วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] เจ้าจอม..น้อมถวายไข่หงส์

เจ้าจอม..น้อมถวายไข่หงส์



คำเรียก "เจ้าคุณ"
คำว่า ‘เจ้าคุณ’ นั้น ว่ากันว่ามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่มิใช่ยศใช้เรียกยกย่องกันเองโดยทั่วๆ ไป ใช้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็มีบางตอนที่พวกบ่าวไพร่ และผู้พึ่งบารมีความมั่งคั่งของขุนช้าง เรียกขุนช้างว่า ‘เจ้าคุณ’

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า ‘เจ้าคุณ’ มาจากคำว่า ‘เจ้าประคุณ’ (หรือ ‘เจ้าพระคุณ’ นั่นเอง)

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา จดไว้ว่าพระเจ้าเสือ ตรัสเรียก พระราชชนนีเลี้ยง (พระอัครมเหสีในพระเทพราชา ผู้ทรงอุปการะพระเจ้าเสือมาแต่ประสูติ ถึงแผ่นดินพระเจ้าเสือ ทรงสถาปนาเป็นกรมพระเทพามาตย์ ที่พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ว่า ‘เจ้าคุณ’
ความมีอยู่ว่า ครั้งเมื่อพระเจ้าเสือเสด็จไปโพนช้างที่เมืองนครสวรรค์ ตรัสสั่งพระบัณฑูรใหญ่ (เจ้าฟ้าเพชร-ต่อมาคือพระเจ้าท้ายสระ) และพระบัณฑูรน้อย (เจ้าฟ้าพร-ต่อมาคือพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ) ให้ทำถนนข้ามบึงหูกวางให้แล้วในคืนเดียว เมื่อเสร็จแล้วดินพูนถนนจึงยังไม่ทันแห้งสนิท ทำให้ช้างพระที่นั่งไปถลำติดหล่มลงกลางทาง พระเจ้าเสือกริ้วพระราชโอรสทั้งสองว่าคิดกบฏ ให้จำไว้และเฆี่ยนทุกวัน พระบัณฑูรทั้งสองพระองค์จึงใช้ให้คนลงมาเชิญเสด็จ กรมพระเทพามาตย์เสด็จขึ้นไปทูลขอโทษ เมื่อพระเจ้าเสือทอดพระเนตรเห็นกรมพระเทพามาตย์ ตรัสถามว่า “เจ้าคุณขึ้นมาด้วยกิจธุระอันใด”

‘เจ้าคุณ’ ในวัง สมัยกรุงธนบุรี ที่ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุ มีเพียง ‘เจ้าคุณใหญ่’ ท้าวทรงกันดาล (มอญ)

ที่มาของข้อมูล http://www.sakulthai.com โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์



สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

‘เจ้าคุณ’ ท่านแรก น่าจะเป็น เจ้าจอมแว่นหรือคุณเสือ เพราะในหมายร่างพระบรมราชโองการรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรื่องฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กล่าวถึง ‘เจ้าคุณข้างใน’ ว่าเป็นผู้ทำแกงร้อนและทำขนมจีนน้ำยาเลี้ยงพระเลี้ยงคน มีคำอธิบายเชิงอรรถว่า ‘เจ้าคุณข้างใน’ คือ เจ้าจอมแว่น ยกย่องเรียกกันว่า ‘เจ้าคุณ’ เพราะในรัชกาล สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้าจอมแว่นเป็นคนโปรดและเป็นใหญ่อยู่ในวัง



