หิ่งห้อยและต้นลำพู (2)
ไปอ่านพบ เรียงถ้อยร้อยกรอง ท่านอาจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ
เรื่องหิ่งห้อยน้อยใจ
ในหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ปี 2547 อาศัยการเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนดัดดรุณี ฉะเชิงเทรา ที่ท่านเคยมาเป็นอาจารย์ใหญ่ขออนุญาตนำคำประพันธ์ของท่านมาเผยแพร่ในที่นี้
หิ่งห้อยน้อยใจนัก
ขาดคนรักคนเอ็นดู
เกาะกิ่งต้นลำพู
แสงริบหรี่ไม่มีแรง
หิ่งห้อยน้อยใจเหลือ
สุดแสนเบื่อกายมีแสง
เหตุใดใยแมลง
ตัวอื่นไซร้แสงไม่มี
หิ่งห้อยน้อยใจจริง
ยุงแสนหยิ่งร้องหวู่หวี
ฟังเพียงเสียงดนตรี
ทีเราไซร้ไม่มีเสียง
หิ่งห้อยอย่าน้อยจิต
ธรรมชาติคิดไม่ลำเอียง
แบ่งคุณสมบัติเพียง
แสงให้เจ้าเนาโลกา
เจ้ามีเครื่องชี้ทาง
ส่องสว่างแนวมรรคา
บินไปในวนา
มืดเพียงใดไม่หวั่นเกรง
สัตว์อื่นดาษดื่นไป
มีสัตว์ไหนเปล่งแสงเอง
จักจั่นที่ร้องเพลง
ก็แพ้เจ้าเขาขาดแสง
เจ้านี้ควรพอใจ
พรอำไพได้สำแดง
ความหมายประจักษ์แจ้ง
ดุจแสงธรรมนำชีวิต
ไปเถิดเจ้าหิ่งห้อย
บินล่องลอยไปทั่วทิศ
เปล่งแสงแฝงนิมิต
เตือนเด็กไทยให้ทำดี
หิ่งห้อยเลิกน้อยใจ
บินไหวไหวในราตรี
เปล่งแสงแรงเต็มที่
เพราะมันมีจุดมุ่งหมาย
เราหนอแสนพอจิต
แสงสถิตอยู่กับกาย
ไว้เตือนเพื่อนหญิงชาย
ให้แสวงซึ่งแสงธรรม...
...หิ่งห้อย...
หิ่งห้อยทั่วโลกมีประมาณ ๒,๐๐๐ ชนิด ในประเทศไทยมีประมาณ ๑๐๐ ชนิด พบในแหล่งป่าไม้เบญจพรรณและป่าชายคลองโดยเฉพาะที่ต้นลำพู ในประเทศอังกฤษเรียกหิ่งห้อยว่า “แมลงไฟ” หรือ fire fly บางประเทศ เรียก Lightning Bug หรือมวนฟ้าแลบ ประเทศไทยเรียกหิ่งห้อย บางถิ่น เรียก “ ถ่วงดับ“ ภาคอีสานเรียก “ แมงทิ้งถ่อน” เพราะมักพบแมลงนี้เกาะและกระพริบแสงอยู่ที่ต้นทิ้งถ่อน ในภาคกลางบ้างก็เรียกว่า “ทิ้งถ่วง “ ซึ่งเป็นการเพี้ยนเสียงมานั่นเอง
การเรืองแสงของหิ่งห้อยเรืองแสงเพื่อต้องการหาคู่ผสมพันธ์ หิ่งห้อยทั้ง ๒,๐๐๐ชนิด แต่ละชนิดมีวิธีส่งแสงสื่อสารไม่เหมือนกัน บางชนิดจะกระพริบช้าเร็วต่างกัน บางชนิดความเข้มของแสงต่างกัน
ตอนกลางวัน รุ่งเช้าใกล้สว่าง หิ่งห้อยจะบินหนีหลบซ่อนตัวอยู่ตามกองใบไม้ พงหญ้า กองวัชพืช หรือตามซอกเปลือกไม้ กาบต้นไม้ต่างๆที่ร่มรื่น ชื้นแฉะ ใกล้แหล่งน้ำและบริเวณที่ร่มรื่น
ตอนกลางคืน ตอนเย็นใกล้พลบค่ำ หิ่งห้อยจะบินออกมาจากแหล่งซ่อนตัวไป เกาะต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามชายน้ำ เช่น ต้นลำพู ต้นแสม ต้นโกงกาง ต้นโพทะเล ต้นทิ้งถ่อน เป็นต้น
ช่วงเป็นตัวเต็มวัยซึ่งสามารถกระพริบแสงที่ก้นของตัวเองให้เห็นหิ่งห้อยจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ ๑๐-๑๔วัน
สาเหตุที่หิ่งห้อยชอบเกาะที่ต้นลำพูมากที่สุดอาจเนื่องมาจาก
๑ .ต้นลำพูเป็นต้นไม้ประเภทไม้พุ่มมีใบมากลักษณะของผิวใบค่อนข้าง เรียบซึ่งเหมาะกับการยึดเกาะและยึดตัวหิ่งห้อยไม่ให้ร่วงหล่น เมื่อมีลมและฝน
๒.หิ่งห้อยเป็นแมลงที่กินน้ำค้างเป็นอาหารและต้นลำพูเป็นต้นไม้ที่มีใบมาก จึงมีน้ำค้างเกาะอยู่ที่ใบมากหิ่งห้อยจึงชอบ
