วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] เพลงยาวกรุงศรีอยุธยา...

เพลงยาวสมัยกรุงศรีอยุธยา


สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จรับราชทูตฝรั่งเศส
ภาพจาก fotoartspace.com
ขออนุญาตนำภาพมาประกอบบทความ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททอง มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะทรงมีพระชนมายุ 25 พรรษา



www.suanpakkad.com
เจ้าพระยาโกษาปานถวายสาส์นให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส

เพลงยาวสมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อ พระเจ้าปราสาททอง สวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระเชษฐาของสมเด็จพระนารายณ์ได้สืบต่อราชสมบัติ
สมเด็จพระนารายณ์ได้ร่วมมือกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอาในการชิงราชสมบัติจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย เมื่อสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระศรีสุธรรมราชาทรงเสน่หาในเจ้าฟ้าศรีสุวรรณ หรืออีกพระนามว่า พระราชกัลยาณี ซึ่งเป็นพระภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ และเป็นช่องทางให้สมเด็จพระนารายณ์ ทำรัฐประหารพระศรีสุธรรมราชา โดยมีพระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์ ร่วมมือ


ภาพวาดสมเด็จพระนารายณ์โดยชาวฝรั่งเศส
www.suanpakkad.com/h3-t.html

กาลต่อมาสมเด็จพระนารายณ์โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมืองลพบุรี เป็นราชธานี ที่ 2 และโปรดไปประทับทุก ๆ ปี เป็นเวลานาน ภายหลังทรงประชวรหนักอยู่ที่เมืองลพบุรี ในวันสิ้นพระชนม์พระเพทราชาซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการขณะเสด็จไปประทับที่วังลพบุรี และหลวงสรศักดิ์ ได้ยึดอำนาจโดยกำจัดพระปีย์ พระโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ประหารชีวิต และได้ส่งกำลังไปควบคุมทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่ป้อมบางกอก คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ในปัจจุบัน
สมเด็จพระนารายณ์ ทรงโทมนัสพระทัยอย่างแรงกล้า ใน กบฏสองคนพ่อลูก ถึงกับทรงสาปแช่งเอาไว้ ....(โสภาค สุวรรณ)
และ เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี
พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นมหาราช มีคุณงามความดี นานัปการย่อมมีความศักดิ์สิทธิ์ในพระองค์เอง

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่าว่าเมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชกุมาร"
ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เล่าว่าเมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์
พระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหารย์อยู่มาก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพราหมณ์ เมื่อเทียบกับกษัตริย์องค์ก่อนๆ ด้วยเหตุนี้เองพระราชประวัติของพระองค์จึงกล่าวถึงปาฏิหารย์มหัศจรรย์ตามลำดับ คือ

เมื่อพระนารายณ์ทรงมีพระชนม์ได้ 5 พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย
เมื่อพระนารายณ์ทรงมีพระชนม์ได้ 9 พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี


www.bloggang.com
ราชทูตฝรั่งเศสเข้าเผ้าทูลเหล้าถวายพระราชสาส์น

เมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม พระองค์ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง นับเป็นราชวงศ์ที่ 5 แห่งกรุงศรีอยุธยา และถือว่าเป็๋นราชวงศ์ที่ต้องคำสาป
พระเพทราชานี้ เป็นบุตรชายของพระนม จึงได้รับการเลี้ยงดูคู่กันมากับพระนารายณ์ จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนารายณ์มาก และยังเป็นพี่ชายท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกของพระนารายณ์
( คล้ายคลึงกับบุเรงนองและมังตราในผู้ชนะสิบทิศของยาขอบ)

เมื่อพระเพทราชาครองราชย์ ในภายหลังเมื่อเกิดประชวรหนักก็ลือกันว่าทรงโทมนัสถึงสิ้นพระชนม์เพราะเหตุที่หลวงสรศักดิ์ก่อขึ้นเช่นกัน (โสภาค สุวรรณ) หลวงสรศักดิ์ ลอบประหารเจ้าพระขวัญ(กรมพระราชวังบวร) พระราชโอรสจากพระมเสีฝ่ายขวากรมหลวงโยธาทิพ (ภคินีของพระนารายณ์) และ พระตรัสน้อย หนีไปบวชพระ พระตรัสน้อยเป็นพระราชโอรสจากมเหสีฝ่ายซ้ายกรมหลวงโยธาเทพ (พระธิดาของพระนารายณ์) พระเพทราชาจึงตั้งพระนัดดา เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ ให้สืบราชสมบัติ แต่เมื่อพระองค์สวรรคต หลวงสรศักดิ์ก็ได้สืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าเสือ



