วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

[นิทานเรื่องเล่า] อะโฟรไดต์ (Aphrodite) หรือ วีนัส : เทพีแห่งความรัก



อะโฟรไดต์ (Aphrodite) หรือ วีนัส (Venus) : เทพีแห่งความรัก
Original : http://twssg.blogspot.com/

อะโฟรไดต์ หรือ วีนัส เป็นเทพธิดาเพียงองค์เดียวในคณะเทพแห่งโอลิมปัสที่มีประวัติความเป็นมาไม่กระจ่างชัดไม่ทราบถึงผู้ให้กำเนิดเพราะเกิดจากฟองทะเล เซฟเฟอร์ (Zephyr) เทพแห่งลมประจิม (ลมตะวันตก) เป็นผู้พบเทพธิดาผู้เลอโฉม ขณะแสงเงินแสงทองกำลังส่องฟ้ายามรุ่งอรุณ ในเวลานั้นเทพธิดาวีนัสลอยอยู่บนฟองของน้ำทะเลซึ่งเลื่อนไหลไปตามคลื่นความงามของนางแม้เทพแห่งลมประจิมเองก็ถึงกับตกตะลึงแทบลืมหายใจ เมื่อได้สติจึงช่วยโชยพัดจนมาถึงเกาะดอกไม้ที่มีชื่อว่า ซีเทรา (Cythera) ณ ที่แห่งนี้เทพธิดาแห่งเสน่ห์และความงาม 3 องค์ได้เชิญนางขึ้นฝั่ง ต่างคอยรับใช้และช่วยกันแต่งกายให้ด้วยเสื้อผ้าอันงดงามอีกทั้งอัญมณีล้ำค่า แล้วเชิญประทับรถทองเทียมด้วยนกพิราบขาวเพื่อนำไปยังวิมานโอลิมปัส (บางตำนานว่าเทพีผู้รักษาทวารเขาโอลิมปัส ได้ลงมารับนางขึ้นไป ณ เทวสภา)

เทพเจ้าทุกองค์ต่างชื่นชมและเชิญเทพธิดาวีนัสให้ขึ้นประทับ ณ บัลลังก์เข้าร่วมเป็นคณะเทพแห่งโอลิมปัสพระองค์หนึ่ง มหาเทพซีอุสเกรงว่าจะเกิดการแย่งชิงเทพธิดาผู้เลอโฉมขึ้นในระหว่างเทพบุตร จึงมีพระดำรัสยกเทพธิดาวีนัสให้เป็นพระชายาของเทพบุตรเฮเฟสทัสผู้มีนิสัยสุขุมเยือกเย็นและหนักแน่น ตำนานตรงนี้มีเกร็ดเล่าแทรกว่าความจริงมหาเทพซีอุสต้องการรับเทพีวีนัสไว้เป็นพระชายา แต่ทรงทราบว่าพระมเหสีเฮราไม่มีวันยินยอม จึงยกให้เป็นพระชายาของพระโอรสเพื่อตอบแทนที่เทพวิศวกรรมเฮเฟสทัสสร้างสายฟ้าถวายเป็นอาวุธของพระองค์


เทพธิดาวีนัสเสด็จกลับไปเยือนเกาะซีเทราปีละครั้ง และทรงดำลงไปในทะเล อันเป็นแหล่งที่พระองค์ทรงอุบัติขึ้นมา เมื่อโผล่ขึ้นมาจากน้ำ เทพธิดาผู้เลอโฉมจะดูสดชื่นเหมือนวันแรกที่เทพแห่งลมประจิมได้พบ เนื่องจากมีพระสิริโฉมงดงามและนิสัยร่าเริงชอบความสนุกสนาน จึงไม่พอพระทัยในพระสวามีเฮเฟสทัสผู้มีขาพิการ อีกทั้งยังคร่ำเคร่งทรงงานหนักอยู่แต่ในโรงงานที่สกปรกและดังหนวกหูทั้งวันทั้งคืน

