วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

พรรณไม้น้ำ...จิกทะเล

จิกทะเล







จิกทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์: Barringtonia asiatica (L.) Kurz
ชื่อสาสัญอังกฤษ : Fish Poison Tree, Putat or Sea Poison Tree
ชื่อพื้นเมือง: จิกทะเล
ชื่ออื่น จิกเล, โดนเล (ใต้); อามง (มลายู-นราธิวาส)
วงศ์ LECYTHIDACEAE (BARRINGTONIACEAE)






จิกทะเลเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 8 - 15 เมตร
ลำต้น ตั้งตรง ไม้เนื้อแข็ง แตกกิ่งระดับต่ำ เรือนยอดแน่นทึบ เปลือกหยาบสีเทาเข้ม



ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนรอบกิ่ง หนาแน่นที่ปลายกิ่ง แผ่นใบรูปไข่กลับ ปลายใบกลม หรือแหลมกว้าง ฐานใบแหลม หรือรูปติ่งหูแผ่นใบนุ่มก้านใบอ้วนสั้น ผิวใบด้านบนสีเขียวเป็นมันวาว ใบเกลี้ยงทั้งหน้าและหลังใบ


ใบของจิกทะเลหนาเพื่อเก็บน้ำป้องกันการสูญเสียน้ำ



ดอก
ดอกแบบช่อกระจะที่ปลายกิ่ง ช่อดอกสั้น ตั้งตรง ดอกใหญ่ ใบประดับรูปไข่ไม่มีก้าน ก้านดอกย่อยยาว 4 - 5 เซนติเมตร หลอดกลีบเลี้ยงเปิดออกเป็นสองแฉก ขนาดไม่เท่ากัน ดอกตูมมีสีขาวคล้ายดอกยี่หุบ กลีบดอก 4 กลีบ สีขาวไม่ติดกันรูปรีโค้งออก เกสรเพศผู้จำนวนมาก เป็นพู่ยาวเห็นได้ชัดเจน สีขาว ปลายชมพู สีแดงและขาว เกสรเพศเมียรังไข่ใต้วงกลีบ ห้องในรังไข่ตั้งแต่ 1 ห้อง มีเม็ดไข่มาก ผสมเกสรด้วยผีเสื้อกลางคืนและค้างคาว


 ดอกของจิกทะเลมีกลิ่นหอมแรง บานตอนค่ำ โรยตอนเช้า



ผลจิกทะเล



ผลมีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-15 เซนติเมตร รูปปิระมิด - สี่เหลี่ยม เห็นเป็นเหลี่ยมชัดเจน ปลายมนป้าน เปลือกเป็นเส้นใย มีกากเหนียวหุ้มหนาทำให้ลอยน้ำได้ดีคล้ายผลมะพร้าว ผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่สีน้ำตาล ผลแก่ไม่แตก มี 1 เมล็ด
ออกดอก - ผลระหว่างเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน



ดอกจิกทะเล เมื่อเป็นดอกตูมสีขาวคล้ายดอกยี่หุบ เมื่อบานจะเห็นเกสรด้านในชัดเจน ผลเป็นเหลี่ยม คล้ายลูกดิ่ง ปลายแหลมเล็กน้อย



จิกทะเลเป็นสายพันธุ์ของ Barringtonia พื้นเมืองที่อยู่อาศัยป่าชายเลนบนชายฝั่งในเขตร้อนชื้นและหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกจากแซนซิบาร์ทางทิศตะวันออกไปยังไต้หวัน ฟิลิปปินส์, ฟิจิ, นิวแคลิโดเนีย, หมู่เกาะคุก, วาลลิสและฟุตูนาและเฟรนช์โปลินีเซีย มักปลูกตามถนนเพื่อการตกแต่งและร่มเงาในบางส่วนของอินเดีย
ในประเทศไทย
จิกทะเลพบได้ริมชายฝั่งทะเลที่เป็นดินทราย, โขดหิน หรือ ที่มีดินเลนและขึ้นได้ดีในที่มีดินเลนแข็ง



ประโยชน์
เปลือกต้มทำเป็นยาทาภายนอก แก้ปวดข้อ
รากฝนผสมกับน้ำมะนาว ใช้ปิดปากแผลที่ถูกงูกัด แก้พิษงู ผลชงน้ำดื่ม แก้ไอ แก้หืด แก้ท้องเสีย
เมล็ดทุบให้แตก ชงน้ำดื่มแก้จุกเสียด บีบให้น้ำมัน ใช้เป็นเชื้อไฟให้ความสว่าง
เปลือกของเมล็ด ทุบให้แตกตีกับน้ำใส่บ่อใช้เบื่อปลา
ในเมล็ดและลำต้นของขิกทะเลมีสารซาโปนิน ใช้ทำยาเบื่อปลาและยานอนหลับ







ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.aquatoyou.com
http://tanhakit.blogspot.com
วิกิพีเดีย

