วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

[บทความ] ลี้ลับหาย..สายวารี..ปลาหวีเกศ

ลี้ลับหาย..สายวารี..ปลาหวีเกศ
มีแก้ไขข้อมูล



กาพย์ยานี ๑๑

พิศพรรณปลาว่ายเคล้า
คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์

มัศยายังรู้ชม
สาสมใจไม่พามา

กาพย์เห่เรือ ตอนเห่ชมปลา พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์

วนไปวนมากลับมาที่เรื่องของปลาอีก เฉพาะในบทกลอนหนังสือวันวานของบางกรูดของพลอยโพยม เอ่ยถึงพันธุ์ปลา หกสิบกว่าชนิด (ประมาณ 64 ชื่อ) จากจำนวนรายงานวิจัยข้างล่างถ้ายึดถือจำนวนชนิดของปลาสูงสุดที่เคยอ้างอิงไว้ คือ 281 ชนิด
ซึ่งในการสำรวจเพื่องานวิจัยของนักวิชาการหลายคณะมีดังนี้

ในปี พ.ศ.2526
มีเอกสารวิชาการของสถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ เรื่องสภาวะประมง ชนิด และการแพร่กระจายของสัตว์น้ำในแม่น้ำบางปะกง ของสันทนา ดวงสวัสดิ์ พบว่ามีสัตว์น้ำที่พบในแม่น้ำบางปะกง 106 ชนิด ทั้งสัตว์น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม จากอำเภอเมืองฉะเชิงเทราถึงจังหวัดปราจีนบุรีและนครนายก พบปลาน้ำจืดเป็นส่วนมาก และบริเวณอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ลงมาอำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง พบสัตว์น้ำกร่อยและน้ำเค็มอยู่มากในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนเท่านั้น


ปลาหวีเกศ

อีก 25 ปี ต่อมา ในปี พ.ศ.2551

มีการวิจัยของสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดถึงความหลากชนิดของพรรณปลาในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงและลุ่มน้ำปราจีนบุรี ของ อภิชาติ เติมวิชชากรและ อภิรดี หันพงศ์กิตติกูล
พบชนิดปลาในลุ่มน้ำบางปะกง 146 ชนิด และลุ่มน้ำปราจีนบุรี 135 ชนิด เป็นปลาน้ำจืด 135 ชนิด และปลาน้ำกร่อย 38 ชนิด โดยพบปลาในวงศ์ปลาตะเพียน ปลาสร้อย และปลาซิว มีความหลากชนิดมากที่สุด 47 ชนิด ชนิดพันธุ์ปลาที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ ปลาหางไก่ ปลาก้างพระร่วง ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 14 เส้น ปลาดุกด้าน ปลาดุกอุย ปลาบู่สมิธ ปลาค้อเกาะช้าง และปลากะทิ

ปลาที่คาดว่าสูญพันธุ์ ไปแล้วคือปลาหวีเกศ



ส่วนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เคยมีโครงการติดตามและประเมินผลการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศของลุ่มน้ำบางปะกง นิเวศชายฝั่งทะเล(บริเวณอำเภอบางปะกง) พบว่า

จำนวนชนิดของปลาพบเพียง 170 ชนิด จากจำนวนชนิดปลาที่เคยรายงานทั้งหมด 281 ชนิด

ปลาที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ 2 ชนิด คือ ปลาตองลาย วงศ์Notopteridae และปลาตะโกกหน้าสั้น วงศ์ Cyprinidae

และอีก 5 ชนิดมีแนวโน้มสูญพันธุ์ ได้แก่ ปลาหางไก่ ปลาแมวหูดำ วงศ์Engraulidae ปลากะทิงไฟวงศ์ Mastacembembelidae ปลากดหัวลิง วงศ์ Ariidae และปลาดุกด้าน วงศ์ Clariidae


ในขณะที่มีปลาหลายชนิดมีจำนวนลดน้อยลงมากเมื่อเทียบกับปริมาณและการกระจายในเขตน้ำกร่อยในประเทศไทย เช่นปลาจิ้มฟันจระเข้ วงศ์ Syngnathidae ปลาตะโกก ปลาสร้อยนกเขาหน้าหมอง ปลาร่องไม้ตับ ปลาแมว ปลาแมวหนวดยาว ปลากดหัวลิง (Ketengus typus) และกลุ่มปลาปักเป้าเขียว และรวมทั้งปลาโลมาพบว่ามีความชุกชุมลดลง และพบห่างไกลจากปากแม่น้ำบางปะกงมากขึ้น

(จาก มัจฉา....เยือนวารี...วันนี้ที่ลุ่มน้ำบางปะกง เมื่อ 27 ตุลาคม 2553 )