แม้สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จะมิได้ทรงสถาปนาพระอัครมเหสี แต่พระชายาเดิมทรงดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีโดยปริยาย คนทั้งหลายออกพระนามว่าพระพันวษา (หรือพระพันวัสสา) เมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระบรมราชชนนี เป็น กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ส่วนพระพี่พระน้อง ของ สมเด็จพระอมรินทรฯ ที่เป็นภรรยาข้าราชการอยู่ในขณะนั้น เช่น ท่านผู้หญิงนวล ภรรยาเจ้าพระยามหามหาเสนาฯ (บุนนาค) คนทั้งหลายนับถือยกย่องว่าทรงศักดิ์สิทธิ์สูงกว่าภรรยาข้าราชการอื่น ๆ เพราะเป็นพระพี่น้องของพระอัครมเหสี จึงเรียกกันว่า ‘เจ้าคุณ’ แทนที่เคยเรียกกันว่า ‘ท่านผู้หญิง’ ‘คุณหญิง’ หรือ ‘คุณ’



ที่เท้าความคำว่าเจ้าคุณ เพราะจะอ้างถึง เจ้าคุณที่มีนามว่าเจ้าจอมแว่น
เจ้าจอมแว่นมีประวัติความเป็นมาดังนี้
เจ้าจอมแว่น หรือ(เจ้านางแก้วฟ้า. เจ้านางคำแว่น. เจ้าจอมแว่น. เจ้าคุณข้างใน. คุณเสือ. เจ้านางเขียวค้อม. เจ้าน้อยเขียว)

ในปี พ.ศ. 2321 ครั้งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะดำรงยศสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ไปตีกรุงเวียงจันทน์ และเชิญเสด็จพระราชบุตรในพระเจ้าศิริบุญสาร (พระองค์บุญ) มายังสยาม โดยประกอบด้วย เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์ แต่ เจ้าพรหมวงศ์ พระอนุชา ได้หลบหนีไปเมืองอื่นเสีย ในการเดียวกันนี้ยังได้รับเจ้านางคำแว่น ซึ่งเป็นนางกำนัลของพระอัครมเหสีของพระเจ้าสิริบุญสารมาเป็นชายา ใน พ.ศ. 2322
เจ้านางคำแว่นขอให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกเว้นทำลายเมืองพานพร้าว ศรีเชียงใหม่ (จังหวัดหนองคายในปัจจุบัน) และได้รับตามคำขอ



เมืองพานพร้าว หรือ "ค่ายพานพร้าว" นี้เป็นค่ายทหารที่มั่นชั่วคราวของกองทัพไทย (ปัจจุบันคือ บริเวณ หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง)
ศึกครั้งนี้เรียกว่า "ศึกนางเขียวค้อม" ชาวพานพร้าวศรีเชียงใหม่ ได้สร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดนางเขียวค้อม บริเวณบ้านหัวทราย อำเภอศรีเชียงใหม่ ไว้เป็นที่เคารพสักการะของชาวพานพร้าว-ศรีเชียงใหม่ จนถึงทุกวันนี้ (ตำนานนางเขียวค้อมมีหลายสำนวน) และชาวเมืองได้ยกย่องเจ้านางคำแว่นเป็น เจ้านางเขียวค้อม

และในครั้งนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาประดิษฐานไว้ที่ค่ายพานพร้าว โดยสร้างหอพระแก้วชั่วคราวเพื่อการนี้ ส่วนราษฎรชาวเวียงจันทน์ ส่วนหนึ่งให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองพานพร้าว ปะโค และเวียงคุก จากนั้น จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางพร้อมทั้งนำเชื้อพระวงศ์เวียงจันทน์ ข้าราชการ กรมการเมือง รวมทั้งราษฎรชาวเวียงจันทน์ที่เหลือลงมาที่กรุงธนบุรี



หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บันทึกไว้ในหนังสือ โครงกระดูกในตู้ ว่า

