วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปลากะรัง

ปลากะรัง

ปลากะรัง (Grouper)



ปลากะรังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ปลาเก๋า” การได้ชื่อเรียกว่า ปลากะรัง นี้เข้าใจว่าเป็นการเรียกตามสภาพถิ่นที่อยู่ของปลาชนิดนี้ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามซอกหินใต้น้ำและแนวปะการังและชื่อ "กะรัง" ในที่นี้คงเป็นคำสั้น ๆ ของปะการังที่ชาวประมงใช้เรียกกันนั่นเอง

การดำรงชีวิตส่วนใหญ่ของปลากะรัง อาศัยอยู่ใกล้พื้นทะเลที่อาจเป็นดินโคน ดินทราย และมักหลบซ่อนอยู่ตามกองวัสดุใต้น้ำและซอกปะการัง จากนิสัยเช่นนี้ชาวประมงจึงออกแบบลอบดักที่คลุมด้วยกิ่งไม้ ทำให้ปลากะรังหลงเข้าไปหลบซ่อนตัว และถูกจับมาเป็นอาหาร อย่างไรก็ตามในสภาพธรรมชาติปากะรังสามารถเปลี่ยนสีของลำตัวให้เข้มหรือจางได้ เพื่อให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ นอกจากนี้ในแต่ละระยะของการเจริญเติบโต สีและลวดลายบนตัวปลาอาจเปลี่ยนแปลงไปตามวัย เช่น ในวัยระยะรุ่นอาจมีคาดตามขวางเด่นชัด แต่เมื่อโตเต็มวัยคาดตามขวางจะค่อยๆ เลื่อนหายไป เป็นต้น

ปลากะรังในทะเลไทยมีอยู่หลายสิบชนิด ทุกชนิดเป็นปลาเศรษฐกิจที่นิยมบริโภคกันทั่วไป




                                                ภาพปลากะรังจุดน้ำตาล (E. malabaricus)

ปลากะรัง หรือ "ปลาเก๋า" ทางภาคใต้ เรียกว่า "ราปู"

ชื่อสามัญ Brown Spotted Grouper

ชื่อวิทยาศาสตร์ Epinephelus malabarricus

ปลากะรังเป็นปลาที่วางไข่ในทะเล แต่ลูกปลาจะเข้ามาอาศัย บริเวณชายทะเล และปากแม่น้ำ ปลาชนิดนี้สามารถเปลี่ยนเพศได้ ขนาดสมบูรณ์เพศ อายุ 3 ปี มีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม จะเป็นเพศเมียทั้งหมด เมื่อเจริญเติบโตมีน้ำหนักได้ประมาณ 7 กิโลกรัม ปลาจะเปลี่ยนเป็นเพศผู้ ดังนั้น การผสมพันธุ์ของปลาชนิดนี้เกิดจากปลาตัวผู้ขนาดใหญ่กับปลาตัวเมียขนาดเล็ก ปลากะรังอาศัยตามซอกหิน ปะการัง


การแพร่กระจาย

แพร่กระจายจากทิศใต้ของญี่ปุ่นถึงออสเตรเลีย และไปทางทิศตะวันออกของหมู่เกาะแคโรลีนและฟิจิ(Heemstra and Randall,1993)

แหล่งอาศัย

ปลากะรังมีอยู่ชุกชุมแถบทะเลเขตร้อน ได้แก่ ประเทศไทย , อินเดีย , ศรีลังกา พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลียตอนเหนือ ทะเลแดง และทะเลอราเบียน ส่วนในเขตอบอุ่นพบบ้างแต่ไม่ชุกชุมนัก ปลากะรังเป็นปลาหน้าดิน ชอบอาศัยที่มีกองหินใต้น้ำตามวัสดุที่กองจมอยู่ใต้น้ำ เช่น กองหิน กองไม้ ยางรถยนต์ ฯลฯ บางครั้งจะเข้ามาหากินบริเวณตามปากแม่น้ำ

นิสัย

ปลากะรังเป็นปลาที่มีนิสัยเชื่องช้า ไม่ชอบเคลื่อนไหว ไม่ว่องไว ชอบนอนตามซอกหิน กองหิน แต่เวลาหาเหยื่อปลากะรังจะพุ่งเข้าหาเหยื่ออย่างรวดเร็วและรุนแรง สามารถกินเหยื่อเกือบเท่าตัวเองได้เป็นปลาที่หากินตามพื้นท้องทะเล

อาหารของปลากะรัง

ได้แก่ ปลา ปู กุ้ง หอยฯลฯ ซึ่งเป็นพวกที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเล

