วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] เยือนถิ่น..รินขนมหวาน

เยือนถิ่น..รินขนมหวาน


หยอดเรืองรองทองริน


เรืองไรไหมกาญจนา


ฝอยทองผ่องอำไพ


ทองหยิบกลีบชมพูนุช


ทองหยิบทิพย์อุไร


เส้นใยไหมรชตะ


รังไหมใยหิรัญ


เฉิดฉายหลายชั้น


เฉิดฉันอัญมณี
(ขนมหยกมณี เดิมมีแต่สีเขียวของใบเตย)


นิลกะละแม
(นินละกะละแม)


หัวผักกาดดาษบุษบา


หัวผักกาดดาษมาลี

"ริน" ผู้นำธุรกิจขนมหวานไทยของฉะเชิงเทรา โดยการไต่เต้ามาจากอุตสาหกรรมในครอบครัวของคุณวิทยา น้อยใจบุญ

ประวัติความเป็นมา
รินขนมหวานเป็นร้านของคุณครูวรพรรณีน้อยใจบุญ (เหล่าสินชัย) ท่านเคยเป็นคุณครูสอนพลอยโพยมชั้นประถมต้นที่โรงเรียนวัดผาณิตาราม ท่านเป็นคุณครูอยู่ไม่นานนัก ต่อมาเมื่อท่านสมรสกับคุณวิทยา น้อยใจบุญ ซึ่งมาจากสายบรรพบุรุษเดียวกัน อยู่โรงสีล่าง ตำบลบางกรูด ซึ่งมีสูตรและเคล็ดลับในการปรุงขนมชนิดต่าง ๆ และถ่ายทอดมาที่บุตรหลาน หลายสาย คุณครูก็เลยได้สูตรสองทางคือน้อยใจบุญและเหล่าสินชัย โดยเฉพาะกระยาสารทน้ำอ้อย ที่มีชื่อเสียงของบ้านหัวแหลม (เป็นชื่อเรียกบ้านของกลุ่มสกุลวัฒนสินธุ์ ซึ่งแยกออกเป็นอีกหลายสกุล และมีบ้านอยู่รวมกลุ่มกัน) บ้านหัวแหลมอยู่ฝั่งแหลม อยู่คนละฝั่งเยื้องกับโรงสีล่างเป็นกลุ่มคหบดี ที่มีฝีมือเลื่องลือชื่อในเรื่องอาหารคาวหวาน

คุณครูเริ่มต้นทำกระยาสารท ที่บ้านบางพระ ตำบลโสธรโดยใช้ชื่อของบุตรสาวคนที่ 2 ว่า ริน ก็เลยเกิดกระยาสารทริน ( กระยาสารทริน กระยาสารทอาภรณ์ กระยาสารทต้องใจ มีต้นบรรพบุรุษเดียวกัน)
ริน หมายถึง ทองคำที่มีเนื้อหย่อนกว่าเนื้อ ๔ เรียกว่าทองริน เป็นอีกความหมายหนึ่งของคำแปลของคำว่าริน

หลังจากกระยาสารทรินได้รับใบประกาศ “เชลล์ชวนชิม” จาก ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ (ได้ทั้งหมด 3 ใบในวาระต่าง ๆ กัน) ก็เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น เนื่องจากมีฟาร์มไก่ด้วย ต่อมาครอบครัวของคุณครูจึงได้ยึดธุรกิจขนมหวานเต็มตัว โดยเพิ่มชนิดของขนมมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ขนมชั้น ขนมหม้อแกง ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน วุ้นกะทิ วุ้นหวาน ขนมดอกลำดวน และยังมีขนมไทย ๆ อีกกว่า 20 ชนิดในปัจจุบัน วันหยุดราชการจะทำขนมพิเศษจำหน่ายหน้าร้าน และเทศกาลต่าง ๆ ก็ทำขนมตามเทศกาลเช่น ตรุษจีน-สารทจีน ทำขนมเทียน , ขนมเข่ง ฤดูผลไม้ทำขนมตามฤดูกาลเฉพาะประเภทผลไม้ เช่น หน้าสาเก ทำสาเกเชื่อม, หน้าลำไย ทำตะโก้ลำไย เป็นต้น ช่วงเทศกาลปีใหม่รับจัดกระเช้าของขวัญปีใหม่โดยใช้ขนมไทยล้วน ๆ

รวมระยะเวลาที่เปิดกิจการประกอบการขนมหวานมา 37 ปี เป็นความภูมิใจที่ร้านรินเติบโตขึ้นด้วยความพยายาม อุตสาหะ อดทน ซื่อสัตย์ จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเสมือนหนึ่งว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา

