วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

พรรณไม้น้ำ..ผักเบี้ยทะเล

ผักเบี้ยทะเล




ผักเบี้ยทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์: Sesuvium portulacastrum L.
ชื่อพื้นเมือง: ผักเบี้ยทะเล
ชื่อท้องถิ่น: ผักเบี้ย
วงศ์ AIZOACEAE




ผักเบี้ยทะเล เป็นไม้ล้มลุก เป็นพืชทนแล้งได้ดี แตกกิ่งก้านสาขามาก สูงไม่เกิน 50 เซนติเมตร มีรากงอกตามข้อลำต้นที่สัมผัสดิน

ลำต้น
เรียบหนา แตกกิ่งก้านโปร่ง แผ่ราบตามพื้นดินอวบน้ำ ทอดเลื้อยไปตามผิวดิน แผ่กระจายเป็นร่างแห ชูยอดสูง ยอดใหม่แตกตามข้อปล้อง ลำต้นสีเขียวปนแดง หรือม่วง




ใบ
ใบเดี่ยว เรียงแบบตรงข้าม รูปขอบขนาน เป็นมัน รีเล็ก ใบหนา อวบน้ำ เพื่อเก็บน้ำและป้องกันการสูญเสียน้ำ ก้านใบสั้น ปลายใบโค้งมน ฐานใบเข้าหา เส้นกลางใบ




ดอก
สมบูรณ์เพศ ออกดอกปลายยอด, ตามซอกใบ ดอกขนาดเล็กสีม่วงอมสีชมพู กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ สีชมพู เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เกสรเพศเมีย 4 - 5 อัน รังไข่อยู่เหนือฐานรองดอก





ผล
เป็นแคปซูล มี 4 carpel กลีบเลี้ยงห่อหุ้ม คล้ายดอกยังตูม เมื่อผลแก่จะแตกออก มีหลายเมล็ดสีดำ หลุดออกเหลือเพียงกลีบเลี้ยงแห้งติดต้น







ผักเบี้ยทะเล มีลำต้น และใบอวบน้ำ ทนแล้งได้ดี เจริญเติบโตได้ดีในดินทราย ดินเหนียวตามชายฝั่ง
พบทั่วไปบริเวณป่าชายเลน ในที่ชื้นแฉะ น้ำท่วมไม่ถึง
ออกดอก - ผลตลอดปี
ประโยชน์ ต้นเป็นอาหารสัตว์ เช่น สุกร





ผักเบี้ยทะเล พบได้ทั่วโลกทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
ในครั้งแรกพืชชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Portulaca portulacastrumตั้งโดยCarl Linnaeus เมื่อ พ.ศ. 2296 อีกหกปีต่อมา Linnaeus เปลี่ยนชื่อสกุลของพืชนี้เป็น Sesuvium และยังคงใช้ชื่อนี้จนปัจจุบัน แม้ว่าใน พ.ศ. 2434 Otto Kuntze พยายามจะเปลี่ยนชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดนี้เป็น Halimus portulacastrum แต่ไม่ได้รับการยอมรับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://tanhakit.blogspot.com
วิกิพีเดีย


.



ผักเบี้ยทะเลไม่มีที่ตำบลบางกรูดแต่พลอยโพยมก็เคยคุ้นดี ได้พบเห็นมานานยี่สิบกว่าปี เพราะผักเบี้ยทะเลนี้มีมากที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ที่พลอยโพยมเคยเทียวไปเทียวมาประมาณหกปี เพราะคนใกล้ตัวย้ายไปทำงานที่สถานีประมงเพชรบุรีในขณะนั้น คงเพราะมีผักเบี้ยทะเลมากถึงได้ตั้งเป็นชื่อของตำบล แต่ในความรู้สึกพลอยโพยมว่า ที่สะดุดตามากกว่าคือต้นชะะคราม มองไปในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าจะเห็นแต่ต้นชะครามมากมาย





แต่พอนึกไปนึกมาที่ว่าสะดุดตานั้นก็เพราะต้นชะครามชูลำต้น กิ่งก้านขึ้นมาจากพื้นดิน แม้จะเป็นต้นเตี้ย ๆ เล็ก ๆ บาง ๆ แต่เมื่อรวมกันมาก ๆ ก็เลยห็นชัดจากการนั่งมองอยู่บนรถที่วิ่งไปตามถนนของตำบลแหลมผักเบี้ย แต่ต้นผักเบี้ยทะเลนั้นทอดกายกิ่งก้านดอกใบอยู่คลุมพื้นดิน แม้จะชูยอดสูงแต่ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่นั่นเอง ดอกก็เล็กมากมองไกล ๆ ก็ไม่เห็น





ผักเบี้ยทะเลนี้มีที่สถานีประมงฉะเชิงเทรา ปัจจุบันคือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งฉะเชิงเทราของกรมประมง และยังพบเห็นได้ตามป่าชายเลนบริเวณแห้ง ๆ ในอำเภอบางปะกง โดยเฉพาะที่ใกล้ ๆ ปากแม่น้ำซึ่งเป็นทะเล แสดงว่าผักเบี้ยทะเลนี้เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความเค็มค่อนข้างสูง เพราะในเขตน้ำกร่อยที่บางกรูด ก็ไม่มีผักเบี้ยทะเลนี้ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่สามารถหามาปลูกได้ก็เติบโตได้ดีเพียงแต่ว่า...ถึงอย่างไรก็ดีถือว่ามิใช่พืชพรรณไม้ท้องถิ่น รวมถึงต้นชะครามก็ปลูกได้ แต่จะไม่แพร่พันธุ์ในธรรมชาติได้มากมายเหมือนพื้นที่มีความเค็มมาก ๆ (ความเค็มระดับทำนาเกลือนั่นทีเดียว ที่มีต้นชะครามชูต้นแบบบางไสววิไลตาฝ่าแดดจ้าตามคันนาเกลือ) มิใช่แค่ระดับน้ำกร่อย




เพราะความคุ้นเคยพลอยโพยมก็เลยมีภาพผักเบี้ยทะเลติดมือมาจากการไปถ่ายภาพพันธุ์ไม้ชายเลนที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งฉะเชิงเทราของกรมประมง โดยไม่ได้ตั้งใจ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น