ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammajak.net
เมื่อกล่าวถึงพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้วหากไม่กล่าวถึงบุคคลสำคัญที่ทำให้พระองค์หันมาเลื่อมใสในพระพุทธองค์ก็คงไม่ได้ ผู้ที่ทำให้พระองค์กลายมาเป็นพุทธมามกะคือพระนางมัลลิกาพระอัครมเหสี
ซึ่งในพระพุทธศาสนามีพระนามของสาวิกาว่า มัลลิกา อยู่ ๒ พระองค์ คือ
พระนางมัลลิกาแห่งนครสาวัตถี และ
พระนางมัลลิกาแห่งนครกุสินารา
ซึ่งพระนางมัลลิกาแห่งนครกุสินาราทรงเป็นพระธิดาของมัลละกษัตริย์องค์หนึ่ง ในเมืองกุสินารา ภายหลังได้สมรสกับพันธุละเสนาบดี โอรสของมัลลกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งในเมืองกุสินาราเช่นกัน ซึ่งเป็นพระสหายกับพระ ปเสนทิกุมาร ครั้งยังศึกษาที่สำนักตักศิลา
ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า ปเสนทิกุมาร มีพระสหาย ๒ พระองค์ ที่เป็นศิษย์ร่วมรุ่นกัน คือ เจ้าชายมหาลิจากกรุงเวสาลี แคว้นวัชชี และเจ้าชายพันธุละจากกรุงกุสินาราหนึ่งในเมืองหลวงของแคว้นมัลละ ภายหลังเจ้าชายพันธุละได้มาอยู่กรุงสาวัตถีเป็นเสนาบดีบัญชาการกองทัพของกรุงสาวัตถี
อันเรื่องราวของทั้งสองพระนางมัลลิกาเป็นเรื่องราวที่เราชาวพุทธควรได้ศึกษาเป็นแบบอย่าง
พระนางมัลลิกาแห่งกรุงสาวัตถี ผู้เป็นพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าปเสนทิโกศล
พระนางมัลลิกา ทรงเป็นธิดาของนายมาลาการ (ช่างทำดอกไม้) นางมีหน้าที่ออกไปเก็บดอกไม้ในสวนเพื่อนำมาให้บิดาทำพวงมาลัยทุกวันหรือไม่ก็จัดดอกไปให้เป็นระเบียบเพื่อไว้ขายเป็นประจำ นอกจากนี้นางยังได้ถวายดอกไม้และได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้าจนได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่อายุยังน้อย
จากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ 420
อรรถกถากุมมาสปิฑชาดกที่ ๑๐
พระนางมัลลิกาเทวี เป็นธิดาของหัวหน้านายมาลาการคนหนึ่ง ในนครสาวัตถี มีรูปโฉมเลอเลิศ มีปัญญามาก เมื่ออายุ ๑๖ ปี วันหนึ่ง กำลังไปสวนดอกไม้พร้อมกับหญิงสาวทั้งหลาย หยิบเอาขนมกุมมาส ๓ ก้อน วางไว้ในกระเช้าดอกไม้เดินไป. เวลาออกไปจากพระนคร นางเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งรัศมีแห่งพระสรีระ มีพระภิกษุสงฆ์ห้อมล้อม กำลังเสด็จเข้า พระนคร จึงน้อมก้อนขนมกุมมาสเหล่านั้นเข้าไปถวาย.
พระศาสดาทรงยื่นบาตรที่ท้าวจาตุมมหาราชถวายออกรับ. นางวันทาพระบาทของพระตถาคตด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้ยึดเอาปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ยืนอยู่ ที่สมควรข้างหนึ่ง. พระศาสดาเมื่อทรงทอดพระเนตรนาง ได้ทรงการทำการแย้มให้ปรากฏ.
ท่านพระอานนทเถระจึงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ในการแย้มสรวลของพระตถาคตเจ้า ?"
