วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

[บทความ] หอมเอย...ลั่นทม

หอมเอย...ลั่นทม..


หอมเอยลั่นทมสมไกล
กลิ่นซึ้งตรึงใจ
ดอกไม้อิ่นใดไม่ปาน
หวนอวลใจ
ซึ้งอยู่ใน ฤทัยดวงมาน
หอมจะคงตลอดกาล
สิ้นปราณยังฝันใฝ่

เพลงระทมในลั่นทมของคุณรวงทอง ทองลั่นทม


กำเนิดของต้นลั่นทม
ต้นลั่นทมพบอยู่ในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง และหมู่เกาะแถบทะเลแคริบเบียน
เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณราวพุทธ ศตวรรษที่ 17 โดยเข้ามาทางอาณาจักรขอม ในยุคสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1650 – 1700) ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ทรงสร้างพระนครวัด

ในครั้งนั้นเจ้าฟ้างุ้ม พระโอรสแห่งเมืองลาวได้ไปพำนักที่อาณาจักรขอมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ต่อมาได้เป็นมหาดเล็กในราชสำนัก เมื่อเจริญขันษาขึ้นจึงเดินทางจากอาณาจักรขอม มีบันทึกว่าได้เข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนที่จะเดินทางเข้าเมืองลาว สันนิษฐานว่าเจ้าฟ้างุ้มน่าจะนำต้นไม้ชนิดกลับไปยังประเทศลาวด้วย เพราะจากบันทึกของประเทศลาวได้กล่าวถึงต้นไม้ชนิดหนึ่งมีชื่อว่า จำปา (ชื่อเรียกต้นลั่นทมในภาษาลาว)

นอกจากนี้ประเทศลาวเอง ยังมีเมืองสำคัญแห่งหนึ่งชื่อ จำปาสัก ซึ่งหมายถึงต้นลั่นทม นั่นเอง แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดว่ามีการเดินทางมายังประเทศไทยในช่วงนี้ แต่เป็นที่น่าคิดว่า สมัยสุโขทัยที่มีการยึดอำนาจอาณาจักรขอมน่าจะนำเอาต้นไม้ชนิดนี้เข้ามาบ้างหรือไม่


พลูมมีเรีย หรือ พลัมมีเรีย (plumieria) เป็นชื่อที่เรียก ลั่นทม หรือลีลาวดี

เรียกตามชื่อของนักพฤกษ์ศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชาร์ล พลัมเมอร์ (ค.ศ.1646 -1706) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากกษัตริย์ประเทศฝรั่งเศส ให้แสวงหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ในเขตร้อน เขาได้เดินทางไปยังหมู่เกาะ แคริเบียนถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นแหล่งที่ได้พบต้นไม้ที่มีดอกสวยงามและรูปทรงแปลกๆ จึงได้นำกลับมาที่ประเทศฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 17 และเขาได้ริเริ่มจัดระบบของต้นใม้และดอกไม้ในเขตร้อนให้เป็นหมวดหมู่ ภายหลังนักพฤกษ์ศาสตร์ชาวฝรั่งเศสนาม ทัวนีฟอร์ท ได้ตั้งชื่อต้นลั่นทมว่า พลัมเมอร์เรีย (plumieria) เพื่อเป็นเกียรติแก่นาย ชาร์ล พลัมเมอร์ แต่ภายหลังได้เรียกชื่อเพี้ยนไปเป็น พลูมมีเรีย (plumeria)

ต้นไม้ชนิดนี้มีชื่อเรียกทางวิชาการว่า ฟรังกีปานี (frangipani) ซึ่งมีสมมุติฐานว่ามาจากคำในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า ฟรังกีปาเนีย (frangipanier) ซึ่งมาจากรากศัพท์ว่า กลิ่นหอม (fragrance)
อีกสมมุติฐานของชื่อนี้คำว่า ฟรังกีปานี มีความหมายถึง ยางสีขาวข้นเหนียวของต้นลั่นทม เมื่อชาวฝรั่งเศสผู้ไปตั้งรกรากในหมู่เกาะแคริเบียนได้สังเกตเห็นยางของลั่นทมจึงเรียกว่า ฟรังกีปานีเออร์ (frangipanier) ซึ่งในภาษาฝรั่งเศส แปลว่านมข้น จึงเป็นไปได้ว่าชื่อสากลของพันธุ์ไม้นี้มาจากภาษาฝรั่งเศส



