เจิ้งเหอ วัดซำปอกง เมืองแป๊ะลี้
สมเด็จพระจักรพรรดิหมิงเฉิ่งจู่ หรือ จักรพรรดิหย่งเล่อ กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์หมิง ทรงครองราชย์ ในปี พ.ศ.1945- 1967
ในรัชสมัยหย่งเล่อที่ 1 โปรดให้ต่อเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ซึ่งเรือสำเภาขนาดใหญ่ เรียกว่า "เป่าฉวน" แปลว่า "เรือมหาสมบัติ" ต่อขึ้นที่เมืองนานกิง อดีตเมืองหลวงอันเก่าแก่ของจีนเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของ "อู่ต่อเรือ "
เรือมหาสมบัติ เป็นเรือลำใหญ่ที่สุดยาวประมาณ 400 ฟุต(มีบางเอกสาร ระบุว่า 600 ฟุุต ก็มี) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเรือ ซานตา มาเรีย ของโคลัมบัส ที่มีขนาดเพียง 85 ฟุต ถึง 5 เท่า ในขบวนเรือ มีเรือสำเภาขนาดใหญ่ 60 มีเรือเล็ก อีกกว่า 200 ลำ นับว่าเป็นขบวนเรือที่มโหฬารโปรดให้เจิ้งเหอ มหาขันทีคู่พระทัยเป็นผู้บัญชาการเรือ (เจิ้งเหอเป็นผู้ฉลาดหลักแหลม ทั้งฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋น จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย) มีทหารเรือ ผู้ติดตามและลูกเรือทั้งสิ้นกว่า 27,000 คน ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายอาชีพ เพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรี กับประเทศต่างๆ ในทะเลจีนใต้ การเดินทางของเจิ้งเหอ เป็นภาระกิจระดับชาติ มีเป้าหมายในการเดินทาง ตามที่มีผู้ค้นคว้าสรุปกันไว้ดังนี้
1. เพื่อการค้นหาร่องรอยของอดีตจักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ ก็เพื่อสร้างความมั่นใจและมั่นคงแก่ราชบัลลังก์ของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (หย่งเล่อ)
2. ประโยชน์ทางการเมือง การเดินทางของเจิ้งเหอมีภารกิจในการผลักดันให้เกิดความสงบมั่นคงในดินแดนรอบข้างทางตอนใต้ ทั้งนี้ก็เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันจากภัยคุกคามทางภาคเหนือ (มองโกล) ให้กับราชสำนักจีน (เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนในเขตเอเชียอาคเนย์กำลังเกิดความตึงเครียดอันเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชวา สยาม (อยุธยา+ ละโว้) และมะละกา)
3. ประโยชน์ทางการทูต เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ไปยังเขตแคว้นต่างๆ สร้างกระแสภาพลักษณ์แห่งความเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งให้กับจีน
4. บุกเบิกกิจการค้าทางทะเล ที่ให้ผลกำไรอย่างงดงาม โดยสินค้าที่นำไปค้าขายแลกเปลี่ยน ได้แก่ แพรไหม ผ้าปักอันงดงาม เครื่องเคลือบกังไส ใบชา เครื่องทอง สำริด และน้ำมันพืชสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น นับว่าเป็นเส้นทางสายไหมทางทะเลในยุคราชวงศ์หมิง
การเดินทางของเจิ้งเหอ เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1405 (พ.ศ. 1948) ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราชแห่งราชวงศ์อู่ทองปกครองกรุงศรีอยุธยา
เจิ้งเหอใช้เวลาในเดินทางทะเลในระยะเวลา 28 ปี กองเรือของเจิ้งเหอออกสำรวจทางทะเลรวม 7 ครั้ง เดินทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร ท่องไปยังดินแดนต่าง ๆ มากกว่า 37 ประเทศ