เมื่อเจ้าจอมแว่นมาอยู่ในทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาฯ แล้ว ท่านผู้หญิง (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ก็หึงหวงมาก มีปากเสียงกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ด้วยเรื่องคุณแว่นนี้อยู่บ่อย ๆ จนคืนวันหนึ่ง ท่านผู้หญิงถือดุ้นแสมไปยืนดักคอยอยู่ในที่มืด บนนอกชานเรือน พอคุณแว่นเดินออกมาจากเรือนหลังใหญ่ อันเป็นที่อยู่ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านผู้หญิงก็เอาดุ้นแสมตีหัว คุณแว่นก็ร้องขึ้นว่า "เจ้าคุณขา คุณหญิงตีหัวดิฉัน"

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็โกรธยิ่งนัก ฉวยได้ดาบออกจากเรือนจะมาฟันท่านผู้หญิง ฝ่ายท่านผู้หญิงก็วิ่งเข้าเรือนที่ท่านอยู่ แล้วปิดประตูลั่นดาลไว้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เอาดาบฟันประตูอยู่โครม ๆ



เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษก สถาปนาราชวงศ์จักรีและสถาปนากรุงเทพมหานคร ฯ เป็นราชธานีใหม่ เจ้านางคำแว่น จึงได้รับสถาปนาขึ้นเป็นที่ เจ้าจอม(แว่น) พระสนมเอก และโปรดให้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทจนชาววังยกย่องเป็น เจ้าคุณข้างใน และเป็นเจ้าคุณท่านแรกในจักรีวงศ์



เจ้าจอมแว่นเป็นผู้มีความกล้าหาญและมีศิลปะในการเพ็ดทูลเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่มีผู้ใดกล้าจะกราบทูล ถ้าท่านเห็นว่าเป็นสิ่งสมควรและถูกต้องแล้ว ก็จะกราบทูลทันทีมิได้เกรงกลัวพระราชอาญา

ความกล้าหาญของเจ้าจอมแว่นเป็นที่ประจักษ์เมื่อ เมื่อปี พ.ศ. 2339 คราวที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายจากการว่าราชการเมือง ขณะบรรทมหลับก็เกิดพระสุบินและทรงละเมอ ทำให้ข้าราชบริพารตกใจ มิรู้ที่จะทำอย่างไรดี เจ้าจอมแว่นใช้ความหาญกล้าตัดสินใจกัดนิ้วพระบาท จนพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้สึกพระองค์และตื่นบรรทม เจ้าจอมแว่นได้รับความดีความชอบและเป็นที่โปรดปรานของพระองค์

ความจงรักภักดีและสุจริตใจของเจ้าจอมแว่นนี้ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช จึงไม่ทรงพิโรธ



เจ้าจอมแว่นยังมีความสามารถในการปรุงอาหารยิ่งนัก ดังปรากฏเป็นตำนานว่า
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นั้นโปรดเสวยไข่เหี้ย กับมังคุด เป็นอย่างยิ่ง อยู่มาวันหนึ่งก็โปรดจะเสวย แต่ไม่มีใครสามารถหาได้เลย เพราะไม่ใช่ฤดูกาลเหี้ยวางไข่ เจ้าจอมแว่น จึงประดิษฐ์ "ขนมไข่เหี้ย" ขึ้นตั้งเครื่องถวายแทนต่อมาหลายท่านเรียกขนมไข่เหี้ยด้วยชื่อใหม่ที่ฟังดูหรูหราว่า"ขนมไข่หงส์"

เมื่อครั้งทำบุญใหญ่ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช ได้ทรงโปรดให้เลิกข้าวทำขนมจีนเลี้ยงพระสงฆ์นับพันรูปถึงวันละเกวียน โดยเจ้าจอมแว่นผู้มีชื่อเสียงในการปรุงน้ำยาที่สุดในสมัยนั้น ได้เป็นผู้ปรุงถวายพระในการเลี้ยงนี้เอง



เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร และพระบรมมหาราชวังขึ้นนั้น สมเด็จพระอมรินทราฯ ก็มิได้เคยเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังเลย ประทับอยู่ที่บ้านเดิมจนสวรรคต
เจ้าจอมแว่น เป็นพระสนมเอก ที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังมีหน้าที่อภิบาลพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อย่างเข้มงวด จนได้รับฉายาว่า "คุณเสือ"

