วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] หิมพานต์....


หิมพานต์

คำว่า หิมพานต์ หรือ หิมวันต์ มักจะพบในหนังสือวรรณคดีจำนวนมาก เช่น ไตรภูมิกถา มหาชาติเวสสันดร เวสสันดรชาดก กากีคำกลอน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า “ชื่อป่าหนาวแถบเหนือ อินเดีย”ซึ่งคงจะหมายถึงป่าแถบภูเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นภูเขาที่มียอดสูงสุดในโลก เป็นภูเขาอยู่ในดินแดนอินเดียและเนปาลติดต่อกัน มีหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี


หิมพานต์

ในไตรภูมิกถา อธิบายลักษณะ ป่าหิมพานต์ ชมพูทวีปว่า
“แผ่นดินชมพูทวีปนั้น มีปริมาณได้ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ทั้งด้านยาวและด้านกว้าง
แยกออกเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่มนุษย์ ๓,๐๐๐ โยชน์ เป็นป่าเขาพระหิมพานต์ ๓,๐๐๐ โยชน์ เป็นทะเล ๔,๐๐๐โยชน์

ภูเขาหิมพานต์ หรือ หิมวันต์บรรพต นั้นสูงประมาณ ๕๐๐ โยชน์ กว้างใหญ่ ๓,๐๐๐ โยชน์ มียอดเขา ๘๔,๐๐๐ ยอด
ที่เชิงเขาหิมพานต์นั้น มีต้นหว้าใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ใกล้ฝั่งมหานที สีทันดร
ต้นหว้านั้นมีขนาดใหญ่โอบรอบได้ ๑๔ โยชน์ ตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปถึงค่าคบสูงได้ ๕๐ โยชน์
ตั้งแต่ค่าคบขึ้นไปถึงยอดได้ ๕๐ โยชน์ และตั้งแต่ปลายค่าคบด้านทิศตะวันออกมาถึงทิศตะวันตก มีระยะไกลถึง๑,๐๐๐ โยชน์
ตั้งแต่ปลายค่าคบด้านทิศเหนือจดทิศใต้ไกลถึง ๘๐๐,๐๐๐ วา
ปริมาณปลายค่าคบโดยรอบปริมณฑลได้๒,๔๐๐,๐๐๐ วา
ดอกของต้นหว้านั้น มีลักษณะงามมีกลิ่นหอมยิ่งนักและมีผลใหญ่...มีรสหวานอร่อยเหมือนน้ำผึ้ง...
ยางของผลหว้านั้นเมื่อร่วงหล่นลงกลายเป็นทองคำสุกชื่อว่า ชมพูนุท...

ถัดจากป่าไม้หว้า มีป่าไม้มะขามป้อม มีรสอร่อยถัดไปมีป่าสมอ ซึ่งมีรสหวานปานน้ำผึ้ง
ถัดป่าสมอไปมีแม่น้ำ ๗ สาย ถัดไปมีป่าไม้นารีผล ซึ่งมีลักษณะทรวดทรงงดงามยิ่งนัก
ถัดออกไปมีแม่น้ำสมุทร และมีป่าไม้ ๖ ป่า คือ ป่ากุรภะ ป่าโกรภะ ป่ามหาพิเทหะ ป่าตะปันทละ ป่าโสโมโลและป่าไชยเยศ
ป่าไม้เหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยบำเพ็ญบุญของผู้ทรงธรรมทั้งหลาย...ป่าไม้นั้นมีเนื้อทรายจามรีอยู่มากมาย พวกเขาเอาหางจามรีมามุงเรือนกันอยู่อาศัย พวกเขาอยู่ในที่นั้นโดยไม่ต้องทำไร่ไถนาหาเลี้ยงชีพ ข้าวสาลีและถั่วก็งอกขึ้นเอง และมีรสหวานอร่อยปานน้ำผึ้ง


