วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

[บทความ] เลน..ดิน...ถิ่นบางกรูด

เลน..ดิน...ถิ่นบางกรูด


เลน..ดิน...ถิ่นบางกรูด
พื้นเลนก็เหมือนพื้นทรายสามารถขีด เขียน และวาดรูป ได้


น้ำในแม่น้ำเริ่มมีคลื่นในวันที่น้ำลงมาก ๆ

กระแสน้ำขึ้นน้ำลงของแม่น้ำบางปะกง ไม่เลือกวันและเวลา แต่เป็นไปตามแรงดึงดูดระหว่างโลกกับดวงจันทร์เป็นวัฎจักรตามการขึ้นแรมของดวงจันทร์ ชาวบ้านริมแม่น้ำก็จะรู้จักวิถีธรรมชาติของน้ำนี้ดีพอ ๆ กับ กุ้งปลาหรือสัตว์น้ำอื่นในแม่น้ำ อีกทั้งระดับน้ำที่ขึ้นมากน้อย น้ำลงแห้งธรรมดาหรือแห้งขอดขนาดไหน ความแรงของคลื่นลมในแม่น้ำก็สัมพันธ์กับช่วงเวลาแห่งวันคือกลางวันหรือกลางคืนตามฤดูกาลอีกด้วย


บันไดท่าน้ำบ้านเรือนฝั่งวัดบางกรูด ซึ่งปรับเปลี่ยนเป็นบันไดซีเมนต์
บันไดลักษณะนี้ไม่สามารถผูกโซ่เรือได้ต้องหาหลักปักเพื่อผูกโซ่เรือเอง
และจะเห็นเลนเกาะตามขั้นบันได
เมื่อน้ำขึ้นใหญ่เต็มที่จะเหลือบันไดแค่ขั้นเดียว



จากการที่บ้านของพลอยโพยมมีขอนยาวทอดอยู่ที่ท่าน้ำ ในบางวันตื่นเข้ามาน้ำก็ลงแห้งไปอยู่ระดับขอนแล้ว ภารกิจแรกที่ต้องทำก็คือหากระแป๋งลงไปหิ้วน้ำจากแม่น้ำมาล้างโคลนเลนที่ขั้นบันไดหลายขั้นและขอนไม้ออกให้สามารถลงไปเดินได้โดยเท้าไม่เลอะโคลน มีกิจวัตรประจำวัน 2 อย่าง ที่ต้องเดินผ่านขอนนี้ กิจวัตรที่หนึ่งคือ สำหรับยายขาลงไปใส่บาตรพระในตอนเช้า สำรับกับข้าวก็เตรียมวางให้ยายขาไว้ในลำเรือที่จอดค้างอยู่บนเลน มีเด็ก ๆ คอยชะเง้อชะแง้แลดูว่าพระสงฆ์ท่านพายเรือมาใกล้บ้านหรือยัง ถ้ามาใกล้ ๆ แล้ว เด็กคนที่คอยเฝ้าดูนี้ก็จะตะโกนว่า พระมาแล้ว พระมาแล้ว ยายขาก็จะค่อย ๆ ลงบันไดท่าน้ำเดินบนขอนไปที่ริมชายฝั่งน้ำ มีคนส่งของในสำรับให้ยายขาใส่บาตร จนยายขาอายุมากขึันก็จะเป็นหลานคนใดคนหนึ่งไต่ขอนลงไปใส่บาตรแทนในวันน้ำลงแห้ง



กิจวัตรที่สองคือหากเป็นวันราชการที่พ่อต้องไปทำงานหรือวันที่มีนักเรียนต้องไปโรงเรียน จะต้องลงเรือข้ามฝั่งแม่น้ำไปขึ้นรถที่ฝั่งวัดบางกรูด แต่ในความทรงจำของพลอยโพยม จำได้ว่าเหตุการณ์น้ำลงขอดมาก ๆ ในช่วงเช้ามีน้อยครั้ง ส่วนใหญ่ไม่แห้งขอดมากนักและ ช่วงวันเวลาน้ำแห้งขอดมักเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ และมักแห้งขอดในช่วงบ่ายถึงเย็นเสียมากกว่า



