วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ข้ามเวลา..กราบแทบบาทพระพุทธองค์..พระพุทธองค์ยังคงอยู่

ข้ามเวลา..กราบแทบบาทพระพุทธองค์




พลอยโพยมหาหนังสือเล่มนี้พบเพราะรู้สึกสะกิดใจกับหน้าปกว่าเคยเห็นมาก่อน เพราะคุณมณฑาทิพย์ คุณวัฒนา ได้ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ พระพี่ชายคนโตของพลอยโพยม เมื่อหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์เสร็จ ซึ่งคุณมณฑาทิพย์และชมรมเพื่อนบุญเพื่อนธรรม จะจัดส่งหนังสือธรรมะมาให้ตั้งแต่พระพี่ชายท่านยังเป็นฆราวาสอยู่ เป็นประจำเพราะการได้เข้าปฏิบัติธรรมมอบตัวเป็นศิษย์ของพระวิปัสสนาจารย์ พระเชมเย สยาดอ และบางครั้งพี่ชายก็ร่วมบุญจัดพิมพ์หนังสือธรรมะกับชมรมเพื่อนบุญเพื่อนธรรม




พลอยโพยมจึงอยากคัดลอก บทสุดท้ายของหนังสือ ข้ามเวลา กราบแทบบาทพระพุทธองค์ เป็นความตั้งใจอยากเผยแพร่หนังสืออันทรงคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ ให้ผู้เข้ามาอ่านบทความในบล็อกนี้อ่านและไปหาซื้อมาไว้อ่านบทอื่น ๆ ซึ่งล้วนทรงคุณค่าในทุกบทของหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการคีย์ด้วยมือทุกตัวอักษร แต่พลอยโพยมก็ตั้งมั่นที่จะคีย์ พิสูจน์ความเป็น นี่คือ..ชาวอักษรศาสตร์ ของคุณมณฑาทิพย์ คุณวัฒนา

พระพุทธองค์ยังคงอยู่




นานแล้วที่ฉันไม่มีโอกาสกลับมาที่นี้ในยามเช้าตรู่เช่นนี้ ฟ้าเพิ่งจะเรื่อรำไรเมื่อไม่กี่นาทีมานี้เอง ละไอหมอกยังอ้อยอิ่งอยู่รอบ ๆ กาย อากาศเช้าวันนี้เย็นสบายจนน่าจะพาให้เหล่านกกาหลับเพลินกระมัง จึงยังไม่พร่ำเพรียกเรียกหากันอย่างเคย






มุมสงบสงัดตรงนี้แม้จะมิได้มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ เป็นเพียงสวนไม้ร่มรื่นเล็ก ๆ ใกล้ ๆ อาคารปฏิบัติธรรมของศูนย์ ฯ แห่งนี้ แต่ผู้จัดทำก็ได้ใส่ใจสรรหาพันธุ์ไม้ดอก ไม้ใบ มาตกแต่งเอาไว้รายรอบต้นมหาโพธิ์เก่าแก่ ที่แผ่กิ่งก้านสาขาเหนือลานโพธิ์กว้าง ไม่ห่างจากพระพุทธปฏิมาที่ประทับยืนโดดเด่นเป็นสง่าบนยกพื้นหินขนาดย่อม แวดล้อมด้วยไม้พุ่มเขียวขจี


ฉันคุกเข่าลงเบื้องหน้าพระพุทธปฏิมา แหงนดูพระพักตร์แห่งความกรุณา รัศมีแห่งพระเมตตาฉายฉานจนใจปิติอิ่มเอิบ ซึมซับความสงบสงัดลงสู่เบื้องลึกของห้องใจ ฉันบรรจงก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์บูชาพระศรีรัตนตรัยด้วยดวงใจที่เบิกบานอย่างยิ่ง ปิติอย่างยิ่ง เป็นสุขอย่างยิ่ง


ลำแสงแรก ๆ แห่งอรุณรุ่งเริ่มทอดผ่านกิ่งก้านที่โชกชุ่มด้วยหยาดน้ำค้าง ผ่านเบื้องพระปฤษฎางค์แห่งองค์พระพุทธปฏิมา ก่อเกิดเป็นฉากงามล้ำค่าราวภาพวาดวิจิตรที่จิตรกรรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีตไว้ฝีมือ ลมเช้าพัดทักทายร่มพฤกษ์แผ่ว ๆ ให้โยกไหวไปมา ก่อให้ภาพนั้นมีชีวิตชีวา ราวหมู่พฤกษาปราศรัยทักทายกันและกัน บางคาบบางคราก็สลับกับเสียงหยาดน้ำฟ้าที่ยังค้างคาอยู่ตามคาคบไม้ พัดพร่างพรูสู่พื้นหญ้าราวกับสายฝนโปรยปรายให้ผืนดินชุ่มฉ่ำ






