วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปัจฉิมมัจฉา ...ปลาปักเป้า...เจ้าเอย

ปลาปักเป้า...เจ้าเอย



อันดับปลาปักเป้า

ชื่ออังกฤษ: Puffer, Sunfish, Triggerfish, Filefish

ชื่อวิทยาศาสตร์: Tetraodontiformes,

เป็นชื่อเรียกของปลาอันดับ Tetraodontiformes

มีอยู่หลายชนิด หลายวงศ์ หลายสกุล อาศัยอยู่ทั้งในทะเล น้ำกร่อย และน้ำจืด โดยมากมีลำตัวกลม ครีบและหางเล็ก จึงว่ายน้ำได้เชื่องช้าดูน่ารัก หัวโต ฟันแหลมคมใช้สำหรับขบกัดสัตว์น้ำมีเปลือกต่าง ๆ เป็นอาหาร คนที่ลงเล่นน้ำจึงมักถูกกัดทำร้ายเป็นแผลบ่อย ๆ เมื่อตกใจหรือข่มขู่ สามารถสูดน้ำหรือลมเข้าช่องท้องให้ตัวพองออกได้ ในบางชนิดมีหนามด้วย ปลาในอันดับนี้ที่รู้จักกันดี คือ ปลาปักเป้า



ปลาปักเป้าทุกชนิดเป็นปลาที่มีพิษในตัว โดยเฉพาะอวัยวะภายในและรังไข่ แม้บริโภคเพียงเล็กน้อยก็อาจถึงแก่ความตายได้ แต่บางชนิดในบางแหล่งน้ำหรือบางภูมิภาคก็มีผู้จับมาบริโภค โดยต้องรู้วิธีชำแหละเป็นพิเศษ เช่น ประเทศญี่ปุ่น นิยมบริโภคปลาปักเป้าโดยทำเป็นซูชิ จนเป็นอาหารประจำชาติญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จัก

วงศ์ปลาปักเป้ามีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 วงศ์ คือ

Diodontidae ปลาในวงศ์นี้มีฟัน 2 ซี่

Tetraodontidae ปลาในวงศ์นี้มีฟัน 4 ซี่ และ

Triodontidae ปลาในวงศ์นี้ลักษณะลำตัวแบนข้าง



ในประเทศไทย มีการนำปลาปักเป้ามาจำหน่ายในท้องตลาดในชื่อปลาเนื้อไก่ ซึ่งผู้บริโภคอาจได้รับพิษ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้ เนื่องจากสารพิษชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ในหนังปลา ไข่ปลา เนื้อปลา ตับ และลำไส้ มีความทนต่อความร้อนสูง ความร้อนในการปรุงอาหาร การหุงต้ม การแปรรูป ไม่สามารถทำลายสารพิษดังกล่าวได้ ส่วนปลาในวงศ์อื่นแต่อยู่ในอันดับนี้ คือ ปลาแสงอาทิตย์ (Mola mola) ซึ่งเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในอันดับนี้ด้วย รวมทั้งปลาวัว (Balistidae) เป็นต้น



ปลาปักเป้าน้ำจืด

ปลาปักเป้าน้ำจืดที่พบใน ลำน้ำบางปะกง มี 3 สกุล

สกุล Carinotetraodon

ปักเป้าสกุลนี้มีลักษณะที่เด่นกว่ากลุ่มอื่น โดยเพศผู้และเพศเมียมีความแตกต่างกันมาก ทั้งในเรื่องรูปร่างและสีสัน ปลาเพศผู้จะมีลำตัวใหญ่กว่า แบนข้างมากกว่า และมีสีสวยงามมาก นอกจากนี้ในการแสดงความก้าวร้าวปลาปักเป้ากลุ่มนี้เพศผู้สามารถกางส่วนของผิวหนังบนส่วนหัวและท้องได้

ปักเป้าสกุลนี้มีขนาดค่อนข้างเล็กกว่าปักเป้าสกุลอื่น และยังมีสมาชิกเป็นปักเป้า ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกได้แก่ ปักเป้าสีเหลือง Yellow Puffer (C. tarvancoricus )

ปักเป้าสมพงษ์ (ปลาสวยงาม), ปักเป้าตาแดง(ฝั่งธนบุรี) Carinotetraodon lorteti (Tirant, 1885)

ปลาชนิดนี้สามารถพบได้ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำโขงตอนล่างในเขต กัมพูชาและเวียดนาม



