วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] "ราตรีประดับดาว" บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7... ครองราชย์ ตั้งแต่ เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 จนกระทั่งสละราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 2478 ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในปี พ.ศ.2461 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ หลังจาการรัฐประหาร 2475 หลังสละราชสมบัติ ทรงพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษและทรงสวรรคตที่นั่น พระอัฐิของพระองค์ถูกนำกลับสยามหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงสวรรคตในปี พ.ศ. 2527

เพลงราตรีประดับดาว... บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

เพลงราตรีประดับดาวนี้ เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ ๗ แห่งพระมหาจักรีบรมวงศ์ กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง และทรงมีพระปรีชาสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีไทย โดยเฉพาะการทรงซอ ทรงศึกษาดนตรีไทยจากหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) และหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งเป็นครูดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น

ประวัติของเพลงราตรีประดับดาวนั้น ว่าไว้ว่า ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงฟังเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา อันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์พินิต เพลงนี้เป็นเพลงสำเนียงเป็นมอญ ซึ่งบทร้องที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในตอนชั้นเดียวท่อนสุดท้ายนั้นมีว่า “ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมญา ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม” รัชกาลที่ ๗ จึงมีพระราชประสงค์จะทรงแต่งเพลงเถาในสำเนียงมอญอย่างนั้นบ้าง จึงทรงหารือกับครูผู้ใหญ่ในวงการดนตรีไทยในสมัยนั้น

เพลงที่ทรงเลือกมาเพื่อพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นเพลงเถานั้น คือเพลงมอญดูดาว สองชั้น ของเก่า ซึ่งเมื่อทรงพิจารณาเพลงลงไป ทรงเห็นว่า เพลงมอญดูดาวของเดิมใช้หน้าทับมอญ (เทียบได้กับประเภทหน้าทับสองไม้ของไทย) และมีอยู่เพียง ๑๑ จังหวะ แต่โดยที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชนิพนธ์เพลงโดยใช้หน้าทับเป็นประเภทปรบไก่ ซึ่งความยาวเป็น ๒ เท่าของหน้าทับประเภทสองไม้ ดังนั้นหากทรงคงเนื้อเพลงของเดิม ก็จะได้จำนวนหน้าทับปรบไก่เพียง ๕ จังหวะครึ่ง

แล้วจึงทรงประดิษฐ์ทำนองขยายขึ้นเป็นอัตราสามชั้น และตัดแต่งลงเป็นชั้นเดียวจนครบเป็นเพลงเถา กับทรงพระราชนิพนธ์บทร้องขึ้นสำหรับร้องเป็นประจำโดยเฉพาะว่า


(สามชั้น) วันนี้แสนสุดยินดี พระจันทร์วันเพ็ญ
ขอเชิญสายใจเจ้า ไปเที่ยวเล่น(๒)
ลมพัดเย็นเย็น หอมกลิ่นมาลี
หอมดอกราตรี แม้ไม่สดสีแต่หอมดีน่าดม

เหมือนงามน้ำใจ แม้ไม่ขำคม
กิริยาน่าชม สมใจจริงเอย
ชมแต่ดวงเดือน ที่ไหนจะเหมือนได้ชมหน้าน้อง
พี่อยู่แดเดียวเปลี่ยวใจหม่นหมอง

เจ้าอย่าขุ่นข้องจงได้เมตตา
หอมดอกชำมะนาด สีไม่ฉูดฉาดแต่หอมยวนใจ
เหมือนน้ำใจดีปรานีปราศรัย
ผูกจิตสนิทได้ให้รักจริงเอย
(สองชั้น) ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ
เพลงของท่านแต่ใหม่ในวังหลวง
หอมดอกแก้วยามเย็น
ไม่เห็นใจพี่เสียเลยเอย

ดวงจันทร์หลั่นลดเกือบหมดดวง
โอ้หนาวทรวงยอดชีวาไม่ปรานี
หอมมะลิกลีบซ้อน
อ้อนวอนเจ้าไม่ฟังเอย
(ชั้นเดียว) จวนจะรุ่งแล้วนะเจ้าพี่ขอลา
แสงทองส่องฟ้าสง่าศรี
หอมดอกกระดังงา
ชิชะช่างน่าเจ็บใจจริงเอย

หมู่ภมรร่อนหาช่อมาลี
แต่ตัวพี่จำจากพรากไปไกล
หอมดอกจำปี
นี่แน่ะพรุ่งนี้จะกลับมาเอย ฯ

