วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] "ปาหนันอ่างฤาไน" หอมกลางคืน


"ปาหนันอ่างฤาไน" หอมกลางคืน
ที่มา : ไทยรัฐ
Photo Credit : AMS160


ไม้ต้นนี้ จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ ปาหนันหอม โดยพบขึ้นทั่วไปตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 100-400 เมตร ขึ้นไป ส่วน "ปาหนันอ่างฤาไน" พบขึ้นจากแหล่งเดียวกัน และมีขึ้นตามป่าในภาคอื่นบ้างประปราย ซึ่งไม้ในตระกูลนี้จะมีดอกในช่วงระหว่างเดือนเมษายน ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี มีลักษณะเด่นคือ เวลามีดอกจะส่งกลิ่นหอมในตอนกลางคืนเป็นที่ชื่นใจมาก เป็นไม้ที่สามารถปลูกประดับในพื้นที่รำไรได้ โดยเฉพาะปลูกในบริเวณบ้านด้านเหนือลม หรือปลูกใกล้ๆกับหน้าต่างห้องนอน เมื่อถึงฤดูกาลมี




ดอกตอนกลางคืนจะส่งกลิ่นหอมให้ลมพัดโชยเข้าสู่ห้องนอนทำให้รู้สึกเป็นธรรมชาติดียิ่งนัก

ปาหนันอ่างฤาไน... เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงระหว่าง 2-5 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย เป็นพุ่มโปร่ง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลคล้ำ เรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำ เนื้อไม้เหนียว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นรูปขอบขนาน ปลายและโคนใบแหลม สีเขียวสด

ดอก... ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามซอกใบ หรือออกเหนือรอยแผลใบ มีกลีบดอก 3 กลีบ ดอกห้อยลง ก้านดอกใหญ่และยาว มีกลีบเลี้ยงรูปไข่ปลายแหลมสีเขียวสด เนื้อกลีบดอกหนา เมื่อแรกบานจะเป็นสีเหลือง จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีขาวอมเหลือง กลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปหอก ดอกมีกลิ่นหอมแรงตั้งแต่ พลบค่ำต่อเนื่องไปจนถึงเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น จากนั้นกลิ่นจะจางหายไป

ดอก เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 ซม. ดอกออกช่วงฤดูร้อนตั้ง แต่เดือนเมษายน ไปจนถึงเดือนกรกฎาคมทุกปี "ผล" เป็นกลุ่ม มีผลย่อย 4-8 ผล เปลือกผลเรียบ เมื่อแก่จะเป็นสีเหลืองอมเขียว มีเมล็ด 1 เมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง




"ปาหนันอ่างฤาไน" ปลูกได้ในดินทั่วไป ซึ่งนอกจากสามารถปลูกในพื้นที่รำไรได้ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว "ปาหนันอ่างฤาไน" ยังสามารถปลูกลงกระถางมีดอกได้ รดน้ำเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยคอกสลับกับปุ๋ยสูตร 16-16-16 เดือนละครั้ง จะทำให้มีดอกสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ชื่นใจ เมื่อถึงฤดูกาลมีดอก

ในราวปี พ.ศ.2540 แฟนคลับดอกไม้หอมไทยจะพบดอกไม้ชื่อแปลก ๆ ในวันพุธที่สวนจตุจักร ลักษณะเป็นไม้ขุดมาจากป่า ส่วนใหญ่อยู่ในถุงดำขนาดต่าง ๆ กันตามขนาดของต้นไม้ ดินในถุงบอกที่มาว่าขุดมาจากป่า ในระยะนั้นมีพันธุ์ไม้ป่าหลายพันธุ์ที่พบในป่าพรุ และปรากฏในหนังสือ ไม้ดอกหอมเล่มที่ 1 ของ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น คือ
บุหงาเซิง ซึ่งมีชื่ออื่นอีกคือชาวสุราษฎร์ธานี เรียกว่า เครือติดต่อ ,ส่าหล้า ที่ชุมพรเรียก สายหยุด ,สายหยุด สาวสะดุ้ง ที่กรุงเทพ ฯ เรียกบุหงานแต่งงาน ลักษณะกลีบดอก รูปทรงของดอก คล้ายกับปาหนันอ่างฤาไน ดอกบุหงาเซิงมีกลีบดอกเรียง เป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบกลีบชั้นในเรียงเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบชั้นนอกรูปขอบขนาน ดอกห้อยลง เหมือน ปาหนันอ่างฤาไน

