วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] เขตคามนามเมืองพนมสารคาม


[บทความ] เขตคามนามเมืองพนมสารคาม

แต่เดิมจังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนมีการแบ่งพื้นที่ปกครองเป็นอำเภอต่าง ๆ นั้น แบ่งเขตการปกครอง เป็น 2 เมือง โดยอาศัยตามลำน้ำบางปะกง เป็นเขตแดนแบ่งพื้นที่เมือง ได้แก่

1.เขตเมืองพนมสารคาม มีพื้นที่ปกครองคือ อำเภอหัวไทร ( ต่อมา อำเภอหัวไทรถูกยกเลิกไปรวมกับอำเภอบางคล้า)อำเภอพนมสารคาม กิ่งอำเภอสนามชัยเขต อำเภอบางคล้าและอำเภอสนามจันทร์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอเขาดิน และเปลี่ยนอีกครั้งเป็นอำเภอบ้านโพธิ์)


2.เขตเมืองฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ปกครองคือ อำเภอเมือง อำเภอบางปะกงและอำเภอบางน้ำเปรี้ยว
ขอกล่าวถึงความสัมพันธ์ของอำเภอที่เกี่ยวข้องกับเขาาอ่างฤาไน เท่านั้น

ในรัฃสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาบดินท๋เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปตีลาวและเขมร ในคราวนี้นได้กวาดต้อนชาวลาวและชาวเขมรเข้ามาเป็นจำนวนมาก และกำหนดพื้นที่ให้อยู่เป็นหลักแหล่ง พื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอพนมสารคาม และอำเภอสนามชัยเขต ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราโชบาย ยกหมู่บ้านที่เป่็นชุมชนหนาแน่นขึ้นเป็นเมือง โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านท่าถ่านเป็นเมืองพนมสารคาม มีศาลากลางเมือง มีเรือนจำ มีเจ้าเมืองปกครอง พระพนมสารนรินทร์เป็นเจ้าเมืองคนสุดท้้าย ก่อนที่จะยุบเป็นอำเภอพนมสารคาม ต่อมาตำบลคู้ยายหมี ตำบลท่ากระดาน ตำบลท่าตะเกียบ ได้แยกออกจากอำเภอพนมสารคามเป็นกิ่งอำเภอสนามชัยเขต

พื้นที่อำเภอพนมสารคาม เคยปกคลุมด้วยป่าใหญ่ มีบริษัทได้สัมปทานทำป่าคลองท่าลาด ซึ่งเดิมเรียก แม่น้ำพนม ฯ ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมล่องแพซุงที่ได้จากป่าใหญ่ทั้งของเขตพนมสารตามและสนามชัยเขต ของป่าและไม้มีค่าเป็นสินค้าออกที่สำคัญน้ำมันยางเป็นสินค้าที่สำคัญล่าสุด ตามด้วยไม้แดงจีน ไม้หอมและเร่ว หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงประมาณ ปี พ.ศ. 2498 บริเวณนี้ยังเป็นดินแดนที่ผู้คนหวาดกลัวเรื่อง ไข้ และยาเบื่อ เพราะเป็นป่าดงดิบ ปัจจุบันป่าดังกล่าวถูกแผ้วถางไปจนหมดลักษณะดังกล่าว ทุกวันนี้จึงมีสภาพเป็นเพียงที่ราบสูง เท่านั้น (ชั่วเวลาไม่กี่สิบปี ป่าพพนมสารคามก็สูญสิ้นอย่างสิ้นเชิง ในหนังสือ ของ ผ.ศ.สุนทร คัยนันท์ มีภาพขาวดำการตัดไม้ใหญ่ในป่า เป็นหย่อม ๆต้นไม้ล้มกองพื้นระเกะระกะซึ่งใต้ภาพระบุว่าปัจจุบัน ( พ.ศ. 2534 สภาพป่าดังกล่าวไม่มีหลงเหลือแล้ว น่าเศร้าใจมาก)

