วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรือล่อง......ท่องวารี.... 4



เรือที่ไม่ได้เกี่ยวพันกับการใช้เรือในชีวิตประจำวันของผู้คนบางกรูด แต่กลับพบเห็นบ่อยและถือว่ามีความสำคัญกับลำน้ำ มีอีกหลายประเภท เช่น เรือพ่วง
เรือพ่วง นับว่ามีความสำคัญกับแม่น้ำทุกสายสายไม่เฉพาะที่บางปะกง

เรือพ่วง
ลักษณะเป็นเรือบรรทุกสินค้าหลายๆลำผูกโยงกันเป็นพวง แล้วมีเรือยนต์หรือเรือกลไฟลากจูง เรียกกันว่าเรือโยง
ขบวนเรือพ่วง มักจะพ่วงเรือประเภทเดียวกันเพราะการใช้เรือบรรทุกสินค้าแต่ละประเภทก็เหมาะสมกับสินค้าแต่ละประเภท เช่น เรือกระแชง เรือ เอี้ยมจุ๊น เรือแจวใหญ่

เรือกระแชง

เป็นเรือต่อทำจากไม้สัก ท้องเรือโค้งกลมมีลักษณะคล้ายแตงโมผ่าครึ่ง มีทวนหัวและทวนท้ายแบนเรียบ กงเรือเป็นไม้โค้งตามท้องเรือและวางเรียงกันถี่มาก ข้างเรือเป็นแผ่นไม้หนายึดเหนี่ยวด้วยลูกประสัก (สลัก) ที่ทำจากไม้แสมเหลากลม ด้านนอก โตกว่าด้านใน ส่วนปลายลูกประสักด้านในผ่ากราดด้วยลิ่มกันลื่นออก บนดาดฟ้าทำประทุนครอบเรือ (หลังคา) และมีฝาไม้ปิดด้านหน้าและด้านหลัง
กระแชง เป็นการเรียกเรือต่อ ที่ทำหลังคาด้วยกระแชง คลุมตลอดลำ กระแชงคือ เครื่องบังแดดบังฝนทำจาก ใบเตย ใบจาก มาเย็บเป็นแผงสมัยก่อนทำจากใบไผ่ เบากว่าที่ทำจากใบจากและกันความร้อนได้ดี กระแซงแบบนี้ คนจีนมักจะทำขาย ต่อมาราคาแพง คนจึงหันมาใช้สังกะสี แทน ทำให้กระแซงใบไผ่หายไป

เรือกระแชง ที่พบเห็นส่วนมากจะเป็นเรือบรรทุกสินค้า หากเปรียบเทียบเรือที่สัญจรไปมาในลำน้ำในอดีตเทียบกับถนนหนทางในปัจจุบัน เรือกระแชง ก็เปรียบเสมือนรถพ่วง 18 ล้อที่เป็นเจ้าอิทธิพลของท้องถนน ไม่มีใช้ตามบ้านบุคคลทั่วๆไป นอกจากกลุ่มที่ทำธุรกิจขนส่ง คำที่ว่ารถพ่วง 18 ล้อ เป็นเจ้าถนนเหมือนเป็นเจ้าพ่อท้องถนนคือเห็นที่ไหนเมื่อไร รถอื่นๆต้องหลบทางให้เพราะความยาวใหญ่ของตัวรถอีกทั้งส่วนใหญ่รถจะวิ่งเร็วเพราะคนขับมักถือว่าตัวเองมีฝีมือแน่กว่าใคร และฉันใหญ่นะจ๊ะ ขนาดสิบล้อยังต้องถอยฉากให้เลย ยิ่งรถพ่วงคันไหนวิ่งส่ายไปมา ยิ่งน่าหวาดหวั่น เกรงว่าข้อต่อพ่วงจะหลุดออกจากกัน เคยได้ยินคณะตลกถามปัญหากันว่า บนท้องถนนนี้ใครเป็นเจ้าของรถที่มีมากที่สุด คำตอบคือคนชื่อพ่วง ก็รถพ่วงน่ะต้องมีคำว่าพ่วงประกาศชื่อรถทุกคันนั่นเอง