แปลกที่วันนี้ฟ้ากระจ่างช้ากว่าที่เคย ความขมุกขมัวยังโรยตัวอยู่โดยรอบเหมือนจะหยุดเวลาเอาไว้ตรงนี้ หมอกบาง ๆ ที่ยังคงอ้อยอิ่งไม่หนีหาย เมื่อแต่งแต้มด้วยแสงแห่งอรุณที่ทอดลำผ่านช่องว่างแห่งไม้ใบ ตรงนั้นที ตรงนี้ที เกิดเป็นมิติล้ำลึกชวนฉงนฉงาย


อะไรบางอย่างร่วงหล่นลงมาบนบ่าซ้ายเบา ๆ เหมือนใครสะกิด เรียกฉันคืนกลับมาจากความดื่มด่ำตรงหน้า ฉันก้มลงมองสิ่งที่ตกลงมาค้างอยู่บนตัก..ดอกสาละนั่นเอง






เหนือพระพุทธปฏิมาตรงนี้คือต้นสาละคู่หนึ่งที่กำลังเบ่งบานชูช่ออวดโฉม ฉันยิ้มกับต้นสาละคู่นั้น ขอโทษที่ลืมทักทาย แล้วช้อนดอกสาละนั้นขึ้น ตั้งใจจะน้อมถวายบูชาพระพุทธปฏิมา พลันก็ใจกระตุกวูบ...นึกย้อนไปถึงอรุณรุ่งที่ดอกสาละร่วงพรู แบบนี้ ณ สาลวโนทยาน ในครั้งพุทธกาลนานโพ้น


ความสงบสงัดในใจเมื่อครู่ พลันเปลี่ยนเป็นความเหงาเงียบ ฉันขนลุกยะเยือกกับความรู้สึกว้าเหว่ที่จู่โจมเกาะกุมหัวใจเข้ามาอย่างกะทันหัน เกือบ ๒,๕๕๕ ปี แล้วสินะ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ใต้ต้นสาละคู่เช่นนี้ที่สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้กรุงกุสินารา


นับแต่นั้นมา เราก็ได้แต่กราบนมัสการพระพุทธปฏิมาแทนพระพุทธองค์ ฉันก้มลงมองดอกสาละในมืออีกครั้ง เกสรละเอียดราวไหมทองที่ล้อมกรอบด้วยกลีบดอกหนาแดงระเรื่อยังชุ่มน้ำค้าง จู่ ๆ ฉันก็นึกไปถึงน้ำตาแห่งพระอานนท์พุทธอนุชาในค่ำคืนแห่งความสูญเสียนั้น..


ค่ำคืนนั้น ดอกสาละก็ยังคงโปรยปรายเช่นวันนี้พระพุทธองค์ทรงอาพาธหนักและจักเสด็จดับขันธปรินิพพานในปัจฉิมยามของคืนเพ็ญนั้นแล้ว พระชนมายุ ๘๐ พรรษา ที่ผ่านความตรากตรำผจญความทุกข์ยากมากว่า ๕๐ ปี นับแต่ออกจากราชนิเวศน์






ทรงพระดำเนินไปทั่วทุกทิศานุทิศด้วยพระบาทเปล่า ไร้ราชรถ ไร้คานหาม พระกระยาหารที่เสวยก็สุดแล้วแต่จะบิณฑบาตมาได้ ประณีตบ้าง สกปรกบ้าง บางพรรษาต้องเสวยแต่ข้าวเหนียวนึ่งตากแห้งสำหรับม้าทั้ง ๓ เดือน ด้วยชาวเมืองประสบภัยแร้นแค้น จนพระภิกษุมิสามารถบิณฑบาตอาหารได้ บ่อยครั้งที่ประชวรจนต้องประทับพักผ่อนใต้ร่มไพรพฤกษ์ตามมีตามเกิด ยามเจ็บป่วยก็อาศัยธรรมโอสถรักษา พระวรกายที่ลำบากตรากตรำมาจึงเป็นดั่งที่ตรัสแก่พระอานนท์ในครั้งหนึ่งว่า....







"อานนท์เอย...จงดูเอาเถิด
สรีระแห่งตถาคตบัดนี้มีชราลักษณะปรากฏอย่างชัดเจน
ฟันหัก ผมหงอก หนังหดเหี่ยวหย่อนยาน มีอาการทรุดโทรมให้เห็นอย่างเด่นชัด
เหมือนเกวียนที่ชำรุดแล้วชำรุดอีก
ได้อาศัยแต่ไม้ไผ่มาซ่อมไว้ ผูกกระหนาบคาบค้ำไว้
จะยืนนานไปได้สักเท่าใด
การแตกสลายย่อมมาถึงเข้าสักวันหนึ่ง " (๑)

(๑) บทที่ ๒๒ ในหนังสือ พระอานนท์พุทธอนุชา โดย อาจารย์วศิน อินทสระ





พรรษาสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์ นอกจากอาการปวดพระปฤษฎางค์ที่เป็นพระโรคประจำพระองค์ซึ่งคงรุนแรงขึ้นตามวัย แม้พระอาการประชวรหนักด้วยโรคปักขันทิกาพาธ คือพระบังคนเป็นโลหิต อันเป็นพระโรคจากบุพกรรมที่ตามติดมา ยังความทุกข์ทรมานแก่พระพุทธวรกายอย่างสาหัส มีครั้งหนึ่งที่รุนแรงถึงกับใกล้จะเสด็จปรินิพพาน หากแต่ได้ทรงใช้สมาธิอิทธิบาทภาวนาขับไล่อาพาธนั้นด้วยขันติ ด้วยเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาอันควรที่จะเสด็จปรินิพพาน