การเดินทะเลในครั้งแรกมีเรือขนาดใหญ่ตามไปด้วย 60 ลำ เรือขนาดเล็ก 255 ลำ มีลูกเรือทั้งหมด 27,870 คน แล่นเลียบชายฝั่งฟุเกี้ยน ผ่านไปยังอาณาจักรจามปา ชวา มะละกา สมุทรา (เซมูเดรา) และแลมบรีทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา จากนั้นเดินทางต่อไปยังเกาะลังกา กาลิกัต ขากลับได้นำคณะทูตจากเมืองเหล่านี้มาเข้าเฝ้าฯ จักรพรรดิหย่งเล่อ
ในการเดินเรือแต่ละครั้ง ขากลับเจิ้งเหอจะนำเครื่องบรรณาการจากเมืองต่าง ๆ มาถวายจักรพรรดิหย่งเล่อ โดยเฉพาะสัตว์จากหลาย ๆ เมืองที่ผ่าน อย่างเช่นขากลับจากการเดินเรือทางทะเลในครั้งที่ 5 เจิ้งเหอได้นำสิงโต เสือดาว นกกระจอกเทศ ม้าลาย และยีราฟ (โดยบอกว่าเป็น กิเลน) กลับไปถวายแด่จักรพรรดิหย่งเล่อ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบมาก และกลายเป็นของแปลกและน่าตื่นเต้นสำหรับชาวจีนที่พบเห็นเป็นครั้งแรก
การเดินทาง 4 ครั้งของเจิ้งงเหอ มีดังนี้
ครั้งที่ 1 พ.ศ. 1948-1950
ครั้งที่ 2 พ.ศ. 1950-1952 อายุ 36 ปี
ครั้งที่ 3 พ.ศ. 1953-1954 อายุ 38 ปี
ครั้งที่ 4 พ.ศ. 1956-1958 อายุ 42 ปี
ครั้งที่ 5 พ.ศ. 1960-1962 อายุ 46 ปี
ครั้งที่ 6 พ.ศ. 1964-1965 อายุ 50 ปี
ครั้งที่ 7 พ.ศ. 1975-1976 อายุ 60 ปี โดยครั้งสุดท้ายมีจำนวนลูกเรือ 27,550 คน เดินทางไปไกลถึงทวีปแอฟริกา
เจิ้งเหอและกรุงศรีอยุธยา
เจิ้งเหอเข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราช หรือ สมเด็จพระราม หรือ สมเด็จพระยาราม ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราเมศวร ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 5 พระองค์ได้ทรงส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ. 1940 และก็ได้ส่งทูตแลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีอยู่เสมอในระยะต่อ ๆ มา พระองค์ไม่ไว้วางพระทัยเจ้านครอินทร์ พระราชนัดดาในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ซึ่งทางพระเจ้ากรุงจีนให้ความสนิทสนม อีกทั้งยังยกย่องว่าเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง
เจิ้งเหอเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา รวม 4 ครั้ง ครั้งแรก และครั้งที่สอง ในรัชสมัย พระรามราชาธิราช ครั้งที่สามและครั้งที่สี่ ในรัชสมัย สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์)
ก่อนออกเดินทางทางทะเลทุกครั้งเจิ้งเหอ จะทำการบวงสรวง เทพยดาฟ้าดินและองค์เจ้าแม่มาจู่ หรือเจ้าแม่ทับทิม เมื่อเดินทางไปถึงเมืองใด เจิ้งเหอจะสร้างสถานที่เพื่อเคารพสักการะบูชาเจ้าแม่มาจู่ด้วย พร้อมกับให้ปฎิสังขรณ์วัดวาอารามของศาสนาต่าง ๆ ตามเมืองที่ไปยือนด้วย
จากจดหมายเหตุราชวงศ์หมิง ชื่อ หมิงสือจู่ หรือเจ้าแม่ทับทิม ได้บันทึกไว้ว่า ราชทูต เสียนเหลอ (สยาม) ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักจีนหลายครั้ง ชื่อราชทูตที่น่าสนใจ คือ ไน่อูน ไน่เจียจีหลิง ไน่เหวินอีหลอ ไน่ชานตั้วใหม่ ไน่ปี่หลิน ไน่ยิงเจ้อเผ่งชา เป็นต้น คำว่าไน่ หมายถึงนาย ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ชั้นสูงในสมัยนั้น เช่นนายเสถียรรักษานา 600 นายศรีภักดินา 500 เป็นต้น ดังนั้นคำว่านาย จึงเป็นคำที่กำหนดใช้กับขุนนางชั้นสูง เช่นเดียวกับคำว่า ขุน หลวง พระ พระยา ฯลฯ นั่นเอง ในปัจจุบันยังคงเหลืออยู่ คือนายหลวง ซึ่งเพี้ยนเป็นในหลวง
ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อวัดพนัญเชิง
เมื่อเจิ้งเหอเป็นราชทูตเข้ามายังสยามหรือกรุงศรีอยุธยา ถึง 4 ครั้ง ทางราชสำนักสยาม อาจเรียกเจิ้งเหอว่านายเชิง เดิมใช้คำว่า เชิงโห(Cheng Ho) ปัจจุบันใช้เจิ้งเหอ ( Zheng He ) เมื่อนายเชิงเห็นสภาพองค์พระพนัญเชิงชำรุดทรุดโทรม เพราะสร้างด้วยอิฐถือปูนมานานแล้วถึง 81 ปี (พ ศ. 1867-1948) รวมทั้งองค์พระมีขนาดใหญ่มากตลอดจนเสนาสนะของวัดย่อมเป็นไปตามกาล
เจิ้งเหอจึงให้ช่างจีนที่มากับเรือช่วยกันบูรณะปฎิสังขรณ์ ช่างจีนรวมทั้งทหารจีนตลอดจนพ่อค้าจีนต่างให้ความเคารพองค์พระเจ้าพนัญเชิง และเรียกองค์พระท่านว่า ปนเถ่ากง หรือองค์พระภูมิเจ้าที่ ผู้ปกปักรักษาบริเวณบ้าน ร้านรวงของตน แต่นั้นเป็นต้นมา ในขณะเดียวกันคนไทยต่างเรียกขานกันว่า วัดนายเชิง ต่อมาคำว่าวัดนายเชิงเพี้ยนเป็นวัดพระนายเชิง วัดพระนางเชิง วัดเจ้าพระนางเชิง วัดพแนงเชิญ วัดพนัญเชิญ ในที่สุด
ส่วนคำว่า ซำปอกง มาจากคำว่า ชานเปากง (San Bao Gong) ซึ่งเป็นคำเรียกตามแบบเฉพาะตนของเจิ้งเหอ เช่นเดียวกับข้อมูล ภูมิสถานอยุธยา กล่าวว่าวัดนี้เป็นวัดของพระเจ้า สามโปเตียน ซึ่งมาจากคำว่า ชานเปาเตียน ชานเป่าไท่เชียน (San Bao Tai Chieng ) ซึ่งเป็นนามของมหาขันที เจิ้งเหอ นั่นเอง
ข้อสันนิษฐานชื่อวัดพนัญเชิงอีกประการคือ สันนิษฐานว่า เป็นการขานนามตามลักษณะท่านั่งของพระพุทธรูปที่นั่งขัดสมาธิ แต่ เรียกเป็นท่านั่งพับพะแนงเชิง เป็นพะแนงเชิง พนัญเชิง
การบูรณะสังขรณ์วัดพนัญเชิงของเจิ้งเหอ คงบูรณะทั้งองค์พระทั้งองค์ พร้อมเสนาสนะและวิหารภายในวัด ทำให้สามารถดำรงอยู่ มาอีก 70 ปี จนถึงรัชสมัยสมเด็จะระนเรศวรมหาราช ทรงโปรดให้มีการบูรณะครั้งใหญ่อีก
ในปี ศักราชหย่งเล่อที่สาม (พ.ศ. 1950 ) เจิ้งเหอ ได้บัญชาขบวนเรือ 300 ลำ ไปเจริญสัมพันธไมตรี ที่เอเชียอาคเณย์และตะวันออกกลาง ขบวนเรือของเจิ้งเหอ เจอพายุใหญ่ ทหารเรือและลูกเรือขอให้เจ้าแม่ทับทิม (มาจู่ ) ช่วย ทันใดนั้ก็เกิดแสงสว่างขึ้นที่เสากระโดงเรือ คลื่นลมสงบทันที เมื่อขบวนเรือกลับถึงเมืองจีน จึงกราบทูลจักรพรรดิ์หมิงจูตี้ ทรงโปรดเกล้าเจ้าแม่มาจู่ เป็นสมเด็จพระราชชนนีผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งสวรรค์
ที่มาของข้อมูล สมบูรณ์ แก่นตะเคียน และวิกิพีเดีย
วัดซำปอกงในประเทศไทย มี 3 แห่ง แต่ละแห่งจะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ที่ วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือ "วัดกัลยา" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้
และ วัดอุภัยภาติการาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
สาเหตุที่ชาวจีนมาเซ่นไหว้วิญญาณซำปอกงที่วัดกัลยาณมิตรเป็นเพราะความเข้าใจผิด กล่าวคือ ชาวจีนผู้นับถือพุทธศาสนากลุ่มหนึ่งได้นมัสการหลวงพ่อโตที่วัดกัลยาณมิตร แล้วเกิดความเลื่อมใส จึงได้เขียนหนังสือจีนไว้ที่หน้าวิหารว่า 'ซำปอฮุดกง' ซึ่งแปลว่าพระเจ้า 3 พระองค์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ชาวจีนกลุ่มที่นับถือซำปอกง อ่านเห็นเป็น 'ซำปอกง' จึงคิดว่าเป็นสถานที่เซ่นไหว้วิญญาณของซำปอกง และได้มาเซ่นไหว้ซำปอกงเรื่อยมา
และจากบันทึกที่มีคำเรียกสถานที่แห่งหนึ่งว่าเมืองแป๊ะลี้ของคนจีนในราชวงศ์หมิง