เรือกระแชงก็เช่นกัน เป็นเจ้าอิทธิพลของลำน้ำ ไม่เป็นพาหนะตามบ้านเรือนทั่วไป หากเป็นบุคคลธรรมดา ที่จะใช้เรือกระแชง ก็คือ ยึดเรือกระแชงต่างบ้านเรือน ล่องลอยยังชีพไปด้วยชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับลำน้ำ ส่วนมากเป็นพ่อค้า แม่ค้า ล่องเรือขายสินค้าต่างๆ ร้านค้าริมน้ำก็รอเรือสินค้าเจ้าประจำนำสินค้ามาส่ง โดยมากเป็นสินค้าอุปโภค ปีหนึ่งก็มาไม่กี่ครั้ง สินค้าบางอย่างก็มาขายปีละครั้งเดียว เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ ของใช้ที่ทำจากดินเผา เช่น อ่าง หวด ไห หม้อดิน ครก และอื่นๆ มีเจ้าเดียวในลำน้ำแถบนี้ เป็นลุงป้าชาวมอญ มีกำหนดแน่นอนว่าจะมาเยือนบางกรูดในช่วงเดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสอง ร้านค้าก็ต้องขึ้นสินค้า(หมายถึงเอาสินค้าจากเรือขึ้นฝั่ง)ให้พอ กว่าจะมาใหม่ก็ปีหน้า ลุงกับป้าชาวมอญแจวท้ายเรือและหัวเรือเรี่ยวแรงแข็งขัน มาจากปทุมธานี ลัดเลาะตามลำน้ำลำคลองและออกสู่แม่น้ำ เมื่อมาถึงบางกรูด ส่วนใหญ่ มักเป็นเวลาบ่ายเกือบเย็น ลุงกับป้าเจ้าของเรือ จะมาทิ้งสมอจอดเรือนอนค้างที่แนวต้นแสมหน้าบ้าน ก่อนจะข้ามเอาสินค้าไปส่งที่ตลาดวัดบางกรูดในวันรุ่งขึ้น (ต่อมาภายหลังก็ใช้เครื่องยนต์ติดท้ายเรือ)

เรือกระแชงมักใช้ในการบรรทุกสินค้า เนื่องจากแปดริ้วเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำเมืองหนึ่งในอดีต สามารถใช้คำว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าวได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยเฉพาะเป็นอู่ข้าว ประกอบกับในสมัยรัชกาลที่ห้าทรงโปรดฯให้ขุดคลองเชื่อมเมืองต่างๆมากมาย ในเส้นทางที่เชื่อมกับฉะเชิงเทราก็มีหลายคลอง ชื่อคลองส่วนใหญ่ตั้งตามชื่อของขุนนางผู้ควบคุมการขุดคลองเช่นคลองประเวศน์บุรีรมย์( ชาวบ้านเรียกคลองท่าถั่ว) คลองอุดมชลจร (สมัยก่อนชื่อคลองเดโช ซึ่งพระยาสีหราชเดโช (โต บุนนาค) ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุด ) หรือ คลองพระยาสมุทร เป็นต้น อีกทั้งยังมีโรงสีกลไฟ หรือโรงสีไฟเครื่องจักรไอน้ำ ที่ ตำบลท่าพลับ-บางกรูดขนาดใหญ่ถึง สามโรง ติดริมน้ำ ในราวปีพ.ศ.2420 คือ โรงสีบน โรงสีกลาง และโรงสีล่าง (โรงสีพระยาสมุทร)

บรรดาคลองที่ใช้สัญจรไปมาระหว่างกันจึงเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวเปลือกมาสู่ลำน้ำบางปะกงด้วย ฉะเชิงเทรานอกจากอยู่ใกล้กรุงเทพแล้วยังสามารถออกทะเลปากอ่าวไทยได้ที่อำเภอบางปะกง ซึ่งในอดีตสามารถส่งข้าวสารออกไปสิงค์โปร์ ฮ่องกงโดยไม่ผ่านเข้ากรุงเทพ ฯได้อีกด้วย จึงไม่แปลกที่จะมีเรือโยงจูงพ่วงเรือกระแชงบรรทุกข้าวเปลือกขบวนละหลายๆลำ กันเป็นประจำ บางวันก็มีหลายขบวน ความใหญ่ของเรือกระแชงแต่ละลำ และความยาวของจำนวนเรือที่โยงพ่วงกันมา จึงทำให้ดูเป็นเจ้าลำน้ำกว่ารถพ่วงสิบแปดล้อบนท้องถนนเสียอีก เรือที่สัญจรในลำน้ำทุกประเภท ต้องหลบให้ชลยาตราของเรือกระแชงเช่นกัน ในสมัยที่โรงสีกลางและโรงสีล่างยังดำเนินการอยู่ บริเวณท่าน้ำหน้าโรงสีจะมีเรือกระแชงผูกโยงกันเป็นสิบๆลำ ยื่นออกจากฝั่งมากลางแม่น้ำรอการขนถ่ายข้าวเปลือก ในอดีตเรือกระแชงจึงมีการสัญจรคึกคักที่บริเวณ บางกรูด ท่าพลับ

ในการแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ อันถือเป็นงานประจำปีของจังหวัดที่มียืนยาวมาร้อยกว่าปีแล้ว จะนิมนต์หลวงพ่อองค์จำลองลงเรือกระแชงลำใหญ่ มีเรือจูงและริ้วขบวนเรือล่องในแม่น้ำบางปะกงไปจอดตามท่าต่างๆให้ประชาชน ได้กราบไหว้นมัสการ

เมื่อมีการตัดถนนหนทาง การขนส่งทางน้ำก็ค่อยๆหมดไป เจ้าแห่งลำน้ำ เรือกระแชง ก็ลับหายไปกับกาลเวลา แม้แต่เรือแห่หลวงพ่อก็เปลี่ยนเป็นเรือเหล็ก เรือกระแชงขนสินค้าซึ่งมิใช่เรือใช้งานพื้นบ้าน ก็ไม่หวนล่องไปมาให้เห็นอีก เจ้าของเรือสินค้าอุปโภคต่างๆ ก็ร่วงโรยลาลับโลกไป บุตรหลานไม่สืบต่ออาชีพนี้คือค้าขายทางน้ำ เรือกระแชงเลยเหลือแค่ชื่อให้เด็กรุ่นหลังได้รู้จัก คนที่อยากมีเรือกระแชงขึ้นมาต้องไปตามหาซื้อที่จังหวัดอื่น เช่นที่จังหวัดอยุธยา มีญาติไปซื้อมา ลำหนึ่งมีความจุข้าวเปลือก 1.4 ตัน ราคา 2 แสน บาท (เมื่อ5-6 ปีที่แล้ว) ลำที่เล็กลงมาก็ราคา 7 หมื่นบาท บางคนก็เอามาดัดแปลงสร้างบ้านอยู่บนเรือ เทคานวางเรือตีพื้นบ้านเสมอปากเรือ ท้องเรือก็เป็นห้องเก็บของ เหมือนเป็นห้องใต้ดินไป บางที่ก็เอามาดัดแปลงเป็นร้านอาหาร

หมายเหตุ... คนสมัยก่อน ไม่เรียกหน่วยตวงข้าวเปลือกข้าวสารเป็นกิโลกรัม เป็น ตัน จะเรียกเป็นถัง เป็นเกวียน ข้าวเปลือก 100 ถัง เป็น 1 เกวียน ถ้าเทียบอัตราส่วน ข้าวเปลือก 1 ถัง ประมาณ เป็นน้ำหนักข้าวเปลือก 10 กิโลกรัม ข้าวเปลือก 1 เกวียน ก็ประมาณ 1 พันกิโลกรัมคือ เท่ากับ 1 ตัน แต่ถ้าสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารแล้ว ข้าวสาร 1 ถัง ประมาณน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ถ้าอยากรู้เป็นข้าวสาร 1 ตัน ก็ทดสอบใช้ บัญญัติไตรยางศ์ สมัยเด็กๆ คำนวณกันเองนะคะ ข้าวเปลือก 1 ถัง ไปสีเป็นข้าวสาร ก็จะไม่ได้ข้าวสาร 1 ถังกลับมา เพราะกลายเป็นเปลือกข้าว และปลายข้าว ชาวบ้านที่เอาข้าวเปลือกไปสีที่โรงสีข้าว (ขนาดเล็กๆที่รับสีข้าวให้ชาวบ้านเป็นรายย่อยด้วย )ไม่ต้องเสียเงินค่าสีข้าว เพราะโรงสีจะได้ เปลือกข้าว ที่เรียกกันว่าแกลบ ได้ปลายข้าว รวมทั้ง รำข้าว ไว้นั่นเอง ต่อมาโรงสีบางแห่งให้บริการเอาเรือติดเครื่องยนต์มารับข้าวเปลือกไปสี แล้วเอามาส่งคืนเป็นข้าวสารตามบ้านริมน้ำด้วย แกลบนี้โรงสีไฟ จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสีข้าว แกลบเมื่อเผาไฟก็จะได้ขี้เถ้า สีดำๆ ที่เรานิยมเอามาเพาะชำต้นไม้


ยังมีเรือพ่วงขนาดเล็กลงมา บางทีก็พ่วงเรือแจวขนาดใหญ่ 5-6 ลำ บรรทุกข้าวเปลือกอีกเช่นกัน พ่วงไปส่งข้าวในระยะทางสั้นๆ จำนวนเรือในขบวนไม่มาก

