วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พิณเปี๊ยะเครื่องดนตรีแห่งสรวงสวรรค์ของลานนา...ที่กำลังจะสูญหาย...

อุ้ยบุญมา ไชยมะโน (2465-2548) ครูเพลงเปี๊ยะ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
พ่อครู พิณเปี๊ยะ คนสุดท้าย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว


พิณเปี๊ยะเครื่องดนตรีแห่งสรวงสวรรค์ของลานนา

กล่าวกันว่า "พิณเปี๊ยะ" หรือ "เปี๊ยะ" เป็นเครื่องดีดตระกูลพิณที่ไพเราะ เสียงเบา และ เล่นยากที่สุดอย่างหนึ่งในบรรดาเครื่องดนตรีทั้งหมดทั้งมวล ช่างดนตรีทางเหนือพูดเปรียบเปรยให้เข้าใจได้ง่ายว่า "หัดเปี๊ยะ 3 ปี หัดปี่ 3 เดือน" ก็เพราะการจะบรรเลงให้ได้ดีนั้น ต้อง ใช้เทคนิคและความชำนาญเป็นอย่างมากผู้หัดจำต้องมีพื้นฐานทางดนตรีที่ดีมาก่อน

เสรี ชุ่มไชยา หนึ่งในกลุ่มผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรมการเล่นเครื่องดนตรีพิณเปี๊ยะ

การดีดต้องดีดด้วยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า "ป๊อก" เพื่อให้เกิดเสียง คม ใส ดังก้องกังวาลนานกว่าเสียงธรรมดา ไม่เพียงมีวิธีดีดที่พิเศษ เปี๊ยะยังมีโครงสร้างของระบบเสียงที่พิเศษอีกด้วยคือ เสียงที่เกิดจากการ "ป๊อก" จะส่งผ่านตามสายไปยังหัวเปี๊ยะ แล้วไหลผ่าน ตามสายมายังกล่องเสียงซึ่งทำจากกะลามะพร้าวผ่าครึ่งที่แนบอยู่กับหน้าอกผู้เล่น คลื่นเสียงจะผ่านอากาศในช่องของกล่องเสียง ไปสะท้อนกับแผ่นอกผู้เล่น แล้วสะท้อนออกมาทางช่องว่างระหว่างกะลากับหน้าอก ผู้เล่นต้องปรับขนาดช่องว่างนี้ด้วยมือซ้ายเพียง มือเดียว เพื่อให้ได้น้ำเสียงที่นุ่มนวลและทุ้มแหลม หนัก-เบา หรือโทนเสียงต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง


เล่าขานตำนานพิณเปี๊ยะ

จากคำบอกเล่าของ อุ้ยบุญมา ไชยมะโน (2465-2548) ครูเพลงเปี๊ยะ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง พ่อครู พิณเปี๊ยะ คนสุดท้าย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว "ในสมัยก่อน ในส่วนของพิณ ถ้าอู้เข้าเข้าไปลึกๆ ก็คือเฮาจะได้ฮีตได้ฮอย มาจากของตางอินเดีย ก็คือมันจะเป็นพิณน้ำเต้า แล้วมันก็จะพัฒนามาเป็นสองสายหรือเฮาจะฮ้องว่าพิณเปี๊ยะ เพราะกับกำว่าพิณมันก็คือการจั้กสาย แล้วก็เป็นเครื่องสาย หรือว่าเครื่องดีด ละก้อเปี๊ยะก็คือการอวดเนี้ยะ เพราะฉะนั้นในส่วนการได้ฮีตได้ฮอยจากอินเดียมา เฮาก็จะหันได้ว่ามันคงจะมีการพัฒนามาเรื่อยๆ แล้วก็คนในสมัยตะก่อน เปิ้นก็ว่ากันว่าจะใจ้ในส่วนของพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็ถ้าเฮากึ้ดย้อนนึกไปสมัยตะก่อน ในการตี้หัวของพิณเปี๊ยะทำด้วยสำริด มันก็จะต้องเป็นคนตี้ เป็นผู้ที่มีอำนาจ หรือว่าเป็นคนตี้อยู่ในศาสนาหรือคนจั้นสูง ถ้าจะมีหัวตี้เป็นสำริด แล้วก็สร้างขึ้นมาได้ แล้วแถมอย่างหนึ่งเปิ้นก็บอกว่า อาจจะเล่นในพระราชวังต่างๆ แล้วอยู่ต่อมา สืบทอดต่อๆ กันมาเรื่อยๆ อาจจะตกอยู่ใน สังคมของชนชั้นเจ้า แล้วก็ลงมาเรื่อยๆ ถอยมาเรื่อยๆ อาจจะเป็นสังคมที่สืบทอดจากเจ้ามาสู่คนธรรมดา ละก็มีว่ากันว่า เปิ้นก็ได้เอาพิณเปี๊ยะเนี้ยะ ไปเล่นแอ่วสาวเหมือนกัน เพราะว่าพ่ออุ้ยแปง นวลจา เปิ้นก็ได้เกยอู้ไว้ว่าพิณเปี๊ยะในสมัยตะก่อนเปิ้นก็เกยหัดเล่น เปิ้นก็เอาไปเล่นแอ่วสาวตามบ้านตามจองต่างๆ ละก้อ ช่วงจากป้ออุ้ยแปง นวลจา รู้สึกว่ามันก็จะหายไป แล้วก็มีการฟื้นกันขึ้นมาใหม่"...

