คำขวัญจังหวัดฉะเชิงเทรา
ขอย้อนกลับมาเล่าขานเรื่องราวของจังหวัดฉะเชิงเทรา
โดยเป็นเรื่องสืบเนื่องจากบทความที่เกี่ยวข้องกับเขาอ่างฤาไน คือหลังจากเพื่อนของผู้เขียนเล่าเรื่องไปเยือนเขาอ่างฤาไนมาไม่นานนัก เพื่อนคนนี้ก็ถามผู้เขียนอีกว่า คำขวัญของจังหวัดฉะเชิงเทราคืออะไรเธอรู้ไหม ผู้เขียนก็อ้อมแอ้ม ๆ บอกไปตามที่ได้ยินมาคือ
เมืองธรรมะ พระศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็มี มะม่วง ข้าว มะพร้าว .ทำนองนี้ ตกคำว่าชิดเมืองหลวงไปหนึ่งวลีด้วย
ซึ่งความจริงคำขวัญของจังหวัดฉะเชิงเทราในขณะนั้น คือ
"เมืองธรรมะ พระศักดิ์สิทธิ์ ชิดเมืองหลวง มะม่วงหวาน ข้าวสารขาว มะพร้าวหอม "
เพื่อนบอกว่า "เก่าไปแล้วเธอ ฉะเชิงเทราเปลี่ยนคำขวัญใหม่เอี่ยมอ่องแล้ว เพิ่งคัดเลือก และตัดสินกันเรียบร้อยแล้วจากการส่งคำขวัญเข้าประกวด ต่อไปจังหวัดฉะเชิงเทราจะใช้คำขวัญว่า "
"แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย อ่างฤๅไนป่าสมบูรณ์"
ผู้เขียนก็ได้ยินคำว่า อ่างฤาไน อีกเป็นครั้งที่สอง
ในขณะนั้น ผู้เขียนก็รู้สึกว่าชอบคำขวัญใหม่ และจินตนาการเอาว่าอ่างฤาไนสวยงามสมบูรณ์แค่ไหนหนอ คงต้องมีคุณค่ามากถึงถูกบรรจุอยู่ในคำขวัญ และออกอาการปลื้มใจที่มีชื่อ ท่านพระยาศรี ฯ อยู่ในคำขวัญใหม่นี้
คำขวัญที่ชนะเลิศในการคัดเลือกนี้ เป็นผลงานของคุณครูท่านหนึ่งที่สอนหนังสืออยู่ในอำเภอรอบนอก ของจังหวัดฉะเชิงเทรา
ส่วนคำขวัญเก่านั้นคำว่า "ชิดเมืองหลวง " ดูไม่ค่อยบอกเอกลักษณ์อะไรของจังหวัดฉะเชิงเทรา (ขนาดวันที่เพื่อนถามยังนึกคำนี้ไม่ออกในขณะนั้น จังหวัดที่ชิดเมืองหลวงมีตั้งหลายจังหวัด)
คำว่ามะม่วงหวาน
ตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนที่รู้สึกเองมานานเป็นสิบปีแล้วว่า แหล่งพื้นที่มะม่วงหวานของชาวแปดริ้วจริง ๆ ปัจจุบัน แทบไม่มีการปลูกมะม่วงกันแล้ว คือบริเวณอำเภอเมือง ตำบลบ้านใหม่ ตำบลโสธร ตำบลบางตีนเป็ด สวนต่าง ๆ ที่เลียบลำน้ำบางปะกง ลงไปที่ยัง ตำบลท่าอิฐ ตำบลคลองนา ตำบลบางกรูด ตำบลท่าพลับและอื่นๆ ทั้งสองฝั่งน้ำตลอดระยะทางของแนวริมแม่น้ำเป็นต้น คนบางคล้าคงไม่โกรธผู้เขียนกับคำอธิบายนี้
มะม่วงหวานนั้นแน่นอนว่าคือมะม่วงสุก มะม่วงสุกมีชื่อของแปดริ้ว คือ มะม่วงน้ำดอกไม้ ส่วนมะม่วงทองดำอันมีชื่อว่าคือมะม่วงแปดริ้วแท้ ๆ (รวมทั้งมะม่วงแรดด้วย แต่มะม่วงแรดนิยมกินดิบไม่กินสุกกัน) มะม่วงทองดำนั้นอย่างไรเสีย ก็ไม่หวานแหลม เป็นรสหวานเจือรสมันของแป้งปนอยู่ในรสหวาน ส่วนมะม่วงอกร่อง ที่ชาวแปดริ้วต้องยอมรับคือ หวานสู้ทางจังหวัดนนทบุรี ฝั่งธนบุรี และสวนในอดีตของกรุงเทพฯ ไม่ได้ ผู้เขียนเป็นคนช่างพูดช่างถามมาแต่ไหนแต่ไร ได้คุยกับชาวสวน พ่อค้าแม่ขาย ชาวเมืองนนท์ กรุงเทพฯ ฝั่งธน ฯ ในสมัยเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย ฯ ตามตลาดชาวบ้าน ๆ บ่อย ๆ