"ราตรีประดับดาว" บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7


เพลงราตรีประดับดาวนี้นัยว่าพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ที่วังไกลกังวล หัวหิน เมื่อเสร็จใหม่ ๆ ยังไม่มีชื่อ มีเจ้านายและผู้ทรงคุ้นเคยหลายท่านเสนอชื่อถวายหลายอย่าง เช่น ดาวประดับฟ้าบ้าง ดารารามัญบ้าง แต่ระหว่างที่ยังมิทรงเลือกจะใช้ชื่อใดดี วงมโหรีหลวงซึ่งได้รับพระราชทานต่อเพลงนี้ ได้นำออกกระจายเสียงที่สถานี พีเจศาลาแดง ประกาศชื่อเพลงนี้ว่า ราตรีประดับดาว อันเป็นชืื่อที่พระองค์ทรงคิดเอง จึงเรียกเพลงนี้ว่า เพลงราตรีประดับดาวมาจนทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยดนตรีและเพลงไทยอย่างมากถึงกับโปรดให้ตั้งวงดนตรีไทยส่วนพระองค์ขึ้นในพระราชวัง ประกอบด้วยเจ้านายข้าราชการที่ใกล้ชิดพระองค์ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน พระองค์เองและพระราชินีก็ทรงฝึกหัดด้วย พระองค์ทรงเริ่มหัดสีซออู้ก่อน ต่อมาก็ทรงสามารถสีซอด้วง เพื่อช่วยแนะนำพระราชินีด้วยพระองค์เองได้ พระองค์ทรงรู้แจ้งการดนตรีไทยทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฎีอย่างรวดเร็ว จนสามารถเข้าใจวิธีการแต่งเพลงไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์

ในบทร้องตอนสองชั้นที่ว่า ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง เป็นที่รู้ทั่วกันว่าแม้จะไม่ได้ทรงในพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) แต่ทรงใช้คำว่าวังหลวงเป็นสัญลักษณ์ตามแบบ เป็นการล้อเลียนเพลงแขกมอญบางขุนพรหมด้วย

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2473 ขณะประทับที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลง เขมรละออองค์ เสร็จทั้งทำนองดนตรี และทำนองร้องและพระราชทานชื่ื่อเพลงว่า เขมรละออองค์ บทร้องโปรดให้นำมาจากบทละครรำเรื่องพระร่วง ของรัชกาลที่ 6 โดยทรงแก้ไขเพิ่มเติมบ้าง

ในปี พ.ศ. 2474 ทรงเสด็จทางชลมารคประพาสสัตหีบ หัวเมืองชายทะเลที่มีทิวท้ศน์งดงาม ได้ทอดพระเนตรและสดับเสียงคลื่นต่าง ๆ ระหว่างทางด้วยความสุขพระราชหฤทัย ทรงดำริพระราชนิพนธ์เพลงไทยให้มีท่วงทำนองเป็็นละลอกคลื่นต่างๆ จึงทรงเลือกเพลงคลื่นกระทบฝั่งอัตราสองชั้นเก่า พระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นอัตราสามชั้น

ลำนำของเพลงเป็นเหมือนเสียงคลื่นกระทบฝั่งสมดังชื่อเพลง ในท่อนต้นมีลูกล้อและลูกขัดเป็นเสียงคลื่นกระฉอก เมื่อกระทบกับแง่หินที่ยื่นย้อยออกมาตามชายฝั่ง โดยลักษณะต่าง ๆ กัน ในตอนท้ายท่อนสองเที่ยวแรกแสดงถึงคลื่นใต้น้ำอันหนุนเนื่องซ้อน ๆ กันมา ผสมกับคลื่นเหนือน้ำ ส่วนตอนท้ายใกล้จะจบเพลง ฟังเหมือนลูกคลื่นเล็ก ๆ ที่วิ่งพลิ้วไล่กันมาตามกระแสอย่างรวดเร็ว ถ้าจะอธิบายตามหลักการดนตรีเปรียบเทียบธรรมชาติก็กล่าวได้ว่า ทรงสอดแทรกลูกล้อลูกขัดให้มีทำนองเลียนเสียงคลื่นที่ซัดสาดด้วยอาการต่างๆ ไว้อย่างแนบเนียนสมกับชื่อว่า คลื่นกระทบฝั่ง อย่างแท้จริง แต่เดิมคงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ใช้เป็นเพลงขับร้อง แต่ยังมิได้ทรงพระราชนิพน์ทำนองร้องขึ้น ก็โปรดให้ใช้เป็นเพลงโหมโรงไปก่อน และได้ใช้กันมาจนทุกวันนี้ ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในการดนตรีไทย อีกพระองค์หนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น