วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] อากาศคงคา...

อากาศคงคา


พระคงคา

อากาศคงคา
ของ ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา

อากาศคงคา แปลตามศัพท์คือ แม่น้ำคงคาในอากาศ หรือแม่น้ำคงคาในท้องฟ้า เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของธรรมชาติ ในทางภูมิศาสตร์หมายถึง สายสีขาวซึ่งแผ่เป็นทางยาวพาดผ่านไปในห้วงเวหาอันกว้างใหญ่ อาจแลเห็นได้บางคราวในท้องฟ้ายามที่มืดสนิท ชาวบ้านเรียกกันว่าทางช้างเผือก ซึ่งแท้ที่จริงก็คือแกแลกซี่หรือมหาสมุทรแห่งดวงดาวนับล้านๆดวง ซึ่งอยู่ไกลแสนไกลจากโลกนี้ จนมองเห็นได้แต่เพียงทางสีขาวจางๆเท่านั้นเอง ทางช้างเผือกดังกล่าวนี้ ตามความเชื่อถือของชาวภารตะโบราณที่ปรากฏในวรรณคดีสันสกฤต อาทิ มหากาพย์และปุราณระฉบับต่างๆนั้น หมายถึงสายธารอันศักดิ์สิทธิ์ในสรวงสวรรค์ซึ่งเรียกกันว่าคงคา เป็นเทวีผู้บริสุทธิ์และเป็นผู้ชำระบาปมลทินทั้งปวงให้สิ้นไป

โดยชาติกำเนิด พระคงคาเป็นธิดาองค์ใหญ่ของท้าวหิมวัต เจ้าแห่งขุนเขาหิมาลัย กับนางเมนา มีน้องสาวคือ อุมา หรือบรรพตี ผู้เป็นมเหสีของพระศิวะหรือพระอิศวรผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุด เหตุที่พระคงคาจะต้องลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อชำระบาปให้แก่มวลมนุษย์ ก็เพราะมีสาเหตุสำคัญอันบังคับให้ต้องเสด็จมา เรื่องปรากฏในมหากาพย์รามายณะ ดังนี้


พระคงคา

พระเจ้าสคร (สะ-คะ-ระ) พระราชาธิบดี องค์ที่ 37 แห่งสูรยวงศ์ ผู้ครองนคร อโยธยา มีพระราชโอรส ที่ประสูติจากพระนาง เกศินี มเหสีเอก หนึ่งองค์ มีนามว่า อัสมัญชะ และมีราชโอรสอีกหกหมื่นองค์อันประสูติจากพระนางสุมติ มเหสีรอง เจ้าชาย อัสมัญชะประพฤติองค์เหลวไหล ถูกพระราชบิดาขับไล่ออกจากพระนคร ส่วนเจ้าชายอีกหกหมื่นองค์ ก็ประพฤติชั่วทำนองเดียวกับพระเชษฐา นำความคับแค้นพระทัยให้เกิดแก่ท้าว สคร มืได้ว่างเว้น

พระเจ้า สคร กระทำพิธีแผ่ราชอาณาจักร คือพิธี อัศวเมธ ทรงเลือกม้าสำคัญมีลักษณะต้องโฉลกมาเข้าพิธีศักดิ์สิทธิ์ครบถ้วนตามกระบวนการ ยัชญะ (พิธีบวงสรวง ภาษาบาลี ว่า ยัญญ ยัญ ) แล้วทรงปล่อยม้าไป มีกองทัพจำนวนหกหมื่น ติดตามไป (คือราชโอรสหกหมื่นองค์ นั่นเอง) ปรากฏว่าม้าสำคัญวิ่งไปถึงบ้านเมืองใด เจ้าบ้านผ่านเมืองทุกแห่งก็ยอมอ่อนน้อมถวายบรรณาการเป็นเมืองขึ้นแก่พระเจ้า สคร โดยถ้วนหน้า ทำให้ได้อาณาเขตและพระราชอาณาจักรแผ่ขยายออกไปกว้างขวางเกือบสิ้นแผ่นดินโลก แต่ราชโอรสทั้งหกหมื่นเป็นคนชั่ว หาได้รักษาจารีตประเพณีไม่ ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมานั้น แม้บ้านเมืองใดยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ย่อมพ้นจากการย่ำยีของกองทัพที่ยกติดตามม้าสำคัญมา กองทัพทั้งหกหมื่นหาได้ละเว้นไม่ พากันข่มเหงเบียดเบียนบ้านเมืองต่างๆ ให้ได้รับความเดือดร้อนระส่ำระสายทุกหย่อมหญ้า ทวยเทพไม่อาจทนดูความ อธรรม คุกคามแผ่นดินโลกต่อไปได้ แม้พระธรณีเองก็สุดจะทน ต้องแปลงร่างเป็นแม่โค ขึ้นไปเฝ้า องค์พระ ปรเมศวร (ผู้เป็นใหญ่สูงสุด (ปรม+อีศวร) อีกพระนามหนึงของพระศิวะ หรือพระอิศวร) และกราบทูลร้องทุกข์