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถึงเหตุแห่งการทรงแย้มแก่พระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ กุมาริกาคนนี้จักได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าโกศลในวันนี้ทีเดียว เพราะผลแก่การถวายก้อนขนมกุมมาสเหล่านี้. "
ฝ่าย นางกุมาริกาไปสวนดอกไม้แล้ว. วันนั้นเอง พระเจ้าโกศล ทรงรบกับพระเจ้าอชาตศัตรู ทรงปราชัยในการรบแล้ว เมื่อทรงล่าถอยได้ทรงม้าต้นเสด็จมา ทรงสดับเสียงเพลงขับของนาง ทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์จึงทรงควบม้าต้นมุ่งหน้าสู่สวนนั้น. กุมาริกาผู้ถึงพร้อมด้วยบุญ เห็น พระราชาแล้วไม่หนีเลย มาจับเชือกบังเหียนม้าทรงไว้. พระราชา ประทับนั่งบนหลังม้าทรงนั่งเอง ตรัสถามว่า เธอมีสามีหรือยัง ? เมื่อทรงทราบว่ายังไม่มีสามี จึงได้เสด็จลงจากหลังม้าต้น ทรงอิดโรยเพราะลมและแดด ทรงบรรทมม่อยหลับไปงีบหนึ่งบนตักของนาง แล้วให้นางนั่งบนหลังม้าทรง มีพลนิกายแวดล้อมเสด็จเข้าพระนคร ทรงส่งนางไปยังเรือนของผู้มีตระกูลของตน เวลาเย็น ทรงส่งยานไปให้นำเอานางมาจากเรือนของผู้มีสกุล ด้วยสักการะสัมมานะมากให้นั่งใกล้กองรัตนะ ทรงทำการอภิเษกแล้ว ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นอัครมเหสี.
จำเดิมแต่นั้นมา พระนางทรงเป็นที่โปรดปราน เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระราชา ทรงเป็นเทพดาของผัวผู้ประกอบด้วยกัลยาณธรรม ๕ ประการ มีการตื่นก่อนเป็นต้น ได้ทรงเป็นผู้ใกล้ชิดแม้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. การที่พระนางทรงถวายขนมกุมมาส ๓ ก้อน แต่พระศาสดา แล้วได้ทั้งประสบสมบัตินั้น ได้ระบือไปทั่วพระนคร. ภายหลังอยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายพากันตั้งข้อสนทนากันขึ้นที่ธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโส พระนางมัลลิกาเทวี ทรงถวายขนม ๓ ก้อนแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยผลของการถวายขนม เหล่านั้น ทรงได้รับอภิเษกในวันนั้นเอง
(ขอขอบคูณข้อมูลจากhttp://www.dhammahome.com)
ขอขอบคุณภาพจากboard.postjung.com
พระนางมัลลิกาเป็นสตรีที่มีความเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีทรงเป็นที่รักและชื่นชมของพระสวามีเป็นอย่างมากพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงแม้ว่าในระยะหลังนี้พระองค์จะหันมาสนใจในพระพุทธศาสนาก็ยังมีความเชื่อลัทธิดั้งเดิมบางอย่างอยู่ เช่น เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีบูชายัญ ครั้งหนึ่ง พระองค์รับสั่งให้ตระเตรียมพิธีบูชายิ่งใหญ่ มีการฆ่าสัตว์อย่างละ ๗๐๐ ตัว เซ่นสรวงด้วย
พระนางมัลลิกาทรงทัดทานมิให้พระองค์ทำบาป และได้แนะนำให้พระองค์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอรับคำแนะนำซึ่งพระองค์ก็ทรงทำตาม และยกเลิกพิธีบูชายัญ
อนึ่ง เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลแข่งกับชาวเมืองทำบุญกัน ประชาชนมักจะทำทานอันประณีตและมโหฬาร พระเจ้าปเสนทิโกศลจนพระทัยไม่รู้จะทำประการใด จึงจะทำให้ทานของพระองค์มโหฬารและแปลกใหม่กว่าประชาชน จึงขอรับคำแนะนำจากพระนางมัลลิกา ซึ่งพระนางมัลลิกาก็แนะนำให้พระองค์ทรงทำ “อสทิสทาน” (ทานที่ไม่มีใครเหมือน) และพระองค์ก็ทรงทำตาม นับว่าเป็นความเฉลียวฉลาดอันเกิดจากสติปัญญาของพระนางมัลลิกาอย่างแท้จริง พระนางมัลลิกาไม่มีพระราชโอรส เมื่อพระนางพระครรภ์แก่ จวนจะมีประสูติกาล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีความปรารถนา
ขอขอบคุณภาพจากm.dmc.tv
อยากได้พระราชโอรส ทรงตั้งความหวังไว้ในพระทัยไว้มาก แต่เมื่อพระนางมัลลิกาประสูติพระราชธิดา ทำให้พระองค์เสียพระทัยมาก จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อปรับทุกข์พระพุทธเจ้าตรัสปลอบพระทัยว่า ธิดาหรือโอรสไม่สำคัญ เพศมิใช่เป็นเครื่องแบ่งหรือบอกความแตกต่างในด้านความรู้ความสามารถ สตรีที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ประพฤติธรรม และเป็นมารดาของบุคคลสำคัญ ย่อมประเสริฐกว่าบุรุษ ด้วยพระดำรัสนี้ ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง
นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ.
