กาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่
พระไชยสุริยา เป็นวรรณคดีที่ประพันธ์โดย สุนทรภู่ เป็นนิทานสำหรับสอนการเขียนอ่าน โดยมีบทอ่านเรียงลำดับการสะกดคำตั้งแต่ แม่ ก กา ตามด้วย แม่กน แม่กง แม่กก แม่กด แม่กบ แม่กม จนถึงแม่เกย ตามลำดับ ลักษณะการประพันธ์แบบกาพย์ประเภทต่างๆ คือ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 เชื่อว่าสุนทรภู่ประพันธ์ขึ้นในราวปี พ.ศ. 2383-2385 สำหรับใช้เป็นบทเรียนเขียนอ่านพื่อถวายพระอักษรแด่พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระอัครชายา คือเจ้าฟ้าชายกลางแล้วเจ้าฟ้าปิ๋ว
กาพย์พระไชยสุริยา ได้บรรจุอยู่ในหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ซึ่งเป็นแบบเรียนของไทยที่จัดทำโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5
แม่ ก กา
(ยานี ๑๑)
สะธุสะจะขอไหว้ พระศรีไตรสรณา
พ่อแม่เเลครูบา เทวดาในราศี
ข้าเจ้าเอา ก ข เข้ามาต่อ ก กามี
แก้ไขในเท่านี้ ดีมิดีอย่าตรีชา
จะร่ำคำต่อไป พอล่อใจกุมารา
ธรณีมีราชา เจ้าพาราสาวะถี
ชื่อพระไชยสุริยา มีสุดามเหสี
ชื่อว่าสุมาลี อยู่บุรีไม่มีภัย
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มีกิริยาอัชฌาศัย
พ่อแม่มาแต่ไกล ได้อาศัยในพารา
ไพร่ฟ้าประชาชี อยู่บุรีก็ปรีดา
ทำไร่ข้าวไถนา ได้ข้าวปลาแลสาลี
อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวนารี
ที่หน้าตาดีดี ทำมโหรีที่เคหา
ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา
หาได้ให้ภริยา โลโภพาให้บ้าใจ
ไม่จำคำพระเจ้า เหไปเข้าภาษาไสย
ถือดีมีข้าไทย ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา
คดีที่มีคู่ คือไก่หมูเจ้าสุภา
ใครเอาข้าวปลามา ให้สุภาก็ว่าดี
ที่แพ้แก้ชนะ ไม่ถือพระประเวณี
ขี้ฉ้อก็ได้ดี ไล่ด่าตีมีอาญา
ที่ซื่อถือพระเจ้า ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา
ผู้เฒ่าเหล่าเมธา ว่าบ้าใบ้สาระยำ
ภิกษุสมณะ เหล่าก็ละพระสธรรม
คาถาว่าลำนำ ไปเร่ร่ำทำเฉโก
ไม่จำคำผู้ใหญ่ ศีรษะไม้ใจโยโส
ที่ดีมีอะโข ข้าขอโมทนาไป
พาราสาวะถี ใครไม่มีปรานีใคร
ดุดื้อถือแต่ใจที่ใครได้ใส่เอาพอ
ผู้ที่มีฝีมือ ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ
ไล่คว้าผ้าที่คอ อะไรล่อก็เอาไป
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มิได้ว่าหมู่ข้าไท
ถือน้ำร่ำเข้าไปแต่น้ำใจไม่นำพา
หาได้ใครหาเอา ไพร่ฟ้าเศร้าเปล่าอุรา
ผู้ที่มีอาญา ไล่ตีด่าไม่ปรานี
ผีป่ามากระทำ มรณกรรมชาวบุรี
น้ำป่าเข้าธานี ก็ไม่มีที่อาศัย
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา หนีไปหาพาราไกล
ชีบาล่าลี้ไป ไม่มีใครในธานี
เนื้อเรื่องของกาพย์พระไชยสุริยา เป็นเรื่องราว ที่ หมู่ข้าเฝ้า เหล่าเสนาของพาราสาวัตถี ไม่สนใจบ้านเมือง ช่วยพระไชยสุริยาบริหารบ้านเมือง มัวแต่หาความสุขใส่ตัว ไม่นับถือพระศาสนา ไม่มีศีลไม่มีสัตย์ ทุจริตคอรัปชั้น สมณะพระสงฆ์ก็ไม่ดำเนินตามหลักพระธรรมคำสอน เด็กๆ ไม่นับถือเชื่อฟังผู้ใหญ๋ ( หมายถึง ในเมืองสาวะถี น่าจะยังมีผู้ใหญ่ที่เป็นคนดีเหลืออยู่บ่้าง แต่เด็ก ก็ดื้อด้านทำตัวตามผู้ใหญ่ ที่เลว) จนในที่สุด ไม่มีเทพคุ้มครองเมือง เทพก็หนี ผีป่าก็มา น้ำป่าก็เข้าธานี ผลที่สุด ก็ต้องอพยพหนีทั้งหมด ทิ้งเมืองสาวัตถีเป็นเมืองร้างเพราะหนีน้ำป่า คนที่หนีไม่ทัน ก็ล้มตาย พระราชาและมเหสี และเหล่าเสนา ข้าราชบริพาร ลงเรือสำเภาใหญ่ล่องไปในทะเล
