วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทกวี] คงคาเทวี ...เทพีแห่งสายน้ำ...

คงคาเทวี เทพีแห่งสายน้ำ


พระคงคา เทพีแห่งสายน้ำ ในจินตนาการของคนไทย


พระคงคาในจินตนาการของคนไทย


ในจินตนาการของคนไทย ทรงปลาใหญ่เป็นพาหนะ ในขณะที่ภาพวาดแนวอินเดียจะทรงจระเข้เป็นพาหนะ
(พระคงคา มีพาหนะเป็นปลาใหญ่และจระเข้)



พระคงคาทรงจระเข้เป็นพาหนะ


พระคงคาไหลวนอยู่ที่พระเศียรของพระศิวะเป็นพันปี


พระคงคาของอินเดีย


นารายณ์บรรทมสินธุ์ ประทับบนอนันตนาคราชในเกษียรสมุทร

เรื่องแปล พระคงคาของ ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา นี้ พลอยโพยมได้บรรจุไว้ในหนังสือ " วันวานของบางกรูด" เป็นบทกลอนดังนี้


ได้อ่านดู รู้แจ้ง แห่งกำเนิด
คงคาเกิด ไกลแสน แม้นอยากเห็น
ธิดาพริ้ม หิมวัต ซึ่งจัดเป็น
เทพไทเด่น แดน ณ หิมพานต์

นิยายนั้น สันสกฤต ประดิษฐ์เล่า
พี่นางเจ้า อุมา ถ้ากล่าวขาน
สถิตโลก หล้านี้ นิรันดร์กาล
ตามตำนาน นั้นย้อน สครมา

เอกโอรส เหลวไหล ไม่ได้เรื่อง
ทรงขุ่นเคือง แค้นไล่ ไกลยศถา
เสด็จออก นอกเขต นครา
อันนัดดา เด่นหนึ่ง ซึ่งเชิดชู

โอรสของ รองพระ มเหสี
หกหมื่นมี ทีท่า เชษฐาอยู่
แม้หมองหม่น ทนอด รันทดดู
สุดจะรู้ ระทม ตรมกว่าใคร

ดำริก่อ เกียรติยศ ปรากฏชัด
พิธีจัด อัสดร ก่อนเหตุใหญ่
อัศวเมธ แม้นถึง ซึ่งเมืองใด
ล้วนพร้อมใจ ไม่กล้า ฝืนฝ่าการ

ทัพโอรส รีบชิด ติดตามม้า
มิเลิกรา หาเว้น เข่นประหาร
พระธรณี ร่างโค ขึ้นวิมาน
อิศวรท่าน เทพใหญ่ ให้เมตตา

พระเป็นเจ้า เข้าใจ ในทวยเทพ
ปลอบสังเขป พระนารายณ์ คลายปัญหา
แบ่งภาคคือ ฤาษี มีฤทธา
ลืมเนตรมา คราใด เกิดไฟพลัน

ใต้พิภพ พื้นดิน เป็นถิ่นฐาน
บำเพ็ญฌาน กบิล ฤาษีนั่น
ครบปีถ้วน ป่วนชัด อัศจรรย์
ม้านั้นหัน หายลับ กลับลนลาน

ภูเขาฝ่า ป่าดง พงไพรชัฏ
รีบเร่งรัด ริมหนอง คลองละหาน
บึงแม่น้ำ ถ้ำไหน ไร้พบพาน
ใต้บาดาล ควานดู ให้รู้ความ

โอรสรุด ขุดหลุม เป็นลุ่มใหญ่
ดาบสใกล้ อุปการ หาญเหยียดหยาม
ใช้ถ้อยคำ ต่ำช้า ว่าประณาม
ลักม้าทราม ลามชั่ว ด่ารัวกัน

ท่านกบิล ฤาษี ผู้มีฤทธิ์
สำรวมจิต จ้องฌาน ช้านานมั่น
ยินวาจา จ้วงจาบ แสนหยาบครัน
เผลอไม่ทัน ทบทวน ด่วนลืมตา