อำเภอสนามชัยเขต เดิมเคยมีฐานะเป็นเมืองชื่อว่าเมืองสนามไชยเขตร (ซึ่งเดิมเป็นบ้านพระราม) มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ถือศักดินา 800 ไร่ และให้ขึ้นกับเมืองฉะเชิงเทรา มีหมู่บ้านเก่าแก่เป็นชุมชนดั้งเดิมของคนไทยมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะมีชาวลาวมาตั้งรกราก เช่นบ้านซ่อง (ปัจจุบันอยู่อำเภอพนมสารคาม) ปรากฎมีร่องรอยของถนนและวัดโบราณที่เรียกว่าวัดท้าวอู่ทองและท้าวอุทัย มีเรื่องเล่ากันว่าเป็นถนนและวัดของท้าวอู่ทองและท้าวอุทัย อันเป็นนิทานที่แตกต่างไปจากนิทานชาดกเรื่องพระรถเมรี นิทานเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่เล่าสืบมาในหมู่คนไทยที่ตั้งชุมชนอยู่ในละแวกนี้มาแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา วัดท้าวอุทัยตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านชำปางามซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง มีพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่แต่ชำรุดมาก วัดนี้คงเคยเป็นวัดที่มีความสำคัญในแถบนี้ เพราะปรากฎมีลายแทงเล่าสืบ ๆ กันมาว่า ฝนตกกึกก้อง ฟ้าร้องได้ยินหน้าพระภูมินทร์ หลังพระราชา เดินเข้าไปแทงตา เดินกลับมากาขี้รดหัว

ต่อมามีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่ากิ่งอำเภอสนามไชยเขตร ต่อมายุบเป็นตำบลของอำเภอพนมสารคาม แล้วต่อมายกฐานะเป็นกิ่งอำเภอสนามไชย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภอสนามชัยเขต และได้ยกฐานะเป็นอำเภอสนามชัยเขต




อำเภอสนามชัยเขต มีลำน้ำธรรมชาติที่สำคัญคือ แควระบมและแควสียัด หนองกระทิง หนองยาง และมีอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้น คืออ่างลาดกระทิง อ่างระบม อ่างบ้าน กม 7 และอ่างคลองตาผึ้ง สภาพป่าในขตอำเภอเป็นป่าดงดิบ เนื่องจากฝนตกชุกจึงมีพันธุ์ไม้ขึ้นหนาแน่น

อำเภอท่าตะเกียบ เดิมอยู่ในปกครองของอำเภอสนามชัยเขต ต่อมายกฐานะเป็นกิ่งอำเภอท่าตะเกียบ และต่อมายกฐานะเป็นอำเภอ ท่าตะเกียบ

ความเป็นมาของท่าตะเกียบ มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีดำริการก่อสร้างเสาชิงช้าบริเวณหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ได้มีหนังสือแจ้ง ตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ให้หาไม้แดงเพื่อนำไปทำไม้ตะเกียบเสาชิงช้า พบว่าในป่าที่ ท่าตะเกียบ มีไม้แดงต้นงาม 2 ต้น บริเวณห่างจากบ้านท่ากลอยและบ้านวังวุ้น ประมาณ 1 ก ม. ได้ล่องไม้แดงดังกล่าวไปตามคลองสียัด เนื่องจากไม้มีขนาดใหญ่มาก บริเวณที่ลากไม้ลงคลองสียัด จึงราบเรียบเป็นท่าน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่า "ท่าลงไม้ตะเกียบ " และเพี้ยนมาเป็น " ท่าตะเกียบ"

พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอ เป็นทิวเขาและป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคตะวันออก ชื่อป่าสงวนแห่งชาติ " แควระบบม- สียัด " เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่อุดมไปด้วยไม้กระยาเลยอันมีค่าทางเศรษฐกิจ เช่นไม้ตะแบก ไม้มะค่า ซึ่งถือเป็นความภูมิใจของชาวอำเภอท่าตะเกียบ และชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา

โดยทั่วไปสภาพท้องที่บางส่วนเป็นป่าดงดิบ มีภูเขาและลำธารหลายแห่ง ที่สำคัญ คือ แควสียัด นอกจากนี้ยังมีน้ำตกที่ยังคงความสวยงามและมีชื่ิอเสียงของจังหวัดฉะเชิงเทรา คือน้ำตกเขาอ่่างฤาไน ซึ่งอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ตำบลคลองตะเกรา

ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำสียัดเป็นอ่างเก็บน้ำที่ล้อมไปด้วยภูเขาหลายลูกด้วยกัน อ่างเก็บน้ำสียัดนี้กินเนื้อที่หลายตารางกิโลเมตร อ่างเก็บน้ำแห่งนี้เกิดขึ้นบนคลองเก่าจึงมีปลาอยู่ชุกชุมมาก




จากหนังสือฉะเชิงเทราในประวัติศาสตร์ของ ผ.ศ. สุนทร คัยนันท์ เล่าเรื่องเกี่ยวกับ "น้ำตกอ่างฤาไน " ไว้ว่า

ดินแดนป่าดงดิบเขตรอยต่อ 5 จังหวัด อันมีสนามชัยเขตเป็นแกนกลางได้ซ่อนธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ไว้ให้สรรพสัตว์ได้พึ่งพิง ดินแดนดังกล่าว สื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและของจังหวัดฉะเชิงเทรา นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ร.ต. กิตติ ประทุมแก้ว เข้าไปถึงบริเวณนำตกอ่างฤาไน อำเภอสนามชัยเขต เขาอ่างฤาไน อันเป็นเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า คณะเดินทางเข้าไปเมื่อวันที่ 27 ธีนวาคม พ.ศ. 2529 น้ำตกยังบริบูรณ์ สอบถามเจ้าหน้าที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ประจำอยู่ ยืนยันว่ามีน้ำตกตลอดปี มีการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ถึงเสียชีวิตไปหลายคนในเขตบริเวณดังกล่าวนี้ พวกเรารู้สึกสำนึกในบุญคุณที่ท่านเหล่านั้นเสียสละปกป้องมรดกอันล้ำค่านี้ไว้ให้พวกเราได้รู้เป็นบุญตา ระยะทางจากฉะเชิงเทราถึงน้ำตกประมาณ 121 กิโลเมตร แบ่งระยะทางเป็น 4 ระยะ...................

ลักษณะภูมิประเทศของน้ำตกอ่างฤาไน มีภูขาอยู่ทางทิศตะวันตก ทิศเหนือและทิศตะวันออก ส่วนตรงกลางและตอนใต้สุดเป็นที่ราบต่ำ ทางทิศตะวันตกมีเทือกเขาใหญ่กั้นเป็นแนวเขตยาวจากเหนือไปใต้ มียอดเขาที่สำคัญคือ เขาอ่างฤาไน สูง 679 เมตร เป็นต้นน้ำของนำตกบ่อทอง ยอดเขาใหญ่สูงถึง 763 เมตร เป็นต้นน้ำคลองตะเกรา บนเทือกเขาใหญ่มีสันเขาเดินถึงกันได้ตลอดปีมีไผ่ปล้องยาวสลับด้วยพันธุ์ไม้ป่าดงดิบขึ้นอยู่บนยอดเขาและตามไหล่เขาอย่างหนาแน่น ตามเชิงเขาที่เป็นหุบเขาลึกชันยากที่จะเข้าไปถึง จึงเป็นที่หลบซ่อนของสัตว์ป่าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่หายาก เช่น วัวกระทิง วัวแดง ช้างป่า และเลียงผาเป็นต้น

