทางเข้าน้ำตกบ่อทองผ่านไปตามพื้นที่เกษตรกรรมจนมาถึงหน่วยพิทักษ์ป่าหลุมจังหวัด จึงได้พบกับความสมบูรณ์ของผืนป่าในที่ราบ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการดูนกอย่างแท้จริง

จากนั้นเดินทางตามถนนลูกรังผ่านใจกลางป่าไปยังน้ำตกบ่อทอง ระยะทางประมาณ 14 กม. ตลอดทางเต็มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ จนผืนป่าเต็มไปด้วยความร่มรื่น และครึ้ม เส้นทางนี้ มีโอกาสพบเห็นไก่ฟ้าพญาลอได้ไม่ยากครับ หลาย ๆ คนเคยเห็นนกแต้วแล้ว และนกยางลายเสือ

เส้นทางหลุมจังหวัด-บ่อทอง เดิมเป็นถนนชักลากไม้ออกจากป่ามานานพอควรทีเดียว แต่หลังจากรัฐบาลประกาศปิดป่าสัมปทานทำไม้ทั่วประเทศ เมื่อปี 2532 เส้นทางนี้ก็ไม่ได้ถูกใช้อีก ถือเป็นเส้นทางชักลากไม้ไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่ยังคงรักษาสภาพเดิม ๆ ไว้ จะมีพัฒนาปรับปรุงผิวถนนบ้าง ก็เพื่อไม่ให้ถนนเป็นหลุมบ่อโคลนมากเกินไป...

ย้อนกลับเมื่อหลายปีก่อน เส้นทางหลุมจังหวัด-บ่อทอง ซึ่งเป็นถนนดินลูกรัง ยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้มีสภาพดีขึ้นอย่างในปัจจุบัน การเดินทางเข้าไปในช่วงฤดูฝนราวเดือนมิ.ย.-กันยายน จะมีหลุมมีบ่อขนาดใหญ่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ตลอดเส้นทาง หลุมบ่อเหล่านี้แหละครับเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างกบ-เขียด จึงไม่แปลกใจที่นักดูนกมีโอกาสพบเห็นนกกระสาคอขาวและนกยางลายเสือ หากินกบเขียดตามแอ่งน้ำธรรมชาติแห่งนี้เมื่อหลายปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานการพบนกกระสาคอขาวที่เขาอ่างฤาไนมานานแล้ว ต่างจากนกยางลายเสือ ที่ยังมีรายงานการพบเห็นเป็นประจำ หากขับรถผ่านต้นไทรขนาดใหญ่ที่มีลูกสุก ก็หยุดดูนกได้เลย สามารถพบนกเปล้า นกเงือก นกโพระดก และอื่น ๆ อีกหลายชนิด ถนนลูกรังพาเราไปหยุดที่หน่วยพิทักษ์ป่าบ่อทอง จะเลือกเดินดูนกตามทางไปน้ำตกบ่อทอง หรือย้อนกลับไปตามถนนก็มีนกให้ดูมากไม่แพ้กัน เพราะสภาพป่าบริเวณนี้สมบูรณ์มาก มองหานกได้ตั้งแต่พื้นป่า มีนกกระทาและนกแต้วแล้วหลายชนิดให้ดูกัน สูงขึ้นไปบนต้นไม้

เช้า ๆ บรรยากาศหน้าบ้านพักของหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกบ่อทอง ถือว่ายอดเยี่ยมมาก ทั้งสงบ เงียบ ร่มรื่น อิ่มตาอิ่มใจกับแมกไม้นานาพรรณ ปราศจากเสียงเครื่องยนต์รถให้รำคาญหู ก็มีก็แต่เสียงนกเสียงค่างบ่างชนี และเสียงลมผิวแผ่วให้สำราญใจ หลังจากดูนกรอบ ๆ หน่วยฯเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตกสายจะเดินไปน้ำตกบ่อทองก็ได้ไม่ว่ากัน ระยะทางจากหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตก ไปยังน้ำตกบ่อทอง ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร เส้นทางต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ และรถกระบะ ส่วนรถยนต์ธรรมดาไม่สามารถขึ้นได้

น้ำตกบ่อทอง หรือน้ำตกอ่างฤาไน เกิดจากคลองหมากบนเขาอ่างฤาไน เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลตลอดปี แต่ควรไปในช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาว เพราะน้ำจะค่อนข้างเยอะ ช่วงที่เราเดินทางไป คือ เดือนมีนาคม ยังพอมีน้ำให้ชื่นใจพอสมควร บรรยากาศนับว่าบริสุทธิ์จริงๆ อากาศเย็นสบาย บอกตรงๆ ไม่ลอง...ไม่รู้..ครับ...














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น