บางครั้งเรือพ่วง ก็พ่วงเรือเอี้ยมจุ๊นบ้าง ที่พบเห็นนั้นเป็นการบรรทุกเกลือ ซึ่งไม่พบบ่อยนัก ขบวนเรือพ่วงเอี้ยมจุ๊น 1 ขบวน ก็บรรทุกปริมาณเกลือที่น่าตกใจ ว่า เอาไปทำอะไรกันมากมายขนาดนั้น ( ที่ใช้บริโภคบ้างคงเป็นส่วนน้อย หรือว่า......เอาไปส่งชายแดนกัมพูชา ที่โรงเกลือจังหวัดสระแก้ว เพื่อนำไปขาย ให้กับชาวกัมพูชานำไปใช้ทำปลาเค็ม ก็ไม่ทราบ เคยไปซื้อของหลายครั้งที่ตลาดโรงเกลือนี้แต่ไม่เคยเห็นเกลือหรือโรง เก็บเกลือ(โกดัง) หลงเลย เคยถามถึงเกลือและโรงเกลือกับผู้คนที่นั่น บรรดาพ่อค้าแม่ค้าพูดภาษาไทยไม่ค่อยชัดพาสั่นหน้า เคยอ่านพบว่าบริเวณโกดังเก็บเกลือเปลี่ยนเป็นตลาดโรงเกลือ เมื่อปี พ.ศ . 2534 บรรดาพ่อค้าแม่ค้าคงเป็นคนรุ่นใหม่จึงไม่ได้ข้อมูลมาเล่าสู่)

เรือเอี้ยมจุ๊น

เป็นเรือขนาดใหญ่ นิยมต่อด้วยไม้เคี่ยม ท้องเรือเรียวแหลมเล็กน้อย หัวและท้ายเรือจะเป็นทวนไม้ตั้งขึ้นแข็งๆ เรียกว่าทวนตั้ง ไม่อ่อนโค้ง เหมือนทวนเรือกระแซง ระดับเรือจากหัวถึงท้าย เกือบจะอยู่ในระดับเดียวกัน หางเสือเป็นประเภทที่ใช้คล้องติดกับหลักท้ายเรือ ไม่เหมือนหางเสือเรือกระแซง ที่เกี่ยวติดกับท้ายเรือ ท้ายเรือมีขยาบเป็นหลังคา สำหรับเป็นที่พักและนั่งถือหางเสือ
เรือเอี้ยมจุ๊น ในภาษาแต้จิ๋ว แปลว่าเรือเกลือ เข้าใจว่าจะเคยบรรทุกเกลือมาก่อน อีกทั้งเจ้าของเรือ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน นิยมใช้บรรทุกสินค้าขนาดหนักอย่างกว้างขวาง บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง เคลื่อนที่โดยการลากจูงด้วยเรือยนต์

(เกลือมีความสำคัญไม่แต่ในประเทศจีนจนใช้เรียกเป็นชื่อเรือที่บรรทุก สำหรับแฟนละครประวัติศาสตร์เกาหลีโบราณคงจำได้ว่า เกลือเป็นสิ่งสำคัญของชาวพูยอ และโคคุเรียว ที่ละครเอามาสื่อในเรื่องจูมงมหาบุรุษกู้บัลลังก์ ปฐมกษัตริย์ โคคุเรียว และ ตำนานจอมกษัตริย์เทพสวรรค์ กษัตริย์กวางแกโตมหาราชองค์ที่ 19 แห่งโคคุเรียว ว่าสำคัญในระดับพระราชาใช้เป็นเรื่องต่อรองได้ผล)

เรือพ่วงบรรทุกขี้เป็ด

ฉะเชิงเทราเคยเป็นแหล่งเลี้ยงไข่เป็ดแหล่งใหญ่ที่อำเภอบางปะกง เลยตำบลท่าสะอ้านไปทางตำบลสองคลอง ถ้านั่งรถเข้าชลบุรี หรือเข้ากรุงเทพ ถึงหมู่บ้านท่าไข่ เป็นต้องปิดจมูกเพราะทนเหม็นกลิ่นขี้เป็ดไม่ไหว ถ้าเป็นเส้นทางสายเก่าผ่าน สมุทรปราการ ถนนสายนี้จะเลียบตามลำคลอง ข้ามฝั่งคลองอีกด้านล้วนเป็นบ้านเรือนที่มีอาชีพเลี้ยงเป็ดไข่ และจะมีเรือมารับซื้อขี้เป็ดแล้วบรรทุกขี้เป็ดนี้ ออกมาที่แม่น้ำขนส่งเอาไปขายที่อื่นๆ ขบวนเรือบรรทุกขี้เป็ดล่องผ่านลำน้ำเป็นเรือพ่วงหลายลำเช่นกัน แม้ไม่บ่อยนัก แต่ก็เป็นขบวนเรือที่ชาวบ้านริมน้ำ เข็ดขยาดไม่อยากให้ผ่านมาเท่าไรนัก
ฉะเชิงเทรา มีชื่อท่าไข่ 2 อำเภอคือที่อำเภอเมืองเป็นตำบลท่าไข่เคยเป็นท่าขึ้นไข่ไก่และไข่เป็ด และที่อำเภอบางปะกงเป็นหมู่บ้านท่าไข่ ส่วนใหญ่เป็นไข่เป็ด ท่าไข่ทั้งสองแห่งล้วนอยู่ติดลำคลองเพื่อการขนส่งไข่ไก่ ไข่เป็ดที่ตำบลท่าไข่ และไข่เป็ดที่หมู่บ้านท่าไข่ ต่อมาอาชีพเลี้ยงเป็ดก็สูญหายไปจากอำเภอบางปะกงในราวประมาณปี 2522 เป็นต้นมา บรรดาเล้าเป็ดย่านอำเภอบางปะกงเปลี่ยนเป็นบ่อปูนเพาะเลี้ยงพันธุ์กุ้งก้ามกราม กุ้งกุลาดำ มาจนปี 2553 นี้ อาชีพเพาะเลี้ยงพันธุ์กุ้ง จาก กุ้งก้ามกราม มาเป็นกุ้งกุลาดำ และกุ้งขาววานาไม เองนั้น ก็เหลือบ้านที่เพาะพันธุ์กุ้ง ไม่กี่บ้าน อีกเหมือนกัน