สภาพป่าและไม้สำคัญมีฝนตกชุกจึงมีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น มีไม้มีค่าและของป่าหลายชนิด ราชการได้มีพระราชกฤษฏีกากำหนดเป็นเขตพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ตั้งแต่ พ.ศ.2520 นอกจากนี้พื้นที่ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแควระบม ป่าสียัด ได้ผ่านการทำไม้มาแล้วโดยบริษัท เอื้อวิทยาพานิชย์ จำกัด ผู้รับสัมปทาน ทำไม้ ไม้ที่มีความสำคัญ เช่น ยาง ตะเคียนทอง กะบาก เคียนคะนอง พันจำ มะค่าโมง ประดู่แดง ชิงชัน สมพง กะท้อน มะกอก ฯลฯ

การเดินทางไปท่องเที่ยวสำหรับแนวป่าที่ยังมีลักษณะเป็นป่าดงดิบ จึงควรทราบแหล่งที่ควรไปดังนี้

1.น้ำตกอ่างฤาไน อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกอ่างฤาไน ประมาณท 2 ก.ม. มีน้ำไหลตลอดปีเป็นน้ำตกขนาดเล็ก ไหลมาจากที่สูง รถยนต์เข้าไปถึงตีนเขาและลงเดินเท้าขึ้นไปอีกประมาณ 300 เมตร
2. หนองน้ำที่มีน้ำขังอยู่ตลอดปี ได้แก่หนองปรือสุพรรณหรือหนองมะนาว อยู่กึ่งกลางเส้นทางหน่วยจังหวัด หน่วยบ่อทอง ตอนกลางวันจะพบพวกนกเป็ดน้ำ นกกระสาลงหาปลากิน ส่วนกลางคืนช้างป่าจะลงเล่นน้ำหรือหาสาหรายกิน แต่ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายที่ทางราชการได้ตัดถนนใกล้หนองน้ำนี้ จึงเป็นเหตุให้สัตว์ป่าไม่ค่อยมาลงเหมือนก่อน ๆ
3.โป่งต่าง ๆ ที่สัตว์มักชอบลงกินดินในเวลากลางคืน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะส่องดูสัตว์ป่าก็ต้องไปนั่งห้างริมโป่ง โป่งที่สัตว์ป่าชอบลงเล่น เดินทางไปได้สะดวกได้แก่ โป่งสะเดาช้าง โป่งไม้แก้ว และโป่งบ่อน้ำ ทั้งสามนี้อยู่ใกล้หน่วยพิทักษ์ป่าย่อยห้วยน้ำซับประมาณ 2-3 ก.ม.
4. ป่าสองข้างทาง ตรวจการที่เชื่อมหน่วยต่อหน่วย เป็นป่าธรรมชาติที่ร่มรื่นสวยงาม จะเดินเท้าหรือถยนต์ ชมได้เฉพาะในฤดูหนาว เพราะสะดวกและปลอดภัย

นี่เป็นมรดกทางธรรมชาติที่ทุกคนต้องช่วยกันสงวนไว้ด้วยชีวิต ดังเช่นเจ้าหน้าที่หลาย ๆ ท่านได้เป็นตัวอย่างให้เราได้ประจักษ์กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเจ้่่าหน้าที่ที่ไม้ได้ปรากฎเป็นข่าวใหญ่ในการเสียสละพลีชีพเพื่ออุดมการณ์ ปณิธาน ความรักผืนแผ่นดินป่าของชาติ หรือดังเช่น คุณสืบ นาคะเสถัยร ที่เป็นข่าวสะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศ

หมายเหตุ บทความนี้ไล่ลำดับความจากเมืองพนมสารคามที่กว้างใหญ่ไปสู่ที่ตั้งของน้ำตกอ่างฤาไนในปัจจุบัน และสภาพของ "น้ำตกอ่างฤาไน เมื่อปี 2529 " ซึ่งในขณะนั้นตำบลท่าตะเกียบยังไม่ยกขึ้นเป็นอำเภอ

พลอยโพยมยังไม่เคยไปเยี่ยมเยือน จึงไม่ทราบว่า ปัจจุบัน มีความเปลี่ยแปลงไปจากสภาพเมื่อ ปี พ.ศ. 2529 มากน้อยเพียงใด...






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น