วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] อ้อยหวาน..มีมานานช้า

อ้อยหวาน..มีมานานช้า



อันรสอ้อยอร่อยลิ้นถวิลหา
เรื่องปรัมปราคราก่อนย้อนไปหา
ตามต้นเค้าสาวความนามแหล่งมา
สู่นคราโลกนี้มีเมื่อใด

อย่าว่าแต่มนุษย์เราจะมีที่มาที่ไปของชาติกำเนิดแต่ละชนชาติเลย อ้อยก็เช่นกันเป็นพันธุ์ไม้มาแต่ที่ใดกัน มาไม่มาเปล่ามีคติความเชื่อเรื่องต่าง ๆ ติดลำอ้อยมาด้วยมากมาย



จากประวัติอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย กล่าวถึงอ้อยดังนี้

อ้อยเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่เพียงแต่นำมาผลิตเป็นน้ำตาลเท่านั้น อ้อยยังมีบทบาทหลายอย่างในอดีตกาล เช่น ใช้ในพิธีกรรมต่างๆแสดงถึงความสมบูรณ์ และความหวานแสดงถึงปัญญา โดยมักจะนำอ้อยและกล้วยเป็นของใช้ประกอบในพิธีคู่กัน เช่นใช้ในพิธีมงคล หรือเทศกาลต่างๆ ทั้งเพื่อประดับ หรือมีความหมาย

ในทางที่เป็นสิริมงคล เช่น ในขบวนแห่ขันหมากเป็นต้น และที่ไม่ค่อยทราบกันก็คือน้ำอ้อยผสมกับปูนขาวใช้สอปูนและฉาบผนัง ในการประกอบ เป็นประติมากรรมและสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตลอดจนยังปรากฏ เป็นบทเพลงไทยต่างๆ มากมาย นอกจากนั้นอ้อยยังเป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณได้อีกด้วย
(สอปูน-นําปูนสอมาเชื่อมอิฐหรือหินให้ติดกัน)

ประวัติการแพร่กระจายการปลูกอ้อยนั้นมีหลักฐานเป็นที่ยอมรับว่าเริ่มกระจายจากหมู่เกาะนิวกินี ตั้งแต่ 8,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ไปทาง นิวเฮบริเดส (New Hebrides) และนิวคาเลโดเนีย (New Caledonia) จากนั้นจึงแพร่กระจายไปยัง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดจีน อินเดีย ส่วนการแพร่กระจายไปทางตะวันตกนั้นโคลัมบัสเป็นผู้นำไปแพร่กระจายในการเดินทางครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2036 โดยผ่านไปทางสเปน อ้อยมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย และแพร่กระจายจากเอเชียไปยังหมู่เกาะเมลานีเซีย (Melanesia) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ



เมื่ออ้อยแพร่เข้ามาที่อินเดีย อ้อยได้มีบทบาทเข้าไปอยู่ในวรรณคดีอินเดียมากมาย จากหนังสือของ ส.พลายน้อยอ้างตามผู้อำนวยการสถานีทดลองการปลูกอ้อยและการทำน้ำตาลของชวาได้เขียนในหนังสือเดอะเวอร์ลชูการ์เคน อินดรัสตรี้ ว่า อ้อยนั้นมีปฎิสนธิกำเนิดจากประเทศอินเดียตามทางสอบสวนปรากฏว่า เดิมเป็นพืชพันธุ์ไม้ป่าขึ้นงอกงามเป็นพงแขม อยู่แถบฝั่งแม่น้ำคงคาในประเทศอินเดียแต่การที่จะพิสูจน์ให้ประจักษ์กับตาในบัดนี้เป็นการเหลือวิสัย ไม่พบต้นอ้อยที่จะงอกงามขึ้นเองตามธรรมชาติธรรมดาในลักษณะที่จะเรียกว่าอ้อยป่ากันเลย มีแต่อ้อยที่เราต้องปลูกขึ้นมา