ถึงแม้จะรู้ดีว่า โรคาที่เบียดเบียนนั้นบีบคั้นได้เพียงแต่พระวรกาย หาได้รุกรานพระทัยอันผ่องแผ้วบริสุทธิ์แห่งพระพุทธองค์ได้ก็ตาม แต่หากฉันเป็นพระอานนท์พุทธอนุชา ที่เฝ้าติดตามอุปัฏฐากดูแลเป็นเงาแห่งพระพุทธองค์มาเนิ่นนาน ฉันคงจะรวดร้าวใจปานใด เมื่อเห็นพระบรมศาสดาที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจต้องทุกข์ทรมานถึงปานนั้น โดยที่เราไม่สามารถแบ่งปันบรรเทาคามทุกข์ทรมานนั้นได้เลย






และเพียงไม่นานต่อมา พระพุทธองค์ก็ทรงปลงอายุสังขาร อันเปรียบดั่งอัสนีบาตฟาดเปรี้ยงลงกลางดวงใจ สามเดือนต่อมาอันอาพาธที่เบียดเบียนบีฑา (๒ )องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งรุมเร้ารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จึงหาได้มีแม้สักนาทีเดียวที่หัวใจของพระพุทธอุปัฏฐากจะไม่ถูกมีดกรีดเฉือน


(๒ บีฑา หมายถึง เบียดเบียน รบกวน )

แม้พระอาการประชวรจะหนักหนาเพียงใด แต่พระพุทธเมตตายังหาได้เสื่อมถอย อรุณรุ่งสุดท้ายที่จะเสด็จจากไป พระพุทธองก็ยังทรงพระดำเนินเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี อันผู้คนที่ได้เฝ้าแหนต่างก็โหยไห้ร่ำหาอาลัย ด้วยรู้ว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่จะได้เห็น ได้เฝ้า ได้ฟังพระพุทธโอวาท ดวงใจจะขาด ประหนึ่งบิดาบังเกิดเกล้าจะจากลาลับหาย




เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จออกจากนครเวสาลี ทรงประทับยืนอยู่ ณ ประตูเมืองเป็นครู่ ผินพระพักตร์ดูนครเวสาลีอันมั่งคั่งเรืองรุ่งดุจสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ปานประหนึ่งพญาคชสารเหลียวดูไพรพฤกษ์ อันเป็นปัจฉิมทัศนาเมื่อจะถูกพาไปสู่นครเป็นราชพาหนะ







" อานนท์เอย
การมองดูเวสาลีครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของตถาคตแล้ว
ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมีการเริ่มต้นแล้ว ย่อมมีการสิ้นสุด
ใครเล่าจะหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องเป็น มิให้เป็นได้..."







ดอกสาละในอุ้งมือของฉันดูพร่าเลือนด้วยความสะเทือนใจ แม้จะเคยฟังธรรมมาเสมอ ๆ ว่า คนเราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจเป็นธรรมดา ชีวิตมีความพลัดพรากเป็นที่สุด ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติที่ต้องเสื่อมไป แตกดับไป สลายไป แต่เมื่อจะต้องรวมเอาพระพุทธองค์เข้าไว้ในกฎเกณฑ์นั้นด้วย มันก็ยากยิ่งที่จะทำใจให้ยอมรับได้ พระอานนท์พุทธอนุชาในยามนั้น ก็เป็นเพียงพระโสดาบัน ยังหาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ย่อมต้องระทมทุกข์โศกศัลย์ขวัญหายเป็นแน่


" ภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไปอยู่เสียที่ใดหรือ"



พระเมตตาที่ท่วมท้นของพระบรมศาสดาหาผู้ใดจะเสมอเหมือน แม้ในยามที่พระโรคาพาธบีบคั้นแรงกล้า พระพละกำลังอ่อนล้าลงทุกที จนต้องบรรทมหลับพระเนตรมาครู่ใหญ่ แต่เมื่อลืมพระเนตรมาไม่พบพระอานนท์ ก็ทรงแปลกพระทัยเพราะมิใช่วิสัยที่ทรงคุ้นเคยดี พระพุทธอุปัฏฐากนั้นไม่เคยที่จะละทิ้งพระองค์ไปไหนโดยเฉพาะในยามประชวรกล้าเช่นนี้ นอกจากจะมีเรื่องใดผิดปกติ จึงตรัสถามถึงพระอานนท์ด้วยความห่วงใย



" ไปแอบยืนร้องไห้อยู่ที่ประตูพระวิหาร พระเจ้าข้า "

พระอรหันตสาวกที่เผ้าอยู่ ณ ที่นั้นทูลตอบเบา ๆ

" ไปตามอานนท์มานี่เถิด"






