วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] รักบ้านเกิด..เชิดชูท้องถิ่น

รักบ้านเกิด..เชิดชูท้องถิ่น



พลอยโพยมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม "โครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อถิ่นฐานบ้านเกิดของจังหวัดฉะเชิงเทรา" มา สองครั้ง จัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏราขนครินทร์ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ดำเนินการโดย.ดร.ธัญญภัสร์ ศิรธัชนราโรจน์ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และคณะ

โครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อถิ่นฐานบ้านเกิด มีจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดยะลา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดลำปาง
เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่เมืองฉะเชิงเทราได้ มีโอกาสเข้าร่วมเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของชาติไทย นับไล่เรียงมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ยุคประวัติศาสตร์ นับแต่ ยุคกรุงศรีอยุธยา ยุคต้นกรุงธนบุรี ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยุคกลางรัตนโกสินทร์ จนมาถึงซึ่งวันนี้
สมดังที่พลอยโพยมเคยภาคภูมิใจ ว่า ฉะเชิงเทราคือ " อัญมณี ศรีลุ่มน้ำบางปะกง " โดยแท้


(เพิ่มเติม)
โครงการนี้เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรของนักเรียน เริ่มตั้งแต่ ปฐมวัย ประถมศึกษา และชั้นมัธยมศึกษา ในวิชาท้องถิ่นของเรา ผู้เข้าร่วมโครงการล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในวงการศึกษาหลายภาคส่วนทั้งของ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เองหลาย ๆ ท่าน ทั้งศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู อาจารย์ ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทราได้ดำเนินโครงการนี้มาก่อนหน้าแล้ว การประชุมแต่ละครั้ง ก็เป็นนำเสนอผลการดำเนินการที่จะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน

เป็นการสะท้อนให้เห็นภาพที่ผู้ใหญ่ในวงการศึกษาคิดแก้ไขปัญหาผู้คนทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ส่วนใหญ่ผู้คนจะมุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่ โดยเฉพาะเมืองหลวงเพื่อไขว่คว้าหาโอกาสที่คิดว่าดีกว่าการอยู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ทั้งเพื่อการเรียน การแสวงหาอาชีพ และพลอยตั้งรกรากอยู่เลย
ซึ่งพลอยโพยมได้เดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ ของเมืองฉะเชิงเทรา ในระหว่างตระเวนถ่ายภาพประกอบ หนังสือบทกวี "วันวานของบางกรูด " อยู่ 1 ปี ซึ่งบัดนี้ จัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยและวางจำหน่ายแล้ว



ได้พบสถานที่ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก แล้วความเจริญรุ่งเรืองนั้นก็เสื่อมไป สถานที่ถูกทิ้งทรุดโทรมบางแห่งเกือบร้างไร้ผู้คนอาศัยบนผืนดินนั้น ผู้คนทิ้งถิ่นที่ทำหาหากิน และบางสถานที่ผู้คนทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดของตนไป แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีผู้คนต่างถิ่นเข้ามากว้านซื้อที่ดินที่เมืองฉะเชิงเทราเก็บไว้มากมาย ตัวอย่างเช่นที่ตำบลสนามจันทร์ ตำบลบ้านโพธิ์อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการอำเภอบ้านโพธิ์ มีเจ้าของที่ดินที่ถือครองกรรมสิทธิ์โดยคนในท้องถิ่น เหลือเพียง 20 % ไม่เว้นแม้แต่ที่ตำบลบางกรูดของพลอยโพยมที่มีคนต่างถิ่นเข้ามาถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ในระดับเด็กนักเรียนที่ได้ข้อมูลมาจากการเข้าร่วมประชุมก็คือ นักเรียนต่างดิ้นรนขวนขวายที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงไม่สนใจแม้แต่ทุนการศึกษาที่โรงเรียนในท้องถิ่นมอบให้ขอให้เรียนที่โรงเรียนในท้องถิ่น หัวอกแม่อย่างพลอยโพยมก็เข้าใจและรู้ซึ้งกับความคิดเช่นนี้ พบความผิดพลาดของตนเองในการเลี้ยงดูลูกหลาน ให้มุ่งหน้าสนใจแต่เรื่องการเรียน เรียน และเรียนพิเศษด้วยความหวังให้เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง


ทำบุญเข้าพรรษา


ไม่เคยพาลูกหลาน ทำกิจกรรมในท้องถิ่นเพราะเด็ก ๆ ไม่มีเวลา นอกจากให้พวกเขา ตั้งหน้าตั้งตาเรียนมีเวลาเหลือก็น้อยมาก เพิ่งได้พาลูก ๆ เข้าวัดในกิจกรรมวันพระสำคัญบางกิจกรรม ในช่วงที่เขาเรียนจบและทำงาน ด้วยคติที่ว่า มาสายดีกว่าไม่มา แต่มันช้าเกินไปเสียแล้ว หากพลอยโพยมไม่อยู่บ้าน เช่นไปเข้าปฏิบัติธรรม คราวละ 7 วัน 15 วัน บ้าง เขาจะไม่กลับมาฉะเชิงเทรากัน เพราะแม่ไม่อยู่บ้าน เมื่อครั้งมีคุณยายเขายังกลับบ้าง ลูก ๆ ไม่ยึดติดถิ่นที่อยู่ แต่ยึดตัวบุคคล ถ้าแม่ไม่อยู่ไม่รู้จะกลับบ้านทำไม ทำนองนั้น ดังนั้นในอนาคตเมื่อไม่มีแม่บนโลกนี้ ถิ่นฐานบ้านเกิดนี้เขาก็คงละทิ้งไป พลอยโพยมยังอยู่ในครอบครัวแบบโบราณ มีพี่ชายน้องชายและครอบครัวของน้องชายอยู่ร่วมบ้านเดียวกันซึ่งเป็นชีวิตที่เคยคุ้นมาแต่เด็ก แต่ลูก ๆ กลับรู้สึกว่าเป็นครอบครัวรุงรังไม่เป็นเอกเทศ



ผู้คนที่จะรักถิ่นฐานบ้านเกิด คงมีอยู่ในรุ่นบวกลบกับรุ่นของพลอยโพยม โดยเฉพาะ รุ่นอายุน้อยกว่าประมาณ 10 ปี ถัดลงจากอายุพลอยโพยมไป
ก็จะมีคนรักถิ่นฐานบ้านเกิด หากเป็นเด็กอายุ 30-35 ปี คนที่จะคิดย้อนกลับมาบ้านเกิดของตนเองมีน้อยมาก 18 ปีที่พลอยโพยมขับรถไปกลับกรุงเทพ ฯ ฉะเชิงเทรา เพื่อทำงานจันทร์ถึงศุกร์ทุกวัน แต่ในช่วงวิกฤติภัยน้ำท่วมคราวนี้ ลูกสาวของพลอยโพยมเดินทางไปกลับเพื่อทำงานที่กรุงเทพ ฯ บ้าง เพียง 2-3 สัปดาห์ ก็บอกว่าไม่ไหวแล้วชีวิตแบบนี้เหนื่อยมาก "ใบเตย ทำแบบแม่ไม่ได้หรอก"






ลูกจาก

ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับโครงการนี้ ที่มาเริ่มต้นปลูกฝังความรักถิ่นฐานบ้านเกิดกันใหม่เริ่มตั้งแต่รุ่นปฐมวัย หลังจากการเข้าร่วมประชุมครั้งแรกผ่านไป พลอยโพยมก็ลงพื้นที่ของท้องถิ่นบางกรูดอีกครั้งเพื่อช่วยสืบค้นแหล่งที่จะนำเสนอให้เพื่อนที่สอนวิชาท้องถิ่นของเราสนใจพาเด็กมาสัญจร ซึ่งมี 3 แห่งในบางกรูด


วิถีริมน้ำบางปะกง
การสัญจรด้วยเรือมาดพายข้ามฝั่งแม่น้ำบางปะกงหน้าวัดบางกรูด


บ้านนาที่ตำบลใกล้เคียง


สวนที่ตำบลอื่นแต่มีลักษณะเหมือนสวนที่บางกรูดแต่เก่าก่อน


สาแหรกหาบของ


กระดานชนวน

การเข้าประชุมครั้งที่สอง คราวนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิเช่น ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตและคณะ มี ดร.ปริญญา มีสุข มานำเสนอข้อมูล ของ สกว. ที่ได้จาก จังหวัดนำร่องทั้งสี่จังหวัด มีหัวข้อ "จากความรู้ถิ่นฐานบ้านเกิดสู่การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่" และสรุปการดำเนินงานที่ผ่านมา

