วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

..."มะเมี๊ยะ"... โศกนาฎกรรมความรักของเจ้าชายล้านนา





..."มะเมี๊ยะ"...โศกนาฎกรรมความรักของเจ้าชายล้านนาเรียบเรียงโดย - Roytavan (ร้อยตะวัน)

เรื่องราวความรักที่ต่างเชื้อ ชาติ ระหว่าง "เจ้าน้อยศุขเกษม" และ "มะเมี๊ยะ" อันกลายมาเป็นตำนานรักที่จบลงอย่างโศกสลด และได้รับการกล่าวขานมาถึงปัจจุบัน ถูกบันทึกเรื่องราวโดย "เจ้าหญิงบัวนวล ณ เชียงใหม่" อดีตพระคู่หมั้นคนแรกของเจ้าน้อยศุขเกษมที่ถอนหมั้ยไป และถูกถ่ายทอดโดยตรงจาก "เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่" พระชายาของเจ้าน้อยศุขเกษม
ครั้งเมื่อราชวงศ์ของเจ้านายในล้านนาสูญเสียทั้งอำนาจในการปกครองและรายได้จากการค้าไม้สัก อำนาจของสยามในล้านนาก็นับวันเพิ่มขึ้น ๆ เจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สิ้นชีวิตในปี 2440 ลูกสาวที่ถูกเรียกลงเป็นเจ้าจอมที่บางกอกเมื่ออายุได้ 13 ปี (พ.ศ. 2430) คือ "เจ้าดารารัศมี" ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นมาเผาศพพ่อ และแผ่นดินเชียงใหม่ก็ไม่มีเจ้าผู้ครองนครเพราะสยามไม่แต่งตั้งผู้ใด นั่นคือช่วงปี พ.ศ. 2441 - 2442

และช่วงเวลานั้นเอง (พ.ศ. 2441) ที่เจ้าแก้วนวรัฐ - ราชบุตรของเจ้าอินทวิชยานนท์ผู้วายชนม์ และเป็นราชบุตที่ไม่รู้ว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าผู้ครองนครต่อจากพ่อหรือไม่ ก็ได้ส่งลูกชายคือเจ้าน้อยศุขเกษมวัย 15 ปี ไปเรียนที่โรงเรียน St. Patrick's School โรงเรียนกินนอนชายซึ่งเป็นคาธอลิคในเมืองเมาะละแหม่ง โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2385 ทำไมเจ้าราชบุตรจึงส่งลูกชายไปเรียนที่นั่น กล่าวกันว่าเจ้าแก้วนวรัฐค้าไม้สักกับพม่าเมืองเมาะละแหม่งจนสนิทสนมเป็นอันดีกับเศรษฐีพ่อค้าไม้ชาวพม่าคนหนึ่งชื่อ อูโพดั่ง เจ้าน้อยศุขเกษมนั่งช้างจากเชียงใหม่ไปถึงเมาะละแหม่งได้พักที่บ้านพ่อค้าอูโพดั่งในช่วงวันหยุด วันเรียนหนังสือก็อยู่ที่โรงเรียนกินนอน

จนเมื่อปี 2445 หนุ่มน้อยศุขเกษมวัย 19 ปีไปเที่ยวตลาดไดวอขวิ่น ซึ่งเป็นตลาดห่างจากบ้านพ่อค้าอูโพดั่งราว 10 นาที ก็ได้พบและหลงรักสาวน้อยวัย 15 ปี นาม "มะเมี๊ยะ" (ภาษาพม่าแปลว่ามรกต) สาวมะเมี๊ยะ ขายบุหรี่เซเล็ก (ภาษาพม่าแปลว่ายามวน) ก็รักหนุ่มน้อยจากเชียงใหม่เช่นกัน

