วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชลวิถี.....ที่บางกรูด 5.......

ชลวิถี..ที่บางกรูด 5..


ขอนไม่ที่ใช้ทอดบนเลน มักเป็นต้นตาลหรือมะพร้าว หรือปาล์ม

การจับสัตว์น้ำด้วยวิธีอื่นๆ

การงม กุ้ง ปู ปลา ในแม่น้ำ
วิธีหาจับสัตว์น้ำที่บ้านบางกรูดยังมีอีกวิธีที่ใช้เพียงมือเปล่า แต่ต้องเป็นคนที่มีความถนัดเป็นส่วนตัวจริงๆ คือการลงน้ำ ดำน้ำแล้วงมจับปลาและกุ้งก้ามกรามซึ่งมาหลบซ่อนตัวตามโพรงไม้หรือซอกหลืบที่มี

ที่บ้านพลอยโพยมนั้น เวลาที่น้ำแห้งมากๆชายฝั่งเลนจะทอดตัวเลยจากบันไดท่าน้ำออกไปไกลฝั่งพอสมควร บ้านริมฝั่งแม่น้ำต้องมีการทอดขอนไม้ไว้บนผืนเลนสำหรับใช้ขึ้นลงฝั่งน้ำ มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถใช้การสัญจรทางน้ำในแม่น้ำได้เลยในเวลาน้ำลงแห้งขอด ขอนไม้นิยมใช้ต้นตาลหรือต้นมะพร้าวทั้งต้นและตัดยอดที่มีใบออกให้หมด ที่บ้านจะใช้ขอนคู่ คือเป็นต้นตาลสองต้นวางคู่กันบนเลน ดังนั้นในระหว่างขอนไม้ 2 ต้น จะมีช่องว่าง เป็นที่ให้มีปลาบ้าง กุ้งก้ามกรามบ้างเข้ามาหลบอาศัยอยู่เป็นประจำ อีกทั้งบางครั้งหากขอนยาวไม่พอการลงสุดๆของน้ำลง จะต้องวางขอนอีกต้นต่อความยาวกัน ทำให้มีรอยต่อของช่วงขอน 2 ต้นนี้อีกด้วย พี่น้องผู้ชายในบ้านจะลงไปงมกุ้งปลาที่ซอกขอนเหล่านี้ ในเวลาน้ำลดลงยังไม่แห้งจนทำให้ขอนโผล่พ้นน้ำทอดตัวอยู่บนเลน ใช้การงมด้วยสองมือเปล่า นอกจากนี้ขอนไม้ที่ทิ้งแช่น้ำแช่โคลนนานๆเข้าก็จะผุกร่อนที่ปลายขอน เกิดเป็นโพรงลึกเข้าไปในตัวขอนด้วย ซึ่งโพรงของขอนนี้เป็นเป้าหมายที่สำคัญของการลงไปงมกุ้งก้ามกรามกันเลยทีเดียวและส่วนใหญ่ไม่ค่อยผิดหวังกับเป้าหมายนี้ ซึ่งบางครั้งในโพรงสุดปลายขอนนี้ก็มีปูทะเลด้วย ( ถ้ามีปูทะเล จะไม่มีกุ้งก้ามกราม)

ส่วนปลาที่ได้จากซอกขอนไม้นี้ เช่น ปลาบู่ ปลาตะกรับ เป็นต้น



เฝือกไม้ไผ่

การปิดคลอง
เป็นการหากุ้งปลาโดยในเวลาน้ำขึ้นนำเฝือกไปปักเลนกั้นปากคลองส่วนตัวของแต่ละบ้าน หากเป็นคลองสาธารณะนิยมใช้ตาข่ายกางกั้นขวางปากคลอง โดยต้องเหยียบปลายตาข่ายให้จมมิดเลนอย่างแน่นหนามีขอเกี่ยวติดพื้นให้มั่นใจ ส่วนปลายด้านบนของตาข่ายมีการปักไม้ไผ่ยึดตาข่ายให้สูงพ้นน้ำเพื่อกันกุ้งปลากระโดดหนี และสำหรับให้ผู้สัญจรในคลองปลดตาข่ายจากไม้ไผ่ลงเรี่ยพื้นน้ำ นำเรือสัญจรไปมาได้ แล้วดึงตาข่ายคล้องไม้ไผ่ไว้ดังเดิม