ในคัมภีร์ของอินเดีย กล่าวว่าอ้อยเป็นรุกขพันธุ์กำเนิดในอินเดีย ตามคัมภีร์ปุราณของฮินดูว่า อ้อยนั้น ฤาษีวิศวามิตร (องค์ที่เชิญพระรามไปปราบนางกากนาสูร) เป็นผู้สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นอาหารทิพย์ในแดนสวรรค์ชั้นฟ้าชั่วคราวให้กับท้าวตรีศังกุ อันว่าท้าวตรีศังกุเป็นกษัตริย์ที่มีความปรารถนาอันแรงกล้า อยากขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นแต่ถูกเทวดากีดกันรังเกียจไม่ยอมให้ขึ้นสวรรค์จึงอ้อนวอนพระวิศวามิตรฤาษี พระวิศวามิตรฤาษีเอ็นดูแก่ท้าวตรีศังกุโดยที่มีอุปการะแก่กันมา จึงได้สร้างสวรรค์ชั่วคราวขึ้นให้ในเมืองมนุษย์ ต่อมาทวยเทพเกรงอิทธิฤทธิ์ตบะเดชของพระวิศวามิตรฤาษี จึงตกลงให้ท้าวตรีศังกุขึ้นสวรรค์ได้ทั้งเป็น ส่วนสวรรค์แดนมนุษย์ที่สร้างไว้เป็นอันล้มเลิก เครื่องประดับอาภรณ์ก็กระจัดกระจายหายสูญไปสิ้น ในบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เครื่องประดับแดนสวรรค์บนเมืองมนุษย์ที่ยังคงตกค้างอยู่นั้น ปรากฏว่ามีอ้อยเครื่องทิพย์เหลืออยู่ด้วย การสืบเนื่องแต่นั้นมาจึงได้มีพันธุ์แพร่หลายทั่วไปในแดนมนุษย์เป็นอนุสรณ์



ในคัมภีร์อาถรรพเวทย์ ได้กล่าวถึงอ้อยในตอนหนึ่งว่า

"ปริตฺวา ปริตฺนุ เนกษุ ณาคามวิศวิเษ ยถามํกามินฺยโส ยกามนฺนาปคา อสะ "
แปลว่า ข้าฯ เอาต้นอ้อยผูกรอบท่าน เพื่อกันความเกลียดซึ่งกันและกัน เพื่อท่านจะได้รักข้าฯ และเพื่อท่านจะได้ไม่ปราศจากข้าฯ

อ้อยที่ใช้ในพิธีกรรมส่วนใหญ่แสดงความอุดมสมบูรณ์ ความหวานแสดงถึงปัญญา พิธีกรรมที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นการกำหนดขอบเขตแสดงที่จัดพิธีโดยย่อจำลองสวรรค์ โดยผูกราชวัติฉัตรธง แล้วนำอ้อยและกล้วยมาผูกติดเข้ากับฉัตรด้วย แสดงขอบเขตของพิธีกรรมหรือเป็นเขตที่จะแสดงสวรรค์จำลองคือที่อยู่ของเทพยดา จากตำนานแสดงว่าอ้อยจะเป็นของวิเศษ สร้างเพื่อตบะเดชะเป็นการชั่วคราว ฉะนั้น
บนสวรรค์นั้นจะไม่มีต้นอ้อยอยู่ จะมีอยู่แต่ในโลกมนุษย์เท่านั้น เมื่อจะทำพิธีหรืองานมงคลใดก็จะนำอ้อยกล้วยไว้ในพิธี จะติดที่ประตูบ้านงานหรือจะถือนำขบวนแห่ไปแสดงความเป็นสิริมงคล อ้อยยังเป็นศรีและคันศรของพระกามเทพ เทพแห่งความรัก



กามเทพตามคติอินเดีย เป็นเทพเจ้าแห่งความรัก ถือคันธนูที่ทำด้วยลำอ้อย สายธนูคือผึ้งที่เกาะต่อ ๆ กัน มีลูกศรทำด้วยดอกไม้ เมื่อแผลงศรไปต้องผู้ใดจะทำให้เกิดความรักขึ้นในใจผู้นั้น อาวุธของกามเทพประมวลขึ้นมาจากธรรมชาติที่เป็นแหล่งความหวาน คือ อ้อย ผึ้ง และดอกไม้ เพราะกวีต้องการจะสื่อให้รู้ถึงความหอมหวานของความรัก

ลำอ้อยจะโค้งงอได้มากพอที่จะทำเป็นคันธนูหรือไม่ กวีไม่ได้คำนึงถึง และผู้อ่านก็ไม่ได้ติดใจ หากแต่เพ่งเล็งที่เป็นแหล่งความหวาน ของลำอ้อยนั้นมากกว่า

