วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

พรรณไม้น้ำ ..ตะบูนดำ

ตะบูนดำ



ตะบูนดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์: Xylocarpus moluccensis (Lam.) M.Roem.
ชื่อพื้นเมือง: ตะบูนดำ
ชื่อท้องถิ่น: ตะบัน
วงศ์ MELIACEAE



ตะบูนดำ เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 10 - 15 เมตร ไม้ผลัดใบ มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากหายใจรูปคล้ายกรวยคว่ำ กลม หรือ แบน ปลายมน โผล่ขึ้นจากผิวดินรอบโคนต้น รากหายใจนี้ (pneumatophore) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไม้ตะบูนดำดำรงชีวิตอยู่ในเขตที่น้ำท่วมถึงเป็นเวลานานได้ ตะบูนดำขึ้นได้ดีในดินที่เป็นกรด

ลำต้น
เปลาตรง เนื้อไม้แข็ง โคนต้นมีพูพอนเล็กน้อย เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกขรุขระแตกเป็นร่องสีขาวตามความยาวของลำต้น เปลือกสามารถลอกเป็นแถบแคบๆ เปลือกหนาสีน้ำตาลเข้ม หรือ แดงดำ เนื้อไม้สีน้ำตาล ลำต้นมักเป็นโพรงเมื่อต้นแก่





ลำต้น
เปลาตรง เนื้อไม้แข็ง โคนต้นมีพูพอนเล็กน้อย เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกขรุขระแตกเป็นร่องสีขาวตามความยาวของลำต้น เปลือกสามารถลอกเป็นแถบแคบๆ เปลือกหนาสีน้ำตาลเข้ม หรือ แดงดำ เนื้อไม้สีน้ำตาล ลำต้นมักเป็นโพรงเมื่อต้นแก่




ใบ
ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายใบคู่ ไม่มีใบยอด เรียงสลับ ใบย่อย 1 - 3 คู่ เรียงตรงข้าม แผ่นใบรี รูปใบพาย หรือ รูปขอบขนานแกมรี โคนใบกลมมน ปลายใบมน ฐานใบแหลม ผิวใบเป็นมัน สีเขียวเข้ม และเปลี่ยนเป็นสีส้มอมเหลืองทั้งต้นก่อนร่วง




ตะบูนดำต้นนี้ปลูกในกระถางมีอายุสิบกว่าปีแล้ว




ดอก

ดอกออกตามง่ามใบ แบบช่อแยกแขนง มีช่อดอก ประกอบด้วยดอกจำนวนมาก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบไม่ติดกัน รูปขอบขนาน สีขาวครีม เกสรเพศผู้ 8 อัน ดอกมีกลิ่นหอมและกลิ่นของดอกจะหอมมากขึ้นในเวลาเย็นถึงค่ำ



ขอขอบคุณภาพจาก http://www.aquatoyou.com


ผล
ผลค่อนข้างกลมผิวเรียบมีร่องเล็กน้อย สีเขียว แต่ละผลมี 4 พู มี 7 - 11 เมล็ด ลักษณะโค้งนูนหนึ่งด้าน



ขอขอบคุณภาพจาก http://www.aquatoyou.com


ลักษณะเด่นของต้นตะบูนดำ  มีรากหายใจกลมบ้าง แบนบ้าง แล้วแต่สภาพของดินเลน โคนต้นมีพูพอน ต้นเล็ก สภาพลำต้นจะแตกต่างไปบ้างคือ เปลือกเรียบ สีออกดำแดง มีร่องสีขาวเป็นทางยาวตามลำต้น

ต้นตะบูนดำเป็นไม้ผลัดใบชนิดหนึ่งของป่าชายเลน ( ผลัดใบช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. )




ออกดอกพร้อม ๆกับแตกใบใหม่ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม
ผลแก่ประมาณเดือนสิงหาคม - ตุลาคม




ประโยชน์
เนื้อไม้มีสีและลวดลายสวยงาม ใช้ตกแต่งเฟอร์นิเจอร์และก่อสร้างได้ เปลือกไม้ใช้ในการฟอกหนังสำหรับใช้เป็นพื้นรองเท้า (heavy leather) ใช้ย้อมแห อวน บางครั้งใช้ย้อมสีเสื้อเป็น สีน้ำตาล ทำดินสอ

สรรพคุณทางด้านสมุนไพร
เปลือกไม้มีรสฝาดใช้แก้อาการท้องเสีย อาการอักเสบในลำไส้ อาการผิดปกติใน ช่องท้อง ใช้เป็นยาลดไข้

เปลือกและผลนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างทำความสะอาดบาดแผลได้ดี หรือต้มน้ำดื่มรักษาแผลภายใน ต้มแล้วตำให้ละเอียด พอกแผลสด แผลบวม พกช้ำ เป็นหนอง

ผลต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย บิด อหิวาต์ ผลแห้งตากแห้งเผาไฟร่วมกับเห็ดพังกาและน้ำมันมะพร้าว ทาแก้มะเร็งผิวหนัง

 เมล็ดรับประทานแก้ท้องร่วง




ตะบูนดำพบได้ในประเทศไทย อินเดีย ศรีลังกา แอฟริกา ตองกา มาดากัสกา โดย ขึ้้นกระจายในบริเวณที่เป็นดินเลนค่อนข้างแข็ง หรือมีน้ำท่วมเล็กน้อย




ภาพนี้มีทั้งใบตะบูนขาว และใบตะบูนดำ ตั้งใจมองจะแยกความแตกต่างได้ ใบตะบูนดำสีเขียวอ่อน ใบตะบูนขาวสีเขียวเข้ม  และใบตะบูนดำเรียวแหลมยาวกว่าใบตะบูนขาว