สกุล Chonerhinus

ปักเป้าสกุลนี้มีลักษณะที่เด่นกว่ากลุ่มอื่น ตรงที่มีลำตัวค่อนข้างแบนข้าง มีครีบหลังและ ครีบก้นค่อนข้างใหญ่ ว่ายได้รวดเร็วกว่าปักเป้าน้ำจืดกลุ่มอื่น พองได้น้อยกว่าปักเป้ากลุ่มอื่น เป็น ปักเป้าที่มีความอันตรายต่อความเป็นชายมากกว่ากลุ่มอื่น ในไทยพบสองชนิด

ปักเป้าทอง Chonerhinus modestus (Bleeker, 1850)

เป็นปลาในสกุลนี้ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด ส่วนใหญ่ถูกรวบรวมมาจากแม่น้ำบางปะกง ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ปลาชนิดนี้พบในแม่น้ำในพื้นที่ซึ่งมีอิทธิพลของน้ำขึ้นลง เป็นปลาที่มัก พบรวมกันเป็นฝูงใหญ่ เป็นปลาที่ก้าวร้าวพอสมควรในตู้เลี้ยงถึงแม้จะเป็นพวกเดียวกันเอง ขนาด โตเต็มที่พบมีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ปลาชนิดนี้มีรายงานการพบในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำบางปะกงด้วย



สกุล Tetraodon

เป็นตัวแทนของวงศ์ Tetraodontidae ที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ส่วนมากปลาปักเป้าในสกุลนี้มักมีนิสัยชอบซุ่มโจมตีเหยื่อ มากกว่าที่จะออกแรงว่ายน้ำไล่ โดย ส่วนมากปักเป้าในสกุลนี้ในขณะที่พองจะสามารถขยายขนาดได้มากกว่าสองสกุลแรกข้างต้น



ชื่อไทยปักเป้าเขียวจุด

ชื่อสามัญGREEN BLOWFISH

ชื่อวิทยาศาสตร์Tetraodon leiurus..



ปลาปักเป้าเขียวจุด

ขอบคุณภาพจาก http://www.fish-zone.com/varity-fish.php

ปลาปักเป้าเขียวจุด เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก

ถิ่นอาศัย

พบเห็นทั่วไปตามแม่น้ำลำคลอง ใกล้ปากแม่น้ำ หนอง บึงและอ่างเก็บน้ำ

นิสัย และระบบย่อยอาหาร

มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย หากเลี้ยงรวมกัน มักทำอันตรายต่อปลาอื่น ๆ เสมอ ชอบว่ายน้ำเคลื่อนตัวอยู่เสมอ มีสารพิษอยู่ที่อวัยวะสืบพันธุ์



อาหาร

กินแมลงน้ำ ตัวอ่อนของแมลง หอยและกุ้งฝอย

ขนาด

ความยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร

ประโยชน์

เลี้ยงเป็นปลาตู้ ไม่นิยมนำมาบริโภค เพราะถ้าทำไม่ถูกวิธีจะทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการมึนเมา และอาจถึงแก่ชีวิตได้

ปลาปักเป้าเขียวจุดที่ชาวบางกรูดคุ้นเคยพบเห็นได้บ่อย ๆ รวมทั้ง เป็นปลาปักเป้าที่สันทนา ดวงสวัสดิ์ และคณะระบุในรายงานเอกสารวิชาการกรมประมง

ส่วนปลาปักเป้าสมพงษฺ์ และปลาปักเป้าทอง พลอยโพยมยังนึกภาพไม่ออกแม้จะเห็นรูปภาพแล้วก็ตามที



เมื่อเดือน พฤษภาคม 2555 มีข่าวในไทยรัฐออนไลน์ ว่ามีปลากัดเด็กในแม่น้ำน่านที่อำเภอเวียงสาจังหวัดน่าน 14 ราย  เมื่อกรมประมงไปตรวจสอบแล้ว   รองอธิบดีกรมประมง   คุณสมหวัง พิมลบุตร ได้ชี้แจงว่า เป็นปลาปักเป้าน้ำจืดชนิด ฟันสี่ซี่ คือปลา ปักเป้าดำ