ที่ฉะเชิงเทรา ที่วัดอุภัยภาติการามหรือวัดซำปอกง เดิมเป็นวัดจีน แต่ปัจจุบันแปรสภาพเป็นวัดญวนในอนัมนิกาย ในลัทธิมหายาน วัดมีลักษณะเหมือนศาลเจ้า ภายในวัดมีวิหารลักษณะเหมือนศาลเจ้า เข้าไปจะพบพระสังกัจกายน์ อยู่ที่หน้าประตู มองเข้าไปจะเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่คือ หลวงพ่อโต (พระไตรรัตนนายก) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า "เจ้าพ่อซำปอกง"
ปี พ.ศ.. 1967 จักรพรรดิหย่งเล่อสิ้นพระชนม์
ในปี พ.ศ. 1975 เป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเจิ้งเหอและกองเรืออันยิ่งใหญ่ ก่อนการเดินทางครั้งสุดท้ายนี้ และไปไกลถึงแอฟริกา ขบวนเรือของเจิ้งเหอได้แวะพักที่เมืองฝูเจี้ยน ทำพิธีจัดตั้งป้ายศิลาจารึกเพื่อบูชาเจ้าแม่เทียนเฟย(เจ้าแม่ทับทิม)( มาจู่) อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวเรือทั้งหลาย โดยป้ายศิลาจารึกดังกล่าว ได้จารึกเรื่องราวการเดินทางก่อนหน้านั้นเอาไว้ และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานชิ้นสำคัญในการเดินทางของเจิ้งเหอที่หลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน
บนเชิงเขาหนิวโซ่วซานนอกเมืองหนันจิง มีสุสานของเจิ้งเหอ ที่ทายาทรุ่นต่อมาเฝ้าดูแลรักษา ได้เคยมีการขุดค้นหลุมศพแห่งนี้ในช่วงปี 1960 -1970 แต่พบว่าภายในว่างเปล่า โดยครอบครัวของเจิ้งเหอเชื่อว่า เจิ้งเหอเสียชีวิตระหว่างการเดินทางที่เมืองคาลิคัทในอินเดีย สิริรวมอายุ 62 ปี ร่างของเจิ้งเหอได้ถูกปล่อยลงสู่ท้องมหาสมุทรตามวิถีของชาวเรือ และนำปอยผมและเสื้อผ้ากลับมา บ้างว่าร่างของเจิ้งเหอได้รับการกลบฝังไว้ที่เมืองคาลิคัท ขณะที่ ในบันทึกประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ ระบุว่า เจิ้งเหอได้กลับมาพร้อมขบวนเรือ และเสียชีวิตที่หนันจิงในอีกสองปีต่อมา
เจิ้งเหอทำฮัจญ์และมีสุสานแบบมุสลิมแสดงว่าเจิ้งเหอเป็นมุสลิมจนถึงแก่กรรม แม้ว่าเจิ้งเหอจะไม่มีลูก เพราะถูกตอนเป็นขันทีตั้งแต่เด็ก หากแต่พี่ชายได้ยกลูกชายหญิงให้กับเจิ้งเหอ ทายาทของเจิ้งเหอบางส่วนอาศัยอยู่ในประเทศไทย ใช้นามสกุล วงศ์ลือเกียรติ อันเป็นนามสกุลที่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าเชียงใหม่ ได้ประทานให้ เจิ้งชงหลิ่ง ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ" จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เจิ้งชงหลิ่งอพยพเข้าเมืองไทยในปี 2448 คนในตระกูลวงศ์ลือเกียรติเป็นมุสลิม
หากว่าเมืองแป๊ะลี่้ หรือเมืองร้อยริ้ว ในสยาม ที่ปรากฎเป็นนามในจดหมายเหตุของราชวงศ์หมิง คือ แปดริ้ว หรือ ฉะเชิงเทรา โดยข้อสันนิษฐานจากระยะทางจากปากอ่าวทะเล ไปบริเวณศาลซำปอกงที่ ปัจจุบันคือวัดอุภัยภาติการาม เป็นระยะทางประมาณ ร้อยลี้ ในมาตราวัดของจีน แล้วกาลต่อมาคำว่า แป๊ะลี้เพี้ยนเสียงมาเป็นแปดริ้ว ก็เป็นประเด็นที่น่าศึกษาค้นคว้าต่อไป
ประเด็นของวัดกัลยาณมิตร ที่เป็นหลวงพ่อโตนั้นน่าจะมาจาก เจ้าสัวโต แซ่อึ๊ง หรือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์
ตอบลบhttps://www.facebook.com/EmperorOfInternet/photos/a.432326813490385/2193994290656953/?type=1&theater
ผู้สร้างวัดดังกล่าวมากกว่าครับ ซึ่งหลังๆมักไม่รู้กันจึงพอเรียกหลวงพ่อโตๆเข้าจึงไปโยงกับ หลวงพ่อโตวัดพนัญ