ส่วนดอกไม้ที่ ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น เรียกว่า
บุหงาแต่งงาน กลีบดอกจะเรียวยาวเล็ก ไม่ป้อมแบบบุหงาเซิง
บุหงาปัตตานี ที่ชาวนราธิวาส และมลายู เรียก บุงอนือเก้าะ
บุหงาลำเจียก ที่ชาวปัตตานี เรียกว่า นาระ ชาวนราธิวาส เรียก สามะ
(ขอให้ลืมภาพบุหงาส่าหรี ที่เรารู้จักกันดี) ทั้งบุหงาเซิง บุหงาปัตตานี บุหงาลำเจียก มีลักษณะคล้าย ปาหนันอ่างฤาไน เพียงแต่ บางชนิด กลีบดอกเรียวยาวกว่า

ส่วนปาหนันช้าง ซึ่งชาวนราธิวาสและมลายู เรียกกันว่า กะนือเราะ มี 2 พันธุ์ คือปาหนันช้างพันธุ์ป่าเขา และปาหนันช้างพันธุ์ป่าพรุ
ปาหนันช้างพันธุ์ป่าเขาจะมีใบขนาดใหญ่และยาวมากกว่าพันธุ์ป่าพรุ รวมทั้งกลีบดอกด้วย ทั้งดอกปาหนันช้างป่าเขาและดอกปาหนันช้างป่าพรุ มีกลีบดอก 6 กลีบ เรียง 2 ชั้น กลีบชั้นในอัดตัวเป็นแท่งสามเหลี่ยม กลีบดอกชั้นนอกรูปไข่แกมรูปหอก ขอบบิดเป็นคลื่น กลีบดอกปาหนันช้างป่าเขาจะมีกลีบดอกหนาขนาดใหญ่ ยาว และบิดเป็นคลื่นมากกว่าปาหนันช้างป่าพรุ ออกดอกไม่มากนักในแต่ละกิ่ง ออกดอกเฉพาะเดือน สิงหาคม - กันยายน ส่วนปาหนันช้างป่าพรุ จะมีดอกดกออกดอกทั้งปี

( และ พันธุ์ไม้ดอกของ ดร. ปิยะ กล่าวไว้นั้น พลอยโพยม ซื้อมาปลูกทุกต้น ต้นละหลายครั้ง จนอ่อนระอาใจไปในที่สุด อาจเพราะภูมิอากาศไม่อำนวยให้ และพันธุ์ไม้ที่ซื้อ ขุดมาจากแหล่งเดิม ยังไม่มีการฟื้นตัว ต้นละ 250-400 บาททีเดียวตามขนาดความสูงของต้น ซึ่งไม่เกิน 50 ซ.ม. สักต้น อีก 2-3 ปี ต่อมา ก็มีแม่ค้า ที่ปลูกเลี้ยงในกระถางอิฐก่อน เมื่อฟื้นตัวดีแล้วจึงนำมาขาย หากเป็นต้นที่กำลังมีดอกก็ราคาแพงกว่าต้นไม่มีดอก พลอยโพยมซื้อมาแล้ว เวียนไปดมกลิ่นขณะดอกบาน เช้า สาย บ่าย เย็น หัวค่ำ ตอนดึก ใกล้สาง รุ่งเช้า ก็พบว่า กลิ่นไม่หอมแรง ไม่กระจายฟุ้งตลบอบอวลแบบ สายหยุดหรือการะเวกบ้านเรา เลยท้อใจ ที่ตายก็ตายไปไม่หาซื้อมาใหม่ คิดเอาเองว่า เพราะอากาศที่บ้านไม่เหมือนในป่าจึงปล่อยไปตามบุญตามกรรมตายก็ฝังยังก็เลี้ยง ทำนองนั้นจริงๆ อดหลับอดนอนดมกลิ่นดอกไม้ป่าพบใหม่ในขณะนั้น นานทีเดียว เพราะปลูกหลายต้นหลายรอบ)

หมายเหตุชื่อ "ปาหนันอ่างฤาไน" ค้นในบันทึกพันธุ์ไม้ไทยไม่พบ แต่จากลักษณะดอกต้นและใบเหมือนกับปาหนันหอมทุกอย่าง จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นปาหนันหอมชนิดหนึ่งค่ะ.








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น