นอกจากนี้นานๆครั้งก็จะมีเรือฉลอมผ่านมาบ้าง

เรือฉลอม

เรือต่อชนิดท้องกลมเล็กกว่าเอี้ยมจุ๊นมีกระดูกงูและกง พื้นหัวและส่วนท้ายสูงเกือบเสมอปากเรือพื้นกลางลดระดับเป็นระวางบรรทุกสินค้าปกติใช้เรือใบมีเสากระโดงเรือประจำเรือ หางเสือแบบเดียวกับเรือเอี้ยมจุ๊น นิยมใช้ตามหัวเมืองแถวปากน้ำติดกับทะเลและลึกเข้ามาก็มี มีทั้งใช้จับปลาและใช้บรรทุกสินค้าประเภทเครื่องบริโภค เช่นน้ำปลา ปลาเค็ม อาหารทะเลอื่นๆ ทั้งสดและแห้ง
สมัยโบราณเวลาเกิดศึกสงครามก็จะถูกเกณฑ์ไปใช้ในราชการทัพด้วย และนับเป็นเรือชนิดแรกของไทยที่สามารถกางใบแล้ววิ่งทวนลม (วิ่งก้าว) ได้ เรือฉลอม เป็นเรือขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ถ้าเป็นขนาดกลางใช้ใบเดียว ถ้าเป็นขนาดใหญ่ใช้ ๒ ใบ เสากระโดงเรือใหญ่เอนไปข้างท้ายเรือเล็กน้อย มีหางเสือ ๒ อัน ห้อยลงสองข้างท้ายเรือ เวลามีคลื่นลมแรงจะใช้หางเสือทั้งสองอัน ถ้าคลื่นลมสงบ ใช้หางเสือเดียว เพราะสามารถหย่อนลงไปได้ลึกและยังถ่วงมิให้เรือโคลงไปตามลม ใบหางเสือเรืออีกอันที่เหลืออาจถอดตั้งไว้ท้ายเรือ โดยเอาใบหางเสือขึ้นทำเป็นใบเรือได้อีกด้วย เพื่อให้หัวเรือหันสู้ลม เรือจะได้ไม่ส่ายไปมา

วิ่งก้าว ( เป็นภูมิปัญญาของชาวเรือที่เรียนรู้เกี่ยวกับการแล่นเรือ)
เป็นการแล่นเรือเมื่อทิศทางลมไม่เป็นใจ ปกติเรือที่ใช้ใบต้องวิ่งตามลม เมื่อถึงคราวที่ต้องวิ่งสวนทางลมไปอีกทิศหนึ่ง การแล่นเรือใช้วิธีชักใบเรือให้กินลมแบบเฉียงๆ กินลมไม่เต็มที่แต่สามารถพาเรือไปในทิศทางที่ต้องการได้โดยการพลิกใบแล่นไปทางขวาทีทางซ้ายที เรียกว่าวิ่งก้าว ต้องวิ่งสลับวิ่งตรงๆไม่ได้ต้องแล่นเฉียงๆในช่วงนั้นเรือจะถูกลมพัดจนเรือเอียง
(จาก ทุ่งโลมาที่ปากน้ำบางปะกงของสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