ปลาปักเป้าดำภาพจากไทยรัฐออนไลน์

ปักเป้าดำ

ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tetraodon cochinchinensis

เป็นปลาปักเป้าน้ำจืดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย

ลักษณะทัวไป

รูปร่างกลมป้อม หัวท้าย้เรียวปากเล็ก ตาโต ด้านหลังและด้านท้องมีผิวสาก เป็นหนามเล็กละเอียด ด้านท้องนิ่มขยายตัวได้มาก ครีบหลังเล็กเช่นเดียวกับตรีบก้น ลำตัวสีเขียวอมเทาคล้ำ หรือสีน้ำตาลเข้ม มีดวงหรือลายสีดำประทั่วตัว บางตัวอาจมีสีจางที่ด้านท้อง ตาแดง ครีบสีจาง

ถิ่นอาศัย

อาศัยในแหล่งน้ำนิ่ง และแม่น้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ชอบอยู่ในพื้นที่แหล่งน้ำไหลเอื่อย ๆ น้ำสะอาด และลึกพอสมควร อยู่เป็นกลุ่ม ประมาณ 3-5 ตัว อยู่กระจายทั่วแหล่งน้ำ มักพบในบริเวณที่มีพืชน้ำหนาแน่น บางครั้งพบว่าตอดกัดคนที่ลงเล่นน้ำ บาดแผลลักษณะแค่้ครึ่งเสี้ยววงพระจันทร์ ไม่เคยส่งผลให้คนที่ถูกกัดถึงกับเสียชีวิตแต่อย่างใด



นิสัย

ว่ายน้ำค่อนข้างช้า โดยใช้ครีบหลังและครีบก้นโบกไปมา บางครั้งพบว่าตอดกัดคนที่ลงเล่นน้ำ บาดแผลลักษณะแค่่ครึ่งเสี้ยว วงพระจันทร์ ไม่เคยส่งผลให้คนที่ถูกกัดถึงกับเสียชีวิตแต่อย่างใด ชอบอยู่เป็นกลุ่มประมาณ 3-5 ตัว อยู่กระจายในแหล่งน้ำ ปลาปักเป้านี้มีพฤติกรรมหวงพื้นที่วางไข่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ หากถูกรบกวนการผสมพันธุ์และวางไข่จะโจมตีผู้บุกรุกด้วยการกัดแล้วว่ายน้ำหนีไปอย่างรวดเร็ว หลังจากผสมพันธุ์วางไข่แล้ว จะอพยพไปยังแหล่งน้ำอื่น

อาหาร

ซึงคุณสมหวัง พิศาลบุุตร ได้ฝากเตือน เด็ก ๆ ไม่ให้ลงเล่นน้ำในบริเวณดังกล่าว และกรมประมงจะนำป้ายมาปักบอกเขตให้ระวังอันตรายจากปลาปักเป้าดำ และไม่ควรจับปลาปักเป้าดำมากิน ต้องใข้ความระมัดระวังอย่างมากในการนำมาประกอบอาหารเพราะมีพิษร้ายแรง ซึ่งจะเกิดมึนเมาและถึงแก่เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์จะมีกลไกเกิดพิษจากอาหารและเชื้อจุลินทรีย์ที่ปลากกินเข้าไปรุนแรงยิ่งขึ้น



พิษปลาปักเป้า



พิษปลาปักเป้า

ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เนื้อของปลาปักเป้านั้น มีลักษณะเนื้อหนา มีสีขาวอมชมพูและมีเยื่อพังผืดหุ้มชิ้นเนื้อ เมื่อปรุงสุกแล้วเนื้อจะมีสีขาวและมีความเหนียวนุ่มคล้ายเนื้อไก่

จากการการสำรวจพบว่าปลาปักเป้าที่พบในน่านน้ำไทยมีทั้งหมด 42 ชนิด แบ่งเป็นปลาปักเป้าน้ำจืด 9 ชนิด และอีก 33 ชนิดเป็นปลาปักเป้าน้ำเค็มและน้ำกร่อย

ซึ่งปลาปักเป้าทะเลที่เราพบเห็นกันในปัจจุบันนั้นมีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ โดย 97% ของปลาปักเป้าทะเลที่พบนั้นจะแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

1. ปลาปักเป้าหลังเขียว Lagocepharus Iunaris ชนิดนี้มีพิษ

2. ปลาปักเป้าหลังน้ำตาล Lagocepharus spadiceus ชนิดนี้ไม่มีพิษ

โดยวิธีการสังเกตปลาปักเป้าที่มีพิษและไม่มีพิษนั้นสิ่งที่สังเกตได้ง่ายที่สุดคือ “หนามที่หลัง” ชนิดที่มีพิษนั้นจะมีหนามขึ้นตั้งแต่ส่วนหัวถึงครีบหลัง พิษของปลาปักเป้านั้นจะพบได้ในทุกส่วนของตัวปลาไม่ว่าจะเป็น อวัยวะสืบพันธุ์ (ไข่และอัณฑะ) ตับ ไส้ปลา หนังรวมทั้งในเนื้อปลาด้วย