ภาพดอกยี่หุบ


ดอกยี่หุบ



ต้นจิกทะเลที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงฉะเชิงเทรามีหลายต้น ชาวมีนกรอาวุโสของบ้านเคยดูแลศูนย์นี้เมื่อหลายปีก่อนโน้น และสรรหาพันธุ์ไม้ป่าชายเลนมาปลูกในศูนย์รวมทั้งจัดสถานที่แนวริมแม่น้ำบางปะกงเป็นป่าชายเลนมีการยกคันดินเป็นถนนเทหินคลุกลดเลี้ยวเข้าไปในป่าชายเลนให้รถวิ่งเข้าไปได้ ในสมัยนั้นพลอยโพยมยังเป็นชาวแบงค์เรื่องที่จะบุกป่าเข้าไปดูพันธุ์ไม้พวกนี้ก็ไม่เคยคิด ช่วงที่ยังไม่เรียบร้อยดีเคยถูกชักชวนให้เข้าไปดู (ด้วยการเดิน) ก็เข้าไปดูเอาใจคนชวนนิดหน่อยแล้วก็บ่นว่า เหนื่อย ( เหนื่อยจริง ๆ เพราะไม่เคยสมบุกสมบันตากแดดตากลมมาสามสิบปี จะบ่นร้อนก็มีร่มเงาไม้ครึ้มไปหมด) เลยจำไม่ได้ว่าในแนวป่าจาก แสม และอื่น ๆ ที่จัดเป็นป่าชายเลนแบบจัดการเพิ่มเติมโดยมนุษย์เป็นอย่างไร ปัจจุบันคิดเข้าไปดูใหม่ รอจนมีโอกาสก็ขวนคนที่เคยชักชวนพลอยโพยมเข้าไปใหม่ แต่เข้าไปไม่ได้เพราะป่าชายเลนนี้ก็ถูกวิกฤติภัยน้ำท่วมเข่นกัน พันธุ์ไม้ก็ตายไปมาก และถนนดังกล่าวมีหญ้ารกมาก จะเดินเท้าเข้าไปก็ไม่คุ้มว่าข้างในเป็นอย่างไร เหลืออะไรให้ดูบ้าง




ส่วนด้านนอก ก็พอมีพันธุ์ไม้ให้สมเป็นศูนย์หนึ่งของสำนักวิจัยพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง ทั้งปลูกลงพื้นดิน และปลูกในกระถาง เป็นกระถางที่ศูนย์นี้ก็คงภาพลักษณ์ของงานด้านประมงไว้เสียด้วย




เพียงแต่ว่า ชาวมีนกรคนนี้ ชอบต้นไม้ให้โปร่งโล่งสูง จึงตัดแต่งกิ่ง (ด้วยตัวเองเพราะคนอื่นทำแล้วไม่ถูกใจ) ต้นไม้ในศูนย์ในสมัยนั้น จึงสูงชะลูด ไม่มีกิ่งใบห้อยย้อยระย้า ( งานนี้เป็นที่ถกเถียงกันในบ้านด้วย เพราะไม้ต้นทุกต้นในบ้านก็ถูกตัดแต่งจนคนในบ้านไม่มีโอกาสขื่นชมดอกของไม้หลายชนิด มิหนำซ้ำ อาการทนเห็นต้นไม้เป็นพุ่มเตี้ยไม่ได้ลุกลามไปจนถึงยามที่มีนกรคนนี้ไปประจำที่กรม ฯ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ตอนเข้า ๆ ก่อนทำงานก็จะมีชายคนหนึ่งถือกรรไกรตัดต้นไม้ด้ามยาว เดินท่อม ๆ ตัดกิ่งไม้ของกรม ต้นโน้น ต้นนี้ ต้นนั้น จนถูกอุทรณ์ว่า ต้นไม้ที่เคยให้ร่มเงาเวลาเอารถไปจอดอาศัยร่มเงาไม่มีร่มไม้แล้วรถจอดถูกแดด มีนกรคนนี้ก็เลยรามือไปบ้าง )




ดังนั้นมาวันนี้ต้นไม้เหล่านี้ก็ยิ่งสูงชะลูดขึ้นไปอีก ต้นไม้บางต้นก็ถ่ายภาพแล้วไม่เกิดประโยชน์ เช่น ต้นตะบัน สมอพิเภก มะกล่ำต้น รวมถึง ต้นจิกทะเล ต้นพลับ ตะโกนา สารภีทะเล หยีน้ำ เสม็ดขาว และอื่น ๆ ตายไปก็หลายพันธุ์ (พลอยโพยมขี่ม้าเลียบเมืองเสียรอบเมือง (ศูนย์ประมง) อีกแล้ว)




พลอยโพยมก็ตัดพ้อต่อว่าอย่างเสียอกเสียใจว่าตนเองไม่มีฝีมือถ่ายภาพต้นไม้สูง ๆ อย่างนี้หรอก ซูมภาพก็ไม่เป็นได้ภาพไม่ชัด คุณมีนกรเธอสงสารก็ปลอบใจไปตามเรื่องแล้วบอกว่า อ้อถ้าเป็นต้นจิกทะเลผมมีรูปติดกล้องอยู่บ้างลองดูสิว่าใช้ได้ไหม และมีผลแห้งของจิกทะเลกลิ้งในรถอยู่สองผล




ภาพชุดล่างต่อจากภาพดอกยี่หุบนี้เป็นฝีมือของคนช่างตัดต้นไม้ ประจำบ้าน ประจำกรมประมง ( ถึงเกษียณงานมาสองปีกว่าแล้ว แต่ยังเป็นที่ปรึกษาอยู่ ยังมีโอกาสตัดต้นไม้ของกรมประมงอยู่อีก และท้ายรถก็มีกรรไกรตัดต้นไม้คู่มือพร้อมทุกเมื่อ )




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น