ชาวล้านนาสมัยก่อนเรียกพิณเปี๊ยะ (เอกสารโบราญสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกพเยีย บางเล่มเรียก เพลี้ย, เพียะ) สั้นๆว่า “ เปี๊ยะ ” ในภาษาเหนือแปลว่า อวด หรือ เทียบเชิง คนที่เล่นเปี๊ยะได้จะดูโก้เก๋มากกว่าคนที่เล่นดนตรีพื้นๆ อย่างสะล้อ ซอ ซึง เวลาเล่นแต่ละครั้งจึงเหมือนเล่นอวดกัน เป็นการเล่นประชันขันแข่ง จึงทำให้สันนิษฐานกันว่า ชื่อ “ พิณเปี๊ยะ ” หรือ “ เปี๊ยะ ” อาจจะมีที่มาด้วยเหตุนี้ก็ได้ ส่วนใครเป็นคนคิดประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรก ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันแน่ชัด ได้แต่สันนิษฐานกันว่าพิณเปี๊ยะพัฒนามาจากพิณน้ำเต้าที่พวกพราหมณ์ เป็นผู้ทำขึ้นเล่นก่อน เพื่อประกอบการสวดโองการอ่านภควัตคีตา ต่อมาพราหมณ์ได้เผยแพร่เข้าสู่สุวรรณภูมิเมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้ว ดนตรีชนิดนี้จึงติดตามเข้ามาด้วยไม่ว่าจะเป็นที่รัฐฉานของประเทศพม่า ประเทศเขมร ภาคเหนือตอนบนของไทย แม้กระทั่งในกรุงศรีอยุธยาเองก็มีหลักฐานยืนยันว่ามีการเล่นพิณเปี๊ยะมาก่อน ช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่ปรากฏว่ามีการเล่นพิณเปี๊ยะในแถบภาคกลางและภาคอีสานอีกเลย แต่ยังคงเล่นอย่างแพร่หลายในภาคเหนือมาจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ระบบเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากภายนอกไหลบ่าเข้ามาแทนที่ วิถีชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรมในชนบทเริ่มเปลี่ยนแปลงไป พิณเปี๊ยะเริ่มหายไปเพราะไม่ค่อยมีใครหัดหรือทำขึ้นมาเล่นอีก