การเลี้ยงปลากะรังในกระชัง

ลากะรัง Epinephelus malabaricus หรือที่เรียกกันทั่วไปตามภาษาชาวบ้านว่า "ปลาเก๋า" เป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย และมีความรู้สึกไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม คือ ตกใจแล้วจะอยู่ในสภาวะเครียด หยุดกินอาหาร ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงต้องเลือกสถานที่เหมาะสมที่จะตั้งกระชังสำหรับปลากะรังต้องมีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อปัจจัยการเจริญเติบโตและการดำเนินการเลี้ยง ปลากะรังไม่สามารถอยู่ในน้ำจืดเช่นปลากะพงขาวได้ ดังนั้น สถานที่เลี้ยงปลากะรังจึงต้องมีความเค็มตลอดปี อย่างน้อยต้องมีความเค็มตั้งแต่ 10 ส่วนในพันขึ้นไป (ppt)



วงศ์ปลากะรัง

วงศ์ปลากะรัง หรือ วงศ์ปลาเก๋า

ชื่ออังกฤษ : Grouper

วงศ์ : Serranidae

เป็นปลาวงศ์ปลากระดูกแข็งวงศ์หนึ่ง

พบได้ทั้งน้ำจืด, น้ำกร่อย และทะเล

เป็นปลากินเนื้อเป็นอาหาร มีรูปร่างโดยรวม ลำตัวยาวป้อม แบนข้างเล็กน้อย เกล็ดเล็ก สีตามตัว และครีบเป็นดอกดวง แต้ม หรือบั้ง ฉูดฉาดหรือคล้ำทึบแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและขนาด ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นก้านครีบแข็ง ตอนหลังเป็นครีบอ่อนมีลักษณะโปร่งใส มีเกล็ดขนาดเล็กเป็นแบบเรียบและแบบสาก ปากกว้าง มีฟันเล็กบนขากรรไกร เพดานปาก มีฟันเขี้ยวด้านหน้า ครีบท้องมีตำแหน่งอยู่ใต้หรืออยู่หน้าหรืออยู่หลังครีบอก

พบในปัจจุบัน 46 สกุล 449 ชนิด มีขนาดแตกต่างกันมากตั้งแต่มีความยาวเพียงไม่กี่เซนติเมตร จนถึง 2.5 หรือ 3 เมตร หนักถึง 400 กิโลกรัม คือ ปลาหมอทะเล (Epinephelus lanceolatus) ซึ่งเป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุดที่พบในวงศ์นี้ ในบางชนิดสามารถปรับเปลี่ยนเพศได้ตามวัย เช่น ปลากะรังจุดน้ำตาล (E. malabaricus) ในวัยเล็กจะเป็นเพศเมีย แต่เมื่อโตขึ้นน้ำหนักราว 7 กิโลกรัม จะกลายเป็นเพศผู้


                                                       ปลากะรังปากแม่น้ำ (E. tauvina)

สำหรับปลาที่พบในทะเล มักมีพฤติกรรมชอบอยู่ตามลำพังหรือเป็นคู่เพียงไม่กี่ตัวตามโขดหิน แนวปะการังหรือกองหิน กองซากปรักหักพังใต้น้ำ ออกหากินในเวลากลางคืน สามาถพบได้จนถึงบริเวณปากแม่น้ำ หรือป่าชายเลน มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยหลายชนิดนิยมบริโภคเป็นปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลากะรังปากแม่น้ำ (E. tauvina) หรือ ปลาเก๋าเสือ (E. fuscoguttatus) เป็นต้น จึงมีการเพาะเลี้ยงปลาเป็นอาชีพ โดยนิยมเลี้ยงในกระชัง

มีชื่อสามัญในภาษาไทยอื่น ๆ เช่น "ปลาเก๋า" หรือ "ปลาตุ๊กแก"



ปลากะรังจุดฟ้า

ชื่ออังกฤษ: Leopard grouper

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plectropomus leopardus

ในวงศ์ปลากะรัง Serranidae

วงศ์ย่อย Epinephelinae

                                                   ปลากะรังจุดฟ้า หรือ ปลากุดสลาด

มีลำตัวแบนยาว บริเวณรอบดวงตาแบน ไม่มีเกล็ด ก้านซี่เหงือกจำนวน 6-10 อัน หลังมีก้านครีบแข็ง 7-8 ก้านครีบที่ 3 หรือ 4 ยาวที่สุด ก้านครีบอ่อน 10-12 อัน ครีบอกมีก้านครีบอ่อน 15 ถึง 17 อัน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 3 อัน และก้านครีบอ่อน 8 อัน หางเป็นแบบตรงเว้ากลางเล็กน้อย สีลำตัวมีหลากหลายตั้งแต่ สีเขียวมะกอกถึงแดงน้ำตาล สีส้มแดงถึงแดงเข้ม จะมีจุดสีฟ้าเล็ก ๆ บนหัวและแก้มมากกว่า 10 จุด และที่ลำตัว ยกเว้นใต้ท้อง