ความรักอื่นใด เสมอด้วยรักตนไม่มีฯ
ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามพระนางมัลลิกาว่า พระนางรักพระองค์ไหม รักมากเพียงใด แต่พระนางมัลลิกากลับตอบว่า พระนางรักตนเองมากกว่าสิ่งใด
ด้วยคำตอบของพระนางทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงน้อยพระทัยด้วยทรงคิดว่าพระมเหสีไม่รักพระองค์เสมอเหมือนชีวิตของนาง เมื่อมีโอกาสเหมาะจึงกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงเรื่องดังกล่าว พระพุทธเจ้ากลับตรัสว่า
“มัลลิกาพูดถูกแล้วมหาบพิตร เพราะบรรดาความรักทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีความรักใดจะเท่ากับความรักตนเอง มัลลิกาพูดคำจริงตรงกับใจเธอ มหาบพิตรควรจะชื่นชมมเหสีที่ยึดมั่นในสัจจะ (ความจริง) เช่นนี้”
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ฟังพระดำรัสนี้แล้วจึงค่อยคลายความน้อยพระทัยลงได้
ขอขอบคุณภาพจาก palungjit.org
พระนางมัลลิกาเป็นพุทธสาวิกาผู้มั่นคงในธรรม และช่วยคนอื่นให้เข้าถึงธรรมด้วย ในฐานะพระมเหสีของพระราชา
พระนางเป็นพระสาวิกาพึ่งตัวเองได้ในทางธรรมและช่วยให้ผู้อื่นโดยเฉพาะพระสวามีพึ่งตัวเองได้ด้วย พระนางจึงทรงเป็นสตรีตัวอย่างที่ดีท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
“อสทิสทาน” (ทานที่ไม่มีใครทำได้เหมือน)
เรื่อง อสทิสทาน มีเนื้อความพิสดารใน มหาโควินทสูตร
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำมหาทานแข่งกับพวกประชาชน โดยได้นิมนต์พระพุทธองค์พร้อมเหล่าภิกษุทั้งหมดมาเพื่อจะถวายทาน ในวันที่สองพวกชาวกรุงถวาย พระราชาทรงถวายยิ่งกว่าทานของพวกชาวกรุงเหล่านั้นอีก พวกชาวกรุงก็ถวายยิ่งกว่าทานของพระองค์ เป็นดังนี้ ครั้นเมื่อล่วงไปหลายวันอย่างนั้น พระราชาทรงเกรงว่าจะแพ้พวกชาวกรุง เวลานั้นพระนางมัลลิกาเทวีผู้เป็นพระมเหสี ได้กราบทูลขอจัดอสทิสทานถวาย พระนางมัลลิกาเทวีได้ทรงกราบทูลให้พระราชาจัดทานดังนี้
ชอขอบคุณภาพจากm.dmc.tv
พระองค์จงรับสั่งให้เอากระดานไม้สาละชนิดดีมาสร้างมณฑป แล้วให้เอาดอกอุบลเขียวมามุง รับสั่งให้ปูที่นั่ง ๕๐๐ ที่ ทางด้านหลังที่นั่งยืนช้างไว้ ๕๐๐ เชือก ให้ช้างแต่ละเชือกถือเศวตฉัตร ๕๐๐ คัน ยืนกั้นอยู่เบื้องบนแห่งภิกษุแต่ละรูป ระหว่างที่นั่งแต่ละ คู่ ๆ ธิดากษัตริย์แต่ละนาง ๆ ตกแต่งด้วยเครื่องสำอางพร้อมสรรพ บดเครื่อง หอมที่เกิดจากไม้สี่ชนิด ธิดากษัตริย์นางอื่นก็ใส่เครื่องหอมที่บดเสด็จแล้ว ๆ ในเรือทองคำที่สำหรับใส่ของหอมในที่ตรงกลาง ธิดากษัตริย์อีกนางหนึ่งก็เอากำอุบลเขียวโบกกระพือเครื่องหอมนั้น ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุแต่ละรูป