เมื่อน้ำลงต้องไปที่ปลายคลอง ลงลุยโคลนไล่จับกุ้งปลามาจนถึงหน้าปากคลองด้วยมือและสวิง
บ้านเรือนส่วนใหญ่มักมีลำคลองทั้งขุดเอง และของสาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำ ทั้งเพื่อการเพาะปลูก อุปโภค บริโภค ที่ปลายคลองเป็นที่เก็บเรือและนำเรือขึ้นบกมาซ่อมแซม ยาเรือเป็นต้น
สัตว์น้ำที่ได้ คือสัตว์น้ำตามชายฝั่งในช่วงเวลาของน้ำจืดหรือน้ำกร่อย


ชายเลนที่อาศัยของปลาเขือ ปลาตีน


การล้วงจับปลาเขือในรู
มีปลาบางประเภท ขุดรูเป็นที่อยู่อาศัยตามพื้นเลนชายฝั่งแม่น้ำ เมื่อน้ำลดปลาก็จะกลับเข้ารู เช่นปลาเขือ แต่ปลาบางชนิดพอน้ำลดแห้ง ก็ออกจากรูมาคลานเพ่นพ่านเที่ยวเล่นบนพื้นโคลนเลน เช่น ปลาตีน หรือปลากระจัง ปลาจุมพรวดเป็นต้น (ซึ่งมักมีต้นใบพายให้เหล่าปลาตีนขุดรูอยู่รอบๆด้วย)
ทำให้ชาวบ้านมีวิธีหาปลาที่อยู่ในรู ด้วยการล้วงจับปลาด้วยมือเปล่าในการจับปลาเขือ ส่วนเครือญาติทั้งหลายของปลาตีน ซึ่งคำท้องถิ่นของชาวบางกรูดนั้นเรียกปลาตีนกันว่า ปลาเที้ยว ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของชาวบ้าน เลยรอดตัวไม่ถูกจับ ปลาเที้ยวก็เลยได้ชูหน้าตามู่ทู่ของตนเอง ปีนป่ายชายฝั่งเลนให้เราเห็นทุกวัน ปลาตีนจะอยู่บนฝั่งเลน ส่วนปลาเขืออยู่บนเลนที่ลาดลงไปจากฝั่งเลน

การล้วงปลาเขือที่มีการขุดรูอยู่ในเลนแปลกประหลาดกว่าปลาอื่นๆ ชาวบ้านพบว่าปลาเขืออาศัยอยู่ในรูที่ใต้พื้นเลนเป็นโพรงโยงเชื่อมถึงกันได้บางที่โยงใยกันหลายโพรงหลายรูด้วยซ้ำไป เมื่อน้ำลดจะเห็น รู ปลาเขือตามผิวเลน เด็กๆจะเตรียมเชือกที่หาได้ง่ายๆใกล้มือใกล้ตัว เช่น กรีดทางจากออกมาเป็นเส้นๆ เอาพกติดตัวไว้ หรืออาจใช้ตอกในบ้านก็ได้ (ตอกที่ใช้มัดข้าวต้มมัด แทนเชือกกก เน้นเชือกที่สามารถเกี่ยวร้อย ตัวปลากลับบ้านได้นั่นเอง)
พร้อมแล้วเดินลุยลงไปในเลนมุ่งไปที่รูปลา ใช้มือหนึ่งล้วงลงไปตามรูที่พบ น้ำในรูที่ล้วงลงไปจะไปผุดล้นที่รูปลาเขือที่อยู่ใกล้ๆกันอีกรู น้ำล้นที่รูไหนก็เอามืออีกมือล้วงไปที่รูนั้น ควานมือทั้งสองที่ยังค้างอยู่ในรู ให้เข้าหากันพบกัน ก็จะจับตัวปลาเขือได้หากปลาเขืออยู่บริเวณทั้งสองรูนี้ แต่ในบางครั้งก็ไม่ได้ตัวปลา ให้สังเกตว่าน้ำไปผุดล้นที่ปากรูไหนที่ใกล้ๆกันอีก ดึงมือขึ้นมาข้างหนึ่งเปลี่ยนมือล้วงไล่ลงไปที่รูที่มีน้ำล้นใหม่นั้น ควานมือในรูเลนให้มาหามือที่ยังค้างในรูปลาอีกครั้ง
ถ้าพบตัวปลาก็จับปลาไว้ให้มั่น (ตัวปลาเขือทั้งเล็กและลื่นมาก จึงต้องจับให้มั่นจริงๆ ) ดึงมือและตัวปลาออกจากรู พ้นเลนแล้วจึงเอาเชือกสายทางจากร้อยเหงือกปลาเขือที่มีอยู่สองข้าง เลือกเอาข้างใดข้างหนึ่งก็แล้วกัน ลอดเชือกทะลุออกมาทางปากปลาเขือ ร้อยเป็นพวงไว้ บางครั้งเด็กๆ ต้องยักย้ายแขนทั้งสองแขน จ้วงซ้ายที จ้วงขวาที ลงในรูเลนอยู่พัลวัน พัลเก หลายครั้งทีเดียวกว่าจะได้ตัวปลา แต่บางที แค่ครั้งสองครั้ง ( หมายถึง แขนซ้ายที แขนขวาที ) ก็ได้ตัวปลามาแล้วเหมือนกันก็มี