บทพรรณนามงกุฎที่ทำจากลำอ้อยในคัมภีร์อาถรรพเวทย์ของอินเดียก็คงสื่อความหมายถึงความหวาน ในลักษณะเดียวกันว่าเฉพาะรูปลักษณ์ ต้นอ้อยก็เป็นที่ต้องตากวี ลำต้นกลมกลึง ตั้งตรง มีใบเรียวยาวชี้ช้อนขึ้นไปแล้วค้อมลง และมีดอกเป็นรวงขาวประดับอยู่ตรงกลาง ไร่อ้อยในจินตนาการของกวีจึงดูราวกับเป็นทิวแถวของพนักงานที่ถือแส้จามรีเรียงรายกันอยู่



ในพิธีกรรมใช้น้ำอ้อยและทำเป็นน้ำตาลงบเพื่องานบูชาเทพเจ้า จะถวายสดหรือจะทำขนมหวานก็เป็นที่ชอบของเทพและนักบวช
จะเรียกขนมชนิดหนึ่งว่า โมทกะ (ขนมต้ม) เป็นขนมหวาน ทำให้หวานโดยใช้น้ำตาลงบน้ำอ้อย เมื่อจัดเตรียมของต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มประกอบพิธีอัญเชิญเทพเจ้าให้มารับการสักการะของที่จัดถวายไว้ ขอความเป็นมงคลให้กับงานนั้น ๆ และแสดงความกตัญญูที่ท่านมีเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น ต้นอ้อย ต้นกล้วย ที่ใช้จัดบูชาเป็นเครื่องแสดงความอุดมสมบูรณ์และตบะเดชะ ความหวานแสดงถึงปัญญาและที่สำคัญเป็นของวิเศษที่ท่านวิศวามิตรฤาษีได้สร้าง เป็นของซึ่งไม่มีบนสวรรค์ เป็นอาหารทิพย์ ต้นอ้อยจะมีเฉพาะในโลกมนุษย์เท่านั้น

การจัดหาสิ่งของที่เป็นทิพย์ถวายเทพยดานั้น ก็เพื่อต้องการความเป็นมงคลสำหรับงาน

ยังมีข้อความอ้างอิงว่าในสมัยเมื่อ อเล็กซานเอร์เดอะเกรทเสด็จมาที่อินเดียนั้น ราชบริพารที่ตามเสด็จซึ่งภายหลังมีจดหมายเหตุไว้ในหนังสือกล่าวว่า เขาได้พบพันธุ์หญ้าลำต้นใหญ่ชนิดหนึ่งซึ่งมีรสหวานเหมือนน้ำผึ้งแต่ปราศจากตัวรัง (ซึ่งหมายถึงอ้อย)

อ้อยแพร่พันธ์ไปทวีปต่าง ๆ มีปรากฏในหนังสือของคนจีนว่า
สมัยเมื่อขนชาวมัซฌิมาประเทศเริ่มรู้จักกับจีนนั้น มีพวกแขกชาวชนบทแห่งดินแดนที่อยู่ติดต่อกับจีน ได้นำอ้อยมาถวายจักรพรรดิกรุงจีนเป็นเครื่องบรรณาการก่อน และด้วยเหตุที่ขาวจีนมีวิริยะอุตสาหะ ได้ทะนุบำรุงแพร่พันธุ์ไปที่อื่น ๆ จีนนิยมลัทธิไสยสาสตร์อ้อยจึงเป็นของมงคลของสูง ในเครื่องศักดิ์สิทธิ์ในมงคลพิธีต่าง ๆ จะมีอ้อยแทรกอยู่เสมอ เช่น พิธีแต่งงาน จะมีอ้อยนำหน้าผูกผ้าแดงเป็นธงทิวและแต่งซุ้มประตู การแต่งงานเป็นการเชื่อมความผูกพันให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองครอบครัวให้แน่นแฟ้นสนิทสนมกันยิ่งขึ้นของครอบครัวบ่าวสาว อ้อยที่คนจีนใช้ในงานมงคลสมรสนั้นเป็นอ้อยแดง สันนิษฐานว่าอ้อยที่เข้าไปในเมืองจีนแต่แรกนั้นเป็นอ้อยแดง



นอกจากนี้ยังถือว่าอ้อยเป็นของหวาน เป็นสัญลักษณ์ของความรักด้วย จึงใช้ในพิธีแต่งงานและไหว้พระจันทร์ หมายถึงความสดชื่นและความหวาน เป็นที่สังเกตว่าประเทศทางเอเชียที่มีความสัมพันธ์กับประเทศอินเดียและจีนมาแต่โบราณจะใช้อ้อยในพิธีแต่งงาน เช่น ชวา ก็ใช้ต้นอ้อย ต้นกล้วยมีเครือ ในงานแต่งงาน