ๆ ก็มีธิดากษัตริย์สามนาง ๆ เป็นบริวาร ผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่แต่งเครื่องสำอางพร้อม สรรพถือใบตาลพัด นางอื่นเอาที่กรองน้ำ หญิงอื่นนำเอาน้ำจากบาตร สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า มีของสี่อย่างตีราคาไม่ได้ ของสี่อย่างที่ตีราคาไม่ได้เหล่า นี้คือ ที่เช็ดพระบาท ที่รองของ กระดานพิง มณีเชิงฉัตร ไทยธรรมสำหรับ ภิกษุใหม่ในสงฆ์มีค่าแสนหนึ่ง
เพราะเหล่าชาวเมืองย่อมหาเจ้าหญิงไม่ได้ ย่อมหาเศวตฉัตรไม่ได้ ย่อมหาช้างไม่ได้ ด้วยของเหล่านี้เป็นของที่มีเฉพาะกับพระราชาเท่านั้น ชาวเมืองก็จะต้องแพ้อย่างแน่นอน
พระราชาจึงรับสั่งให้จัดมหาทานตามวิธีที่พระนางกราบทูลแล้ว แต่ก็ปรากฏว่าช้างยังขาดไปเชือกหนึ่ง พระราชาตรัสบอกว่าพระนางมัลลิกา ที่จริง มีช้างพอ ๕๐๐ เชือก แต่ช้างที่เหลืออยู่เป็นช้างดุร้าย เมื่อเห็นภิกษุทั้งหลายเข้าก็จะพยศ
พระเทวีจึงทูลพระราชาว่า ให้จัดเอาช้างที่ดุร้ายนั้นยืนอยู่ข้างพระผู้เป็นเจ้าที่ชื่อว่าองคุลิมาล
พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษทำอย่างนั้น ก็ปรากฏว่าด้วยเดชของพระเถระ ช้างเชือกนั้น แม้สักว่าพ่นลมจมูก ก็ไม่กล้าทำ ช้างสอดหางเข้าในระหว่างขา ได้ปรบหูทั้งสอง หลับตายืนอยู่แล้ว
พระราชาทรง อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยอาหารอันประณีตแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งใดเป็น กัปปิยภัณฑ์หรือเป็นอกัปปิยภัณฑ์ ในโรงทานนี้ หม่อมฉันจักถวายสิ่งนั้น ทั้งหมดแด่พระองค์เท่านั้น”
ทานที่พระนางมัลลิกาจัดชื่อ อสทิสทาน
ขอขอบคุณภาพจากm.dmc.tv
ก็ในทานนั้นแล ทรัพย์มีประมาณ ๑๔ โกฏิ เป็นอันพระราชาทรง บริจาคโดยวันเดียวเท่านั้น ก็ของ ๔ อย่าง คือเศวตฉัตร ๑ บัลลังก์ สำหรับนั่ง ๑ เชิงบาตร ๑ ดั่งสำหรับเช็ดเท้า ๑ เป็นของหาค่ามิได้เทียว เพื่อพระศาสดา ใคร ๆ ผู้สามารถเพื่อทำทานเห็นปานนี้แล้ว ถวายทาน แด่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ได้มีแล้วอีก
เพราะเหตุนั้นนั่นแล ทานนั้นจึงเรียกว่า “อสทิสทาน” ได้ยินว่า อสทิสทานนั้น มีแด่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ครั้งเดียวเท่านั้น
ท่านกล่าวว่า อทิสทานนี้มีแก่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แต่พระองค์ละครั้งเท่านั้น สตรีย่อมเป็นผู้จัดแจงทานนี้ เพื่อพระศาสดาและภิกษุสงฆ์