พระศิวะ

พระเป็นเจ้าทรงปลอบใจทวยเทพว่า เวลานี้ภาคหนึ่งแห่งองค์พระวิษณุ ได้ลงไปเกิดเป็น ฤษี มีชื่อว่ากบิล พระมหาฤาษี ผู้มีเนตรเป็นไฟกรด บัดนี้กำลังบำเพ็ญพรตตบะอันยิ่งยวดอยู่ในบาดาล พระมหามุนีนั้นจะเป็นผู้ลงโทษคนชั่ว ทั้งหกหมื่นนั้น



พระวิษณุ

กาลเวลาผ่านไปครบหนึ่งปี จู่ ๆ ม้าสำคัญ ก็อันตรธานไปโดยไม่มีร่องรอย


พระศิวะ พระอุมา พระพิฆเนศ


ความโกลาหลเกิดขึ้นทันที เพราะพิธีอัศวเมธ นั้น จะสัมฤทธิ์ผลก็ต่อเมื่อได้นำม้าสำคัญกลับไปสู่โรงพิธีแล้วฆ่าเสีย เมื่อม้าหายไปเช่นนี้ พิธี อัศวเมธ ก็เป็นอันไร้ผลเปล่า พระราชา สคร ทรงพิโรธมาก ส่งเจ้าชาย อังศุมัต (โอรสของอัสมัญชะ) พระนัดดา นำคำสั่งเด็ดขาดไปที่ราชโอรส ทั้งหกหมื่น ให้นำม้ากลับมาให้ได้ ไม่เช่นนั้น ให้ไปตายเสีย การค้นหาติดตามไปยังทุกที่ ทั้ง ป่าดงพงชัฏ ภูเขาสูง ห้วยหนอง คลองบึง แม่น้ำ ทุกหนทุกแห่งจนสุดสิ้นแผ่นดินโลกแล้วก็ไม่พบ เจ้าชายทั้งหกหมื่นปรึกษากันว่ายังเหลือใต้พื้นดินที่ยังไม่ได้ขุดดู บางทีม้าสำคัญอาจถูกอสูรลักพาไปยังบาดาล แล้วก็ระดมแรงขุดแผ่นดินเป็นหลุมลึกใหญ่มหึมาสุดลูกหูลูกตา และลึกลงไปก้นหลุมนั้นก็ถึงพิภพใต้ดิน อันมีชื่อว่า บาดาล

ปรากฏม้าอยู่ไม่ห่างไกลอาศรมของ พระกบิลฤษี องค์พระมุนี กำลังนั่งสมาธิ อยู่ในฌาน อันลึกยิ่ง ราชโอรสทั้งหกหมื่น กรูกันไปจับม้าสำคัญ และพากันชี้หน้า บริภาษกบิลฤษี ว่า
“ อ้ายนักพรตขี้ขโมย เจ้าดูหมิ่นเดชานุภาพของพระราชบิดาของข้า ขโมยม้าสำคัญมาซ่อนไว้ที่นี่ คิดว่าจะพ้นมือพวกข้าหรือ เสียแรงเป็นผู้ทรงศีล การกระทำนี้แสดงว่าเจ้าเป็นคนทุศีล ถ้าไม่คิดว่าเจ้าเป็นนักพรต เราจะฆ่าเสียมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ใคร ๆ อีกต่อไป”