หิมพานต์


ป่าเขาหิมพานต์ เป็นที่อยู่ของบรรดานักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์ ยักษ์ ฤษี ชีไพร ผู้ทรงอภิญญาทางจิตกล้าแข็งทั้งหลาย อยู่กันอย่างสันติภาพไม่เบียดเบียนกัน มีสัตว์ที่มีรูปร่าง แปลกประหลาด ไม่เหมือนในเมืองมนุษย์ อีกทั้งยังมีอิทธิฤทธิ์มากมาย ทั้งพืชหรือสัตว์ ตลอดจนแร่ธาตุต่าง ๆ ล้วนมีพลังอำนาจมหัศจรรย์
ความเชื่อเรื่องหิมพานต์นั้น มีการถ่ายทอดความเชื่อของผู้คนไว้ในงานวรรณศิลป์ จิตรศิลป์มากมาย ในด้านวรรณศิลป์ขอยกตัวอย่างจาก บทเห่กล่อม เห่เรื่องกากีของสุนทรภู่

เรื่องกากี มีเค้ามาจากเรื่องในนิบาตชาดก ชื่อ กากาติชาดก ในชาดกเรื่องนี้ เรียก กากี ว่า กากาติ
สุนทรภู่เลือกเนื้อเรื่องตอนพระยาครุฑอุ้มนางกากีเหาะไปวิมานฉิมพลี มาเป็นบทเห่กล่อมพระบรรทม ชมความงามของทะเลสีทันดร และขุนเขาน้อยใหญ่รอบเขาพระสุเมรุ ดังนี้ ...