เมื่อความรักเพิ่มพูนกลายเป็นความมุ่งมั่นและความผูกมัด วันหนึ่ง ทั้งสองก็ชวนกันขึ้นไปไหว้พระเจดีย์ไจ้ตาหล่านอันเป็นที่เคารพสูงสุดของชาวเมือง สาบานว่าจะครองรักกันไปตราบสิ้นลม และถ้าผู้ใดผิดคำสาบานก็ขอให้มีอันเป็นไป เมื่อเจ้าศุขเกษมอายุ 20 ปีกลับบ้านพร้อมกับมะเมี๊ยะวัย 16 ที่ปลอมตนเป็นชายร่วมเดินทางมาด้วย ฝ่ายชายก็พบว่าพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าราชบุตร ส่วนเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนใหม่คือเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ผู้เป็นอนุชาต่างมารดาของพ่อ

เจ้าศุขเกษมได้พบว่าผู้เป็นพ่อและแม่ได้หมั้นหมายเจ้าหญิงบัวนวล ลูกเจ้านายในเชียงใหม่ไว้รอท่าแล้ว และครั้นทราบว่าลูกชายรักและได้สามัญชนชาวพม่าเป็นเมีย วิกฤตการเมืองก็เกิดขึ้นทันที และเจ้านายในเชียงใหม่ก็ทำทุกอย่างเพื่อให้หนุ่มสาวแยกทางกัน และผลักดันให้มะเมี๊ยะต้องกลับเมืองเมาะละแหม่งเพียงสถานเดียว เจ้าราชบุตรไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องส่งตัวมะเมี๊ยะกลับพม่า เพื่อแสดงให้สยามเห็นว่าแม้ตนเองได้ทำผิดที่ส่งลูกชายไปเรียนที่พม่า แต่ต่อจากนี้ไป ล้านนาจะต้องไม่มีสัมพันธ์ใด ๆ กับพม่าอีก สัมพันธ์รักระหว่างลูกชายกับสาวพม่าจะต้องยุติอย่างเด็ดขาด

ก็เลยบังคับส่งมะเมี้ยะกลับพม่าเจ้าน้อยสัญญาว่าอีก 3 เดือนจะไปรับมะเมี้ยะกลับ ทั้งคู่สาบานกันไว้ว่าจะไม่รักใครอื่น หากใครผิดคำสาบานขอให้อายุสั้น "ตอนนั้นมะเมี้ยะโพกผมไว้พอจะไปก็ก้มลงกราบเท้า เจ้าน้อยที่ประตูเมือง ชาวบ้านออกมามุงกันทั้งเมืองเพราะได้ยินว่ามะเมี้ยะงามขนาดพอกราบเสร็จ ก็เอาผ้าโพกผมออกแล้วสยายผมเอามาเช็ดเท้าเจ้าน้อย จงรักภักดีบูชาสามีสุดชีวิต แล้วก็กอดขาร้องไห้ เจ้าน้อยเองก็ร้องทำเอาคนที่มามุงร้องไห้ไปทั้งเมืองด้วยความสงสารความรักของทั้งคู่ "

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าฉากความรักและความอาลัยระหว่าง 2 หนุ่มสาวในตอนเช้าวันหนึ่งของเดือนเมษายน พ.ศ. 2446 จะโศกเศร้าสะเทือนใจจนใครต่อใครที่พบเห็นร้องไห้ตามเพียงใดก็ตาม แต่เรื่องจริงเรื่องนี้ก็ต้องจบลงเช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องของกรรมเวร ไม่ใช่ศักดินาที่ต่างกันระหว่างคนรักทั้งสอง และไม่ใช่เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ต่างกัน หรือประเพณี แต่เป็นปัญหาการเมือง

การเมืองที่สยามกำลังกำหนดเส้นทางเดินของล้านนา และเจ้าราชบุตรเลือกที่จะเป็นฝ่ายยอมจำนน การเมืองที่พ่อส่งลูกไปเรียน ด้วยหวังว่าลูกจะมีความรู้ในเรื่องภาษาอังกฤษ สถานการณ์การเมืองในพม่าและนโยบายของอังกฤษ เพื่อลูกจะได้กลับมามีบทบาทในล้านนาต่อไป (ไม่มีหลักฐานว่าเจ้าราชบุตรมีความคิดทางการเมืองอย่างใด) แต่แล้วความรักที่เกิดขึ้นและขัดแย้งกับปัญหาการเมืองก็ต้องพ่ายแพ้แก่การเมืองในที่สุด...

