วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พระอานนท์ ๒๑



ขอขอบคุณภาพจากwww.atom.rmutphysics.com

นอกจากนี้พพระอานนท์ยังได้เทศน์แสดงธรรมไว้อีกมากมายเช่น
เทศน์โปรดเจ้าอภัยลิจฉวี กับเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวี
เทศน์โปรดฉันนปริพาชก
เทศน์โปรดพระอุทายี
เทศน์โปรดพระฉันนะ

เทศน์โปรดเจ้าอภัยลิจฉวี กับเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวี
ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านพักอาศัยอยู่ที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวันใกล้นครเวสาลี เจ้าอภัยลิจฉวี กับเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวี ได้พากันไปท่าน

กราบเรียนว่า ท่านนิครนถนาฏบุตรได้บัญญัติว่า กรรมเก่าหมดไปเพราะความเพียรเผากิเลส ฆ่าเหตุได้เพราะทำกรรมใหม่ ด้วยประการฉะนี้จึงเป็นอันว่า เพราะกรรมสิ้นไป ทุกข์จึงหมดไป เพราะทุกข์หมดไป เวทนาจึงสิ้นไป เพราะเวทนาสิ้นไป ทุกข์ทั้งสิ้นจึงจักเสื่อมไปโดยไม่เหลือการล่วงทุกข์ย่อมมีได้โดยความหมดจด แล้วท่านถามว่าในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร? ท่านพระอานนท์ตอบว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสความหมดจดไว้ ๓ ขั้น คือหมดจดด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา

ตอนจบธรรมกถา เจ้าบัณฑิตกุมาร ถามเจ้าอภัยว่า อภัยเพื่อนรัก ทำไมท่านไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำสุภาษิตของท่านพระอานนท์โดยความจริงด้วยคำสุภาษิต เจ้าอภัยตอบว่า ไฉนไม่ชื่นชมอนุโมทนาเล่า ใครไม่ชื่นชมอนุโมทนาคำของท่านพระอานนท์ ความคิดของผู้นั้นเสื่อมทรามทีเดียว



เทศน์โปรดฉันนปริพาชก

ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านพระอานนท์พักอาศัยอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารใกล้นครสาวัตถี ฉันนปริพาชก ได้เข้าไปหาท่านถึงที่พัก และได้เรียนถามท่านว่า
พวกพระภิกษุพุทธสาวกนี้ ได้บัญญัติการละราคะ โทสะ โมหะหรือ? ท่านตอบว่าได้บัญญัติ

ฉันนปริพาชก เรียนถามต่อไปว่า เห็นโทษในราคะ โทสะ โมหะ อย่างไร จึงได้บัญญัติการละไว้?
ท่านตอบว่าเพราะบุคคลผู้กำหนัด ถูกความกำหนัดครอบงำรัดรึงจิตไว้ บุคคลผู้ดุร้ายถูกความดุร้ายครอบงำรัดรึงจิตไว้
บุคคลผู้หวงถูกความหวงครอบงำรัดรึงจิตไว้ ย่อมคิดแต่จะเบียดเบียนตนและผู้อื่น เสวยทุกข์โทมนัสทางจิตย่อมประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมไม่รู้แม้ประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริง
ราคะ โทสะ โมหะ ทำให้มืด ทำให้บอด ทำให้ไม่รู้อะไร ทำให้ปัญญาดับ เป็นไปในฝ่ายคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
แต่เมื่อละ ราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนและผู้อื่น เสวยแต่สุขโสมนสประพฤติแต่กายสุจริต วจีสุจริตมโนสุจริต ย่อมรู้จักประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นตามเป็นจริง

เมื่อฉันนปริพาชกเรียนถามว่า วิธีปฏิบัติเพื่อละ ราคะ โทสะโมหะ มีหรือ เป็นอย่างไร? ท่านตอบว่ามี คือ อริยมรรค ๘ แล้วอธิบายโดยพิสดาร




เทศน์โปรดพระอุทายี

ครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์พักอาศัยที่โฆสิตารามใกล้นครโกสัมพี กับท่านพระอุทายี วันหนึ่งท่านพระอุทายีได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ เรียนถามถึงคำกล่าวของ ปัญจาลจัณฑเทพบุตรที่ว่า พระพุทธองค์ทรงรู้แล้วซึ่งโอกาสอันไปแล้วในที่แคบนั้น คำว่าที่แคบนี้หมายความว่ากระไร? ท่านตอบว่าที่แคบได้แก่ กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