ขณะนั้นเอง พระอานนท์คงกำลังโศกาดูร ด้วยพระพุทธองค์ผู้เปรียบดั่งดวงตะวันแห่งชีวิตกำลังจะลาลับ แม้จะมีอายุ ๘๐ ปี เท่า ๆ กับพระพุทธองค์ ด้วยเป็นสหชาติกัน แต่เพราะคุ้นเคยกับการเป็นผู้ติดตามดั่งเงา จึงยึดพระพุทธองค์ไว้ดั่งร่มโพธิ์ทองที่อบอุ่น ปลอดภัย


อีกทั้งยังได้รับพระกรุณาสั่งสอนอบรมอยู่เสมอ จนรู้สึกเหมือนยังเป็นเด็กน้อยอันพี่เลี้ยงผู้เมตตากำลังจะพลัดพรากจากไป ปล่อยทิ้งไว้ให้เผชิญโลกอยู่เดียวดาย เสมือนมัจจุราชมารมากระชากดวงใจให้ปลิดปลิวออกไปจากร่าง ตัวชา หมดสิ้นกำลังใด ๆ ร่างกายเหมือนไร้หัวใจ จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไรได้... ในเมื่อความสุขที่เคยมีกำลังจะสูญสลายไปตลอดกาล


เมื่อหวนกลับมาเข้าเฝ้าด้วยน้ำตายังชุ่มสองนัยน์เนตร พระบรมศาสดาทรงพระกรุณาปลอบว่า





" อานนท์เอย อย่าคร่ำครวญนักเลย ตถาคตเคยกล่าวไว้แล้วมิใช่หรือว่า บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรยั่งยืนถาวรไปได้ทั้งในโลกนี้และโลกไหน ๆ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปในที่สุดเป็นธรรมดา จะโศกาอาดูรไปไยให้ป่วยการหรือ อานนท์ การเศร้าโศกคร่ำครวญย่อมไม่อาจหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องแตกดับ มิให้แตกดับได้ "


"ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดวงตะวันของชีวิต ข้าพระองค์ทุ่มเทเที่ยวติดตามประดุจเงา ต่อแต่นี้ไป ข้าพระองค์จะพึงติดตามผู้ใดเล่า จะตั้งน้ำใช้น้ำเสวยเพื่อผู้ใด จะปัดกวาดเสนาสนะที่ประทับเพื่อผู้ใด ซ้ำร้าย ข้าพระองค์ก็ยังไม่หมดสิ้นอาสวะกิเลศเป็นแต่เพียงพระอริยบุคคลชั้นต้น พระองค์มาด่วนเสด็จปรินิพพาน แล้วใครเล่าจะเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ ข้าพระองค์คงอยู่อย่างว้าเหว่และเดียวดายไม่เหลือความสุขในชีวิตอีกเลย"


ทูลตอบได้เพียงเท่านั้น น้ำตาของพระพุทธอนุชาก็คงจะพรั่งพรูจนทูลต่อไปอีกไม่ได้ "พระอานนท์ได้แต่ซบพักตร์ลงเบื้องพระบาทพระบรมศาสดา พลันก็ได้ยินพระสุรเสียงนุ่มนวลปลอบปละโลมดั่งน้ำทิพย์ชโลมใจมาว่า





"อานนท์ เธอเป็นผู้มีบารมีธรรมที่ได้สั่งสมมามากแล้ว อย่าเศร้าโศกไปเลย กิจอันใดที่พึงทำแก่ตถาคต เธอได้ทำกิจนั้นอย่างสมบูรณ์ ด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาอันประเสริฐยิ่งแล้ว จงประกอบความเพียรเถิดอานนท์ เมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว เธอจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในไม่ช้า อานนท์เอย..."



" "ความสุขที่เธอเคยมีจากการได้พบ ได้ช่วยเหลืออุปัฏฐากตถาคต
ยังหาใช่ความสุขที่แท้จริงหรอกนะ
จงพากเพียรให้บรรลุธรรมเถิดอานนท์
เมื่อนั้น เธอจะได้พบความสุขที่แท้จริงแห่งตถาคต "



"ขอพระองค์ทรงพิจารณาอีกสักครั้งเถิด กุสินาราเป็นเพียงนครเล็ก ๆ หาได้สมพระเกียรติแห่งพระบรมศาสดาผู้เป็นดวงตาของโลก ขอพระองค์ทรงเปลี่ยนพระทัยไปปรินิพพานที่นครใหญ่ เช่นราชคฤห์หรือสาวัตถี อันยิ่งใหญ่ควรค่าแห่งพระบารมีด้วยเถิดพระเจ้าข้า"


" อานนท์อย่ากล่าวอย่างนั้นเลย ตถาคตตั้งใจให้ชีวิตเป็นแบบอย่าง เราต้องการให้ชีวิตนี้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ตถาคตอุบัติแล้วเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน เมื่ออุบัติมาอยู่ในโลกนี้ เราเกิดแล้วในป่านามว่าลุมพินีวัน เมื่อตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราก็บรรลุแล้วในป่าตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยสาวกเพียง ๕ คน เราก็ตั้งลงแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแห่งเรา เราก็ควรปรินิพพานในป่าเช่นเดียวกัน"( ๓ )
(๓ บทที่ ๒๔ จากหนังสือ พระอานนท์พุทธอนุชา โดยอาจารย์วศิน อินทสระ )






"อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว
เธอทั้งหลายอาจจะคิดว่า บัดนี้พวกเธอไม่มีศาสดาแล้ว
จะพึงว้าเหว่ไร้ที่พึ่ง


อานนท์เอย..พึงประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
ธรรมวินัยอันใดที่เราตถาคตได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว
ขอให้ธรรมวินัยอันนั้นจงเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเราตถาคต
เธอทั้งหลายจงมีธรรมวินัยเป็นที่พึ่ง
อย่าได้มีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย "







ขณะนั้นดวงจันทราทอแสงนวลผ่านกิ่งก้านแห่งต้นสาละลงมาต้องพระวรกายแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้บรรทมเหยียดในท่าสีหไสยา ราวจะลูบไล้ปลอบประโลมให้ทรงหายประชวร แม้จะทรงเจริญพระชนมายุถึง ๘๐ พรรษา ทั้งยังทรงเหน็ดเหนื่อยบอบบางด้วยพระโรคาพาธที่บีบคั้นรุนแรงมาตลอดช่วงสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ แต่พระฉวีในค่ำคืนนี้กลับผุดผ่องยิ่งนัก เปล่งปลั่งด้วยรัศมีราวกับทาบทาด้วยทองคำ พระอานนท์ระลึกได้ถึงพระดำรัสที่เคยบอกกล่าวแก่ตนว่า



. " อานนท์เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าที่เป็นอย่างนี้ คือคราวจะตรัสรู้ครั้งหนึ่งและก่อนที่จะปรินิพพานอีกครั้งหนึ่ง ผิวพรรณแห่งตถาคตย่อมปรากฏงดงาม ประดุจรัศมีแห่งสุริยาเมื่อแรกอรุณและจวนจะอัสดง "( ๔ )
(๔ บทที่ ๒๕ จากหนังสือ พระอานนท์พุทธอนุชา โดยอาจารย์วศิน อินทสระ )





บัดนี้ยามสุดท้ายแห่งราตรีใกล้เข้ามาทุกขณะ ทั่วบริเวณปรินิพพานมณฑลคงจะเงียบสงัด พระภิกษุสาวกและพุทธบริษัทที่มาประชุมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ณ ที่นั้น คงจะใจจดใจจ่อรอฟังพระพุทธดำรัสที่แผ่วลงทุกที ทุกคนต่างตระหนักดีว่านี่คือครั้งสุดท้ายแล้วที่ตนจะมีโอกาสได้ฟังพระพุทธโอวาทอันประเสริฐยิ่งเช่นนี้ จากนี้ไปโลกจะวิเวกวังเวงเงียบเชียบ มืดมน เย็นยะเยือก ด้วยดวงตะวันแห่งชีวิตจะลาลับไร้รุ่งอรุณหน้าอีกต่อไป ตนจะไม่ได้ยินพระสุรเสียงอันประเสริฐที่เปี่ยมด้วยความเมตตาปรานีเช่นนี้อีกแล้ว



"ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดสงสัยเรื่องพระพุทธ พรธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือปฏิปทาใด ๆ ก็จงถามเสียในบัดนี้ เธอทั้งหลายจะได้ไม่เสียใจภายหลังว่า มาอยู่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดาแล้วมิได้ถามข้อสงสัยแห่งตน "


เมื่อไม่มีคำถามใดอีก..พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมีพระกรุณาประทานปัจฉิมโอวาท เป็นพระพุทธดำรัสสุดท้ายว่า


" ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว
เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า
สิ่งทั้งปวงมีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด" (๕)


(๕ มหาปรินิพพานสูตร ในพระสุตตันตปิฎก (เล่ม ๒) ทีฆนิกาย มหาวงศ์)





ปัจฉิมยามแล้ว พระบรมศาสดาบรรทมนิ่ง สงบ พระเนตรหลับสนิท ท้องนภายามนี้ใสกระจ่างไร้หมู่เมฆ จันทร์เพ็ญยังเด่นกระจ่างค้างอยู่ใกล้ขอบฟ้า ถึงกระนั้นแสงนวลที่ทอดผ่านแมกไม้ลงมา ณ ปรินิพพานมณฑลกลับมัวสลัวลง ราวระทมโหยหาโศกาดูรด้วยอาลัยในพระผู้เป็นดั่งร่มโพธิ์ทองของทวยเทพเทวาและมนุษย์ยามนี้ ทุกดวงจิตเหมือนถูกคมมีดกรีดเฉือนและท่วมท้นด้วยน้ำตา มีก็แต่เพียงพระอรหันตสาวกทั้งมวลเท่านั้น ที่ยังคงสงบอยู่ด้วยความปลงธรรมสังเวช