เรือฉลอมที่เด็กๆบางกรูดจะนึกถึงมากที่สุด คือเรือฉลอมขายหอยแมลงภู่ ที่ล่องขึ้นมาขายจากอำเภอบางปะกง ลำไม่ใหญ่นัก ในครั้งนั้นจะขายเป็นถังๆ โดยใช้ถังตวงข้าวเปลือก ตวงขาย ราคา ถังละ 1 บาท ( ขณะนั้นยังใช้สตางค์แดงเจาะรู มีเหรียญ ห้าสตางค์ สิบสตางค์ ยี่สิบสตางค์ กันอยู่ ) ในเวลานั้นข้าวเปลือก รวมทั้งทองรูปพรรณ ขายในราคาเดียวกัน คือข้าวเปลือกเกวียนละ 400 บาท ทองคำบาทละ 400 บาท)
เมื่อมีเรือฉลอมขายหอยมา ก็แปลว่า เด็กๆจะได้กินหอยทอด แถมด้วยหอยนึ่งสดๆ บางทีถ้ามีหอยตัวค่อนข้างเล็กหน่อย คุณยายก็จะทำหอยดอง เป็นหอยดองที่ดองด้วยน้ำปลาต้มผสมน้ำตาลปี๊บ เค็มๆหวานๆ ดองทั้งเปลือก ไม่ใช่การดองรสเปรี้ยว
ผู้เขียนโตไม่ทันรู้จักเรือแจวขายหอยของนายโห นายโหแจวเรือขายหอยแมลงภู่ ราคาเพียงถังละ ห้าสิบสตางค์เท่านั้น
ในจินตภาพของผู้เขียนเวลานึกถึงคำว่า ลอยเท้งเต้ง มักนึกเป็นภาพเรือฉลอมขายหอยลอยเท้งเต้งในแม่น้ำทุกครั้ง มากกว่าเรืออื่นๆมาจนทุกวันนี้ รวมทั้งได้ยินคำว่าเรือฉลอมเมื่อไร ก็นึกถึงเพลงท่าฉลอม ที่อยู่ใกล้กับมหาชัย ของคุณชรินทร์ นันทนาคร

เรือฉลอมท้ายญวน

ลักษณะคล้ายเรือฉลอม แต่ขนาดของเรือจะโตและยาวกว่า มีทวนหัวทวนท้ายเป็นแท่งไม้ตรงเอียงไปทางหัวและท้าย กลางลำเป็นหลังคาประทุนไม้สานใช้ชันพอกกันฝน สามารถใช้เก็บสินค้า ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล มีบ้านอยู่ท้ายเรือ

เรือหางยาว

เป็นเรือยนต์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเพรียวยาว ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ที่ท้ายเรือ มีท่อโลหะยาวคล้ายหางติดใบจักร ใช้แทนหางเสือไปในตัว และยกขึ้นลง โยกไปทางซ้าย ทางขวา เพื่อเปลี่ยนทิศทางได้


เรือหางยาวรุ่นแรกถือกำเนิดบนรูปร่างของเรือพายที่นำเครื่องยนต์ เช่น เครื่องสูบน้ำ หรือเครื่องฉุดระหัดเก่า มากลึงต่อกับเพลายาวที่มีปลายเป็นใบพัด แล้วนำไปติดตั้งที่ช่วงกลางของลำเรือ ให้ใบพัดจุ่มลงไปในน้ำพอควร ใช้กำลังของเครื่องยนต์ที่ส่งตรงจากเครื่องถึงใบพัด ฉุดใบพัดให้หมุน ใบพัดจะผลักน้ำในระยะไกลกว่าตัวเรือพอสมควร ทำให้เกิดแรงดันให้เรือวิ่งได้

เรือหางยาวในปัจจุบัน ใช้เครื่องยนต์จากรถยนต์มาติดตั้ง วิ่งได้ในแม่น้ำลำคลอง หนองบึง ชายทะเล บริเวณน้ำตื้น ใช้ได้ทั้งเรือเล็กและเรือใหญ่ เครื่องยนต์ที่มีกำลังสูงจะแล่นได้เร็ว สามารถยกใบพัดพ้นที่ตื้นเขินได้ การบังคับเรือง่าย เพียงแค่โยกใบพัดหรือใบจักรก็สามารถบังคับเลี้ยวได้ ถ้าถอดหางออกก็ใช้เป็นเครื่องสูบน้ำได้