สุภาษิตชองอินเดีย จะมีอ้อยเข้าไปเกี่ยวข้องเช่น
ธรรมนีติกล่าวว่า
อ้อยมีรสดีลงมาจากปลายเป็นปล้อง ๆ
มิตรย่อมมีลักษณะดีเป็นเช่นนั้น
แต่ทุรชนตรงกันข้าม ฯ

และในโภชนีติศตกมุ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
ดูก่อนอ้อย ตัวเจ้าเป็นของที่เขารักใคร่
เต็มไปด้วยรสหวานอยู่เสมอ
อนึ่งเป็นธนูของกามเทพ ไม่มีอะไรเสมอ
อะไร อะไร ของเจ้าดีทุกสิ่ง
ขาดอย่างเดียว แต่ เคี้ยวไปก็จืด

( สุนทรภู่ ท่านกล่าวว่า " อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก " พลอยโพยมรู้สึกว่า ที่ใช้อ้อยสื่อกับความรักของหญืงชายก็ถูกต้องดี รักใด ที่ไหนจะยั่งยืน เห็นจะไม่มี (รักของคู่รัก)
ไม่เหมือนเกลือ อยู่ที่ไหนก็เค็มที่นั้น แม้ละลายจากเม็ดเกลือเป็นน้ำก็ยังคงความเค็มอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ปราชญ์และผู้คนจึงเปรียบความดีกับความเค็มของเกลือ)



นอกจากความเชื่อของอ้อยว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ใช้ในพิธีกรรมมงคลต่าง ๆ แล้ว
ชาวไร่อ้อยพวกทมิฬของอินเดีย มีประเพณีเกี่ยวกับอ้อยร่วมพิธีเกี่ยวกับการเกษตร ซึ่งทำพิธี 4 วัน
วันแรก ทำพิธีสักการะพระอินทร์ ซึ่งพวกทมิฬถือว่าพระอินทร์เป็นเทพเจ้าแห่งฝน ( ของไทยเรามีพระพิรุณ)
วันที่สองทำขนมด้วยข้าวและน้ำตาล ทำเสร็จแล้วถวายพระสุริยเจ้าก่อน และจะเอาอ้อยถวายด้วย
วันที่สามเอา เอาวัวที่ใช้งานออกมาเข้าพิธี วัวจะประดับประดาสวยงาม
วันที่สี่สาว ๆ ออกมาชุมนุมรื่นเริงบูชาขอพรให้ชีวิตในครอบครัวเป็นสุขสำราญ

ความเชื่อของคนปลูกอ้อยที่มลายูเชื่อว่า เวลาปลูกอ้อยเป็นของสำคัญ
ถ้าปลูกอ้อยในเวลาเที่ยงวันจะได้อ้อยที่หวานกว่าการปลูกเวลาอื่น ๆ
ถ้าปลูกอ้อยในตอนเช้าปล้องอ้อยจะยาว ถ้าปลูกในตอนกลางวันปล้องจะสั้น



อ้อยที่ใช้ทำยาคืออ้อยแดงอย่างที่ชาวจีนใช้ในพิธีแต่งงาน เปลือกเป็นสีแดงจนเกือบดำ จึงมีชื่อว่าอ้อยดำอีกชื่อหนึ่งด้วย เปลือกของอ้อยแดงมีรสขม บางที่จึงเรียกว่าอ้อยขม
แพทย์แผนโบราณใช้ อ้อยแดงกินแก้เสมหะหืดไอ บางที่ขวั้นทั้งเปลือกตากแห้งไว้ปรุงเป็นยาต้มกิน หรือกินสดใช้ลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ลำต้นสด 70-90 กรัม หรือแห้ง 30-40 กรัม หั่นเป็นชิ้น ต้มน้ำ แบ่งดื่มวันละ 2 ครั้งก่อนอาหาร แก้ไตพิการ หนองในและขับนิ่ว
ตาของอ้อยมีรสขมกว่าเปลือก มักปรุงเป็นยาแก้ตัวร้อนดังพิษตานซางของเด็กได้ดี