ลักษณะของพิณเปี๊ยะ

พิณเพียะลักษณะคล้ายพิณน้ำเต้าแต่พิณเพียะทำเพิ่มขึ้นเป็น ๒ สาย และ ๔ สายก็มี คันทวนยาวประมาณ ๑ เมตรเศษ ลูกบิดก็ยาวประมาณ ๑๘ ซม. ใช้เชือกคล้องสายผูกโยงไว้กับทวนสำหรับเร่งเสียงเหมือนกับพิณน้ำเต้า กะโหลกก็ทำด้วยเปลือกลูกน้ำเต้าตัดครึ่งลูกก็มี ทำด้วยกะลามะพร้าวก็มีเวลาดีดก็เอากะโหลกประกบติดไว้กับหน้าอกขยับเปิดปิดเพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการเช่นเดียวกับดีดพิณน้ำเต้า ตามที่ปรากฏในท้องถิ่นภาคเหนือผู้เล่นมักจะดีดคลอขับร้องของตนเองและนิยมเล่นในขณะที่ไปเที่ยวเกี้ยวสาวตามหมู่บ้านในเวลาค่ำคืน เดี๋ยวนี้หาผู้ที่เล่นได้ยากแล้วแต่ยังพอมีพี่น้องชาวไทยทางภาคเหนือของประเทศไทยเล่นได้บ้าง ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีเครื่องสายชนิดหนึ่งบอกไว้ว่า พิณเพียะ แต่ใช้ไม้จริงชนิดเบาทำเป็นกะโหลก ยาวตั้งแต่กะโหลกจนตลอดคันทวนประมาณ ๑.๒๒ เมตร แกะสลักฝังงาลงไปในเนื้อไม้เป็นลวดลายแพรวพราว ตัวกะโหลกกว้างประมาณ ๒๘ ซม. คันทวนแบนใหญ่กว้างประมาณ ๔๘ ซม. มีสายถึง ๕ สาย


พิณเปี๊ยะเครื่องดนตรีแห่งสรวงสวรรค์...ที่กำลังจะสูญหาย...

เรื่องราวของเครื่องดนตรีล้านนาที่เรียกว่า "พิณเปี๊ยะ" ที่กำลังจะสูญหาย เนื่องจากขาดผู้ที่จะรับสืบทอดหรือเผยแพร่ ทำให้ คุณคำหล้า หรือ “ธัญยพร อุตธรรมชัย” ศิลปินรุ่นใหม่แห่งลานนา เริ่มรณรงค์ผู้ต่อสู้เพื่อที่จะเผยแพร่ ศิลปะวัฒนธรรมล้านนา และเธอได้แต่งเพลงชื่อ เพลง “เพลงพิณเปี๊ยะ” ขับร้องท่วงทำนองด้วยภาษาคำเมืองของภาคเหนือ ประกอบดนตรีบรรเลงด้วย พิณเปี๊ยะ จนกระทั่งได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองคำพระราชทาน : สาขา เพลงไทยพื้นบ้านภาคเหนือยอดเยี่ยม (21 มิ.ย. พ.ศ. 2548)

-----------------------------

เพลง “เพลงพิณเปี๊ยะ”
คำร้อง - ทำนอง - ขับร้อง : คำหล้า ธัญยพร



งาม….หนอไหนมาเปรียบปาน
สาย…ลมพริ้วพัดผ่าน
กาสะลองดอกน้อยกลีบบาน
หอมนวลภมวลซาบซ่านดังวิมานเพลงพิณ

ใจ …..ข้าเจ้าถวิล
โบก….โบยบิน.. คิดถึง
บอกเมฆขาว ลมหนาวตราตรึง
เสียงพิณปานสังข์ซาบซึ้ง เฝ้ารำพึงถึงเธอ

****เพลงพิณนี้ดั่งมนต์สวรรค์
มานพหนุ่มน้อยคนธรรพ์แดนสวรรค์ฉิมพลี
ฮ่วมกันบรรเลง เพลงพิณเปี๊ยะตามสายนที
ล่องลอยเหนือห้วงวารีกล่อมโลกนี้ชื่นบาน

...ลม…หนาวครวญแผ่วมา
แว่ว…พิณเปี๊ยะ ลานนา
มวลบุปผาบ่หอมโรยรา
หมอกเหมยเจ้าเย้ยใจข้า จำต้องลาเพลงพิณ ...


กาญจน์มุนี ศรีวิศาลภพ (ร้อยตะวัน) : เขียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น