ไฟกรดเผา เถ้ากอง ผองหกหมื่น
ท้าวขมขื่น กลืนโศก วิโยคว่า
กระดูกดั่ง ภูเขา เลากานา
เหลือลูกยา มาหลาน ด้านละองค์

เข้าพนา ผนวช สวดไถ่บาป
เพราะทรงทราบ ซึ่งจิต เวียนผิดหลง
ไร้ความดี มีช่วย ยามม้วยลง
โอรสคง หลงวน อนธการ

ร้อยปีกาล ผ่านไป มิได้ละ
จนองค์พระ ศิวะ ว่าสงสาร
บอกทางแก้ แม้เป็น เช่นวิญญาณ
คงคาธาร ทดถอย ลอยบาปทัณฑ์

ชำระเถ้า อัฐิ อังคารไซร้
พ้นเวรไป ได้สู่ อยู่สวรรค์
มีเรื่องใหญ่ ให้ทำ ที่สำคัญ
บวงสรวงอัญเชิญมา คงคาเอย

แม้ล่วงลา ลับขัย ในสคร
องค์สมร มิ่งศรี ท่าทีเฉย
จอมบดี มีใหม่ ไม่ละเลย
ผนวชเอ่ย อ้อนวอน จรเมตตา

หลายพันปี ภคีรถ สละราชย์
ศิวะนาถ นำพร สุนทรว่า
จงเตรียมรถ รับองค์ พระคงคา
ไปคอยท่า ครานี้ หิมาลัย

ฤษีเกศ เขตเขา เจ้าอย่าช้า
ขับรถพา พระองค์ อย่าสงสัย
เรียกอนงค์ คงคา อย่าเคืองนัย
อรทัย ครรไลหนา อย่าอาวรณ์

พระแม่มิ เมินนั่น บัญชาสั่ง
กระโจนดั่ง ถั่งโถม โหมสิงขร
ศิวะเจ้า แจ่มแจ้ง แห่งบังอร
พสุธร ว่อนแตก แยกกระจาย

พระเศียรทรง สอดซับ ซึ่งคงคา
รับฤทธา เทวี รี่สลาย
พันปีเวียน วนไหล ให้แรงคลาย
ปล่อยเป็นสาย สู่เขา ที่เฝ้ารอ

มุ่งหน้ายัง อังคาร สุสานใหญ่
คงคาไหล ในรอย ล้อรถหนอ
ผ่านฤาษี พลีกรรม ลุล้ำพอ
มณฑลก่อ ก็กวาด ถูกสาดพัง

ฤาษีโกรธ โอษฐ์กลืน ผืนน้ำนั้น
กษัตริย์หวั่น ผันผ่อน อ้อนวอนหวัง
ชหนุ นิรโทษ พิโรธชัง
ปล่อยน้ำหลั่ง พรั่งพรู สองหูตน

สองลำน้ำ ล้ำไหล ไปหลุมศพ
มหรรณพ จบการ ไพศาลสนธิ์
สาครช่าง กว้างใหญ่ ให้ผู้คน
อนุชน ชื่อกล่าว อ่าวเบงกอล

ท่านศักดิ์ศรี มีแปล แลได้อ่าน
ก้มกราบกราน จารจบ นบอักษร
อ้างเรื่องราว ร้อยกรอง ของอมร
อุทาหรณ์ หนทาง ล้างบาปมา

ป่าหิมพานต์
คำว่า หิมพานต์ บางครั้งก็เรียกว่า หิมวันต์ ส่วนใหญ่พบในหนังสือวรรณคดีจำนวนมาก เช่น ไตรภูมิกถา มหาชาติเวสสันดร เป็นต้น

ป่าหิมพานต์ที่ปรากฏในเวสสันดรชาดก อยู่่ใน " กัณฑ์มหาพน " คือ
พระอัจจุตฤาษี หลงกลลวงชูชกที่บอกว่ารู้จักกับพระเวสสันดร จึงได้บอกทางให้ชูชก ไปหาพระเวสสันดร โดยผ่านภูเขาคันมาทน์ ผ่านสระมุจลินท์..... อันเป็นเส้นทางไปสู่ " ป่าหิมพานต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น