แม้ว่าเจ้าจอมแว่นจะมีอุปนิสัยเข้มงวดจริงจังปานใดก็ตาม แต่ความจงรักภักดีอย่างจริงใจเป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อพระองค์ใดทรงมีปัญหาสำคัญ แก้ไขไม่ได้ด้วยพระองค์เอง มักจะขอร้องให้เจ้าจอมแว่นช่วยซึ่งทุกพระองค์ก็จะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มใจเสมอ จึงเป็นที่เกรงกลัวและนับถือของทุกพระองค์



เจ้าจอมแว่นรับราชการในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอย่างใกล้ชิดแต่มิได้ให้ประสูติพระหน่อ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ถวายการอภิบาลพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีเชื้อสายเป็นชาวเวียงจันทน์เหมือนกัน รวมทั้งยังเป็นผู้ถวายการอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี อีก 3 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากลาง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) และสมเด็จเจ้าฟ้าปิ๋ว

เจ้าจอมแว่น ถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย



หมายเหตุ
กาพย์พระไชยสุริยา เป็นวรรณคดีที่ประพันธ์โดย สุนทรภู่ เป็นนิทานสำหรับสอนการเขียนอ่าน เชื่อว่าสุนทรภู่ประพันธ์ขึ้นในราวปี พ.ศ. 2383-2385 สำหรับใช้เป็นบทเรียนเขียนอ่านเพื่อถวายพระอักษรแด่พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระอัครชายา คือเจ้าฟ้าชายกลางแล้วเจ้าฟ้าปิ๋ว



สูตรขนมไข่หงส์
เครื่องปรุง
ตัวแป้ง
แป้งข้าวเหนียว 2 ถ้วย น้ำตาลทราย 1 ถ้วย น้ำ 2 ถ้วย
ไส้
ถั่วนึ่งบดละเอียด 2 ถ้วย น้ำตาลทราย ½ ถ้วย เกลือ 2 ช้อนชา พริกไทยป่น ½ ช้อนชา
วิธีทำ
-ผัดถั่วเขียว น้ำตาล เกลือ พริกไทยรวมกัน ใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย พอเย็นปั้นเป็นก้อนกลมใส่ถาดแช่ตู้เย็นไว้ตอนห่อไส้จะได้ห่อง่ายๆ
-นวดแป้งข้าวเหนียวกับน้ำจนแป้งนุ่มเนียน ไม่ติดมือ คลึงแป้งที่นวดเป็นแผ่น ตักไส้ใส่ หุ้มให้มิด ทอดให้สุกเหลือง ตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำมัน
-เคี่ยวน้ำตาลทรายกับน้ำจนเป็นยางมะตูมเหนียว ใส่ขนมที่ทอดไว้ คลุกให้น้ำตาลจับทั่วก้อน ตักขึ้น โดยต้องคลุกน้ำตาลขณะขนมยังร้อนอยู่มิฉะนั้นน้ำตาลจะไม่เคลือบติดขนมอย่างสวยงาม

ไข่ ของจริงจะมีรูปร่าง รียาวสีขาวขุ่น ไม่กลมอย่างขนม มีในฤดูร้อนต่อเนื่องฤดูฝนไข่คราวละ 15-20 ฟอง ใช้เวลาฟัก 45-50 วัน ไข่จะถูกกลบเป็นเนินดินหรือรังปลวก แต่ละปีจะมีไข่ 2-3 ครั้ง หรืออาจมากกว่านั้นในพื้นที่ซึ่งสภาพในฤดูแล้งและฤดูฝนไม่แตกต่างกัน