เอริสหรือมาร์สผู้งามสง่าคือเทพบุตรที่เทพีแห่งความรักพึงพอใจ กระนั้นในภายหลังพระนางก็ยังแอบแบ่งหัวใจให้กับ เจ้าชายแอนไคซิส (Anchises) จนมีโอรสด้วยกันคือ เจ้าชายอีเนียส [Aeneas] ซึ่งเป็นวีรบุรุษที่สำคัญคนหนึ่งของเมืองทรอย และพระองค์ (อีเนียส) ยังเป็นผู้นำความยิ่งใหญ่ของบรรดาเทพเจ้าแห่งโอลิมปัสไปเผยแพร่ ณ กรุงโรม ซึ่งเชื้อสายของพระองค์เป็นผู้สร้าง นามของเทพเจ้าแห่งโอลิมปัสได้รับการขนานนามเป็นภาษาโรมันและได้รับการยกย่องให้ยิ่งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง ณ อาณาจักรโรมัน



ตำนานดอกอโดนิส (adonis) หรือดอกอะนิโมนิ (anemone)

ดังที่กล่าวไว้ในตอนท้ายของประวัติความเป็นมาแห่งเทพธิดาวีนัสแล้วว่า นอกจากเทพบุตรเอริสหรือมาร์สผู้สง่างาม เทพีแห่งความรักผู้เลอโฉม ยังมีเรื่องเสน่หากับนายพรานหนุ่มผู้หนึ่งนามว่า อโดนิส [adonis] อันเนื่องมาจากพิษศรแห่งความรักของโอรสคิวปิด ซึ่งเกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ

เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งขณะที่พระมารดาวีนัสทรงหยอกเย้าอยู่กับโอรสคิวปิด นางเผลอไปถูกศรเข้าโดยบังเอิญ ครั้นได้ยลโฉมอโดนิสนายพรานหนุ่มก็บังเกิดความรักหลงใหล แต่เนื่องจากเทพบุตรคิวปิดมิได้ยิงศรรักเข้าสู่ดวงใจของอโดนิส เรื่องจึงกลายเป็นว่าเทพธิดาผู้เลอโฉมหลงรักพรานหนุ่มผู้เป็นมนุษย์เพียงข้างเดียว นางเพียรเฝ้าติดตามอย่างห่วงใยและคอยตักเตือนมิให้พรานหนุ่มกระทำการล่าสัตว์ด้วยวิธีเสี่ยงต่ออันตราย แต่อโดนิสหาได้รับฟังหรือสนใจใยดีแต่ประการใด

ครั้งหนึ่งอโดนิสเกิดพลาดพลั้งถูกหมูป่าที่บาดเจ็บเพราะโดนไล่ล่าจนตรอกถลาเข้าขวิดจนล้มลงขาดใจตาย เทพธิดาวีนัสทรงเทพยานเทียมหงส์ผ่านมาพบจึงกรรแสงฟูมฟายโอดครวญ และเนื่องจากไม่ต้องการให้วิญญาณของชู้รัก ถูกนำไปสู่ยมโลก เลยใช้เทวฤทธิ์บันดาลให้หยาดโลหิตของอโดนิสกลายเป็นบุปผชาติชนิดหนึ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความโศกเศร้า ดอกไม่นั้นมีสีแดงเลือดดังสีทับทิม เรียกกันว่า ดอกอโดนิส หรือ ดอกอะนิโมนิ เทพธิดาวีนัสบันดาลให้รูปปั้นนางกัลละเทีย [galatea] มีชีวิตเทพธิดาวีนัสเป็นเทพีแห่งความรักอย่างแท้จริง นางได้ช่วยดลบันดาลให้หนุ่มสาวหลายคู่สมหวัง ดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

ณ เกาะไซปรัส อันเป็นเกาะหนึ่งที่มีศาลของเทพธิดาวีนัสซึ่งชาวเมืองนิยมทำการบวงสรวงบูชา มีช่างปั้นฝีมือดีผู้หนึ่งชื่อว่า พิกเมเลียน [pygmalion] เขาได้ปั้นรูปผู้หญิงที่มีความงามเลิศล้ำขึ้นมาและให้นามของนางว่า กัลละเทีย [galatea] เนื่องจากนางมีรูปลักษณะเสมือนมนุษย์อย่างไม่ผิดเพี้ยน พิกเมเลียนจึงเกิดความรักจนหลงใหล ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยสนใจผู้หญิงคนใดในโลก ช่างปั้นหนุ่มได้ทูลขอให้เทพธิดาวีนัสเนรมิตรให้นางอันเป็นที่รักยิ่งมีชีวิตเลือดเนื้อขึ้นมา และก็ได้ดังความประสงค์ เปลวไฟที่แท่นบูชาพุ่งขึ้นสามครั้งตามคำอธิษฐานเสี่ยงทาย พิกเมเลียนดีใจอย่างหาที่เปรียบมิได้ เมื่อกลับมาถึงบ้านและบรรจงจูบอย่างทะนุถนอม นางกัลละเทียก็กลับมีชีวิตเลือดเนื้อขึ้นมาเหมือนมนุษย์ทุกประการ ทั้งสองได้แต่งงานกันและให้กำเนิดบุตรผู้หนึ่งนามว่า เพฟอส [paphos]



