ชุมเห็ดเทศ
ชื่อไทย ชุมเห็ดเทศ
ชื่อสามัญอังกฤษ: Ringworm Bush ,Candelabra Bush ,Seven Golden Candle-stick)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna alata (L.) Roxb. ( Cassia alata.Linn)
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE
ชื่ออื่น ขี้คาก ลับมืนหลวง หมากกะลิงเทศ (ภาคเหนือ) ชุมเห็ดใหญ่ (ภาคกลาง)
ชุมเห็ดเทศเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูง 2-3 เมตร ก้านใบนั้นยาว แตกกิ่งออกด้านข้างในแนวนอนขนานกับพื้น ในก้านหนึ่งนั้นจะมีใบแตกออกเป็น 2 ทาง มีลักษณะคล้ายใบมะยม แต่จะโตและยาวกว่า
ใบ
เป็นใบประกอบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยจะเรียงกันเป็นคู่ ๆ 8-20 คู่ ลักษณะใบย่อยนั้นจะรูปขอบขนานแกมรูปรี โคนใบมน ตรงปลายใบของมันมนหรือเว้าเล็กน้อย ฐานใบมน และไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง ขอบใบเรียบเป็นสีแดง. ก้านใบย่อยสั้นมาก
ดอก
ออกเป็นช่อใหญ่ ตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง สีเหลือง ดอกตูมนั้นคล้ายดอกข่า และเมื่อดอกบานจะเป็นสีเหลืองทองเข้ม ใบประดับสีน้ำตาลแกมเหลือง หุ้มดอกย่อยเห็นชัดเจน
กลีบรองกลีบดอกจะมีอยู่ 5 กลีบ เป็นรูปขอบขนาน สีเขียวตรงปลายแหลม ก้านดอกนั้นจะสั้นและมีลายเส้นเห็นได้ชัด . เกสรตัวผู้จะมีอยู่ประมาณ 9-10 อัน แต่มีความยาวไม่เท่ากันอับเรณูเมื่อแก่จะมีรูเปิดที่ยอด ส่วนเกสรตัวเมียนั้นมีอยู่1อัน ผิวเกลี้ยง
ผล
ผลเป็นฝักแบนหนา ฝักเป็นรูปบรรทัด หนา ไม่มีขน จะมีปีกอยู่ 4 ปีก ผิวนอกนั้น จะขรุขระเป็นสีดำ
เมล็ด
แบนรูปสามเหลี่ยม สีน้ำตาลเข้ม
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.narahospital.com
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา
ถิ่นกำเนิด อเมริกาเขตร้อน ชอบขึ้นในที่ลุ่มริมน้ำ
ออกดอก ตุลาคม-มกราคม
ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ประโยชน์ ใช้ทั้งต้น ต้น ใบ ดอก ฝัก เมล็ด ราก ใช้เป็นยา มีสรรพคุณดังนี้:
ทั้งต้น
ใช้ขับพยาธิในลำไส้ ถ่ายพิษตานทรง รักษาซาง โรคผิวหนัง ถ่ายเสมหะ รักษาฟกบวม รักษาริดสีดวง ดีซ่าน และฝี
ต้น
ใช้เป็นยารักษาคุดทะราด และกลากเกลื้อน รักษากษัยเส้น ขับพยาธิ และขับปัสสาวะ รักษาท้องผูก และทำให้หัวใจเป็นปกติ
ใบสด แก้กลากเกลื้อน
ใบเพสลาด ดอก เมล็ด ใช้เป็นยาระบาย
มีสารสำคัญ เป็นสาร กลุ่ม anthraquinone เช่น rtein,emodin ฯลฯ ออกฤทธิ์ระบาย โดยไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ จึงไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน ๆ
ขอขอบคุณข่อมูลจาก
จากหนังสือไม้ดอกไม้ประดับ
พรรณไม้ในสวนหลวง ร 9