อีกครั้งหนึ่ง ท่านพระอุทายีได้เรียนถามท่านพระอานนท์ถึงเรื่องอนัตตาว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่ากายนี้เป็นอนัตตา แต่ว่าวิญญาณนั้นจะเป็นอนัตตาด้วยหรือ? ท่านพระอานนท์ตอบเป็นอนัตตาด้วย ท่านอธิบายว่า เพราะวิญญาณเกิดขึ้นด้วยอาศัยอายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก เมื่ออายตนะภายใน หรืออายตนะภายนอกดับไป วิญญาณก็ย่อมดับไปด้วย ท่านยกอุปมาว่า เหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือขวานอันคมเข้าไปในป่าพบต้นกล้วยใหญ่ลำต้นตรงใหม่ ไม่รุงรัง ในป่านั้น พึงตัดที่โคนต้นแล้วตัดที่ปลาย แล้วลอกกาบออก เขาจะไม่พบแม้แต่กระพี้ของมัน แล้วเขาจะพบแก่นของมันได้อย่างไรเล่า ข้อนี้ฉันใด ภิกษุจะพิจารณาหาตัวตนสิ่งที่เป็นตัวตนในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้ฉันนั้น เหมือนกัน



เทศน์โปรดพระฉันนะ

ครั้งหนึ่ง ท่านพระฉันนะ ได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ขณะพักอยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้นครโกสัมพี กล่าวใจความถวายว่า

สมัยหนึ่ง ท่านอาศัยอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี ท่านได้เข้าหาพระเถระหลายรูป ขอร้องให้พระเถระเหล่านั้นช่วยกล่าวสอน พร่ำสอนท่าน

พระเถระทั้งหลายได้สอนท่านว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ท่านบอกว่า ท่านไม่เลื่อมใส ใจไม่หลุดพ้นจากกิเลส จึงมาคิดคำนึงว่า ใครหนอจะแสดงธรรมแก่ท่าน ทำให้ท่านได้เห็นธรรม ก็คิดได้ว่า ท่านพระอานนท์นี่แหละจะแสดงธรรมแก่ท่านได้ เพราะท่านพระอานนท์ เป็นผู้ที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องสรรเสริญว่า สามารถแสดงธรรมแก่เพื่อนพรหมจรรย์ได้ ทั้งท่านพระอานนท์ก็มีความคุ้นเคยกับท่านด้วยดี





ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงมาหาท่านพระอานนท์ ขอให้ท่านพระอานนท์ช่วยแสดงธรรมแก่ท่าน
ตามที่ท่านพระอานนท์ได้กล่าวสอน เรื่องที่ท่านได้สดับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธองค์ได้ตรัสกับภิกษุ กัจจายนโคตรว่าโลกนี้โดยมากอาศัยส่วน ๒ อย่างคือ ความมี และความไม่มี
เมื่อบุคคลเห็นเหตุเกิดแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ ความไม่มีในโลกย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ ความไม่มีในโลกย่อมไม่มี

เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ ความมีในโลกย่อมไม่มี โลกนี้โดยมากพัวพันด้วยอุบายเป็นเหตุถือมั่นและความยึดมั่น แต่พระอริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ซึ่งอุบายเป็นเหตุถือมั่น มีความยึดมั่นด้วยความตั้งใจไว้เป็นอนุสัยว่า อัตตาของเราย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า ทุกข์นี่แหละเมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ อริยะสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย

ด้วยเหตุเพียงเท่านี้จึงชื่อว่าสัมมาทิฐิ ส่วนสุดที่ ๑ ว่า สิ่งที่ปวงมีอยู่ ส่วนสุดที่ ๒ ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี
พระตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้สายสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ ฯลฯ

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลเหล่านี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ และเพราะอวิชชานั้นแหละดับ สังขารจึงดับ ฯลฯความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวจบ
ท่านพระฉันนะได้กล่าวชมเชยท่านพระอานนท์ว่า ท่านเหล่าใดกล่าวสอนธรรมอย่างนี้ ท่านเหล่านั้นเป็นผู้อนุเคราะห์มุ่งประโยชน์ กล่าวสอน และพร่ำสอนเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย และท่านรับท่านได้เข้าใจธรรมเทศนาอย่างแจ่มแจ้ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-anon-02.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น