พลันมหาปฐพีก็มิอาจทานทนอยู่ได้ บันดลบันดาลให้เกิดกัมปนาทหวั่นไหว มหาสมุทรเกิดระลอกคลื่นใหญ่กระหน่ำซัดสาดปานจะถล่มทลาย ผืนแผ่นดินกลืนกินทุกชีวิต ท้องฟ้านภากาศก็พลันมืดมิดครืนครั่นสนั่นก้อง ครวญคร่ำร่ำร้องปริเวทนา ยังให้ฝูงวิหคนกกาและสัตว์ป่าขวัญหายกระเจิง ณ ขณะนั้นเองที่พระอนุรุทธเถระ ผู้ได้รับยกย่องจากพระผู้มีพระภาคว่าเป็นเลิศทางทิพยจักษุ ได้ให้สัญญาณเบา ๆ แก่พระอานนท์ว่า

" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว"

"น้ำตาของฉันหยดลงต้องดอกสาละในมือ ความเย็นยะเยียบวูบลงสู่ขั้วหัวใจ เหลียวมองรอบกาย เลยอรุณรุ่งไปนานแล้ว แดดเช้าขับไล่ละไอหมอกมัวจนสลายไป เหลือไว้เพียงหยาดน้ำฟ้าที่ค้างคาอยู่ตามใบไม้และยอดหญ้าอีกเพียงเล็กน้อย สะท้อนล้อแสงตะวันดูแวววาวราวประดับตกแต่งด้วยแก้วมณี แต่เพียงชั้วครู่เดียว ก็ระเหยหายไปในความว่างเปล่ารอบกาย "

ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้ว .. ก็ต้องดับไป.. สลายไป...

เพ็ญเดือน ๖ นี้มิใช่หรือ ที่เจ้าชายพระองค์น้อยผู้เลิศด้วย มหาปุริสลักษณะ (๖)ทรงพระนามว่า "สิทธัตถะะราชกุมาร" ประสูติมาสู่ร่มเศวตฉัตรแห่งราชสกุลศากยวงศ์อันบริสุทธิ์ ทรงได้รับพยากรณ์ว่าหากครองราชย์ก็จะเป็นพระมหาจักรพรรดิผู้เกริกเกียรติไกรเหนือชาวโลก แต่หากทรงออกผนวชก็จะตรัสรู้พระสัมโพธิญาณอันยิ่งใหญ่ เป็นพระพุทธเจ้า

(๖ ลักษณะ ๓๒ ประการที่บ่งบอกให้รู้ว่า ผู้ที่เกิดมานั้นจะได้เป็นมหาบุรุษที่ยิ่งใหญ่)





คำทำนายนี้ ทวยเทพย่อมรู้ มหาพรหมย่อมเห็น ว่ามีเพียงหนทางเดียวที่พระผู้มีมหากรุณาล้นฟ้าปานฉะนี้ เพื่อประโยชน์สุขแก่ สรรพสัตว์ ด้วยหนทางนั้นมิใช่หรือที่ทรงเลือกดำเนินมาแล้วถึง ๔ อสงไขยกับแสนกับป


และคืนเพ็ญเดือน ๖ นี้อีกเช่นกัน ที่แสงแห่งพุทธิปํญญาเจิดจรัสฃัชวาลตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงมีทัศนาการหยั่งลึกในพระอริยสัจธรรม อันนำผู้ประจักษ์แล้วข้ามพ้นภัยแห่งวัฏสงสาร ยังความปรีดาปราโมทย์แซ่ซ้องกึกก้องทั่วจักวาล






๔๕ ปี ที่รัศมีแห่งปัญญาเปล่งประกายโชติช่วงชัชวาลจากพระบรมศาสดา โปรดเหล่าทวยเทพเทวดา พรหมา มนุษย์ และอมนุษย์มากมายนับไม่ถ้วน ให้ข้ามฝั่งจากห้วงทุกข์อันมืดมิด ไปสู่ความสันติสุขแห่งพระนิพพาน


แม้จะทรงเป็นครูผู้ประเสริฐสุดของเทวดาและมนุษย์ อันหามีผู้ใดเปรียบได้ ทั้งยังทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของผู้คนมากมายทั่วทุกทิศานุทิศที่รอนแรมมาเพียงเพื่อได้เฝ้า ได้ฟังพุทธโอวาท ได้เห็นพระพักตร์ ก็จักมีความสุขที่สุดในชีวิต แต่พระพุทธองค์ก็หาได้ทรงละทิ้งวิหารธรรมอันสงบสงัด ทรงดำเนินชีวิตเรียบง่ายเป็นแบบอย่างแก่ผู้คนนับแสนนับล้าน ให้เร่งทำความเพียร ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท







วนปฺปคุมฺเพ ยถา ผุสฺสิตคฺเค
คิมฺหานมาเส ปฐมสฺมิ คิมฺเห
ตถูปมํ ธมฺมวรํ อเทสยิ
นิพฺพานคามี ปรมํ หิตาย
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ




พุ่มไม้ในป่าที่แตกยอดอ่อนในเดือนต้นแห่งคิมหันตฤดู มีความงามฉันใด
พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมให้ถึงพระนิพพาน
เพื่อประโยชน์สูงสุด มีความงามฉันนั้น
ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี (๗)

(๗ จากรัตนปริตร ฉบับแปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง)