ร่องรอยตรงกลางของผืนเลนนี้ เกิดจากมีเรือที่จอดอยู่และถูกนำลงน้ำไปแล้วตามรอยนี้ หรือเกิดจากเป็นช่องทางมีน้ำไหลผ่านจากฝั้งบนบกลงสู่แม่น้ำเช่นมีการกักน้ำไว้แต่ดินคันกั้นน้ำรั่วน้ำที่กักไว้จะค่อย ๆ ซึมไหลลงแม่น้ำตามร่องรอยนี้

จากลักษณะของดินเลนที่เป็นผืนเลนกว้างตั้งแต่บันไดท่าน้ำ ผืนเลนก็กลายเป็นผืนกระดาษแผ่นใหญ่ให้เด็กที่วันนี้ยังนึกไม่ออกว่าจะชวนกันเล่นอะไรดี ก็หาไม้เล็ก ๆ ยาวพอเหมาะมือลงมาที่บันไดท่าน้ำวาดรูปเล่นบนเลน โดยนั่งที่ขั้นบันไดลอดศีรษะไว้ระหว่างขั้นบันได ชะโงกขีดเขียนวาดรูปตามแต่จินตนาการเล่น การนี้ทำคนเดียว บางทีพอนึกจะลงไปวาดรูปเล่น กลายเป็นว่ามีคนเขามาเล่นก่อนหน้าเราแล้วก็มี จะวาดซ้ำแบบเอายางลบมาลบรอยวาดบนกระดาษจริงไม่ได้เพราะนี่เป็นเลน มีที่ว่างอีกคือลงไปในเรือที่จอดอยู่กับขั้นบันได หากเรือจอดด้านขวาของบันไดเมื่อหันหน้าสู่แม่น้ำ จะมีผืนเลนที่กว้างมากอยู่ข้างลำเรือ แต่พื้นที่จะยื่นมือวาดรูปไปได้กว้างแค่สุดแขนของเราเท่านั้น แต่ยาวได้ตลอดความยาวของเรือ แต่ส่วนใหญ่หากใช้เรือลำเดียว เรือมักจอดอยู่ด้านซ้ายของบันได ซึ่งใกล้กับป่าจาก จะมีพื้นที่ของเลนค่อนข้างแคบ แค่ก็ยังพอลงไปนั่งในเรือเพื่อสร้างจินตนาการบนผืนเลนได้


เลนลักษณะนี้มีหน่อลำพูขึ้นมากมาย
ซึ่งสมัยเด็ก ๆ บ้านริมน้ำจะไม่ปลูกลำพูใกล้สะพานท่าน้ำ มีแต่จาก และพื้นเลนลักษณะนี้ไม่สามารถลงไปขีดเขียน วาดรูปอะไรได้