น้องสาวของคุณครู เล่าตำนานกระยาสารท ให้ฟังว่า
สมัยก่อนคุณยายของคุณครูทำกระยาสารท สูตรที่ใช้น้ำอ้อยนี่แหละ เมื่อกวนกระยาสารทเสร็จเรียบร้อยก็เทกระยาสารทลงใส่ในไห เป็นการเก็บรักษา ลูกหลานและคนในบ้านเวลาจะทานกระยาสารทก็เอามือล้วงลงไปในไห พอนานวันเข้ากระยาสารทก็เริ่มติดกันล้วงไม่ขึ้น ( เนื่องจากมีกระยาสารทหลายไหด้วย) แต่ละคนที่จะทานกระยาสารทก็หาหนทางเอากระยาสารทออกมาจากไห หาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ กัน ตามแต่ใครจะคิดใช้อะไร จนคราวหนึ่งเกิดเหตุไหกระยาสารทแตก เพราะแรงกระทุ้งกระยาสารทนั่นเอง คุณยายของคุณครู ก็เลยเปลี่ยน เป็นใส่ปี๊บที่มีฝาปิดครอบ โดยเทกระยาสารทบนถาดไม้สี่เหลี่ยมก่อน แล้วตัดเป็นแผ่น ๆ เก็บใส่ปี๊บ คราวนี้ปี๊บไม่แตก แต่แผ่นกระยาสารทที่ตัดเป็นชิ้น ๆ ก็ยังเกาะตัวอยู่ด้วยกัน ( ปี๊บไม่แตกแต่น่าจะบุบ หรือบู้บี้ ด้วยแรงหลานคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนก็เป็นได้)

ด้วยภูมิปัญญาของคุณยาย ท่านก็เลยใช้วิธีคั่วถั่วลิสง แล้วหั่นซอยถั่วลิสงคั่วใช้โรยที่กระยาสารทตอนกวนเสร็จอยู่ในถาดไม้ จากนั้นแผ่นกระยาสารท ก็ไม่เกาะติดกันอีก
นอกจากเป็นการกวนกระยาสารทสูตรใช้น้ำอ้อยแทนน้ำตาลปี๊บแล้ว ยังมีความพิเศษ ที่มีถั่วลิสงคั่วซอยโรยกระยาสารทด้วย
หมอซ้ง รายการตามไปดู ได้ตามมาดู และเป็นผู้เก็บสถิติว่า ถั่วลิสง 1 ซีก ถูกซอยละเอียดเพื่อนำมาโรยกระสารท มีจำนวน 120 ชิ้น รวมถั่วลิสง 1เม็ด ก็เป็น 240 ชิ้น
คุณครูบอกว่า ถั่วลิสงที่จะใช้ซอยละเอียดนี้ ต้องคัดพิเศษ และการคั่วก็ต้องมีเคล็ดลับ เพื่อให้ซอยถั่วลิสงได้ ( พลอยโพยมขอเก็บเป็นความลับไม่บอกต่อก็แล้วกัน)

เมื่อทำเป็นอุตสาหกรรม ก็ต้องว่าจ้างคนซอยถั่วลิสง คนรับจ้างมารับถั่วที่คั่วแล้ว เอากลับไปซอยที่บ้านตนเอง ราคาจ้างคิดเป็นกิโลกรัม คนที่ซอยจนชำนาญแล้วก็ซอยตอนดูทีวีก็ได้ ตาดูทีวี หูฟังเสียงทีวี มือก็หั่นซอยถั่วลิสงไปได้

ต่อมาในปี 2546 คุณครูก็เพิ่มการทำฝอยเงิน ก็คือการนำไข่ขาวมาโรยเป็นเส้นแบบเดียวกับฝอยทอง และเรียกชื่อว่าฝอยเงิน และพันเป็นคำ ๆ
ทองหยิบของคุณครูสวยงามมาก น่าจะสวยที่สุดในโลกเลยทีเดียว
ใบไผ่ของพลอยโพยมบอกว่าทองหยอดของริน สวย แห้ง เบา โปร่ง
เคยมีบทความเกี่ยวกับขนมหัวผักกาดแล้วครั้งหนึ่ง สนใจอยากลิ้มลองก็เลี้ยวรถเข้ามาที่ร้านรินได้ทุกวัน