ต่างก็มีความเห็นตรงกันอย่างที่เขียน ทั้งชาวเมืองนนท์ กรุงเทพ ฯ ฝั่งธนฯ รวมถึงคนเมืองปทุมธานีอีกด้วย
( ปัจจุบันชาวบ้านย่านที่ผู้เขียนเคยคลุกคลีอยู่หลายปี ก็แทบจะไม่ได้ปลูกมะม่วงอกร่อง หรือมะม่วงอื่น ๆ กันแล้ว และ ณ วันนี้ ก็กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมไปหมดแล้วทุกย่านที่กล่าวถึง)
มะม่วงน้ำดอกไม้มีความแปลกคือไม่ชอบดินจืดสนิท (คือปลูกได้แต่ความหวานของมะม่วงจะลดน้อยลง ) จะชอบดินที่มีน้ำกร่อยขึ้นถึง (คำว่าชอบในที่นี้หมายความว่า จะได้ผลผลิตที่มีรสชาติดี นั่นเอง) ดังนั้นมะม่วงน้ำดอกไม้ ที่อร่อยหวานสนิทจับจิตจับใจคนกินจึงอยู่ตามแนวลำแม่น้ำบางปะกง แต่ไม่เลยลงไปถึงอำเภอบางปะกง (เพราะที่อำเภอบางปะกงดินจะเค็มเกินไป) รวมทั้งสวนที่น้ำกร่อยขึ้นผ่านตามลำคลองไปถึง เช่นแถบตำบลบางตีนเป็ดของอำเภอเมือง และอีกหลาย ๆ ตำบลเป็นต้น เมื่อห้าสิบปีที่แล้วน้ำในแม่น้ำบางปะกงจะกร่อยเพียง สี่เดือน น้ำจืดแปดเดือน และสวนที่อำเภอบางคล้าบางแห่ง น้ำกร่อยขึ้นไปไม่ถึง รวมทั้งพื้นที่ดินของอำเภอบางคล้าสามารถขุดร่องสวนที่เก็บกักน้ำจืดได้ดีคือน้ำกร่อยไม่ซึมทะลักเข้าไปในสวน ต่างกับที่ดินแถบริมฝั่งแม่น้ำ บ่อน้ำต่างๆ ตามบ้านคนที่ขุดไว้เก็บกักน้ำจืด พอถึงหน้าน้ำกร่อย น้ำกร่อยจะซึมแทรกผ่านดินเข้ามาได้เสมอ ๆ
แต่ปัจจุบัน ระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำกร่อยเปลี่ยนไป ช่วงน้ำกร่อย กินเวลานานกว่าช่วงเวลาน้ำจืด มิหนำซ้ำน้ำกร่อยนั้นกร่อยขึ้นไปถึงจังหวัดปราจีนบุรี จนในที่สุดต้องทำเขื่อนทดน้ำ
คุณน้าของผู้เขียนมีบ้านอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี นำเมล็ดพันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้ที่คัดไปจากต้นเดิมที่บ้านตำบลบางกรูดไปปลูก อดใจรอจนได้ผลมะม่วง ก็แปลกใจว่าทำไมไม่อร่อยเหมือนต้นพันธุ์เดิม คิดไปคิดมาอยู่สองสามปี ถึงลักษณะสวนที่ตำบลบางกรูด ท่านก็เลยลองไปขุดหลุมตื้น ๆ ให้ห่างจากโคนต้นมะม่วงน้ำดอกไม้ต้นนั้นพอประมาณ เอาเกลือใส่ลงในหลุม แล้วรดน้ำทุกครั้งที่รดน้ำต้นมะม่วง ในปีนั้นเป็นต้นมา คุณน้าก็ได้รับประทานมะม่วงน้ำดอกไม้สุกมีรสชาติเดียวกับที่ตำบลบางกรูด
เมื่อเริ่มมีการตั้งคำขวัญประจำจังหวัดกันนั้น สวนแปดริ้วแปรสภาพไปเป็นส่วนมาก ที่คงเหลือสภาพพื้นที่สวนมากที่สุดก็คือที่อำเภอบางคล้า และเกิดเป็นสวนใหม่ ๆ โดยเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมเพราะความทันสมัยของเทคโนโลยี่ ไม่ต้องมีการขุดร่องสวนลึก ๆ เก็บกักน้ำกันแล้ว ร่องสวนกลายเป็นแค่ทางระบายน้ำตื้น ๆ แคบ ๆ เท่านั้น
ส่วนข้าวสารขาว
