เสม็ดขาว
เสม็ดขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melaleuca cajuputi Powell
ชื่อภาษาอังกฤษ cajuput tree, paper bark tree หรือ swamp tea tree
ชื่ออื่น : เสม็ด (กลาง) เม็ด เหม็ด (ใต้) กือแล (มลายู-ใต้)
วงศ์ :Myrtaceae
เสม็ดขาว เป็นไม้ขนาดเล็ก-ใหญ่ สูง 5-25 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดแผ่กว้าง
ลำต้น
มักบิด เปลือกสีขาวนวลถึงน้ำตาลเทา เป็นแผ่นบางๆ ซ้อนกันเป็นปึก หนา นุ่ม ลอกออกได้เป็นชั้น ๆ เปลือกชั้นในบาง สีน้ำตาล
ยอด กิ่ง และใบอ่อนมีขนสีขาวเป็นมันคล้ายเส้นไหม
ใบ
เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปหอก หรือรูปรี ปลายใบและโคนใบแหลม มีเส้นใบออกจากโคนใบ 5-7 เส้น ไปจรดกันที่ปลายใบ แผ่นใบบางคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยง ยกเว้นใบอ่อน ซึ่งมีขนยาวเป็นมัน
ใบอ่อนสีแดง
ดอก
ดอกออกเป็นช่อ ตามง่ามใบและที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกสีขาวจำนวนมาก มีกลีบเลี้ยง โคนกลีบติดกัน กลีบดอก รูปข้อนแกมรูปไข่กลับ ก้านเกสรเพศผู้ยาวพ้นกลีบดอกเป็นพู่
ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม และสิงหาคม-พฤศจิกายน
ผล
เป็นผลแห้งแตก รูปถ้วย ปลายบิด ขนาดเล็ก แป้น สีน้ำตาลเทา
เสม็ดขาว เป็นพันธุ์ไม้ที่มักขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ ในที่ลุ่มน้ำขังด้านหลังป่าชายเลน และมักพบกระจายในเขตป่าชายเลนที่น้ำท่วมถึงน้อย โดยมีขนาดไม่ใหญ่นัก
เสม็ดขาวพบทั่วไปบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ชายทะเล ในที่ลุ่มน้ำขังด้านหลังป่าชายเลน และมักพบกระจายในเขตป่าชายเลนที่น้ำท่วมถึงน้อย โดยมีขนาดไม่ใหญ่นัก และขอบป่าพรุ
พบมากในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะโดยรอบป่าพรุในจังหวัดนราธิวาสพบว่ามีเสม็ดขึ้นหนาแน่นทดแทนพรรณพืชป่าพรุเดิมที่ถูกบุกรุกทำลาย
ในต่างประเทศ พบในอินเดีย จีน พม่า เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย บอร์เนียว ติมอร์ นิวกินี และออสเตรเลีย
ประโยชน์
เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างและทำเสา คงทนต่อสภาพที่เปียกชื้นอยู่เสมอ หรือเมื่ออยู่ในน้ำเค็มเปลือกต้นใช้ทำหมันเรือ และใช้ห่อก้อนใต้สำหรับจุดไฟ ใบนำมาสกัดทำน้ำมันหอมระเหย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.aquatoyou.com/
http://med-aromaticplant.blogspot.com
การปลูกและขยายพันธุ์
ต้นเสม็ดเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมหลากหลาย ทั้งดินกรด ดินเค็ม น้ำท่วมขัง และแห้งแล้ง แต่เจริญเติบโตได้ดีมากในสภาพที่ลุ่มมีน้ำขัง ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด โดยการหว่านเมล็ดลงในแปลงเพาะ หมั่นรดน้ำ และใช้พลาสติกใสคลุม เมื่อต้นกล้าแข็งแรงจึงย้ายลงในถุงบรรจุดินผสมแกลบ ขนาด 4x6 หรือ 5x8 นิ้ว