พลอยโพยมไม่เคยเห็นปลาหวีเกศ คุ้นชื่อแต่ว่าเป็นรายชื่อปลาที่อยู่ในพรรณปลาในวรรณคดีไทย กาพย์เห่เรือ ตอนเห่ชมปลา พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง ) ดังนี้
กาพย์ยานี ๑๑

หวีเกศเพศชื่อปลา
คิดสุดาอ่าองค์นาง

หวีเกล้าเจ้าสระสาง
เส้นเกศสลวยรวยกลิ่นหอม

กาพย์เห่เรือ ตอนเห่ชมปลา พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์


ในกาพย์เห่เรือมีปลามากมายหลายพรรณ อ่านแล้วก็น่านับถือที่พระราชโอรสของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ทรงมีความรู้เรื่องพรรณปลา เรื่องชื่อเรือ ชื่อดอกไม้ ที่ทรงรู้จักดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องปลาน่านับถือพระองค์ท่านจริง ๆ



แก้ไข 24 มีนาคม 2555

ปลาหวีเกศ (อังกฤษ: False Siamese Shark
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Platytropius siamensis
อยู่ในวงศ์ปลาหวีเกศ (Schilbeidae)


เป็นปลาน้ำจืดกระดูกแข็งชนิดหนึ่ง ไม่มีเกล็ด

อยู่ในอันดับปลาหนัง (Siluriformes) ซึ่งเป็นปลาไม่มีเกล็ด

มีหนวด มีก้านครีบแข็งที่ครีบอกและครีบหลังและมีครีบไขมัน
สำหรับปลาในวงศ์นี้มีลักษณะสำคัญคือ มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับปลาในวงศ์ปลาสวาย (Pangasidae) คือปลาสังกะวาด และปลาเนื้ออ่อน ผสมรวมกัน แต่มีลำตัวขนาดเล็กกว่ามาก

ลักษณะเด่นคือ
มีหนวดยาว 4 คู่ คล้ายกับเส้นผมของผู้หญิง จึงเป็นที่มาของชื่อปลา
ตัวเรียวยาว ลำตัวแบนข้าง มีครีบหลัง 2 ตอน ตอนหลังเป็นแผ่นเนื้อขนาดเล็กมาก ที่มีร่องเก็บหนวดแต่ละเส้นที่จะงอยปากข้างแก้มและใต้คาง รูจมูกช่องหลังมักใหญ่กว่าช่องหน้าและอยู่ชิดกัน ครีบอกและครีบหลังมีก้านครีบแข็ง ครีบไขมันมีขนาดเล็ก ครีบก้นยาว


นิสัย มีพฤติกรรมเป็นปลาที่ชอบอยุ่รวมกันเป็นฝูง หากินตามผิวน้ำ

ถิ่นอาศัย ในแม่น้ำเจ้าพระยา

อาหาร-กินแมลงเป็นอหารหลัก

ขนาดที่เคยพบใหญ่ที่สุด มีความยาว 25 เซนติเมตร




ปลาหวีเกศ

มีการกระจายพันธุ์ค่อนข้างกว้าง โดยพบตั้งแต่ทวีปแอฟริกา, อินเดีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเขตซุนดา มีทั้งสิ้น 14 สกุล 61 ชนิด เฉพาะที่พบในประเทศไทยมี 4 สกุล ใน 5 ชนิด เช่น ปลาสังกะวาดขาว (Laides hexanema), ปลาหวีเกศ (Platytropius siamensis), ปลาอิแกลาเอ๊ะ (Pseudeutropius moolenburghae) เป็นต้น


ปัจจุบันนี้ไม่มีรายงานพบในธรรมชาติมานานแล้ว (25 ปี) จึงเชื่อว่าได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เหลือแต่เพียงซากที่ถูกดองเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยากรมประมง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ ที่เก็บตัวอย่างได้จากตลาดปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนค.ศ. 1943 และสถาบันสมิธโซเนียนเท่านั้น
ปัจจุบันจัดเป้นปลาที่สูยพันธ์ไปจากประเทสไทยแล้ว


ปลาหวีเกศนี้ในบางข้อมูลบอกว่ามีแต่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่จากรายงานที่เคยพบปลาในลำน้ำบางปะกง (ฉะเชิงเทราถึงปราจีนบุรี ) 281 ชนิด ไม้ได้ลงรายละเอียดว่ามีปลาอะไรบ้าง แต่ข้อความว่าปลาที่คาดว่าสูญพันธุ์ ไปแล้วคือปลาหวีเกศ น่าจะหมายความว่าเคยมีรายงานว่าเคยมีปลาหวีเกศ ในลำน้ำนี้เมื่อนานมาแล้ว

มาบัดนี้ปลาหวีเกศ......ก็ได้ลี้ลับหายจากสายวารีเสียแล้ว.....