ส่วนในหนังสือ ปลูกผักไทย ได้ทั้งอาหารและยา ของ รศ. ดร.วีณา เชิดบุญชาติ กล่าวไว้ว่า
ส่วนประกอบใบ มี anthroquinone หลายชนิด รวมทั้ง Tannin มีสารฟลาโวนอยด์และเทอร์บินอยด์
สรรพคุณและวิธีใช้
ดอก
เป็นยาระบาย โดยใช้ดอกสด 1-3 ฃ่อ ลวกจิ้มน้ำพริกสมานธาตุ อาจใช้ใบปิ้งไฟชงดื่มเป็นยาระบาย ทำให้ผิวหนังดี
ต้นและใบใบ
มีกลิ่นฉุน ต้มน้ำกินเป็นยาระบาย อมบ้วนปากและใช้เป็นยาฆ่าพยาธิตามผิวหนัง รักษากลากเกลื้อน ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน เส้นประสาทอักเสบ รักษากษัยเส้น ขับปัสสาวะและรักษากระเพาะอาหารอักเสบท รักษาโรคท้องผูก
วิธีใช้
ใช้ใบสด 30 กรัม ใส่น้ำ 1 ลิตร ต้มนาน 15 ยาที ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ ก่อนอาหารเช้า-เย็น
ใบตากแห้ง กรัม ชงน้ำร้อน 1 แก้ว ดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น
ใบสด ขยี้ให้น้ำออกแล้วเติมเกลือเล็กน้อย ทาแก้กลากเกลื้อนวันละ 2 ครั้ง หรือใช้ใบสดผสมปูนแดงขยี้ให้น้ำออก แล้วท่าบ่อย ๆจนกว่าจะหาย หรือใช้ตำพอกหัวฝี
ดอก
เป็นยาระบาย โดยใช้ดอกสด 1-3 ฃ่อ ลวกจิ้มน้ำพริก สมานธาตุ อาจใช้ใบปิ้งไฟชงดื่มเป็นยาระบาย ทำให้ผิวหนังดี
ฝัก
ช่วยขับพยาธิ เป็นยาระบาย
ต้นและราก
แก้กษัยเส้น บำรุงหัวใจ แก้ท้องผูก
ดอกและยอดอ่อน ใช้ลวกจิ้มน้ำพริก
ส่วนชุมเห็ดไทย ( Cassia tora L ) เมล็ดแก้ตับอักเสบ ทั้งต้น ขับพยาธิในท้อง แก้ไข้หวัด
ส่วนในหนังสือสารานุกรมสมุนไพร สมุนไพร สวนสิรีรุกขชาติ เล่ม 1 ระบุว่า
ตำรายาไทยใช้ใบและดอกเป็นยาระบาย โดยใช้ใบแห้งครั้งละ 12 ใบ ต้มหรือชงน้ำดื่มก่อนนอน หรือทำเป็นยาลูกกลอน
หรือใช้ดอกสด 2-3 ช่อ ต้มกินเป็นผักจิ้ม
การทดลองในคนและสัตว์ พบว่า ใบแก่มีฤิทธิ์น้อยกว่าใบอ่อน ส่วนต่าง ๆ ของชุมเห็ดเทศ มีสารกลุ่มแอนทราควิโนน เช่น rtein,emodin และ aloe-emodin ซึ่งมีฤทธิ์ระบาย โดยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ จึงไม่ควรกินติดต่อกันนาน เพราะเมื่อไม่่ได้รับยาจะทำให้ลำไส้ไม่ทำงานตามปกติ สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
นอกจากนี้ยังใช้ใบสดเป็นยาทาภายนอกรักษากลากเกลื้อน โดยตำแข่เหล้า เอาส่วนเหล้าทาบริเวณที่เป็น วันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย พบว่าได้ผลดี แต่ใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยที่ตอดเชื้อราที่ผมและเล็บ
ยังมีชุมเห็ดไทยอีกชนิดหนึ่ง
ชื่อไทย ชุมเห็ดไทย
ชื่อ อังกฤษ Chumhet thai
ชื่ออื่น ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็ก ลับมืนน้อย พรมดาน หญ้าลึกลืน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna tora (L.) Roxb.