พระกบิลฤษี บังเกิดความโกรธผุดแวบขึ้น ไม่ทันรู้สึกตนก็ลืมตาขึ้นทันที บังเกิดเป็นไฟกรดอันพึงสยดสยองพุ่งเข้าเผาผลาญราชโอรสทั้งหกหมื่น ไหม้มอดเหลือแต่โครงกระดูกและเถ้าถ่าน อังคารธาตุ กองพะเนินดังถูเขาเลากา พระกบิลมหามุนี ก็ย้ายจากสถานที่นั้นไปหาที่บำเพ็ญตบะฌาน ในที่ไกล อันเป็นสถานที่สงบสงัดไร้ผู้คนรบกวน
ฝ่ายเจ้าชาย อังศุมัต พระหลานเธอ ประจักษ์ในเหตุการณ์อันน่าสยดสยอง ก็กลับไปกราบทูลพระอัยกา

พระเจ้า สคร ทรงเศร้าเสียพระทัยยิ่งนัก ให้ติดตาม อัสมัญชะ พระราชโอรสองค์ใหญ่ที่ทรงเนรเทศ กลับคืนพระนคร ทรงมอบราชสมบัติ ให้ครอบครอง ตรัสว่า
“ เจ้าจงปกครองแว่นแคว้น ตามครรลองคลองธรรมอันควร ข้าจะออกบวช เพื่ออ้อนวอนพระมหาเทพ ให้ทรงยกความผิด ความบาปของลูกข้า หาไม่แล้วพวกเขาจะไม่ได้ไปผุดไปเกิด “

พระราชา สคร เสด็จเข้าสู่ป่า บำเพ็ญตบะอย่างเข้มงวด เพื่อความโปรดปรานของพระศิวะเป็นเจ้า เวลาผ่านไปหลายร้อยปี ในที่สุด พระมหาเทพเสด็จมาในลักษณะของพระโยเคศวร (ผู้เป็นใหญ่ในโยคะ (โยค+อีศวร) หมายถึงพระศิวะ) มีภูษาภรณ์ เป็นหนังเสือเหลือง และสวมประคำกะโหลกศีรษะของมนุษย์ ทรงกล่าวอย่างเมตตาว่า

“ดูก่อน สคร ลูกเจ้าล้วนแต่เป็นคนชั่ว สร้างแต่บาปกรรมตลอดชีวิต เวรกรรมทำให้มันต้องตายอย่างฉับพลัน แม้กระนั้นมันก็ยังจะต้องทนทรมานอยู่ต่อไปในโลกมนุษย์ แม้เหลือเพียงวิญญาณ ความผิดความบาปของมัน จะถูกชำระก็โดย กระแสธารแห่งคงคาสวรรค์อันศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น เมื่อ อัฐิและอังคาร ของมันถูกพระคงคาชำระเมื่อใด มันจึงจะพ้นเวรไป และได้ไปเกิดในสวรรค์ เจ้าจงสวดอ้อนวอนพระคงคาเถิด สักวันหนึ่งบางที เธออาจจะมาสู่โลก แต่จะเป็นเมื่อใดเวลาใด ข้าบอกเจ้าไม่ได้”



พระกฤษณะ เป็นภาคอวตารหนึ่งของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ (ขอสื่่อภาพนี้แทนพระกบิลฤาษี)

ท้าว สคร บำเพ็ญพรต กระทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญ พระคงคาช้านาน จนสิ้นอายุขัยของพระองค์ พระคงคาก็หาเสด็จมาไม่ จนราชาองค์ต่อๆมา คือ อังศุมัต สละราชสมบัติ ผนวชเป็นโยคีกระทำพิธีบวงสรวงอ้อนวอนพระคงคา สืบต่อมา ก็ยังไม่สำเร็จ ในที่สุดถึงสมัย พระเจ้า ภคีรถ สละราชสมบัติออกบำเพ็ญพรตอีกช้านานนับพันปี พระศิวะทรงเห็นพระทัยและมีความกรุณาเฉพาะ พระราชา ภคีรถ อย่างยิ่ง ทรงปรากฏพระองค์และตรัสว่า