คนข้าง ๆ พลอยโพยมบอกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะในสมัยก่อนนั้นมีแต่การศึก กองทัพต้องนอนกลางดินกินกลางป่า หากเสบียงอาหารที่เตรียมไปหมดลงก็ต้องหาสิ่งที่พอจะกินได้จากที่บริเวณนั้น ๆ กินไปตามมีตามเกิดทหารหาญ ส่วนใบเตยแสดงความคิดเห็นว่าเจ้าสัตว์ชื่อนี้อาจไม่ได้เป็นที่รังเกียจของสังคมไทยในยุคนั้นแม้จะมีชื่อไม่ไพเราะนัก แล้วก็มาอ่านเจอเรื่องการกินไข่ของเจ้าตัวชื่อไม่ไพเราะนี้ภายหลังอีก



เคยอ่านเจอ ใน http://www.lks.ac.th/kanlayanee_fence/61249/about/bangn112.html ว่า

คนโบราณนั้นกินไข่จริงนี้โดยการนำไปย่างไฟอ่อนๆก่อนย่างก็ใช้เข็มหรือของแหลม ๆ บรรจงเจาะไข่ให้เป็นรูเล็กๆจนทั่ว ไข่นั้นไม่แข็งเหมือนไข่เป็ดหรือไข่ไก่แต่จะอ่อนนุ่มนิ่มบุบๆบี้ ๆ คล้ายกับ ไข่เต่าลูกแต่โตกว่าไข่เป็ดมาก ดังนั้นถึงจะเจาะอย่างไรก็ไม่แตกแน่ ๆ ที่นี้ระหว่างที่ย่างอยู่นั้นก็จะพรมน้ำเกลือลงบน ไข่ไปเรื่อย ๆ จนไข่สุก รสชาตินั้นว่ากันว่าจะออกมัน ๆ เค็ม ๆ ไข่แดงรสมัน เคี้ยวร่วน กลิ่นหอมและรสอร่อยกว่าไข่เค็ม
นิยมกินแนมกับมังคุดจะอร่อยเป็นพิเศษ คาดกันว่าการกินไข่นี้กินกันมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

อ่านแล้วไม่ต้องผะอืดผะอมกันหรอก เพราะปัจจุบันพวกเราก็คงเคยกินเนื้อของตัวเงินตัวทองนี้ โดยไม่รู้ตัวและอาจจะหลงว่าของที่กินนั้นอร่อยเหลือแสนก็เป็นได้ เพราะแถบ ๆ ฉะเชิงเทรา มีคนล่าจับสัตว์ชื่อไม่ไพเราะเสนาะหูแถมถูกกล่าวถึงเวลาโมโหสุดขีดของหลาย ๆ คนอยู่บ่อย ๆ คนจับบอกว่ามีคนมารับซื้อเอาส่งไปโรงงานชื่อดังที่อีสาน ผลิตภัณฑ์ของโรงงานนี้ลือกระฉ่อนทั่วไทย ไปที่ไหน ๆ ก็พบเจอ เขาบอกว่าขายได้ราคาดีมาก ๆ เจ้าสัตว์ตัวนี้หายหน้าหายตาไปนานทีเดียว



ต่อมาได้พบเจ้าสัตว์นี้ที่วิทยาเขตกำแพงแสนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่นครปฐม ออกมาเพ่นพ่านตามแนวถนนด้านในข้างหลังที่ยังเป็น ป่าโปร่ง เล็ก ๆ ของวิทยาเขต ขับรถหลบแทบไม่ทัน พบเจอครั้งละตัว ห่าง ๆ ระยะกัน แต่นั่นยังน้อยไป ตอนลูกชาย ใบไผ่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรที่วังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ตอนเปิดภาคเรียนใหม่ ๆ ปีแรก ขับรถเข้าไปลึกข้างในหน่อย กลายเป็นต้องจอดรถรอให้เจ้าของพื้นที่คลานหลบไปเสียก่อน แต่ละตัวเชิดหน้ามองคนในรถเหมือนจะบอกว่า