โดยพิษที่มีอยู่ในปลาปักเป้า มีชื่อว่า เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin ซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท ส่งผลทำให้เกิดอาการลิ้นชา อาเจียน กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง ขยับเขยื้อนไม่ได้ หายใจลำบาก ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากและรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ อาการเหล่านี้มักจะเกิดได้อย่างรวดเร็วหลังรับประทานไปแค่เพียง 5 นาทีหรืออาจนานถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณของพิษที่ได้รับ

ดังนั้นผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการบริโภคปลาปักเป้า อีกทั้งควรระมัดระวังในการเลือกซื้อเนื้อปลาแล่เนื่องจากไม่มียาแก้พิษ ดังนั้นหากสงสัยว่าได้รับประทานเนื้อเป้าที่มีพิษโดยเกิดอาการดังข้างต้นขอให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วนเพื่อให้การรักษาแบบประคอง คือใช้เครื่องช่วยหายใจ และทำให้อาเจียนเพื่อช่วยขจัดปริมาณพิษออกจากร่างกาย อธิบดีกรมประมง กล่าว ปลาปักเป้าชนิดที่มีพิษนั้นแม้บริโภคเพียงเล็กน้อยก็สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นวิธีสังเกตปลาปักเป้าชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษรวมถึงการสังเกตเนื้อปลาปักเป้านั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อผู้บริโภคที่ควรมีความรู้ความเข้าใจ



กรมประมงเตือนพิษปักเป้าน้ำจืดรุนแรงมากกว่าปักเป้าทะเล

ด๊อกเตอร์ จิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่าพิษของปลาปักเป้าน้ำจืดเป็นพิษอัมพาต หรือพีเอสพี (PSP, Paralytic Shelifish Poisoning) และมีความรุนแรงของพิษสูงกว่าพิษของปลาปักเป้าทะเลที่ชื่อ เททโทรโดท๊อกซิน (Tetrodotoxin)



ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์มุกดา ตฤษณานนท์

ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

กล่าวถึงพิษปลาปักเป้าว่า

พิษของปลาปักเป้าเป็นพิษที่ทนต่อความร้อน เมื่อถูกความร้อนพิษจะไม่เสียไป ได้มีผู้นำเอาปลาปักเป้ามาขายเป็นจำนวน มากเรียกกัน ว่าปลาเนื้อไก่ เพราะเนื้อมีลักษณะคล้ายเนื้อไก่

ปลาปักเป้าทะเล เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับชาวประมง ถ้าพบเห็นบนเรือลากอวน เขาจะทำลายมันทิ้ง หรือโยนกลับลงไปในทะเล ในญี่ปุ่นเรียกปลาชนิดนี้ว่า "Fugu" ชาวญี่ปุ่นชอบรับประทานแต่ต้องมีการเตรียมโดยผู้ที่มีความชำนาญ เฉพาะเป็นพิเศษ จึงจะไม่มีพิษ

พิษของปลาปักเป้ามีชื่อว่า Tetrodotoxin พิษปลาปักเป้า พบมากที่สุดในส่วนของ ไข่ ตับ ลำไส้ หนัง ส่วนที่เป็นเนื้อปลาจะมีพิษน้อย



พิษของปลาปักเป้า

พิษปลาปักเป้ามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า tetrodotoxin มีสูตรเคมี คือ C11H17O8N3 มีน้ำหนักโมเลกุล 319.3 ขนาดที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิต (human lethal dose) ประมาณ 2 มิลลิกรัม ปลาปักเป้าทะเลมีพิษมากที่สุด ในส่วนของ ไข่ ตับ ลำไส้ หนัง ส่วนที่เป็นเนื้อปลาจะมีพิษน้อยมาก หรือไม่มีเลย พิษจะมากในช่วงฤดูปลาวางไข่ ส่วนปลาปักเป้าน้ำจืด ปลาแต่ละตัวจะมีพิษแตกต่างกันมาก พิษจะมีมากที่สุดในหนังปลา รองลงมาเป็นไข่ปลา เนื้อปลา ตับ และลำไส้ ตามลำดับ ปลาปักเป้าน้ำจืดที่ชาวอิสานบริโภคเป็นประจำ คือ Tetraodon fangi และ Tetraodon palembangensis ชนิดหลังนี้ ลักษณะตามลำตัวจะเห็น เป็นลาย เส้นสี ดำคล้ายตาข่ายอยู่ทั่วลำตัวและหัว พิษ tetrodotoxin นี้มีความคงทนต่อความร้อน ได้เป็น อย่างดี ขนาดความร้อนที่อุณหภูมิ 170 องศาเซลเซียส ต้มนาน10 นาที พิษก็ยังคงสภาพดี อยู่เหมือนเดิม