เพ็ญเดือน ๖ อีกเช่นกัน ที่ได้พรากเอาพระบรมศาสดาผู้เลิศด้วยความการุญไปจากชาวโลก แม้คืนนั้นจะผ่านมาแล้วถึง ๒,๕๕๕ ปี หากเมื่อหวนคิดถึงพระพุทธปรินิพพานคราใด ใจก็ไหวยะเยือกทุกครั้ง



ฉันเคยสงสัยว่า พระอานนท์ท่านมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร หลังจากพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านจะเศร้าโศกปานใด ด้วยเคยเป็นดั่งเงาแห่งพระพุทธองค์มิเคยห่าง ท่านจะรอนแรมต่อไปเพียงลำพังอย่างอ้างว้าง เงียบเหงา เปล่าดาย กระนั้นหรือ..จึงได้เพียรค้นหาตำรับตำรามาอ่าน เพื่อสานเรื่องราวหลังพระพุทธปรินิพพานที่สงสัยให้กระจ่าง




ผิดคาด เมื่อจัดงานพระบรมศพอย่างเกริกเกียรติเกรียงไกรเยี่ยงพระบรมศพแห่งพระมหาจักรพรรดิ ณ มกุฎพันธนเจดีย์ (๘) ตลอดจนพิธีแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่กษัตริย์ผู้ครองนครทั้ง ๘ ผ่านพ้นไปโดยเรียบร้อย ก่อนจะเกิดสงครามใหญ่..

(๘ มกุฎพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า )





จากนั้นพระพุทธอนุชาก็ระงับความโศกเศร้า น้อมเอาพระพุทธโอวาทแห่งองค์พระศาสดามาประคับประคองใจ ทั้งยังต้องทำหน้าที่ปลอบโยนพุทธศาสนิกชนทั่วทุกหนแห่ง ที่ท่านประสบพบเห็นในขณะเดินทางต่อไป ให้คลายโศกด้วยพระธรรมเทศนาอันกล่าวถึงพระไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แล้วท่านก็ใช้เวลาว่างที่เพิ่มขึ้นหลังจากพระพุทธปรินิพพานปลีกวิเวกเข้าสู่ความสงบสงัดมุ่งมั่นทำความเพียร โดยระลึกถึงพระพุทธดำรัสในค่ำคืนสุดท้ายเป็นเครื่องบำรุงใจ




" อานนท์เอย..จงประกอบความเพียรเถิด
เมื่อตถาตคล่วงลับไปแล้ว
เธอจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในไม่ช้า "







เพียง ๓ เดือน หลังพระพุทธปรินิพพาน พระอานนท์ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ที่เบญจคีรีนคร ในคืนก่อนหน้าที่จะเริ่มงานปฐมสังคายนาพระสูตรและพระธรรมวินัย ซึ่งมีพระอรหันตสาวกเข้าร่วมประชุมสังคายนาทั้งสิ้น ๕๐๐ รูป โดยมีพระมหากัสสปะพระเถระผู้ใหญ่เป็นองค์ประธาน

พระพุทธอนุชาได้ประจักษ์แล้วถึงสัจธรรมในพระพุทธดำรัสที่ว่า

"ความสุขที่เธอเคยมีจากการได้พบ ได้ช่วยเหลืออุปัฏฐากตถาคต ยังหาใช่ความสุขที่แท้จริงไม่หรอกนะ อานนท์ จงพากเพียรให้บรรลุธรรมเถิด เมื่อนั้น เธอจะได้ความสุขที่แท้จริงแห่งตถาคต"

และในพระพุทธดำรัสที่พระพุทธองค์เคยตรัสตักเตือนและสั่งสอนพระวักกลิว่า

"ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต" (๙)
(๙ วักกลิสูตร- พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารสาร เล่ม ๓ )





แม้ดวงตะวันแห่งชีวิตของสรรพสัตว์ได้ดับไปแล้ว แต่ประทีปดวงน้อย ๆ แห่งพระอรหันตสาวกทั้งหลายยังคงอยู่ และยังคงส่องแสงเรืองรองเพื่อผดุงพระพุทธธรรมให้สืบทอดต่อ ๆ กันมา ถึง ๒,๖๐๐ ปี มิเคยขาดสาย

ความแช่มชื่นเบิกบานคืนกลับมาสู่เรือนใจของฉันอีกครั้ง โลกทึมทึบเมื่อสักครู่สว่างไสวขึ้นมาในบัดดล จนฉันรับรู้ถึงเสียงนกน้อยใหญ่ร้องเรียกเพรียกหากัน เสียงปลาว่ายวนผลุบโผล่ในสระน้ำใกล้ ๆ เสียงลมพัดทักทายไพรพฤกษา ฉันประคองดอกสาละในมือน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาเปี่ยมล้นว่า


ตราบใดที่พระพุทธธรรมยังคงเรืองรองเจิดจรัส เราจะยังคงได้พบพระพุทธองค์อยู่เสมอ และความสุขแห่งพระพุทธองค์จะยังคงอยู่คู่โลกตลอดไป...