ตำนานเหตุที่ผลหม่อนมีสีแดงดังเลือด

ยังมีตำนานเกี่ยวกับความรักที่เทพธิดาวีนัสได้ให้ความช่วยเหลืออีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแม้จะจบลงด้วยความเศร้า แต่ก็เป็นอุทาหรณ์ที่ดี
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว หนุ่มสาวคู่หนึ่งมีความรักต่อกันอย่างแท้จริง ฝ่ายชายนั้นมีนามว่า พิรมัส [pyramus] ฝ่ายหญิงสาวนั้นมีนามว่า ธิสบี [thisbe] แต่พ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย กลับเป็นศัตรูคู่อาฆาตทั้งที่บ้านมีกำแพงชิดติดกัน เทพธิดาวีนัส ได้ช่วยให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพรอดรักกันตรงรอยแตกของกำแพงบ้านนั้นเอง

ครั้นเมื่อทั้งสองนัดไปพบกัน ณ นอกประตูเมือง ตรงที่มีต้นหม่อน ( ซึ่งในสมัยนั้นผลหม่อนยังมีสีขาว ) ขึ้นอยู่ ธิสบีมาถึงที่นัดก่อน แต่หล่อนโชคร้ายโดนสิงโตตัวหนึ่งไล่ล่า แม้จะหนีรอดไปได้แต่เกิดทำผ้าคลุมหน้าหล่นไว้ พิรมัสมาพบผ้าคลุมหน้าของสาวรักมีรอยถูกสิงโตฟัดจนขาดไม่มีชิ้นดี เข้าใจว่าธิสบีตกเป็นเหยื่อของสิงโตไปแล้ว จึงชักมีดแทงตัวตายด้วยความเศร้าเสียใจ ครั้นธิสบีย้อนมาหาคนรัก ณ จุดนัด พบร่างของพิรมัสนอนสิ้นใจอยู่นางก็แทงตัวตายตาม ศพของสองหนุ่มสาวผู้บูชาความรักแต่ขาดสติไตร่ตรอง นอนอยู่เคียงข้างกัน ณ ใต้ต้นหม่อน ซึ่งบัดนี้ผลของมันซึ่งเคยขาวราวไข่มุก ได้เปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดนับแต่นั้นมา เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจมิให้หนุ่มสาวที่กำลังอยู่ในห้วงแห่งความรักใจร้อนวู่วามเหมือนพิรมัสกับธิสบี



เทพธิดาวีนัส เทพีผู้ครองความมีลูกดก
(ตำนานนกกระสาคาบเด็กมาหย่อนลงในปล่องไฟ)


ในสมัยโบราณเชื่อกันว่า เทพธิดาวีนัสนอกจากเป็นเทพีแห่งความรักผู้เลอโฉมแล้ว ยังเป็นเทพีครองความมีลูกดกอีกด้วย ชาวกรีกและโรมันนับถือนกกระสาอันเป็นนกคู่บารมีของเทพธิดาวีนัส โดยรับหน้าที่คาบห่อผ้าซึ่งภายในมีทารกไปมอบให้กับครอบครัวที่จะมีเด็กเกิด หรือหากนกกระสาสองผัวเมียมาทำรังบนนั้นมีลูกและจะประสบความรุ่งเรือง ดังนั้นชาวยุโรปจะรู้สึกยินดีหากมีนกกระสามาทำรังบนหลังคาบ้าน เรื่องนี้อาจเป็นตำนานที่แต่งขึ้นเพื่อตอบคำถามเด็ก ๆ ว่าพวกเขามาจากไหน ตำนานนกกระสานำเด็กมามอบให้ครอบครัวที่จะให้กำเนิดเด็กทารก โดยคาบมาหย่อนลงในปล่องไฟ จึงพอจะช่วยให้คำถามยาก ๆ คลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง


Aphrodite - S.E.N.S. Concert Tour 2000.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น