เมืองลพบุรี ราชธานีที่ 2 ของ สมเด็จพระนารายณ์

พระเจ้าเสือ คือหลวงสรศักดิ์ (นามเดิม มะเดื่อ)
หลวงสรศักดิ์นั้นเป็นบุตรบุญธรรมพระเพทราชา ซึ่งมีที่กล่าวเป็น 2 ทางคือ เป็นบุตรจริงของพระเพทราชาเกิดกับหญิงชาวบ้าน กับอีกทางคือ เชื่อว่าเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับพระสนมลับพระองค์หนึ่ง นางเป็นพระราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ เมื่อตั้งครรภ์ จึงได้พระราชทานแก่พระเพทราชา เพื่อปิดบังความจริง

ต่อมาหลวงสรศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสรรเพชญหรือพระสุริเยนทราธิบดี หรือที่เรียกกันว่าพระพุทธเจ้าเสือ ก็เกิดเหตุอาเภท
มีอสนีบาตตกต้องต้องยอดมณฑปติดเป็นเพลิงไหม้ เครื่องบนโทรมลงมาต้องเศียรพระพุทธรูป หักตกลงมาบนพื้น ต้องสร้างใหม่ ยกพระเศียรพระพุทธรูปขึ้นต่อกับพระองค์ (โสภาค สุวรรณ)

ต่อมาก็มีคำพยากรณ์ พูดต่อ ๆ กันมา ว่ากันเป็นเพลงยาวในสมัยกรุงศรีอยุธยา



ข้อความของเพลงยาวก็คือ

จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา
เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนา มหาดิเรกอันเลิศล้น
เป็นที่ปรากฎรจนา สรรเสิญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรีสีมามณฑล จบสกลลูกค้าวานิช
ทุกประเทศสิบสองภาษา ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคคนิษฐ์
ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิศม์ ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์
ฝ่ายองค์พระบรมราชา ครองขันธสีมาเป็นสุข
ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก จึงอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดี
เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์ในใต้หล้า เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี
ทุกนิกรนรชนมนตรี คหบดีพราหมณพฤฒา
ประดุจดั่งศาลาอาศัย ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันสาขา
ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาร
ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ อาจปราบไพรีทุกทิศาน
ทุกประเทศเขตขันธบันดาล แต่งเครื่องบรรณาการมานอบนบ
กรุงศรีอยุธยานั้นสมบูรณ์ เพิ่มพูนด้วยพระเกียรติยศขจรจบ
อุดมบรมสุขทั้งแผ่นภพ จนคำรบศักราชได้สองพัน
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์ มิได้ทรง ทศพิธราชธรรม์
จึงเกิดเข็ญ เป็นมหัศจรรย์ สิบหกประการ

คือเดือนดาว ดินฟ้า จะอาเพท อุบัติเหตุ เกิดทั่ว ทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล เกิดนิมิตพิศดารทุกบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปสู่ไพร
พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้ อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม
ในลักษณะทำนายไว้บ่ห่อนผิด เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด เกิดวิบัตินานาทั่วสากล
เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปบุรุษจะแพ้แก่ทรชน มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูนัก จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า เพราะจันฑาลมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์ เพราะสมัครสมาคมซึ่งมารยา
พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา
อาสัจจะเลื่องลือชา พระธรรมาจะตกลึกลับ
ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ จะสาปสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์ สัปบุรุษจะอับซึ่งน้ำใจ
ทั้งอายุศม์จะถอยเคลื่อนจากเดือนปี ประเวณีจะแปรปรวนตามวิสัย
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป ผลหมากรากไม้จะถอยรส
ทั้งแพทย์พรรณว่านยาก็อาเพศ เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด
จวงจันทน์พรรณไม้อันหอมรส จะถอยถดไปตามประเพณี
ทั้งเข้าก็จะยากหมากจะแพง สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศราชธานี จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์ จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ
ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก เวียงวังจะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงห์สาระสัตว์เนื้อเบื้อ นั้นจะหลงเหลือในแผ่นดิน
ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย จะสาปสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาลจะมาผลาญแผ่นดิน จะสูญสิ้นการณรงค์สงคราม
กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม
ไปจนคำรบปีเดือนคืนยาม จะสิ้นนามศักราชห้าพัน
กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์ นับวันจะเสื่อมสูญ เอยฯ