ในหัวใจที่พอเพียง ผ่องแผ้ว และเบิกบาน ในน้ำ ฟ้า เม็ดฝน ในชีวิต ในไพรพฤกษ์ ดอกไม้ ใบหญ้า ในแสงเทียนเล่มน้อย ในโคมชวาลาดวงใหญ่ ในดวงจันทรา และดวงตะวัน พระธรรมคำสอนแห่งพระพุทธองค์นั้น คือสัจธรรมที่แฝงอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ทุกลมหายใจเข้าออก..

" ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าได้เห็นพระพุทธองค์ "



" อันว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสอยู่โดยปกติ
แต่เศร้าหมองไปเพราะคลุกเคล้าด้วยกิเลศนานาชนิด
ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นเครื่องฟอกจิตใจให้ขาวสะอาดดังเดิม
จิตที่ฟอกแล้วด้วยศีล สมาธิ และปัญญา
ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง "








ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลผู้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ ย่อมพบกับปิติปราโมทย์อันใหญ่หลวง
รู้สึกตนว่าได้พบขุมทรัพย์มหึมา หาอะไรเปรียบมิได้
เอิบอาบซาบซ่านด้วยธรรม (๑๐)


(๑๐ จากบทที่ ๒๓ ในหนังสือ พระอานนท์พุทธอนุชา โดยอาจารย์วศิน อินทสระ)






ใจที่เปี่ยมด้วยเมตตา...
ใจที่เปี่ยมด้วยปัญญา...
ใจที่บริสุทธิ์ สงบ สว่างจากกิเลศ...



พระพุทธองค์ยังคงประทับคอยอยู่ในนั้น...








นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.








มณฑาทิพย์ คุณวัฒนา





ส า ร บั ญ ของหนังสือข้ามเวลา..กราบแทบบาทพระพุทธองค์.
• บัวยังคงคลี่บาน
• ขอบคุณที่ฝนตก
• ครอบครัวเดียวกัน
• ไปโรงพยาบาลให้เหมือนไปโรงเรียน
• จุดเทียนเผาเทียน
• สวรรค์ของใคร
• เมื่อไหร่จะสร่างเมา
• ศาสนาของนักปฏิบัติ
• แสงสว่างกลางสายน้ำหลาก
• พระพุทธองค์ยังคงอยู่
.

ทุกเรื่องในสารบัญจะเกี่ยวโยงถึงธรรมะอันเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ และเรื่องราวครั้งพุทธกาล ที่มีพุทธศาสนิกชนอีกมากมายไม่เคยรู้ ไม่เคยอ่าน ไม่เคยได้ฟัง มาก่อน เชิญมาอ่านได้จากหนังสือเล่มนี้ คุณมณฑาทิพย์ใช้เหตุการณ์ในปัจจุบัน ย้อนเวลาข้ามมิติกลับไปเมื่อ ๒,๖๐๐ ปีก่อนโน้น พลอยโพยมก็คีย์มือเล่าทุกเรื่องไม่ไหว จึงอยากแนะนำว่า นอกจากหามาอ่านเองแล้วปีใหม่ปีนี้ลองแจกหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มนี้ให้ญาติสนิทมิตรสหายกัน เป็นการให้ธรรมะเป็นทานได้กุศลผลบุญด้วย

หนังสือนี้วางจำหน่ายที่ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บีทูเอส se-ed ร้านนายอินทร์และพลอยโพยมไม่แน่ใจว่ามีที่อื่นอีกหรือไม่



สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง

อานิสงส์ของการแจกหนังสือธรรมะเป็นทาน
๑. กรรมเวรจากอดีตชาติจะได้ลบล้าง
๒. หนี้เวรจะได้คลี่คลาย พ้นภัยจากทะเลทุกข์ได้
๓. โรคภัยไข้เจ็บจากเจ้ากรรมนายเวรจะพ้นไป
๔. สามีภรรยาที่แตกแยกจะคืนดีต่อกัน
๕. วิญญาณของเด็กที่แท้งในท้องจะได้ไปเกิดใหม่
๖. กิจการงานจะราบรื่น สมความปรารถนา
๗. บุตรจะเฉลียวฉลาดเจริญรุ่งเรือง
๘. บารมีคุ้มครองลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข
๙. พ่อแม่จะมีอายุยืน
๑๐. ลูกหลานเกเรจะเปลี่ยนแปลงเป็นคนดี
๑๑. วิญญาณทุกข์ของบรรพบุรุษจะพ้นจากการถูกทรมานไปสู่สุคติ




สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสแห่งธรรมะ ย่อมชนะรสทั้งปวง

ขอขอบคุณ หนังสือ ข้ามเวลา..กราบแทบบาทพระพุทธองค์ โดย คุณมณฑาทิพย์ คุณวัฒนา
ขอขอบคุณภาพจาก
ภาพวาดของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
ภาพชุดพระพุทธเจ้าจาก อินเทอร์เนท
ภาพจากหนังสือ ประวัติพระ ภิกษูณีของกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ
คูณจ้อ นั่งจ้อ เรือนลำพูรีสอร์ทฉะเชิงเทรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น