อีกกิจกรรมที่เล่นกับเลนได้ คือการเล่นขายของ บางทีเราสมมุติว่าเลนที่ใต้บันไดท่าน้ำเป็นขนมหม้อแกง หรือตะโก้ เพราะเลนแถวนั้นจะมีหน้าเลนแข็งกว่าเนื้อเลนเล็กน้อยแต่พอวาดเป็นรูปสี่เหลี่ยมเป็นขนมหม้อแกงชิ้น ๆ แล้วหาที่ตักมาตักเป็นชิ้น ๆ พอเอาขึ้นมาได้ เลนข้างในที่ค่อนข้างเหลว ก็ทำให้ขนมเลนสมมุตินี้เหลวเละไม่คงรูปเป็นชิ้น ๆ เสียแล้ว แต่ก็กล้อมแกล้ม ไปตามประสาเด็ก หรือตักเลนมาหยอดบนเตาขนมครกของเด็กเล่น เป็นขนมครก แต่หยอดลงไปแล้วเวลาแคะก็ขึ้นมาเป็นเลนเหลว ๆ ไม่คงรูปเป็นฝาขนมครก หรือไม่ก็เอาเลนนี้มาละลายน้ำให้เหลวขึ้นติ๊ดต่าง (สมมุติว่า) เป็นน้ำกะทิดำ ๆ ส่วนดอกลำพูเส้นฝอย ๆ ก็สมมุติว่าเป็นลอดช่อง เป็นถั่วงอก การเล่นขายของก็เล่นกันในลำเรือที่จอดบนเลนนี่เองไม่ต้องขึ้นไปเล่นบนบก แต่สรรหาของที่อยู่บนบกมาเล่นในเรือ สนุกไปตามประสาเด็กผู้หญิง แต่ความสนุกก็สนุกสู้เล่นขายของบนบกไม่ได้เพราะบนบกเล่นได้หลายคน และสรรหาของในสวนมาสมมุติเล่นได้มากมายกว่า เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศลงมาเล่นในเรือเป็นครั้งคราว

( ภาพทั้งหมด ทดแทนภาพที่พลอยโพยมเล่าถึงเพราะสถานที่จริงบ้านของพลอยโพยมรกเรื้อด้วยป่าจาก แสม รื้อสะพานท่าน้ำทิ้งไปแล้ว)


ป่าจากที่ยังไม่ตัดจาก


ป่าจากที่มีการตัดจากแล้ว


ป่าจากตอนน้ำขึ้น

ป่าจากตอนน้ำขึ้น


รูปูในป่าจากตอนน้ำแห้ง

ในฤดูกาลตัดจากช่วงน้ำลงแห้ง เป็นเวลาที่ชาวบ้านที่มีอาชีพรับตัดจาก ใช้เป็นเวลาตัดจากเพราะสามารถลุยเข้าไปในป่าจากได้ไม่เปียกน้ำ เราเด็ก ๆ ก็ถือโอกาสเข้าไปในป่าจากที่เขาตัดจากแล้ว เพราะเดินได้สบายไม่รกทึบ เมื่อป่าจากโปร่งโล่งก็น่าสนใจเข้าไปสำรวจดูว่ามีสิ่งใดน่าสนใจบ้าง ตรงไหนที่จะต้องเหยียบเลนเราก็เอาสะโพกจากหรือท่อนจากหรือยอดทางจากที่เขาตัดทิ้งไว้ วางบนเลนไว้เหยียบแทน แต่ส่วนใหญ่เด็ก ๆ มักสนุกกับการเดินบนสะโพกจากที่เขาตัดทางจากออกไปเหลือเป็นตอค้างติดกอจากไว้
บางทีก็ไม่เหยียบพื้นเลย เดินบนตอจากตลอด ก็จะพบเห็นปูที่มีรูอยู่บนเลน โดยเฉพาะปูจาก ปูแสม รวมทั้งปูก้ามดาบ ปูเปี้ยว อีกทั้งบางคร้้งพวกเด็กผู้ชายก็จับปูทะเลได้ในบริเวณใกล้ ๆ ป่าจากด้วย



หนังสติ๊กเป็นของประจำตัวเด็กผุู้ชายไทยในสมัยก่อน

มีอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับเด็กผู้ชายคือหนังสติ๊ก ก็เพียงไปหาง่ามไม้ขนาดเหมาะมือของง่ามไม้ฝรั่ง ง่ามไม้มะขามหรือง่ามไม้สะแก คนที่พิถีพิถันหน่อยก็จะเสียเวลาดัดไม้ให้ได้รูปทรงที่ต้องการก่อน แล้วใช้มีดควั่นรอยที่ใกล้ ๆ สุดปลายง่ามสองปลาย เพื่อให้เกิดร่องที่ใช้หนังยางรัดของถักเป็นเปียคล้องที่ร่องซึ่งควั่นไว้ได้ ตรงกลางของเปียหนังยางมีแผ่นหนังสี่เหลี่ยม สำหรับหุ้มลูกกระสุนที่จะใช้ยิงสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการยิง



ดินริมฝั่งแม่น้ำ

หนังสติ๊กมาเกี่ยวข้องอะไรกับดินเลน เกี่ยวข้องด้วยแน่นอนเพราะลูกกระสุนนั่นเอง เด็ก ๆ ผู้ชายต้องไปเอาดินเหนียวจากริมชายฝั่ง อาจจะเป็นริมท้องร่องสวน หรือริมคลอง ก็ต้องรอน้ำในคลองแห้งจึงจะเอาดินเหนี่ยวนี้ได้ ดินเหนียวนี้ค่อนข้างนิ่ม แต่ไม่เหลวเป็นเลน ได้ดินเหนียวแล้วก็เอามานวดหรือขยำ ๆ ได้ที่ดีแล้วก็ปั้นและคลึงเป็นลูกกระสุนกลม ๆ เรียงบนแผ่นสังกะสี (ถ้ามี ) แล้วเอาไปตากแดดให้แห้ง การวางบนแผ่นสังกะสีนั้น เพื่ออาศัยความร้อนจากแผ่นสังกะสีที่ถูกแดด ช่วยทำให้ลูกกระสุนแข็งตัวเร็วขึ้น ทีนี้ละบางทีเด็กผู้หญิงที่เหงา ๆ ก็มาช่วยปั้นลูกกระสุนกับพวกผู้ชาย เผลอๆ ก็เอาดินมาปั้นวัวปั้นควาย ปั้นเป็นของเล่นอื่น ๆ เล่น ได้ ( โดยไม่ต้องไปหาดินเหนียวเอง)

ในสมัยพลอยโพยมเด็ก ๆ ลูกหินหายากไม่ค่อยมีการสั่งซื้อหินมาก่อสร้างอะไร ๆ มีแต่การใช้ ไม้ ไม้ไผ่ แทบไม่มีการใช้ปูนซีเมนต์เลย ไม่มีหินที่จะมาเป็นส่วนผสม ถนนหนทางก็เป็นดินทั้งนั้น ลูกรังยังมีเฉพาะถนนเข้าวัด จึงไม่มีก้อนหินให้เอามาทำลูกกระสุน
ที่บ้านมีพี่น้องผู้ชายหลายคน แต่ละคนก็ต้องทำลูกกระสุนกันไว้ใช้ บางที่ที่ชานหน้าบ้านก็มีลูกกระสุนดินเหนียวปั้น ตากเป็นหลาย ๆ ที่ เพราะหลายเจ้าของ กระสุนก้อนเล็กใหญ่ตามขนาดของหนังสติ๊กและความถนัดของเจ้าของหนังสติ๊ก


ดินริมฝั่งแม่น้ำ

ต่อมาพลอยโพยมย้ายบ้าน แต่งงานมีลูก เคยมีครั้งหนึ่งลูกร้องหาดินเหนียวเพราะคุณครูให้เอาไปปั้นอะไรจำไม่ได้แล้ว ก็ไม่เคยคิดว่า เจ้าดินเหนียวนี้ช่างหายากเย็นอย่างคราวนั้น ทั้ง ๆ ที่ พื้นที่ดินของบ้านหกสิบกว่าไร่ แต่หาดินเหนียวไม่ได้ ดินมีแต่ไม่ใช่ดินที่พลอยโพยมเคยใช้ตอนเด็ก ๆ ที่จริงรุ่นลูกของพลอยโพยม เขาใช้ดินน้ำมันหัดปั้นงานปั้นกันแล้ว คราวนั้นต้องให้น้องชายไปหามาให้ แต่ก็เป็นครั้งเดียว บางทีลูกก็ร้องหา ใบมะพร้าว ใบตอง เอาไปใช้งานที่โรงเรียน