สันนิษฐานว่าเพลงยาวนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่นักวิชาการยังไม่อาจสรุปแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง แม้ว่าในตอนท้ายของบทกลอนได้บันทึกกำกับไว้ว่า "พระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนาย..." หากว่าเป็นจริงตามนั้น "พระนารายณ์" ก็หมายถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วน"นพบุรี"คือเมืองลพบุรี




มีอีก 1 บทคือที่น่าจะเป็นคำพยากรณ์ของพระเจ้าเสือ เป็นบทร้อยแก้วและมีใจความสั้นกว่าดังนี้

น้ำในแม่น้ำและคลองจะแดงเป็นโลหิต เมฆฟ้าจะแดงเป็นแสงไฟ แผ่นดินจะไหวสะเทือน ยักษ์และผีป่าจะเข้าเมือง
เสื้อเมืองทรงเมืองจะเหลีกเลี่ยง ฤดูหนาวจะเป็นฤดูร้อน โรคภัยจะเบียดเบียนสัตว์และมนุษย์

โอชาว่านยาผลไม้จะถอยรส เทพยดารักษาพระศาสนาจะรักษาคนพาล พวกอยู่ในศีลในธรรมจะถอยยศ
มิตรจะกลับเป็นศัตรู เมียจะคิดทรยศต่อผัว คนต่ำตระกูล จะทำคนตระกูลสูงให้เสื่อมถอย ศิษย์จะสู้ครู พวกพาลจะมีอำนาจ

พวกปราชญ์จะตกต่ำ น้ำเต้าจะจม กระเบื้องจะลอย ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน มนุษย์จะมีอายุสั้นพลันตาย ข้าวยากหมากแพง ผีเปรตปนอยู่กับคน สมณชีพราหมณ์จะร้อนใจ เกิดโจรผู้ร้ายแย่งชิงชุกชุม ที่ลุ่มจะกลับดอน ที่ดอนจะกลับลุ่ม พระพุทธศาสนาจะเศร้าหมอง คนสนุกเฮฮาได้ครองสมบัติ คนต่างชาติต่างภาษาจะเข้ามาเป็นเจ้านาย

มีผู้สันนิษฐานว่าพระเจ้าเสือทรงประพันธ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในปฏิบัติการจิตวิทยาทางการเมืองในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ต่อจากรัชสมัยของพระเจ้าเสือมีกษัตริย์ในราชวงศ์พลูหลวงสืบต่อราชวงศ์ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าเสือ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าเสือ เป็นพระอนุชาสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์)พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
และหมดสิ้นราชวงศ์พลูหลวง โดยเสียพระนครศรีอยุธยาให้แก่พม่า เมื่อ 13 เมษายน 2310 ไม่ถึง ร้อยปี จากแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย และ นวนิยายสายโลหิตของโสภาคสุวรรณ

ในสมัยผู้เขียนเป็นเด็ก จะมีนิตยสารสำหรับเด็ก ๆ คือ หนังสือวิทยาสาร และหนังสือชัยพฤกษ์ จะมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีภาพวาดประกอบบางครั้งก็เป็นภาพวาดของคุณเหม เวชกร คุณพ่อรับเป็นสมาชิกให้เด็ก ๆ ในบ้านอ่าน แต่น่าเสียดายที่ในตอนเด็กๆ ยังไม่รู้คุณค่าของหนังสือ ไม่ได้เก็บหนังสือเหล่านั้นไว้ให้ดี ภายหลังเมื่อมีการย้ายบ้าน จึงมืได้ขนย้ายมาด้วย พอมาถึงวันนี้ต้องใช้คำว่าเสียดายใจแทบขาดทีเดียว ยังจำภาพวาดที่สมเด็จพระนารายณ์บรรทมประชวรพระพักตร์เศร้าหมองเสียพระทัย ขณะเรียกหาพระปีย์...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น