เรือหางยาวที่วิ่งประจำที่บางกรูด ใช้เป็นเรือขายสินค้าเป็นสินค้าบริโภคสด เหมือนร้านขายของชำเคลื่อนที่ จะมีเรือหางยาววิ่ง 2 ลำ คือนายแกละและนายโต เรือลำของนายแกละ วิ่งขึ้นไปตัวเมืองเพื่อเอามาขายที่ตลาดโรงสีล่าง เรือลำของนายโตวิ่งจากตลาดสนามจันทร์ (ตัวอำเภอบ้านโพธิ์) เพื่อไปซื้อของในตัวเมืองแปดริ้วเอากลับมาขายที่ตลาดสนามจันทร์ นายโตดัดแปลงเครื่องยนต์ใช้การบังคับด้วยพวงมาลัย ขาไปนายโตจะแวะรับกุ้งก้ามกรามจากเรือที่ออกมานั่งตกกุ้ง เข้าไปขายในเมืองด้วย ขาล่องกลับจะมีบ้านเรือนระหว่างทางริมน้ำเรียกซื้อของ ที่บ้านก็เป็นบ้านลูกค้าเป้าหมายของนายโตและนายแกละ ที่จะมาแวะจอดเสนอสินค้าในเรือหากเป็นผลไม้ตามฤดูกาล ที่ย่านนี้ไม่นิยมปลูกกัน เช่นแตงโม มะม่วงบางชนิด สับปะรด แตงโมในสมัยก่อนเป็นแตงโมผลกลมสีเขียวอ่อนใบไม้ มีลายเส้นที่ผิว ผลใหญ่ มีเพียงปีละครั้งในช่วงปลายฤดูหนาว ( ชาวนาเมื่อเสร็จจากทำนาปี ก็จะปลูกแตงโมต่อ) คุณยายจะซื้อ ครั้งละยี่สิบผล บวกลบเล็กน้อยแล้วเอากองไว้ใต้โต๊ะพระ แตงโมนี้คุณยายชอบรับประทานในเวลาทานข้าว นิยมกินคู่กับหน้าปลาแห้งที่ทำจากปลาช่อน วันหยุดเรียนในช่วงเช้าพอมีแสงแดดอุ่นๆ เราจะกินข้าวเช้าล้อมวงนั่งพื้นพร้อมคุณยายกันที่นอกชานหน้าบ้าน เมื่อนึกถึงแตงโมก็ทำให้นึกถึงแสงแดดอ่อนอบอุ่น หน้าปลาแห้ง และนอกชานบ้าน แตงโมรุ่นก่อนก็ดีเหลือหลายเก็บได้เป็นเดือนไม่เสียหาย (คนบ้านนอกรุ่นคุณยายนิยมกินแตงโม มะม่วงสุกและสับปะรด ในเวลาทานข้าว เหมือนเป็นเครื่องเคียงไม่ใช่กับข้าวหลัก เวลากินอะไรเผ็ดๆ ผลไม้สามอย่างนี้ช่วยได้มากทีเดียวไม่ต้องดื่มน้ำมากๆดับรสชาติเผ็ดร้อน)

เรือของนายแกละเป็นเรือสำปั้นใหญ่ ดัดแปลงติดเครื่องยนต์

ที่บ้านมีมะม่วงหลายพันธุ์ในสวน ทยอยกันหมดรุ่นทีละชนิด (โดยไม่เคยเก็บขายเลย มะม่วงแต่ละพันธุ์จะทยอยติดผล และแก่ในเวลาห่างกัน มะม่วงแต่ละต้นจะมีผล เป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง กันหลายรุ่น) จนมาถึงมะม่วงแฟบ มะม่วงล่า และหมดสวนในที่สุด ก็จะมีมะม่วงต่างถิ่นที่นายแกละนายโตรับมาขายคือมะม่วงพิมเสนเปรี้ยวสุก การซื้อขายนับกันเป็นร้อยผล เช่น ร้อยละ สี่สิบบาท ห้าสิบบาท โดยไม่ชั่งกิโลขาย อย่างน้อยก็จะซื้อเป็น 100 ผล คุณยายไม่ค่อยซื้อมะม่วงนี้ แต่แม่ของพลอยโพยม กลับนิยมซื้อมะม่วงพิมเสนเปรี้ยวสุก ส่วนสับปะรดนั้นก็จะซื้อจำนวนพอสมควรเพราะเอาไว้กวนด้วย กวนแล้วแม่จะเก็บใส่โหลไว้ ให้กินได้นานๆ จนทุกวันนี้น้องชายคนถัดไปไม่กินสับปะรดกวนเจ้าไหนๆเลย น้องชายบอกว่า กินมากตอนเป็นเด็ก เบื่อมาจนทุกวันนี้
ต่อมาก็มีนายรอด น้องชายนายโต นำเรือหางยาว วิ่งรับซื้อกุ้งก้ามกราม ที่ชาวบ้านเอาเรือออกมาตกกุ้งกันในแม่น้ำในช่วงน้ำขึ้น เรือรับซื้อจะวิ่งมารับซื้อกุ้งในช่วงบ่าย สามหรือสี่โมงเย็น