นักวิชาการชาวเชียงใหม่ ท่านหนึ่งซึ่งสนใจเรื่องหนุ่มศุขเกษมและสาวหมะเมียได้ไปเยือนเมืองเมาะละแหม่ง เธอคือ รศ.จีริจันทร์ ประทีปะเสน เส้นทางที่ปิดระหว่างเมียวดีกับเมาะละแหม่งทำให้คนไทยที่สนใจจะไปเยือนเมาะละแหม่งต้องบินจากฝั่งไทยไปที่นครย่างกุ้ง แล้วนั่งรถยนต์หรือรถไฟย้อนกลับมา น่าเสียดายที่อาจารย์จีริจันทร์ไปถึงเมืองเมื่อค่ำแล้ว และต้องเดินทางจากเมืองตอนสายวันรุ่งขึ้น แต่กระนั้น ในความมืดของคืนนั้นและความสลัวรางของเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น อาจารย์ก็ได้เห็นหลายสิ่งที่น่าตื่นใจ และจะเป็นฐานสำคัญสำหรับการเดินทางของเธอครั้งต่อไปและของผู้สนใจศึกษารุ่นต่อไป

อาจารย์เล่าว่า ค่ำคืนนั้น เธอได้ขึ้นไปที่วัดไจ้ตาหล่าน เมื่อขึ้นไปถึงลานกว้างหน้าพระเจดีย์ ขณะที่เธอกำลังไหว้พระเจดีย์สีทองอร่าม มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งนั่งเคยงกันอยู่ไม่ไกลนักกำลังไหว้พระเจดีย์เช่นกัน ลานนี้เองเมื่อ 99 ปีก่อน (พ.ศ. 2446) ที่หนุ่มเชียงใหม่กับสาวพม่าคู่หนึ่งนั่งเคียงกันไหว้พระเจดีย์เบื้องหน้า และสัญญาต่อกันและต่อหน้าพระเจดีย์ว่าจะรักและซื่อสัตย์ต่อกันตราบฟ้าสิ้นดินสลาย เมื่ออาจารย์พบพระรูปหนึ่งและถามถึงแม่ชีของวัดนี้ ท่านได้พาเธอไปพบเจ้าอาวาสซึ่งมีอายุราว 60 ปี ท่านเจ้าอาวาสเล่าว่าวัดนี้เคยมีแม่ชีคนเดียวเมื่อนานมาแล้ว กล่าวคือเมื่อท่านเริ่มบวชเณรอายุ 18-19 ปีประมาณ พ.ศ. 2504-2505 ที่วัดมีแม่ชีชรารูปหนึ่ง ชื่อ "ด่อนังเหลี่ยน" อายุ 70 ปีเศษ และหลังจากนั้นไม่นาน แม่ชีก็เสียชีวิต

เจ้าอาวาสเล่าว่าท่านได้ยินว่าแม่ชีผู้นี้บวชชีตั้งแต่เป็นสาว เป็นแม่ชีที่ชอบมวนบุหรี่ และมีคนมารับไปขายเป็นประจำ แม่ชีได้บริจาคเงินให้วัดสร้างศิลาจารึกเป็นภาษามอญมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ ที่ยังคงเก็บไว้ที่วัด เจ้าอาวาสเล่าว่าห้องพักของแม่ชียังคงอยู่ หม้อข้าวและเครื่องใช้บางอย่างก็ยังคงอยู่ อาจารย์จีริจันทร์คิดว่าแม่ชีด่อนังเหลี่ยนคือมะเมี๊ยะ เพราะเป็นที่รู้กันที่เชียงใหม่ว่าหลังจากที่มะเมี๊ยะถูกพรากจากเจ้าน้อยศุขเกษม เธอก็ไปรอชายคนรักที่เมืองเมาะละแหม่ง ไม่ได้รักใครอีก หลังจากนั้น เธอได้กลับมาที่เมืองเชียงใหม่อีกครั้งเพื่อมาพบเจ้าน้อยศุขเกษม