คิดไปคิดมาแล้ว เด็กๆ ผู้ชายที่ลงไปล้วงจับปลาเขือเพราะนึกสนุกด้วยมากกว่า เพราะอันที่จริงเอาเวลาไปหาวิธีจับสัตว์น้ำอื่นๆ มีอีกตั้งมากมายหลายวิธี เพียงแต่วิธีการของการล้วงปลาเขือแปลกประหลาดพิสดารกว่าวิธีอื่นๆเท่านั้นเอง เพราะเป้าหมายที่เป็น ปลาเขือ นั้นเป็นปลาตัวเล็กๆเท่านั้นเอง ปลาเขือ เป็นปลาที่ ไม่ได้ขึ้นเมนูที่จะเข้าในครัวของบ้าน เด็กๆ ที่หาปลาเขือได้ ต้องไปล้อมวงกันก่อไฟจัดการ ต้ม ปิ้งหรือย่าง กันเองข้างล่างไม่ขึ้นบ้าน เด็กผู้หญิงถ้าอยู่บนบ้านจะไม่ได้ลิ้มลองรสชาติปลาเขือแน่นอน แม้แต่พลอยโพยมเองก็ไม่เคยลิ้มชิมรสปลาเขือเลยสักที

ผู้อ่าน ลองสร้างภาพตามคำบอกเล่าดูเอานะคะว่าคนลงไปล้วงปลาเขือสนุกสนานเพียงไร ในความคิดผิดๆของเด็กในสมัยนั้น
นึกไปนึกมา เหมือนเป็นมนุษย์ประหลาด หน้าตา เนื้อตัว มีแต่ดินโคลนกระจัดกระจายเต็มหน้าเต็มตัว ( ไม่ใส่เสื้อเพียงแต่นุ่งกางเกงขาสั้นตัวเดียวสำหรับเด็กเล็ก หรือนุ่งผ้าขาวม้าแบบที่เรียกว่าถกเขมรหรือขัดเขมรแต่ดึงชายผ้าขาวม้าร่นถึงโคนขาสำหรับเด็กโต ) หิ้วพวงปลาเขือตัวน้อยเกี่ยวร้อยดิ้นไปมา ปลาเขือทำปากพะงาบ พะงาบ โหด...โหด...ระดับน้องๆองคุลิมาล เลยทีเดียว
โคลนและเลนเวลาแห้งจะรัดผิวเนื้อเหมือนแผลตกสะเก็ดแต่เป็นสะเก็ดใหญ่ๆ ถ้าใช้เวลาหาปลาเขือนานๆ เด็กๆ ก็ต้องลุยลงไปล้างตัวในแม่น้ำเสียที

เลนจะมีลักษณะข้นกว่าโคลน ชายเลนมีลักษณะคล้ายหาดทรายของชายทะเล
ปลาเขือมีเกล็ดขนาดเล็กละเอียดเป็นปลาอยู่ในวงศ์ปลาบู่ แต่คนละวงศ์ย่อยกับปลาตีน และปลาจุมพรวด


ปลาหมอไทย หรือปลาหมอนา

หลุมโจน
เป็นอีกวิธีที่ใช้การล่อหลอกสัตว์น้ำ เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ธรรมชาติขอองเหล่าสัตว์น้ำเองมาเป็นกลยุทธ์ จับสัตว์น้ำ