ในอินเดียภาคใต้ เพื่อถึงฤดูอ้อยในไร่แก่ พลเมืองก็อ้วนท้วนสมบูรณ์ดีผิวพรรณสดใสใบหน้าสดชื่น คนป่วยก็ผ่อนคลายหายเจ็บไข้ เพราะน้ำอ้อยเป็นยาชูกำลัง

ในอินเดีย นอกจากดื่มกินสด ๆ แล้วยังทำเมรัยได้อีก
พวกคองโกก็ดื่มเหล้าน้ำอ้อยในงานแต่งงาน
คนพื้นเมืองของฟิลิปปินส์บางพวก ดื่มเหล้าทำจากอ้อยในพิธีฉลองชัยจากการชนะสงคราม



วรรณคดีไทย ในไตรภูมิพระร่วงซึ่งถือเป็นวรรณคดีเก่าแก่ได้พรรณนาถึงอ้อยไว้ว่า
"เทพยดาทั้งหลายเอาลำอ้อยอันใหญ่เท่าลำหมาก อีกด้วยของฝาก หมากไม้ทั้งหลายมากนักหนามาถวายแด่พรระยาศรีธรรมาโศกราชและย่อมเอามาแต่หิมวันต์ อ้อยฝูงนั้นโลดกินหวานกินอ่อนหนักหนา พระองค์ให้ฟั่นอ้อยทั้งหลายนั้นอังคาดแด่พระสงฆ์ทั้งหกหมื่นพระองค์ "

และอีกตอนหนึ่งกล่าวถึงอ้อยวิเศษที่ขึ้นอยู่ 4 มุมปราสาทของเศรษฐีโชติกเศรษฐี
"แล 4 มุมปราสาทนั้นมีอ้อยทอง 4 ลำ ลำใหญ่เท่าลำตาลอันใหญ่และใบอ้อยนั้นเทียรย่อมแก้วมณีรัตนะแลข้ออ้อยนั้นเทียรย่อมทอง"



เนื่องจากอ้อยเป็นพืชอายุยืนและมีรากหยั่งลึกมาก และเมื่อปลูกครั้งหนึ่งแล้วสามารถไว้ตอหรือเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง

สำหรับอ้อยที่ทำน้ำตาล มีขึ้นในประเทศจีนก่อนที่อื่น ประมาณ 200 ปี จึงเป็นสินค้าที่แพร่หลายไปยังนานาประเทศ แพร่ไปตามหมู่เกาะต่าง ๆ ของอินเดีย แหลมมลายู แหลมอินเดีย ประเทศสยาม ต่อมาสินค้าน้ำตาลทรายได้แพร่หลายไปที่ประเทศอาหรับ ประเทศกรีซและกรุงโรม เป็นต้น
น้ำตาลได้เป็นสินค้าไปสู่ประเทศอาหรับเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13 ฟีลลิกซ์ชาวอาหรับเป็นผู้ตั้งต้นนำพันธุ์อ้อยไปปลูกในประเทศของตนคราวแรก ต่อจากนั้นพืชพันธุ์อ้อยสำหรับทำน้ำตาลก็มีความเจริญแพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ (ความรู้เบ็ดเตล็ด ว่าด้วยต้นอ้อยและน้ำตาลในหนังสือผดุงวิทยา ปีที่ 3 เล่มที่9)

ที่มาของข้อมูล พฤกษนิยายของ ส.พลายน้อย และมิตรผลแหล่งรวมความรู้ - สหวิทยาการอ้อย

ต้นกล้วยและต้นอ้อยในพิธีแต่งงานไทย

ต้นอ้อย ถือกันว่าเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ที่ใช้คู่กับหน่อกล้วยในขบวนแห่ขันหมากโดยถือคติที่ว่า กล้วยนั้นมีการแตกหน่อแตกกอ จะได้อยู่กันเป็นครอบครัว มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง และสำหรับอ้อยนั้นก็มีความหวานให้ความสดชื่นเป็นไปในทำนองขอให้ครองรักกันหวานชื่นกันตลอดไป

กล้วย อ้อย หลังจากพิธีแต่งงานนั้นถ้ามีที่ก็ให้นำไปปลูกเอง แต่ถ้าไม่มีที่จะปลูกที่ไหนจะฝากใครไปปลูกก็ไม่เป็นไรถือกันได้ว่าทำตามประเพณี

ขออภัยดาราประกอบในภาพที่นำภาพมาใช้ ณ ที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้อ่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น