แล้วก็เกิดกรรมซัดวิบัติเป็น มีพายุใหญ่พัดมา สำเภาล่ม พระไชยสุริยาคว้ามือพระมเหสีได้ ใช้ผ้าสไบผูกกันไว้ให้ไม่พลัดกัน เหล่าเสนาข้าไท ถูกจระเข้ เหรา จับกินตายหมด พระไชยสุริยาและมเหสีถูกซัดขึ้นเกยฝั่ง
พระไชยสุริยาและมเหสีต้องนอนไพร
บทอาขยานในสมัยเด็ก
(ฉบัง๑๖)
เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคียง
เขาสูงฝูงหงษ์ลงเรียง เริงร้องซ้องเสียง
สำเนียงน่าฟังวังเวง
กลางไพรไก่ขันบันเลง ฟังเสียงเพียงเพลง
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง
ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดัง เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสะดาลขานเสียง
กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง พระยาลอคลอเคียง
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง
ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋ง เพลินฟังวังเวง
อีเก้งเริงร้องลองเชิง
ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง คางแข็งแรงเริง
ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง
ป่าสูงยูงยางช้างโขลง อึงคะนึงผึงโผง
โยงกันเล่นน้ำคล่ำไปฯ
มีพระดาบสที่รู้เห็นเหตุการณ์ในวันที่บุรีล่ม
(ยานี ๑๑)
วันนั้นครั้นดินไหว เกิดเหตุใหญ่ในปะถะพี
เล็งดูรู้คะดี กาลกิณีสี่ประการ
ประกอบชอบเป็นผิด กลับจริตผิดโบราณ
สามัญอันธพาล ผลาญคนซื่อถือสัตย์ธรรม์
ลูกศิษย์คิดล้างครู ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน
ส่อเสียดเบียดเบียนกัน ลอบฆ่าฟันคือตัณหา
โลภลาภบาปบ่คิด โจทย์จับผิดริษยา
อุระพะสุธา ป่วนเป็นบ้าฟ้าบดบัง
บรรดาสามัญสัตว์ เกิดวิบัติปัติปาปัง
ไตรยุคทุกขตะรัง สังวัจฉะระอะวะสานฯ
พระดาบสเอ็นดูพระไชยสุริยา ที่เป็นคนดี บุรีล่มเพราะเหล่าเสนี
(ฉบัง๑๖)
ขึ้นกมสมเด็จจอมอารย์ เอ็นดูภูบาล
ผู้ผ่านภาราสาวัดถี
ซื่อตรงหลงเล่ห์เสนี กลอกกลับอัปรี
บุรีจึงล่มจมไป
ประโยชน์จะโปรดภูวไนย์ นิ่งนั่งตั้งใจ
เลื่อมใสสำเร็จเมตตา
เปล่งเสียงเพียงพิณอินทรา บอกข้อมรณา
คงมาวันหนึ่งถึงตน...
ซึ่งในตอนท้าย ในบทแม่เกย พระไชยสุริยาและพระมเหสีได้บวชในป่าถือศีลภาวนา และได้ไปอยู่บนสวรรค์เสวยสุขอยู่บนสวรรค์
สุนทรภู่ ประพันธ์เรื่องนี้ไว้ ร้อยกว่าปี มาวันนี้ก็เกิดเหตุน้ำป่าเข้าธานี ก็ไม่มีที่อาศัย ต้องอพยพผู้คนผู้ประสบภัยออกไปจากธานี หนีไปหาพาราไกล แต่ เรายังมีส่วนกลางของเมืองที่ จะต้องอยู่และอยู่ให้รอด จากน้ำป่าเข้าธานีในครั้งนี้ เรายังมีพระสยามเทวาธิราช เหล่าเทพเทวาทั้งหลาย พระเสื้อเมือง พระทรงเมืองคุ้มครองพระนคร
สุนทรภู่ ท่านประพันธ์โดย ไม่ได้มุ่งหวังว่าเป็นคำพยากรณ์
ผู้เขียนคิดว่า บรรดาคำพยากรณ์ทั้งหลาย จะเกิดจริงก็เพราะผู้คนพลเมืองไม่อยู่ในศีลสัตย์ ไม่เชื่อฟังคำสอนของศาสนา ที่ทุก ๆ ศาสนามีจุดยืนเดียวกันคือสอนให้ทุกคนเป็นคนดี หากว่าถึงคราวที่เราคนไทยเห็นผิดเป็นชอบ กอบโกยผลประโยชน์ใส่ตน ไม่สนใจเรื่องบาปบุญ และคุณงามความดีทั้งหลาย ไม่ตั้งมั่นในสัตย์ซื่อถือความสุจริต ยังแก่งแย่งชิงดี ไม่สามัคคีรวมพลัง ไม่รักประเทศชาติ วันหนึ่งเมืองไทยก็จะเป็นพาราสาวะถี
ตรีชา แปลว่า ตำหนิ ติเตียน
เจ้าสุภา แปลว่า ตุลาการ
วบส
ตอบลบ