ความแตกต่างของตะบูนขาวและตะบูนดำ
ตะบูนดำ ไม้ผลัดใบ รากหายใจรูปกรวยคว่ำ ปลายใบมนหนาเป็นมัน ผลค่อนข้างกลมมีร่องสีเขียว
ส่วนตะบูนขาว ไม่ผลัดใบ รากหายใจแบนคล้ายแผ่นกระดาน ผลสีน้ำตาลแดงคล้ายผลทับทิม



ใบของต้นตะบูนขาว



ใบของตะบูนดำ




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://tanhakit.blogspot.com
http://www.aquatoyou.com
http://www.dnp.go.th/Pattani_botany
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=394617



ต้นตะบูนดำคือต้นเล็กด้านหลังคือต้นมะกล่ำ


จากต้นตะบูนขาว ต้นตะบูนดำ ในประเทศไทยยังมีตำบลบางตะบูนซึ่งได้ชื่อตำบลมาจากพันธู์ไม้ที่มีมากในท้องถิ่นคือต้นตะบูนดังเช่นตำบลหรือหมู่บ้านอีกมากมาย แม้แต่ตำบลบางกรูดบ้านเกิดของพลอยโพยมเองที่มีต้นมะกรูดมากและเพี้ยนเหลือเป็นเพียงบางกรูด

ตำบลบางตะบูน อําเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นตําบลที่อยู่ริมฝั่งทะเลอ่าวไทย ชื่อของตำบลตั้งตามต้นไม้ชายเลนที่ ชื่อ "ตะบูน" หรือ "กระบูน" ที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากในสมัยก่อนในพื้นที่ของตำบลนี้ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล สภาพดินเป็นดินเลน และมีลุ่มน้ำมาก

"บางตะบูน" เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ เนื่องด้วยมีแม่น้ำบางตะบูนไหลผ่านซึ่งลำน้ำสายนี้แยกมาจากแม่น้ำเพชรบุรี ไหลออกทะเลบริเวณปากอ่าวบางตะบูน ซึ่งเป็นปลายแม่น้ำเพชรบุรี ในสมัยก่อนแม่น้ำสายนี้เป็นเส้นทางสัญจรทางเรือของพ่อค้าวาณิชต่าง ๆ นับแต่สมัยโบราณ ลำน้ำบางตะบูนเป็นเส้นทางการคมนาคมที่มีความจำเป็นและสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก





เล่ากันว่า ในสมัยอยุธยาตอนปลาย บริเวณบ้านบางด้วน(ปัจจุบัน คือ บ้านบางก้าง หมู่ที่ 7 ตำบลบางตะบูน) คุ้งน้ำบางตะบูน เคยมีพลับพลาหรือตำหนัก พระเจ้าเสือซึ่งพระองค์เสด็จฯ มาประทับทรงเบ็ด ซึ่งในอดีตบริเวณดังกล่าวมีปลาชุกชุมมาก ในปัจจุบันมี วัดคุ้งตำหนัก เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยนั้นตั้งอยู่ ดังมีบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามคำกลอนของสุนทรภู่ ที่ว่า






"ถึงที่วังตั้งประทับรับเสด็จ
มาทรงเบ็ดปลากระโห้ไม่สังหาร
ให้ปล่อยไปในทะเลเอาเพดาน
แต่โบราณเรียกว่าองค์พระทรงปลา"


สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งรัชกาลที่ ๓ เมื่อสุนทรภู่เดินทางมาเมืองเพชรบุรี พ.ศ. ๒๓๗๔ ก็ได้ใช้เส้นทางนี้ ดังคำกลอนที่ว่า


"แล้วเคลื่อนคลาลาจากปากคลองช่อง
ไปตามร่องน้ำหลักปักเป็นแถว
ข้ามยี่สารบ้านสองพี่น้องแล้ว
ค่อยคล่องแคล่วเข้าชวากปากตะบูน"






ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย




ต้นตะบูนดำในกระถางปลูกต้นไม้ พรรณไม้น้ำของ ศ.พ.ช. ฉะเชิง้ทรา  ถัดไปเป็นลำพู

ขออนุญาตสื่อภาพ การเดินทางไปแม่น้ำบางตะบูนตามลำน้ำจากสมุทรสงคราม http://www.oknation.net/blog/print.php?id=394617



โพงพางเป็นวิธีการจับสัตว์น้ำของคนยุคก่อนวิธีการหนึ่ง

หมายเหตุ

 แม้ภาพจะสื่อความไม่ได้มากไม่สวยงามด้วย แต่เจตนาก็เพื่อเบรคสายตาในการอ่านข้อความ
ภาพต้นตะบูนดำที่อยู่บนพื้นดินเป็นค้นตะบูนดำจากโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราขินีนาถ เป็นฟาร์มทะเลตัวอย่างที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และบางส่วนของภาพเป็นต้นตะบูนดำของ ศ.พ.ช. ฉะเชิงเทรา และภาพจากเว็ปไซต์ตามที่ระบุ

อนึ่ง พันธุ์ไม้ป่าชายเลนของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ซึ่งพลอยโพยมไม่ได้กล่าวถึงไว้ ตามพรรณไม้น้ำ พรรณไม้ชายน้ำที่กล่่าวถึงที่แล้วมาเป็นไม้ไม่ผลัดใบ ยกเว้น ตาตุ่มทะเล ลำแพน และตะบูนดำ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น