ตอนที่พลอยโพยมยังเป็นนักเรียนก็มีงานปั้นด้วยดินเหนียว ส่วนใหญ่ปั้นเป็นผลไม้ เช่น มะม่วง มังคุด ชมพู่ ฯลฯ แต่เรียนชั้นโตแล้วและย้ายไปเรียนที่โรงเรียนในเมือง คนที่มีดินก็เอาไปเผื่อเพื่อน ๆ ที่มีบ้านในเมืองและไม่มีดินเหนียว พลอยโพยมต้องเอาดินไปก้อนใหญ่ทีเดียว ใบมะพร้าว ใบตอง ก็ต้องใช้แต่ไม่เคยร้องหาเพราะจัดการหาเองได้ในสวน

ในวันว่าง ๆ คุณยายเล็กเอง ซึ่งเป็นน้องยายขา ก็ปั้นดินเหนียวให้หลาน ๆ เล่น เช่น ปั้นวัวปั้นควาย และอื่น ๆ ที่จริงท่านสอนเด็ก ๆ ให้ลองปั้นตามนั่นเอง การปั้นวัว ปั้นควายให้เด็กเล่นนีั้คงเป็นธรรมเนียมประเพณีไทยที่มีมาช้านานและแทบทุกภาคทุกจังหวัดทุกเมือง จนเป็นคำพังเพยที่ว่า อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น


กระแป๋งของชาวแปดริ้ว ในสมัยก่อนทำด้วยสังกะสี

ขออธิบายคำว่า กระแป๋ง เป็นการเรียกภาชนะตักน้ำหิ้วน้ำที่มีหูหิ้วคล้องที่ปากภาชนะทรงกระบอก แต่ที่ปากภาชนะเป็นวงกลมกว้างกว่าที่ก้นภาชนะซึ่งเป็นวงกลมที่แคบกว่าปากภาชนะ ความสูงของภาชนะมีหลายขนาด สมัยก่อนเป็นสังกะสี ปัจจุบันเป็นพลาสติกบ้าง แสตนเลสบ้าง คนส่วนใหญ่เรียกกันว่ากระป๋อง แต่พลอยโพยมเคยได้ยินคนที่อื่นที่มาอยู่เมืองฉะเชิงเทราเรียกกระแป๋งว่า กระแป๊ง คือเขาเรียกตามว่ากระแป๋งแต่เสียงเพี้ยนเป็นกระแป๊งไป



ภาพขวาสุด เราไม่เรียกกระแป๋ง แต่เรียกเหมือนคนอื่น ๆว่า กระป๋อง

เพื่อน ๆ นิสิตมหาวิทยาลัยมาเที่ยวบ้านริมแม่น้ำทุกปี มีทั้งชาวกรุงเทพ ฯ ลำปาง ขอนแก่น เขียงราย จันทบุรี เขาบอกว่าไม่เคยได้ยินคำว่ากระแป๋ง พวกเขาเรียกภาชนะนี้ว่ากระป๋อง แม้แต่คุณครูของพลอยโพยมท่านเป็นชาวเพชรบุรี แต่มาอยู่เมืองฉะเชิงเทราสี่สิบห้าสิบปี ตอนนี้ท่านก็เรียกภาชนะนี้ว่า กระแป๋ง แต่ตอนที่มาอยู่ใหม่ ๆ ท่านเรียก กระป๋อง ซึ่งท่านก็ออกเสียงเป็น กระแป๋ง ได้เหมือนชาวแปดริ้ว มีน้อง ๆ ที่ทำงานของพลอยโพยมอยู่กันหลายจังหวัด เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก เขาเรียกกระป๋องกันทั้งนั้น เขาบอกว่าไม่เคยได้ยินคำว่ากระแป๋งมาก่อนเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น