ต้นลั่นทมได้แพร่หลายในอเมริกาสมัยบุกเบิก ซึ่งต่อมามีการผสมข้ามพันธุ์ทำให้มีสีสันมากมายและหลากลักษณะ นักพฤกษ์ศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ วูดสัน (woodson) ได้แบ่งชนิดของลั่นทมออกเป็น 7 ลักษณะ ตามแหล่งดั้งเดิมของที่มา ดังต่อไปนี้
1. พลูมมีเรีย อินโนโดรา แหล่งเดิมมาจากประเทศ โคลัมเบีย และ บิตริสกีนา
2. พลูมมีเรีย พูดิกา ประเทศโคลัมเบีย เวเนซูเอลา และ มาตินิค
3. พลูมมีเรีย รูบรา ประเทศในอเมริกากลาง
4. พลูมมีเรีย ซับเซสซิลิส ประเทศฮิสปานิโอลา
5. พลูมมีเรีย ออบทูซ่า หมู่เกาะบาฮามัส ประเทศ คิวบา จาไมกา ฮิสปานิโอลา ปอร์โตริโก บริติสฮอนดูรัส
6. พลูมมีเรีย ฟิลิโฟเลีย ประเทศ คิวบา
7. พลูมมีเรีย อัลบา ประเทคปอร์โตริโก เวอร์จินไอแลนด์ส และ เลสเซอร์ เอนทิเลส

นอกจากการแบ่งตามแหล่งที่มาแล้ว ยังมีการแบ่งชนิดของลั่นทมตามลักษณะใบ ช่อดอก และสี อีกด้วย การตั้งชื่อชนิดของลั่นทมได้มีอย่างกว้างขวางไปทั่วทุกแหล่งที่นิยมปลูก ประเทศที่ให้ความสำคัญถึงกับมีการตั้งสมาคม ก็คือ สหรัฐอเมริกา โดยมีการจดทะเบียนชื่อตามลักษณะต่างๆ ดังที่กล่าวถึงกว่า 300 ชื่อ จากจำนวนของลั่นทมที่มีอยู่เดิม (generic) และที่มีการผสมพันธุ์ (hybrid) กว่า 1,000 ชนิดทั่วโลก



ชาร์ลส์ พลูมิเยร์ ชาวฝรั่งเศสเดินทางไปแถบหมู่เกาะเวสต์อินดีสเพื่อคันหาพืชพันธุ์ใหม่ๆ ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพบพันธุ์ไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่งซึ่งนิยมปลูกตามสุสาน ดอกมีกลิ่นหอม ต้นไม้ที่ว่านั้นคือดอกลั่นทม

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ตรงกับสมัยพระนารายณ์มหาราชแห่งราชอาณาจักรสยาม มีการเจริญสันพันธ์ไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ในคณะทูตานุทูตฝรั่งเศสชุดที่2 ได้เขียนเล่าเรื่องราวของกรุงสยามเป็นภาษาฝรั่งเศสและบันทึกถึงชื่อต้นไม้ ที่ชื่อลั่นทม
แต่เนื่องจากพื้นที่ของกรุงศรีอยุธยาเป็นที่ราบลุ่ม ในฤดูน้ำหลากมักเกิดน้ำท่วมขัง จีงยังไม่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ) ราวปี พ.ศ.2260 กรุงศรีอยุธยาได้ติดต่อทำการค้ากับประเทศสเปน ในช่วงนี้มีการนำเอาต้นลั่นทมเข้ามามากที่สุดจากฟิลิปปินส์ โดยทหารสเปนที่เข้ามายึดฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมนำลั่นทมจากประเทศแถบละตินอเมริกาเข้ามายังภูมิภาคนี้



สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาพบหลักฐานทางวรรณคดีที่เอ่ยถึงลั่นทม เรื่องบุณโณวาทคำฉันท์ของพระมหานาค วัดท่าทราย แต่งในราวปี พ.ศ.2293 – 2301 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปรากฏตอนพรรณนาถึงลานพระพุทธบาท สระบุรี ดังนี้

ลั่นทม ระดมดาษ
ดุจราชประพัตรา
แก้วกรรณิกากา-
รเกษกลิ่นกำจรลม



ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเริ่มปรากฏหลักฐานเด่นชัดเกี่ยวกับลั่นทมมากขึ้น โดยพบจากงานเขียนในวรรณคดีหลายเรื่อง
เช่น
เดินพลางทางชมพรรณไม้
พฤกษาใหญ่เรียบเรียงรื่นร่ม
ริมทางหว่างเขาล้วนลั่นทม
ต้องลมดอกดวงร่วงเรี่ยทาง
อิเหนา…พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2