“เอาเถิด ภคีรถ บัดนี้ความปรารถนาของเจ้าจะสำเร็จ เราจะสั่งให้พระคงคาลงมาสู่โลกมนุษย์ เจ้าจงเตรียมรถ ไว้คอยท่า ณ เชิงเขาหิมาลัย ที่ตำบลฤษีเกศ เมื่อพระคงคาเสด็จลงมาแล้ว เจ้าจงขับรถรีบตรงไปสู่หลุมศพของเจ้าชายทั้งหกหมื่นนั้น พระคงคาจะไหลตามรอยล้อรถของเจ้าไปสู่ที่หมายและจะสถิตอยู่ในโลกตลอดไปชั่วนิรันดร “

พระราชาภคีรถ รีบเสด็จไปรอยังที่พระศิวะกำหนด คอยเวลาอยู่ในกาลนั้น พระมหาเทพมีดำรัสเรียกพระคงคาเทวีมาเฝ้า มีเทวโองการบังคับให้พระคงคาลงสู่โลกมนุษย์โดยทันที
พระคงคา มิอาจขัดเทพบัญชาได้ แม้จะทรงขัดเคืองเพียงไรก็ตาม ทรงกระโจนลงจากสวรรค์ มุ่งสู่แผ่นดินด้วยความรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ ซึ่งโดยลักษณาการ อันรุนแรงเช่นนั้น เป็นสิ่งแน่ว่าแผ่นดินโลกย่อมแตกกระจายเป็น ภัสมธุลี ชั่วพริบตาเดียว พระศิวะทรงทราบวาระน้ำจิตแห่งพระเทวีว่าคิดจะทำอะไร พระศิวะ ทรงยื่นพระเศียรออกรองรับสายคงคาอันแรงจัด และทรงบังคับด้วยเทวานุภาพให้พระคงคาไหลวนเวียนอยู่บนพระเศียร ซึ่งเปรียบประดุจป่าไม้อันไพศาล ที่กีดกันกระแสน้ำป่าให้ไหลลัดเลาะซอกแซกไปมาจนสิ้นแรง กลายเป็นกระแสธารเล็กธารน้อยไหลเอื่อย พระคงคาทรงถูกบังคับให้ไหลวนเวียนอยู่บนพระเศียรของพระศิวะอยู่นานนับพันปีจนอ่อนกำลังสิ้นทิฐิมานะ เมื่อพระคงคาสิ้นฤทธิ์ พระเป็นเจ้าก็ปล่อยให้พระคงคาไหลลงสู่เบื้องล่าง ณ เชิงเขาหิมาลัย พระเจ้า ภคีรถ รอคอยอยู่แล้ว ก็ออกรถขับแล่นไปโดยเร็ว มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออกอันมีสุสานแห่งเจ้าชายทั้งหกหมื่นเป็นจุดหมาย ( และในสารคดี ตามรอยพระพุทธเจ้า พระคงคาขนาดอ่อนแรงลงแล้ว น่ากลัวมาก ตอนยังไม่ลงที่ราบ ไหลในช่องเขาหิมาลัยตอนไหลลงเหว เสียงก้องสนั่น ถั่งโถมน่าพรั่นพรึง )


พระกฤษณะ ผู้ทรงเป็นสารถึให้พระอรชุนในมหาภารตะยุทธ์


พระคงคาไหลตามรอยล้อของพระเจ้าภคีรถ ไปได้ครึ่งทางก็พบอุปสรรค เส้นทางที่ไหลผ่านนั้น ล่วงล้ำเข้าไปในเขต มณฑลพิธีของพระฤษี ชื่อ ชหนุ ทำให้ข้าวของใน มณฑลพิธี ถูกกระแสน้ำพัดกระเจิงไป พระฤษี ชหนุ โกรธ ยิ่งนัก จึงลงโทษ อ้าปากกลืนแม่น้ำคงคาเข้าไปในท้องจนหมด พระเจ้าภคีรถต้องอ้อนวอนขอโทษพระฤษีอยู่ช้านาน พระฤษี ชหนุให้อภัย ปล่อยแม่น้ำคงคา ออกจากหู เป็นสองสาย และไหลไปตามทางจนถึงหลุมใหญ่มหึมาอันเป็นที่ตั้งแห่งกองอัฐิและอังคารของเจ้าชายทั้งหกหมื่นองค์ ณ ที่นั้น พระคงคาก็ไหลเข้าท่วมหลุมจนกลายเป็นห้วงน้ำกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา มีชื่อเรียกขานในกาลต่อมาว่า มหาสาคร ซึ่งในปัจจุบัน คืออ่าวเบงกอล นั่นเอง