ในวันที่ ๒ จากวันที่พระเจ้าปเสนทิโกศลถวายอสทิสทานแล้ว ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงฉลาดเลือกเนื้อนาบุญอันประเสริฐ ถวายมหาทานแด่อริยสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การเลือกถวายทานในเนื้อนาบุญอันสูงยิ่งของพระเจ้าโกศล ไม่น่าอัศจรรย์ บัณฑิตทั้งหลายในครั้งก่อนก็ได้เลือกเฟ้นแล้ว จึงได้ถวายมหาทานเหมือนกัน ดังนี้ แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ให้เล่าภิกษุฟัง(ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียด ณ ที่นี้)
พระนางมัลลิกาเทวีนั้นทรงสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุเพียงประมาณ๕๐ ปี ก่อนจะสิ้นพระชนม์จิตของพระนางหวนระลึกนึกถึงว่าครั้งหนึ่งเคยมีเรื่องที่พระนางเคยกล่าวเรื่องโกหกต่อพระราชสวามีซึ่งพระราชสวามีก็ทรงเชื่อ ในครั้งนั้นทรงนึกดูหมิ่นว่าพระราชสวามีว่าโง่เขลาเชื่อคำโกหกของพระนางเอง ดวงจิตของพระนางจึงเศร้าหมอง และสิ้นพระชนม์ในขณะดวงจิตสุดท้ายเศร้าหมอง แม้ว่าความดีของพระนางมีมาก พอจิตออกจากร่าง ทรงตกนรก ๗ วันมนุษย์
ในระหว่าง ๗ วันที่พระนางมัลลิกาเทวีสิ้นพระชนม์แล้ว เวลานั้นพระพุทธเจ้ายังทรงประทับอยู่ที่พระเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ตั้งใจจะไปกราลทูลถามพระองค์ว่า
"พระนางมัลลิกาเทวี พระมเหสีตายแล้วไปอยู่ที่ไหน"
เพราะพระนางมีจริยาดีเป็นเลิศ ตั้งใจปฏิบัติดีทุกอย่าง บุญบารมีก็สร้างหนักกว่าใครทั้งหมด การถวายอทิสทานไม่มีใครสามารถจะทำได้แต่พระนางก็ทำได้
พระพุทธองค์ ทรงทราบวาระจิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ถ้าตรัสตรง ๆ ว่า "เวลานี้พระนางมัลลิกาเทวีไปอยู่เมืองนรก "
ถ้าตรัสเพียงเท่านี้พระเจ้าปเสนทิโกศลจะไม่ยอมทำบุญอีกต่อไป จะไม่สร้างความดีต่อไปเพราะความดีที่พระองค์ทำนั้นไม่เท่ากับพระนางมัลลิกาเทวีทำความดีขนาดนี้ยังตกนรก ส่วนพระเจ้าปเสนทิโกศล นั้นสร้างกรรมที่เป็นอกุศลมาก
พระพุทธเองค์จึงได้ทรงยับยั้งกำลังใจของพระเจ้าปเสนทิโกศลเวลาเสด็จไปเฝ้าเพื่อจะถามเรื่องนี้ ก็ทรงบันดาลให้ลืมเรื่องนี้ถึง ๗ วัน
เมื่อถึงวันที่ ๘ พระนางมัลลิกาเทวีพ้นจากนรกไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีวิมานทิพย์เป็นที่อยู่มีความสุขมาก
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถาม จึงทรงตอบว่าพระนางมัลลิกาไปเกิดบนสวรรค์ขั้นดาวดึงส์และมีความสุขมาก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.dharma-gateway.com/buddha/chadok-08-13/chadok-080108.htm
https://sites.google.com/site/namtip9988/hnwy-thi-3-prawati-phuthth-sawk-sawika-laea-chadk/3-1
http://www.baanmaha.com/community/thread46087.html
http://www.luangporruesi.com/807.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น