ปลาหวีเกศพรุ

"ปลาหวีเกศพรุ" มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pseudeutropius indigens

เป็นที่น่ายินดีว่ามีการพบปลาหวีเกศพันธุ์ใหม่ที่ ป่าพรุโต๊ะแดง ใช้ชื่อว่า"ปลาหวีเกศพรุ


ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสประจำโครงงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำ สำนักงานใหญ่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เปิดเผยว่า เพิ่งได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า "ปลา" ซึ่ง ถูกค้นพบในโครงการสำรวจพันธุ์ปลาในป่าพรุจากแหล่งน้ำคลองปลักปลา ใกล้กับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และคลองรอบๆ พรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส โดยเป็นการทำงานร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์มาตั้งแต่ ปี 2538 นั้น เป็นปลาพรุชนิดใหม่ของโลก ชื่อว่า "ปลาหวีเกศพรุ" ซึ่งได้รับการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pseudeutropius indigens และได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในวารสารนานาชาติ Zootaxa เมื่อปลายปี 2554
หลังจากใช้เวลาตรวจสอบอนุกรมวิธานนาน 16 ปี

"ปลาหวีเกศพรุ" มีลักษณะ คล้ายปลาสังกะวาด แต่มีลักษณะเด่นคือ ส่วนหัวเล็ก มีซี่กรองเหงือกจำนวน 33-35 อันที่โครงแรก และมีครีบก้นค่อนข้างยาว มีก้านครีบก้น 37-41 ก้าน ปากเล็ก มีฟันแหลมซี่เล็กๆ จำนวนมาก มีหนวดเส้นยาวเรียว 4 คู่ โดยหนวดยาวเลยครึ่งของลำตัว ถือเป็นปลาหนังขนาดเล็ก มีความยาวลำตัวประมาณ 7 เซนติเมตร

ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาชนิดนี้เป็นคำภาษาละตินที่หมายความว่า "มีน้อยกว่า" จาก ลักษณะของจำนวนซี่กรองเหงือกและก้านครีบก้นซึ่งมีน้อยกว่าปลาที่มีรูปร่าง คล้าย ๆ กัน ชนิดที่พบทางเกาะสุมาตรา และนั่นทำให้เจ้าปลาหวีเกศพรุจัดเป็นปลาชนิดใหม่ของโลก

"ปลาหวีเกศพรุเป็นปลาที่พบน้อย แต่ก็ถูกจับไปขายเป็นปลาสวยงามเป็นครั้งคราวรวมกับปลาพรุชนิดอื่นๆ หรือถูกจับปนไปกับปลาที่กินได้ขนาดเล็กต่างๆ พบอาศัยอยู่ตามบริเวณลำน้ำสาขารอบๆ ป่าพรุโต๊ะแดง และในแม่น้ำโก-ลก นอกจากนั้นยังพบในลำน้ำสาขาของแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำตาปี และอาจพบในแม่น้ำกลันตันของมาเลเซียด้วย"

"ปลาหวีเกศพรุเป็นปลาหนังขนาดเล็กที่ชาวบ้านไม่ค่อยให้ความสนใจนัก มักถูกเรียกรวมๆ ว่าปลาผี หรือปลาก้างพระร่วง

ที่ป่าพรุที่ยังเหลือ ปลาอย่างน้อย 29 วงศ์ 101 ชนิด สัตว์น้ำอื่นๆ เช่น กุ้ง ปู มากกว่า 5 ชนิด และหอย 3 ชนิด บริเวณพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญระดับโลก หรือ "แรมซาร์ ไซต์" (พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ) พบปลาอย่างน้อย 94 ชนิด จากการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2538 มีปลา 2 ชนิดที่เคยได้รับการรายงานว่าพบเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในปี 2545 คือ ปลาสร้อยนกเขาพรุ หรือ Osteochilus spilurus และปลาพังกับ หรือ Channa melasoma ล่าสุดคือ "ปลาหวีเกศพรุ" ที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ว่าเป็นปลาพรุชนิดใหม่ของโลก แต่น่าเสียดายว่าถูกจัดอยู่ในกลุ่มปลาที่ใกล้สูญพันธุ์มากด้วย

อ่านบทความนี้ตอนแรกก็ดีใจว่าพบปลาหวีเกศพันธุ์ใหม่ แต่พออ่านมาถึงตรงนี้ ก็เศร้าใจ........
และรายงานวิจัยข้างต้นก็มีทั้งปลามีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ปลาใกล้สูญพันธุ์ และ ปลาที่สูญพันธุ์ ดังนั้นในกาลข้างหน้าเพลาหนึ่งก็จะมีปลา ลี้ลับหาย ..สายวารี...เพิ่มขึ้น


ที่มาของข้อมูล วีดีทัศน์กรมประมง
ปลาหวีเกศพรุ จาก http://www.prachathon.org/forum/index.php?topic=4415.0
ปลาหวีเกศ จาก วิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น