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th
ลักษณะพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก วูง 0.5-1 เมตร แตกกิ่งก้านด้านข้างเป็นพุ่ม
ลักษณะใบ
ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ มีใบย่อย 3 คู่ รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมไข่กลับ
ลักษณะดอก
ดอกช่อ ออกที่ซอกใบตอนปลายกิ่งและที่ปลายกิ่ง เป็นกระจุก 2-4 ดอก กลีบดอกสีเหลือง
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th
ลักษณะผล
ผลเป็นฝัก
เมล็ด รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สีน้ำตาลแกมเขียว
สรรพคุณ
ต้นและราก ยาแก้ไข้ ขับปัสสาวะ
เมล็ด ทำให้นอนหลับ งานสาธารณสุขมูลฐานแนะนำให้ใช้เมล็ดคั่ว 10-13 กรัม ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบาย หรือขนาด 5-15 กรัม ต้มน้ำดื่มขับปัสสาวะ พบวาาทุกส่วนมีสารกลุ่ม แอนทราควิโนน และการทดลองในสัตว์ สรุปว่าน้ำสกัดของเมล็ดมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และบีบมดลูก สารสกัดเบนซีนมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในหลอดทดลอง
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th
ที่มาของข้อมูล
หนังสือสารานุกรมสมุนไพร สมุนไพร สวนสิรีรุกขชาติ เล่ม 1
การใช้ข้อมูลพืชทุกชนิดเป็นยาสมุนไพร ผู้ใช้ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพราะพลอยโพยม ได้ยินข่าวมาว่า ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับกันมาก โดยเฉพาะสตรี เนื่องจากการรับประทานอาหารเสริม (เพื่อทั้งสุขภาพ และความงาม) ทำให้ตับทำงานหนักเกินไปในการขับของส่วนเกินในร่างกาย
การกินสมุนไพรไทยต้องระมัดระวังเรื่องของปริมาณที่เหมาะสม หากกินมากไปก็เป็นการสะสมสารไว้ในร่างกายเป็นส่วนเกิน โดยเฉพาะในสรรพคุณของสมุนไพรพืช ดูเหมือนบางทีสมุนไพรมากมายหลาย ๆ ชนิด มีสรรพคุณกว้างขวางแบบครอบจักรวาล หรือการนำคุณสมบัติของพืชบางชนิด ที่มีฃื่อคล้ายกันหรือ ชื่อเรียกในท้องถิ่นที่ไปพ้องกับอีกชื่อ มาใช้โดยไม่ศึกษาให้ละเอียด โดยเฉพาะผลข้างเคียง หรือข้อห้าม
พลอยโพยม ยกตัวอย่างเช่น สมุนไพรไทย ๆ ชื่อชุมเห็ดเทศ ชุมเห็ดไทย ค่อย ๆ อ่าน พิจารณาเนื้อความความแตกต่างในบางรายละเอียดของสรรพคุณ เป็นต้น
ชุมเห็ดเทศ เป็นพรรณไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไปที่บางกรูด โดยเฉพาะตามริมคูน้ำ หลุมหลาริมถนน เป็นพืชสมุนไพรที่พ่อมังกรของพลอยโพยม นิยมใช้ ในสรรพคุณ กิน
และเป็นที่บอกกล่าวเล่าขานของผู้ใหญ่ จะบอก เด็ก ๆ ว่า ถ้าเห็นดอกชุมเห็ดเทศ บานเหลืองอร่ามนั้นแปลว่ากำลังจะหมดฝน และย่างเข้าฤดูหนาว แล้ว
ทั้งนี้ชาวบ้านที่บางกรูดก็จะเรียกต้นชุมเห็ดเทศนี้ ว่า ต้นชุมเห็ด ( ชุมเห็ดเฉย ๆ )
แต่ในปัจจุบัน ฟ้าฝน และฤดูกาลของบ้านเราเริ่มแปรปรวน จนบางครั้งต้องใช้คำว่าวิปริตแปรปรวน ดอกชุมเห็ดเทศก็ใช้เป็นสัญญลักษณ์บอกฤดูกาลไม่ได้เสียแล้ว บางทีดอกชุมเห็ดเทศชูช่อดอกตูมเต็มต้นเหมือนเตือนว่า สายฝนแห่งวัสสะฤดู (วัสสานฤดู) กำลังผันลา เพื่อรับหน้าเหมันตฤดู แต่พอดอกตูมบานอร่ามเรืองเหลืองราวสุวรณอำพันผ่องในท้องทุ่ง ท้องฟ้าก็โปรยปรายสายฝนกระหน่ำลงมาติดต่อกันหลายวัน จนน้ำเนืองนองทั่วทั้ง ห้วย บึง หนอง คลอง ละหาน
หรือบางครั้งมีลมหนาวโชยมาจากเมืองเหนือในยามเช้าตรู่รุ่งอรุณเพียงแค่ให้รับรู้ว่านี่คือสายลมหนาวมาเยือนแล้วก็ลาลับคืออากาศเย็น ๆ กว่าปกติ และกินเวลาเพียง 2-3 วัน สายลมเหนือก็สลายไปกับไอแดด บ้านพลอยโพยมในระยะ หลัง ๆ เหลือแค่ 2 ฤดู คือฤดูร้อน และฤดูฝน ฤดูหนาว ก็กลายเป็นฤดูร้อน ทำให้ ฤดูร้อนดูว่าช่างยาวนานเสียเหลือเกินแล้ว
หมายเหตุ
1. คำว่าสาร anthraquinone และ anthroquinone พลอยโพยมใช้ตามเอกสารต้นฉบับตามที่อ้างอิงถึง
2 บทความนี้แก้ไขปรับปรุงบทความเรื่องชุมเห็ดเทศ เมื่อ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น