เห่เอยเห่กล่าว ถึงเรื่องราวสกุณา
ครุฑราชปักษา อุ้มกากีบิน

ล่องลมชมทวีป ในกลางกลีบเมฆิน
ข้ามคีรีศีขรินทร์ มุจลินท์ฃโลธร

ชี้ชมพนมแนว นั่นเขาแก้วยุคันธร
สัตภัณฑ์สีทันดร แลสลอนล้วนเต่าปลา

งูเงือกขึ้นเกลือกกลิ้ง ม้ตมิงคลมัจฉา
จระเข้แลเหรา ทั้งโลมาและปลาวาฬ

โผนเผ่นเล่นระลอก ชลกระฉอกฉาดฉาน
นาคาอันกล้าหาญ ขึ้นพ่นพล่านคงคา

หัสดินทร์บินฉาบ ก็คาบขึ้นบนเวหา
ในทะเลเภตรา บ้างแล่นมาแล่นไป

ลำนิดนิดจิ๊ดจิ๋ว เห็นหวิวหวิวอยู่ไรไร
ชมชื่นหฤทัย ก็ลอยไปในเมฆา

อุ้มแอบแนบชิด ถนอมสนิทเสน่หา
ปีกอ่อนร่อนรา กระพือพาเผ่นทะยาน

ลอยรอบขอบพระเมรุ บริเวณจักรวาล
ชมป่าหิมพานต์ เชิงชานพระเมรุธร

สินธพตระหลบเผ่น สิงโตกิเลนแลมังกร
ราชสีห์ดูมีหงอน แก้วกุญชรแลฉัททันต์

นรสิงห์แลลิงค่าง อีกเซี่ยวกางแลกุมภันฑ์
ยักษ์มารชาญฉกรรจ์ ทั้งคนธรรพ์วิเรนทร

นักสิทธิวิทยา ถือคทาธนูศร
กินรินและกินนร รำฟ้อนร่อนรา

ห่านหงส์หลงเกษม อยู่ห้องเหมคูหา
พระฤๅษีชีป่า หาบผลาเลียบเนิน

คนป่าทั้งหมาเหมี่ยว ก็จูงกันเที่ยวดุ่มเดิน
ลอยลมชมเพลิน พนมเนินแนวทาง

มีหุบห้องปล่องเปลว ดูห้วยเหวรโหฐาน
ลดหลั่นเป็นชั้นชาน เงื้อมตระหง่านเมฆี

บ้างเขียวขาวดูวาววาม เรืองอร่ามรัศมี
ชมพลางทางชี้ บอกคดีนีรมล

ที่สูงเยี่ยมเทียมฟ้า นั่นต้นนารีผล
รูปร่างเหมือนอย่างคน ดูงามพ้นคณนา

ยิ้มย่องผ่องพักตร์ วิไลลักษณ์ดังเลขา
น้อยน้อยย้อยระย้า เพทยาธรคอย

ที่มีฤทธิ์ปลิดเด็ด อุ้มระเห็ดเหาะลอย
พวกนักสิทธิ์ฤทธิ์น้อย เอาไม้สอยเสียงอึง

บ้างตะกายป่ายปีน เพื่อนยุดตีนตกตึง
ชิงช่วงหวงหึงส์ เสียงอื้ออึงแน่นอนันต์

ที่ไม่ได้ก็ไล่แย่ง บ้างทิ่มแทงฆ่าฟัน
ที่ได้ไปไว้นั้น ถึงเจ็ดวันก็เน่าไป

พระบอกนางทางพา ลอยฟ้าสุราลัย
เที่ยวชมเล่นให้เย็นใจ แล้วกลับไปวิมานเอยฯ



นารีผล




กินนรีในแจกัน

กินนรี


เหมราช
เป็นสัตว์ผสมที่มีร่างเป็นสิงห์ ส่วนหัวเป็นเหม เหมเป็นสัตว์ ที่มีลักษณะเหมือนหงส์ (ห่าน)


เหรา (เห-รา)
เป็นสัตว์ที่มีร่างผสมระหว่าง นาค กับ จระเข้ มีสี่ขา เหมือนจระเข้


พญานาค


งูใหญ่
ไม่มีหงอน เหมือนพญานาค

บทเห่กล่อมโดยทั่วไปแต่งขึ้นเพื่อร้องขับกล่อมให้เด็กหลับ แม้ว่าเด็กจะเยาว์วัย ยังไม่สามารถเข้าใจความหมายของเนื้อเพลงก็ตาม แต่เด็กก็เข้าใจความรู้สึกของผู้เห่กล่อมว่ารักใคร่และเอ็นดูตน เด็กจะเกิดความอบอุ่นใจและหลับไปอย่างมีความสุข

บทเห่กล่อมของสามัญชน จะแต่งตามความรู้สึก ความคิด หรืออื่นๆ ตามแต่ผู้เห่กล่อมจะนึกอะไรได้ก็ร้องเป็นทำนอง อาจมีเนื้อร้องในทำนองปลอบขวัญ ให้ความอบอุ่น หรือบางทีก็มีขู่ให้กลัวบ้างก็มี มีการจดจำบทร้องเห่กล่อมกันต่อๆ มา

สำหรับบทเห่กล่อมพระบรรทมสำหรับเจ้านายก็เช่นเดียวกัน กวีนำเอาเนื้อความจากเรื่องในวรรณคดีบ้าง เรื่องราว ตำนานต่างๆ บ้าง มาผูกเป็นเนื้อร้อง โดยใช้คำประพันธ์ประเภทกาพย์ กลอน เพื่อไว้เห่กล่อมพระราชโอรส ธิดา ของพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูง เนื้อร้องบทเห่กล่อมไม่กำหนดเรื่องราวเป็นแบบแผน แต่จะมีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เป็นวัฒนธรรมหรือสิ่งแวดล้อม ตามสภาพท้องถิ่นนั้น"
บทเห่กล่อมของสุนทรภู่แต่งถวายสำหรับขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
บทเห่กล่อมของสุนทรภู่ มี 4 เรื่อง คือ
1.บทเห่กล่อม เรื่องพระอภัยมณี
2.บทเห่กล่อม เรื่องนางกากี
3.บทเห่กล่อม เรื่องโคบุตร
4.บทเห่กล่อม เรื่องจับระบำ

ขอบคุณ
ภาพสัตว์ในหิมพานต์จาก www.vcharkarn.com
www.benjarong.net
www.himmapan.com
www.212cafe.com
บทเห่กล่อมจากหนังสือ "อนุสรณ์สุนทรภู่ ๒๐๐ ปี" โดย อาจารย์ปราณี บุญชุ่ม และอาจารย์มณฑนา วัฒนถนอม
หมายเหตุ หน่วยวัดคำว่าโยชน์คือจำนวนเท่าใด มีคำตอบอยู่ในวิธีนับศัพท์สังขยา ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น