ข้าวขาวดอกมะลิ (Khao Dawk Mali ) เป็นข้าวนาสวนชนิดข้าวเจ้า เป็นที่รู้จักกันในตลาดข้าวของโลก ได้มาจากการรวบรวมพันธุ์จากแหล่งปลูกในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วนำไปคัดเลือกและปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ จนกระทั่งได้เป็นพันธุ์รับรอง ชื่อ ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งมีลักษณะ คือ ข้าวเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องสีขาว เมล็ดเรียว ข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี ข้าวสุกนุ่ม มีกลิ่นหอม
แต่มีความเห็นของคณะกรรมการประกวดคำขวัญในขณะนั้นว่า ปัจจุบันข้าวที่มีนิยมว่าคุณค่าทางโภชนาการสูง คือข้าวกล้องสีปนแดงไม่ใช่ข้าวสารขาวเสียแล้ว คณะกรรมการเลยบรรจุคำที่ใช้บังคับเพียงเท่าที่ต้องการ คือ แม่น้ำบางปะกง หลวงพ่อโสธร ท่านพระยาศรีสุนทร ฯ และเขาอ่างฤาไน
ภาพประกวดของคุณเวชยันต์ ธราวิศิษฐ์
การประกวดตั้งคำขวัญใหม่ในคราวนั้น คณะกรรมการมีการระบุข้อความที่ต้องการตั้งให้เป็นโจทย์ ผู้เข้าประกวดเพียงเรียงร้อยถ้อยคำให้ถูกใจคณะกรรมการที่คัดเลือก
ผู้เขียนมิได้ตั้งใจตำหนิติเตียนคำขวัญเดิมว่าไม่ดีแต่อย่างใด เพียงแต่กาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงค่านิยมของผู้คนไปบ้าง
อันคำขวัญเดิมว่า
"เมืองธรรมะ พระศักดิ์สิทธิ์ ชิดเมืองหลวง มะม่วงหวาน ข้าวสารขาว มะพร้าวหอม " ปัจจุบันกลายเป็นคำขวัญของอำเภอเมืองฉะเชิงเทราแทน ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นคำขวัญที่สื่อความของอำเภอเมืองได้ครบถ้วน
พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย
หลังจากตั้งคำขวัญจังหวัดใหม่แล้วจึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ ปูชนียบุคคลปราชญ์ด้านภาษาไทยในภายหลัง ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2542
และผู้เขียนได้รับฟังข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์ ท่านพระยาศรี ฯ มาโดยตรง ดังนี้
ในสมัยที่มีการดำริจะจัดสร้างอนุสาวรีย์ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) เพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแห่งปูชนียบุคคลชาวแปดริ้วให้คนรุ่นหลังได้รู้จักท่าน ระลึกถึงบุญคุณของท่าน ได้มาแสดงความเคารพท่าน มีอนุสาวรีย์ของท่านเตือนตาเตือนใจผู้คนทั่ว ๆ ไปนั้น การเตรียมการก่อสร้างทุกอย่างเรียบร้อยดี หากแต่มีปัญหาที่สำคัญยิ่งต่างพากันวิตกกังวลไม่สบายใจกับการที่ยังค้นหาภาพของท่านพระยาศรี ฯ ไม่พบเพื่อจะนำมาเป็นแบบรูปปั้น ผู้เล่าท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังมาคือก็ได้แต่รำลึกถึงท่านพระยาศรีสุนทร ฯ ว่า...ขณะนี้ชาวแปดริ้วกำลังจะสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเชิดชูเกียรติให้ท่าน แต่ไม่เคยพบภาพของท่านเลย จะไปค้นที่ใดดีหนอภายในจังหวัดโดยไม่ต้องไปค้นหาที่กรุงเทพ ฯ