(ข้อสังเกต พระราชาภคีรถ เป็นที่โปรดปราน ของ ทั้งพระศิวะ และ ชหนุ ฤษี)

โดยเหตุที่ท้าวสคร เป็นคนแรกที่สวดอ้อนวอนพระคงคาลงมาจากสวรรค์
แม่น้ำ คงคา ที่ไหลอยู่รอบพิภพจึงได้ชื่อว่าสาคร แปลว่าอันเกี่ยวข้อง
ด้วยพระเจ้า สคร มีความหมายในปัจจุบันว่ามหาสมุทรหรือทะเล

โดยเหตุที่พระอิศวรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสายธารอากาศคงคาในพระโมลี
(มวยผม ) ของพระองค์ จึงได้พระนามว่า “ คงคาธร “ ผู้ทรงไว้ซึ่งแม่น้ำ
คงคา

โดยเหตุที่พระคงคาไหลวนบนพระโมลีของพระศิวะ พระคงคาจึงได้ชื่อว่า
“ศิวเศขรา” แปลว่าปิ่นของพระศิวะ

โดยเหตุที่ถูกกลืนลงไปอยู่ในท้องของฤษีชหนุในสมัยหนึ่ง พระคงคาจึงได้
นามว่า “ชาหนวี “ แปลว่าลูกสาวของฤษีชหนุ

โดยเหตุที่ไหลตามล้อรถพระเจ้าภคีรถ ไปเป็นเส้นทางยาวจนถึงหลุมอัฐิ
หรือมหาสาครนั่น พระคงคาจึงได้นามว่า “ภาคีรถี “ แปลว่าลูกสาวของ
ภคีรถ

ฉายานามอื่น ๆ อีกคือ

ภัทรโสมา ผู้เป็นดั่งน้ำโสมอันประเสริฐ
เทวภูติ ผู้มีกำเนิดในสวรรค์
ขาปคา ผู้ไหลมาจากท้องฟ้า
หรเศขรา ผู้เป็นปิ่นของพระศิวะ
มันทากินี ผู้ไหลเอื่อย
วิพุธตฏินี แม่น้ำของเทวดา
ตริปถคา ผู้มีเส้นทางไหลไปเป็น 3ทาง (สวรรค์ โลก นรก )

แม้พระคงคาจะเป็นเทวีผู้ถือกันว่าสาวบริสุทธิ์
ในมหากาพย์ภารตะมีการกล่าวถึงพระคงคาว่าต่อมาพระคงคาเป็นชายาพระเจ้าศานตนุราชาแห่งจันทรวงศ์ ครองราชย์เมืองหัสตินาปุระ มีโอรสคือเจ้าชายภีษมะแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเการพ ในมหาสงครามมหาภารตะ และก่อนมีเจ้าชายภีษมะ พระคงคามีโอรส มาก่อน แล้ว 7 องค์ แต่ทรงโยนพระโอรส จมน้ำตายหมด จนองค์ ที่ 8 คือภีษมะ
ภาพประกอบเรื่องทั้งหมดมาจาก อินเทอร์เนต

ประวัติของศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา

ด้านการศึกษาจาก โรงเรียน กรุงเทพคริสเตียน อักษรศาสตร์บัณฑิต MA และ Ph.D ทางบูรพาศึกษา ( Oriental Studies ) วิชาเอกภาษาสันสกฤต จากมหาวิทยาลัยเพ็นชิลวาเนีย ( นักเรียนทุน ก.พ.)