ร้านรินสำนักงานใหญ่

เกียรติคุณที่ได้รับของริน ขนมหวาน

- ขนมกระยาสารท ได้รับคัดเลือกเป็นขนม “เชลล์ชวนชิม” พ.ศ. 2521

- ขนมหม้อแกง ขนมชั้น เม็ดขนุนและขนมหวานต่าง ๆ ได้รับ “เชลล์ชวนชิม” พ.ศ. 2523

- ข้าวตังเสวย ได้รับคัดเลือกเป็นขนม “เชลล์ชวนชิม” พ.ศ. 2534

- ได้รับโล่เกียรติยศคุณภาพสินค้าไทย ปี พ.ศ. 2535 จากนิตยสารอินเตอร์บิสสิเนส

- ขนมข้าวตังหน้างา ได้รับรางวัลดีเด่น ในการประกวด ผลิตภัณฑ์จากข้าว ประเภท ข้าวตังทรงเครื่องจาก

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี พ.ศ. 2545

- ขนมข้าวตังหน้ากุ้ง ได้รับรางวัลดี ในการประกวด ผลิตภัณฑ์จากข้าว ประเภท ข้าวตังทรงเครื่อง จาก

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี พ.ศ.2545

- ขนมกะละแม ได้รับรางวัลดี ในการประกวด ผลิตภัณฑ์จากข้าว ประเภท กะละแม จาก

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี พ.ศ.2545

- พ.ศ. 2545 ได้เข้าร่วม โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สินค้าที่ได้รับรางวัลจากการเข้าประกวดคัด

สรรสุดยอดสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เมื่อกลางปี พ.ศ. 2546 คือ กระยาสารทและข้าวตังหน้ากุ้ง

ได้รับรางวัลระดับ 5 ดาว ขนมใบจากได้รับรางวัลระดับ 4 ดาว (ระดับจังหวัด)

- กระยาสารท “ริน” ได้รับรางวัล OTOP Product Champion 5 ดาว ระดับภาคกลางประจำปี พ.ศ.2546

- ข้าวตังหน้ากุ้ง “ริน” ได้รับรางวัล OTOP Product Champion 4 ดาว ระดับภาคกลางประจำปี พ.ศ.2546

- ขนมไทย “ริน” ได้รับรางวัล OTOP Product Champion ระดับ 4 ดาว ประจำปี พ.ศ.2547

- ขนมไทย “ริน” ได้รับรางวัล OTOP Product Champion ระดับ 5 ดาว ประจำปี พ.ศ.2549

- ข้าวตังหน้ากุ้ง ,ข้าวตังหน้างา ได้รับโล่เกียรติยศมาตรฐานด้านคุณภาพ ความปลอดภัยและการบรรจุ (OTOP TOP AWAED) ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2549

- กระยาสารทและขนมไทย “ริน” ได้รับ “มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน” พ.ศ.2547 ,พ.ศ.2548 ,พ.ศ.2549

- พ.ศ.2549 ร้านรินได้รับมาตรฐาน GMP จากสำนักงานสาธารณสุขฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายและการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุของผู้บริหารร้านริน อีกมากมายหลายครั้ง




ที่ตั้ง : ริน สำนักงานใหญ่
15/2 หมู่ 3 ต.โสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 24000
โทรศัพท์ : 0-3851-2534 , 0-3851-3777 โทรสาร : 0-3851-8755
เปิดบริการ 07.00 - 19.00 น. ทุกวัน






ร้านรินสาขาโสธร

ที่ตั้ง : ริน สาขาโสธร
887/1 ถ.เทพคุณากร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
โทรศัพท์ : 0-3882-1234 , 0-8635-17519 โทรสาร : 0-3882-1234
เปิดบริการ 08.00 - 18.00 น. ปิดทุกวันอังคารสัปดาห์ที่ 3 ของทุกเดือน


หรือจะเยี่ยมชม เว็บไซต์ ได้ที่ http://www.rin.co.th



หมายเหตุ
เรืองรอง แปลว่า สุกสว่าง
เรืองไร แปลว่า มีแสงสุกสว่างเหมือนทอง
อำไพ แปลว่างาม สว่าง สุกใส
กาญจนา ,ชมพูนุช ,อุไร แปลว่าทอง
ทองริน คือทองคำที่มีเนื้อหย่อนกว่าเนื้อ ๔
รชตะ (ระชะตะ ) , หิรัณ แปลว่าเงิน
เฉิดฉาย แปลว่างามผุดผาด สดใส
เฉิดฉัน แปลว่า งาม,เพริศพริ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น