กระบวนการเรียนรู้ อันประกอบด้วย
ตามรอยบรรพชน
ตัวตนของเรา
เทือกเถาเหล่าชน
คน ดิน น้ำป่า
อาชีพรอบตัว
หัวใจท้องถิ่น
จิตวิญญาณพัฒนา






กระยาสารทอาภรณ์

บทบรรยายของ ดร. จุฬากรณ์ ช่างพอเหมาะกับที่พลอยโพยมไปสัมผัสมา
ตามรอยบรรพชน
พลอยโพยม ได้ไปพบกำนันสมภพ วงศ์พยัคฆ์ เจ้าของกิจการ SME กระยาสารท อาภรณ์ เมื่อสอบถามถึงแรงบันดาลใจที่กำนันมดซึ่งเป็นบุตรชายรับกิจการทำกระยาสารทของคุณแม่จำหน่าย กำนันมด มีคำตอบว่า เพราะผมต้องการสืบสานตำนานทำกระยาสารทของคุณแม่ผมไว้ และจะเล่ารายละเอียด ในคราวหน้า


โบสถ์วัดบางกรูด ตำบลท่าพลับ

โรงเรียนวัดบางกรูดตำบลท่าพลับ

ตัวตนของเรา
วัดบางกรูดซึ่งอยู่ตำบลท่าพลับ ในปัจจุบันมีเจ้าอาวาสที่คณะกรรมการของตำบลไปเชิญพระภิกษุจากวัดทดอินทาราม มาเป็นเจ้าอาวาส พระคุณเจ้าเป็นชาวต่างถิ่น แต่เมื่อมาดำรงตำแหน่งท่านก็ปวารณาเป็นชาววัดบางกรูดที่มีประวัติเก่าแก่ 250 ปีของการสร้างวัดบางกรูด ท่านก็สืบค้นความเป็นมาต่าง ๆ ของวัด และคิดจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของวัด คิดเรียบเรียงเรื่องราวสาวความตามความเป็นมาในช่วง 250 ของอายุวัด เพื่อเป็นการบอกกล่าว ตัวตนของวัดบางกรูด ในอนุชนคนรุ่นหลังได้รับรู้



เทือกเถาเหล่าบรรพชน
บ้านอดีตกำนันสมชาย นาคะพงศ์ กำนันตำบลบางกรูด คนที่ 1 ในช่วง พ.ศ. 2447-2554 ซึ่งมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถึงรายนามกำนัน ตำบลต่าง ๆ ของอำเภอบ้านโพธิ์ รายชื่อกำนันก่อน ปี พ.ศ. 2447 ไม่มีเป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่คำบอกกล่าวเล่ากันไว้ เล่าต่อ ๆ กันมา



บุตรสาวของกำนันสมชาย ชื่อ พี่สุกัลยา นาคะพงศ์ เป็นผู้ดูแลปกครองบ้าน ซึ่งมีสวนอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ชาวบางกรูดตื่นตัวกับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ทุกบ้านลบสวนลบนาเพื่อทำบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ยามค่ำคืนทั้งสองฝั่งของลำน้ำ สว่างไสวด้วยแสงไฟของบ่อเลี้ยงกุ้ง แต่เป็นที่กล่าวขานว่าบ้านพี่สุกัลยาเป็นสวนเดียวที่เหลืออยู่และเป็นสวนอนุรักษ์ พลอยโพยมเคยไปสวนนี้ในสมัยเด็ก ๆ เมื่อต้องการหาต้นเท้ายายม่อมเพื่อถ่ายภาพประกอบหนังสือ จึงไปหาพี่สุกัลยาและไม่ผิดหวัง พี่สุกัลยา อนุรักษ์พืชพันธุ์โบราณไว้มากมาย เป็นการปลูกเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไว้ เมื่อพลอยโพยมถามว่าเหตุใดพี่สุกัลยาไม่เลี้ยงกุลาดำเหมือนคนอื่น ๆ เมื่อ สิบกว่าปีมาแล้ว พี่สุกัลยาตอบว่าพี่ต้องรักษาสวนไว้เพื่อบอกกล่าวเล่าเรื่อง "โคตรเหง้าเทือกเถาเหล่ากอของบรรพบุรุษว่าเป็นชาวสวน " ตัวตนของตระกูลพี่คือชาวสวนมาแต่ดั้งเดิม