สอนวิชาภาษาไทย ปริญาตรี-โท-เอก สอนภาษาบาลี- สันสกฤต ชั้นปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้า ฯ เป็นราชบัณฑิต ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยกรอง สำนักศิลปกรรม 2529

ได้รับพระราชทานพระเกี้ยวทองคำ ประจำปี 2534 ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นเกียรติยศ ได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็นบุคคลดีเด่นในการอนุรักษ์ภาษาและวรรณกรรมไทย

ปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ปี 2543

ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ได้แปลและเรียบเรียง ภารตะนิยาย โดยนำเรื่องมาจากคัมภีร์ต่าง ๆ หลายคัมภีร์ ภาษาสันสกฤต ปรากฤต และทมิฬ ในคัมภีร์พระเวท มหากาพย์รามายณะ มหากาพย์มหาภารตะ และคัมภีร์ปุราณะ ต่าง ๆ 18 คัมภีร์ (ไม่รวมคัมภีร์ปุราณะฉบับย่อย ๆ อีก 18 คัมภีร์) และที่ปรากฏในหนังสือชุมนุมนิทานของอินเดีย เช่น กถาสริตสาคร ปัญจตันตระ สิงสาสนทวาตริงศิกา และอื่นๆ ภารตะนิยาย เป็นเรื่องสั้น นิยายสั้นๆ เรียกกันว่า อุปาขยาน รวมนิยายเรื่องสั้นทั้งหมด 100 เรื่อง นอกจากนี้ ยังแปลและเรียบเรียง เรื่องยาว เรื่อง วิกรมจริต หรือสิงหาสนทวาตริงศติกา และ เวตาลปัญจวิงศติ หรือนิทานเวตาลฉบับสมบูรณ์ 25 เรื่อง ซึ่งเคยมีการแปลภาษาไทย ไว้ 10 เรื่อง (ทรงนิพนธ์ โดย น.ม.ส พระราชวงวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) และฉบับภาษาอังกฤษ ของ Richard Burton ซึ่งพิมพ์แพร่หลายไปทั่วโลก มีเพียง 11 เรื่อง

นอกจากนี้ ยังมีการประพันธ์ ศักดิ์ศรีนิพนธ์ ศักดิ์ศรีวรรณกรรม และ วรรณวิทยา
วรรณคดีไทยโบราณนับตั้งแต่ยุคสุโขทัยลงมา ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดี อินเดีย เป็นอันมาก การได้รู้ต้นเรื่องในวรรณคดีดังกล่าว จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและซาบซึ้งวรรณคดีไทยยิ่งขึ้น

ผู้เขียน ยกย่องและชื่นชมท่านมาก นิยาย เรื่องสั้น ทั้ง 100 เรื่อง เปรียบเสมือนอัญมณีที่ล้ำค่าของวงวรรณกรรม เคยอ่านมาเมื่อเกือบสิบปีแล้ว ท่านเคยเขียนอธิบายว่านิยายเหล่านั้นเป็นเค้าโครงเรื่องจากแหล่งที่มาต่าง ๆ ทั้งจากคัมภีร์ ต่าง ๆ และมหากาพย์ข้างต้น ท่าน แปลและประพันธ์ด้วยถ้อยคำสำนวนที่สละสลวยงดงาม จากการเขียนประพันธ์ร้อยแก้วก็ไพเราะเหมือนดังเป็นบทร้อยกรอง เช่นเรื่อง พระมนู และอื่น ๆ เป็นต้น ผู้เขียนได้คัดลอกเรื่อง อากาศคงคา ตามต้นฉบับเดิมของท่านมาเผยแพร่ ณ ที่นี้ด้วยจิตเจตนาเพื่อเป็นการเชิดชู เกียรติคุณ ของท่านศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ที่ผู้เขียน เคารพ ยกย่อง นับถือ และชื่นชม ท่าน มาเนิ่นนาน

ผู้เขียน ทราบมาจากลูกศิษย์ระดับปริญญาโทท่านหนึ่งของท่านว่า บรรดาศักดิ์ที่ท่านได้รับพระราชทาน เทียบเท่า พระยาโต๊ะทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น