" ที่นี่ที่ของฉันนะจ๊ะ เธอมาแต่ไหนกันล่ะ รบกวนพวกฉันนะนี่รู้ไหม แดดร่มลมพัดโชยเย็นชื่นฉ่ำแบบนี้เป็นเวลาของพวกฉันออกมาสังสรรค์พบปะแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์กันนะ ว่าจะป้องกันการบุกรุกความสงบสุข จากเสียงรถยนต์เสียงแตรรถที่แสบแก้วหูอย่างที่เธอกำลังทำอยู่อย่างไรดี เธอก็มาพอดี เบื่อจริง ๆ ฉันไปดีกว่า "
แล้วก็คลานกระต้วมกระเตี้ยมเพราะความอ้วนพีหลบไปข้างทาง ตรงนั้นตัว ตรงนี้ตัว ไปหลาย ๆ ครั้งเข้าก็เริ่มชิน ถ้าไม่มีการออกมาทักทายก็ชักแปลก ๆ ใจว่า เจ้าของกิจการร่วมทุนที่ดินของมหาวิทยาลัยหายไปไหนกัน หรือว่าที่วังสนามจันทร์ก็มีคนมีอาชีพจับเจ้าสัตว์ตัวนี้ส่งไปขายเหมือนเมืองฉะเชิงเทรากันเล่านี่



โดยส่วนตัวพลอยโพยมรังเกียจสัตว์หลายประเภทฝังอกฝังใจ เช่นตุ๊กแกเจอที่ไหนขยักขย่อนจะอาเจียนทุกครั้งตั้งแต่เด็ก พอวัยนี้ เวลาพบเห็นก็ยังพอขยะแขยง คนโบราณบอกว่า ที่ตุ๊กแกร้องเพราะตับในท้องแก่ ต้องส่งเสียงร้อง ตุ๊กแก ตุ๊กแก เพื่อให้งูมากินตับ มีตุ๊กแกอยู่ตัวเขื่องตัวหนึ่งส่งเสียงร้องอยู่หลายวัน บางทีเปิดประตูครัวซึ่งอยู่นอกตัวบ้าน ก็จะเห็นเขากลิ้งกลอกสายตามองจ้องหยั่งเชิงอยู่ พลอยโพยมเคยแต่วิ่งอ้าวหนีทุกที พอเห็นหลาย ๆ ครั้ง เข้าก็เลิกหนีกล้ามองสบตาเจ้าตุ๊กแกวัดพลังจิตกัน กลายเป็นเจ้าตุ๊กแกคลานหนีไปอ้าวเลย เจ้าตุ๊กแกก็กลัวมนุษย์อยู่มากเหมือนกัน หลังจากที่เสียงร้องหายไปตัวตุ๊กแกก็หายไปด้วย



น้องชายเล่าว่าตุ๊กแกตัวนี้ถูกงูเขียวกินไปแล้ว แปลกแต่จริงว่างูเขียวไม่ได้กินตับตุ๊กแกที่ใคร ๆ บอกว่า ตุ๊กแกจะคอยอ้าปากให้งูล้วงตับออกมากิน กลายเป็นว่างูเขียวเขมือบกินตุ๊กแกทั้งตัว ก็เลยนึกสงสารตุ๊กแก คิดไปคิดมาตุ๊กแกก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไรมากมาย ลวดลายบนตัวถ้าไม่กลัวก็สวยดีเหมือนกัน ลายพร้อยหลากสีไปทั้งตัวออกอย่างนั้น ต่างคนต่างอยู่บนโลกใบเดียวกัน ถามน้องชายว่าทำไมไม่ช่วยตุ๊กแกล่ะ น้องชายตอบว่างูเขียวเขมือบเข้าไปตั้งค่อนตัวแล้ว มันเป็นห่วงโซ่อาหารของกันและกันอยู่