และ
ศาลา มีทั้งระฆังห้อย
เขาตีบ่อยไปยังค่ำไม่ขาดเสียง
ดงลั่นทมร่มรอบคิรีเรียง
มีกุฎิ์เคียงอยู่บนเขาเป็นหลั่นกัน”
นิราศพระบาทของสุนทรภู่



ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชวังที่จังหวัดเพชรบุรี ชื่อพระนครคีรี หรือเขาวัง โดยนำเอาลั่นทมสีขาว (Plumeria obtuse L.) มาปลูกเรียงรายขึ้นไป แลเห็นเป็นเสมือนภูเขาลั่นทม
เช่นเดียวกันกับพระราชฐานฤดูร้อนที่เกาะสีชัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และพระราชทานนามว่า “จุฑาธุชราชฐาน” ครั้งนั้นมีการปลูกต้นลั่นทมเป็นจำนวนมากที่เกาะสีชังจนกลายเป็นสัญลักษณ์ ของเกาะนี้ในเวลาต่อมา
ส่วนลั่นทมชนิดดอกแดง (Plumeria ruba L.) นั้น พระยาอัชราชทรงสิริเป็นผู้นำมาจากปีนัง และนำมาปลูกที่จังหวัดภูเก็ตคราวพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ ประพาสปีนัง (พ.ศ. 2467) ตั้งแต่นั้นมาจึงเริ่มเห็นดอกลั่นทมสีต่างๆ มากขึ้น



ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียมีการเรียกชื่อพื้นเมืองของลั่นทมแตกต่างกันไป
เขมร เรียกว่า จำไป และ จำปาซอ
มาเลเซียจะเรียกว่า กำโพชา จำปากะ
อินโดนีเซียเรียกว่า กำโพชา
อินเดียเรียกว่า พหูล แคร์จำปา ซอนจำปา จินจำปา
พม่าเรียกว่า ต่ายกสะกา

ในเมืองไทยเรียกดอกลั่นทมแตกต่างกันตามพื้นที่ดังนี้
ทางพายัพ เรียก จำปาลาว
อีสานเรียก จำปาขาว
ปักษ์ใต้เรียก จำปาขอม
ภาคกลางเรียก ลั่นทม

ส่วนความหมายของชื่อมีแตกต่างกันไปดังนี้
ลั่นทม แปลว่า ดอกไม้ใหญ่ ลั่น แปลว่าใหญ่ หรือดัง ทม แปลว่าดอกไม้
ลั่นทม แปลว่า ละทิ้งจากความโศกเศร้า ลั่นแปลว่าทิ้ง ทม แปลว่าระทม
ลั่นทม แปลว่า รักอันยิ่งใหญ่ เพี้ยนมาจากคำว่า สรัลทม (ภาษาเขมร)

ลั่นทม เพี้ยนมาจากคำว่าลานธม ในอดีตของชาวขอมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นครธม ชาวขอมจะไปยังลานหินแล้วนำเอาดอกไม้ชนิดนี้ไปวางที่ “ลานธม” จีงเพี้ยนกลายเป็นดอกลั่นทม

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.yensaby.com


ดอกลั่นทมสำหรับชาวลาวแล้ว เรียกว่าดอกจำปา

เพลง ลาวม่านแก้ว ในละครเรื่องแต่ปางก่อน
ผู้แต่ง คือ คุณนก ฉัตรชัย ดุริยประณีต - หนึ่งในสมาชิกวงเฉลียง

ล่องลอยเอย จากวิมาน ข้ามสีทันดร
ตระการ สู่แคว้นแดนไทย

กลิ่นจอมขวัญปักใจพี่มั่น พึ่งหมาย
กี่ชาติกี่ภพไม่มีคลอนคลาย

รักเจ้าไม่หน่ายไม่คลายจากกัน
แจ่มจันทร์ขวัญฟ้า ขอเทพเทวาเป็นพยาน

วันดีศรีสุข สองเราสมัครสมาน
พี่ขอรักนงคราญจวบจนรักนั้น นิรันดร์กาลเอย

ดอกเอยเจ้าดอกจำปาลาว ตัวพี่รักเจ้าเท่าท้องนภาเอย



ลั่นทมในสมัยก่อนมีปลูกเฉพาะที่วัด และตามวังเจ้านายต่าง ๆ ไม่นิยมปลูกตามบ้านเรือนเพราะเชื่อว่าไม่เป็นมงคลของบ้านอันเนื่องมาจากชื่อลั่นทม ( เพราะไม่ได้ศึกษาคำแปลกัน) ภายหลังสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประทานนามใหม่ว่า ลีลาวดี ซึ่งในปัจจุบัน มีหลากสีหลายพันธุ์อันตระการตา แต่ไม่มีเสน่ห์เย้ายวนใจเท่าลั่นทมพันธู์เป็นพวงสีขาว อันกล่าวว่าคือจำปาลาว