นอกจากเป็นสวนอนุรักษ์แล้ว ยังเป็นสวนตามรอยพระยุคลบาท ฯ เป็นสวนเศรษฐกิจพอเพียง ใช้วิทยาการเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น พี่สุกัลยา จบการศึกษาจากคณะเกษตรมหาวิทยาลันเกษตรศาสตร์ อดีตเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ พี่ ๆ น้อง ๆประกอบด้วย ด้วยพลอากาศเอก วิศวกร นายแพทย์ และเป็น อาจารย์ 2 คน แต่นั่นมิใช่โคตรเหง้าที่แท้จริง
น่าเสียดายที่ถูกวิกฤตน้ำท่วมเพราะน้ำทะเลหนุนสูง 5 วัน เพราะพื้นที่สวนเป็นที่ลุ่มต่ำกว่าระดับชายฝั่งน้ำ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านรอดพ้นน้ำท่วมมาได้ จนวิกฤติใหญ่ในครั้งนี้ เพราะเพื่อนบ้านที่อยู่ชิดติดกันไม่ได้ป้องกันสภาวะน้ำท่วมด้วย พี่สุกัลยาอธิบายสวนเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยชีวภาพ ทำแก๊สจากปุ๋ยนี้ การปลูกพืช ในระดับต่าง ๆ สามชั้น บนพื้นสวน ฯลฯ น่าสนใจมาก
ปกติ น้ำไม่ควรจะท่วมนานเป็นวัน ๆอย่างนี้ ควรไหลท่วมขึ้นและไหลคืนกลับไปตามสภาพน้ำของแม่น้ำ แต่สวนนี้ต่ำกว่าระดับชายฝั่ง เมื่อท่วมขังแล้วก็ออกไปเองไม่ได้เหมือนขามา ตอนมาก็มาเองไม่ได้เชื้อเฃิญ แต่ตอนกลับต้องเชิญออกไป


ตะวันฉายพรายแสงแข่งสายน้ำที่เรือนลำพูรีสอร์ท







อีกทั้ง ยังมีเรือนลำพูรีสอร์ท เป็นแหล่งผสมผสานกลมกลืนกัน ระหว่าง คน ดิน น้ำ ป่า มีธรรมชาติที่สมดุลกันที่เรือนลำพูรีสอร์ทและคุณไกวัลกำลังพยายามปลูกป่าชายเลนไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ในตำบล นอกเหนือจากลักษณะป่าชายเลนตามธรรมชาติที่เป็นอยู่ โดยสรรหาพืชพันธุ์ไม้มาปลูกป่าเพิ่ม ระบบนิเวศที่บริเวณนี้สมบูรณ์ขึ้น ทำให้หิ่งห้อย หรือตัวทิ้งถ่วงของคนบางกรูด เริ่มคืนกลับมาประดับประดาต้นลำพูให้ดูได้ชื่นชมยามคืนแรมได้บ้างแล้ว ส่วนนกสวนและนกริมบึง ก็มาเยื้องกรายบินฉายไปโฉบมาให้ผู้เสน่หานกน้อยได้คอยถ่ายภาพเก็บไว้ ยามน้ำแห้งฝั่งก็มีทั้งปลาตีน และสมัครพรรคพวกปูอีกหลายพันธุ์ พากันออกมาทักทายผู้คนที่มาเยือนเรือนลำพูรีสอร์ทแห่งนี้


ข้าวต้มลูกโยนตักบาตรเทโวเทศกาลออกพรรษา


เรือผีหลอก
นอกจากนี้ คนบางกรูดทุกหมู่เหล่าโดยทั่วไปล้วนมีหัวใจท้องถิ่น มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ที่พร้อมทั้งให้และรับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในเรื่องราวของกิจกรรมท้องถิ่น

จิตวิญญาณพัฒนา ที่เป็นรูปธรรมแล้วที่บางกรูดมีกำนันมด เป็นหัวหน้าโครงการพลิกฟื้นคืนชีวิตให้ลุ่มน้ำบางปะกง ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาก่อนหน้าประมาณ 2 ปีแล้ว และยังมีโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนอีกโครงการด้วย ซึ่งสอดประสานกับโครงการพลิกฟื้นคืนชีวิตให้ลุ่มน้ำบางปะกง ( ชื่อโครงการอาจไม่ตรงกับความจำของพลอยโพยม) แต่นัยสำคัญ เป็นไปตามประโยคที่พลอยโพยม ใช้อยู่


นักเรียนโรงเรียนวัดบางกรูด
ตำบลท่าพลับ เผอิญมีรูปเก่าที่นักเรียนกำลังแบกจอบไปทำแปลงผัก