การทำนาในสมัยก่อนนี้ เป็นการทำนาดำ ต้องใช้น้ำมากในการหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนา ชาวนาจะต้องมีการใช้ระหัดวิดน้ำ จากคูคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเข้าไปในท้องนาเป็นเนือง ๆ การวิดน้ำเข้าผืนนาแต่ละครั้งจะมีบรรดาลูกสัตว์น้ำต่างๆเช่น ลูกปลาหลงติดเข้ามาในผืนนา และเจริญเติบโตได้ดี เพราะท้องนานับเป็นแหล่งที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ทั้งเมล็ดข้าว หนอน แมลง ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ เป็นต้น ปลาบ่มฟักตัวอยู่ในท้องนาเป็นเวลานานพอที่จะสืบเชื้อสายลูกหลานปลาในนาไว้อีก หากเดินตามคันนาหน้าทำนาในสมัยก่อนก็จะพบทั้งกบ เขียด อึ่งอ่าง ปูนาดำ รวมทั้งพบ ลูกครอกปลาช่อนว่ายเป็นฝูง ปลาหมอไทย หรือปลาหมอนา ฮุบเหยื่อ ให้ได้ยินเสียงโผง โผง ในท้องนาเป็นของธรรมดา

เมื่อใกล้จะได้เวลาเกี่ยวข้าว ชาวนาต้องปล่อยน้ำออกจากท้องนา บรรดาประชากรปลาทั้งหลายก็ไหลตามน้ำกลับคืนสู่ห้วงน้ำใหญ่ในลำคลองส่งผ่านต่อไปยังลำแม่น้ำ การปล่อยน้ำออกจากผืนนานี้ยังพอมีแอ่งน้ำขนาดเล็กที่ยังมีน้ำขังอยู่ในท้องนา ปลาและสัตว์น้ำ ที่ยังหลงเหลือตกค้างอยู่ในผืนนาก็จะไปอออยู่รวมกันเกิดเป็น ปลาตกคลัก ตามแอ่งน้ำ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวหมดนา ผืนนาก็จะค่อยๆ แห้งผากเพราะไม่มีต้นข้าวปกคลุมแสงแดดให้อีกต่อไป สัญชาติญาณเอาตัวรอดของปลาทำให้มีปลาพยายามกระเสือกกระสนดิ้นรนไปหาแอ่งน้ำใหม่ที่มีน้ำมากกว่าเดิม

ในเวลากลางคืนไม่มีแสงแดดแผดเผา เหล่าปลาตกคลัก ก็พยายามเคลื่อนตัวออกจากแอ่งน้ำที่น้ำค่อยๆ แห้งเหือดลงทุกวัน เพื่อไปแสวงหาแหล่งที่มีน้ำแหล่งใหม่

ชาวนา รู้ดีว่าเป็นโอกาสดีของพวกเขาเช่นกัน ชาวนาจะออกมาทำหลุมโจนดักปลา โดยขุดหลุมลึกพอประมาณ (คำนวณว่าเมื่อปลาตกลงไปในหลุมแล้ว คลานขึ้นมาไม่ได้) ใกล้ๆแอ่งน้ำนั้นเอง อาจมีการหลอกล่อเชิญชวนโดยการทำร่องเป็นช่องทางออกมาจากแอ่งไปสู่หลุมโจนนี้ บางครั้งยังขุดเอาเลนมาทาตามร่อง และปากหลุมก้นหลุมอีกด้วย กลิ่นดินโคลนนี้ล่อใจปลาให้คืบคลานเข้ามาหา ในที่สุดปลาก็จะตกลงไปในหลุมโจน
บางครั้ง ก็มีการใช้ไหบ้างโอ่งเล็กๆบ้าง ฝังไว้ เมื่อปลาตกลงไปในหลุม ก็จะลงไปอยู่ในของใช้เหล่านี้ เป็นความสะดวกของเจ้าของหลุมโจนในการการนำปลาขึ้นมาจากหลุมฝัง
ทุกเช้าก็มาสำรวจดูหลุมโจนนำผลงานที่ประสบผลสำเร็จกลับบ้าน

ชาวบ้านอื่นก็มีการทำหลุมโจนใกล้ๆแหล่งน้ำ หนอง บึง ร่องทางน้ำที่เชื่อมต่อลงแม่น้ำ ลำคลองคล้ายๆชาวนา มักทำกันในฤดูแล้ง ระยะน้ำลด
ปลาที่ได้ มีปลาดุก ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาหมอไทย เป็นต้น




ปลาหมอนา (ปลาหมอไทย) มักกลิ้งเกลือกเถือกไถตัวเองไปกับพื้นนาจากแหล่งเดิมเพื่อไปแสวงหาแหล่งน้ำแหล่งใหม่ ชาวบ้านจะเรียกอาการนี้ว่า ปลาหมอแถกเหงือก (แถก แปลว่า ถ่างออก, กางออก) จะเห็นเหงือกปลาหมอ ถ่างออกมาจริงๆในช่วงเถือกไถตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น