๓. ต้นลำพูมีกลิ่นหอมจางๆอาจเป็นที่ชื่นชอบของหิ่งห้อย
เคยมีบันทึกของนักชีววิทยาชาวอเมริกันชื่อ H.M. SMITH ครั้งที่มาเยือนเมืองไทยในปี ๒๔๗๘ ว่า ในยามโพล้เพล้วันหนึ่งในฤดูร้อนขณะที่เขาล่องเรือไปตามลำคลอง ซึ่งริมฝั่งเป็นป่ามีต้นโกงกางขึ้นหนาแน่นเขาได้เห็นหิ่งห้อยจำนวนมากมายบินว่อนเกาะที่ต้นโกงกาง เขาสังเกตเห็นว่า หิ่งห้อยแต่ละตัวที่บินว่อนอยู่นั้นต่างกระพริบแสงในจังหวะที่แตกต่างกัน ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาได้เห็นความอัศจรรย์ นั่นคือ จังหวะการกระพริบแสงของหิ่งห้อยเหล่านั้นเริ่มพร้อมกันมากขึ้น ๆ จนในที่สุด หิ่งห้อยฝูงนั้นก็กระพริบแสงพร้อมกัน (วีระ ,๒๕๔๖ )
ที่บางกรูดในอดีตหิ่งห้อยจะมีจำนวนมากแวววาวไปทั่ว ตามต้นลำพูที่แทรกอยู่กับป่าจากในฝั่งของ ตำบลบางกรูดแต่ฝั่งวัดบางกรูดเอง เป็นตำบลท่าพลับและเป็นฝั่งแหลม จึงมีจากและลำพูน้อย ในช่วงน้ำกร่อย หากพายเรือในเวลากลางคืน คืนเดือนมืด พรายน้ำที่เกิดจากไม้พายกระทบน้ำเกิดกระแสน้ำจะเรืองแสงด้วยฟอสฟอรัส วาววับด้วยเช่นกัน
จากกน้ำจืด จนกร่อย ย้อยไสว
ต้นลำพู ดูพร่าง อย่างแสงไฟ
กระพริบได้ ไหววาว ดาวประกาย
บางกรูดไม่ ใช้เพรียก เรียกหิ่งห้อย
แทนด้วยถ้อย “ทิ้งถ่วง “ จนล่วงหาย
แมง “ทิ้งถ่อน” ตอนกล่าว เล่าบรรยาย
อีสานสาย กลายผ่าน ผันขานกัน
ต้นลำพู พราวแสง แห่งหิ่งห้อย
ดอกหอมน้อย คอยรื่น คืนสวรรค์
เป็นฉิมพลี ที่คู่ สมสู่พันธุ์
แสนสุขสันต์ วันคืน ชื่นภิรมย์
ถือเป็นพรรณไม้ชายเลนและชายคลองสามารถเติบโตได้ดีได้ในที่ ทั้ง สามน้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม
เป็นไม้พุ่มมีใบมาก ใบสีเขียวบางเป็นมัน เจริญเติบโตได้ดีใน น้ำกร่อย จนถึงน้ำจืด มีรากอากาศหายใจขนาดใหญ่ใช้แทนไม้ก๊อกเป็นจุกขวดและทุ่นลอยได้ ดอกสีขาวและสีชมพุ มีกลิ่นหอมน้อยๆ ผลแก่รับประทานได้รสอมเปรี้ยว มีเมล็ดมากเมื่อผลแก่หลุดจากขั้วจะลอยน้ำไป แพร่พันธุ์ได้อีกมีพรรณไม้สกุลเดียวกันอีกคือ
ต้นลำแพน ซึ่งจะพบมากบริเวณชายทะเล ต้นขนาดเล็กกว่าต้นลำพู มีรากหายใจน้อยกว่า ดอกเป็นเส้นฝอยน้อยกว่าดอกลำพู ผลลำแพนแบนแป้นกว่าผลลำพู
ปัจจุบัน พลอยโพยมย้ายบ้านเรือนจากบางกรูดมาอยู่ที่ตำบลแสนภูดาษ เป็นที่ดินที่แม่รับมอบมาจากคุณยายซึ่งมีที่มาของชื่อตำบลดังนี้
...ตำบลแสนภูดาษ...
ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบางปะกง ชื่อของตำบลนี้เนื่องจากตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง เป็นที่ราบลุ่มชายเลน มีต้นลำพูขึ้นอยู่มากมาย ที่บริเวณโคนต้นจะมีหน่อลำพูแตกออกมาอยู่ใต้ดินและบนดินอย่างเนืองแน่น เวลาน้ำขึ้นในคืนเดือนหงาย พระจันทร์เต็มดวง จะมองเห็นหน่อลำพูที่โผล่พ้นน้ำมีสีค่อนข้างขาวดื่นดาษไปหมด นับเป็นแสน ๆ หน่อ ชาวบ้านจึงหยิบยกเอาธรรมชาติที่เป็นจุดเด่น สวยงาม ไม่มีที่ใดเหมือนตั้งชื่อเป็นตำบลว่า “ตำบลแสนภูดาษ” คำว่า “ภู” นั้น ในสมัยโบราณการเขียนหนังสือไทยไม่ค่อยเข้มงวดกวดขันเท่าไรนัก มุ่งแต่เพียงให้อ่านออกก็พอแล้ว คำที่ถูกต้องต้องเขียนว่า “พู” เพราะมาจากคำว่า “ลำพู”