แล้วจู่ วันหนึ่ง ท่านผู้เล่าได้ไปร้านขายกล้วยแขก ขณะรอแม่ค้าซึ่งกำลังทอดกล้วยแขกอยู่ในกระทะ มองกล้วยในกระทะแล้วก็รู้สึกว่า อีกนานเหมือนกันกว่าจะได้รับประทานกล้วยแขกแสนอร่อย (ถึงกับยอมรอคอย ) ท่านก็เลยไล่สายตามองไปรอบ ๆ บริเวณร้านกล้วยแขก แล้วก็สะดุดตาที่เข่งใส่กล้วยดิบเป็นหวี ๆ ที่เตรียมนำมาทอด เห็นภาพบุคคลท่านหนึ่งในเข่งใส่กล้วยใบนั้น แล้วก็พบว่าเป็นภาพท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ปูกรุกล้วยในเข่งนั้น ท่านดีใจมาก ที่ไม่ต้องเข้ามาสืบค้นในกรุงเทพ ฯ (ยังไม่มีระบบอินเทอร์เนต ในขณะนั้น) ท่านผู้เล่ารู้สึกว่าเป็นปาฏิหารย์ของท่านพระยาศรี ฯ ที่อำนวยความสะดวกให้กับท่าน คำรำพึงของท่านผู้เล่าเรื่องเหมือนท่านพระยาศรี ฯ ล่วงรับรู้และช่วยให้การสำเร็จได้ดังใจผู้เล่าเรื่อง ท่านผู้เล่าเรื่องใช้คำว่า ปาฏิหารย์จริง ๆ ท่านบอกว่าท่านเห็นภาพแล้วรู้สึกขนลุกในขณะนั้น
ผู้เขียนฟังเรื่องราวแล้ว วูบแรกก็รู้สึกว่าเป็นปาฏิหารย์จริง ๆ แต่ภายหลังกลับเศร้าใจ ที่ภาพของท่านพระยาศรี ฯ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นภาพจากหนังสือเก่าเล่มใดเล่มหนึ่ง ผู้ครอบครองหนังสือเล่มนี้ไม่รู้คุณค่าของหนังสือ คงขายรวมกับกระดาษอื่น ๆ จนตกมาถึงคนขายกล้วยดิบ ส่งต่อมายังคนขายกล้วยแขก ผู้ขายกระดาษคงเก็บหนังสือเก่าในบ้านขายละกระมัง
ข้อความส่วนนี้ ผู้เขียนเขียนเสร็จแล้วรู้สึกสะดุดใจว่า เอ....จะเขียนเล่าดีหรือไม่ดีหนอ เขียนจบก็ Delete ทิ้งไปครั้งหนึ่ง แต่พอคิดไปคิดมาหากไม่เล่าต่อ ความเรื่องนี้ก็คงล่วงเลยลับหายไปกับกาลเวลาไม่ปรากฎเป็นตัวอักษร ผู้เขียนได้รับฟังข้อความนี้โดยตรงจากท่านผู้เล่าเรื่องผู้เป็นเจ้าของเรื่อง และได้เรียนขออนุญาตจากท่านเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องใช้คำว่า เขาเล่ากันว่า ได้ยินมาว่า ( เขาคือใครก็ไม่รู้ เขากี่คนก็ไม่รู้อีกเช่นกัน ) ในการอ้างอิง ก็เลยเขียนใหม่อีกครั้ง อย่างน้อยนี่ก็นับเป็นตำนานส่วนหนึ่งของ ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ท่านผู้เล่าเรื่องบอกว่า ที่แท่นของรูปปั้น จารึกประวัติของท่านพระยาศรี ฯ ไว้ ไม่ต้องไปหาประวัติที่อื่นอ่านก็ได้
อ่างฤาไนป่าสมบูรณ์
ปัจจุบันทุกอำเภอต้องมีคำขวัญประจำอำเภอ ไม่เพียงเท่านั้นแม้แต่ที่ทำการ อบต. ก็เขียนคำขวัญประจำ อบต. แยกออกไปอีก จนปัจจุบันผู้เขียนสับสนไปหมด นึกถึงวิชาเรียนท้องถิ่นของเราของนักเรียนยุคปัจจุบันนี้ว่า แค่ท่องคำขวัญท้องถิ่นตัวเอง ( อบต. ) อำเภอตัวเอง จังหวัดตัวเอง ก็ใช้พื้นที่หน่วยความจำในสมองไปพอสมควรทีเดียว
(แก้ไข มิย.2557)
ต่อมาท่านผู้เล่าเรื่องได้แก้ไขว่า รูปของท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร ( น้อย อาจารยางกูร ) กรุในเข่งมังคุด ของร้่านขายผลไม้ใกล้ ๆ กับร้านขายกล้วยแขก และได้ยึดถือภาพที่สื่อถึงการแต่งกายของพระยาศรีสุนทรโวหาร นั้นเป็นรูปปั้นที่อนุสาวรีย์ดังที่เห็นในปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น