ดอกจำปาไทย

ดอกจำปา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยกย่องดอกจำปา ว่า เป็นพระยาแห่งดอกไม้ นิยมใช้ห้อยหูทั้งสองข้าง ตัวละครสมัยโบราณก็นิยม ในปัจจุบันตัวพระตัวนาง ห้อยดอกจำปาปลอม เป็นที่สังเกตุว่า ตัวนางจะห้อยหูข้างซ้าย ตัวพระห้อยดอกจำปา ด้านขวา

มีบทมโหรีสมัยอยุธยา กล่าวไว้ดังนี้
เจ้าเอยจำปา
เรียกว่าพระยาดอกไม้
หอมฟุ้งจรุงใจ
พี่เก็บมาให้เจ้าเอย ฯ

เจ้าเอยจำปา
รักแก้วข้าแซมมวยผม
ครั้นพี่ชี้ชม
นวลเจ้าก็ชักมายื่นให้

ลมชวยรวยประทิ่น
กลิ่นช่างฟุ้งจรุงใจ
จูบแก้มแกมดอกไม้
ระรื่นชื่นใจพี่เอย ฯ



บางที่ก็เปรียบผิวสาวว่างามเหมือนสีดอกจำปา

พิศผิวพรรณอันแผ้วผ่อง
จำปาทองเทียบเปรียบปาน
หน้าเจ้าดังดอกบัวบาน
ยอดสงสารของเรียมเอย ฯ

ดอกจำปาเห็นจะเป็นเครื่องหมายแห่งความรักมาแต่โบราณ มีเรื่องในพงศาวดาร ท้าวศรีสุดาจันทร์....



สมกับที่ดอกจำปาได้รับการยกย่องในครั้งกระโน้นว่า เป็นพระยาแห่งดอกไม้

ทางราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา ถือว่าดอกจำปาเป็นไม้มงคลสำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง มีหลักฐานปรากฏในจดหมายเหตุคณะทูตลังกา เข้ามาเฝ้า สมเด็จพระบรมโกศ เมื่อ พ.ศ. 2294

ในสมัยก่อน คนไทยก็นิยมใช้ดอกจำปาในงานมงคลสมรสกันมาก แต่ต่อมาภายหลังจะมีใครนึกรังเกียจ ชื่อดอกจำปาขึ้นมา จึงหันไปใช้ดอกจำปีแทน เห็นจะเป็นเพราะมีเสียง ว่า ปา ฟังกระเดียดไปทางจะปาทิ้งหรือขว้างปา ฟังไม่เป็นมงคล
ดอกจำปานอกจากมีกลิ่นหอมแล้ว ยังใช้รักษาโรคเรื้อนและหิด ฝี ต่างๆ ดอกและเมล็ดแก้ไข้ แก้โรคธาตุเสีย ฯลฯ



เนื้อเพลงแต่ปางก่อน เพลงดั้งเดิมซึ่งเคยเป็นเพลงที่นิยมใช้เป็นเพลงร้องคู่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์
เพลง แต่ปางก่อน
ช. รอคอยเธอมาแสนนาน ทรมานวิญญาณหนักหนา
ระทมอยู่ในอุรา แก้วกานดาฉันปองเธอผู้เดียว

ญ. เธอเอยแม้เราจากกันแสนไกล ชายใดดวงใจฉันไม่แลเหลียว
รักเธอแน่ใจจริงเจียว รักเธอ รักเดียวนิรันดร์

**ช. แม้มีอุปสรรคขวากหนาม
ญ. ขอตามมิยอมพลัดพรากจากกัน
ช. จะชาติไหน ไหน ไม่ยอมห่างไกลกัน
ญ. ดวงจิตผูกพัน รักมั่นมีไว้เพียงเธอ

(พร้อม) คงเป็นรอยบุญมาหนุนนำ รอยกรรม รอยเกวียนหมุนเปลี่ยนเสมอ
ให้เราได้มาเจอะเจอ ฉันและเธอพบกันร่วมสุขสมดังรอคอย

พลอยโพยมขอรำลึกถึง แม่หญิงลาวคนหนึ่ง......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น