การปลูกเสม็ดสามารถปลูกในที่น้ำท่วมไม่ถึง หรือปลูกในพื้นที่พรุเสื่อมโทรม หรือพื้นที่ที่มีน้ำขังได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำโคก ปัจจุบันมีผู้ปลูกไม้เสม็ดเป็นสวนป่าเศรษฐกิจแล้วในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ประโยชน์
เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องมือ เครื่องใช้ ใช้ก่อสร้าง ทำรั้วบ้าน นั่งร้าน เสาเข็ม ทำฟืน และเผาถ่าน
เปลือกต้นใช้ทำฝาบ้าน มุงหลังคา ชุบน้ำมันยางทำไต้จุดไฟ หรืออุดรูรั่วของเรือ ใช้ย้อมแห อวน เพื่อยืดอายุการใช้งาน
ใบใช้ต้มน้ำดื่มแทนน้ำชา ช่วยรักษาโรคปวดเมื่อย ดีซ่าน หอบ ถ่ายพยาธิ แก้ไอ และช่วยให้มดลูกของสตรีหลังคลอดบุตรเข้าอู่เร็วขึ้น ใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น แพะ และควาย
นอกจากนี้ชาวบ้านยังใช้ใบและยอดอ่อนรับประทานเป็นผัก
มีน้ำมันหอมระเหยที่สามารถกลั่นแยกนำมาใช้ประโยชน์ได้ เรียกว่า น้ำมันเสม็ดหรือน้ำมันเขียว (Cajuput Oil) ใช้เป็นส่วนผสมของยาหม่อง น้ำมันมวย ยาดม ใช้ทำยาทาถูนวดแก้ปวดเมื่อย รักษาโรคไขข้ออักเสบ ทำยาแก้ปวดหัว ปวดหู ปวดฟัน ยารักษาโรค ผิวหนัง รักษาสิว ใช้ฆ่าเชื้อโรค ฆ่าแมลง ใช้ภายในเป็นยากระตุ้น ขับลม แก้อาการเกร็งของ กล้ามเนื้อในกระเพาะลำไส้ แก้จุกเสียด แก้ท้องอืด ขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ และขับพยาธิ เป็นต้น
นอกจากนี้ป่าเสม็ดขาวยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้ง และนกน้ำ เป็นแหล่งกระจายพันธุ์เห็ดเสม็ด ซึ่งใช้เป็นอาหาร
ในเวียดนามใช้ป่าเสม็ดขาวเก็บกักน้ำเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำที่เป็นกรดให้มีความเป็นกรดลดลง ก่อนนำไปใช้ปลูกข้าว
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของเสม็ดขาว
มีรายงานการวิจัยน้ำมันเสม็ดว่าน้ำมันเสม็ดขาวใช้ไล่แมลง และฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดสิวได้ดี นำไปสู่การพัฒนาเป็นธูปกันยุง และสบู่เหลวล้างหน้าป้องกันสิว การศึกษาวิจัยโดยสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตผลป่าไม้ของกรมป่าไม้พบว่า เสม็ดจากแต่ละแหล่งไม่เพียงแต่ให้ปริมาณผลผลิตน้ำมันที่แตกต่างกันเท่านั้น ยังให้น้ำมันหอมที่มีองค์ประกอบทางเคมีและกลิ่นแตกต่างกันมาก บางแหล่งให้น้ำมันที่มีกลิ่นหอม บางแหล่งให้น้ำมันที่มีกลิ่นค่อนข้างฉุน และพบว่าน้ำมันเสม็ดที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ สามารถไล่แมลงบางชนิด เช่น ปลวก ยุง เห็บ หมัด เหา และสัตว์ดูดเลือด เช่น ทาก ได้ดี สามารถพัฒนาไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น แชมพูสุนัข สเปรย์ไล่ยุง สเปรย์ฆ่าปลวก หรือสเปรย์ป้องกันทากได้