ในตอนนั้น เจ้าน้อยแต่งงานแล้วก็กับเจ้าหญิงบัวชุม ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าดารารัศมีและพิธีสมรสจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเจ้าน้อยทราบว่ามะเมี๊ยะมารอพบที่บ้านเชียงใหม่ เจ้าน้อยศุขเกษมไม่ยอมออกมาพบ แม้ว่ามะเมี๊ยะจะรออยู่นานแสนนาน โดยที่เจ้าน้อยได้ฝากเงินให้ 800 บาทและแหวนทับทิมที่ระลึกวงหนึ่ง หลังจากนั้น มะเมี๊ยะก็กลับมาบวชชีที่วัดใหญ่ในเมืองเมาะละแหม่งจนสิ้นชีวิต




ชีวิตรักอันรันทดของเจ้าน้อยศุขเกษม (พ.ศ. 2426-2456) และมะเมี๊ยะ (พ.ศ. 2430-2505) จบลงแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2446 อันเป็นปีที่ทั้งสองเดินทางกลับถึงเชียงใหม่และถูกพรากจากกันไม่นานหลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2446 หรือ 99 ปีที่แล้ว ทั้งสองถูกแยกจากกันและไม่ได้พบกันอีก แม้มะเมี๊ยะจะเดินทางกลับไปหาอีกครั้งเพื่อร่ำลาหลังจากทราบว่าเจ้าน้อยแต่งงาน เจ้าน้อยศุขเกษมน่าจะรู้สึกผิดและเจ็บปวดอย่างที่สุด จึงไม่อาจทำใจออกมาพบหญิงคนรักได้ ได้แต่ฝากของที่ระลึกให้

แม้เจ้าน้อยศุขเกษมจะสิ้นชีวิตอีก 10 ปีหลังจากการพลัดพรากในปี 2446 และมะเมี๊ยะจะสิ้นชีวิตอีก 59 ปีหลังจากนั้น แต่กล่าวสำหรับเจ้าน้อยศุขเกษมชีวิตของเขาจบสิ้นแล้วตั้งแต่ปีนั้น ปีที่เขาถูกการเมืองทำลายความรักและเขาได้ละเมิดคำสัญญาที่เขามีไว้กับหญิงสาวที่เขารัก 10 ปีหลังจากนั้นที่เขามีชีวิตเหลืออยู่ก็มีเพียงกายที่เดินไปมา และกายที่คอยแต่ดื่มสุรา ดื่มเพื่อที่จะลืมอดีต ดื่มจนทำให้กายนั้นหยุดทำงานก่อนวัยอันควร
แม้เจ้าน้อยศุขเกษมจะเสียชีวิตด้วยพิษสุรา และมะเมี๊ยะจะเสียชีวิตด้วยโรคชรา แต่ความรักของเขาไม่เคยสิ้นสุด ชีวิตของเขาทั้งสองได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่พวกเขาได้สร้างขึ้นในวัยหนุ่มสาว วันหนุ่มสาวที่ผู้ใหญ่หลายคนคิดว่าเป็นวัยที่รักง่าย ลืมง่าย คิดว่าแยกพวกเขาออกจากกันไม่นานก็ลืมกันไปเอง วัยหนุ่มสาวและความรักที่การเมืองระหว่างสยามกับล้านนาคิดว่าเป็นเรื่องเล่น ๆ ไม่มีความสำคัญใด ๆ