ลักษณะอาการของผู้ได้รับพิษ

ลักษณะอาการในผู้ได้รับพิษ: อาการพิษที่เกิดขึ้น หลังจากกินปลาปักเป้าประมาณ 10-45 นาที บางรายอาจนานถึง 4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณของพิษที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป อาการเป็นพิษอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ

ระยะแรก ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณใบหน้า ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ อาเจียน

ระยะที่สอง มีอาการชามากขึ้น อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง จนเดินหรือยืนไม่ได้ reflex ยังดีอยู่

ระยะที่สาม มีกล้ามเนื้อกระตุกคล้ายกับชัก มีอาการ ataxia พูดลำบาก ตะกุกตะกักจนพูดไม่ได้ เนื่องจากสายกล่องเสียงเป็นอัมพาต ระยะนี้ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี

ระยะที่สี่ กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก ไม่รู้สึกตัว รูม่านตาขยายโตเต็มที่ ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง



ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหัวใจจะหยุดเต้น และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ tetrodotoxin เข้าไปไม่มาก จะมีอาการเพียงระยะแรกหรือระยะที่สอง ในรายที่ได้รับพิษจำนวนมาก จะมีอาการรุนแรงภายใน 15 นาทีแรกและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษ (antidote) โดยเฉพาะ จำเป็นต้องให้การรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง จนกระทั่งพิษจะถูกขับออกจากร่างกายทางไต จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

การป้องกัน : โดยไม่รับประทานปลาปักเป้าทุกชนิด



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

วิกิพีเดีย

http://www.mornorfishclub.com/forum.php?mod=viewthread&tid=2366&page=1

http://www.thairath.co.th

http://www.fisheries.go.th/secretary/pr/news_detail.php?news_id=308

สำนักข่าวไทย

http://guru.sanook.com/pedia/topic/ปลาปักเป้า

http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/bm521/ns01_2/seafish/box2.html

ปลาปักเป้าเขียวจุดเป็นปลาที่คนบางกรูดได้พบเห็นบ่อย ๆ และค่อนข้างคุ้นเคยที่จะแค่มองผ่านมาแล้วผ่านเลยไป ในวัยเด็ก ๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นปลามีพิษ เพราะไม่เคยปรากฎว่ามีใครกินปลาตัวน้อย ๆ น่ารักนี้ ได้แต่มองแล้วก็เอ็นดูรูปร่างพองกลม ๆ ของเขา และการลงเล่นน้ำ ก็ไม่เคยถูกปลาปักเป้าตอด มักจะถูกปลาแขยงมาตอดให้รู้สึกจ้๊กจี้ พลอยโพยมเคยไปบ้านเพื่อน ลูกเจ้าของโรงสีข้าวที่ประตูน้ำท่าถั่ว พบว่าที่บ้านเขาแขวนซากปลาปักเป้าที่มีหนามแหลม ๆ รอบตัว ตัวพองกลมใหญ่ เพื่อนบอกว่าเป็นปลาปักเป้า มาจากทะเล แต่ในวัยขณะนั้นก็ไม่ได้ถามอะไร ได้แต่สงสัยว่าปลาปักเป้าที่เราเห็นในแม่น้ำตัวน้อย ๆ นิดเดียวเองแล้วก็ไม่มีหนามแหลม ๆ อย่างนั้น แล้วปลาปักเป้าตัวนี้้ยังตัวใหญ่มากด้วย เป็นปู่หรือเป็นย่าปลาปักเป้ากันละนี่ ที่แท้แล้วปลาปักเป้าตัวนั้นคงตกใจอะไรสักอย่างแล้วสูบลมและน้ำเข้าไปในตัวนั่นเอง