นอกจากนี้ยังสามารถใช้น้ำต้มใบเสม็ดที่ได้จากการกลั่นน้ำมันหอมระเหยไปย้อมผ้า ให้สีน้ำตาลอ่อน ช่วยให้ผ้าคงทนต่อการเข้าทำลายของแมลงกินเนื้อผ้าได้ดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://med-aromaticplant.blogspot.com/2010/03/blog-post_30.html
ภาพดอกเสม็ดขาวนี้พลอยโพยมถ่ายไว้ตั้งแต่ เดือนกันยายน พ.ศ 2552 มาวันนี้ครบสามปีแล้ว ในเวลานั้นแม้แต่การโฟกัสภาพพลอยโพยมก็ทำไม่เป็นไม่รู้จัก เพียงแต่ยกกล้องขึ้นไปจุดที่ต้องการ แล้วก็กดชัตเตอร์ ทำได้เพียงแค่นี้จริง ๆ บางครั้งไม่มีภาพชัดเลยจากจำนวน 200-300 ภาพ โชคดีภาพดอกเสม็ดขาวพอจะชัดบ้าง
ตัวอย่างภาพที่พลอยโพยมถ่ายเก็บไว้ส่วนใหญ่ คือภาพดอกเสม็ดดอกเดี่ยว ภาพดอกสุดท้าย ภาพนี้เรียกว่าชัดที่สุด ยกเว้น ภาพแนวตั้งของดอกเสม็ดขาวที่ได้มาโดยปาฏิหารย์ว่าทำไมได้ภาพนี้มา จังหวะพอดีที่ต้นเสม็ดขาวมีดอกพราวทั้งต้นด้วย
ที่เรียกว่าปาฎิหารย์ เพราะพลอยโพยมไม่มีโอกาสจะได้ถ่ายภาพดอกเสม็ดที่ศ.พ.ช.ฉะเชิงเทรา (ขอใช้ชื่อย่อ) อีกแล้วเนื่องจากต้นเสม็ดและพรรณไม้หลายชนิด ในปัจุจุบันมีสภาพดังภาพข้างล่างนี้
น่าเสียดายพรรณไม้หลายชนิดที่พลอยโพยมเคยไปถ่ายภาพไว้เมื่อสามปีที่แล้ว ไม่ใช่แค่เพียงต้นเสม็ดขาว โดยเฉพาะพังกาหัวสุมดอกแดงหลาย ๆ ต้นที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนว พรรณไม้แถบนี้เป็นบรรดาต้นไม้ที่เติบโตใหญ่ขึ้นหลังจากมีนกรช่างตัดต้นไม้ย้ายไปที่อื่น พรรณไม้แถบนี้เลยไม่สูงชะลูดอย่างที่เคยเป็น และอยู่ใกล้ริมชายฝั่งแม่น้ำบางปะกง
ต้นไม้แห้งตายในภาพต้นแรกก็คือต้นเสม็ดขาวเจ้าของดอกที่พราวพร่างอยู่ข้างบน
ส่วนภาพต้นเสม็ดชุดใหม่อยู่ในแนวที่พลอยโพยมไม่ได้เคยไปถ่ายเนื่องจากเป็นส่วนที่อยู่ในบริเวณ อาคารที่ทำการ โรงซ่อมรถ โรงซ่อมอุปกรณ์อื่น ๆ ที่พลอยโพยมไม่กล้าเข้าไปยุ่มย่าม เกิดมีสื่งใดหายไปพลอยโพยมก็กลัวด่างพร้อย เลยไม่รู้ว่าในแนวของศูนย์ด้านนี้มีพรรณไม้อะไรบ้าง เวลานี้พบแล้วว่ามีอะไรแต่ก็ยากที่จะคอยไปตามเก็บภาพใหม่วันหลัง
เมื่อสามปีที่แล้ว ช่วงเวลานี้ต้นเสม็ดขาวเคยมีดอก แต่ปีนี้พลอยโพยมชะเง้อแล้วชะเง้ออีก ก็ไม่เห็นวี่แววว่าต้นเสม็ดขาวแนวด้านนี้จะมีดอกเลย และต้นก็สูงเกินไปเสียแล้วด้วย
วิกฤติการณ์น้ำท่วมส่งผลอย่างที่เห็น แม้พันธุ์ไม้เหล่านี้เป็นพันธุ์ไม้ป่าชายเลน แต่ก็เป็นพรรณไม้ที่อยู่แนวชั้นบน ไม่อาจอยู่กับสภาพน้ำท่วมขังนาน ๆ ได้
ภาพท้องฟ้าสดใสในพ่างพื้นโพยมบน จะงดงามเพียงใดหากแซมปนด้วยความเขียวขจีของเหล่าพฤกษาบนพื้นพสุธา...โลกหล้าจะวิจิตรตระการตา น่าอภิรมย์ชมชื่นให้ตื่นใจ
แถวบ้านผมอำเภอนายายอาม จังหวัด จันทบุรี มีป่าลักษณะป่าพรุ แต่ไม่มีน้ำเค็มเป็นน้ำจืดตลอดปีแต่ต้นเสม็ดก็เติบโตได้ดีมาก น้ำขังรากกว่าครึ่งปี มีปลาอาศัยอยู่ใต้โพรงรากที่น้ำท่วมขัง ตอนนี้ผมก็ลองเอามาปลูกที่ชัยนาทอายุเกือบสี่ปีแล้วกำลังออกดอก รู้สึกว่าเวลาที่ออกดอกจะไม่ตรงกับที่ตำรากล่าวไว้
ตอบลบ