ป่านนี้คงไปเกิดใหม่ในภพที่ดีกว่าการเป็นตุ๊กแกเรียบร้อยแล้ว มิหนำซ้ำขณะนี้ตุ๊กแกก็ถูกไล่ล่าจับไปขาย บ้านไหนมีตุ๊กแกหลายตัวทำลายขวัญคนในบ้านก็ไปส่งข่าวบอกคนจับตุ๊กแกขาย ขอเพียงส่งเสียงมา คน ๆ นี้จะรีบมาโดยเร็วไวเลยทีเดียว การจับตุ๊กแกไม่ยาก ตอนอยู่บ้านบางกรูดสมัยเด็ก ๆ พี่ชายเขาจับบ่อย ๆ โดยใช้ก้านตอก (คือแกนกลางของใบจากอ่อนที่ลิดใบไปทำใบจากมวนยาสูบ) ทำห่วงกลมที่ปลายก้านตอก แล้วเอาโคนตอกสอดเข้าไปในห่วงกลมนั้น เวลาคล้องคอตุ๊กแกได้แค่กระตุกโคนก้านตอก ห่วงที่ทำไว้จะรัดคอตุ๊กแก คล้องคอตุ๊กแกได้แล้วก็หิ้วร่องแร่งเอาออกไปนอกบ้าน เพราะในบ้านเด็กผู้หญิงมีหลายคนแต่ละคนกลัวตุ๊กแกกันหัวหด เกาะอยู่ตรงไหนไม่มีเด็กผู้หญิงกล้าเดินผ่านเพราะกลัวตุ๊กแกกระโดดลงมาเกาะคอเรา เลยต้องหดคอตัวเองไว้( คิดไปเองเป็นตุเป็นตะ ที่แท้แล้วตุ๊กแกก็กลัวคน) พร้อมกับส่งเสียงเจื้อยแจ้วแสบแก้วหูร้องเรียกคนอื่นมาไล่ไปให้ที เพื่อจะได้เดินผ่านที่ตรงนั้นได้ พวกผู้ชายก็เลยรำคาญใจมาช่วยจัดการให้ คนคล้องตุ๊กแกจะอยู่ห่างตัวตุ๊กแกแค่ระยะของก้านตอกเอง


จากวิกิพีเดียมีความว่า

ตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่อยู่ในความเชื่อของชาวไทยมาแต่โบราณ เช่น เชื่อว่าตุ๊กแกมักถูกงูเขียวเข้ามากินตับ โดยอ้าปากให้งูเข้าไปกินถึงในท้อง แท้ที่จริงแล้ว งูเขียวเมื่อหาอาหารไม่ได้จะบังคับให้ตุ๊กแกอ้าปากเพื่อเข้าไปกินเศษอาหารที่ติดตามซอกปากของตุ๊กแก
นอกจากนี้แล้ว ยังเชื่อว่าเสียงร้องของตุ๊กแกยังเป็นการบอกถึงโชคลางของผู้ที่ได้ยินอีกด้วย ตามเวลาและจำนวนครั้งที่ต่างกัน เช่น 1 ครั้ง เชื่อกันว่า ผู้ได้ยินจะเสียเงินทองโดยไม่เต็มใจ แต่ถ้าได้ยินเสียงตุ๊กแกร้อง 3 ครั้ง เชื่อว่า คนในบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข พบกับความเจริญรุ่งเรือง หรือ ตุ๊กแกร้องตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกาจนถึงเที่ยง เชื่อว่า จะได้รับข่าวดี เป็นต้น

ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย และhttp://www.lks.ac.th/kanlayanee_fence/61249/about/bangn112.html
ที่มาของภาพประกอบเรื่องเจ้าคำแว่น http://mblog.manager.co.th/septimus/Oil-Painting-by-Unknown-Artist
และมิใช่ภาพของเจ้าจอมแว่นจริง เพียงแต่นำภาพมาสื่อทดแทน เมื่อคั่นข้อความที่ยาวมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น