ถิ่นอาศัย

พบในทะเลความลึกตั้งแต่ 3-100 เมตร พบชุกชุมแถบทะเลเขตร้อน ได้แก่ ประเทศไทย , อินเดีย , ศรีลังกา, พม่า, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ออสเตรเลียตอนเหนือ, ทะเลแดง, ทะเลอาหรับและทวีปแอฟริกาตอนใต้ ในเขตอบอุ่นพบบ้างแต่ไม่มากเท่า

ขนาด

มีความยาวลำตัวได้จนถึง 120 เซนติเมตร





การสืบพันธุ์

ปลากุดสลาดวางไข่ในทะเล และลูกปลาจะเข้ามาเจริญเติบโตอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล หรือปากแม่น้ำ สามารถเปลี่ยนเพศได้ ขนาดสมบูรณ์เพศอายุประมาณ 3 ปี น้ำหนักตัวประมาณ 3 กิโลกรัม จะเป็นเพศเมียทั้งหมด เมื่อปลาเจริญเติบโตมีน้ำหนักตัวประมาณ 7 กิโลกรัม ก็จะเปลี่ยนเป็นเพศผู้

ดังนั้นการผสมพันธุ์ของปลาชนิดนี้ในธรรมชาติจะเกิดจากปลาเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่กับปลาเพศเมียที่มีขนาดเล็กกว่า โดยฤดูกาลผสมพันธุ์ระหว่างเดือนพฤศจิกายนจนถึงเมษายน โดยสามารถวางไข่ได้ 208,000-269,500 ฟองต่อตัว ซึ่งปริมาณและคุณภาพของไข่ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของตัวปลา

ปลากะรังจุดฟ้าเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีเนื้อรสชาติอร่อย มีราคาขายที่สูงกว่าปลากะรังชนิดอื่น ๆ โดยมีราคาขายตกถึงตัวละ 750-800 บาท จึงมีการเพาะเลี้ยงกันในกระชัง มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า "ปลากุดสลาด" หรือ "ปลาย่ำสวาท" เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

สุรินทร์ มัจฉาชีพ. 2540. เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสัตว์ทะเล. สำนักพิมพ์แพร่พิทยา

http://www.sklonline.com/fish-soid.html

http://www.sklonline.com/fish.html

http://jalernsak.blogspot.com/

วิกิพีเดีย

กรมประมง



พลอยโพยมสอบถามเรื่องอายุของปลากะรังว่า คำนวณอายุปลาในทะเลอย่างไร มีนกรสาวหงุดหงิดเล็กน้อยว่า เธอเพิ่งเข้าวงการของกรมประมง คำว่าประมาณน่ะ คุณพลอยโพยมเข้าใจไหมไปถามมินกรอาวุโสดีกว่า

มีนกรอาวุโส ก็เล่าเรื่องปลากะรังให้ฟังเล็กน้อยคล้าย ๆ บทความข้างต้น และเสริมว่า ธรรมชาติมีการจัดสรรการสืบทอดสายพันธุ์ แม้ปลากะรังจะมี สองเพศในตัวเอง แต่ธรรมชาติก็กีดกันการร่วมสืบพันธุ์จากสายพันธุ์พี่น้องในครอบครัว โดยให้ ปลากะรังที่อายุประมาณ 3 ปีขึ้นไป มีไข่ในตัวก่อน ก็คือเป็นเพศเมีย ลูกปลาในฝูงรุ่นเดียวกันก็จะเป็นเพศเมียก่อน จะมีปลากะรังฉกรรจ์หนุ่มใหญ่จากครอบครัวอื่นมาผสมพันธ์ หลังจากนั้นอีก 3-4 ปี ปลากะรังที่เคยเป็นเพศเมียก็จะกลายเป็นเพศผู้ เหมือน ๆ กัน และต้องไปสร้างวงศ์วานหว่านเครื่อหน่อเนื้อปลากะรังกับปลากะรังสาวรุ่น ครอบครัวอื่น เช่นกัน เป็นการที่ธรรมชาติกีดกันการร่วมสายพันธุ์ครอบครัวเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์ใจของปลากะรัง