เครื่องยนต์ที่ใช้กับเรือหางยาวนี้ ชาวบ้าน ก็จะซื้อหามาปรับปรุงติดท้ายเรือของตนเอง เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ สั่งมาจากต่างประเทศ เช่นเยอรมันนี อเมริกา และญี่ปุ่น มีขนาดเล็กใหญ่ ที่พัฒนามาเรื่อยๆ เช่นมียี่ห้อ บิ๊ก ยี่ห้อคูลเลอร์ ยี่ห้อโรบิน ยี่ห้อ เจลโล่ เครื่องโรบินมีขนาดเล็กสุด 1.5 แรงม้า นอกนั้นจะเป็น 3-6-9 แรงม้า
ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา คือ โรแทกซ์ขนาด 18 แรงม้า 21 แรงม้า ( หรือที่เรียกว่า เครื่อง 2 สูบ) เป็นต้น
น้ำมันที่ใช้เป็นน้ำมันเบนซินผสมน้ำมันเครื่องพิเศษที่เหลวกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดา ซึ่งมีไว้เพื่อผสมน้ำมันเบนซิน โดยมีสูตรในการผสม น้ำมันเครื่องที่ว่านี้ในยุคนั้นจะคล้าย ออโตลูป ในปัจจุบัน
การติดเครื่องยนต์ ต้องใช้เชือกที่ปลายด้านหนึ่งผูกแท่งไม้ยาวประมาณ4-5 นิ้วสำหรับสอดระหว่างนิ้วมือจับกระตุกเครื่อง ปลายเชือกอีกข้างพันรอบๆในร่องของหน้าเครื่องยนต์แล้วออกแรงกระตุกเต็มแรง เครื่องก็จะทำงาน คนที่กระตุกไม่เป็น ก็จะถูกเชือกนี้สะบัดใส่หน้าตัวเอง เจ็บมากน้อย ตามเรี่ยวแรงของคนกระตุกเชือกนั่นเอง

เรือเร็ว

ต่อมามีเรือติดเครื่องยนต์อีกประเภทเป็นเรือต่อหัวแหลมกว้างสั้นท้ายตัด สีสันของลำเรือฉูดฉาดลำเรือกว้างอ้วนสั้น นั่งได้อย่างมากประมาณ 4 คน รวมคนขับ บางลำนั่งได้แค่ 2 คน มีพวงมาลัยบังคับเรือ เครื่องยนต์จะแรง วิ่งเร็ว เรียกกันว่า เรือเร็ว แต่ศัพท์ของชาวบางกรูด เรียกเรือนี้ว่า เรือบรื๋อ.... สาวๆเวลานั่งเรือบรื๋อ รับรองว่าผมเผ้า กระจุยกระจายหมดศีรษะเพราะถูกลมตีนั่นเอง
เครื่องยนต์ของเรือเร็วหรือเรือบรื๋อ..นี้ส่วนใหญ่เป็น ยี่ห้อ เมอคิวรี่และ ยามาฮ่า

เรือเร็วหรือเรือบรื๋อนี้นับเป็นของเล่นชิ้นใหม่ของผู้มีอันจะกินขับเล่นกินลมชมวิว ในเทศกาลงานแห่หลวงพ่อโสธร ก็มีการแข่งขันเรือเร็วนี้ด้วย
เรือบรื๋อในความทรงจำ ก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ที่มีการขนของหนีภาษีมาจากปากน้ำบางปะกง วิ่งเข้ามาในแม่น้ำในบางครั้งก็มีเรือตำรวจน้ำแล่นเรือกวดไล่จับ เรือลำที่หลบหนี บางครั้งก็จะทิ้งของที่ขนมา เช่น เหล้า บุหรี่ ลงในแม่น้ำ บ้านเรือนที่อยู่ใกล้จะพายเรือออกไปเก็บถ้าเก็บได้ทันก่อนที่สินค้าจะจมน้ำไปก่อน ได้รวมกันก็หลายลังกระดาษทีเดียว
และในหน้าน้ำกร่อยชาวบ้านพากันกางอวนรอกุ้งเคยทำกะปิ ซึ่งถือเป็นการผิดกฎหมายเพราะกีดขวางการจราจรทางน้ำ ในรุ่นแรกๆที่กางอวนกันนั้นบางครั้งเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัด ก็จะนำเรือเร็วออกมาตรวจจับ เมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่จะยกอวนของชาวบ้านขึ้นเรือของทางราชการ เจ้าของอวนต้องไปชำระค่าปรับ จนในปัจจุบันไม่ค่อยมีเรือสัญจรไปมาในแม่น้ำเหมือนสมัยก่อน ชาวบ้านริมน้ำรุ่นหลังก็สามารถกางอวนกันได้ โดยไม่ต้องอกสั่นขวัญหายกับการตรวจจับแต่ก็มีจำนวนน้อยรายทั่วลำน้ำในปัจจุบัน

(ข้อมูลเรือส่วนใหญ่มาจาก สำนักศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์,๒๕๔๗ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น