สุดท้าย ความรักอันยิ่งใหญ่นั้นก็ยืนยง ที่เจ้านายล้านนาไม่ว่าจะอยู่ที่เชียงใหม่หรือกรุงเทพฯ ก็ตกตะลึงคิดไม่ถึงว่าเจ้าน้อยศุขเกษมจะรักมะเมี๊ยะ และมีใจให้หญิงสาวคนนั้นเพียงผู้เดียวอย่างเหนียวแน่นถึงเพียงนั้น และก็คงไม่มีใครคิดว่าสาวน้อยชาวพม่าคนนั้นจะมีหัวใจเพียงดวงเดียวมอบให้แก่ชายหนุ่มชาวเชียงใหม่ และเธอได้พิสูจน์ให้เห็นตลอดชีวิตอันยาวนานของเธอ

น่าเสียดายนักที่ราชนิกูลแห่งสกุล ณ เชียงใหม่ จะช่วยกันปิดบังเรื่องราวอีกหลายด้านเกี่ยวกับความรักและความรันทดของคนทั้งสอง จนกระทั่งพวกเขาเองลับหายจากโลกไปทีละคนทีละคน จนเวลานี้จวนจะครบ 100 ปีของความรักและโศกนาฏกรรมนั้น ยังมีอีกหลายอย่างมากที่ดำมืด มีเพียงการคาดคะเนและวิเคราะห์ไปตามข้อมูลที่มีอย่างจำกัด

จากตำนานรักระหว่าง "เจ้าน้อยศุขเกษม" และ "มะเมี๊ยะ" ได้รับการเผยแผ่ทั้งโดยการเล่าขานสืบต่อกันมาและจากการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากเท่าใดนัก จนกระทั่ง "จรัล มโนเพชร" นำเนื้อเรื่องมาแต่งเป็นเพลงและขับร้องร่วมกับ "สุนทรี เวชชานนท์" ด้วยความไพเราะของเนื้อเพลงและดนตรีของศิลปินชาวลานนาทั้งคู่นี่เอง จึงทำให้เรื่องราวโศกนาฎกรรมแห่งรักของเจ้าชายล้านนา และ มะเมี๊ยะ กลายเป็นที่เลื่องลือและกล่าวขานกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังมีเนื้อเพลงดังต่อไปนี้


"มะเมี๊ยะ"


มะเมี๊ยะเป็นสาวแม่ก๊า คนพม่าเมืองมะละแหม่ง
งามล้ำเหมือนเดือนส่องแสง คนมาแย่งหลงฮักสาว
มะเมี๊ยะบ่ยอมฮักไผ มอบใจ๋หื้อหนุ่มเชื้อเจ้า เป็นลูกอุปราชท้าวเจียงใหม่
แต่เมื่อเจ้าชายจ๊บการซึกษา จำต้องลาจากมะเมี๊ยะไป...

เหมือนโดนมีดซับดาบฟันหัวใจ๋ ปล๋อมเป๋นป้อจายหนีตามมา
เจ้าชายเป็นราชบุตร แต่สุดตี้ฮักเป๋นพม่า ผิดประเพณีสืบมา ต้องร้างลาแยกทาง
โอ่โอ๊ก็เมื่อวันนั้น วันตี้ต้องส่งคืนบ้านนาง...

เจ้าจายกะจัดกบวนชจ๊าง ไปส่งนางคืนทั้งน้ำตา
มะเมี๊ยะตรอมใจ๋อาลัยขื่นขม ถวายบังคมทูลลา สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา
ขอลาไปก่อนแล้วจ้าตินี้เจ้าชายก็ตรอมใจ๋ตาย มะเมี๊ยะเลยไปบวชชี
ความฮักมักเป็นจะนี้ แลเฮย ...


รายการ - สืบสานตำนานลานนา เรื่อง "มะเมี๊ยะ" - สถานีวิทยุ อสมท.จังหวัดเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น