แต่ปลากะรังนี้ยังมีความพิเศษรอบสอง คือ ในบางฤดูกาลปลากะรังหรือปลาเก๋าบางสายพันธุ์ ที่กลายเป็น ปลาเพศผู้ไปแล้ว ก็อาจกลับมาเป็นเพศเมียอีกบางฤดูกาล บางพันธู์ และกรมประมงก็ทำการเพาะเลี้ยงกันได้ หลายศูนย์วิจัย หลายสถานีประมงของกรมประมง บางปีกรมประมงก็เพาะพันธุ์ปลากุดสลาดปล่อยคืนในท้องทะเลตามวาระโอกาสสำคัญของชาติ

พลอยโพยมก็เกรงใจที่จะไปล้วงลูกถามต่อว่า คือปลากะรังหรือปลาเก๋าอะไรบ้าง ที่มีวงจรชีวิตมหัศจรรย์อย่างนั้นเพราะพลอยโพยมไปถามคุณมีนกรอาวุโสตอนยังไม่ตีห้า เนื่องจากมีนกรคนนี้ตื่นเช้ามาก ตีห้ากว่า ๆ ก็ออกไปรดน้ำต้นไม้ที่นอกบ้านแล้ว ได้แต่คิดในใจว่า.... ต่อไปจะไม่กินปลาเก๋าตัวใหญ่ ๆ ที่สามารถมองออกหลังจากนำมาปรุงเป็นอาหารเรียบร้อยแล้ว...เราต้องไม่กินปลาเก๋านั้น เดี๋ยวจะมีวงจรเพศแปลกประหลาดพิสดารไปด้วยกันกับปลาเก๋าตัวนั้น

                                     ภาพปลากุดสลาดจากศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งจันทบุรี

ส่วนปลากุดสลาดนั้น รสชาติอร่อยมากจริง ๆ มีร้านอาหารชื่อท่าเรือซีฟู้ด ที่่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรีใกล้แค่นี้เอง ตัวร้านอยู่เลยหัวมุมถนนที่เลียบริมหาดไปไม่ไกลนักถ้าขับรถมาจากชลบุรี อยู่ด้านซ้ายมือถ้ามุ่งหน้าไปอ่างศิลาพลอยโพยมและคณะเพื่อนที่ร่วมงาน ไปมาหลายครั้ง ต่างฤดูกาลกัน ก็ไม่เคยผิดหว้งว่าไม่มีปลากุดสลาดให้ลูกค้า ราคาแพงจริง ๆ หั่นเป็นชิ้นกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ขวางตามลำตัว แช่น้ำปลาทอดเฉย ๆ ราคาชิ้นละ 150 บาท เมื่อสามสี่ปีมาแล้ว ปัจจุบันคงขึ้นราคาไปแล้ว แทบทุกโต๊ะ ก็ล้วนสั่งเมนูปลากุดสลาดเป็นเมนูแรกกันเลยทีเดียว

และก้อขอถือโอกาสประชาสัมพันธ์ ส้มตำของป้าหอม ที่ตั้งร้านอยู่ใกล้ ๆ ด้านข้าง ตำส้มตำส่งตามออร์เดอร์ ของร้านท่าเรือซีฟู้ด และยังสามารถขายเองโดยเอกเทศได้ หากจะซื้อนำกลับบ้านป้าหอมก็จะแยกน้ำปรุงรสต่างหากจากตัวมะละกอ เมื่อมาถึงบ้านจะให้อร่อยเหมือนกินที่ร้าน ก็เอามะละกอและน้ำปรุงรส ตำรวมพอบุบ ๆ เส้นมะละกอในครก หากไม่มีครก เช่นกินที่ทำงานหรืออื่น ๆ ก็คลุกเส้นมะละกอ (สับ ไม่ใช่ขูด) กับน้ำปรุงรส รสชาติอร่อยจะลดลงไปนิดหน่อยเอง สมัยก่อนเมื่อตั้งใจจะไปซื้อส้มตำอย่างเดียวไม่ได้ไปกินอาหารในร้าน พลอยโพยม และเพื่อน ๆ ใช้วิธีโทรศัพท์สั่งก่อนที่จะขับรถไปรับส้มตำ อร่อยขนาดว่าขับรถจากรุงเทพฯ มารับส้มตำป้าหอมเอากลับไปกินที่กรุงเทพ ฯ กันเชียวละ

ปลากะรัง ที่ทางภาคใต้เรียกว่า "ราปู" ก็ดูไม่แปลก ( ทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบว่าแปล หรือหมายความว่าอะไร จะแปลออกมา เป็น "ย่ำสวาท " หรือเปล่า ) แต่ ที่เรียกกันว่า "ย่ำสวาท" ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสุราษฎร์ธานี ก็เรียกชื่อนี้ด้วย จุดประกายให้พลอยโพยม ต้องไปสืบหาที่มาของชื่อเสียแล้ว ขนาด ปลากะพงแสม ที่เรียกว่า ครืดคราด และออดแอด ก็พอทำเนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น