รวมทั้งอาจารย์สอิ้ง กานยะคามิน และเหล่าลูกศิษย์ที่เป็นอาจารย์ที่ โรงเรียนดัดดรุณี กำลังดำเนินโครงการ เชิดชูเกียรติ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ปราชญ์สยามชาวฉะเชิงเทรา ครูแห่งแผ่นดิน ท่านมีชีวิตอยู๋สามสมัยรัชกาล และผู้เคยเป็นประดุจดังเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เพื่อให้ผู้คนสนใจที่จะรู้จักตัวตนและผลงานอมตะเลิศล้ำค่าในวงการภาษาไทยของท่านให้เป็นที่ประจักษ์สืบต่อไปอีกนานแสนนาน และความมุ่งหวังในบั้นปลายของโครงที่ดำเนินการ "โครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)" ก็เพื่อประกาศเกียรติคุณของท่านให้โลกได้รู้จัก โดยจะส่งผลงานของท่านไปที่องค์การ ยูเนสโก้ในวันข้างหน้า



คนแปดริ้ว คนเมืองฉะเชิงเทราที่ยังรักบ้านเกิด เชิดชูท้องถิ่น ยังมีอีกมากมาย สามารถสอดประสานกับโครงการของ สกว."โครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อถิ่นฐานบ้านเกิดของจังหวัดฉะเชิงเทรา นี้ได้เป็นอย่างดี
เพียงแต่คนที่รักถิ่นฐานบ้านเกิดนี้กำลังขาดช่วงอายุบางช่วงของผู้คน แต่่ช่างโชดดี ที่กำลังมี"โครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อถิ่นฐานบ้านเกิดของจังหวัดฉะเชิงเทรา" ที่จะเข้ามาต่อรอยให้กับเมืองฉะเชิงเทรา ในอนาคต ไม่เพียงแค่เมืองฉะเชิงเทรา หากแต่ ในวันหนึ่งข้างหน้า จะเป็น ทั่วแคว้นแดนไทย....


(เพิ่มเติม)
"โครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อถิ่นฐานบ้านเกิดของจังหวัดฉะเชิงเทรา"

ผู้รับผิดชอบ 5 คน คือ ดร. ธัญญภัสร์ ศิรธัชนราโรจน์ หัวหน้าโครงการฯ ดร.ปริญญา มีสุข, ผศ.ดร.ทิพย์วิมล วังแก้วหิรัญ, อ. สาคร วุฒิศักดิ์ชัยกุล และ อ. พรนภา เลื่อยคลัง
มีที่ปรึกษา 4 คน คือ ผศ.ดร.ฐิติมาวดี เจริญรัชต์ หัวหน้านักวิจัย Child Watch ภาคตะวันออก ผศ.ดร.อัญชลี ตันศิริ หัวหน้าโครงการวิจัยครอบครัวศึกษาฯ ผศ.วัลลภา เฉลิม อาจารย์สาขาจิตวิทยาและการแนะแนว และ อาจารย์วิชัย พงษ์โหมด อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
โดยทั้งหมดได้รับการสนับสนุนในทุกด้านจาก ท่านอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอนก เทพสุภรณ์กุล

ในการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับโรงเรียนทุกแห่งในจังหวัดฉะเชิงเทราได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ฉช เขต 1 โดยท่าน ผอ. ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ ประสานงานโดยคุณองุ่น ละเต็บซัน และคุณจันทรา เกียรติลุนสงฆ์ เขต 2 โดย ผอ.วีระ สุเมธาพันธุ์ ประสานงานโดย คุณนำพล รมพิพัฒน์ และสำนักงานการศึกษามัธยมศึกษา ฉช-สป เขต 6 ผอ.ดร.นิวัตต์ น้อยมณี ประสานงานโดย คุณศิริเพ็ญ สกุลวลีธร

ต้องขอขอบคุณที่ทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งศึกษานิเทศก์ทั้ง 3 เขต โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์รัชนี วิเศษมงคล ที่ได้นำต้นฉบับเปิดประตูสู่ฉะเชิงเทรามาให้เราทุกคนสำเนาแจกกัน คุณครูเครือข่ายของ 11 อำเภอ ทั้งในระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา วัฒนธรรมจังหวัด

หากตกหล่นท่านใดไป พลอยโพยมกราบขออภัยค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น