ปลาปักเป้า เป็นบทความของปลาตัวสุดท้ายที่พลอยโพยมจะกล่าวถึง พันธุ์ปลาที่กล่าวมาในบทความต่าง ๆ ของพลอยโพยม คือชื่อของปลาที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือบทกวี "วันวานของบางกรูด " ดังนี้



ชื่อปลา

ปลากด ปลากระจก ปลากระจัง ปลากระมัง ปลากระทิง ปลากระทุงเหว ปลากระบอก ปลากระเบน ปลากระแห ปลากราย ปลากะพง ปลากะรัง ปลากะสง ปลากะสูบ ปลากา ปลาแก้มช้ำ ปลาข้าวเม่า ปลาเข็ม ปลาเขือ ปลาแขยง ปลาแขยงหิน ปลาเค้า ปลาจวด ปลาจิ้มฟันจระเข้ ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาชะโอน ปลาซิว ปลาดุก ปลาตะกรับ ปลาตะโกก ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลาตีน (คำท้องถิ่นบางกรูดเรียกปลาเที้ยว) ปลาเทพา ปลาเทโพ ปลาเนื้ออ่อน ปลาบ้า ปลาบู่ทราย ปลาปักเป้า ปลาแป้น ปลาแปบ ปลาพรมหัวเหม็น ปลาม้า ปลาหมู ปลาแมว ปลายี่สก ปลาลิ้นหมา ปลาสร้อย ปลาสลาด ปลาสวาย ปลาสิงโต (คำท้องถิ่นเรียก ปลาบู่สิงโต) ปลาเสือตอ* ปลาเสือพ่นน้ำ ปลาหนวดพราหมณ์ ปลาหนามหลัง ปลาหมอ ปลาหมอนา ปลาหลด ปลาหางกิ่ว ปลาหางไก่ ปลาอีคุด



* ปลาเสือตอ เป็นปลาที่ไม่มีในแม่น้ำบางปะกง แต่ที่กล่าวถึงเนื่องจาก เป็นปลาที่กรมประมงเองให้เกียรติปรากฏภาพในบัตรเข้าชมของ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ มีประวัติว่าเดิมมีที่บึงบอระเพ็ด และสูญพันธุ์ ไปกว่า ๔๐ ปีแล้ว แต่ในปัจจุบัน พบว่ามีที่แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำโขง

กล่าวกันว่า เป็นปลามีรสชาติอร่อยมาก โดยเฉพาะที่บึงบอระเพ็ดใครมาถึงบึงบอระเพ็ดแล้วไม่ได้กินปลาเสือตอ ถือว่ายังมาไม่ถึงบึงบอระเพ็ด

เป็นปลาที่ได้รับความนิยมมากจากนักเลี้ยงปลาสวยงาม เพราะมีสีสันและลวดลายที่สวยงาม เมื่อเวลาล่าเหยื่อจะกางครีบทุกครีบ ก่อนจะฉก แม้จะมีราคาที่แพง เพราะหายาก ปลาที่มีขายในตลาดปลาสวยงามทุกวันนี้ นำเข้าจากประเทศกัมพูชา แม้ปัจจุบัน มีผู้เพาะพันธุ์ได้แล้วจากการผสมเทียม แต่ยังได้ผลไม่แน่นอนและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน



นอกจากนี้เป็นชื่อปลาที่ปรากฏอยู่ในกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยาตอนปลาย และมีปลาอื่น ๆ อีกเล็กน้อย

โดยนำรายละเอียดข้อมูลและภาพประกอบมาจากหลาย ๆ แหล่งข้อมูล ทั้งนี้หากมีข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบันเช่น ชื่อภาษาอังกฤษ หรือ อื่น ๆ พลอยโพยมต้องขอภัยมาณ ที่นี้ หากมีผู้สนใจจะนำข้อมูลเชิงวิชาการไปใช้กรุณาศึกษาข้อมูลปัจจุบันด้วย เป้าหมายหลักของพลอยโพยมคือบอกกล่าวเล่าเรื่องถึงความอุดมสมบุูรณ์ของลำน้ำบางปะกงเมื่อ ห้าสิบปีที่แล้วมา เรื่องราวของสัตว์น้ำหลายชนิดที่ผูกพันกับการดำรงชีวิตของชาวบางกรูด



อย่างไรก็ตาม บทความต่อไปก็ยังคงอยู่บริเวณชายฝั่งของแม่น้ำบางปะกง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น